สรุปประเด็นสำคัญจาก Forum “Pride เกิดได้แล้ว” ความหวัง-หนทาง ที่สร้างได้ด้วยความเข้าใจ
เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2568 คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ Bangkok Pride 2025 เปิดวงเสวนาพูดคุยในประเด็นเรื่อง “ความหลากหลายทางเพศ” ในธีม “เกิด แก่ เจ็บ โต” Caring for Every Way of Being ณ LIDO CONNECT (HALL 3) ดำเนินการโดยคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยความร่วมมือกับ Bangkok Pride และการสนับสนุนจากกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
การเสวนาใน Forum “Pride เกิดได้แล้ว” ความหวัง-หนทาง ที่สร้างได้ด้วยความเข้าใจ เป็นการสนทนาเกี่ยวกับ วิถีใหม่ (New Normal) ที่เกิดขึ้นหลังจากการประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม ภายใต้เงื่อนไขโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรม โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หลายท่านมาร่วมแบ่งปันความรู้กันในช่วงนี้ โดยมี อาจารย์อัญธิฌา แสงชัย อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.นรุตม์ ศุภวรรธนะกุล อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.อัครา เมธาสุข อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ คุณกฤติญา ไกรพล นักศึกษาชั้นปีที่สาม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ MC of Thammasat เป็นพิธีกรผู้ดำเนินวงเสวนา
ความหมายของ ‘Pride’ ในมุมมองของอาจารย์
ผศ.ดร.นรุตม์ ศุภวรรธนะกุล อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวโดยสรุปไว้ว่า คำว่า “Pride” คือความภาคภูมิใจ ที่ไม่ควรถูกมองแค่ว่า กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศกำลังถูกกดทับจากสังคมภายนอก แต่ควรมองลึกลงไปว่า ภายในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเอง ก็กำลังกดทับคนในชุมชน (Community) บางส่วนของตนเองอยู่เช่นกัน
“ทุกวันนี้ ถึงแม้จะมีการสื่อสารที่มากขึ้นกว่าในอดีตแล้ว แต่ภายในกลุ่ม คนบางกลุ่มยังถูกมองข้ามอยู่ ไม่ใช่แค่เฉพาะคนบางกลุ่มที่ปรากฏชัดเจนใน movement ต่าง ๆ แต่จริง ๆ มันมีความหลากหลายกว่านั้นอีกเยอะ”
อาจารย์อัญธิฌา แสงชัย อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า “Pride” มีทั้งความหมายในมุมกว้างและมุมมองส่วนตัว ซึ่งควรเป็นคำที่เปิดกว้างและสอดคล้องกับตัวตนและความรู้สึกของแต่ละบุคคล
“ต้องยอมรับว่ามันไม่ง่ายที่คนที่มีความหลากหลายทางเพศจะปรากฏตัวออกมาได้ และปลอดภัย ดังนั้น พื้นที่นี้มันมีความสำคัญในมิติของการต่อสู้ … การเดินทางต่อไปในอนาคต มันน่าจะเป็น Pride ที่มีความหลากหลายของความต้องการของการแสดงออกมากขึ้น”
ผศ.ดร.อัครา เมธาสุข อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า “Pride” คือการต่อสู้กับ “Shame” จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในอดีต
“ก่อนหน้านี้ที่มีคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ถูกตีตราว่าเป็นคนที่มีความน่าละอาย จึงเกิด Pride Month, Pride Parade ขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นว่า พวกเรา กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศก็ภูมิใจในตนเองได้ ไม่จำเป็นต้องน่าละอายอย่างที่ใครเคยกล่าวหา”
เรื่องเล่าจากวันนั้น ที่สร้างความภูมิใจให้วันนี้
ผศ.ดร.อัครา เมธาสุข อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าย้อนกลับไปเหตุการณ์ที่ Stonewall ซึ่งกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศตอนนั้นถูกมองเป็นพลเมืองชั้นสอง ถูกเหยียดหยาม และไม่ได้รับสิทธิเสรีภาพเทียบเท่าคนทั่วไปในสังคม จนวันหนึ่งเกิดชนวนเหตุเนื่องจากตำรวจนิวยอร์กเข้ากวาดล้าง และคุกคามกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น จึงส่งผลให้เกิดการตอบโต้และรวมตัวกันของกลุ่มพี่น้องผู้มีความหลากหลายทางเพศ และได้ต่อสู้มาเรื่อย ๆ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
อาจารย์อัญธิฌา แสงชัย อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสริมประเด็นข้างต้นว่า ถนนในนิวยอร์กเส้นนั้นเป็นพื้นที่ที่เหล่ากลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถแสดงตัวตนออกมาได้อย่างปลอดภัย แต่มีความทับซ้อนกับกลุ่มธุรกิจสีเทาของเหล่าผู้มีอิทธิพลในย่านนั้น เนื่องจากในสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถมีสิทธิในการจับกุม คุมขัง กลุ่มคนที่มีการแสดงออกทางเพศที่ไม่ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง
เมื่อตำรวจเข้าล้อมจับกุมเหล่าผู้มีความหลากหลายทางเพศที่อยู่ในบาร์ Stonewall เหล่ากลุ่มผู้คนที่มีความหลากหลายทางเพศคนอื่น ๆ ซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณนั้นก็ร่วมเข้าล้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกขั้นหนึ่งเพื่อแสดงการต่อต้านและเป็นจุดเริ่มต้นในการร้องเรียนเรื่องสิทธิอย่างจริงจังในปี 1970 และเริ่มเผยแพร่ไปยังประเทศต่าง ๆ เรื่อยมา
แต่ไม่ง่ายเลยสำหรับ South East Asia และประเทศไทย ซึ่งไทยเราเคยพยายามจัดงาน Pride มาตั้งแต่ 20 ปีก่อน ที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่เกิดถูกล้อม โดนโจมตี โดนปาหิน และต้องวิ่งหนีเอาชีวิตรอดแล้วค่อยมานั่งรวมกัน ซึ่งไม่ต่างอะไรจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ Stonewall เลย
จนเดินทางมาถึงปี 2564-2565 ที่บ้านเราได้เกิด Bangkok Pride ขึ้นครั้งแรก เพื่อการผลักดันหลายประเด็น เช่น สมรสเท่าเทียม พ.ร.บ.คู่ชีวิต ฯลฯ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในทุกวันนี้
ที่ผ่านมาสังคมไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ มีความแตกต่างอย่างไรบ้างในเชิงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
ผศ.ดร.นรุตม์ ศุภวรรธนะกุล อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวโดยสรุปไว้ว่า ในแง่ประวัติศาสตร์ Stonewall ถือเป็นต้นแบบที่มีอิทธิพลส่งต่อไปยังหลายประเทศ แต่ในเอเชีย มีสองประเทศ คือ ญี่ปุ่นและไทย ที่ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตกโดยตรง ดังนั้น สองประเทศนี้จึงรับเอา Pride มาในรูปแบบที่ยังคงความเป็นไทยและความเป็นญี่ปุ่นอยู่
โดยความเป็นญี่ปุ่น จะถูกสอนว่า ตนเองเป็นองค์ประกอบของสังคม ดังนั้น การพูดเรื่องส่วนตัวอย่างเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองจึงเป็นเรื่องที่น่าละอายและดูเห็นแก่ตัว ดังนั้น Pride ในญี่ปุ่นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยสร้างพื้นที่และช่วยให้ผู้คนรู้สึกว่าสามารถพูดคุยเรื่องของตัวเองได้
ในขณะเดียวกัน สังคมไทย อาจจะไม่ได้มีความเกรี้ยวกราดเท่ากับญี่ปุ่น แต่กลับมีปัญหาในด้านการถูกตีกรอบจำกัดการแสดงออกทางตัวตน เนื่องจากคนในสังคมรุ่นก่อน จะมีความเข้าใจว่า เพศเหล่านี้มีการเปิดกว้างทางสังคมอยู่แล้ว จะเรียกร้องอะไรอีก รวมทั้งแนวคิดที่ว่า การเป็นชนกลุ่มน้อย ต้องทำตัวน่ารัก สังคมจะได้รักคุณ ทำให้การเคลื่อนไหว Pride ไม่ได้จำเป็นมากขนาดนั้นในมุมมองของคนรุ่นเก่า
ประเทศไทย ตอนนี้กำลังเข้าสู่ “วิถีใหม่” กฎหมายหรืออะไรต่าง ๆ ถูกประกาศขึ้นมาว่า ถูกกฎหมายแล้ว วิถีใหม่ของเรา movement นี้เปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปยังไงบ้าง
อาจารย์อัญธิฌา แสงชัย อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความคิดเห็นว่า ส่วนตัวมองว่ามันจะมีการปะทะกันที่มายิ่งขึ้น ระหว่างกลุ่มที่ต่อต้านความหลากหลายทางเพศ และกลุ่มที่สนับสนุน movement เหล่านี้
ในมุมมองเชิงบวกของเรื่องนี้คือ สังคมมองว่าเราเป็นคนทั่วไปมากขึ้น เราสามารถแนะนำภรรยาของเราได้อย่างเปิดเผยมากขึ้น สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับคนทั่วไปได้มากขึ้น
แต่เมื่อมีคนชอบ ก็ต้องมีคนต่อต้านเป็นธรรมดา เพราะจริง ๆ แล้วเราต้องอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลาย
“เราก็คงต้องอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลาย โดยที่เรา มีความเคารพตัวตนเราเพียงพอ อดทนอดกลั้นต่อคนที่ไม่เหมือนเราแต่ขอที่มีสิทธิ์ที่จะปรากฏตัวไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเขา”
เรามองเห็นภาพการตอบโต้กันที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า ซึ่งมันนับเป็นความกล้าหาญว่าฉันเป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ ซึ่งมันก็ไม่เป็นไร แต่เราควรคิดว่า เราควรจะทำอย่างไร ที่จะบริหารจัดการความแตกต่างเหล่านี้ได้โดยไม่ล้ำเส้นไปสู่ความรุนแรงต่อกันเท่านั้นเอง
ผศ.ดร.นรุตม์ ศุภวรรธนะกุล อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า บางทีพอมันเกิดการทะเลาะกัน ทำให้เห็นปัญหาที่แท้จริงของสังคมไทย เมื่อภาพลักษณ์ที่ว่า เมืองไทยเป็นสวรรค์ของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ทำให้สร้างความเข้าใจผิดมาโดยตลอดว่าปัญหาไม่มี แต่จริง ๆ แล้วมันมีปัญหา เลยคิดว่า การทะเลาะกันมันเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของการสื่อสาร เพื่อเริ่มต้นที่จะขับเคลื่อน
ผศ.ดร.อัครา เมธาสุข อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวต่อว่า แม้กฎหมายจะประกาศใช้แล้ว แต่ยังมีประเด็นท้าทายที่ต้องแก้ไข โดยเฉพาะ 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีความล่าช้าและอาจยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศอยู่ในบางพื้นที่ จึงทำให้เกิดข้อผิดพลาดบางประการในการจดทะเบียนสมรสของคู่รักบางคู่ได้ และความเข้าใจของคนทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งหลายคนยังเข้าใจผิดว่า การสมรสเท่าเทียม หมายถึง คนเพศเดียวกันสมรสกัน แต่จริง ๆ แล้ว สมรสเท่าเทียม หมายถึง พวกเราทุกคน ไม่ใช่อภิสิทธิ์ของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น
