ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการเรียนรู้ (ปร.ด. วิทยาการเรียนรู้)
หลักสูตร
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการเรียนรู้ เริ่มเปิดสอนในปีการศึกษา พ.ศ. 2565 โดยขับเคลื่อนควบคู่ไปกับยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ต้องการ สร้างผู้นำ ด้วยการศึกษาและวิจัยระดับโลก คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์เล็งเห็นว่า ความเป็นเลิศทางวิชาการและการวิจัยเป็นหมุดหมายหลักที่สามารถส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นแหล่งบ่มเพาะนักวิชาการและนักปฏิบัติที่สร้างประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างแท้จริง ดังนั้น แนวทางการออกแบบหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต ของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์จึงไม่ได้มุ่งเน้นการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทางทฤษฎีเพียงอย่างเดียว หากแต่ให้ความสำคัญกับการพัฒนานักปฏิบัติที่ใช้ทักษะทางวิชาการในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคม และสามารถนำเสนอทางออกที่เป็นรูปธรรมได้
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการเรียนรู้ เห็นความจำเป็นของการจัดการศึกษาแบบพหุวิทยาการ ในฐานะการจัดการศึกษาที่ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงด้านการเรียนรู้ของมนุษย์ โดยทั่วไปหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษามุ่งเน้นการสร้างนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งเมื่ออยู่ในบริบทสังคมจริงแล้วความรู้ที่แยกส่วนออกจากกันอาจทำให้นักวิชาการมีข้อจำกัดในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้ เนื่องจากมองข้ามความเชื่อมโยงระหว่างปัจจัยและกลไกต่าง ๆ ที่ยึดโยงกันเป็นเครือข่าย โดยเฉพาะในบริบทยุคปัจจุบันที่กระแสโลกาภิวัตน์ทำให้การเปลี่ยนแปลงของสังคมเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในวงกว้าง ดังนั้น หลักสูตรดุษฎีบัณฑิตของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ จึงถูกออกแบบให้เห็นว่าการทำความเข้าใจการเรียนรู้ของมนุษย์ต้องอาศัยศาสตร์หลากหลายแขนงที่ทำงานร่วมกัน โดยที่นักศึกษาสามารถมองเห็นการเรียนรู้ของมนุษย์จากรอบด้าน ผ่านพื้นที่ที่มีคณาจารย์จากหลากหลายสาขาวิชา และหลากหลายความเชี่ยวชาญ
นักศึกษาจะได้พัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์จากรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของมนุษย์ นวัตกรรมการเรียนรู้ การวิจัยและการวิเคราะห์ข้อมูล และการอำนวยการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งเก็บประสบการณ์จากการฝึกปฏิบัติในพื้นที่จริงกับโครงการวิจัย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการทำวิทยานิพนธ์ นักศึกษาในหลักสูตรจะไม่ได้เป็นเพียงผู้เรียนที่รับความรู้จากคณาจารย์เท่านั้น แต่มีส่วนร่วมทำงานเชิงรุกกับโครงการวิจัยของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้หลักสูตรเป็นพื้นที่ของการแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์และการเติบโตของสมาชิกทุกคนร่วมกันอย่างแท้จริง
คุณลักษณะบัณฑิตของหลักสูตร
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการเรียนรู้ มุ่งหวังที่จะบ่มเพาะให้ผู้เรียนเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง (change agent) ที่มีสมรรถนะหลัก (core competency) 4 ประการ หรือ P A C E ซึ่งประกอบไปด้วย
