Loading...

ครูของนักเปลี่ยนแปลงการศึกษา : รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี

“ไม่มีสอบ ไปลงชุมชนก่อนหนึ่งปี แล้วค่อยมาเรียนทฤษฎี เราไม่ได้สร้างศึกษาศาสตรบัณฑิต แต่เป็นศิลปศาสตรบัณฑิต ไม่มุ่งสร้างครู แต่สร้างนักขับเคลื่อน ตั้งคำถาม และเปลี่ยนแปลงการศึกษา”

ทั้งหมดที่เรากำลังพูดถึงนี้ คือส่วนหนึ่งของหลักการการเปลี่ยนแปลงการศึกษา ในแบบฉบับของ รองศาสตราจารย์ ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะต้นสังกัดของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถานศึกษาที่ใช้หลักสูตรแหวกแนว และเคยตกเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง ‘นักเรียนไม่ใส่ชุดนักเรียน’

ก่อนหน้านี้ อนุชาติเคยดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี ฝ่ายระบบกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการ ‘กรีนแคมปัส’ หรือมหาวิทยาลัยสีเขียว ปรับปรุงพื้นที่ระหว่างคนและธรรมชาติ จนมหาวิทยาลัยมหิดลมีบรรยากาศที่น่าอยู่ เป็นมิตรกับธรรมชาติ กระทั่งได้รับการจัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอันดับ 1 ของประเทศไทยในเวลาต่อมา พร้อมกันนั้นยังสวมหมวกอาจารย์และคณบดี คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อีกด้วย

‘ปฏิรูปการศึกษา’ ไม่ใช่โจทย์ที่ง่าย แต่โจทย์ที่อาจจะยากกว่า คือการสร้าง ‘นักขับเคลื่อน’ ที่จะเป็นตัวตั้งตัวตีในการเปลี่ยนแปลง ตั้งคำถามและฟาดฟันกับระบบ

แม้หลักการแบบคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ที่กล่าวไปข้างต้น จะฟังดูสวยหรูและน่าสนใจ แต่อีกด้านก็ก่อให้เกิดคำถามตามมาเช่นกัน เป็นต้นว่า รูปแบบการเรียนการสอนที่แตกต่างออกไปเช่นนี้ จะสร้างบุคลากรคุณภาพตามที่ตั้งเป้าไว้ได้จริงหรือ เป็นไปได้ไหมที่การศึกษาแบบนี้จะกลายมาเป็นมาตรฐานใหม่ในอนาคต และสุดท้ายแล้ว นักศึกษาที่จบออกไปจะปรับตัวเข้ากับบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงได้ดีแค่ไหน

101 ชวนอนุชาติคุยยาวๆ ตั้งแต่มุมมองเกี่ยวกับปัญหาของระบบการศึกษาไทย โจทย์ใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงที่ต้องทำความเข้าใจอัตลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ รวมถึงวิพากษ์ระบบมหาวิทยาลัย ผ่านแว่นตาของ ‘ครูของนักเปลี่ยนแปลงการศึกษา’

 

สมัยยังเป็นนักเรียนหรือนักศึกษา อาจารย์มองเห็นปัญหาอะไรเกี่ยวกับการศึกษาบ้าง
ชีวิตตอนเด็กที่เรียนหนังสือ ผมเป็นเด็กที่เรียนตามระบบมาเรื่อยๆ ไม่ได้เรียนโรงเรียนดังเด่นอะไรมากมาย ผมเรียนโรงเรียนวัดใกล้บ้าน ต่อด้วยโรงเรียนประจำจังหวัด แล้วก็เข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในจังหวะนั้นก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีปัญหามากมาย และไม่ได้เป็นทุกข์กับมันมากจนเกินไป แต่วันนี้เมื่อมองย้อนกลับไป ผมพบว่า ผมเห็นเป้าหมายของตัวเองไม่แจ่มชัดเท่าไหร่นัก ว่าเราจะเรียนไปเพื่ออะไร ทำอะไร มันมาแจ่มชัดเอาตอนที่เข้าเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย และได้ทำกิจกรรมนักศึกษาแล้ว

