Loading...

🟩🟠 “LSEd - Endless Learning 8 ปี กับ 8 ผลงานนวัตกรรมการเรียนรู้🟠🟩

        คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ (Faculty of Learning Sciences and Education) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2557 เพื่อสร้าง “ชุมชนแห่งการเรียนรู้” ที่มี จิตวิญญาณความเป็นธรรมศาสตร์และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านการเรียนรู้ ทั้ง ชุมชนครู อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา ชุมชนนักเรียน นักศึกษา ชุมชนเครือข่ายในนิเวศการเรียนรู้ ทั้งผู้ปกครอง นักการศึกษา องค์กรภาคส่วนต่างๆ และประชาชนผู้ใช้ประโยชน์ ร่วมเป็นเสาหลักประกอบสร้างสถาบันทางการศึกษาที่มีค่านิยม  “สร้างสังคมแห่งการเคารพและเรียนรู้ร่วมกัน” มุ่งสู่วิสัยทัศน์  สถาบันการศึกษาชั้นนำที่ขับเคลื่อนสังคมด้วยการเรียนรู้ (The leading educational institution driving the society through learning)

        ในปี 2565 นี้ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครบรอบ 8 ปี วันคล้ายวันสถาปนาคณะฯ 29 กันยายน ซึ่งมีการจัดแสดงผลงาน 8 นวัตกรรม ภายใต้ชื่องาน “LSEd - Endless Learning 8 ปี การเรียนรู้ไม่สิ้นสุด” เพื่อบ่มเพาะนวัตกรคนรุ่นใหม่ สร้างสังคมแห่งการเคารพและเรียนรู้ร่วมกัน ดังนี้

             1. ออกแบบเกม ออกแบบสังคม

        โครงการออกแบบเกมออกแบบสังคม เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่มุ่งสร้าง “นวัตกรเพื่อสังคม” ผ่านการพัฒนาบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาสังคมและพัฒนาการเรียนรู้ในประเด็นที่สำคัญสำหรับท้องที่หรือกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ของเยาวชน

        กระบวนการคิดเชิงออกแบบ หรือ Design thinking process เป็นกระบวนการสำคัญที่นำมาใช้ในการสร้างสรรค์บอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้ ทำให้ผู้เรียนเข้าใจปัญหาหรือความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มเป้าหมาย และสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ที่แท้จริง อาจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการคิดเชิงออกแบบและการออกแบบบอร์ดเกม ร่วมกันบ่มเพาะเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 2 รุ่น โดยเหล่านวัตกรรุ่นเยาว์สามารถออกแบบบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้และแก้ปัญหาสังคมในประเด็นที่หลากหลายในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศได้ถึง 34 เกม

        ตลอดช่วงที่พัฒนาบอร์ดเกมนี้ได้เห็นการเติบโตของเยาวชน ทุกคนได้พัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ การคิดอย่างเป็นระบบ ความสามารถในการแก้ปัญหา การทำงานเป็นทีม รวมทั้งเกิดการเปลี่ยนแปลงในตนเอง ทั้งความมุ่งมั่นในการทำงาน การรู้ร้อนรู้หนาวกับประเด็นในสังคม กระบวนการคิดที่เปลี่ยนแปลงไป และความรู้สึกรับผิดชอบในการทำงานของทีม คุณลักษณะเหล่านี้เป็นการเตรียมพร้อมแก่เยาวชนที่จะเป็นนวัตกรช่วยสังคมแก้ไขปัญหาให้เป็นสังคมที่น่าอยู่ต่อไปในอนาคต

            2. ก่อการครู : ครูบันดาลใจ จุดไฟการเรียนรู้

        โครงการก่อการครู มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมผ่านการทำงานร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคีที่ทำงานด้านการศึกษาและการพัฒนามนุษย์ โดยเชื่อว่าแท้จริงแล้วกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษานั้น คือ “ครู” ซึ่งเป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” (Change Agents) ผู้หล่อหลอมกรอบความคิด (Mindset) ในการสร้างการเรียนรู้ เป็นผู้บ่มเพาะคุณลักษณะภาวะผู้นำและพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนซึ่งจะเติบโตขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคมไทย

        ตลอดระยะกว่าเวลา 4 ปีที่ผ่านมา โครงการฯ ได้พัฒนาศักยภาพของครูแกนนำจำนวนกว่า 700 คน  เป็นการพัฒนาการเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม แก่ครูทั้งมิติด้านจิตใจ ทักษะ และองค์ความรู้ ให้สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งในระดับตนเอง ชั้นเรียน โรงเรียนและสังคมรอบตัว  ทั้งยังมีการออกแบบเนื้อหาวิชาที่สอดคล้องกับบริบทสถานการณ์ทางสังคมในปัจจุบัน โดยมีรายละเอียดดังนี้

        โมดูล 1 ครูคือมนุษย์ สำรวจภูมิทัศน์ภายในของความเป็นครู

        โมดูล 2 ครูคือกระบวนกร 

        โมดูล 3 ถอดบทเรียนการขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์และนิเวศการเรียนรู้

        โมดูล 4 ตลาดวิชาการพัฒนาศักยภาพผู้นำสุขภาวะทางปัญญา

        การดำเนินโครงการทำให้ได้ “นวัตกรรมในการพัฒนาศักยภาพครูอย่างเป็นองค์รวม”  ทั้งยังเกิด       “ชุมชนกัลยาณมิตรเครือข่ายก่อการครู” ทั่วประเทศ ที่สนับสนุนการเติบโตและพัฒนาทั้งมิติทางจิตใจและเชิงวิชาชีพให้กับครูอย่างมากมาย

            3. มายาคติทางการศึกษา

        โครงการวิจัย “การสำรวจและรื้อถอนมายาคติทางการศึกษาในสังคมไทย” ต้องการทำความเข้าใจชุดความเชื่อที่แฝงฝังในสังคมไทย ให้เข้าใจวาทกรรมและมายาคติทางการศึกษาที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมต่าง ๆ ทั้งของครู นักเรียน และคนทั่วไปในสังคม ซึ่งนับว่าเป็นรากของปัญหาทางการศึกษา โดยแบ่งเป็นชุดความรู้มายาคติทางการศึกษาในสังคมไทย 5 ประเด็น

        1.ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21

        ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เป็นแนวคิดที่นำมาพัฒนาเป็นนโยบายทางการศึกษาในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า “การขาดความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับทักษะต่างๆ และแนวทางในการปฏิบัติ” มีสาเหตุมาจากการทำงานแบบรับคำสั่งจากส่วนกลาง (centralization) ทำให้การสื่อสารข้อมูลมีความคลาดเคลื่อน และที่สำคัญ “ระบบการประเมินผู้เรียน” ทำให้ครูไม่เห็นความเป็นไปได้ในการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาทักษะเหล่านี้ให้แก่นักเรียน และส่งผลกระทบเชิงสุขภาวะในตัวครูและผู้เรียนอีกด้วย

        2. พฤติกรรมและทัศนคติทางเพศในโรงเรียน

        มายาคติที่เชื่อว่าสถานศึกษาควรเป็นพื้นที่บ่มเพาะศีลธรรมอันดี ที่ “การพูดและการรับรู้เรื่องเพศ” ไม่ควรเกิดขึ้น ทำให้ผู้เรียนขาดโอกาสเรียนรู้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับเพศ สิทธิในร่างกาย ตัวตนทางเพศที่หลากหลายของมนุษย์ และการเคารพผู้อื่น งานวิจัยชี้ให้เห็นว่า “เรื่องเพศมีความเชื่อมโยงกับการสร้างพลเมืองของรัฐไทย โดยใช้ความกลัว อำนาจ และการลงโทษ” การสื่อสารเรื่องเพศในโรงเรียนจึงเกิดขึ้นอย่างลับๆ และผู้มีอำนาจจับจ้องควบคุมให้เป็นไปตามอุดมคติที่ตนต้องการ

        3. ความเสมอภาคทางการศึกษา

        ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า “ความเสมอภาคทางการศึกษาปรากฏในรูปความเชื่อเกี่ยวกับการเข้าถึงทรัพยากรที่มีคุณภาพตามมาตรฐานที่สังคมกำหนด” นำไปสู่ “การตกอยู่ภายใต้ภาวะจำยอมต่อระเบียบกฎเกณฑ์ที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริง” ดังนั้นหากต้องการสร้างความเสมอภาคที่แท้จริงจึงควรสร้างความเสมอภาคทางการเรียนรู้ที่ครูผู้สอนสามารถนำพาผู้เรียนสู่ความเข้าใจในเนื้อหาความรู้ที่สามารถปรับใช้ได้ในชีวิต

        4. ความสำเร็จของผู้เรียน

        การสอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยถูกมองว่าเป็นหมุดหมายแสดงถึงความสำเร็จทางการศึกษา ซึ่งถูกเชื่อมโยงกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยบางคณะ นักเรียนที่สอบได้คณะที่ไม่ใช่กระแสนิยมจะไม่ได้รับการให้คุณค่า เกิดปัญหาสุขภาวะและความเครียดเพิ่มมากขึ้น ผลการศึกษาชี้ให้เห็น “วาทกรรมความสำเร็จ” 2  ชุด คือ วาทกรรมที่กำหนดความเชื่อของผู้ปกครองเกี่ยวกับความสำเร็จ ได้แก่ “ความสำเร็จหมายถึงความมั่นคงทางอาชีพ” และวาทกรรมที่กำหนดความเชื่อของเด็กเกี่ยวกับความสำเร็จได้แก่ “ความสุข และการค้นพบตนเอง” วาทกรรมทั้งสองชุดแข่งขันกัน ส่งผลให้ผู้เรียนและผู้ปกครองเกิดความขัดแย้งทางความเชื่อมีความมุ่งหวังไม่ตรงกัน เกิดปัญหาสุขภาวะตามมา

       5. การจัดการชั้นเรียนและการลงโทษ

        การจัดการชั้นเรียนและการลงโทษด้วยความรุนแรงในชั้นเรียนยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลการศึกษาพบว่า “ปรากฎการณ์การลงโทษด้วยความรุนแรงไม่ได้เกิดขึ้นด้วยตัวมันเอง แต่เป็นส่วนหนึ่งและมีความเกี่ยวพันกับปรากฎการณ์ โครงสร้างทางสังคม และชุดวาทกรรมต่างๆ” ได้แก่ 1) บทบาทของครูตามมาตรฐานที่สังคมคาดหวัง  2) ระบบการฝึกฝนครูที่ไม่ได้แสดงให้เห็นทางเลือกอื่นนอกจากการใช้อำนาจ และ 3) วัฒนธรรมระบบรุ่นพี่รุ่นน้องและความเคารพอาวุโส (โซตัส) หากตีความผ่านมโนทัศน์เรื่องความรุนแรงเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมสามารถตีความได้ว่าเป็นการใช้และผลิตซ้ำความรุนแรง เช่น การปลูกฝังความเชื่อหรือพฤติกรรมที่สนับสนุนให้เกิดการสยบยอมมากกว่าตั้งคำถามหรือต่อต้านต่ออำนาจ ซึ่งระบบความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนเช่นนี้ยังสะท้อนวาทกรรมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและประชาชนในฐานะ “ผู้ปกครอง” และ “ผู้ใต้ปกครอง” อีกด้วย

            4. นวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อขับเคลื่อนชุมชน สังคม

        ด้วยให้ความสำคัญกับการพัฒนานักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาควบคู่กับการสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม ทำให้เกิดนวัตกรรมจากการเรียนรู้เพื่อขับเคลื่อนชุมชน สังคม  3 ด้าน

        1. การพัฒนาบุคลากร : นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้แก่นักศึกษาด้วยแนวคิด “การเรียนรู้ที่ไม่แยกขาดจากสังคม” (Learning for social transformation) คือการเปิดโอกาสนักศึกษาได้ค้นหาศักยภาพของตนเองบนพื้นฐานความสามารถหรือความสนใจที่มี เพื่อวางเป้าหมายชีวิต  นักศึกษาเข้าใจความเป็นไปของโลกผ่านการทำงานกับชุมชนและออกแบบกิจกรรมหรือโครงการนวัตกรรมซึ่งมาจากโจทย์ทางสังคม และผลักดันให้นักศึกษาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่สังคม โดยให้นักศึกษาเรียนรู้และทดลองสร้างโมเดลการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมที่สอดรับกับบริบทพื้นที่จริงภายใต้แนวคิดธุรกิจเพื่อสังคม (Social enterprise)

        2. สร้างและขยายพื้นที่การเรียนรู้ : นวัตกรรมพัฒนาเครือข่ายและสร้างผู้นำกระบวนทัศน์ใหม่ เรียนรู้การมือกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม มีพลังนำพาสังคมให้ฟื้นตัวกลับสู่ความปกติสุข จากการทำ  “โครงการผู้นำแห่งอนาคต”

        3.  องค์ความรู้และนวัตกรรมการเรียนรู้ : นวัตกรรมการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน “โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา และโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการโรงเรียนนำร่องการศึกษาฐานสมรรถนะ”

        ผลจากนวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อขับเคลื่อนชุมชนสังคม ทำให้เกิดองค์ความรู้การพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนผ่านการพัฒนา 4 ส่วนสำคัญ คือ 1) ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิทางการศึกษาที่ดีขึ้น ได้รับการพัฒนาทักษะชีวิตและอาชีพอย่างเหมาะสม 2) ครูมีศักยภาพในการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน  3) สถานศึกษาเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยการพัฒนาหลักสูตร สื่อการเรียนรู้ และกระบวนการจัดการเรียนรู้ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับบริบทพื้นที่ และ4) การบริหารจัดการให้เกิดระบบนิเวศการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการพัฒนา

            5. นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน  หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการเรียนรู้

        หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการเรียนรู้ ออกแบบเพื่อมุ่งบ่มเพาะ นวัตกรการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม (Learning Innovator for Social Change) บนปรัชญาการเรียนรู้สหวิทยาการ มีเป้าหมายเพื่อให้บัณฑิตมีสมรรถนะ (competency) 6 ด้าน คือ 1) การคิดเชิงระบบ (systems thinking) 2) การวิพากษ์และเสนอทางออกอย่างสร้างสรรค์ (critical and innovative mind) 3) ทำงานด้วยความเป็นมืออาชีพบนฐานความรู้ (knowledge-based expertise) 4) ทักษะในการรู้จักเท่าทันตนเอง (intrapersonal skills) 5) ทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น (Interpersonal skills) 6) มีจิตสำนึก และมีส่วนร่วมในการทำงานทางสังคม (social conscience and engagement)

        การจัดการเรียนการสอนอยู่บนฐานคิดทฤษฎีการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ (Experiential Learning) ที่เชื่อว่า การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่ความรู้ถูกสร้างขึ้นจากการ “เปลี่ยนประสบการณ์ให้เป็นความรู้” นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน ได้แก่

        1.การเรียนรู้เชิงรุก (Active learning)  คือ พฤติกรรมของผู้เรียนที่มีประสบการณ์ปฏิบัติจริง และสามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้ได้อย่างแยบคายในการเรียนรู้ 4 ปี  ปีแรกเป็นการปูพื้นฐานศาสตร์วิทยาการเรียนรู้ ปีที่สองเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงจากการทำงานในพื้นที่จริง  ปีที่สามเน้นสร้างความเชี่ยวชาญในเชิงลึก ทำความเข้าใจ สะท้อนคิดจากการเรียนในหมวดวิชาที่ตนเองสนใจและฝึกงาน ปีสุดท้ายค้นหาความสนใจพัฒนาอัตลักษณ์ของบุคคล เพื่อเตรียมความพร้อมในการประกอบอาชีพ

        หลักการ 7 ด้าน ในการจัดการเรียนรู้แบบ Active learning  ของคณะฯ 1.ให้ผู้เรียนเป็น “เจ้าของการเรียนรู้” มีส่วนร่วมตัดสินใจในการสร้างความรู้ให้ตัวเอง ได้ใช้ทักษะที่มีอยู่แล้วให้เป็นประโยชน์ 2.สร้างสภาพแวดล้อมให้ผู้เรียนได้ “ลงมือทำ” เจอประสบการณ์ที่สร้างการเรียนรู้ให้เขาได้จริงๆ 3.ใช้รูปแบบการเรียนการรู้ (Pedagogy) ที่มีการกระตุ้นให้ผู้เรียน “ฉุกคิด” “ปฏิบัติ” และ “สะท้อนการเรียนรู้” 4.จัดกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้ “สมอง” ผู้เรียนได้คิดตามในสิ่งที่ฟัง เห็น และสัมผัส ได้ทบทวนและตั้งคำถามหรือสงสัยในสิ่งที่ตัวเองรับรู้ เกิดเป็น “กระบวนการรู้คิด” 5.ผู้สอนมีศิลปะการพูดที่ทำให้ “ผู้เรียนเห็นภาพ คิดตามได้” มีตัวอย่างประกอบที่ใกล้กับประสบการณ์ของผู้เรียน 6.ผู้สอน “เปิดโอกาส” ให้ผู้เรียนตั้งคำถาม ใคร่ครวญ และตกตะกอนความคิดจากองค์ความรู้ที่ได้รับ 7.ผู้สอนสร้างชั้นเรียนให้เป็น “พื้นที่ปลอดภัย” มีความไวมากเพียงพอที่จะรับรู้ว่าผู้เรียนต้องการอะไร (Sensitivity)

        2.การเรียนรู้บนฐานชุมชน (Community-based Learning) ผู้เรียนเรียนรู้ในสถานการณ์จริงจากชุมชน ที่มีความซับซ้อนเชิงโครงสร้างสังคม วิถีชีวิต และรูปแบบการเรียนรู้ ทำความเข้าใจความแตกต่างหลากหลาย การปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นบนโลกความเป็นจริง ใช้ “ชุมชนเป็นสนามจริง” ในการทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม หรือธุรกิจเพื่อสังคม

        3.การสอนเป็นทีม (Team teaching) แต่ละวิชาจะมีผู้สอนร่วมจัดการเรียนการสอนเป็นทีม ใช้ความเชี่ยวชาญที่หลากหลายของอาจารย์ช่วยส่งเสริมให้นักศึกษามองประเด็นได้รอบด้านมากขึ้น (Learn from various perspectives)  อาจารย์และนักศึกษามีความสัมพันธ์ดีขึ้น (Enhance student-teacher relationships) อาจารย์ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากเพื่อนอาจารย์ในทีมเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน (Improve skills)  และการจัดการชั้นเรียนมีประสิทธิภาพมากขึ้น (Better classroom management and facilitation)

        4.โค้ช และ พี่เลี้ยง  (Coacher and mentor) อาจารย์เป็นพี่เลี้ยง (Mentor) ใช้มุมมอง ประสบการณ์ และความรู้ ให้คำแนะนำ ดูแล สนับสนุนนักศึกษา ควบคู่กับการทำหน้าที่เป็นโคช (Coach) สร้างพื้นที่ปลอดภัย และความไว้วางใจให้แก่นักศึกษา ตั้งคำถาม รับฟัง สะท้อนกลับเพื่อสร้างความตระหนักรู้ภายในตัวของนักศึกษา

        5.ใบรายงานสมรรถนะของผู้เรียน (competency-based transcript) เพื่อให้ผู้เรียนรับรู้ว่าตนเองมีความโดดเด่นด้านใด  เพื่อหาแนวทางพัฒนาด้านนั้นต่อไป และสามารถสื่อสารสมรรถนะและทักษะของผู้เรียนให้แก่องค์กรหรือหน่วยงานภายนอกที่ผู้เรียนสนใจประกอบอาชีพ

            6. ความเท่าเทียม และความแตกต่างหลากหลาย

        ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา คณะฯ ริเริ่มโครงการที่ทำความเข้าใจความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์ เพื่อนำไปสู่การสนับสนุนให้เกิดความเท่าเทียมในสังคมมากขึ้น 

        โครงการ Economic Inclusion of LGBTI Groups in Thailand 

        คณะฯ ทำงานร่วมกับ World Bank และ LoveFrankie เพื่อทำความเข้าใจความหลากหลายของมนุษย์ในมิติตัวตนทางเพศ และมิติของบริบททางสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชากรแต่ละกลุ่มมีความสามารถในการเข้าถึงตลาดและบริการต่างกัน โดยเฉพาะในกรณีของบุคคลข้ามเพศ (Transgender people) ที่ตกเป็นเป้าหมายของการถูกเลือกปฏิบัติบ่อยครั้ง นอกจากนั้นการที่บุคคลจากกลุ่มความหลากหลายทางเพศมีบริบททางสังคมและทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่ต่างกัน ก็ส่งผลต่อโอกาสและความสามารถในการรับมือปัญหาที่ต่างกันอีกด้วย 

        HEARTS: สุขภาพจิตและสุขภาวะของเด็กและเยาวชนหลากหลายทางเพศ

        คณะฯ ได้ร่วมมือกับ Save the Children เพื่อรณรงค์ให้สังคมให้ความสำคัญต่อปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นกับเยาวชนในกลุ่มความหลากหลายทางเพศ และใช้องค์ความรู้จากการทำวิจัยเพื่อหาวิธีการสนับสนุนให้เยาวชนกลุ่มดังกล่าวสามารถเข้ารับความช่วยเหลือจากผู้ที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลายและปัญหาสุขภาพจิตที่มีความเฉพาะในเยาวชนกลุ่มนี้มากขึ้น

        โครงการพัฒนาข้อเสนอแนะต่อการพัฒนารูปแบบและระบบการสนับสนุนสมาชิกครอบครัว เพื่อน คู่ชีวิต และผู้ให้บริการสุขภาพเพื่อส่งเสริมสุขภาวะของประชากรกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBTI+ 4P) 

        คณะฯ ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตอกย้ำให้เห็นความสำคัญว่า ปัญหาที่ประชากรกลุ่มความหลากหลายทางเพศเผชิญนั้นไม่ได้จำกัดแค่ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ หรือสุภาพจิตเท่านั้น แต่สามารถขยายถึงคุณภาพการใช้ชีวิตหลากหลายด้าน ซึ่งหนึ่งในผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงสำคัญ คือ กลุ่มคนรอบๆ ข้างของประชากรกลุ่มนี้ที่สามารถส่งเสริมให้พวกเขาเผชิญกับปัญหาได้อย่างเข้มแข็ง มีพื้นที่ปลอดภัย และได้รับความเข้าใจมากขึ้น ประกอบด้วย ผู้ปกครองและสมาชิกในครอบครัว (Parents and Family members) เพื่อน (Peers) คู่รัก (Partners) และ ผู้ให้บริการทางด้านสุขภาพ (Health Service Providers)

           7. ระบบนิเวศการเรียนรู้

        “สร้างระบบนิเวศการเรียนรู้อย่างบูรณาการ โดยระดมการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย (ผู้เรียน พ่อแม่ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ ผู้บริหารฝ่ายสนับสนุน บุคลากรมหาวิทยาลัย และสังคม) เป็นต้นแบบของการจัดการเรียนรู้ให้เกิดปัญญาในการเข้าใจโลกภายใน-ภายนอก และเลือกดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องเพื่อสร้างคนดีสู่สังคม”

       นี่คือพันธกิจของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับระบบนิเวศการเรียนรู้ของโรงเรียน เพราะเป็นระบบที่เกื้อหนุนให้เกิดบรรยากาศแห่งการเรียนรู้เพื่อบ่มเพาะ หล่อเลี้ยง ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องตามศักยภาพและความสนใจเป็นรายบุคคล รวมทั้งให้สมาชิกทุกส่วนได้พัฒนาตนเองร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียน

       การมีส่วนร่วมของผู้ปกครองกับโรงเรียน ดังเช่น กระบวนการรับสมัคร การตอบเอกสารข้อเขียนและการเข้าร่วมสอบสัมภาษณ์ควบคู่ไปกับกระบวนการรับสมัครนักเรียน  การเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เมื่อได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของนิเวศการเรียนรู้ และกิจกรรมครอบครัวสาธิต ซึ่งเป็นกิจกรรมค่ายเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1  ซึ่งจัดให้มีกิจกรรมที่ทำร่วมกันเฉพาะผู้ปกครอง เพื่อให้เข้าใจทิศทางและรูปแบบการเรียนการสอนของโรงเรียน และเพื่อให้ผู้ปกครองสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่บ้านที่ส่งเสริม ต่อยอด และสอดคล้องไปกับโรงเรียนได้ ตลอดจนกิจกรรมห้องเรียนพ่อแม่ ที่ผู้ปกครองสามารถเลือกเข้าร่วมได้ตามความสนใจเพื่อเป็นประโยชน์ในการช่วยสนับสนุนการเรียนรู้และดูแลบุตรหลาน  อาทิ ห้องเรียนรัก Sex must Say เรื่องเพศพูดได้, พ่อแม่หัวใจใหม่ : การสื่อสารเชิงบวก, สื่อสารอย่างไรให้ถึงใจลูก : Non Violence Communication เป็นต้น

