Loading...

คณะวิทยาการเรียนรู้ฯ ธรรมศาสตร์ เปิดหลักสูตรปริญญาเอก บ่มเพาะ “นักขับเคลื่อนการเรียนรู้” เปลี่ยนการศึกษาไทย

        พัฒนาการด้านวิทยาการและเทคโนโลยีทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในทุกด้าน ส่งผลกระทบต่อการออกแบบการเรียนรู้และการจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้เรียน เป็นพลเมืองที่มีความรู้และความเข้าใจเท่าทันความเป็นไปในสังคมใกล้ตัวและสังคมโลก ทั้งด้านภาษา เชื้อชาติ วัฒนธรรม สภาพแวดล้อมและเศรษฐกิจ รวมทั้งเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองโลกที่ยอมรับและเคารพในความแตกต่างหลากหลายทางสังคม ด้วยเหตุนี้ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงเปิด หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิทยาการเรียนรู้ ขึ้นมาต่อยอดการผลิตและบ่มเพาะ “นักขับเคลื่อนการเรียนรู้” (Academic Change Agent) จากหลักสูตรอื่นๆ เพื่อสนับสนุนและสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาและการเรียนรู้ของประเทศไทย

        ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้ฯ ให้คำนิยามถึง “นักขับเคลื่อนการเรียนรู้” (Academic change agent) คือ ผู้ทำงานในเชิงปฏิบัติเพื่อขับเคลื่อนสังคมผ่านความรู้ทางการศึกษา ด้วยการนำองค์ความรู้ แนวคิดและวิถีปฏิบัติต่างๆ มาใช้ควบคู่กับกระบวนการพัฒนาผู้เรียน และการพัฒนาตนเองให้เป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต หลักสูตรพัฒนาขึ้นจากการผสมผสานหลากหลายสาขาวิชา ทั้งวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์และบริหารธุรกิจ นำเอาชุดความรู้ที่เหมาะสมกับยุคสมัยและคาดว่ามีประโยชน์ในอนาคตมาประยุกต์รวมกันโดยไม่แยกขาดจากการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เป้าหมายของหลักสูตรมุ่งพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาให้สามารถนำความรู้ความเข้าใจเชิงทฤษฎีลงไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งช่วยเสริมสร้างประสบการณ์และความเข้าใจบริบททางสังคมในภาพรวม

        “ปัจจุบันมีองค์ความรู้มากมายและมีความรู้ที่ถูกผลิตขึ้นมาใหม่แทบทุกวัน เชื่อว่านักศึกษาที่ได้เข้ามาเรียนรู้ในหลักสูตรจะได้พัฒนาความเข้าใจ ไม่ใช่แค่จดจำความรู้แต่สามารถเรียนรู้ความรู้ใหม่ได้ตลอดเวลา และนำความรู้ไปประยุกต์ต่อ ยอดเข้ากับบริบทการทำงานได้เสมอ ส่วนนี้เป็นกระบวนการเรียนรู้ในระดับปริญญาเอกที่คณะฯ ให้ความสำคัญ เพราะเมื่อไรก็ตามที่นักศึกษานำประสบการณ์มาถอดบทเรียนเชื่อมโยงกับความรู้เชิงวิชาการ เขาจะมีความเข้าใจในเชิงวิชาการอย่างลึกซึ้งมากขึ้น และเห็นภาพที่เป็นจริงตามความเป็นไปในสังคม” ผศ.ดร.อดิศร กล่าว

        ด้าน รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี อดีตคณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้ฯ ประธานบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กระบวนจัดการศึกษาที่ตอบสนองต่อการพัฒนาต้องเป็นการนำองค์ความรู้ไปปฏิบัติในระดับพื้นที่ซึ่งมีบริบทต่างกัน แม้ในประเทศไทยเองก็ยังมีความหลากหลายทางภูมิภาค แล้วพัฒนาขึ้นเป็นองค์ความรู้ใหม่เพื่อยกระดับความเข้าใจภาพรวมทางสังคม ทั้งนี้ จุดเด่นของหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิทยาการเรียนรู้ คณะวิทยาการเรียนรู้ฯ มีความล้ำสมัย (Cutting edge knowledge) เปิดพื้นที่ให้นักศึกษาได้เรียนรู้ร่วมกับคณาจารย์ที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านในแต่ละสาขาวิชา และได้ลงมือปฏิบัติผ่านการทำงานในโครงการวิจัยและโครงการบริการวิชาการร่วมกับนักวิจัยในภาคีเครือข่ายทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในระดับประเทศและต่างประเทศ

