เด็ก LSEd จบไปทำอะไร ?
ถ้า “คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์” ไม่ได้เรียนจบไปเป็นครู แล้วจะทำงานอะไร สายงานไหนได้บ้าง?
หลายคนอาจคิดว่า นักศึกษาคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ของเรา เรียนจบแล้วคงต้องไปเป็นครูเท่านั้น เพราะเห็นคำว่า “ศึกษาศาสตร์” พ่วงท้ายมา แต่ความจริงแล้วคณะฯ ของเราไม่ได้เรียนจบเพื่อมาเป็นครูโดยตรง นักศึกษาที่เรียนจบไปแล้วก็สามารถทำงานได้หลากหลายสายอาชีพ
วันนี้เราจึงนำประเด็นที่น่าสนใจใน รายวิชา LSE 292 การประมวลการเรียนรู้ 2 ที่ได้เชิญพี่ๆ บัณฑิตทั้ง LSEd รุ่น 1 และ LSEd รุ่น 2 ที่เรียกได้ว่าเป็นรุ่นบุกเบิก มาร่วมกันแชร์ประสบการณ์การทำงานการประยุกต์ทักษะที่ได้จากการเรียนมาใช้ในการทำงาน รวมถึงสิ่งที่ได้จากการเรียน LSEd ตลอดทั้ง 4 ปี
อรุณพร ผอมจีน (โบว์ลิ่ง) LSEd รุ่น 2 เดิมทำงานที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ปัจจุบันเป็นฟรีแลนซ์ เกี่ยวกับการออกแบบกระบวนการสำหรับเด็ก ได้เล่าว่า จริงๆ จุดเริ่มต้น คืออยากเป็นครู ตอนนั้นเราตอบตัวเองได้ว่าเราไม่ได้อยากเป็นครูในระบบ และด้วยความที่เราเป็นเด็กกิจกรรม ชอบการทำกิจกรรม การถือไมค์ เลยสงสัยว่ามีคณะไหนบ้างที่เกี่ยวกับสายการศึกษา มีอิสระในการได้เห็นคำว่า “ครู” ในมิติอื่นๆ จนมาเจอรีวิวของพี่ๆ LSEd รุ่น 1 แล้วเห็นว่าไม่ได้ระบุว่าเรียนจบไปเป็นครู มันมีความเป็นไปได้อื่นๆ ในการเลือกสายงาน รู้สึกว่าเป็นคณะที่น่าสนใจ พอสัมภาษณ์แล้วก็รู้สึกว่าชอบ เลยเลือกเรียนที่นี่
พสิษฐ์ ธัญญะพิเศษศักดิ์ (แชมป์) LSEd รุ่น 1 ปัจจุบันทำงานที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รังสิต ในตำแหน่งงาน นักบริหารงานทั่วไประดับ 4 (นบท.4) เนื้องานเกี่ยวข้องกับงานสื่อสารนโยบายสู่การปฏิบัติ และงานสนับสนุนแผนการพัฒนาบุคคล (Individual Development Plan) แชมป์เล่าว่าตอนแรกวางแผนว่าอยากเป็นครูแต่ไม่ได้อยากเป็นครูในระบบ และเห็นว่าคณะฯ นี้รับตรง เมื่อถึงวันสัมภาษณ์ก็ได้ทำกิจกรรมเลย รู้สึกชอบวิธีการที่เขาให้ทำกิจกรรม ตอนท้ายอาจารย์บอกว่าถ้าสนใจอยากเรียน คณะฯ เราก็มีการเรียนการสอนแบบนี้ จึงทำให้ตัดสินใจเลือกเรียนที่นี่
สิภรัษมิ์ จินตาพิทักษ์ (กระตอย) LSEd รุ่น 1 ปัจจุบันเป็นคุณครูอยู่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตำแหน่งงาน ครูกระบวนการ กลุ่มประสบการณ์สุขภาพและสุขภาวะ เล่าถึงความตั้งใจแรกว่า อยากเป็นครู และได้มาเห็นคณะฯ นี้ที่ชื่อยาวมากแต่พ่วงมาด้วย “ศึกษาศาสตร์” จึงเลือกเรียนที่นี่ พอสมัครและได้มาสอบสัมภาษณ์ก็รู้สึกว่าแปลกดีที่มีการทำกิจกรรมแบบนี้
ฐิติชญา ลัคนกาลตระกูล (พลอยศรี) LSEd รุ่น 2 ปัจจุบันทำตำแหน่งงาน Learning & Growth Executive (L&G) นักสร้างการเรียนรู้และเติบโตของบุคลากร ให้กับองค์กรเอกชนแห่งหนึ่ง เล่าว่าตอนนั้นอยากเป็นครู เราเห็นแค่นามสกุล “ศึกษาศาสตร์” ของชื่อคณะ และข้อมูลในช่วงนั้นมันยังน้อยมากเพราะกำลังเปิดรับแค่รุ่นที่ 2 แต่ได้เห็นรีวิวแนะนำคณะฯ ที่พี่ๆ รุ่น 1 ทำไว้ เห็นว่าเป็นคณะที่เปิดมุมมองเรื่องการศึกษาที่ฉีกไปจากเดิม ถ้าได้เรียนครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ที่อื่น ก็อาจจะไม่ได้เข้าใจบริบทสังคมและระบบการศึกษาในอีกมุมมองที่ลึกซึ้งกว่า มีวิธีคิดที่แปลกไปจากเดิม
มายาวี ชูวงษ์ (ซิน) LSEd รุ่น 2 ปัจุบันทำตำแหน่งงาน Digital Media Specialist ที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เล่าถึงการทำงานว่า เราทำ Marketing ให้กับ Brand ทำการตลาดแบบออนไลน์ อย่างลูกค้าอยากทำแบรนด์สินค้าแล้วมาจ้างบริษัทเรา เราก็จะเป็นฝ่ายที่คอยดูเรื่อง Branding วิเคราะห์ว่าทำการตลาดลงช่องทางออนไลน์ด้วย Content ลักษณะไหน และดูแลเรื่องงบประมาณให้ด้วย
วิชาเลือกตามความมุ่งเน้น (แทรค) กับการนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงาน
เมื่ออยู่ปี 3 นักศึกษาจะได้เลือกวิชาเลือกความมุ่งเน้น หรือแทรค (Track) ซึ่งของหลักสูตร 59 (หลักสูตรเดิม) ณ ขณะนั้นมีทั้งหมด 4 แทรค ได้แก่ หมวดวิชาสะเต็มศึกษา (STEM) หมวดวิชาวิจัยและบริหารการศึกษา หมวดวิชาการอำนวยการเรียนรู้ (FA) และหมวดวิชาเทคโนโลยี การออกแบบ และนวัตกรรมการเรียนรู้ (Media)
โบว์ลิ่ง LSEd รุ่น 2 เลือกเรียนหมวดวิชาการอำนวยการเรียนรู้ (FA) เล่าว่าเลือกเรียนแทรค FA เพราะเป็นสิ่งที่คิดว่าน่าจะทำได้ เป็นสไตล์เรามากที่สุด ตอนมาทำงานได้ใช้ที่เรียนมาทั้งหมดเลย แต่ของเราจะฉีกไปจากเดิมที่ต้องออกแบบกระบวนการ ออกแบบ Workshop พอมาทำงานจริงมันเห็นเลยว่าทักษะในการออกแบบพวกนี้ไม่ได้จำเป็นแค่ใช้สำหรับออกแบบ Workshop อย่างเช่น หากเราต้องการสื่อสารสิ่งหนึ่งให้พี่ๆ Senoir เข้าใจ เราจำเป็นต้องออกแบบก่อนว่าเราจะต้องทำอย่างไรให้เขาเข้าใจสิ่งที่เราจะสื่อ เราควรจะต้องเปิดด้วยอะไรบ้าง เรียงลำดับขั้นตอนตั้งแต่แรกจนถึงท้ายสุด การนำทักษะที่ได้จากการเรียน FA ของเราเป็นการนำ “การออกแบบกระบวนการ” มาปรับใช้กับการออกแบบการทำงาน หรือแม้แต่การออกแบบกิจกรรมการแข่งขันให้เด็ก เราก็ได้ใช้ทักษะเหล่านี้ในการออกแบบกิจกรรมให้สนุก น่าสนใจ และได้ความรู้ บางทีเป็นการทำงานระยะยาว อย่างเช่น ต้องอบรมสิ่งนี้ พอมีความรู้แล้วค่อยทำโมเดลออกมา และมา Prototype หรือการวิเคราะห์ Persona ก็ยังได้ใช้อยู่ทุกวัน ไม่ใช่แค่กับเด็ก แต่กับคนที่เราทำงานด้วยก็ต้องวิเคราะห์ Persona เขาออกมา เพื่อหาวิธีที่จะทำให้เขาเข้าใจสิ่งที่เราต้องการจะสื่อ
“Learning Design มันสอดแทรกอยู่ในทุกอณูของการทำงาน คือเราต้องคิดตลอดเวลาว่าเราจะต้องมีกระบวนการอย่างไรให้ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้”
แชมป์ LSEd รุ่น 1 เลือกเรียนหมวดวิชาสะเต็มศึกษา (STEM) เพราะชอบเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ด้วยเหตุผลที่ว่า เพราะวิทยาศาสตร์เป็นวิชาที่มีความล้ำลึก ซึ่งวิชาเรียนในแทรค STEM เป็นวิชาที่สนุกมาก อาจารย์ก็จะสอนวิธีการสื่อสารอย่างไรให้เข้าใจง่าย การทำสื่อ ทำชิ้นงาน สุดท้ายคือไปจัดการเรียนรู้ให้น้องๆ ในโรงเรียน กลายเป็นว่าสุดท้ายแล้วสิ่งที่อาจารย์สอนมันทำให้เราสามารถนำหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่ยาก การทดลองที่ยาก ให้น้องๆ เข้าใจได้ด้วยการลงมือทำด้วยตัวเอง ทำให้วิทยาศาสตร์หรือเรื่องเกี่ยวกับวิชาการ มันง่ายขึ้น สนุก และเข้าใจได้ง่ายขึ้น จริงๆ มันก็เป็น Pain Point ตอนเรียนวิทยาศาสตร์ คือเราชอบแต่เรียนแล้วไม่เข้าใจ จึงเลือกเรียน STEM เผื่อเราจะสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในอนาคตได้ด้วยตัวเราเอง
แชมป์เล่าอีกว่า พอมาทำงานได้ทำเกี่ยวกับนโยบายบ้าง เพราะหน่วยงานรัฐมักจะมีการออกนโยบายต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งนโยบายที่ออกมาก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเข้าถึง เราจึงพยายามนำวิธีการจากการเรียน STEM ที่จะทำอย่างไรให้สามารถสื่อสารเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย มาปรับใช้ เพื่อให้คนในองค์กรเข้าใจนโยบายเหล่านี้ การทำงานทุกวันนี้มีเรื่องของ Technology Resumption เยอะมาก ระบบต่างๆ ขององค์กรรัฐบาลปรับเปลี่ยนมาเป็นออนไลน์หมด อย่างการประเมินพนักงาน การทำ IDP ( Individual Development Plan หรือแผนการพัฒนารายบุคคล) ก็เปลี่ยนเป็นระบบออนไลน์ แน่นอนว่าบุคลากรที่มีอายุก็อาจจะสับสนในเรื่องเหล่านี้
กระตอย LSEd รุ่น 1 เรียนหมวดวิชาการอำนวยการเรียนรู้ (FA) เล่าว่า เนื้องานเราสอนเด็ก ม.ปลาย โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีระบบการเรียนแตกต่างไปจากโรงเรียนทั่วไป คือโรงเรียนนี้ไม่มีการแยกสายการเรียนวิทย์-คณิต ศิลป์-คำนวณ หรือศิลป์-ภาษา เพราะฉะนั้นวิชาที่เปิดสอนก็จะหลากหลายมาก เราได้สอนวิชาพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นวิชาที่ได้เรียนตอนอยู่ LSEd นั่นคือวิชาลงชุมชน เราก็ได้นำความรู้จากวิชานี้มาใช้อย่างเต็มที่ การลงชุมชนในตอนปี 2 เหมือนการกระโดดออกไปเจอประสบการณ์ที่ใหม่มากๆ สำหรับเรา มันทำให้เราพัฒนาแบบก้าวกระโดด และได้สอนวิชาที่ให้เด็กค้นหาตัวเองว่าอยากทำอะไรในอนาคต ซึ่งไม่ใช่วิชาแนะแนว แต่เราสอนให้เด็กกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าต้นทุนของตัวเองคืออะไร อะไรคือสิ่งที่เราอยากทำจริงๆ
การได้เรียนแทรค FA แล้วได้มาทำงานเป็นคุณครูที่โรงเรียนสาธิต คือได้ใช้ในสิ่งที่เรียนทั้งหมดเลย อย่างเราก็ได้เป็นครูที่ปรึกษาให้กับนักเรียนบางคน โดยนักเรียนสามารถเข้ามาปรึกษากับเราได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเรื่องการเรียน ปัญหาหัวใจ หรือความกังวลต่างๆ ที่เกิดขึ้น เด็กเครียดอะไรก็สามารถมาปรึกษาเราได้ อย่างวิชา Coaching ที่ได้เรียน เราก็ได้ใช้เยอะมากในการให้คำปรึกษากับนักเรียน พูดคุยในประเด็นปัญหาที่นักเรียนเจอ ให้เขาได้ค้นหาทางออกด้วยตัวของเขาเอง
พลอยศรี LSEd รุ่น 2 เลือกเรียนหมวดวิชาการอำนวยการเรียนรู้ (FA) เล่าว่า งานเราเป็น FA ที่คอยอำนวยความสะดวก จัดกระบวนการให้กับบุคลากรในองค์กร เช่น ทีม Marketing ในองค์กรเป็นงานที่ต้องสร้างผลประกอบการที่เพิ่มขึ้นให้บริษัท ซึ่งเป็นทีมที่ใช้ฐานหัวเยอะมาก และมีปัญหาเรื่อง Well-Being เยอะ เราจึงมีการจัดกระบวนการให้เขาได้สะท้อนสภาวะของตัวเอง งานของเราคือการจัด Orientation หรือจัดปฐมนิเทศ เราก็ปรับใหม่หมดเลย เปลี่ยนเป็นกิจกรรมที่ทำให้เรารู้จักเขามากขึ้นจริงๆ เขามีความสนใจอะไร หรือมี Value อะไรที่อยากร่วมสร้างกับเรา
ทุกวันนี้เรายังได้ใช้การ Coaching ในการดูแลสุขภาพจิตให้กับบุคลากรในองค์กร และในองค์กรหรือทุกที่มักจะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นไม่ว่าจะข้างในหรือข้างนอก เราจึงต้องอาศัยหลายศาสตร์ในการนำไปใช้ อย่างการใช้ NVC (Non-Violent Communication)หรือการสื่อสารอย่างสันติ และการใช้ Iceberg Model (ทฤษฎีอุปลักษณ์ภูเขาน้ำแข็ง) ตั้งแต่การทำความเข้าใจความรู้สึก เข้าใจความต้องการ ของบุคลากรในองค์กร ดังนั้น งานออกแบบการเรียนรู้ (Learning Design) หรือการ Empathize ใน Design Thinking ยังต้องอาศัยการมองเชิงลึกมากกว่าพฤติกรรมภายนอกหรือสิ่งที่เขาเป็น และอีกอย่างที่เรายังคงได้ใช้ในทุกวันจากการเรียนคือ Empathy หรือการฟังอย่างเข้าอกเข้าใจ
ซิน LSEd รุ่น 2 เรียนหมวดวิชาเทคโนโลยี การออกแบบ และนวัตกรรมการเรียนรู้ (Media) เล่าถึงตอนเรียนว่าเรียนแทรค Media ก็ได้ทำเกี่ยวกับการทำสื่อ แต่เป็นสื่อการสอน พอมาทำงานในสาย Marketing เราจะมองภาพของการใช้สื่อได้ง่ายขึ้น อย่างการสื่อสาร เราจะสื่อสารอย่างไรให้คนเข้าใจ ให้มันง่าย หรือในการทำ Content การดึง Identity หรือตัวตนของแบรนด์ลูกค้า เราจะสามารถทำความเข้าใจกับมันได้ง่าย เพราะเราเคยผ่านการเรียน ผ่านการทำสื่อมา
