Loading...

ถักทอความเป็นธรรมในสังคม จากความเห็นอกเห็นใจและการเปิดใจรับฟัง

        ในทุกสังคม ความเป็นธรรมถือเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ การสร้างโอกาสที่เท่าเทียม หรือการเคารพความแตกต่างหลากหลายของผู้คน ประเด็นนี้ยังคงถูกหยิบยกมาถกเถียงและตั้งคำถามอยู่เสมอ เพราะความเป็นธรรมในสังคมไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของกฎระเบียบหรือโครงสร้างเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวพันกับทัศนคติ ความเชื่อ และวิธีการที่เราปฏิบัติต่อกันในชีวิตประจำวัน

        ขณะเดียวกัน ความเป็นธรรมก็เป็นประเด็นที่ท้าทาย เพราะในความพยายามสร้างสังคมที่เท่าเทียม กลับต้องเผชิญกับอุปสรรคจากโครงสร้างอำนาจ วัฒนธรรม และมุมมองที่แตกต่างกัน การพูดคุยและถกเถียงในประเด็นนี้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้สังคมได้ค้นพบทางเลือกที่ดีขึ้นและสร้างความเข้าใจร่วมกัน

        LSEd Social Change ขอชวนทุกท่านร่วมสำรวจมุมมองและแนวทางเกี่ยวกับ “ความเป็นธรรมในสังคม” ผ่านบทสัมภาษณ์ ผศ.กานน คุมพ์ประพันธ์ (อ.กก) อาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จะมาแบ่งปันประสบการณ์และมุมมองเกี่ยวกับการสร้างสังคมที่เป็นธรรมและเท่าเทียมยิ่งขึ้น

ความหมายของ ‘ความเป็นธรรมในสังคม’ และความสำคัญต่อการพัฒนา

        อ.กก อธิบายว่า คำว่า ‘ความเป็นธรรม’ มีคำนิยามหลากหลายและยังคงเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอยู่ในหลายมิติ ทั้งในเชิงสิทธิขั้นพื้นฐาน การเข้าถึงทรัพยากร ไปจนถึงความเท่าเทียมในโอกาสและการปฏิบัติ ตัวอย่างเช่น ความเป็นธรรมในมุมพื้นฐานอาจหมายถึงการที่ทุกคนควรได้รับทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน หรือสิทธิต่าง ๆ ที่มนุษย์ควรได้รับ เช่น สิทธิในการฟ้องร้องเมื่อถูกละเมิด หรือการเข้าถึงความยุติธรรมในกระบวนการทางกฎหมาย

        อย่างไรก็ตาม ความเป็นธรรมไม่ได้จำกัดแค่เพียงในเชิงการกระจายทรัพยากรหรือกฎหมาย มีนักคิดและนักเคลื่อนไหวทางสังคมหลายคนเรียกร้องความเป็นธรรมในมิติทางสังคม วัฒนธรรม และจิตใจ เช่น ในกรณีของชนกลุ่มน้อยหรือผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดน พวกเขาจะได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกับคนในพื้นที่ศูนย์กลางของประเทศหรือไม่? หรือในประเด็นทางวัฒนธรรม มีการตั้งคำถามว่าวัฒนธรรมท้องถิ่นกำลังถูกครอบงำโดยอิทธิพลของจักรวรรดินิยมหรือไม่ หรือความเป็นธรรมในการแสดงอัตลักษณ์ต่าง ๆ ของตนเองไม่ว่าจะเป็นอัตลักษณ์ทางเพศ หรือชาติพันธุ์?

        แม้แต่ในกระบวนการยุติธรรมเอง ก็มีการถกเถียงว่า ความเป็นธรรมในแง่ของการตอบสนองความต้องการของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำผิดต่างๆ  ตัวอย่างเช่น ผู้เสียหายไม่ได้รับการเยียวยาทางจิตใจแม้ว่าผู้กระทำผิดจะถูกลงโทษตามกฎหมายแล้ว เป็นความเป็นธรรมหรือไม่

        ประเด็นเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ความเป็นธรรมในสังคมยังคงเป็นเรื่องที่ไม่มีคำตอบตายตัว เพราะมันขึ้นอยู่กับมุมมอง ความเชื่อ และค่านิยมของแต่ละบุคคล ยกตัวอย่างเช่น ประเด็นล่าสุดที่มีการพูดถึงเรื่องการอนุญาตให้ผู้หญิงข้ามเพศเข้าร่วมแข่งขันกีฬาในประเภทหญิง สิ่งนี้เป็นความเป็นธรรมหรือไม่? คำตอบขึ้นอยู่กับว่าใครให้ความสำคัญกับมิติใดมากกว่ากัน

        การพูดคุยและแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับความเป็นธรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อเรามีการพูดคุยและเปิดใจรับฟังมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น เราก็จะเข้าใจถึงความแตกต่างในความต้องการและประสบการณ์ของผู้คน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาสังคมที่ครอบคลุมและเป็นธรรมให้มากที่สุดสำหรับทุกคน

บทบาทของการศึกษา สร้างความเป็นธรรมหรือความเหลื่อมล้ำ?

