Loading...

โครงการนิเวศการเรียนรู้แห่งความสุขและความหมาย: การพัฒนาศักยภาพโรงเรียนร่วมพัฒนา จ.พิจิตร ในความร่วมมือระหว่างคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับ มูลนิธิใจกระทิง

        โครงการฯ ได้สนับสนุนการจัดการศึกษาของ 4 โรงเรียนในจังหวัดพิจิตร ได้แก่ โรงเรียนบางมูลนาก (ราษฎร์อุทิศ) โรงเรียนวัดบ้านห้วยยาว โรงเรียนวังตะกูราษฎร์อุทิศ และโรงเรียนบ้านน้อยปรึกอุทิศ โดยที่จังหวัดพิจิตรเป็นจังหวัดที่มีฐานทรัพยากรการเรียนรู้ และเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็ง ทั้งภาครัฐและเอกชน สิ่งที่สำคัญคือ การสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน การเชื่อมประสานเครือข่าย และการระดมทรัพยากรเหล่านั้นมาช่วยในการจัดการศึกษาให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยสอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจสังคมของชุมชนและทิศทางการพัฒนาในอนาคต นอกจากนั้น จำเป็นต้องมีการทำงานในระดับของระบบการบริหารจัดการในโรงเรียน และงานวิชาการ ซึ่งรวมไปถึงการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน ผู้ปกครอง และบริบทของสถานศึกษา ซึ่งสามารถนำพาไปสู่การสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่มีความสุขและมีความหมายสำหรับทุก ๆ คนโดยแท้จริง

       ความท้าทายที่สำคัญของทั้ง 4 โรงเรียน คือ การบริหารจัดการชั้นเรียนให้เหมาะสมกับบริบทของนักเรียนให้สามารถพัฒนาเต็มตามศักยภาพ และการบริหารวิชาการที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง ข้อมูลจากการแสดงความจำนงและเป้าหมายในการเข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาของทั้ง 4 โรงเรียน ชี้ให้เห็นว่า แต่ละโรงเรียนมีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไปในทิศทางเดียวกัน คือ มุ่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ผู้เรียนมีทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิตในยุคปัจจุบันและอนาคต อย่างไรก็ตาม การที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้คนหลากหลายฝ่าย ทั้งบุคลากรทางการศึกษา เครือข่ายผู้ปกครอง ชุมชน องค์กรเอกชน ภาคธุรกิจและสังคม ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องจัดการศึกษาที่สร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ โดยกระบวนการเสริมพลัง (Empowering) และการกลับมาสร้างความเชื่อมโยง (Reconnecting) ทั้งในระดับห้องเรียน ชุมชนการเรียนรู้ของครู ความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนและชุมชน ทั้งนี้ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมและนิเวศการเรียนรู้ที่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็ว

ทิศทางและเป้าหมายโครงการ

        มุ่งทำงานขับเคลื่อนการศึกษาใน 3 ระดับ คือ ระดับสถานศึกษา ระดับเครือข่าย และระดับนโยบาย โดยให้ความสำคัญกับการสร้างวิสัยทัศน์ร่วม และการพัฒนาระบบนิเวศทางการศึกษา ที่องค์ประกอบต่าง ๆ คือ ผู้เรียน ผู้สอน ผู้บริหาร ผู้ปกครอง และชุมชน ล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน และมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาและสังคม

        (1) ระดับสถานศึกษา สถานศึกษาจะต้องเปลี่ยนบทบาทจากสถานที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็น พื้นที่การเรียนรู้ตลอดชีวิตของชุมชน เปลี่ยนหลักสูตรและการสอนที่ห่างไกลกับความต้องการของผู้เรียน เป็นหลักสูตรที่สัมพันธ์กับชีวิตจริงและบูรณาการทักษะชีวิตและอาชีพเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรสถานศึกษา ส่งเสริมการเรียนแบบคละชั้นเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เปลี่ยนกิจกรรมการอบรมครูที่เน้นการบรรยายให้ข้อมูล และการบังคับกฎระเบียบจากส่วนกลาง เป็นการสร้างแรงบันดาลใจ (Inspiring) การเสริมพลัง (Empowering) และการกลับมาเชื่อมโยงความสัมพันธ์ (Re-connect) ระหว่างครูกับนักเรียน ครูกับผู้ปกครอง นักเรียนกับผู้ปกครอง นักเรียนกับนักเรียน และการฝึกทักษะที่จำเป็นในการออกแบบการเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับชีวิตจริง

        (2) ระดับเครือข่าย ต้องสร้างการเชื่อมประสานระหว่างสถานศึกษา ชุมชน และเครือข่ายภาครัฐและเอกชน เพื่อระดมทุนและทรัพยากรการเรียนรู้ในการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่

        (3) ระดับนโยบาย ข้อค้นพบจากการทำโครงการต้องสามารถให้ข้อเสนอเชิงนโยบาย สำหรับกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดกลางทั่วประเทศ ที่มีบริบทคล้ายคลึงกับโรงเรียนในโครงการ

กิจกรรมในโครงการ

ครูก่อการใหญ่ ผู้นำการเปลี่ยนแปลง สร้างแรงบันดาลใจ 

        ศึกษาทำความเข้าใจ สร้างองค์ความรู้และปรับเปลี่ยนฐานคิด เพื่อสร้างเสริมศักยภาพ ให้มีความเข้าใจสภาพปัญหา และสามารถวิเคราะห์ปัญหา ความเข้าใจหลักการของอำนาจ ตามแนวทางการบริหารในกระบวนทัศน์ใหม่ และสามารถใช้กระบวนการเพื่อค้นหาศักยภาพและคุณภาพเชิงลึกของผู้เกี่ยวข้อง เพื่อนาไปใช้ในการบริหารองค์กร

โมดูลที่ 1 : ครูคือมนุษย์ : สำรวจภูมิทัศน์ภายในของความเป็นครู

        สร้างองค์ความรู้และปรับเปลี่ยนฐานคิด สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเรียนรู้แบบการศึกษาฐานสมรรถนะเบื้องต้น ตะหนักถึงบทบาทของครูทุกคนที่สามารถมีบทบาทในการสร้างการเปลี่ยนแปลง นำพาให้ครูกลับมาตระหนักรู้ถึงความเป็นมนุษย์และคุณค่าภายในตนเอง และมุ่งการสะท้อนปัญหา รับฟังความทุกข์และความต้องการของคนเป็นครู

โมดูลที่ 2 : ตลาดวิชา  : เติมเครื่องมือการเรียนรู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

        เพื่อเสริมความรู้ และทักษะในการสร้างการเปลี่ยนแปลงการสอนของตนเอง ตามความสนใจ และความต้องการจำเป็น เช่น การออกแบบเกมเพื่อการเรียนรู้ ห้องเรียนแห่งรัก จิตวิทยาเชิงบวก เวทมนตร์คาถาในการสร้างการเรียนรู้ที่มีความหมาย ห้องเรียนสร้างสรรค์ ทักษะการโค้ชเพื่อครู การวัดและประเมินผล Problem-based learning ฯลฯ โดยจัดเป็นรายวิชาให้ครูที่เข้าร่วมโครงการสามารถเลือกสมัครเข้าร่วมเรียนรู้ได้ตามความสนใจ

โมดูลที่ 3 : ครูนักออกแบบการเรียนรู้ : สร้างการเรียนรู้ที่มีความหมายผ่านบริบทชุมชน

        เพื่อเสริมทักษะการออกแบบการเรียนรู้ การจัดการชั้นเรียน ที่สอดคล้องกับชีวิตจริงของผู้เรียน

ค่ายที่ 1 หนังสั้นเพื่อการเรียนรู้ (วิถีชุมชน)

