Loading...

“เมื่อเสรีภาพสื่อมาพร้อมความรับผิดชอบ” การสื่อสารในยุคเทคโนโลยี ดิจิทัล และแพลตฟอร์ม

        ในยุคที่ Influencer หรือแหล่งข่าวก่อตัวขึ้นมากมายในหลายแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น TikTok, YouTube, Facebook, หรือ X (Twitter เดิม) ทำให้พื้นที่สื่อไม่จำกัดอยู่เพียงในมือขององค์กรข่าวอีกต่อไป แต่เปิดกว้างให้ใครก็ตามสามารถเป็นผู้ส่งสารและผู้ผลิตเนื้อหาได้อย่างเสรี เสรีภาพในการสื่อสารจึงขยายตัวอย่างไม่เคยมีมาก่อน แต่ขณะเดียวกัน ก็ท้าทายความเข้าใจของสังคมต่อ “ความจริง” “ความรับผิดชอบ” และ “จริยธรรมของการใช้สื่อ” โดยเฉพาะเมื่อสื่อดิจิทัลสามารถขับเคลื่อนความเชื่อ ความขัดแย้ง หรือแม้แต่กระทบต่อความมั่นคงของสังคมได้อย่างรวดเร็วในพริบตา

        LSEd Social Change ชวนทุกคนร่วมถกประเด็นเกี่ยวกับ “เทคโนโลยี” และ “เสรีภาพสื่อ” ผ่านบทสัมภาษณ์จาก ผศ.ดร.ญาดา อรรถอนันต์ หรือ อ.อ๋อม และ ผศ.ดร.เสมอกาญจน์ โสภณหิรัญรักษ์ หรือ อ.ตูน อาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้มีความเชี่ยวชาญและสนใจด้านการรู้เท่าทันดิจิทัล นวัตกรรมทางการเรียนรู้ เทคโนโลยี และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเปิดพื้นที่ในการตั้งคำถามว่า เราจะอยู่ร่วมกับเสรีภาพของสื่อในยุคเทคโนโลยีอย่างรับผิดชอบได้อย่างไร

        อ.อ๋อม กล่าวว่า เทคโนโลยีในยุคดิจิทัลมีบทบาทสำคัญในการเปิดพื้นที่ให้พลเมืองสามารถผลิตและเผยแพร่สื่อได้แบบ real-time ส่งผลให้ข้อมูล ความคิดเห็น หรือข้อเท็จจริงสามารถถูกนำเสนอถึงสาธารณะได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม พลเมืองในฐานะผู้ผลิตสื่อควรตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยควรคำนึงถึงการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ และใช้เสรีภาพภายใต้การเคารพสิทธิของผู้อื่น

        ในมุมของ อ.ตูน ได้แบ่งมิติของ “เสรีภาพสื่อ” ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1) กลุ่มประชาชนทั่วไป ที่สามารถแสดงความเห็นและสื่อสารผ่านช่องทางของตนเอง เช่น การมีบัญชีโซเชียลมีเดียและนำเสนอเนื้อหาผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ

2) กลุ่มผู้สื่อสารสาธารณะ เช่น นักข่าว หรือ Influencer ซึ่งในอดีตอาจต้องพึ่งพาผู้สนับสนุนทุน แต่ในปัจจุบันสามารถสื่อสารได้อย่างอิสระมากขึ้น

3) กลุ่มภาครัฐ ซึ่งควรเป็นผู้ประกาศข้อมูลที่เป็นทางการ เช่น กฎหมาย หรือข้อเท็จจริงที่ประชาชนควรรับรู้โดยตรง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและความชัดเจน

        อ.ตูน ยังยกตัวอย่างเสรีภาพสื่อที่เห็นได้ชัดเจนจากแพลตฟอร์ม TikTok ซึ่งสามารถถ่ายทอดเหตุการณ์แบบ live ได้รวดเร็ว เช่น ในกรณีแผ่นดินไหว บางครั้งการถ่ายทอดสดกลับเร็วกว่า “ข่าวทางการ” ที่ออกมาทีหลัง ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว

        อีกปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมเสรีภาพสื่อ คือ “ฟังก์ชัน” ภายในแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น ระบบแชร์หรือบอกต่อ ที่เอื้อต่อการขยายฐานผู้ติดตาม ทำให้ทั้ง 3 กลุ่มข้างต้นสามารถเข้าถึงผู้คนได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง เขามองว่า Social Media เป็นเครื่องมือที่เข้าถึงง่ายที่สุด และแต่ละแพลตฟอร์มก็มีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะตัว จึงทำให้การผลิตและเผยแพร่เนื้อหากลายเป็นพื้นที่เสรีภาพที่ขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ ในยุคนี้

เมื่อเสรีภาพไม่ได้แปลว่าปลอดภัย หรือถูกต้องเสมอ

        อ.อ๋อม กล่าวถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพสื่อว่า หนึ่งในประเด็นสำคัญคือการใช้กฎหมายบางฉบับที่เปิดทางให้รัฐสามารถเข้าตรวจค้นหรือยึดอุปกรณ์ดิจิทัลได้ หากรัฐมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ กฎหมายลักษณะนี้ทำให้รัฐมีอำนาจเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลและการใช้งานอินเทอร์เน็ตของประชาชน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อย่างไรก็ตาม หากสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต โดยส่งเสริมให้ใช้สิทธิมนุษยชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้เสรีภาพในการแสดงออกโดยปราศจากการคุกคาม จับกุม หรือดำเนินคดี ก็อาจช่วยสร้างสังคมที่ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างปลอดภัย

        ด้าน อ.ตูน ตั้งข้อสังเกตว่า เสรีภาพสื่อ ควรมาควบคู่กับทั้งความถูกต้องของเนื้อหา ความเหมาะสมในการเผยแพร่ และสิทธิ์ในการสื่อสาร เพราะ เสรีภาพ หมายถึง สิทธิในการสื่อสารหรือรับข้อมูล แต่ในความเป็นจริงแล้ว เสรีภาพอาจมาพร้อมกับความเข้าใจผิด การเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่มีขอบเขต หรือการละเมิดสิทธิของผู้อื่นโดยไม่ตั้งใจ

        “เสรีภาพสื่อควรมาคู่กับสิทธิ” อ.ตูนกล่าว “สิทธิในที่นี้ หมายถึง สิทธิที่จะรู้ และสิทธิที่จะเผยแพร่ข้อมูล ทั้งของตนเองและผู้อื่น แต่หลายครั้งเรากลับไม่เคยตั้งคำถามเลยว่าข้อมูลที่เราจะแชร์นั้นมีสิทธิเผยแพร่หรือไม่ เราเพียงแค่เลือกแชร์ออกไปโดยไม่ได้คิดถึงผลกระทบ”

เสรีภาพสื่อในมือทุกคน: โอกาส ความท้าทาย และความรับผิดชอบในยุคดิจิทัล

        ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเปิดโอกาสให้ใครก็สามารถเป็น “สื่อ” ได้ด้วยตนเอง อ.ตูน มองว่า ข้อดีที่ชัดเจนคือ “ความเร็ว” ทั้งในแง่ของการผลิตและการเผยแพร่ข้อมูล ผู้ใช้สามารถใช้ฟังก์ชันต่าง ๆ ของแพลตฟอร์มในการสื่อสารเนื้อหาได้ทันที และผู้รับสารก็เข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ความเร็วนี้อาจมาพร้อมกับความเสี่ยง เช่น การละเมิดสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่ได้ตั้งใจ ตัวอย่างเช่น การไลฟ์สดที่ติดใบหน้าของบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม (Consent) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัวหรือหน้าที่การงานของบุคคลนั้น ๆ

