Loading...

“การเรียนรู้ไม่สิ้นสุดบนโลกแห่งความแตกต่างหลากหลาย”

        ปาฐกถาพิเศษในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครบรอบ 8 ปี โดย ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

การเรียนรู้-องค์กรแห่งการเรียนรู้-ชุมชนเรียนรู้

การเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา แต่เกิดขึ้นในปฏิสัมพันธ์และการปฏิบัติ ที่ไม่เพียงถ่ายทอดความรู้ แต่เป็นการเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ปลูกฝังค่านิยม และบรรทัดฐานของการปฏิบัติ องค์กรทุกองค์กรย่อมมีการเรียนรู้ที่ถ่ายทอดและบ่มเพาะผู้คนให้มีแบบแผนวัฒนธรรมในทางเดียวกัน

ในองค์กรที่มีแบบแผนการปฏิบัติที่ผลิตซ้ำตัวเองไปเรื่อยๆ เมื่อโลกเปลี่ยนไป สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป ภารกิจของเราอาจจะเปลี่ยนไป ถึงวันหนึ่งเราอาจพบว่า พิธีกรรม แบบแผน แนวทางการทำงานบางอย่าง อาจจะไม่ตรงวัตถุประสงค์อีกต่อไป เพราะฉะนั้นในโอกาสที่คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ก่อตั้งมาได้ 8 ปี ก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะตั้งหลักกันด้วยว่า ตัวเราอยากไปเปลี่ยนแปลงสังคมภายนอก ต้องเริ่มจาก “การเปลี่ยนแปลงตัวเองโดยการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุดก่อน ก่อนจะส่งต่อการเรียนรู้ให้กับผู้อื่น”

เราต้องมีการเรียนรู้ใหม่อยู่เรื่อยๆ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไป อย่างที่ อัลวิน ทอฟเฟลอร์ บอกว่า “คนไร้การศึกษาในศตวรรษที่ 21 จะไม่ใช่ผู้ที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้อีกต่อไป แต่จะเป็นผู้ที่ไม่สามารถเรียนรู้ ไม่ลบสิ่งที่รู้เดิมแล้วเริ่มเรียนรู้ใหม่” ความรู้ที่เรียนจบในชั้นเรียนหมดอายุไปตั้งแต่จบการศึกษาแล้ว เมื่อออกไปภายนอกก็คือการเรียนรู้ใหม่โดยปริยาย เพราะโลกสมัยใหม่บังคับให้เรียนรู้เพิ่มเติมอยู่แล้ว

กระบวนการที่โลกเปลี่ยนเร็วแล้วเราใช้ตรรกะการเรียนรู้ไม่สิ้นสุดเพื่อเอาไปทำงานกับโลก หัวใจสำคัญคือ “ผลผลิต” ถ้าเราจะสร้างสังคมในอุดมคติ เราต้องมีเป้าหมาย อย่างน้อยเราใช้สติปัญญาในการสร้างสังคมที่มนุษย์เข้าไปสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ

ระบบการศึกษาไทย: สังคมปรนัยกับอุตสาหกรรมความรู้

คนสร้าง/ผลิตความรู้มีน้อย คนเสพ/ใช้มาก เน้นความรู้สำเร็จรูป อำนาจอยู่ที่ผู้เชี่ยวชาญ ผลิตคนให้เหมือนๆ กัน ผลิตคนให้รับใช้ระบบ

“เราต้องหาโจทย์อัตนัยที่ไม่ไปซ้ำคำตอบแบบเดิม มีตัวเลือกและจินตนาการใหม่ ซึ่งได้จากการคิดแบบตั้งคำถาม”  เด็กบางคนเติบโตได้จากเงื่อนไขอื่นนอกจากการเรียนในชั้นเรียน ดังนั้นสิ่งที่ยากที่สุด คือ unlearn ครู ที่ติดอยู่กับกรอบทางความคิด ระบบราชการที่เรียนมา

โจทย์อัตนัยคือกระบวนการคิดหาทางเลือก ซึ่งในกระบวนการนี้ไม่ได้อยู่ในโลกของการเรียนรู้ แต่เป็นการแสวงหาอนาคตของเด็ก เด็กมีภาพอนาคตของสังคมไทยอีกแบบหนึ่ง เขาจะได้ความรู้มาอย่างไร? โจทย์นี้เป็นโจทย์สำคัญ หากจะพาสังคมไทยออกจากพันธนาการกับดักที่วนเวียน