ประเด็นที่อาจารย์เคยพบจากการขับเคลื่อนในบริบทสังคมไทย
ผศ.ดร.นรุตม์ ศุภวรรธนะกุล อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวโดยสรุปไว้ว่า ในประเทศไทยมีความหลากหลายในการแบ่งรูปแบบความหลากหลายทางเพศ เช่น กะเทย สาวประเภทสอง และผู้หญิงข้ามเพศ โดยบางครั้งจัดแบ่งคำเรียกตามรูปร่าง หน้าตา ที่ตรงตามมาตรฐานความความสวยงามของค่านิยม
ในช่วงของเทศกาล Pride นี้ คนส่วนใหญ่ในชุมชน (Community) จะแสดงออกถึงความรัก Love wins แต่ในความเป็นจริง ภายในชุมชนของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเองกลับมีการเหยียดกันเองเช่นกัน
สื่อกระแสหลัก ไม่ได้ฉายแสงไปถึงคนบางกลุ่มใน Community ของผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง
“กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่พยายามต่อสู้เพื่อเรียกร้องการยอมรับจากสังคม แต่ในกลุ่มคนกันเองคุณยอมรับคนที่แตกต่างจากคุณไหม แม้จะใช้อัตลักษณ์เหมือนกัน แต่ถ้า รูปร่างหน้าตาหรือมุมมองวิถีใช้ชีวิตไม่เหมือนกัน คุณยอมรับเขาได้จริงๆหรือ ทุกคนจะได้ภูมิใจ ที่เป็นตัวเองจริง ๆ ”
อาจารย์อัญธิฌา แสงชัย อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวโดยสรุปไว้ว่า สังคมมีการสร้างกรอบให้กับอัตลักษณ์ต่าง ๆ ทำให้เกิดข้อจำกัดอย่างไม่สิ้นสุด และคนเราอยู่ร่วมกันแบบไม่ต้องเห็นพ้องต้องกันไปหมดทุกเรื่องก็ได้ เพราะว่า เพราะเราทะเลาะกัน จึงเกิดการถกเถียงและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงบางอย่าง แบบค่อยเป็นค่อยไป
“เราต้องอยู่กับการทะเลาะกันไปแบบนี้แหละ ซึ่งมันเป็นไรเลย เรามาถึงจุดนี้ได้เพราะเราอนุญาตและคนอื่นอนุญาตให้เราทะเลาะกับเขา เพราะว่าอยากได้สมรสเท่าเทียม อันนี้ไปทะเลาะมาใช่ไหมเพราะเขาไม่ได้อยากได้นี่นา เค้าเห็นว่าว่ามันสำคัญแต่เราอยากได้แล้วมันสำคัญกับเรา เค้าชอบไม่ชอบก็ไม่รู้แต่ว่า เรารู้สึกว่าเราทะเลาะกับเขาได้เราเลยมีวันที่เราได้บางอย่างมา”
ผศ.ดร.อัครา เมธาสุข อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวโดยสรุปไว้ว่า สื่อมีบทบาทสำคัญในการกำหนดความเข้าใจของสังคมเกี่ยวกับ Pride เนื่องจากการเลือกนำเสนอเฉพาะกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศบางกลุ่มที่ร่วมเดินขบวนด้วยการถอดเสื้อ การใส่เสื้อสีฉูดฉาด หรือการใส่เครื่องหัวใหญ่ ๆ แต่ไม่ให้พื้นที่สำหรับบุคคลแต่งตัว หรือหน้าตาธรรมดา ในการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนเท่าที่ควร ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงเป้าหมายที่แท้จริงของงาน Pride
“มันก็ทำให้คนข้างนอกไม่เข้าใจความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริงด้วย แล้วก็จะหาความเป็นพันธมิตรที่มาร่วมกันก็ยากไปอีก เพราะเขารู้สึกว่าไม่มีความต้องการในการแต่งตัวแบบนี้ มันยากเข้าไปอีกทั้งสองทาง ทั้งในชุมชนและนอกชุมชน”
เมื่อประเทศไทยมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้ว อาจารย์มองอนาคตของสังคมไทยอย่างไรในแง่ของความหลากหลายทางเพศ และคิดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรตามมาในสังคมไทยบ้าง
ผศ.ดร.นรุตม์ ศุภวรรธนะกุล อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความคิดเห็นว่า แม้ในตอนนี้กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านแล้วแต่ว่าสิทธิทางด้านครอบครัวก็ยังมีปัญหา และข้อจำกัดอยู่หลายหลายด้าน
การสื่อสารเรื่องเพศที่ชัดเจนขึ้นอาจนำมาซึ่ง การต่อต้าน ดังนั้น ผู้ขับเคลื่อนควรมีการระมัดระวังมากขึ้นเกี่ยวกับบริบทการ Come Out หรือ เราจะซัพพอร์ตเด็ก generation ต่อไปได้อย่างไรในการ Come Out หรือ ในความคิดเห็นของพวกเขาเอง คิดอย่างไรกับการ Come Out ในขณะนี้ เนื่องจากพวกเขาเติบโตมาในสังคมที่มีระดับความกดดันที่แตกต่างจากในอดีต ดังนั้น จึงควรมีการสื่อสารระหว่างกันมากขึ้น เพื่อเพิ่มความเข้าใจของทั้งคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่า
ผศ.ดร.อัครา เมธาสุข อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวโดยสรุปไว้ว่า มีอยู่ 2 เรื่อง ได้แก่ การทำให้คนในชุมชน (community) ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนมากขึ้น และ การขยายพันธมิตรระหว่างผู้มีความหลากหลายทางเพศกับบุคคลทั่วไป (Straight) โดยใช้วิธีการปรับเปลี่ยนเครื่องมือในการขับเคลื่อน เพื่อให้ผู้คนทั้งในและนอกชุมชนเข้าถึงชุมชนได้มากขึ้นด้วยวิธีการที่หลากหลาย
อาจารย์อัญธิฌา แสงชัย อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวต่อว่า โดยส่วนตัวไม่ค่อยมีปัญหากับความแตกต่างหลายหลาย ไม่ได้มองว่ามันเป็นปัญหา แต่มองว่ามันควรเป็นแบบนี้ ซึ่งสิ่งที่สำคัญมากคือ ความเข้าใจในเรื่องที่เราจะใจกว้างมากพอในการรับฟัง ใจกว้างเพียงพอที่เราจะรู้ว่าเราไม่ชอบแต่เราจะช่วยคิด เราไม่เห็นด้วยแต่เราอยากมีส่วนร่วมทำให้มันดีขึ้น มันจะทำให้เรารู้สึกว่า Community คือทั้งหมด คือทุกคน เรากำลังอยู่ในนิเวศวิทยาเชิงสังคมด้วยกัน ซึ่งจะทิ้งใครไปไม่ได้ ไม่ว่าเราจะเกลียดเขา เขาจะเกลียดเรา ก็ต้องหาวิธีการที่เราจะอยู่ร่วมกันให้ได้
เมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมกลายเป็นรูปธรรมแล้ว อาจารย์คิดว่าประเด็นเรื่อง “ความเป็นครอบครัว” หรือ “การเปลี่ยนคำนำหน้า” จะมีการเคลื่อนไหวต่อไปในทิศทางใด ในเชิงกฎหมายและสังคม
อาจารย์อัญธิฌา แสงชัย อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวโดยสรุปไว้ว่า ตอนนี้ที่จ่อ ๆ อยู่ คือคำนำหน้านาม มีร่างกฎหมายเกิดขึ้นหลายร่าง แต่ไม่ทราบว่ากรอบขอบเขตของมันจะครอบคลุมมากน้อยแค่ไหน กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคมผู้มีความหลากหลายทางเพศ
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว การเข้าถึงเทคโนโลยีที่ช่วยให้มีบุตร คนมีทะเบียนสมรสสามารถไปที่โรงพยาบาลเพื่อให้หมอทำให้ได้ แต่คนใดคนหนึ่งต้องมีมดลูก และคนหนึ่งต้องมีสเปิร์ม ดังนั้น หากเพศเดียวกันจะไปขอ อาจจะยังมีข้อถกเถียงในเรื่องข้อกฎหมายอื่น ๆ ดังนั้น เราแต่งงานกันได้ แต่สร้างครอบครัวขยายไปมากกว่านี้ยังไม่ได้ตามกฎหมาย
ผศ.ดร.นรุตม์ ศุภวรรธนะกุล อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมประเด็นข้างต้นโดยสรุปไว้ว่า ขอเสริม 2 ประเด็น ทั้งเทคโนโลยีอนามัยเจริญพันธุ์ และคำนำหน้า ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวกัน แต่จริง ๆ แล้วเกี่ยวในมิติของวิทยาศาสตร์ เพราะมันเกี่ยวข้องกับร่างกาย ซึ่งสุดท้ายแล้วทั้งสองประเด็นมันก็ยังต้องมีการรับรองทางวิทยาศาสตร์อยู่ดี
คนที่อยู่ในวงการแพทย์ส่วนมากยังมีความคิดแบบอนุรักษนิยม นอกจากนั้น ยังมีความสำคัญในด้านการรักษาอีกด้วย เนื่องจากแพทย์ควรรู้เพศที่แท้จริงของคนไข้เพื่อประกอบการรักษา แต่ต้องหาวิธีการสื่อสารกันต่อไป เนื่องจากเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน
ผศ.ดร.อัครา เมธาสุข อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอเพิ่มเติมว่า เรื่องคำนำหน้านาม เป็นเรื่องที่ต้องการการสนับสนุนเป็นจำนวนมาก ซึ่งหลายคนยังเข้าใจอย่างถูกต้องน้อย ซึ่งหากจะทำจริง ๆ สังคมสามารถพูดคุยเพื่อลงรายละเอียดเชิงลึกในด้านการแพทย์ได้
“ทำไมจึงต้องเปลี่ยน หลายคนมองว่ามันเป็นเรื่องความรู้สึกอยากได้เฉย ๆ หรือเปล่า ไม่ส่งผลต่อชีวิต แค่คุณอยากเป็นนาย นางสาว นาง แค่นั้นหรือเปล่า บางคนนึกว่าเป็นเรื่องแค่นั้นที่จะได้เป็นตามที่ตนเองต้องการ แต่จริง ๆ อยากจะสื่อสารว่ามันเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตจริง ๆ เช่น การยืนยันตัวตนเมื่อต้องเดินทางไปต่างประเทศ ความไม่สะดวกใจในการอยู่หอพักที่ไม่ตรงตามเพศสภาพของนักเรียน-นักศึกษา การอยู่หอผู้ป่วยชาย-หญิงในโรงพยาบาล”
การขับเคลื่อนทางกฎหมายในภาพใหญ่ของประเทศไทย จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเข้าใจ เพราะเชื่อมโยงถึงเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิต
ข้อความจากอาจารย์ถึงสังคมไทย
อาจารย์อัญธิฌา แสงชัย อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวโดยสรุปไว้ว่า มันมีทั้งความน่ารักและความน่าเป็นห่วง ชื่นชม ยินดี กับการเติบโต เปลี่ยนแปลง สิทธิ ความพยายาม เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ไม่เป็นไร แต่เห็นถึงความพยายามของทุกภาคส่วน
ตอนนี้มัน Pride ได้แล้วนะ สะท้อนว่าเราครึ่ง ๆ กลาง ๆ อยู่บ้างในหลายเรื่อง แต่เราต้องพูดว่าเราจะอยู่ในภาวะครึ่ง ๆ กลาง ๆ แบบนี้แหละไปเรื่อย ๆ เพราะสิ่งเหล่านี้คือพลวัต อยากให้พวกเราทุกคนอดทนอดกลั้นกับความแตกต่าง ความขัดแย้ง อดทนเพียงพอที่จะอยู่ด้วยกันและมีส่วนร่วม
ผศ.ดร.อัครา เมธาสุข อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวโดยสรุปไว้ว่า การขับเคลื่อนเกี่ยวกับสิทธิ น่าจะถึงเวลาแล้วว่าเราจะคิดขยายพันธมิตรของเราไปได้อย่างไรบ้าง ทั้งในและนอกชุมชน เนื่องจากหลายส่วนทำงานร่วมกันได้ รวมทั้งประเด็นกฎหมาย น่าจะต้องสื่อสารว่าคนในเพศอื่น ๆ กำลังจะได้รับประโยชน์ร่วมกันด้วย
ผศ.ดร.นรุตม์ ศุภวรรธนะกุล อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในแต่ละปีเราจะมีเดือนนี้แหละที่เราได้โฟกัสเรื่องความหลากหลายทางเพศ อยากให้ Pride เป็นพื้นที่สำคัญที่คนที่มีความหลากหลายทางเพศได้สื่อสาร สร้างความตระหนักร่วมกัน ไม่อยากให้คนมองเห็นแค่ธงสายรุ้งเฉย ๆ แล้วมองว่ามันเป็นแค่งานรื่นเริงเท่านั้น แต่มองลึกลงไปถึงประเด็นปัญหาต่าง ๆ ด้วย
—-------------------------------
เรียบเรียงโดย ศุภลักษณ์ ศรีจำเริญ และ นวนันต์ เกิดนาค
บทความนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์