        การศึกษาในปัจจุบันยังคงเป็นประเด็นที่ถูกถกเถียงอย่างต่อเนื่องว่ามีบทบาทในการสร้างความเป็นธรรมหรือกลับเป็นตัวการที่ทำลายความเป็นธรรม ในด้านหนึ่ง มีคนมองว่าการศึกษาเปิดโอกาสให้ผู้คนได้พัฒนาทักษะ เข้าถึงการเรียนรู้ และเตรียมพร้อมสู่โอกาสทางสังคมหรือการทำงาน อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งกลับมองว่าการศึกษาอาจเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม เช่น การสร้างระบบที่ทำให้คนขาดความมั่นใจในอัตลักษณ์ของตนเอง หรือไม่ได้ตระหนักถึงสิทธิที่พึงมีของตน ยกตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การกำหนดให้ภาษาราชการกลางเป็นภาษาหลักในการศึกษา ซึ่งสำหรับเด็กที่ภาษาแม่ไม่ใช่ภาษาหลักของประเทศนั้น ๆ อาจเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ แม้ในมุมหนึ่งจะดูเหมือนว่าเป็นการสร้างความเท่าเทียมเพราะทุกคนได้เรียนในระบบเดียวกัน แต่ในอีกมุมกลับอาจมองว่าไม่เป็นธรรม เพราะเด็กกลุ่มนี้ต้องเผชิญความยากลำบากในการเรียนรู้เมื่อเทียบกับเด็กที่ใช้ภาษาราชการเป็นภาษาแม่

        สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า การศึกษาจึงไม่มีคำตอบที่ตายตัวว่าสร้างความเป็นธรรมหรือไม่ เนื่องจากยังมีหลากหลายมุมมองที่ต้องรับฟังและพิจารณา การถกเถียงและพูดคุยในประเด็นเหล่านี้จึงมีความสำคัญ เพราะหากเราไม่เปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย ก็อาจทำให้มุมมองบางส่วนถูกละเลย ซึ่งจะทำให้เราขาดโอกาสในการพัฒนาระบบการศึกษาที่เป็นธรรมสำหรับทุกคน

ความเป็นธรรมในพื้นที่การศึกษา: การสร้างความยินยอมผ่านการพูดคุยแทนการใช้อำนาจ

        อ.กก เล่าถึงประสบการณ์ในพื้นที่การศึกษาว่า ความเป็นธรรมไม่ได้หมายถึงการทำตามกฎระเบียบเพียงอย่างเดียว แต่คือการสร้างความยินยอมพร้อมใจร่วมกัน เกิดเป็นสถานการณ์ที่ความต้องการของทุกฝ่ายได้รับการมองเห็น ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยเวลาและความพยายามในการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ความท้าทายนี้ชัดเจนมากในพื้นที่การศึกษา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่โครงสร้างอำนาจมีความเข้มแข็งและฝังรากลึกมายาวนาน

        อาจารย์อธิบายว่า การศึกษาในปัจจุบันยังคงใช้อำนาจเหนือและความรุนแรงในหลายรูปแบบ ครูมักถูกมองว่าเป็นเพียงเครื่องมือในการปฏิบัติตามสิ่งที่ผู้บริหารต้องการ หรือเป็นเครื่องมือในการสร้างผลงานให้กับผู้ที่อยู่ในตำแหน่งสูงกว่า ด้วยเหตุนี้ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจในพื้นที่นี้จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง

        สิ่งที่สำคัญคือการเปลี่ยนวิธีคิด ว่าความเป็นธรรมไม่ได้เกิดจากการทำตามคำสั่งหรือกฎระเบียบเท่านั้น แต่เกิดจากการพูดคุยและทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยินยอมพร้อมใจในทางเลือกที่ตอบสนองต่อความต้องการและผลประโยชน์ร่วมกัน การสร้างพื้นที่สำหรับการพูดคุยอย่างเปิดเผยและการทำความเข้าใจมุมมองของกันและกันจึงเป็นหัวใจสำคัญในการส่งเสริมความเป็นธรรมในระบบการศึกษา