PRACTICE | ความสามารถในการประยุกต์ใช้ทฤษฎีเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ผู้เรียนสามารถเข้าใจแนวคิดและทฤษฎีของศาสตร์ที่หลากหลาย อาทิ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา ปรัชญา จิตวิทยา ชีววิทยา และประสาทวิทยาศาสตร์ ที่อธิบายเกี่ยวกับการเรียนรู้ของมนุษย์ทั้งในแง่มุมกระบวนการภายในจิตใจ ร่างกาย และพฤติกรรม ไปจนถึงการเรียนรู้ของมนุษย์ในมิติโครงสร้างสายสัมพันธ์ในระดับสังคม โดยที่ผู้เรียนสามารถนำความรู้และความเข้าใจของตนเองเกี่ยวกับศาสตร์แขนงต่าง ๆ เหล่านี้ มาอธิบายการเรียนรู้ของมนุษย์ในเชิงทฤษฎีได้อย่างรอบด้าน เพื่อนำไปสู่การสร้างวิธีการสนับสนุนการเรียนรู้ของมนุษย์ หรือช่วยลดข้อจำกัดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของมนุษย์ที่ทำได้จริงในเชิงปฏิบัติ |
ANALYZE | ความสามารถในการวิเคราะห์และใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ ผู้เรียนสามารถใช้วิธีการและเครื่องมือในการทำวิจัย พิจารณา ตีความ และวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ ทั้งในเชิงปริมาณ เชิงคุณภาพ หรือที่ผสมผสานกันทั้งสองรูปแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เรียนสามารถศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการเรียนรู้ของมนุษย์ในมิติที่ต่าง ๆ โดยอาศัยชุดข้อมูลที่มีความหนักแน่น มีความน่าเชื่อถือและเป็นเหตุเป็นผล รวมถึงสามารถให้ข้อเสนอแนะ หรือการตั้งคำถามเชิงวิพากษ์ ที่วางอยู่บนรากฐานทฤษฎีทางวิชาการ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการเรียนรู้ของมนุษย์ |
CREATE | ความสามารถในการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ ผู้เรียนสามารถเห็นความเชื่อมโยงของกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์กับวิธีการสร้างนวัตกรรมส่งเสริมการเรียนรู้หลายหลายรูปแบบ สามารถสร้างและประเมินศักยภาพนวัตกรรมการเรียนรู้ เพื่อพัฒนานวัตกรรมนั้น ๆ ให้ตอบโจทย์ผู้คนที่อยู่ในบริบทที่แตกต่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการประยุกต์ใช้ ความรู้เชิงทฤษฎีจากศาสตร์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของมนุษย์มาออกแบบนวัตกรรมส่งเสริมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ อาทิ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ บอร์ดเกม กระบวนการ นิทรรศการ เป็นต้น |
EMPOWER | ความสามารถในการออกแบบและนำการเปลี่ยนแปลง ผู้เรียนสามารถมองปรากฏการณ์ที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้ง เห็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ โครงสร้าง กลไกการทำงาน และความเชื่อที่รักษาให้ปรากฏการณ์นั้นให้ยังคงอยู่ รวมถึงสามารถใช้ความเข้าใจดังกล่าว มาขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับภายในตัวบุคคลและระดับสังคม ผู้เรียนสามารถรู้เท่าทันตนเอง เข้าอกเข้าใจผู้คนที่มาจากบริบททางสังคมที่ต่างกัน และนำความตระหนักดังกล่าว มาใช้เพื่อออกแบบกระบวนการเรียนรู้ นวัตกรรม หรืองานวิจัยที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ |
จากฐานของสมรรถนะทั้ง 4 ด้าน บัณฑิตที่ผ่านหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการเรียนรู้ สามารถทำงานในด้านที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและการเรียนรู้ของมนุษย์ในหลายสาขา อาทิ นักการศึกษาหรือการเรียนรู้ของมนุษย์ นักวิจัย นักวิชาการ อาจารย์และผู้บริหารในสถานศึกษา ผู้ประกอบการทางสังคม กระบวนกร นักเทคโนโลยีทางการเรียนรู้และการศึกษา เป็นต้น
ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร
เป็นไปตามระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา โครงการพิเศษ
รายละเอียดค่าใช้จ่ายในหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต
จำนวนรับเข้าศึกษา
จำนวน 5 คนต่อปีการศึกษา
ข้อมูลเพิ่มเติม
ข้อมูลหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการเรียนรู้ (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2565)
วิดีโอแนะนำหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการเรียนรู้