เมื่อความเท่าเทียมทางการศึกษา เริ่มต้นจากการยอมรับคุณค่าในความแตกต่างหลากหลาย
สังคมไทยปัจจุบันเริ่มพูดถึงความเท่าเทียมในหลากหลายด้านมากขึ้นทุกวัน และ “ความหลากหลายทางเพศ” อาจดูเหมือนเป็นเรื่องที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างมากขึ้นแล้ว แต่เมื่อเราก้าวเข้าไปใกล้ ๆ ฟังเสียงของผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่กับความหลากหลายนั้นจริง ๆ กลับพบว่ายังมีอีกหลายประเด็นที่คนในสังคมยังมีความเห็นที่ต่างกันอย่างสุดขั้ว เช่น การสนับสนุนอัตลักษณ์ทางเพศบางกลุ่ม สวัสดิการและการปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานในสังคม รวมถึงกฎหมายบางข้อที่ยังตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลง ทำให้เห็นว่าการเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศไม่ใช่แค่เรื่องของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทุกคนที่อยู่ร่วมกันในสังคม
LSEd Let’s Talk ชวนคุยกับ ผศ.ดร.ชลิดา จูงพันธ์ หรือ อ.แท็ป อาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จะพาเราเปิดมุมมองต่อประเด็นความหลากหลายทางเพศ จากสายตาของคนรักต่างเพศ (Straight) ผ่านประเด็นที่ลึกกว่า “การยอมรับ” แต่ยังพูดถึงบทบาทของครู พื้นที่ของโรงเรียน ทัศนคติของครอบครัว และสิ่งเล็ก ๆ ที่ยังทำให้เรารู้สึกว่า สังคมไทยยัง “มีหวัง” และยังสามารถเดินไปข้างหน้าได้
อ.แท็ปมองว่า หากมองจากมุมของคนที่ไม่ได้มีความหลากหลายทางเพศ ภาพรวมในปัจจุบันดูเหมือนว่าสังคมไทยเปิดกว้างและยอมรับมากขึ้น เห็นได้จากการที่ประเทศเรามี “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่ใช้ร่วมกันทั้งคนที่มีและไม่มีความหลากหลายทางเพศ แสดงให้เห็นถึงความเสมอภาคอย่างแท้จริง และถ้าเทียบกับหลายประเทศ ไทยเองก็ถือว่าก้าวหน้าไปไกล
แต่ อ.แท็ป ก็ชวนมองลึกลงไปว่า เมื่อได้อยู่ใกล้ชิดกับเพื่อนหรือคนที่มีความหลากหลายทางเพศจริง ๆ ก็ยังพบกับข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะทัศนคติในระดับครอบครัวและสังคม เช่น เพื่อนของอาจารย์คนหนึ่งที่มีแฟนและตั้งใจจะแต่งงานกัน แต่ยังต้องชะลอไว้เพราะพ่อแม่ของแฟนยังไม่สามารถยอมรับความสัมพันธ์นี้ได้ ทั้งที่หากอยู่ด้วยกันโดยไม่จดทะเบียนสมรสก็ไม่มีใครว่า แต่พอจะจดทะเบียน กลับถูกตั้งคำถามว่ามั่นใจหรือไม่ ซึ่งสะท้อนว่าสังคมยังไม่ได้เปิดกว้างจริงอย่างที่เราคิด
นอกจากนี้ อ.แท็ป ยังชี้ว่าในสื่อเองก็ยังมีทัศนคติแบบเหยียดเพศอยู่มาก เช่น ซีรีส์วายที่ได้รับความนิยมในไทยก็ยังมีคนแสดงความรังเกียจ เช่น แสดงความคิดเห็นว่า “มีฉากจูบไหม ถ้ามีจะไม่ดู” สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าการไม่ยอมรับยังมีอยู่ไม่น้อย แม้ภาพรวมจะดูเปิดกว้างแล้วก็ตาม
