เมื่อก้าวสู่สังคมสูงวัย: ความท้าทายใหม่ของการอยู่ร่วมกันระหว่างวัย
ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์” (Aged Society) ซึ่งหมายถึงสัดส่วนของประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มสูงกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2566) ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุกว่า 13 ล้านคน หรือราว 20% ของประชากรทั้งประเทศ และมีแนวโน้มก้าวสู่ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” (Super-aged Society) ในอีกไม่กี่ 10 ปีข้างหน้า
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเช่นนี้ไม่ได้ส่งผลเฉพาะต่อระบบเศรษฐกิจหรือสุขภาพ แต่ยังส่งแรงกระเพื่อมถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีผู้คนหลากหลายช่วงวัย ทั้งในครอบครัว ชุมชน ที่ทำงาน และพื้นที่สาธารณะ ความเข้าใจระหว่างวัย และการเรียนรู้ร่วมกันจึงกลายเป็นประเด็นสำคัญที่จะกำหนดคุณภาพชีวิตของผู้คนในอนาคตได้
LSEd Social Change จึงชวนทุกคนมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับผู้สูงวัย และการอยู่ร่วมกันในสังคมหลากหลายช่วงวัย ผ่านการพูดคุยกับ รศ.ดร.ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล หรือ อ.แต้ว อาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและทำงานขับเคลื่อนด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ การเรียนรู้ระหว่างวัย และการอยู่ร่วมกันอย่างเคารพและเข้าใจในความหลากหลาย ทั้งในระดับชุมชน สถาบันการศึกษา และนโยบายสังคม โดยเชื่อว่าทุกช่วงวัยมีคุณค่า และสามารถเรียนรู้ เติบโตไปด้วยกันได้
อ.แต้ว ได้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมสูงวัยในประเทศไทยว่า จุดเริ่มต้นของการเข้าสู่สังคมสูงวัยเกิดขึ้นเมื่อกว่า 10 ปีก่อน ราวปี 2548 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด นักวิชาการในสาขาประชากรศาสตร์ต่างพยายามสื่อสารให้สังคมไทยตระหนักถึงปรากฏการณ์ใหม่นี้ เพราะเป็นครั้งแรกที่สังคมไทยต้องเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุในระดับที่มีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือ “ความเร็วของการเปลี่ยนผ่าน” ที่ อ.แต้ว ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยเปลี่ยนจาก “สังคมสูงวัย” (Ageing Society) ไปสู่ “สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์” (Complete Aged Society) ภายในระยะเวลาเพียงไม่ถึง 20 ปี โดยในปี 2565 ประเทศไทยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และคาดการณ์ว่า ภายในเวลาไม่ถึง 10 ปีจากนี้ จะก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” (Super Aged Society) ซึ่งมีผู้สูงอายุเกือบร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด เท่ากับว่า ประเทศไทยใช้เวลาไม่ถึง 30 ปีในการเปลี่ยนผ่านจากสังคมทั่วไปไปสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด ซึ่งถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเปลี่ยนผ่านเร็วที่สุดในโลก
การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ ส่งผลกระทบอย่างหลากหลาย ทั้งในระดับปัจเจก ครอบครัว และโครงสร้างสังคมโดยรวม โดย อ.แต้ว ชี้ให้เห็นมุมมองในสองมิติหลัก คือ มิติของกลุ่มผู้สูงอายุ และ มิติที่เชื่อมโยงกับกลุ่มวัยอื่น
ในมิติของผู้สูงอายุ การเพิ่มขึ้นของจำนวนและอายุคาดเฉลี่ย ทำให้เกิดความจำเป็นในการจัดสรรงบประมาณและสวัสดิการเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มากขึ้น เช่น ระบบสาธารณสุขที่ต้องรองรับโรคเรื้อรังหรือภาวะพึ่งพิงในวัยชรา รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องเป็นมิตรกับผู้สูงอายุ เช่น การขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงง่าย และสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
ส่วนในมิติที่เชื่อมโยงกับกลุ่มวัยอื่น อ.แต้ว อธิบายว่า เมื่อสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น สัดส่วนของวัยแรงงานย่อมลดลง ส่งผลต่อศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากวัยแรงงานมักเป็นกำลังหลักในการสร้างผลผลิต หากจำนวนแรงงานลดลงเรื่อย ๆ ประเทศจึงจำเป็นต้องยกระดับคุณภาพของแรงงานอย่างเร่งด่วน ซึ่งกระทบต่อการวางแผนการศึกษาของเด็กและเยาวชนในปัจจุบันโดยตรง
อ.แต้ว ยังกล่าวถึงแนวทางที่สามารถรับมือกับปัญหาเหล่านี้ได้ในระยะยาว โดยเน้นถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพประชากรตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยแรงงาน ไม่เพียงเพื่อให้แรงงานมีศักยภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่วัยสูงอายุที่มั่นคง สามารถพึ่งพาตนเอง และมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและสังคมได้ ซึ่งจะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “การปันผลทางประชากรครั้งที่ 2” กล่าวคือ หากผู้สูงอายุมีสุขภาวะที่ดีและศักยภาพเพียงพอ ก็สามารถมีบทบาทในสังคมและกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปได้ แม้ในวัยเกษียณ