เราชอบเรื่องเกี่ยวกับสื่อเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และด้วยเนื้อหาการเรียนที่ต้องทำสื่อการสอน เกี่ยวกับเทคโนโลยีเราเลยเลือกเรียนแทรคนี้ แต่ตอนนั้นที่เลือกเรียนแทรค Media เราไม่ได้คิดเลยว่าจะได้เอาความรู้เรื่องการทำสื่อมาใช้ในอนาคต แค่คิดว่าอยากเรียนเกี่ยวกับการทำสื่อเฉยๆ
สิ่งที่ได้จากการเรียนที่ LSEd ตลอดทั้ง 4 ปี
โบว์ลิ่ง LSEd รุ่น 2 เล่าว่า เรื่อง Empathy เป็นสิ่งที่เราคิดว่าเราได้รับตั้งแต่ตอนเรียนและปัจจุบันก็ยังได้ใช้ จากการที่เราสังเกต เด็กคณะฯ เราจะมีความ Empathy มากกว่าคนในสายงานอื่น งานนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ก็เป็นเหมือนการแปลงวิทยาศาสตร์ที่ยากๆ ให้กลุ่มเป้าหมายของเราเข้าใจ ดังนั้นเราเป็นตัวกลางในการแปลง เราต้องเข้าใจก่อนว่า ทักษะ Empathy สำคัญว่า เราเข้าใจไหมว่าคนที่เราต้องสื่อสารสามารถเข้าใจได้ดีในการสื่อสารแบบใด อีกอย่างหนึ่งที่จบมาแล้วคิดว่าคณะให้เราคือการเป็น Active Learner คือเราต้องเรียนรู้ใหม่ตลอดเวลา มันมี Soft Skills หรือ Hard Skills บางอย่างตามสายงาน เพราะฉะนั้น การเป็น Active Learner จะต้องมีความสงสัยใคร่รู้ และมันก็สำคัญมากที่จะช่วยทำให้เราสามารถเรียนรู้ได้เร็วขึ้นกว่าคนทั่วไป สุดท้ายเรื่องการเป็น Communicator จากการสังเกต เด็ก LSEd เป็นนักสื่อสารที่ดี คือเขากล้าที่จะสื่อสาร เราเห็นได้ชัดเลยจากงานในปัจจุบัน ว่าถ้าเรารอให้มันเป๊ะทุกอย่าง ถูกต้องทุกอย่าง เราก็จะไม่ได้ทำหรอก ดังนั้นเราต้องสื่อสารออกไปก่อน ผิดถูกไม่รู้ แต่อย่างน้อยการได้สื่อสารมันจะช่วยทำให้เราสามารถปรับการทำงานได้ไวมากขึ้น อีกแง่ของการ communication ที่เราได้ใช้ในการสื่อสารวิทยาศาสตร์ คือมันต้องใช้การจับประเด็นเยอะ ต้องเลือกด้วยว่าเราพูดกับใครอยู่ พูดให้เขาเข้าใจอย่างไรได้บ้าง
เราว่า 3 อย่างนี้เราได้ใช้เยอะมากตั้งแต่เรียนจบมา รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่อยู่ในเนื้อในตัวตั้งแต่ตอนเรียน กลายเป็นพื้นฐานที่ดีที่ได้ตั้งแต่ตอนเรียน พอมาทำงานมันเลยกลายเป็นว่าเราโดดเด่น และเป็นทักษะที่ Upskill ขึ้นไปได้เรื่อยๆ
แชมป์ LSEd รุ่น 1 กล่าวว่า แต่ละวิชาที่ได้เรียนล้วนมีการสอดแทรกทักษะบางอย่าง เช่น การพูด เมื่อก่อนไม่ได้เป็นคนที่กล้าพูดหน้าไมค์และพูดคล่องแบบนี้ เป็นคนพูดเร็วจนคนอื่นฟังไม่รู้เรื่อง ในตอนเรียนเราได้ฝึก Soft Skills อยู่บ่อยครั้ง และสังคมที่เราเจอมาตอนเรียนมันทำให้เวลาเราออกไปทำงานข้างนอกแล้วเราสามารถปรับตัวได้ง่ายขึ้น เราเข้าใจบริบทสถานที่ต่างๆ มากขึ้น และสามารถนำความรู้ที่มีมาปรับใช้ได้