        นอกจากนี้ยังส่งเสริมการพัฒนา “สมรรถนะด้านการศึกษา 4 ด้าน” ได้แก่

P - Practice สมรรถนะการปฏิบัติ ประยุกต์และใช้งานจริง

A – Analyze สมรรถนะด้านการวิเคราะห์และใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ

C – Create สมรรถนะการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้

E – Empower สมรรถนะการสร้างการเรียนรู้ที่เสริมพลังและความมั่นคงจากภายใน

P – Practice สมรรถนะการปฏิบัติ ประยุกต์และใช้งานจริง

        การศึกษาที่มีคุณภาพ คือ การศึกษาที่ยึดผู้เรียนเป็นเป้าหมายหลัก และมีกระบวนการเรียนรู้เป็นเครื่องมือช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน ทั้งด้านความรู้ ทักษะ และสมรรถนะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

        ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช ที่ปรึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิทยาการเรียนรู้ กล่าวว่า การทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่โรงเรียน ระหว่างนั่งรถ ใช้อินเทอร์เน็ต หรือแม้แต่การเล่นเกม ล้วนเป็น “สภาพแวดล้อมการเรียนรู้” (Learning Ecosystem) ที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ขณะที่ระบบการศึกษาไทยยังคงให้ความหมายและจำกัดการศึกษาอยู่แค่ในห้องเรียน และไม่ได้มองผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาการเรียนรู้ ทั้งที่ทุกคนมีคุณสมบัติเป็นนักเรียนรู้และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง  (change agent) จากการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)

        ด้วยเหตุนี้ การสร้าง “นักขับเคลื่อนการเรียนรู้” จึงมีความสำคัญกับการพัฒนาระบบการศึกษาของชาติ เพราะเป็นการพัฒนาศักยภาพของผู้สอน (หรือผู้ที่จะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในระบบการศึกษา) ให้มีความรู้ความเข้าใจ และมีคุณสมบัติเป็นนักขับเคลื่อนการเรียนรู้ที่สามารถถ่ายทอดคุณสมบัตินี้ไปยังผู้เรียนได้

        “สังคมของเราถูกกล่อมเกลา หล่อหลอมให้เป็นคนอ่อนน้อมเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องมีความคิดเป็นของตัวเองในระดับหนึ่ง ไม่เชื่อง่ายๆ ต้องมีการถกเถียงเพื่อขุดคุ้ยให้ลึกขึ้น และเป็นการขุดคุ้ยตัวเองด้วยว่าความคิดหรือความเข้าใจของเรานั้นถูกต้องหรือเป็นจริงอย่างที่เข้าใจหรือไม่ ขณะเดียวกันต้องฟังและเคารพผู้อื่น แต่เท่าที่ทำกันอยู่คล้ายกับว่าต้องการคนที่พูดง่าย เชื่อฟังและปฏิบัติตาม ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เหมาะกับเมื่อก่อน มาถึงตอนนี้สังคมอยู่ได้ด้วยการคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงวิเคราะห์แยกแยะ และนวัตกรรม เมื่อเราไม่พัฒนาคุณสมบัติ เช่น สมรรถนะต่างๆ คนของเราก็จะสู้เขาไม่ได้ คนของเราก็จะกลายเป็นพลเมืองคุณภาพต่ำ”

        ทฤษฎีและหลักการทางด้านวิชาการมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม นอกเหนือไปจากความรู้ความเข้าใจเชิงทฤษฎีแล้วหากต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลง ผู้ที่จะทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงการศึกษาและสนับสนุนการเรียนรู้ของมนุษย์ ควรมีความสามารถในการประยุกต์และนำทฤษฎีไปใช้แตกต่างออกไปตามสภาพแวดล้อมการเรียนรู้

