Loading...

สำนักงานสีเขียว

สำนักงานสีเขียว คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ (LSEd Green Office)

"สร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างยั่งยืนด้วยหัวใจที่รักษ์สิ่งแวดล้อม"

คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน (social responsibility and collective change) สู่การเป็น Green Faculty หรือสำนักงานสีเขียว (Green Office) ตามมาตรฐานของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม แห่งแรกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ได้จัดตั้งคณะทำงานสำนักงานสีเขียว (Green Office) เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2565 เพื่อดำเนินกิจกรรมขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และสร้างรากฐานการจัดการที่สำคัญที่เป็นผลดีต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยดำเนินการด้วยองค์ประกอบของคณะทำงานตามกรอบมาตรฐานของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งจัดเป็น 6 หมวด แต่ละหมวดมีบทบาทหน้าที่ในการดำเนินงาน ดังนี้

คณะทำงานหมวด 1: ดูแลด้านการกำหนดนโยบาย การวางแผนการดำเนินงาน และการปรับปรุงนโยบายสิ่งแวดล้อมของคณะฯ อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

คณะทำงานหมวด 2: ดูแลด้านการสื่อสารและสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่ประชาคมคณะฯ ผ่านการใช้สื่อประชาสัมพันธ์ การจัดอบรม และการสร้างชุมชนการเรียนรู้

คณะทำงานหมวด 3: ดูแลด้านการดำเนินการที่เกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรและพลังงานต่าง ๆ ของคณะฯ อย่างรู้คุณค่า

คณะทำงานหมวด 4: ดูแลด้านการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับของเสียของคณะฯ อย่างเหมาะสม และคอยตรวจสอบให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด

คณะทำงานหมวด 5: ดูแลด้านสภาพแวดล้อม ความน่าอยู่ ความสะอาดและความเป็นระเบียบ ตลอดจนความปลอดภัยของคณะฯ

คณะทำงานหมวด 6: ดูแลด้านการจัดซื้อสินค้าและจัดจ้างบริการของคณะฯ ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“Green Faculty” แห่งแรกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในปี พ.ศ. 2565 คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. ได้รับรางวัลสำนักงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Office) ระดับดีเยี่ยม (เหรียญทอง) จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเป็นหน่วยงานระดับคณะแห่งแรกในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการเป็น “Green Office”

คณะฯ ได้ดำเนินนโยบายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมในรูปแบบสำนักงานสีเขียว โดยได้รับการสนับสนุนและการร่วมแรงร่วมใจจากผู้บริหาร อาจารย์ เจ้าหน้าที่ บุคลากร และนักศึกษาทุกคน ดำเนินกิจกรรมด้านต่าง ๆ โดยคำนึงถึงความยั่งยืนทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมร่วมกัน  ทำให้คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์เป็น “Green Faculty” หรือ “Eco-Friendly Faculty” แห่งแรกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยนำ Sustainable Development Goals (SDGs) มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานอย่างสอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

1. ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม
2. มีความตระหนักและมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม
3. มุ่งมั่นในการลดผลกระทบด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินงาน
4. ร่วมขับเคลื่อนแผนดำเนินงานต่าง ๆ สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์เรื่องการดำเนินงาน ที่คำนึงถึงผลกระทบและความยั่งยืนทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เป้าหมายการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมประจำปี 2565 ดังนี้


1. ปริมาณการใช้ไฟฟ้าลดลงร้อยละ 2 เทียบกับปี 2564
2. ปริมาณการใช้น้ำประปาลดลงร้อยละ 2 เทียบกับปี 2564
3. ปริมาณการใช้กระดาษสำนักงานลดลงร้อยละ 2 เทียบกับปี 2564
4. ปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงยานพาหนะลดลงร้อยละ 2 เทียบกับปี 2564
5. ขยะ/ของเสียที่นำส่งผู้รับจ้างที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายลดลงร้อยละ 2 เทียบกับปี 2564
6. ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงร้อยละ 2 เทียบกับปี 2564
7. คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ผ่านการตรวจประเมินสำนักงานสีเขียว