ตอนที่สอบเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย ผมสอบเข้าคณะเศรษฐศาสตร์ โดยเลือกตามคะแนน ในตอนนั้นก็ยังงงๆ ไม่ค่อยรู้ว่าเรียนคณะเศรษฐศาสตร์จะเป็นอย่างไร ซึ่งพอย้อนไปคิด เหมือนว่าระบบการศึกษามันสร้างลู่ขึ้นมาให้เราเดินตามระบบ แต่ไม่ได้ทำให้เราคิดถึงว่าลึกๆ ตัวเองมีความชอบ หรือถนัดอะไร มันกลับไปตอบโจทย์เรื่องเรียนให้ได้คะแนน ให้สอบติดไว้ก่อน พอมันตอบโจทย์แบบนี้ เราที่บังเอิญมีต้นทุนในการทำคะแนนได้ดีหน่อย ก็เลือกเข้ามหาวิทยาลัยตามคะแนนที่เราได้

วิชาเรียนและมหาวิทยาลัยมีผลต่อเราอย่างไรบ้าง
โชคดีที่ผมได้เข้ามาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีโอกาสได้ทำกิจกรรมที่ทำให้ได้เปิดโลกกว้าง ได้เห็นความหมายของการดำรงชีวิตอยู่โดยเชื่อมโยงกับสังคม เห็นปัญหาในบริบทที่กว้างใหญ่ไพศาลขึ้น และเผอิญว่าเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้อยู่ไม่มากก็น้อย

ผมได้รับแรงบันดาลใจหรือแรงส่งในเชิงอุดมการณ์ ทั้งจากอาจารย์ป๋วย จากการทำงานเพื่อความเป็นธรรมในสังคม ส่วนเนื้อหาวิชาก็ได้เรียนเรื่องเศรษฐกิจชนบท เศรษฐศาสตร์การพัฒนา สิ่งเหล่านี้ทำให้เรามองภาพสังคมอย่างเป็นระบบมากขึ้น ได้พูดถึงการจัดสรรทรัพยากร ที่เชื่อมโยงสิ่งที่เราเรียนเข้ากับสังคม ทำให้เราไม่ได้ทุกข์กับระบบมาก

 

ตอนเรียนทำกิจกรรมอะไรบ้าง บรรยากาศของธรรมศาสตร์ในปีของอาจารย์เป็นอย่างไร
ผมทำกิจกรรมเยอะมากตั้งแต่ปีหนึ่ง และอยู่องค์การนักศึกษามาโดยตลอดสี่ปี ผมเข้าธรรมศาสตร์ในปี พ.ศ. 2521 หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ได้สามปี รอยกระสุนยังปรากฏ เดินเข้าประตูใหญ่ก็ยังเห็นร่องรอยของสิ่งเหล่านี้โดยตลอด บรรยากาศทางการเมืองก็ซึมเซาลงไปชัดเจน

ช่วงนั้นนักศึกษากำลังเริ่มที่จะพยายามดันตัวเองให้กลับมามีบทบาท เราเรียกเจเนอเรชั่นของเราว่า ‘ยุคแสวงหาครั้งที่ 2’ หลังจากยุคแรกของวิทยากร เชียงกูล รุ่นของผมคิดว่าเราควรฟื้นกิจกรรมต่างๆ ให้กลับมา เลยเริ่มรวมตัวกันเป็นองค์การนักศึกษา

 

การแสวงหาที่ว่านั้น หมายรวมถึงการฟื้นบทบาททางการเมืองด้วยหรือเปล่า
แน่นอน พวกเราเริ่มจากกิจกรรมในเชิงวิชาการ และศิลปวัฒนธรรมก่อน จำได้ว่าเราเริ่มทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทางการเมืองหรือสังคมมากขึ้นตอนช่วงที่มีน้ำท่วมในภาคอีสาน ที่ขอนแก่น ผมและเพื่อนๆ ก็ระดมบริจาคสิ่งของไปออกค่ายกัน ไปช่วยฟื้นฟู เป็นจังหวะที่ผมได้เติบโต ได้เห็นชนบท และจริงจังกับการเป็นนักกิจกรรมในมหาวิทยาลัยอย่างเข้มข้น

เพราะเป็นช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา การขยับขับเคลื่อนกิจกรรมของเราเลยถูกจับตามอง ต้องเจอแรงปะทะกับทั้งผู้บริหารมหาวิทยาลัย รวมถึงการสอดส่องจากคนภายนอกโดยตลอด โปสเตอร์ทุกแผ่นที่แปะบนบอร์ดกำแพงข่าว ก็ต้องคอยติดตอนกลางคืน เช้าวันถัดไปบางทีก็ถูกฉีกออกโดย รปภ. ของมหาวิทยาลัย มันเป็นการต่อสู้กันระหว่างผู้บริหารกับเรา และมีแรงกดดันแบบนี้มาเรื่อยๆ แต่ก็ต้องสู้ เพราะเราต้องการรวมตัวกันให้มันเกิดองค์การนักศึกษาขึ้นมาให้ได้