       “เราควรเข้าใจทฤษฎีแล้วนำมาปรับให้เข้ากับสถานการณ์ โดยเฉพาะวัฒนธรรมในประเทศของตัวเอง ทดลองทำแล้วดูผลลัพธ์ว่าออกมาเป็นอย่างไร นำไปประยุกต์กับหลายๆ สถานการณ์ เพราะสภาพจริงในโลกมีความวุ่นวาย (chaos) และซับซ้อน (complex) ไม่มีอะไรที่เรียบง่าย (simple) หากไม่ตระหนักถึงปัจจัยอื่นๆ รอบด้านที่เกี่ยวข้อง ผลลัพธ์อาจล้มเหลว แล้วเราบอกว่าทฤษฎีผิด ทั้งที่ทฤษฎีอาจไม่ผิด เพียงแต่ทฤษฎีไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยตามสภาพแวดล้อมที่ต่างออกไป ดังนั้นการนำทฤษฎีไปใช้ปฏิบัติต้องยอมรับปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง แล้วทดลองนำไปใช้จริง”

        ทั้งนี้ การนำทฤษฎีมาปฏิบัติเป็นตัวขับเคลื่อนกระบวนการที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประชากร สร้าง “ผู้เรียนที่เรียนรู้ด้วยตัวเองได้”(Independent Learner) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาการศึกษาของประเทศ

A – Analyze สมรรถนะด้านการวิเคราะห์และใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ

        ในยุคโลกาภิวัตน์ที่ข้อมูลข่าวสารหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมากและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความสามารถในการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจบนฐานของข้อมูล (data analysis for decision making) มีความสำคัญต่อการเรียนรู้และทำความเข้าใจสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมโลก

        ศ.ดร. ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า สมรรถนะด้านการวิเคราะห์และใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ เช่น การเข้าถึง การวิเคราะห์ และการจัดการข้อมูลมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศ และพัฒนาการเรียนรู้ของผู้คนในยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับผู้ที่ทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงการศึกษาและสนับสนุนการเรียนรู้ เพราะเป็นสมรรถนะที่ช่วยเพิ่มศักยภาพของระบบคิดวิเคราะห์และการใช้ข้อมูลในสถานการณ์เฉพาะหน้าหลากหลายมิติ

        “โซเชียลมีเดียเลือกข้อมูลข่าวสารที่เราอยากเห็นอยากฟัง เลือกเพื่อนในกลุ่มที่คิดเหมือนๆ กัน ทำให้เราได้รับข้อมูลข่าวสารจากกลุ่มคนที่คล้ายๆ ตัวเอง แต่ในความเป็นจริงของโลกอาจไม่ใช่อย่างนั้น ดังนั้นเราต้องคิดวิเคราะห์ได้ว่าในโลกที่มีประชากรอยู่เจ็ดพันล้านคน ประเทศไทยมีราวเจ็ดสิบล้านคน สิ่งที่เราเห็นเป็นข้อมูลที่เป็นตัวแทนของคนเจ็ดสิบล้านคนจริงหรือเปล่า เราต้องกลับมาคิดว่าข้อมูลที่ได้นั้นเป็นแค่หนึ่งในความไม่ปกติที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงหรือไม่”

        “การเข้าใจว่าแต่ละข้อมูลสะท้อนคนกลุ่มใหญ่หรือกลุ่มย่อย เป็นสิ่งที่คนกลุ่มหนึ่งไฮไลท์ขึ้นมาเอง หรือเป็นความจริง จุดนี้เป็นความสามารถในการใช้ข้อมูลเชิงตัวเลขซึ่งมีความสำคัญต่อการตัดสินใจ รวมทั้งการแยกแยะข้อเท็จจริงและความคิดเห็นออกจากกัน ทุกคนมีเสียงเท่ากัน หากได้รับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้องแล้วนำไปขยายต่อ ส่งผลให้คนอีกจำนวนมากได้รับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้องนั้นเช่นกัน แต่ถ้าคนทั่วไปมีระบบคิดวิเคราะห์ รู้จักเลือกใช้ข้อมูล ก็จะทำให้สังคมอยู่กันได้อย่างผาสุกมากขึ้น”

        ศ.ดร. ชูกิจ กล่าวว่า สมรรถนะด้านการวิเคราะห์และใช้ข้อมูลในการตัดสินใจมีความเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เพียงแต่ในระบบการศึกษาไม่ได้สะท้อนให้เห็นภาพความเชื่อมโยงว่าวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร จนเกิดเป็นคำถามว่า "เรียนแต่ละเรื่องไปทำไม?" ทั้งที่วิทยาศาสตร์เป็นฐานความรู้และเกี่ยวข้องกับแทบทุกเรื่องในชีวิตประจำวัน มีความสำคัญในการทำงานขับเคลื่อนสังคมด้านการเรียนรู้ โดยเฉพาะการจัดการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา

        “การเรียนวิทยาศาสตร์เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดการคิดอย่างมีเหตุผล เพราะวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของเหตุและผล เป็นเรื่องของการอธิบายความเป็นไปของโลก การเรียนวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างสมรรถนะด้านการวิเคราะห์ฯ ไม่ใช่การสอนที่ครูป้อนให้แล้วเด็กจะเก่งหรือรู้เรื่องวิทยาศาสตร์เลย แต่ต้องเกิดจากการที่เด็กค้นพบด้วยตัวเองระหว่างที่เรียนรู้ ดังนั้น การสอนไม่ช่วยแต่การเปิดให้เด็กได้เรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์ที่ขั้นตอนอย่างมีเหตุผล ให้เด็กคิดเองบ้าง ให้เขาทำผิดบ้างแล้วครูเข้ามาช่วยแนะนำ เกิดเป็นสมรรถนะติดตัวไปใช้คิดวิเคราะห์เรื่องอื่นได้”

        ทั้งนี้ การพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะด้านการคิดวิเคราะห์ฯ ต้องมาจากผู้สอนที่มีความรู้ความเข้าใจ ดังนั้น การขับเคลื่อนการเรียนรู้ทั้งระบบจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมและเต็มเติมศักยภาพให้แก่ผู้สอน เพื่อนำไปถ่ายทอดและสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างเหมาะสม และการปรับปรุงหลักสูตร รวมทั้งวิธีการสอน เพื่อปลูกฝังให้ผู้เรียนสร้างการเรียนรู้และสมรรถนะด้วยตัวเองได้

        “คนที่ประสบความสำเร็จ คือคนที่สามารถนำความรู้ออกมาใช้ได้ เข้าใจสถานการณ์รอบตัว เข้าใจสถานภาพของโลก เข้าใจว่าคนทั่วไปคิดยังไง ตัวเองคิดยังไง และมีช่องตรงไหนบ้างที่นำศักยภาพของตัวเองไปก่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมได้มากที่สุด”

C – Create สมรรถนะการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้เหมาะสมกับบริบทเพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้

        ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้การเรียนรู้ไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียนอีกต่อไป การสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษาและส่งเสริมการเรียนรู้ของมนุษย์ ขณะเดียวกันการศึกษาสามารถส่งเสริมให้มนุษย์มีความคิดสร้างสรรค์ และเห็นความสำคัญของการรังสรรค์นวัตกรรมที่จะช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมให้ดีขึ้นได้ในระยะยาว

        ทั้งนี้ การสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้เป็นได้ทั้งการปรับประยุกต์สิ่งที่มีอยู่เดิมหรือการออกแบบชิ้นงานใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะอย่างหรือเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพให้ดีขึ้น

        รัตติกร วุฒิกร นักออกแบบของเล่นและเกม ผู้ก่อตั้งบริษัท Club Creative จำกัด กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการสร้างสรรค์ คือ การยอมรับความล้มเหลวและเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ

        “เมื่อพูดถึงเรื่องการศึกษาเราจำเป็นต้องพูดถึงการสร้างสังคมไปด้วยเป็นการคิดเชิงระบบ การสร้างคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ทำได้ แต่อาจไม่ได้ความยั่งยืน สงสารคนๆ นั้นที่ต้องไปสู้ในสังคมที่ไม่สร้างสรรค์ ดังนั้นทำอย่างไรให้สังคมของเราเป็นสังคมที่นำคนไปสู่การเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ อยู่เสมอ แล้วสร้างคนที่มีความตื่นเต้นกับการค้นคว้า การทดลองและไม่กลัวความล้มเหลว เพราะการล้มเหลว คือ การเรียนรู้ไปสู่ความสำเร็จ ไม่มีเด็กคนไหนเดินได้ถ้าไม่เคยล้มมาก่อน”

