Loading...

ถอดบทเรียนโครงการ ออกแบบเกม ออกแบบสังคม รุ่นที่2 บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์นวัตกร สานต่อพลังนวัตกรรม THAMMASARTxBANPU INNOVATIVE LEARNING PROGRAM

        นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ได้จับมือร่วมกับบริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) เพื่อสร้างนวัตกรที่ขับเคลื่อนการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงในสังคม ผ่านการออกแบบบอร์ดเกม และแก้ไขปัญหาสังคมในหลากหลายมิติ บนพื้นฐานกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design thinking) ซึ่งหนึ่งในโครงการที่บ้านปูผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง คือโครงการ "ออกแบบเกม ออกแบบสังคม”

        โดยเราได้รวบรวมตัวอย่างเส้นทางประสบการณ์และการบ่มเพาะทักษะต่าง ๆ ของเหล่าเยาวชนในรุ่นที่ 2 ทั้งการค้นคว้าหาข้อมูล การคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาเกมที่ตอบโจทย์  ซึ่งบอร์ดเกมที่สร้างสรรค์ขึ้นมานั้นล้วนแต่สะท้อนประเด็น ปัญหาออกมาได้หลากหลายมิติและมีความน่าสนใจในมุมที่แตกต่างกันออกไป

        นอกจากนี้น้อง ๆ ยังได้เรียนรู้การรับมือกับความท้าทายและฝึกแก้ปัญหาต่าง ๆ เนื่องด้วยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ซึ่งน้อง ๆ แสดงศักยภาพให้เห็นแล้วว่าสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมต่าง ๆ และหาแนวทางการแก้ปัญหาในหลายสถานการณ์ได้อย่างดี

        การออกแบบเกมในครั้งนี้มีเกมการเรียนรู้หลากหลายทั้ง พัฒนาตนเอง สังคม และเรียนรู้เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งสามารถแบ่งเป็นประเด็นได้ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) การพัฒนาสังคม 2) การดูแลสุขภาพ และ 3) วัยรุ่นศาสตร์

เกมที่1 Trashia Island (ประเภท การพัฒนาสังคม) : โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา จ.สุราษฎร์ธานี

        เสน่ห์ของ Trashia Island : ปัญหาการจัดการขยะ ปัญหาที่ปรากฎให้เห็นในทุกยุคทุกสมัย โดยผู้ออกแบบ บอร์ดเกมมีเป้าหมายหลักคือ การให้ผู้เล่นได้สร้างสรรค์วิธีการจัดการขยะที่สอดคล้องกับบริบทชุมชนของแต่ละคน ผ่านหลัก 7R ซึ่งเกมTrashia Island ได้จำลองเกมเป็นเกาะ ๆ หนึ่งที่เต็มไปด้วยขยะ โดยให้ผู้เล่นแต่ละคนสวมบทบาทเป็นนักสำรวจและนักวิจัย ร่วมมือกันจัดการขยะที่อยู่บนเกาะ ในกระบวนการเล่นเกม จะช่วยให้ผู้เล่น ได้ความรู้เรื่องประเภทของขยะและวิธีการจัดการขยะอย่างเหมาะสม รวมทั้งได้ฝึกกระบวนการคิดวิเคราะห์และคิดเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ ซึ่งทักษะนี้สามารถนำไปปรับใช้กับการ แก้ปัญหาเรื่องอื่น ๆ ได้อีกด้วย โดยต้นแบบเกมที่มีบอร์ดคล้ายเกมเศรษฐี โดยมีการแบ่งโซนเมือง 4 ด้าน ตรงกลางจะเป็นแม่น้ำโดยแต่ละเมืองมีการเก็บขยะ จัดกรขยะของตนเอง ซึ่งแต่ละเมืองจะมีขยะที่แตกต่างกัน เพื่อให้ผู้เล่นได้จัดการขยะเมืองของตัวเอง