 

ในสภาพสังคมที่ถูกกดดันและจับตามองแบบนั้น ทำไมอาจารย์ถึงไม่นิ่งเฉยหรือเพิกเฉยต่อการทำกิจกรรมเพื่อสังคม
บรรยากาศธรรมศาสตร์มันเรียกร้องให้เราทำงาน ถึงแม้ว่าเพื่อนนักศึกษาที่เขาไม่ได้ทำกิจกรรมเข้มข้นแบบเรา อย่างน้อยๆ ทุกคนก็มีกลิ่นอายของการรักความเป็นธรรม การมองเห็นว่าสังคมมันมีความไม่เท่าเทียมกัน มีการเอารัดเอาเปรียบ มันเป็นบรรยากาศโดยรวมๆ ที่โอบอุ้มให้เราทำแบบนี้ ยิ่งถ้าเราไปดึงประเด็นใดๆ ในสังคมขึ้นมาพูดถึง มันก็ชัดเจนว่ามีปัญหาในทุกเรื่อง ทั้งสิ่งแวดล้อม ความยากจนในชนบท สลัม ทุกมิติมันเห็นชัดเจน

 

อาจารย์บอกว่าเริ่มเห็นเป้าหมายของตัวเองชัด ในช่วงเข้ามหาวิยาลัย เป้าหมายและภาพอนาคตของอาจารย์ในตอนนั้นคืออะไร
ตอนที่เรียนอยู่ปีสอง ขึ้นปีสาม เป็นช่วงที่อินกับการทำกิจกรรมมาก แล้วก็มีใจมุ่งมั่นว่าเราอยากจะออกไปอยู่ ไปทำงานชนบท ทำให้เราทิ้งการเรียนเลย ไม่สนใจคะแนน เรียนไปเพราะอยากจะรีบจบเร็วๆ จะได้ไปฝังตัวอยู่กับชาวบ้าน คิดว่าเราคงจะทำอะไรได้เยอะ อุดมการณ์มันแรงกล้ามาก

แต่พอขึ้นปีสามช่วงท้ายๆ รุ่นพี่ที่ถูกปราบในช่วง 6 ตุลา หรือที่หนีเข้าป่า ก็เริ่มทยอยกลับมาเรียนหนังสือ และเป็นช่วงต้นของการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นยุคที่พะวักพะวง อุดมการณ์เริ่มถูกท้าทาย เราเริ่มทำความเข้าใจมากขึ้นว่า อุดมการณ์แบบซ้ายจัด มันอาจไม่ใช่คำตอบเสมอไป เด็กที่ทำกิจกรรมหลายคนหันมาตั้งคำถาม กลับมาทบทวนสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงอนาคตของตัวเองด้วยว่า เราจะทำอะไรดีที่มันมีคุณค่าและความหมาย

ขณะเดียวกันผมก็เริ่มค้นพบว่า เราสนใจทำงานวิจัย แน่นอนว่ายังเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสังคม ความเป็นธรรม ก็เลยหันกลับไปเรียนหนังสือเพื่อดึงเกรด พอเรียนจบปุ๊บ ก็ไปเรียนต่อปริญญาโท รู้สึกว่าน่าจะชอบเส้นทางอาชีพนักวิชาการ นี่คือสิ่งที่เราถนัดแล้วล่ะ จะให้ไปเป็นชาวนาก็คงทำไม่ได้หรอก

เราอยากจะทำงานเก็บข้อมูล ทำงานวิจัย สอนหนังสือ ส่วนเรื่องอุดมการณ์ ความรักความเป็นธรรม ต่อสู้เพื่อคนยากคนจน เพื่อคนที่ด้อยโอกาสกว่า มันกลายเป็นพื้นฐานของตัวเราไปแล้ว แต่มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะไปทำอะไร ด้วยวิธีไหน

 