        การออกแบบการเล่นที่เหมาะสมกับวัยและสภาพแวดล้อมเป็นการสร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนรู้อย่างหนึ่ง รัตติกร กล่าวว่า การเล่นช่วยส่งเสริมสมรรถนะในการแก้ปัญหาและพัฒนาการเรียนรู้ เนื่องจากขณะกำลังเล่น (ลงมือทำ) เด็กจะได้คิด เมื่อมีข้อผิดพลาดเด็กได้ลองแก้ไขปัญหา หากกระบวนการเรียนรู้ชวนให้เด็กอธิบายและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้อื่น เด็กจะสามารถประมวลผลกลายเป็นประสบการณ์ความรู้ใหม่ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กในอนาคตต่อไปได้

        ความสนุกหรือการเล่นเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดคนให้เข้ามาร่วมกิจกรรม ร่วมบทสนทนา หรือแลกเปลี่ยนความคิด เนื่องจากมี Play Element และ Fun Element อยู่ในนั้น ดังนั้นคุณภาพของการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดจากเราคนเดียว แต่เกิดขึ้นได้จากสิ่งแวดล้อม กระบวนการเล่น เหมือนงานของเราอยู่ที่่ว่าจะสามารถ Create เพื่อเปิดบทสนทนาแบบ creative dialogue/ positive dialogue ที่นำไปสู่ความคิด ความเข้าใจ ความเปลี่ยนแปลงได้มากแค่ไหน เพราะว่าเวลาเล่นจะต้องมีกระบวนการคิด อธิบาย และรับรู้ความคิดของคนอื่น เพื่อประมวลผล กลายเป็นประสบการณ์ใหม่ๆ ความรู้ใหม่ๆ ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติมากรรมในอนาคต

        “ถ้าเขาต้องการทดลองทำอะไรสักอย่าง มีพื้นที่และอุปกรณ์ให้ไหม แล้วเมื่อทำออกมาล้มเหลว การศึกษาจะช่วยในการเรียนรู้สิ่งนั้นอย่างไรโดยไม่ซ้ำเติม เหมือนการแก้สมการทางคณิตศาสตร์ที่ตัดสินว่าถ้าผลลัพธ์ออกมาผิดก็คือผิด แต่กระบวนการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ต้องถามต่อว่า...ทำไม? ผิดตรงไหน มีวิธีอื่นอีกไหม ซึ่งการเรียนในห้องเรียนปัจจุบันไม่ตอบโจทย์เรื่องนี้ เรายอมรับความล้มเหลวกันไม่ค่อยได้”

        นอกจากนี้ รัตติกร กล่าวว่า การสร้างสังคมที่ “เคารพซึ่งกันและกัน” เป็นองค์ประกอบสำคัญอีกอย่างหนึ่งของการเรียนรู้ และการสร้างสังคมแห่งความสร้างสรรค์ที่ไม่ผลักให้ใครตกไปอยู่ชายขอบ

        “สังคมที่เคารพกัน คนจะกล้าพูด กล้าแสดงออก กล้าแสดงความคิดเห็นและกล้าขัดแย้งเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน ไม่ได้บังคับว่าหลังจบการสนทนานี้ เธอต้องคิดเหมือนฉัน แต่อาจเดินจากกันด้วยทางแก้ปัญหาสองทางซึ่งดีกว่าทางเดียวก็ได้”

        ด้วยเหตุนี้ สมรรถนะด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนรู้จึงมีความสำคัญต่อการทำงานขับเคลื่อนสังคม ทั้งนี้ ผู้ที่จะทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงการศึกษาและสนับสนุนการเรียนรู้ของมนุษย์ ควรมีความสามารถ ทักษะ และเข้าใจบริบทของสังคม เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ ตอบโจทย์การเรียนรู้หลากหลายมิติ

