Loading...

ครูผู้สร้าง สู่การพัฒนานิเวศการเรียนรู้เพื่อการศึกษาที่มีความหมาย

        “ครู” ไม่ได้เป็นเพียงผู้ถ่ายทอดความรู้ในห้องเรียน แต่ยังเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการหล่อหลอมอนาคตของสังคม ผ่านการปลูกฝังทักษะ ความคิด และจิตวิญญาณให้กับผู้เรียน ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ครูจึงไม่ได้ทำหน้าที่แค่ “สอน” แต่ยังต้องเป็นผู้ออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้ที่ช่วยพัฒนาศักยภาพของเด็ก พร้อมสร้างแรงบันดาลใจและสนับสนุนให้พวกเขาค้นพบคุณค่าในตัวเอง

        การสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาไม่ได้เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับการสร้าง “นิเวศการเรียนรู้” ที่เหมาะสมสำหรับผู้เรียน โดยครูคือหัวใจสำคัญในกระบวนการนี้ พวกเขามีบทบาททั้งในฐานะนักออกแบบการเรียนรู้ นักสร้างเครือข่าย และผู้ประสานความร่วมมือจากชุมชนและครอบครัว เพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมที่ช่วยเสริมศักยภาพการเรียนรู้ให้กับเด็กในทุกมิติ

        LSEd Let’s Talk ขอชวนติดตามบทสัมภาษณ์จาก รศ.ดร.สิทธิชัย วิชัยดิษฐ หรือ อ.เปี๊ยก อาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ที่มีความสนใจในกระบวนการพัฒนาครู ชุมชนการเรียนรู้เชิงวิชาชีพ และการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงชีวิตจริง

“...ครูเป็นทั้งนิเวศการเรียนรู้ให้เด็ก และเป็นผู้สร้างระบบนิเวศที่ส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็กได้”

        อ.เปี๊ยก เปรียบเทียบการสร้างการเรียนรู้กับโรงเพาะชำกล้าไม้ โดยอธิบายว่าเกษตรกรจะดูแลต้นไม้เล็ก ๆ อย่างพิถีพิถัน ทั้งการให้ปัจจัยที่จำเป็น เช่น แสงแดด ธาตุอาหาร น้ำ ความชื้น และอุณหภูมิที่เหมาะสม รวมถึงการป้องกันศัตรูพืช เช่น แมลงที่อาจกัดกินต้นไม้ เพื่อให้ต้นกล้าเหล่านั้นเติบโตอย่างแข็งแรง หากเปรียบต้นไม้เล็ก ๆ เหล่านี้กับเด็กนักเรียน และครูกับเกษตรกร ครูก็สามารถทำหน้าที่สร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเรียนรู้และการเติบโตของนักเรียนได้ ผ่านการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสม จัดหาสื่อและอุปกรณ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของนักเรียน รวมถึงการทำหน้าที่เป็น ‘ช่างเชื่อม’ เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายแหล่งเรียนรู้ ผู้ปกครอง และชุมชน อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อโรงเรียนสนับสนุนให้ครูมีทรัพยากร องค์ความรู้ และเวลาเพียงพอ หากเกษตรกรมีแค่มือเปล่า ไม่มีเครื่องมือหรือความรู้ที่จำเป็น และถูกมอบหมายงานอื่นจนไม่มีเวลามาดูแลต้นไม้ ก็ย่อมไม่อาจทำให้ต้นกล้าเติบโตได้อย่างที่ควรจะเป็น

การสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ: เริ่มต้นจากการเข้าใจผู้เรียน

        อ.เปี๊ยก กล่าวว่า การสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพต้องเริ่มจากการรู้จักผู้เรียนก่อน ซึ่งในเบื้องต้นมี 2 สิ่งที่เราควรรู้ คือ ผู้เรียนมีความรู้เดิมอย่างไร และ เขามีวิธีการเรียนรู้อย่างไร

        ความรู้เดิมของผู้เรียนเป็นได้ทั้งข้อจำกัดและศักยภาพในการเรียนรู้สิ่งใหม่ หากผู้เรียนมีความรู้เดิมที่คลาดเคลื่อน เข้าใจผิด หรือไม่มีพื้นฐานที่เกี่ยวข้องเลย การเรียนรู้เรื่องใหม่จะเป็นไปได้ยาก ครูจึงจำเป็นต้องปรับพื้นฐานหรือแก้ไขความเข้าใจผิดก่อน เช่น ในการสอนเรื่อง “ข้างขึ้นข้างแรม” หากเด็กบางคนเข้าใจผิดว่าส่วนมืดของดวงจันทร์เกิดจากเงาของโลก ซึ่งเป็นการสับสนกับปรากฏการณ์จันทรุปราคา ครูจำเป็นต้องอธิบายให้เข้าใจความแตกต่างระหว่างสองปรากฏการณ์นี้ก่อน อาจใช้สื่อหรือแบบจำลองในการช่วยสาธิต เพื่อปรับแก้ความเข้าใจเดิม ก่อนนำเข้าสู่การเรียนรู้เรื่องใหม่

