Loading...

จากจิตแพทย์ถึงนักศึกษาใหม่ 7 ฮาวทู “ใช้ชีวิตมหาลัยอย่างไรให้ใจไม่พัง”

ในโอกาสปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ รุ่น 7 ปีการศึกษา 2565 คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. คณะฯ ได้เชิญ ผศ.นพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ จิตแพทย์ประจำหน่วยส่งเสริมสุขภาวะนิสิตและอาจารย์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาให้แง่คิด และแนวทางการเตรียมความพร้อมทางจิตใจ การจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง หรือความสัมพันธ์กับเพื่อน ในโอกาสการก้าวมาสู่ชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งในชีวิตของนักศึกษา

7 ฮาวทู “ใช้ชีวิตมหาลัยอย่างไรให้ใจไม่พัง”

1 หมั่นเช็คความรู้สึก ใจดีกับตัวเอง บางอย่างต้องปล่อยให้พังแล้วสร้างใหม่

        หมั่นเช็คความรู้สึกตัวเองว่าเรามีอารมณ์แบบไหน เช่น มีอารมณ์เศร้าติดต่อกันหลายสัปดาห์ หรืออะไรที่เคยทำแล้วสนุก มีความสุข แต่ตอนนี้กลับจืดชืด เราต้องสังเกตตัวเองว่าเป็นติดต่อกันนานเท่าไรแล้ว เพราะความคิดกับความรู้สึกนั้นขัดแย้งกันได้ แต่เรื่องความรู้สึกบางครั้งเราก็ต้องยอมรับกันตรงๆ ว่าตอนนี้เรามีความรู้สึกนี้อยู่ หัดเมตตาตัวเอง เห็นใจตัวเอง พักก่อนไหม ใจดีกับตัวเอง พอไม่โอเคกับตัวเอง ว่าเราไม่ควรรู้สึกอย่างนี้เลย พลังงานยิ่งเสีย ถ้ายังไม่ฟื้น อาจจะต้องแก้ปัญหาที่ปลายเหตุคือพึ่งยาจากแพทย์ ซึ่งถ้าจ่ายโดยแพทย์ก็เป็นยาที่ปลอดภัย

        แต่ บางอย่างต้องปล่อยให้พังแล้วสร้างใหม่ สร้างระบบชีวิต สร้างโครงสร้างวิธีคิดหรือการกระทำใหม่ๆ เพราะถ้าเราเก็บโครงสร้างเดิมที่จะพังแหล่ไม่พังแหล่ไว้ เก็บไปเรื่อยๆ ชีวิตก็ไม่เปลี่ยนแปลงอะไร ผมว่าพังไปสร้างใหม่คุ้มกว่า มูฟออนง่ายกว่า

2 เมื่อรู้สึกแย่กับตัวเองบ่อยๆ หรืออยากตายหลายครั้ง หากจัดการตัวเองไม่ได้ต้องขอความช่วยเหลือ

        เมื่อรู้สึกแย่กับตัวเอง หรืออยากตาย ถ้าเกิดขึ้นหลายครั้งก็อาจมาดูว่า หากเราผ่านช่วงเวลาที่แย่ แล้วตอนนั้นเราผ่านมันมาได้ ถ้าผ่านมาได้ 1 ครั้ง ก็มีเหตุผลที่จะผ่านมันได้อีกครั้ง ธรรมชาติมนุษย์นั้นหากผ่านความท้าทายในชีวิตมาได้ ก็จะมีพลังที่จะผ่านความท้าทายครั้งต่อๆ ไป ตัวตนของเราจะสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเอง แต่ถ้าโจทย์ชีวิตมันยากขึ้น เข้มแข็งเองไม่ไหว ก็อาจจะต้องแสวงหาความช่วยเหลือจากภายนอก เช่น คุยกับเพื่อน ครอบครัว อาจารย์ที่ปรึกษา หรือไปโรงพยาบาล แต่สิ่งที่ต้องรู้คือ หากจัดการตัวเองไม่ได้ ต้องขอความช่วยเหลือ ความเป็นจริงแล้วโลกนี้คือการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และเมื่อเราผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ต่างๆ ในอนาคตเราก็อาจเป็นฝ่ายช่วยเหลือคนอื่นบ้างก็ได้ การขอความช่วยเหลือไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจหรือแย่ จริงๆ มันดีในการสื่อสาร อยากคุยก็ต้องกล้าเปิดประเด็นเพื่อเปิดโอกาสขอความช่วยเหลือ จากนั้นก็ศึกษาตัวเองและเรียนรู้การจัดการตัวเอง อาจจะกลับมาเช็คดูว่า เวลาที่เรารู้สึกแย่ รู้สึกว่าตัวเองไร้คุณค่า มันมาจากระบบการคิด สิ่งแวดล้อม หรือเพราะเราแย่จริงๆ