        “สังคมกำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านและมีความหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะยุคดิจิทัล ผู้เรียนเห็นความหลากหลายทั้งบริบทรอบตัว สังคม และความต้องการที่ต่างกัน หลายกลุ่มยังไม่มีกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะกับเขา การสร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนรู้จะช่วยอุดรอยรั่วที่สร้างบาดแผล ความเจ็บปวดในสังคม เลยมีประโยชน์ทั้งต่อการศึกษา เศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมด้านอื่นๆ”

E - Empower สมรรถนะการสร้างการเรียนรู้ที่เสริมพลังและความมั่นคงจากภายใน

        การตั้งโจทย์ด้านการศึกษาของประเทศไทยยังคงมุ่งไปที่ผลลัพธ์จากการวัดและประเมินผลในลักษณะที่เห็นเป็นรูปธรรม เช่น การสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง การได้ประกอบอาชีพยอดนิยมและเป็นที่ยอมรับทางสังคม วิธีคิดเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการสร้างการเรียนรู้ อีกทั้งยังปลูกฝังค่านิยมทางความคิดให้ผู้ปกครอง รวมทั้งเด็กและเยาวชนมองการศึกษาเป็นเรื่องวิชาการมากกว่าพื้นที่ปลอดภัยที่ช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนให้ รู้จักตัวเอง (self-awareness) และเข้าใจผู้อื่น (empathy) อย่างแท้จริง

        ในมุมมองด้านการเรียนรู้ “การรู้จักตัวเอง” หมายถึง การรู้ความชอบและความถนัดของตัวเอง การมีแรงจูงใจและความหลงใหล (passion) ในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง การรู้ตัวว่าตนเองมีความสุขกับการเรียนรู้เรื่องใด นำไปสู่การรู้เป้าหมายในการประกอบอาชีพที่จะสร้างคุณค่าและความภาคภูมิใจ (self-esteem) ให้กับตนเองได้

        ขณะที่กระบวนการเรียนรู้ในปัจจุบันมุ่งเน้นวิชาการแต่ไม่ได้สร้างให้ผู้เรียนมีทักษะชีวิตและมีคุณสมบัติการเป็นนักเรียนรู้ ซ้ำยังบั่นทอนตัวตนของผู้เรียน

       ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน กล่าวว่า การตระหนักรู้ภายในตัวเองและการเข้าอกเข้าใจผู้อื่น (empathy) ช่วยพัฒนาการศึกษาและส่งเสริมการเรียนรู้ของมนุษย์ เพราะเป็นตัวสะท้อนความมั่นคงทางจิตใจที่จะเป็นแรงขับดันไปสู่ความต้องการเรียนรู้ ปัญหาใหญ่ของการศึกษา คือ การศึกษายังทำร้ายความเป็นมนุษย์ และลดทอนพลังหรือความมั่นคงจากภายในของผู้เรียน

        คุณลักษณะที่สำคัญของ Empower คือเรื่อง Self-Empathy หรือการกลับมาเข้าใจการเรียนรู้ของตัวเอง บางที “การเป็นคนสร้างการเปลี่ยนแปลง” ต้องเมตตาตัวเองเยอะมากๆ เพราะว่าจะมีการลองผิดลองถูกหลายครั้ง และถูกตัดสินจากคนอื่น หากเรามี Self Compassion หรือความเมตตา ความเข้าใจตัวเอง มีความใจดีกับตัวเองบ้างว่าจริงๆเราไม่จำเป็นต้องเฆี่ยนตีตัวเองให้ถูกต้องตลอด เพราะความเป็นมนุษย์ย่อมมีถูกมีผิดอยู่เสมอ

        “การเรียนรู้ถูกโปรแกรม ถูกดาวน์โหลด ถูกขีดตารางและถูกกำหนดให้เรียน โดยที่ผู้เรียนไม่ได้ลองทำจนเกิดความเข้าใจ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่อยากเรียนรู้จริงๆ หลายครั้งบั่นทอนความเป็นตัวตนของมนุษย์อย่างมาก ทำให้รู้สึกดีไม่พอ สู้เขาไม่ได้ บางที่มีการสอบเข้าตั้งแต่อนุบาลซึ่งทำให้เด็กจำนวนหนึ่งโตมากับความคิดว่าฉันไม่ได้เรื่องตั้งแต่วัยเด็ก”