        บอร์ดเกมเพื่อชุมชนลงสู่พื้นที่จริง จุดประกายความคิดที่หลากหลายและการพัฒนาตนเอง : ในสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ต้องรักษาระยะห่าง ทำให้สมาชิกในทีมไม่สามารถมาทำงานร่วมกันได้ และยังมีความท้าทายในเรื่องการชวนอาสาสมัครมาร่วม ทดลองเกม ซึ่งในขั้นตอนนี้ครูมดได้ช่วยแก้ปัญหาให้เด็ก ๆ จนสามารถจัดกิจกรรมทดลองเล่นเกมได้  ขณะที่ ทางทีมได้ข้อค้นพบเพิ่มเติมเรื่องวิธีในการกำจัดขยะที่อาจจะมีวิธีการที่หลากหลาย ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่เป็นปัจจัยในการออกแบบวิธีการเล่น ให้ผู้เล่นอภิปรายพูดคุยกันได้ในระหว่างเล่นเกมเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่นอีกทางหนึ่ง ความสนุกของเกม ทีมผู้ออกแบบได้เพิ่มการ์ดตัวช่วยเข้ามาเพื่อเพิ่มความท้าทายขึ้น เป็นการ์ดที่ทำให้ผู้เล่นอีกฝ่ายเสียคะแนน เพิ่มการ์ดขโมยที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่น "บลัพ" แกล้งกันได้เป็นการช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์กันขณะเล่น เพื่อทำให้เกมไม่เครียดจนเกินไป

        การได้ทำงานร่วมกันระหว่างทุกคนในทีม การแสดงความคิดเห็น รับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย รวมทั้งความคิดเห็นที่เป็นข้อเสนอแนะจากพี่ ๆ นักพัฒนาเกมกระดาน ทำให้น้อง ๆ ได้มีโอกาสลงลึกในข้อมูลมากขึ้น ทั้งในเรื่องประเภทของขยะ และหาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการกำจัดขยะในแหล่งน้ำ เพื่อเป็นผลดีต่อธรรมชาติ ทางทีมได้นำข้อมูลพื้นฐานเหล่านั้นมาบรรจุในเกม เช่น วิธีการกำจัดขยะด้วยเทคนิค 7R เพื่อให้คนเล่นเรียนรู้จากข้อเท็จจริง และสามารถแสดงความคิดเห็นกันบนฐานวิชาการได้ โดยอ้างอิงจากข้อมูลเอกสาร สื่ออินเทอร์เน็ตที่น่าเชื่อถือ รวมถึงเว็บไชต์ต่างประเทศ อีกทั้งองค์ความรู้ใหม่ ๆ เช่น ในสถานการณ์โควิด-19 ที่ในชุมชนพบขยะปนเปื้อนที่ไม่ถูกจัดการอย่างถูกวิธีเพิ่มมากขึ้น เราได้นำมาปรับในกระบวนการพัฒนาเกม

        ผู้ออกแบบลงพื้นที่ในชุมชนติดแม่น้ำเพื่อนำเกมไปให้ทดลองเล่น ผลที่ได้มาดีเกินคาด คนในชุมชนให้การตอบรับดีทำให้มีผู้เล่นหลากหลายช่วงวัย ความประทับใจที่เกิดขึ้นคือมีผู้เล่นวัยกลางคนท่านหนึ่งมาลองเล่นและได้เปิดใจกับการเล่นเกมครั้งนี้จนได้เล่าให้เด็ก ๆ ฟังรวมถึงได้แลกเปลี่ยนวิธีการจัดการขยะของตน ด้วยการแยกขยะและนำไปขายสร้างรายได้เพิ่มอีกด้วย นอกจากนี้ยังเห็นจุดที่สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาเกมได้อีกทั้งวิธีกำจัดขยะที่หลากหลาย การใช้ภาษาให้เข้าถึงคนทุกกลุ่ม

        อีกสิ่งหนึ่งที่น่าประทับใจและเป็นการจุดประกายไฟให้กับคนในทีมคือระหว่างการลงพื้นที่มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเข้ามาติดต่อเพื่อขอซื้อเกมนี้ให้นักศึกษาได้นำไปเล่น ยิ่งทำให้สมาชิกมีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเกมชิ้นนี้ให้สมบูรณ์ที่สุด ทั้งนี้ตลอดกระบวนการที่ผ่านมาสมาชิกแต่ละคนในที่มต่างพัฒนาทักษะในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทักษะการสื่อสาร การพูดในที่สาธารณะ การเป็นผู้นำ การมีส่วนร่วมไปจนถึงการพัฒนาทักษะกระบวนการคิดให้เกิดขึ้น

เกมที่2 Survivors from Black Snow (ประเภท การดูแลสุขภาพ) : โรงเรียนวัชรวิทยา จ.กำแพงเพชร

        เสน่ห์ของ Survivors from Black Snow : ปัญหาเรื่องเขม่าจากการเผาอ้อยเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานในพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนในระยะยาว  บริบทปัญหาของชุมชนเริ่มจากการเผาชานอ้อย ในช่วงเวลา 4 โมงเย็นไปจนถึงค่ำ เพราะจุดไฟเผาได้ง่ายไม่มีใครเห็น และในช่วงเช้าจะเห็นเป็นขี้เถ้าสีดำตามพื้นเข้ามาในบ้าน ตามถนน เมื่อรถขับผ่านฝุ่นควันจะฟุ้งกระจายเต็มถนน เกิดมลพิษในอากาศ ซึ่งจะเป็นหนักขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ โดยในจังหวัดกำแพงเพชรมีหลายอำเภอที่เป็นพื้นที่ทำไร่อ้อย โดยเฉพาะในพื้นที่ตำบลสระแก้ว อำเภอเมือง ที่กำลังประสบปัญหาหนัก เด็กในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่ ได้เล็งเห็นว่าการสื่อสารที่เข้าถึงคนในชุมชนผ่านเกมกระดานอาจเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้คนในชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้มองเห็นภาพของผลกระทบและแนวทางการแก้ไขที่เป็นไปได้ จึงเข้าร่วมโครงการฯ เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้คนที่เล่นเกมได้ตระหนักถึงปัญหา ว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามและปล่อยผ่านไป

        เรียนรู้ทักษะผ่านกระบวนการ ออกแบบเกม ออกแบบอนาคต กับก้าวสำคัญของการเติบโต : ในช่วงแรกของการออกแบบเกมมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ 6-7 แบบ ซึ่งผู้ออกแบบเกมต้องลงพื้นที่ วิเคราะห์ประเด็นและปรึกษาพี่ๆ ทีมงานอยู่เสมอ โดยผลออกมาว่าปรับรูปแบบเกมให้เป็นแบบภารกิจ ซึ่งจะทำให้ผู้เล่นเห็นเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้น โดยลักษณะเกมนั้นผู้เล่นจะต้องช่วยกันและแข่งกันไปด้วย เพราะเมื่อหมากในกระดานแสดงว่า เขม่าควันกำลังลุกลามจนถึงขีดอันตราย ทุกคนในเกมต้องช่วยกันเพื่อไม่ให้เกิดไฟเผาทั้งจังหวัด เพราะนั่นหมายถึงทั้งทีมแพ้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้อง ดูแลสุขภาพตัวเอง และแข่งกันจากการจัดการเขม่าควันอ้อยเพื่อเอาส่วนนั้นเป็นคะแนนในท้ายที่สุด แต่การแข่งขันกันอย่างดุเดือดนั้นยังเปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้พูดคุยแลกเปลี่ยนการ์ดทรัพยากรกัน ทั้งนี้เกมจะเล่นได้ยากมากถ้าขาดการร่วมมือกัน ซึ่งถือว่าเป็นกิมมิคที่สำคัญของเกม