        ขณะที่การสนับสนุนด้านอื่นๆ เช่น 1) ด้านวิชาการ ช่วยกำกับ ติดตาม ดูแลและรับฟังการสะท้อนการเรียนรู้ของนักเรียน 2) ด้านกิจกรรม ร่วมเป็นเจ้าภาพสนับสนุน การจัดกิจกรรมต่างๆ 3) ด้านทรัพยากรและสื่อการเรียนรู้ภายในโรงเรียน 4) การประสานงานอำนวยความสะดวกกิจกรรมและการเรียนรู้ต่างๆ ผ่านเครือข่ายของผู้ปกครอง

            8. นวัตกรรมการเรียนรู้จำเพาะบุคคล

        โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้พัฒนาระบบการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากความเชื่อที่ว่า “ผู้เรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ทุกคนมีเป้าหมายและต้องการพัฒนาตนเองไปสู่เป้าหมายนั้น สามารถเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตนเอง ทั้งการเลือกประเด็นการเรียนรู้ วิธีการเรียนรู้ ช่วงเวลา ระยะเวลา และวิธีการประเมิน ที่สอดคล้องกับความถนัดและธรรมชาติการเรียนรู้ของตนเอง” จึงจัดให้มีระบบการจัดการศึกษาที่สนองต่อการเรียนรู้จำเพาะบุคคล (Personalized Learning)

หลักสูตรที่ส่งเสริมการเรียนรู้จำเพาะบุคคล

        ม.ต้น เน้นหลากหลาย ส่งเสริมให้นักเรียนสำรวจความหลากหลายและความเชื่อมโยงของศาสตร์ต่างๆ อย่างมีความหมาย 

        ม.ปลาย เน้นลงลึก ส่งเสริมทั้งความรู้พื้นฐานและความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง 

        Flexible Pathway เป็นแนวทางในการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่นักเรียนเลือกเรียนได้ตามความชอบ ความถนัด และเป้าหมายในอนาคตของตนเอง

        Personalized Learning Pathway เป็นแผนการเรียนรู้จำเพาะบุคคล นักเรียนทุกคนจะได้สร้างแผนฯ ที่เหมาะสมกับตนเอง 

        ตารางเรียนที่นักเรียนจัดเอง นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแต่ละคนจะต้องจัดตารางเรียนที่สอดคล้องกับรายวิชาที่กำหนดไว้ใน Personalized Learning Pathway ของตนเอง 

        รายวิชาสำหรับส่งเสริมการเรียนรู้จำเพาะบุคคล เป็นรายวิชาประเภทโครงงานที่พัฒนาขึ้นเพื่อปลูกฝังวิธีคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ การพัฒนาตนเอง การเข้าใจตนเองและสังคม และฝึกทักษะที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาตนเองสู่การเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต

        การสนับสนุนการเรียนรู้จำเพาะบุคคล ครู อาจารย์ มีหน้าที่หลัก 3 ด้าน คือ

        1.กระบวนกร (Facilitator) มีหน้าที่ทำความเข้าใจบริบทของนักเรียน เพื่อออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้ที่เหมาะสม และจัดกระบวนการให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ในประเด็นต่างๆ อย่างมีความหมาย

        2.ที่ปรึกษา (Advisor) / ครูประจำชั้น (Homeroom Teacher) มีหน้าที่ให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด ทั้งในด้านการใช้ชีวิตและการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนสามารถปรับตัว อยู่ในสังคม พร้อมสำหรับการเรียนรู้ในแต่ละวันและตลอดภาคการศึกษา

        3.ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (Mentor) มีหน้าที่สร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ และช่วยเหลือนักเรียนในการลงลึกในศาสตร์เฉพาะด้านที่ตนสนใจ โดยครูแต่ละคนมีความถนัดและความเชี่ยวชาญทั้งจากการศึกษาในสาขาวิชานั้นๆ และจากประสบการณ์ที่สั่งสมจาการลงมือปฏิบัติ และความชอบความสนใจของตนเอง

        3-ways conference เป็นพื้นที่การพบปะกันระหว่างนักเรียน ครู และผู้ปกครองหลังจากเสร็จสิ้นการเรียนการสอนของแต่ละภาคเรียน เพื่อทำความเข้าใจการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นของนักเรียนตลอดทั้งภาคเรียนที่ผ่านมา และเป็นโอกาสที่แต่ละคนจะได้กำหนดบทบาทของตนเองเพื่อร่วมมือกันสร้างการเรียนรู้ที่เข้มข้นกว่าเดิมในภาคเรียนถัดไป