        อ.ตูน ยังกล่าวต่อว่า ข้อดีอีกประการหนึ่งคือ การที่เจ้าของเนื้อหาสามารถสื่อสารเรื่องราวของตนเองได้โดยตรง โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลสาธารณะ นักวิชาการ หรือบุคคลทั่วไปที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น ชาวสวนที่มีเทคนิคการเพาะปลูกเฉพาะตัว ก็สามารถเผยแพร่ความรู้นั้นผ่านช่องทางของตนเองได้ทันที โดยไม่ต้องพึ่งพาสื่อกระแสหลักเหมือนในอดีต นอกจากนี้ การมีผู้ผลิตเนื้อหาจำนวนมาก ยังส่งผลให้เกิดความหลากหลายของเนื้อหา ซึ่งช่วยขยายขอบเขตการเรียนรู้ให้กับผู้บริโภคสื่อในวงกว้าง

        อย่างไรก็ตาม ความหลากหลายนี้ก็มีข้อท้าทาย เพราะในขณะที่แพลตฟอร์มพยายามปรับเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจของผู้ใช้ผ่านอัลกอริธึม บางครั้งเราก็อาจไม่ได้อยากให้ผู้อื่นรู้ว่าเราสนใจอะไร และอาจรู้สึกสูญเสียความเป็นส่วนตัวโดยไม่รู้ตัว

        อ.ตูน ทิ้งท้ายว่า ท่ามกลางเสรีภาพในการสื่อสารที่เปิดกว้าง ผู้ใช้จำเป็นต้องมีทักษะ Media literacy เพื่อเข้าใจว่าสื่อที่ใช้มีผลกระทบต่อทั้งตนเองและผู้อื่นอย่างไร รวมถึง Information literacy ที่ช่วยให้ตระหนักว่าข้อมูลที่เผยแพร่ออกไปนั้นอาจเกี่ยวข้องกับสิทธิและกฎหมาย และอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้อื่นได้ ดังนั้น การเข้าใจแพลตฟอร์มที่ใช้งานและใช้มันอย่างมีวิจารณญาณจึงเป็นสิ่งสำคัญ

        อ.อ๋อมเสริมว่า ความท้าทายหลักของเสรีภาพสื่อในยุคดิจิทัลคือ การสร้างความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบและมีจริยธรรม ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานของการเป็น พลเมืองดิจิทัลในศตวรรษที่ 21 ที่ควรตระหนักถึงความเหมาะสมในการปฏิบัติตัวบนโลกออนไลน์ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติ ภาษา อายุ และวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่การสื่อสารไร้พรมแดน

        สำหรับด้านจริยธรรมในการทำสื่อออนไลน์ หรือการนำเสนอข่าวในพื้นที่สังคมออนไลน์ต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีอิทธิพลต่อความคิดและการตัดสินใจของกลุ่มเป้าหมาย (Influencer) ที่สามารถนำเสนอข่าว หรือข้อมูลต่างๆ ในช่องทางของตนเอง อาจจะไม่ได้รับการกลั่นกรองหรือหาข้อมูลรอบด้าน เพราะอาศัยความรวดเร็วในการนำเสนอเพื่อเรียกยอดคนดูและต้องตามกระแสสถานการณ์ต่างๆอย่างรวดเร็ว อาจจะมีการนำเสนอเพียงด้านเดียว ไม่มีแนวทางในการนำเสนออย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อบุคคลและสังคม

เทคโนโลยีกับบทบาทในการ “สร้าง” และ “คุ้มครอง” เสรีภาพสื่อในอนาคต

        อ.อ๋อม มองว่า เทคโนโลยีสามารถเป็นได้ทั้งเครื่องมือในการ “สร้าง” และ “คุ้มครอง” เสรีภาพสื่อ โดยเทคโนโลยีทำหน้าที่เป็นช่องทางในการสื่อสาร ทั้งในแง่ของการผลิตและนำเสนอข่าวสารในหลากหลายรูปแบบ อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้คนในสังคมสามารถสวมบทบาทเป็นผู้ผลิตสื่อได้มากขึ้น ผ่านการแสดงความคิดเห็นหรือการเผยแพร่ข้อมูลบนโลกออนไลน์โดยไม่ผ่านการกำกับหรือกลั่นกรองใดๆ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตามมาคือความท้าทายด้านคุณภาพของข้อมูล เช่น ปัญหาข่าวลวง หรือ ข่าวปลอม (Fake news)