อ.แท็ป จึงตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายอาจก้าวหน้าเร็วกว่าทัศนคติของคนในสังคม ซึ่งแม้จะดูขัดแย้ง แต่ก็ถือว่าเป็นสิ่งดี เพราะในหลายเรื่องในประวัติศาสตร์ กฎหมายก็มักเป็นแรงผลักที่ทำให้สังคมค่อย ๆ ปรับตาม เช่น กฎหมายผัวเดียวเมียเดียวในยุคเริ่มต้นรัฐธรรมนูญไทย ก็ออกมาก่อนที่ผู้คนจะยอมรับแนวคิดนี้อย่างจริงจัง ในตอนนั้นแม้ผู้คนจะยังมีภรรยาหลายคน แต่เมื่อกฎหมายกำหนด สิ่งที่ต่างจากข้อกำหนดก็ถูก “ซ่อนไว้” และเมื่อเวลาผ่านไป ก็กลายเป็นบรรทัดฐานของสังคมในที่สุด
อ.แท็ปมองว่า กฎหมายสมรสเท่าเทียมก็คล้ายกัน คือกฎหมายกำลังบอกว่าสิ่งนี้คือความปกติใหม่ของสังคมไทย หากคุณไม่เห็นด้วย คุณก็ไม่ควรแสดงออกอย่างโจ่งแจ้งเหมือนในอดีต แต่ควรเก็บไว้ เช่นเดียวกับการที่คนมีภรรยาหลายคนในปัจจุบันก็กลายเป็นสิ่งที่ไม่ถูกยอมรับในที่สาธารณะอีกต่อไป
ความหวังจากความหลากหลาย และบทบาทของคนรักต่างเพศ
อ.แท็ปเล่าว่า แม้จะไม่สามารถพูดแทนคนรักต่างเพศทั้งหมดได้ แต่จากประสบการณ์ส่วนตัว อาจารย์และแฟน (ซึ่งเป็นชายหญิงคู่หนึ่ง) ต่างรู้สึกอินและมีส่วนร่วมกับประเด็นความหลากหลายทางเพศอย่างลึกซึ้ง โดยเคยไปร่วมงาน Pride และเคยพูดคุยกันว่า ท่ามกลางความรู้สึกสิ้นหวังในประเด็นต่าง ๆ ของประเทศ การที่สังคมไทยยังสามารถขับเคลื่อนเรื่องความหลากหลายทางเพศได้ กลับกลายเป็น “ความหวัง” ที่ทำให้รู้สึกว่า เรายังไปต่อได้ ยังมีสิ่งที่ก้าวหน้าและจับต้องได้จริง
จากมุมมองของอ.แท็ป การขับเคลื่อนเรื่องความหลากหลายทางเพศในไทยอาจเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเด็นที่สังคมไทยสามารถเดินหน้าไปได้อย่างชัดเจน และเป็นเครื่องเตือนใจว่า ประเทศนี้ยังมีความหวัง ยังมีพลังของการเปลี่ยนแปลงอยู่จริง
“ความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ” จุดเริ่มต้นของความเท่าเทียมในการเรียนรู้ "
อ.แท็ปมองว่า การเข้าใจว่ามนุษย์ทุกคนมีคุณค่าเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง เป็นรากฐานสำคัญของแนวคิดเรื่องความเสมอภาคทางการเรียนรู้ และเป็นหัวใจของคุณภาพการศึกษา เพราะหากเรายังไม่เข้าใจว่าทุกคน ในฐานะปัจเจกบุคคล (individual) ล้วนมีความสำคัญเท่ากัน การพูดถึงความเท่าเทียมทางการศึกษาก็จะยังเป็นเพียงคำสวยหรูที่ไม่ลงลึกถึงแก่น
สำหรับ อ.แท็ป ความรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญและจับต้องได้ ซึ่งช่วยให้เราเห็นภาพของความแตกต่างระหว่างบุคคลอย่างชัดเจน เมื่อเราเริ่มเปิดใจรับรู้ว่าเรื่องเพศไม่ใช่สิ่งที่มีเพียงสองขั้ว แต่มีความหลากหลายเฉดมากมาย เราก็จะเริ่มมองเห็นความหลากหลายในด้านอื่น ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชาติพันธุ์ ฐานะ หน้าตา รูปร่าง หรือสีผิว
ความเข้าใจเรื่องความหลากหลายจึงไม่ใช่เพียงประเด็นเฉพาะกลุ่ม แต่คือพื้นฐานของการพัฒนาแนวคิดเรื่อง “ความเท่าเทียม” ให้ลึกซึ้งและครอบคลุมมากขึ้น และนั่นคือสิ่งที่ทำให้คุณภาพการศึกษาไม่ได้หยุดอยู่แค่การเข้าถึงเนื้อหาเท่านั้น แต่รวมถึงการเคารพความแตกต่างของผู้เรียนทุกคนด้วย
ทำไมเรื่องเพศและอัตลักษณ์ทางเพศจึงยังไม่ถูกพูดถึงในห้องเรียน ?