        ในกรณีที่ผู้เรียนมีความรู้พื้นฐานที่ถูกต้องและเพียงพออยู่แล้ว ครูควรส่งเสริมให้ผู้เรียนเชื่อมโยงความรู้เดิมกับความรู้ใหม่ เพื่อช่วยสร้างความเข้าใจที่ลึกซึ้งและต่อยอดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

        นอกจากนี้ วิธีการเรียนรู้ของผู้เรียนก็มีความสำคัญอย่างมาก การเรียนรู้ของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ครูจึงต้องเข้าใจว่าผู้เรียนมีวิธีการเรียนรู้อย่างไร เพื่อออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสม ตัวอย่างเช่น ในการเรียนเรื่องที่มีความเป็นนามธรรมอย่าง “ข้างขึ้นข้างแรม” อาจจำเป็นต้องใช้สื่อที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจได้ง่ายขึ้น หรือ เด็กบางคนอาจต้องอาศัยการลงมือทำหรือการเรียนรู้ด้วยตนเองเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจน

        เมื่อครูเข้าใจทั้งความรู้เดิมและวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียน จะช่วยให้สามารถออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน และสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีคุณภาพได้อย่างแท้จริง

การพัฒนาครู: จากความเข้าใจในตัวตนสู่การสร้างเครือข่ายที่ยั่งยืน

        อ.เปี๊ยก อธิบายว่า การพัฒนาครูในยุคปัจจุบันควรเริ่มจากการมองครูในฐานะมนุษย์ที่มีความรู้สึก ความต้องการ เป้าหมายชีวิต และอุดมการณ์ ไม่ใช่แค่เครื่องมือหรือหุ่นยนต์ที่ต้องทำตามคำสั่งและนโยบาย เพราะการสอนเป็นงานที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ซึ่งไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในระบบที่มุ่งควบคุม บังคับ และไม่เปิดโอกาสให้ครูได้ทดลองหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่

        การอบรมครูจึงไม่ควรเป็นเพียงการถ่ายทอดนโยบายเพื่อให้ทำตาม แต่ควรเป็นกระบวนการที่ช่วยให้ครูมองเห็นศักยภาพของตนเอง เห็นศักยภาพของนักเรียน ชุมชน และผู้คนรอบตัวเด็ก เพราะเมื่อครูสามารถมองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ พวกเขาก็จะสามารถสร้างสรรค์นิเวศการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกและความต้องการของผู้เรียนได้อย่างแท้จริง นอกจากนั้น การพัฒนาครูควรครอบคลุมถึงการพัฒนา “เครือข่าย” และ “ชุมชนทางวิชาชีพ” ของครู เพื่อให้ครูได้มีเพื่อนร่วมคิด และมีพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แบ่งปันประสบการณ์ เรียนรู้จากการปฏิบัติ และสนับสนุนกันและกัน เครือข่ายที่มั่นคงและยั่งยืนจะเกิดขึ้นจาก “ความสัมพันธ์” ที่สร้างความไว้วางใจและความร่วมมือ ไม่ใช่จาก “คำสั่ง” ที่กำหนดให้ทำตาม

ครูรุ่นใหม่: พลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเพื่อการศึกษาที่ยั่งยืน

        อ.เปี๊ยก กล่าวว่า แนวทางสำคัญในการส่งเสริมครูรุ่นใหม่ให้สร้างความเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาคือ การเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ทดลองแนวคิดใหม่ ๆ ในขณะเดียวกันก็เรียนรู้จากครูผู้มีประสบการณ์ สิ่งที่จะช่วยให้กระบวนการนี้เกิดขึ้นคือ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในองค์กร และการจัดการปัญหาการเมืองภายในโรงเรียน ซึ่งมักเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางพลังสร้างสรรค์ของครูรุ่นใหม่

“การเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาไม่อาจเกิดขึ้นได้เพราะวีรบุรุษเพียงคนเดียว แต่เกิดจากการทำงานร่วมกันของทุกคน” อ.เปี๊ยกกล่าว พร้อมย้ำว่าการสนับสนุนครูรุ่นใหม่ให้ก้าวข้ามอุปสรรคและแสดงศักยภาพที่แท้จริงเป็นสิ่งสำคัญ

        ในมุมมองของ อ.เปี๊ยก วันครูควรเป็นมากกว่าวันที่ระลึกถึงพระคุณของครู แต่ควรเป็นวันที่เราทุกคนตระหนักถึงภาระ ความยากลำบาก และความทุ่มเทของพวกเขา และร่วมกันหาวิธีแบ่งเบาและส่งเสริมให้ครูสามารถทำงานสำคัญนี้ได้สำเร็จ

        “อนาคตของประเทศไทยจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับเด็กไทยในวันนี้ งานของครูจึงเป็นงานสร้างอนาคตของประเทศและโลกใบนี้” อ.เปี๊ยกกล่าวปิดท้าย การพัฒนาระบบการศึกษาไม่ได้เกิดขึ้นจากพลังของบุคคลเพียงคนเดียว แต่เกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง การส่งเสริมครูรุ่นใหม่ให้กล้าคิด กล้าทำ และสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้คือกุญแจสำคัญที่จะพาเราไปสู่ระบบการศึกษาที่ดียิ่งขึ้น พร้อมรองรับอนาคตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและซับซ้อน

เรียบเรียงโดย นวนันต์ เกิดนาค