        แม้จะมีความเสี่ยงดังกล่าว แต่เทคโนโลยีก็มีศักยภาพในการช่วยตรวจสอบและรับมือกับข่าวปลอม ผ่านเครื่องมือที่ช่วยคิดวิเคราะห์ แยกแยะ และค้นหาความจริงได้ ดังนั้น ทักษะสำคัญที่ผู้รับสารควรมี คือ ความสามารถในการตั้งคำถามต่อสิ่งที่ได้รับ รู้เท่าทันเจตนาของผู้ส่งสาร และไม่เชื่อข้อมูลทันทีโดยไม่ตรวจสอบ เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ตรงกับความต้องการและมีความน่าเชื่อถือมากที่สุด

        ในขณะเดียวกัน ผู้ผลิตสื่อเองก็ต้องมีจริยธรรมและจรรยาบรรณในการนำเสนอข้อมูล โดยตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสังคมในด้านต่างๆ และมุ่งเน้นการสร้างสื่ออย่างสร้างสรรค์และรับผิดชอบ

        อ.ตูน ได้เสริมว่า เทคโนโลยี โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย ยังมีบทบาทในการเป็นช่องทางกระจายข้อมูลที่ถูกต้องควบคู่ไปกับการกลั่นกรองข่าวลวง ทั้งนี้ผู้ใช้ต้องระมัดระวังเรื่องการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว โดยเฉพาะการยินยอมให้เว็บไซต์เก็บข้อมูลผ่านระบบคุกกี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเป็นส่วนตัวในระยะยาว

        สำหรับผู้พัฒนาเทคโนโลยี ควรมีจริยธรรมในการออกแบบระบบ โดยเปิดเผยอย่างชัดเจนว่าจะนำข้อมูลของผู้ใช้งานไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใด และอาจส่งผลอย่างไรกับผู้ใช้

เทคโนโลยี การสื่อสาร และเสรีภาพสื่อในการเรียนรู้และการสอน

        อ.อ๋อม และ อ.ตูน ได้เล่าถึงประสบการณ์การทำงานร่วมกันใน โครงการพัฒนาหลักสูตร “การรู้เท่าทันสื่อและดิจิทัลระดับอุดมศึกษา” ที่ให้ความสำคัญต่อการเท่าทันต่อสถานการณ์สังคมและพฤติกรรมการใช้สื่อของเยาวชน หนึ่งในเนื้อหาสำคัญของหลักสูตรนี้คือการเรียนรู้เกี่ยวกับเนื้อหาที่ผู้ใช้สร้างขึ้นเอง (User-generated content) ซึ่งสะท้อนบทบาทของบุคคลในฐานะผู้ผลิตสื่อ โดยครอบคลุมทั้งการแสดงความคิดเห็นหรือสร้างข้อความของตนเองผ่านเทคโนโลยีและเครื่องมือสื่อที่หลากหลาย พร้อมทั้งส่งเสริมการตระหนักรู้ถึงผลกระทบที่สื่ออาจมีต่อตนเองและสังคม เนื่องจากพื้นที่ออนไลน์ไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัวแต่เป็นพื้นที่สาธารณะ รวมถึง การใช้เนื้อหาที่สร้างโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI-generated content) เช่น ChatGPT และการเรียนรู้ด้านจริยธรรมในการใช้สื่อและสารสนเทศ จรรยาบรรณของปัจเจกในฐานะผู้ผลิตสื่อ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมดนี้เป็นการส่งเสริมให้เกิดทักษะการรู้เท่าทันสื่ออย่างรอบด้านในบริบทปัจจุบัน