สมัยยังเป็นนักศึกษา ครู อาจารย์ หรือบุคลากรทางการศึกษา มีอิทธิพลต่อตัวอาจารย์บ้างไหม อย่างไร
มีเยอะมาก ผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดีมากที่มีอาจารย์รุ่นเดอะๆ คอยเป็นแบบอย่างของการเป็นนักวิชาการที่ดี การครองตัวที่ดี เป็นครูบาอาจารย์ที่รักความเป็นธรรม เป็นกระบอกเสียงให้กับคนยากคนจน มีความหนักแน่นในการเป็นนักวิชาการ ตั้งแต่ รังสรรค์ ธนะพรพันธ์ุ เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นิพนธ์ พัวพงศกร เสน่ห์ จามริก คือชื่อที่เอ่ยปุ๊บก็รู้ว่าท่านเหล่านี้เป็นคนที่เราวางใจได้

 

ปัญหาอะไรที่เป็นต้นตอ หรือจุดเริ่มต้นที่ทำให้อาจารย์อยากเปลี่ยนแปลงการศึกษา
ก่อนหน้านั้น ผมสอนหนังสือและทำงานด้านบริหารมาโดยตลอด พอเราเริ่มโตขึ้น เริ่มมีลูกศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่ากว่ายี่สิบปี เราเริ่มสัมผัสได้ว่า การศึกษามีปัญหา มันต้องการการปฎิรูป และเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ทั้งทางรากฐานวิธีคิดและวิธีปฎิบัติ ไม่งั้นเราจะตามโลกไม่ทัน ไม่สอดคล้องกับผู้เรียน

ช่วงที่ผมเป็นอาจารย์สอนหนังสือในคณะสิ่งแวดล้อม ผมพบว่า หลักสูตรการศึกษาเป็นหลักสูตรที่พานักศึกษาออกไปทำงานในพื้นที่ต่างจังหวัดเยอะมาก ไปอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทางบกทางทะเล ไปมาหมดทั่วประเทศ แต่ผมมาสะท้อนใจว่า เราพาเขาไปสัมผัส ไปเจอของจริง ไปอยู่กับมัน แต่เราได้สร้างคนที่เป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตัวจริงหรือเปล่า เราสร้างคนที่อธิบายเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ ตอบทฤษฎีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมได้ทุกอย่าง แต่เราสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตัวผู้เรียนกับธรรมชาติอย่างเป็นจริงได้ไหม

เขาอาจเห็นต้นไม้เป็นต้นๆ แต่ไม่แน่ใจว่าเขาเห็นป่า หรือคนที่อยู่ในป่ามากน้อยแค่ไหน ปัญหาสิ่งแวดล้อมมันก็ผุดขึ้นมาตามที่ต่างๆ เยอะแยะ แล้วนักเรียนของเรารู้ร้อนรู้หนาวกับมันหรือเปล่า

พูดง่ายๆ ก็คือ ผมรู้สึกว่าการศึกษามันต้องมีเป้าหมายที่นำไปสู่ความรู้สึกรู้ร้อนรู้หนาวกับสังคม ถ้าเราอยู่ในวิชาชีพใดแล้วมันมีปัญหา เราควรรู้สึกไปกับมัน ไม่ใช่นั่งวิจารณ์แต่ในห้องแอร์ หรือเมื่อเห็นคนที่เดือดร้อน เรายังนั่งเฉยอย่างสบายอารมณ์

 

ทำไมถึงสร้างคณะศึกษาศาสตร์ ที่ไม่ได้ผลิตศึกษาศาสตรบัณฑิต แต่เป็นศิลปศาสตรบัณฑิต
ห้าปีที่แล้ว ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาคุยว่า อยากจะตั้งคณะศึกษาศาสตร์ หลังจากที่ผมไปศึกษาดูข้อมูลมาซักระยะนึง ก็กลับไปบอกกับผู้บริหารว่า อย่าทำเลย คณะศึกษาศาสตร์ทั่วประเทศมีประมาณ 90 แห่ง มีหลักสูตรที่ผลิตครู ผลิตศึกษาศาสตรหรือครุศาสตรบัณฑิตออกมาแต่ละปี ประมาณ 3-4 หมื่นคน แต่ระบบราชการรับคนเข้าไปเป็นครูแค่ปีละหมื่นกว่าคน เพราะฉะนั้น คนที่เรียนครูมันล้นตลาด และอาจไม่ได้ทำงานตรงสายอาชีพ