อ.แท็ปสะท้อนว่า หนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เรื่องเพศและอัตลักษณ์ทางเพศยังคงเป็นหัวข้อที่พูดกันได้ยากในระบบการศึกษาไทย คือ ค่านิยมทางสังคมที่ยังมองว่า “เรื่องเพศ” ไม่ควรถูกพูดถึงกับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศโดยทั่วไปหรือความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะ หลายโรงเรียนจึงยังลังเลที่จะออกแบบหรือเปิดพื้นที่ให้มีการเรียนรู้เรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง เช่นเดียวกับผู้ปกครองที่อาจไม่แน่ใจว่าควรจะเริ่มพูดคุยกับลูกมากน้อยแค่ไหน
บางคนแม้จะโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว การจะพูดคุยกับพ่อแม่เกี่ยวกับเรื่องร่างกายหรืออวัยวะเพศก็ยังคงเป็นเรื่องที่รู้สึกลำบากใจ ทั้งที่เป็นเรื่องพื้นฐานของตัวเองด้วยซ้ำ การที่แม้แต่เรื่องส่วนตัวยังยากจะพูดถึง ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศที่ต้องการความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและเปิดใจมากขึ้นไปอีก
ความอึดอัดในการสื่อสารเรื่องเพศจึงไม่ใช่แค่เรื่องของ “เนื้อหา” ที่จะสอนในห้องเรียนเท่านั้น แต่เป็นวัฒนธรรมความเงียบที่สืบทอดผ่านครอบครัว โรงเรียน และสังคมในวงกว้าง ซึ่งสิ่งนี้เองที่ทำให้การพูดเรื่องเพศในบริบทการศึกษายังคงเป็นเรื่องที่ไม่แน่ใจ ลังเล และมักถูกหลีกเลี่ยงอยู่เสมอ
บทบาทใหม่ของครูในสังคมที่หลากหลายทางเพศ
อ.แท็ปมองว่า บทบาทของครูในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในบริบทของความหลากหลายทางเพศ ควรเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากการสร้าง “ห้องเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย” ที่เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ พูดคุยเรื่องเพศได้อย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่ถูกทำให้เป็นเรื่องตลก หรือถูกนำมาแซวในเชิงล้อเลียน อีกทั้งควรทบทวนบทบาทของวิชาสุขศึกษาให้เป็นมากกว่าวิชาที่เรียนเพื่อเก็บเกรด แต่เป็นพื้นที่เรียนรู้เกี่ยวกับร่างกาย เพศ และอัตลักษณ์ของตนเองอย่างมีคุณภาพและจริงจัง
นอกจากนี้ อ.แท็ปยังสะท้อนว่า แม้สังคมไทยจะมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้ว แต่การบูลลี่ (bullying) หรือการล้อเลียนเพศสภาพในโรงเรียนยังคงเป็นปัญหาใหญ่มาก ครูควรมีบทบาทในการชี้นำและพูดถึงปัญหานี้อย่างชัดเจน เพื่อทำให้เด็กทุกคนรู้สึกว่าพวกเขา “ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเอง” เพียงเพราะมีความหลากหลายทางเพศ
“เด็กที่เป็น LGBTQ+ ไม่จำเป็นต้องเก่งกว่าคนอื่น หรือมีความสามารถพิเศษบางอย่างเพื่อให้ได้รับการยอมรับ” อ.แท็ปกล่าว พร้อมยกตัวอย่างว่า เด็กคนหนึ่งไม่ควรต้องถูกรับฟังหรือชื่นชมเพียงเพราะ “เป็นกระเทยที่รำเก่ง” หรือ “เป็นทอมที่เล่นบาสเก่ง” แต่ควรได้รับการยอมรับในฐานะ “เด็กธรรมดาคนหนึ่ง” ที่ไม่ต้องผูกติดกับอัตลักษณ์ทางเพศในการมีที่ยืนในโรงเรียน
บทสนทนากับ อ.แท็ป ชี้ให้เห็นว่า แม้สังคมไทยจะก้าวหน้าในแง่นโยบายเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ แต่ทัศนคติและการยอมรับในระดับปัจเจกยังคงเป็นโจทย์ใหญ่ ทั้งในครอบครัว โรงเรียน และสังคมวงกว้าง บทบาทของครู การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียน และการยอมรับเด็กในแบบที่เขาเป็น คือหัวใจสำคัญของการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม และอาจเป็นหนึ่งในความหวังเล็ก ๆ ที่จะเปลี่ยนสังคมนี้ให้ก้าวไปข้างหน้าได้จริง
เรียบเรียงโดย นวนันต์ เกิดนาค
บทความนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์