นอกจากนี้ คณะฯ ยังเปิดหลักสูตรปริญญาโทออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าว เช่น

รายวิชา ศนร. 622 สื่อและเทคโนโลยี (Media and Technology) ที่เน้นการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล การออกแบบและพัฒนาสื่อเพื่อการเรียนรู้ การวิจัยด้านสื่อ การใช้ Design Thinking ตลอดจนการทำความเข้าใจ AI และ Metaverse

🌟ศึกษารายละเอียดของรายวิชาและสมัครเรียนได้ที่:

https://www.skilllane.com/courses/tuxsa-Media-and-Technology

รายวิชา ศนร. 623 เครื่องมือสื่อสารเพื่อนวัตกรรมการเรียนรู้ (Communication Tools for Innovative Learning) ที่เน้นการสร้างนวัตกรรมการสื่อสาร เช่น การออกแบบอินโฟกราฟิก เลือกใช้เครื่องมืออย่างเหมาะสม และพัฒนาเครื่องมือเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกัน

🌟ศึกษารายละเอียดของรายวิชาและสมัครเรียนได้ที่:

https://skilllane.com/courses/tuxsa-Communication-Tools-for-Innovative-Learning

จริยธรรมสื่อในยุคดิจิทัล: ความรับผิดชอบของทุกคนต่อเสรีภาพและสังคม

        อ.อ๋อม ฝากข้อคิดสำคัญถึงคนในสังคมว่า ในยุคดิจิทัลที่ทุกคนสามารถเป็นผู้ผลิตและเผยแพร่สื่อได้ด้วยตนเอง การใช้เทคโนโลยีจึงไม่อาจแยกออกจากประเด็นด้านจริยธรรม โดยเฉพาะในการใช้และสร้างสื่อในชีวิตประจำวัน ประเด็นแรกที่ควรให้ความสำคัญคือ จริยธรรมในการใช้และผลิตสื่อดิจิทัล ซึ่งหมายรวมถึงการคำนึงถึงความถูกต้องของข้อมูล ความน่าเชื่อถือ ความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ การเคารพสิทธิของผู้อื่น โดยเฉพาะข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ภาพถ่าย หรือความคิดเห็นที่เจ้าของไม่ประสงค์ให้เผยแพร่ ตลอดจนการมีความรับผิดชอบต่อบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง

        อีกประเด็นสำคัญคือ การตระหนักรู้ถึงผลกระทบของการแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นในประเด็นการเมือง เพศ หรือวิถีชีวิต เพราะสิ่งที่เรานำเสนอหรือแสดงออกจะกลายเป็นร่องรอยดิจิทัล (Digital footprint) ที่สามารถส่งผลต่อผู้คนหรือกลุ่มต่างๆ ในสังคมได้อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีจึงควรมาพร้อมกับความรับผิดชอบต่อเสรีภาพของผู้อื่นและความเข้าใจบริบทสังคมร่วมกัน

        สุดท้ายนี้ ในยุคที่ทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออกผ่านสื่อออนไลน์ อ.ตูน เน้นย้ำถึงความสำคัญของการคิดให้รอบคอบก่อนจะโพสต์ หรือแชร์ข้อมูลใดๆ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อสิทธิของผู้อื่น ผลต่อการตัดสินใจของสาธารณะ หรือแม้กระทั่งผลทางกฎหมาย นอกจากนี้ควรตรวจสอบข้อมูลจากหลายแหล่ง (อย่างน้อย 3–5 แหล่ง) และเปิดรับมุมมองที่หลากหลายเพื่อหลีกเลี่ยงการตกอยู่ในวงจรของอัลกอริธึมที่จำกัดการรับรู้

เรียบเรียงโดย นวนันต์ เกิดนาค