 

 

 เรียนรู้ร่วมกันและสร้างความยั่งยืนอย่างมีส่วนร่วม :
ทิศทางการดำเนินงานด้านการสื่อสารและสร้างจิตสำนึก

คณะทำงานสำนักงานสีเขียวคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ใช้ช่องทางที่หลากหลายสำหรับการเผยแพร่ข้อมูลอย่างโปร่งใส และใช้กลไกการเปิดพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับคนทุกคนในคณะฯ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผ่านช่องทางสื่อสารต่าง ๆ ได้แก่ เว็บไซต์ อีเมล LINE และสื่อสังคมออนไลน์ โดยประกอบด้วยประเด็นการสื่อสาร 5 องค์ประกอบ

      1. สถานการณ์: การสื่อสารข้อมูลของคณะฯ เกี่ยวกับการใช้ทรัพยากร การใช้พลังงาน การจัดการของเสีย และการจัดการก๊าซเรือนกระจก เพื่อสร้างการรับรู้และความตระหนักร่วมกัน
      2. อบรม: การเสริมสร้างทักษะและความรู้ให้แก่บุคลากรของคณะฯ โดยเรียนรู้ร่วมกันกับผู้ที่มีประสบการณ์เฉพาะทางด้านสิ่งแวดล้อม และรองรับการเรียนรู้ด้วยตนเองของบุคลากรผ่านการใช้คลิปและสื่อจากการอบรมของคณะฯ
      3. กิจกรรม: ความเคลื่อนไหวและข้อมูลเพื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการจัดอบรมที่กำลังจะเกิดขึ้นและงานด้านต่าง ๆ ของคณะฯ ที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานสีเขียว
      4. ความรู้: บทความและ Infographic ที่ให้ความรู้และสร้างความตระหนักเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และแนวทางในการร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับคณะฯ และในระดับบุคคล เพื่อให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ในรูปแบบที่เหมาะสมกับตนเอง
      5. ร่วมเสนอแนะ: ช่องทางสื่อสารปัญหาและให้ข้อเสนอแนะด้านการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงข้อเสนอแนะเพื่อการดำเนินงานของสำนักงานสีเขียวของคณะฯ

       อาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษา และผู้สนใจ สามารถติดตามข่าวสารหรือแจ้งปัญหาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากร พลังงาน การจัดการของเสีย และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของคณะฯ ได้ทาง LINE Official “LSEd Green Faculty” โดยคลิกลิ้งก์นี้ https://lin.ee/kDRohoO เพื่อแอดไลน์

 

 

 

 บริหารการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมและรู้คุณค่า :
ทิศทางการดำเนินงานด้านการใช้ทรัพยากรและพลังงาน 

ทรัพยากรและพลังงานคือองค์ประกอบสำคัญที่ถูกใช้ในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของคณะฯ คณะทำงานสำนักงานสีเขียวจึงกำหนดแนวทางในการปฏิบัติร่วมกันเพื่อให้ทรัพยากรและพลังงานใช้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านการตรวจสอบและบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรน้ำ ไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง กระดาษ หมึกพิมพ์ อุปกรณ์เครื่องเขียน และวัสดุสำนักงานอื่น ๆ เพื่อลดการก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน นอกจากนี้คณะทำงานยัง รณรงค์และสนับสนุนให้บุคลากรในหน่วยงานปรับเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารจากสื่อสิ่งพิมพ์สู่การใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทั้งการประชุม นิทรรศการ และสื่อประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ

 

 

 

 

 จัดการขยะและของเสียตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง :
ทิศทางการดำเนินงานด้านการจัดการของเสีย 