        อีกโจทย์ที่ท้าทายคืออยากให้ผู้เล่นได้รู้และเข้าใจถึงผลกระทบจากเขม่าควันอ้อยจริง ๆ เด็กจึงแบ่งหน้าที่กันตามความถนัดของแต่ละคน คือ 1.วางกลไกของเกม โดยทดลองเล่นเกมอื่น ๆ และนำมาปรับใช้ 2.เป็นผู้ทดลองเล่นเกมซึ่งจะเป็นคนที่สามารถสะท้อนให้ข้อเสนอแนะกลับไปยังเพื่อน ๆ ได้ และ 3.ผู้ที่ทำหน้าที่ด้านการสื่อสารของกลุ่มเพื่อสื่อสารข้อมูลจากเพื่อนในทีม ให้กับผู้เล่นเกมและชวนผู้เล่นพูดคุยในระหว่างเกมและหลังจากจบเกม ในตลอดระยะเวลาทำงานของทีม นอกจากพัฒนาเกมแล้ว ยังทำให้เด็ก ๆ หลายคนมองเห็นความเป็นตัวเอง และเส้นทางในอนาคตของตัวเองชัดขึ้นผ่านกระบวนการเหล่านี้

        ขณะเดียวกันคุณครูที่ปรึกษาที่เป็นตัวกลางสำคัญในการช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาในพื้นที่ชุมชน ได้เห็นแสงสว่างในตัวเด็กและกระบวนการออกแบบบอร์ดเกม ซึ่งได้สอนให้ตัวเด็กและคนรอบข้างเกิดการตั้งคำถามและเกมเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถสร้างประโยชน์ในการออกแบบสังคมที่ดี

เกมที่ 3 Unplugged Coding (ประเภท วัยรุ่นศาสตร์) : โรงเรียนโพธาวัฒนาเสนี จ.ราชบุรี

        เสน่ห์ของ Unplugged Coding : การเขียนโปรแกรม (Coding) ทักษะที่สำคัญและจำเป็นสำหรับนักเรียนในศตวรรษ 21 โดยการเขียนโปรแกรม (Coding) เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรวิทยาการคำนวณในทุกระดับชั้น โดยมุ่งเน้นให้นักเรียนฝึกคิดอย่างเป็นระบบ ฝึกทักษะการแก้ปัญหาอย่าง เป็นขั้นตอน รู้เหตุและผล เข้าใจกระบวนการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา ด้วยความซับซ้อนของวิชาวิทยาการคำนวณ พบว่าเด็กมัธยมจำนวนมากเข้าใจวิชานี้น้อยมาก รวมถึงครูผู้สอนก็ไม่ค่อยมีกระบวนการสอนที่สร้างความเข้าใจให้นักเรียน

        เกมนี้จึงตั้งใจที่จะเป็นทั้งสื่อการสอนให้กับครูในด้านเนื้อหาการฝึกเขียนโปรแกรมและเป็นกิจกรรมให้กับนักเรียนได้ฝึกกระบวนการคิดวิเคราะห์ คิดเป็นขั้นตอนและการแก้ปัญหา เกม Unplugged Coding จึงได้ถอดกระบวนการพื้นฐานของการเขียนโปรแกรม (Coding ) จากคอมพิวเตอร์ มาไว้ในบอร์ดเกม เพื่อให้นักเรียนเข้าใจกระบวนการของการเขียนโปรแกรมได้โดยไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์

        เกม Unplugged Coding สื่อสารให้ผู้เล่นเข้าใจกระบวนการเขียนโปรแกรม ผ่านการล่าสมบัติในเมืองลึกลับ ที่กลุ่มนักล่าสมบัติจะพัฒนาหุ่นยนต์ขึ้นมาเพื่อให้เข้าไปแย่งชิงคันหาสมบัติโดยผู้เล่นทุกคนต้องสวมบทบาทเป็นนักล่าสมบัติ วิเคราะห์ วางแผน แก้ปัญหา ผ่านการเขียนโปรแกรมควบคุม เพื่อให้หุ่นยนต์ของตนเองพิชิตขุมทรัพย์สมบัติได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วที่สุด ที่สำคัญคือเกมนี้มีโจทย์ต้องการให้ผู้เล่นได้ฝึกคิด วิเคราะห์ และแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน โดยความสนุกของบอร์ดเกมนี้ คือการต้องมีสติตลอดเวลา ต้องมีการโฟกัสถึงกลุ่มเพื่อนที่เล่น ต้องมีการคาดเดาและแก้ปัญหามีการวางแผนทั้งเกม รวมกันเป็นหัวใจสำคัญของเกมที่ต้องการนำเสนอ ความสนุกที่สอนแทรกไว้ด้วยความรู้ และยังได้ฝึกกระบวนการคิดแบบเป็นขั้นตอนมีระบบ และฝึกแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผลอีกด้วย