ผมคิดว่า อย่าทำเลย เพราะทำแล้วก็ซ้ำซ้อนกับคนอื่น ถ้าเป็นธรรมศาสตร์ต้องไม่ทำแบบนี้ ผู้บริหารก็บอกว่า เข้าใจ แต่ถึงอย่างนั้นมันก็จำเป็นต้องมี ผมเลยต่อรองว่า ถ้าอยากจะทำคณะศึกษาศาสตร์ เดี๋ยวขอไปศึกษาในรายละเอียดว่าจะทำออกมายังไง ผมก็ไปคุยกับผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในแวดวงการศึกษาที่เราเคารพนับถือ อ่านหนังสืออ่านตำราที่เกี่ยวข้องแล้วพบว่า ความรู้ว่าด้วยการศึกษา หรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้องที่เป็นชิ้นเป็นอัน จนพอจะนำมาวางเป็นหลักเป็นเค้าโครงได้ มันมีน้อยมากในไทย เรามีแต่วาทกรรม แต่ไม่มีองค์ความรู้ เพราะฉะนั้นเราจึงจำเป็นต้องปรุงอะไรขึ้นมาใหม่พอสมควร

ผมอาศัยการจับแพะชนแกะ ทำเป็นโครงการจัดตั้งให้กับมหาวิทยาลัย และมีเป้าหมายว่า แทนที่จะผลิตครู หรือแทนที่จะเป็นคณะศึกษาศาสตร์แบบเดิม ผมจะตั้งคณะเพื่อสร้างนักขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงการศึกษา โดยยึดหลัก Learning Science เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการเรียนรู้ของมนุษย์แทน เราเห็นช่องว่างว่า ถ้าจะทำการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงตัวระบบ มันจำเป็นจะต้องมีคนที่มีความเข้าใจและมีศักยภาพอีกแบบหนึ่งเข้าไปทำงาน

บวกกับอีกเหตุผลก็คือ ต่อให้จะมีหลักสูตรผลิตครูภาคอินเตอร์ ภาคภาษาอังกฤษ เก๋ไก๋ไฮโซขึ้นมา แต่กรอบมาตรฐานกฎเกณฑ์เดิมๆ ที่เรียกว่ามาตรฐานวิชาชีพครู มันล็อคเราหมด เราไม่สามารถจะออกแบบหลักสูตรที่มันเด้งออกจากโจทย์ตรงนี้ได้เลย เราจึงรู้สึกว่า การทำอะไรที่สุดท้ายแล้วมันออกมาเหมือนคนอื่น มันเสียเวลา ซึ่งมหาวิทยาลัยก็โอเคกับเรา ก็เลยเป็นที่มาของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์

 

อาจารย์สร้าง นักขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ด้วยความเชื่อแบบไหน
หลักการใหญ่มีอยู่สองสามข้อ คือ หนึ่ง เราพบว่าโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วมาก โดยเฉพาะเทคโนโลยีต่างๆ มีพลวัตสูงมาก เพราะฉะนั้น เราจะสร้างมนุษย์ที่เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างไร

สอง เรามีความเชื่อว่า นักขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงต้องมีความรู้ที่หลากหลาย ไม่รู้อะไรเพียงแค่มุมแคบๆ แต่ต้องมีสมรรถนะที่สอดคล้องกับยุคสมัยใหม่ จะเรียกว่าศตวรรษที่ 21 หรืออะไรก็ตาม ต้องล้ำพอสมควร

สาม คือ การศึกษาที่ผ่านมาไม่ตอบโจทย์ของผู้คน เรียนสี่ปีจบไปแล้วยังไม่รู้ว่าชีวิตจะไปต่อยังไงเลย แปลว่าการศึกษาไม่ตอบโจทย์ให้มนุษย์มาทำความเข้าใจกับ passion ของตัวเอง ไม่รู้ว่าศักยภาพตัวเองคืออะไร ทำอาชีพไม่เป็น ระบบการศึกษาที่เราให้กับเขามันล้าหลังจริงๆ

สี่ คือ คนรุ่นใหม่ที่เขาเติบโตมากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปจากยุคผม ซึ่งเป็นคนรุ่นเก่า จะมีวิธีคิดและวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แปลว่ามันมีช่องว่างที่ใหญ่มาก ที่เราเรียกว่า ‘การเรียนรู้ระหว่างวัย’

ในความคิดเห็นของอาจารย์ การเรียนรู้ของคนรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่มีลักษณะที่ต่างกันอย่างไร
ผมพบว่าเด็กรุ่นใหม่อาจไม่ชอบการสั่งสอน การเลคเชอร์ เพราะฉะนั้นการที่อาจารย์ไปยืนอยู่หน้าห้อง พูดสามวันแปดวัน มันอาจไม่ใช่วิธีการสื่อสารที่ดี แม้กระทั่งพาวเวอร์พอยท์ก็อาจเป็นเครื่องมือที่ล้าสมัยไปแล้ว