ด้วยความตระหนักถึงปัญหาด้านของเสียและมลพิษที่อาจแพร่กระจายออกสู่สิ่งแวดล้อม การดำเนินงานด้านการจัดการของเสียของคณะฯ จึงมุ่งเน้นทั้งด้านการลดปริมาณการเกิดของเสีย และด้านการควบคุมคุณภาพของของเสียก่อนที่จะถูกปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม  คณะฯ ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการจัดการขยะจากการอุปโภคบริโภคและน้ำที่ผ่านการใช้งานแล้ว ปัจจุบันได้มีการมุ่งเน้นส่งเสริมให้บุคลากรของคณะฯ คัดแยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อช่วยลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นทาง และทำให้การจัดการขยะของคณะฯ มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น พร้อมกันนั้นยังคำนึงถึงการจัดการน้ำที่ใช้แล้วภายในคณะ โดยนำน้ำที่ใช้แล้วมาใช้งานอีกครั้ง เช่น นำมารดน้ำต้นไม้ และคอยตรวจสอบคุณภาพของน้ำเสียและบำบัดน้ำเสียก่อนที่จะปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม

 

  

จัดการพื้นที่และเตรียมพร้อมรอบด้านเพื่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย : 
ทิศทางการดำเนินงานด้านสภาพแวดล้อมและความปลอดภัย 

คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ให้ความสำคัญต่อการดูแลรักษาสภาพแวดล้อมและความปลอดภัยทั้งพื้นที่ภายในและพื้นที่รอบคณะฯ จึงดำเนินการจัดสภาพแวดล้อมพร้อมติดตั้งระบบในการดูแลความปลอดภัย ได้แก่ การควบคุมคุณภาพอากาศในบริเวณสำนักงาน มีการรณรงและติดตั้งป้ายเตือนเพื่อจัดการมลภาวะทางอากาศจากรถยนต์และการสูบบุหรี่ มีการควบคุมดูแลมลภาวะที่อาจเกิดขึ้นภายในสำนักงาน เช่น มลภาวะจากเครื่องปรับอากาศ และการพ่นยาฆ่าแมลง มีการจัดการมลพิษจากสิ่งปลูกสร้าง ดูแลและจำกัดปัจจัยทางกายภาพ โดยตรวจสอบจากข้อหนดและมาตรฐานที่ปลอดภัยทางสิ่งแวดล้อม จัดการความเข้มของแสงและมลภาวะทางเสียงที่อาจส่งผลต่อการทำงานของบุคลากรภายในคณะฯ มีการจัดการป้องกันสัตว์พาหะนำโรค เช่น หนู และแมลงสาบ อีกทั้งมีการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้วยการจัดสรรอุปกรณ์ดับเพลิงสำหรับการป้องกันอัคคีภัยและการฝึกซ้อมดับเพลิงและซ้อมอพยพหนีไฟ กำหนดแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีการอบรมบุคลากรเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ

 

 

 

 เลือกใช้ผลิตภัณฑ์และการบริการอย่างเหมาะสมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม :
ทิศทางการดำเนินงานด้านการจัดซื้อจัดจ้าง 

เบื้องหลังของการจัดการเรียนการสอนและงานขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของคณะฯ คือการดำเนินงานของสำนักงานซึ่งประกอบด้วยการใช้วัสดุอุปกรณ์และมีการจัดซื้อจัดจ้างอยู่บ่อยครั้ง คณะฯ จึงคัดเลือกผลิตภัณฑ์และบริการที่จำเป็นต้องใช้อย่างเหมาะสม  เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายด้านสภาพแวดล้อมและความปลอดภัยของคณะฯ  โดยส่งเสริมให้การจัดซื้อจัดจ้างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นต้นทางที่สำคัญในการช่วยลดปริมาณขยะจากผลิตภัณฑ์แต่ละประเภท ลดการเกิดมลพิษต่าง ๆ ในสำนักงาน  และบรรเทาปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ทางสังคม โดยมีการประสานการทำงานด้านการจัดซื้อจัดจ้างให้สอดคล้องกับแนวทางการจัดการทรัพยากรและการจัดการของเสีย ลดการใช้วัสดุที่ไม่จำเป็น สนับสนุนให้มีการใช้วัสดุซ้ำ และมีการหมุนเวียนวัสดุให้เกิดประโยชน์สูงสุด