        ส่วนผสมของความแตกต่างที่ลงตัว จากจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้สู่สนามทดลองเล่นจริง : การเขียนโปรแกรมเป็นเรื่องยากที่ทีมจึงช่วยกันคิดว่าจะมีสื่อการสอน อุปกรณ์หรือนวัตกรรมชิ้นไหนบ้างที่จะช่วยเกิดการเรียนรู้และ พัฒนาให้กับนักเรียน จึงได้เลือกสมาชิกในทีมที่มีความถนัดที่หลากหลายทั้ง การเขียน coding การออกแบบเว็บไซต์ การออกแบบทั้งแอนิเมชันและกราฟิก และการสร้างเกมในคอมพิวเตอร์ นับเป็นกลุ่มที่มีความถนัดแตกต่างกัน แต่นำไปสู่ความลงตัวเพื่อสร้างบอร์ดเกม ความท้าทายในการออกแบบบอร์ดเกมคือการที่ต้องสร้างสรรค์ใช้ศิลปะ และต้องใช้ศาสตร์ว่าด้วยการทดลอง ใช้ความตั้งใจที่จะลงมือทำอย่างจริงจังเพื่อให้เกมที่ออกมสร้างความรู้และความสนุกสนานอยู่ด้วยกัน โดยทีมได้พัฒนากลไก วิธีการเล่น และสร้าง Prototype ขึ้นมา เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้เล่น

        ขณะเดียวกัน ครูที่ปรึกษาได้เล่าว่า "หลังจากผ่านกิจกรรมนี้ทั้ง 4 คนมีการพัฒนาด้านการสื่อสารมากขึ้น เกิดการเรียนรู้มากกว่าเดิม นอกจากนี้ได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีมและหน้าที่หลัก ๆ ของครูจะคอยเป็นโค้ชคอยรับฟัง ข้อเสนอหรือคำปรึกษาจากนักเรียน" นอกจากนี้ครูสามารถยังคาดหวังที่จะผลักดันให้นักเรียนได้คิดต่อยอดทำบอร์ดเกม ใน Version 2 เพื่อให้มีการอัพเดตและเชื่อมโยง ใส่เนื้อหาความรู้ของรายวิชาวิทยาการคำนวณให้มากยิ่งขึ้น เพราะเชื่อว่าสื่อบอร์ดเกมที่สร้างขึ้นนี้ จะเป็นประโยชน์ให้กับครูและนักเรียนในการเรียนรู้ และยังสร้างสัมพันธภาพที่ดี ต่อกันและได้สนุกกับการเรียนรู้ได้อีกด้วย

        “เกมการเรียนรู้” นับเป็นเครื่องมือ จำลองสถานการณ์เพื่อสร้างประสบการณ์เสมือนจริงให้แก่ผู้เล่นก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่หยั่งรากลีก ยิ่งไปกว่านั้น เกมการเรียนรู้ยัง สามารถเผยแพร่สู่ผู้เรียนและชุมชนได้ง่ายและสามารถขยายผลสู่ สังคมวงกว้าง ซึ่งคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์จะไม่หยุดที่จะพัฒนาทักษะและสร้างสรรค์นวัตกรรม ปั้นนวัตกรที่ดี เพื่อการศึกษาไทยต่อไป