อีกประเด็นสำคัญที่ อ.แต้ว กล่าวถึงคือ ผลกระทบต่อโครงสร้างครอบครัว โดยเฉพาะในกลุ่มที่เรียกว่า “Sandwich Generation” หรือกลุ่มวัยกลางคนที่ต้องดูแลทั้งบุตรหลานที่ยังอยู่ในวัยพึ่งพิง และพ่อแม่ที่เข้าสู่วัยชรา ซึ่งมีแนวโน้มอายุยืนขึ้น กลุ่มนี้จึงต้องรับภาระทั้งด้านการเงิน เวลา และภาระที่ต้องดูแลคนหลายวัยในครอบครัวพร้อมกัน
นอกจากนี้ การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมสูงวัยยังเกิดขึ้นพร้อมกับอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงสำคัญ คือ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนอย่างรวดเร็ว พื้นที่หลักในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การซื้อขาย การทำธุรกรรม การเข้าถึงบริการภาครัฐ ไปจนถึงการรับข้อมูลข่าวสาร ถูกย้ายจากโลกกายภาพไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ แม้จะเป็นสิ่งที่อำนวยความสะดวกต่อคนรุ่นใหม่ แต่กลับสร้างความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี (digital divide) ให้กับผู้สูงอายุที่ปรับตัวไม่ทัน จนอาจกลายเป็นกลุ่มที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังในสังคมดิจิทัล
จากภาพรวมทั้งหมดนี้ อ.แต้ว เน้นย้ำว่า การวางแผนเพื่อรับมือกับสังคมสูงวัยไม่ควรเป็นหน้าที่ของภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่ควรเป็นภารกิจร่วมกันทั้งในระดับโครงสร้าง และระดับปัจเจกบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนวัยแรงงานในปัจจุบัน ควรเริ่มต้นเตรียมความพร้อมทั้งด้านการเงิน สุขภาพ และการวางแผนด้านสังคม เพื่อให้สามารถเข้าสู่วัยสูงอายุได้อย่างมั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต
“สังคมจำเป็นต้องวางแผนรองรับอย่างรวดเร็วและถูกจุด หากไม่มีการเตรียมตัวแต่เนิ่น ๆ ก็อาจรับมือได้ยาก เพราะสังคมสูงวัยไม่ได้กระทบแค่ผู้สูงอายุ แต่เกี่ยวข้องกับประชากรทุกช่วงวัย”
บทบาทผู้สูงวัยในบริบทของการเรียนรู้: การถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ให้กับคนรุ่นใหม่
อ.แต้ว กล่าวว่าผู้สูงอายุกับคนรุ่นใหม่ต่างก็มีจุดแข็งเฉพาะตัวที่สามารถเกื้อหนุนกันได้ หากมีพื้นที่ให้ทั้งสองวัยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ก็จะก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง โดยผู้สูงวัยนั้นมักมีประสบการณ์ชีวิตที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน จึงเป็นแหล่งองค์ความรู้จากประสบการณ์ตรงที่สามารถถ่ายทอดให้คนรุ่นใหม่ได้อย่างลึกซึ้ง ทั้งยังเป็นคลังข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับวัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งบางส่วนอาจไม่ได้มีการจดบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร การถ่ายทอดเรื่องเล่าและความรู้จากผู้สูงวัยจึงเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ในรากเหง้าและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมให้กับคนรุ่นหลัง
ในขณะเดียวกัน คนรุ่นใหม่ก็มีจุดเด่นด้านการเข้าถึงเทคโนโลยี รวมถึงการมีข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างกว้างขวาง หากเปิดพื้นที่ที่ปลอดภัยและส่งเสริมให้คนต่างวัยได้มีปฏิสัมพันธ์หรือเรียนรู้ร่วมกัน ก็จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจระหว่างรุ่น และทำให้สังคมเข้มแข็งขึ้นจากการใช้ศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ในแต่ละช่วงวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แนวทางการสร้างสังคมที่ผู้สูงวัยและคนรุ่นใหม่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเข้าใจและเกื้อกูล
ระดับบุคคล
เมื่อพิจารณาจากบทบาทของผู้สูงวัยในฐานะแหล่งเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิต และศักยภาพของคนรุ่นใหม่ในการเข้าถึงเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสาร จะเห็นได้ว่าทั้งสองวัยต่างมีคุณค่าและสามารถเติมเต็มซึ่งกันและกันได้อย่างมีนัยสำคัญ การสร้างสังคมที่เกื้อกูลจึงต้องเริ่มจากระดับบุคคล ด้วยการเปิดใจ ยอมรับ และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
“เคารพผู้อื่นในฐานะเพื่อนมนุษย์”
การยอมรับความแตกต่างหลากหลาย และการเคารพในความเป็นมนุษย์ของกันและกัน คือพื้นฐานสำคัญของการลดอคติที่มักเกิดจากการเหมารวม (Stereotype) ซึ่งนำไปสู่การแบ่งกลุ่มว่า “พวกเรา” และ “พวกเขา” หากเราสามารถมองผู้สูงวัยหรือคนรุ่นใหม่ในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ก็จะช่วยลดช่องว่างระหว่างวัย และเปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันอย่างจริงใจมากยิ่งขึ้น
“Put yourself in someone's shoes.”