        เพื่อเพิ่มทักษะชีวิต การทำงานร่วมกับผู้อื่น ความคิดสร้างสรรค์ และความเข้าใจชุมชนให้กับนักเรียน ผ่านการผลิตสื่อวิดีโอ เล่าเรื่องดีที่เกิดขึ้นในชุมชน ทั้งทรัพยากร ภูมิปัญญา บุคคล โอกาส และความเป็นไปได้ใหม่ ๆ การฝึกปฏิบัติการสร้างสื่อวิดีโอ โดยใช้เครื่องมือ เทคโนโลยี และวิธีการเล่าเรื่อง ผ่านหนังสั้น เพื่อสะท้อนสายตาของนักเรียนในการมองเห็นคุณค่าหรือศักยภาพที่มีของตนเองและชุมชน

ค่ายที่ 2 ละครเพื่อการพัฒนา (มนุษย์และชุมชน)

        เพื่อเสริมสร้างความกล้าคิด กล้าแสดงออก กลับมาตั้งคำถามและทำความเข้าใจตนเอง ลงพื้นที่ทำความเข้าใจชุมชน และสื่อสารประเด็นปัญหา ประสบการณ์ในชีวิตจริง สิ่งที่ตนเองเผชิญอยู่ อย่างมีศิลปะ ด้วยกระบวนการที่สร้างให้เกิดพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่แห่งการรับฟัง นักเรียนได้ส่งเสียงจริงแท้ของตนเอง มองเห็นคุณค่า ศักยภาพ และรู้สึกร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับชุมชน การฝึกปฏิบัติการละครชุมชน เรียนรู้จากกระบวนการผลิตละครจากประเด็นปัญหาของชุมชนหรือโรงเรียน เพื่อนำกลับไปแสดงเพื่อสะท้อนเรื่องราวให้ชุมชนเกิดการสานเสวนา (Dialogue) แสวงหาแนวทางการแก้ปัญหาของชุมชนร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ต่อไป

จัดโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของโรงเรียนในการพัฒนาผู้เรียน

        เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน หรือวิสาหกิจชุมชน โดยให้เป็นกิจกรรมที่เกิดจากความสนใจและความถนัดของบริบทพื้นที่ โดยทางโครงการ ฯ มีบทบาทในการให้คำปรึกษาและประสานเชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญมาร่วมในการทำกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนนี้

สื่อของโครงการ

    o VTR โครงการ
    o Facebook: โครงการนิเวศการเรียนรู้แห่งความสุขและความหมาย : โรงเรียนร่วมพัฒนา จ.พิจิตร
    o ครูก่อการใหญ่ ผู้นำการเปลี่ยนแปลง สร้างแรงบันดาลใจ
    o โมดูลที่ 1 : ครูคือมนุษย์ : สำรวจภูมิทัศน์ภายในของความเป็นครู
        - ภาพถ่ายกิจกรรม
    o โมดูลที่ 2 : ตลาดวิชา : เติมเครื่องมือการเรียนรู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง
        - ภาพถ่ายกิจกรรม
    o โมดูลที่ 3 : ครูนักออกแบบการเรียนรู้ : สร้างการเรียนรู้ที่มีความหมายผ่านบริบทชุมชน
        - ภาพถ่ายกิจกรรม
    o ค่ายที่ 1 หนังสั้นเพื่อการเรียนรู้ (วิถีชุมชน)
        - ผลงานหนังสั้น
        - ภาพถ่ายกิจกรรม
    o ค่ายที่ 2 ละครเพื่อการพัฒนา (มนุษย์และชุมชน)
        - ผลงานหนังสั้น
        - ภาพถ่ายกิจกรรม

ช่องทางการติดต่อ

โทรศัพท์: 088-215-0593 (คุณแมน)

E-mail: Manchongan@gmail.com

Facebook Fanpage: โครงการนิเวศการเรียนรู้แห่งความสุขและความหมาย : โรงเรียนร่วมพัฒนา จ.พิจิตร