        การเรียนรู้สู่ความเปลี่ยนแปลง (Transformative learning) ขับเคลื่อนจากกระบวนการคิด (head) การลงมือทำ (hand) และความรู้สึก (heart) คนที่มีความสุข (มีสุขภาพจิตที่ดี) จะเป็นนักเรียนรู้ได้โดยอัตโนมัติ การเรียนรู้จึงเป็นการจัดการกับพลังงานข้างในของตัวเองเพื่อเสริมพลังให้ทั้งสามองค์ประกอบขับเคลื่อนไปพร้อมกันได้อย่างมีเป้าหมาย ด้วยเหตุนี้การสร้างการเรียนรู้ที่เสริมพลังและความมั่นคงจากภายใน (empower) จึงเป็นเรื่องที่ระบบการศึกษาต้องให้ความสำคัญ

        “การใช้ความคิด (head) และการลงมือทำ (hand) อาศัยพลังงานข้างในอย่างมาก การสร้างประสบการณ์และสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนมีความสุขจะช่วยสนับสนุนด้านความรู้สึก (feeling) ซึ่งเป็นพลังงานด้านบวกที่แบ่งปันและถ่ายทอดถึงกันได้ เพราะฉะนั้นถ้ากระบวนการการเรียนรู้หรือหลักสูตรช่วยนำพาให้ผู้เรียนไปเจอความชอบ ความถนัดและความหลงใหลของตัวเอง จะสร้างพลังงานชีวิตจากภายในที่เสริมพลังต่อไปยังคนอื่นๆ ลองสังเกตเวลาเราคิดและทำอะไรได้ดีมักมาจากข้างในที่สงบและมั่นคงพอ คนที่ข้างในยังไม่มีความไม่มั่นคงและไม่มีความสุขแบ่งปันพลังงานการเรียนรู้ได้ยาก”

        ส่วนเรื่องการเข้าใจหัวใจคนอื่น คือ การไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางแต่เข้าใจความเป็นมนุษย์ที่แตกต่างหลากหลาย แต่ละคนนั้นมีพื้นฐานและข้อจำกัด มีความชอบและความถนัดต่างกัน การเข้าใจผู้อื่นช่วยอำนวยให้การออกแบบการเรียนรู้เป็นไปได้อย่างเหมาะสมตามความต้องการของผู้เรียนแต่ละคน

        “การเข้าใจหัวใจคนอื่นเป็นสิ่งที่ซึมซับและถ่ายทอดผ่านการมองเห็น ถ้าครูเป็นคนที่มีความเข้าใจความเป็นมนุษย์ ครูแสดงสิ่งเหล่านี้ต่อผู้เรียนและบริบทการเรียนต่างๆ เด็กจะซึมซับสิ่งเหล่านี้ไปโดยอัตโนมัติ เช่น เมื่อเด็กเรียนไม่เข้าใจ ครูมองเห็นว่าเขาอาจมีข้อจำกัดด้านการอ่านการเขียน แล้วเข้าไปช่วยเหลือ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่เด็กคนหนึ่งได้รับ แต่เด็กคนอื่นๆ ได้เห็นและเข้าใจไปด้วย เป็นการสร้างห้องเรียนที่ทำให้คนในพื้นที่การเรียนรู้นั้นมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น ความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นทำให้คนเราเติบโตไปแบบมีความสุข สามารถพัฒนาตัวเองไปได้อย่างเต็มศักยภาพ กลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น”

        ด้วยเหตุนี้หลักสูตรการเรียนรู้จำเป็นต้องสนับสนุนให้ผู้เรียนกลับมารู้จักตนเองและเข้าใจผู้อื่น ด้วยการเสริมพลังและความมั่นคงจากภายใน สร้างการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนมีความสุขและสร้างคุณค่าให้กับตัวเองและผู้อื่นได้

อ่านบทความต่อไป PACE FOR CHANGE การวิจัยทางการเรียนรู้ เพื่อขับเคลื่อนสังคม...ได้ที่..https://lsed.tu.ac.th/published-message-content-21