ในขณะเดียวกัน การพยายามเข้าใจเงื่อนไขและข้อจำกัดของแต่ละวัย ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ คนวัยทำงาน หรือเยาวชน ผ่านการ “ลองใส่รองเท้าของเขา” หรือการใช้ความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) ก็เป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้เรามองเห็นเหตุผลเบื้องหลังพฤติกรรม ความคิด หรือท่าทีของผู้อื่นได้ดีขึ้น การมองด้วยใจจึงเป็นอีกหนึ่งทางที่ช่วยหล่อหลอมให้เกิดสังคมที่เคารพ เข้าใจ และเกื้อกูลกันระหว่างวัย
การจัดการเรียนการสอน วิจัย หรือโครงการ ภายใต้คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. ที่ขับเคลื่อนประเด็นเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันระหว่างวัย
ที่ผ่านมา อ.แต้ว มีผลงานหลากหลายที่เชื่อมโยงกับประเด็นผู้สูงอายุและการอยู่ร่วมกันระหว่างวัย เช่น งานวิจัยด้านมูลค่าทางเศรษฐกิจของกิจกรรมที่ผู้สูงอายุทำในชีวิตประจำวัน บทความทบทวนแนวคิดและรูปแบบการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างวัย ตลอดจนหนังสือที่รวบรวมประสบการณ์ภาคสนามในการออกแบบหลักสูตรสำหรับผู้สูงอายุและเยาวชน
นอกจากนี้ยังมีการร่วมดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริมความเข้าใจและลดอคติในสังคม เช่น “ห้องเรียนวัฒนธรรม” เพื่อพัฒนาแนวคิดสมรรถนะทางวัฒนธรรม โครงการสร้างสังคม DEE (Diversity, Equity and Empathy) ที่ศึกษาสถานการณ์อคติต่อกลุ่มเปราะบาง และโครงการศึกษาสุขภาวะทางเพศของผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ
ในปีนี้ อ.แต้ว ก็กำลังทำงานขับเคลื่อนในประเด็นเหล่านี้อย่างเข้มข้น ผ่านโครงการพัฒนาพื้นที่เป็นมิตรสำหรับผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ และการเตรียมเปิดหลักสูตรด้านศักยภาพมนุษย์และสุขภาวะ ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาเรื่องการเรียนรู้ระหว่างวัย พฤฒาวิทยา และการส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับเครือข่าย Peaceful Death เพื่อผลักดันประเด็น “การอยู่ดี ตายดี” ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในสังคม
อ.แต้ว กล่าวทิ้งท้ายว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สังคมไทยต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง ความขัดแย้งทางสังคม ช่องว่างระหว่างวัย รวมถึงภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่ย้ำเตือนถึงความเปราะบางของชีวิต ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้
สำหรับผู้ที่กำลังก้าวเข้าสู่ช่วงสูงวัย อ.แต้ว มีคำแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และการใช้ชีวิตในสังคม โดยเฉพาะในมิติของ “การดูแลตนเอง” ซึ่งมักถูกมองเพียงในแง่ของการวางแผนด้านการเงินหรือสุขภาพเป็นหลัก แต่ อ. เน้นย้ำว่า สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม คือ “การเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงภายในหรือจิตใจ” เพราะการดูแลใจ ซึ่งเป็นขุมพลังสำคัญจากภายในนั้น จะช่วยให้เรารับมือกับความผันผวนต่าง ๆ และก้าวเดินต่อไปได้อย่างมั่นคง
เรียบเรียงโดย นวนันต์ เกิดนาค