ในเชิงของการศึกษา สิ่งที่เราเรียกว่ากระบวนการเรียนรู้มันเปลี่ยนแปลงไป ไม่ได้หมายความว่าเด็กโง่ลงนะ แต่ว่าระบบการสืบเสาะความรู้ในสมองมันเปลี่ยน เพราะเขาโตมากับสิ่งแวดล้อมอีกแบบนึง ในขณะที่ยุคของผมคือยุคที่ใช้วิธีจดจำสิ่งต่างๆ เราชอบดาวน์โหลดสิ่งที่อาจารย์พูดมาใส่มอง เยอะเท่าไหร่เราก็ชอบ เพราะมันถูกจริตกับวัยเรา แต่ว่าเด็กรุ่นใหม่เขาไม่ได้ต้องการแบบนี้ เพราะฉะนั้นโจทย์ของผมคือ เราจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจกับคนรุ่นใหม่ ว่าเขาเรียนรู้อย่างไร เพื่อให้เราสามารถจัดสร้างวิธีการ และแพลตฟอร์มที่เหมาะสมกับเขาได้

อีกประเด็นคือ ผมพบว่าความล้มเหลวของการปฏิรูปการศึกษา หรือการพัฒนาการศึกษาของไทย มันมาจากสิ่งหนึ่งที่พร่องหรือหายไป และต้องการการรื้อฟื้นอย่างรุนแรง นั่นคือความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ ในอดีตเรารู้สึกว่า เวลาเราพูดถึงครู ประเด็นไม่ใช่ครูตีหรือไม่ตีเรา ครูดุหรือไม่ดุ แต่เราโคตรรักครู ครูโคตรจะเป็นแบบอย่างของเราเลย

ยกตัวอย่างผ่านประสบการณ์ของตัวเองเลย ที่ผมพูดภาษาอังกฤษได้ทั้งที่เป็นเด็กบ้านนอกคนหนึ่ง เพราะว่าครูภาษาอังกฤษเราเข้มงวดมาก ตอนเช้าให้ยืนท่องกริยาสามช่อง ท่องไม่ได้ก็ตี แต่ผมกลับรักครูคนนี้มาก แปลว่า การห้ามไม้เรียว ห้ามสอบตก มันไม่ใช่สาระ สาระคือความเชื่อมโยงระหว่างครูกับศิษย์

คิดว่าอะไรที่ทำให้ความเชื่อมโยงของครูกับศิษย์หายไป
ผมประมาณเอาว่า เป็นเพราะระบบทุนที่เข้ามากระทำต่อระบบการศึกษา หรือระบบการศึกษาที่สมาทานเอาวิธีคิดของทุนเข้ามาเป็นตัวตั้ง มีกลไกตลาด และระบบอุตสาหกรรมที่มันเข้ามาในทุกๆ มิติ พูดแบบรูปธรรมก็คือ ระบบการศึกษาเป็นระบบเพื่อผลิต ทุกอย่างต้องคิดเป็นต้นทุน กำไร ขาดทุน มีระบบประเมินคุณค่า ประเมินผลตัวชี้วัด ลูกศิษย์ต้องจ่ายเงินในราคาที่สูง เพราะมหาวิทยาลัยก็ต้องเอาตัวรอด จนเกิดหลักสูตรต่างๆ มากมาย หลักสูตรเลี้ยงตัวเอง หลักสูตรภาษาอังกฤษ ซึ่งมีค่าเทอมสูงมาก

อันนี้ยังไม่พูดถึงความเหลื่อมล้ำนะ เมื่อคนที่มีฐานะจ่ายเงินมาในราคาแพง ก็จะคิดว่าต้องได้คุณภาพของการบริการที่ดี ส่วนทางฝั่งครู ก็เป็นเหมือนผู้ให้บริการ ความสัมพันธ์เลยกลายเป็นผู้ซื้อผู้ขาย ไม่ใช่ความสัมพันธ์ของผู้ที่มาเรียนรู้ร่วมกัน มันไม่ได้มาเรียน มาแชร์ และเติบโตไปด้วยกัน

 

อ่านบทความเต็ม ที่นี่

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

คิริเมขล์ บุญรมย์ ภาพ

อ้างอิง : https://www.the101.world/interview-anuchat/