บ่มเพาะความเป็นธรรมในสังคมด้วย ‘ความเข้าใจ’ และ ‘ความเห็นอกเห็นใจ’

        เมื่อพูดถึงการสอนเรื่องความเป็นธรรมในสังคม หลายครั้งการเรียนรู้มักเน้นไปที่การตระหนักถึงการเอารัดเอาเปรียบ ความไม่เป็นธรรมในเชิงโครงสร้าง วัฒนธรรม หรือการเลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะในหลายครั้งความไม่เป็นธรรมแฝงอยู่ในวิถีชีวิตหรือโครงสร้างสังคมจนกลายเป็นเรื่องปกติที่เราอาจไม่ทันสังเกต การสร้างสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรมจึงเป็นสิ่งที่ท้าทาย แต่ อ.กก ได้แบ่งปันมุมมองที่น่าสนใจเพิ่มเติมว่า การสร้างความเป็นธรรมที่ยั่งยืนในสังคมไม่ได้จำกัดเพียงการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่ควรเริ่มต้นจากการปลูกฝัง “ความเห็นอกเห็นใจ” ต่อผู้อื่นด้วย

        อ.กก อธิบายว่า ความเห็นอกเห็นใจเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยให้ผู้คนเข้าใจว่าทำไมความเป็นธรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญ ยกตัวอย่างกรณีแรงงานข้ามชาติหรือผู้ลี้ภัยที่มักถูกมองด้วยความหวาดกลัวและไม่ไว้วางใจในสังคมไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเรามักปล่อยให้ความกลัวและความเกลียดชังเป็นตัวกำหนดมุมมองต่อผู้อื่น ทั้งที่คนเหล่านี้ต่างก็เป็นมนุษย์ที่มีชีวิต มีความฝัน และความหวังไม่ต่างจากเรา

        สิ่งที่อาจารย์เน้นย้ำคือ การสร้างสังคมที่เป็นธรรมต้องเริ่มจากการพยายามเข้าใจผู้อื่น และมองหาทางออกที่แม้จะไม่สมบูรณ์แบบสำหรับทุกฝ่าย แต่ทุกคนสามารถยอมรับได้ สิ่งนี้เชื่อมโยงไปถึงการมองเห็นความเป็นมนุษย์ในทุกคน แม้กระบวนการนี้อาจมีข้อจำกัด เช่น การรับมือกับกลุ่มคนที่มีอำนาจสูงกว่า ผู้ที่ปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างไม่เป็นธรรม หรือผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎที่ควรจะเป็นในความคิดของเรา แต่ อ.กก เชื่อมั่นว่าน่าจะเป็นวิธีที่สร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ไม่ผลิตซ้ำวงจรความรุนแรงและความเกลียดชังได้

        “บางครั้งความไม่เป็นธรรมเกิดจากโครงสร้างที่คนในนั้นก็ไม่มีทางเลือกมากนัก” อาจารย์กล่าว “ดังนั้น การที่เราพยายามพูดคุยและทำความเข้าใจกัน แทนที่จะติดป้ายหรือกล่าวโทษใครทันที จะช่วยให้เราแก้ปัญหาได้ตรงจุดและลดความขัดแย้งลง”

        นอกจากนั้นความเป็นธรรมยังอาจจะขยายไปสู่การเห็นคุณค่าและความเป็นธรรมต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ บนโลกที่ไม่ใช่มนุษย์ เช่น สัตว์ พืช และระบบนิเวศ

        “มนุษย์เรามักเบียดเบียนสิ่งมีชีวิตอื่นเพื่อความสะดวกสบายของตนเอง” อ.กก กล่าว “การพูดถึงความเป็นธรรมจึงไม่ควรจำกัดอยู่เพียงมนุษย์ แต่ควรครอบคลุมถึงสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลกใบนี้ และการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างความสมดุลและยั่งยืนให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม”

        บทเรียนที่ อ.กก ถ่ายทอดไม่เพียงแต่ชวนให้คิดถึงมิติของความเป็นธรรมในสังคมมนุษย์ แต่ยังเปิดมุมมองใหม่ในการเชื่อมโยงความเป็นธรรมไปถึงการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกใบนี้ในระยะยาว

เรียบเรียงโดย นวนันต์ เกิดนาค