3 เมื่อรู้สึกว่าไม่มีคุณค่า ให้สงสัยระบบการตัดสินคุณค่า

        ยกตัวอย่าง การชั่งน้ำหนัก หากเราขึ้นไปยืนแล้วผลออกมาเป็น 0 กิโลกรัม เราจะเชื่อว่าตาชั่งเสียหรือว่าเราตัวเบา มันอาจจะเป็นปัญหาที่มิเตอร์หรือเปล่า? เป็นปัญหาที่ระบบการตัดสินว่าทำไมเราต้องตัดสินให้ตัวเองเป็นแง่ลบ อาจจะเพราะการเลี้ยงดู ประสบการณ์ชีวิต ที่สร้างให้เรามีความเชื่อว่าต้องตัดสินตัวเองให้เป็นลบไว้ก่อนจะได้พัฒนา ต้องคิดว่าไม่ดีไว้ก่อนจะได้ดิ้นรน ชีวิตต้องดีขึ้นๆ อย่าพึงพอใจกับตอนนี้ ซึ่งในแง่หนึ่งเราจะไม่โอเคกับตัวเอง เมื่อมันดีเราก็หาความดีขั้นต่อไป เลยรู้สึกไม่โอเคสักที ดังนั้น “เมื่อรู้สึกว่าไม่มีคุณค่าให้สงสัยระบบการตัดสินคุณค่าด้วย หากระบบคิดทำให้คุณค่าเราออกมาน้อยอย่าเพิ่งไปเชื่อมัน เป็นไปได้ว่าระบบอาจจะผิด เมื่อไหร่รู้สึกไม่มีคุณค่าให้สงสัยไว้ก่อนว่า ระบบนั้นยุติธรรมและใจดีกับเราหรือไม่ ระบบที่ใจร้ายโหดเหี้ยมก็อาจไม่ต้องไปนับถือก็ได้”

4 หากสับสน  ทั้งชอบและไม่ชอบตัวเอง ให้รู้ว่าคนเรามีหลายบริบท และทั้งหมดคือตัวเรา

        คนเรามีหลายบริบท อยู่ที่ว่าเราจะจัดการชีวิตอย่างไร ไม่ใช่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะเรามีทั้งส่วนที่ชอบและไม่ชอบตัวเอง “บางทีสับสนเพราะต้องเลือกว่าตัวตนที่แท้จริงคืออะไร แต่ทั้งหมดคือตัวเรา เพียงแต่บริบทต่างกัน” และจริงๆ แล้วอาจจะเป็นความเหมาะสมที่สุด ลงตัวที่สุด แบบที่เราเรียนรู้มาแล้วว่าการวางบริบทอย่างไรถึงจะดี

5 อย่ารู้สึกเครียด หรือเอาความสุข-ทุกข์ของชีวิตไปผูกกับคนที่มีเรื่องในใจแต่ไม่พูดตรงๆ

        ใครทุกข์ก็แก้ที่คนนั้น บ่อยครั้งที่เราทุกข์เพราะคนอื่น เราก็จะไปบีบคั้นเขา “ช่วยทำตัวให้ถูกใจฉันสักที ฉันจะได้มีความสุข” เราไม่ใช่จุดศูนย์กลาง ใครๆ ก็ไม่ชอบความอึมครึม ชอบความชัดเจน อยากรู้ชัดๆ จะได้จัดการต่อ “แต่บางครั้งต้องยอมรับว่า อึมครึม” เพราะฉะนั้นต้องเห็นใจที่เขาไม่สามารถบอกราได้ ก็จริงที่เราต้องคุย มีอะไรพูดกันบ้าง เป็นการเรียนรู้ที่จะสื่อสารระหว่างกัน แต่อย่าเอาความสุขความทุกข์ของชีวิตไปผูกกับเขา

6 การอยู่ร่วมกับผู้ป่วยซึมเศร้า ให้โฟกัสตัวตนของเขาในฐานะเพื่อนมนุษย์

        การอยู่ร่วมกับผู้ป่วยหรือเพื่อนที่ซึมเศร้าไม่ได้มีการอ้างอิงที่ชัดเจนว่า มีคำไหนไม่ควรพูด เช่นคำว่า สู้ๆ นะ ถ้าอยู่ในบริบทที่เราเครียดช่วงสอบ แล้วแม่เดินมาลูบหัวแล้วบอกว่า “สู้ๆ นะลูก” อย่างนี้แม่ไม่ควรพูดหรือเปล่า หรือบางกรณีการไปบอกคนที่กำลังอยากตายว่าสู้ๆ นะ มันก็เกิดคำถามว่า แล้วจะให้สู้กับอะไร รวมถึงคนเราแต่ละคนก็มีความแตกต่างหลากหลายมาก

        บางครั้งหลักเกณฑ์หรือฮาวทูว่าอะไรควรทำไม่ควรทำเหล่านี้กลับทำให้เรามองข้ามความเป็นตัวคนคนนั้นไป เหลือแค่ความคิดว่าเขาเป็นผู้ป่วยที่มีความเปราะบาง ดังนั้น เมื่อเราอยู่กับเพื่อนหรือคนที่เป็นโรคซึมเศร้า แทนที่จะโฟกัสที่โรคของเขา เราควรมาโฟกัสตัวตนของเขาในฐานะเพื่อนมนุษย์ และมีความเห็นอกเห็นใจให้กันและกันน่าจะดีที่สุด

7 ดูแลตัวเองให้มีความสุข

        คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ให้โอกาสนักศึกษาได้ทำงานกับตัวเองเยอะ ซึ่งดีมาก ชื่อคณะฯ ก็เป็นเรื่องของการเรียนรู้ ในโลกนี้มีเรื่องอะไรที่น่าเรียนรู้อีกมากมาย แต่สิ่งที่มนุษย์ใช้ชีวิตอยู่ด้วยตลอด 24 ชั่วโมง ก็คือตัวเราเอง ดังนั้น การเรียนรู้และดูแลตัวเองให้มีความสุขตามอัตภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