ในงานราชการเราได้ใช้การ Empathize เยอะ เพราะอายุแตกต่างกันมากเราต้องปรับตัวให้เข้ากับคนในองค์กร รวมถึงต้องสื่อสารให้เข้าใจกัน และทักษะที่จำเป็นอีกอย่างคือการจับใจความ เป็นสิ่งสำคัญมากในการประชุมงานแต่ละครั้ง
กระตอย LSEd รุ่น 1 เล่าว่า เรารู้สึกว่าการที่ได้ปฏิบัติ การทำกิจกรรมอยู่บ่อยๆ ได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ สิ่งที่ได้จากการทำสิ่งเหล่านี้คือทักษะ Soft Skills ที่เยอะมาก และเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในโลกปัจจุบัน เช่น การแก้ปัญหา การทำงานเป็นทีม การเข้าใจความแตกต่าง สิ่งที่ได้จากการลงชุมชนตอนปี 2 และทักษะที่คิดว่าได้จากการเรียนคณะนี้ที่สุดคือ Flexibility and Adaptability (ความสามารถในการปรับตัวและความยืดหยุ่น) ตอนเรียนจบเราคิดว่าเราเป็นคนที่ทำได้ทุกอย่างแต่ไม่เชี่ยวชาญสักอย่าง สุดท้ายเราสามารถนำทักษะที่มีไปประยุกต์ (Adapt) เอาเองได้ อีกสิ่งหนึ่งที่คิดว่าได้เรียนรู้จากคณะนี้คือ Reskill และ Upskill
พลอยศรี LSEd รุ่น 2 เล่าว่า ตอนเรียน 3 ปีแรก เราก็เหมือนได้ลองเรียนหลายแทรค เพื่อดูว่าตัวเองชอบอะไร อยากเรียนอะไร มันเลยทำให้การที่เราจะลงลึกในการเป็น Expert ในด้านใดด้านหนึ่งมันจะต้องใช้ Awareness ในตัวเอง เราจะได้รู้ว่าชอบอะไร ถนัดอะไร รู้ว่าต้องปฏิเสธอะไร ควรจะพัฒนาอะไร มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างอยู่ข้างในตัวเรามากๆ เหมือนการที่ พอเราเข้าใจตัวเอง รู้จักตัวเองแล้ว เราก็จะสามารถเข้าใจคนอื่นได้ด้วย และคิดว่าได้เรื่องการเข้าใจความแตกต่างหลากหลาย เป็น Soft Skills ที่ได้ใช้ในงานปัจจุบัน เพราะเป็นงานที่ต้องใช้ความเข้าใจมนุษย์ องค์กรที่เราเข้าไปทำงานเราก็เจอคนที่แตกต่างหลากหลายมาก และบางทีเราต้องเข้าไปทำกระบวนการให้เขา
รวมถึง ทักษะการเป็น Fast Learner ด้วย เราสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้เร็วจากการที่เรามี Awareness ในตัว กับการที่เราต้องเรียนรู้ให้ไวกับโลกและงานที่ทำ มันจะไม่ใช่การที่อยากจะเลือกที่จะรับอย่างเดียว แต่เราจะสามารถเลือกได้ว่าควรจะรับอะไรเข้ามาบ้างในการเรียนรู้
ซิน LSEd รุ่น 2 เล่าว่า สังคมในคณะฯ การเรียนในคณะฯ อาจารย์ และเพื่อนๆ มันทำให้เราเป็นคนที่เข้าใจคนอื่นได้ดีขึ้น เมื่อก่อนเราไม่ได้เป็นคนที่เข้าใจคนอื่นได้ดีขนาดนี้ สังคมที่อยู่มันทำให้เราเห็นว่าการเข้าใจคนอื่นจะทำให้เราสามารถทำงานและอยู่ร่วมกันได้ง่ายขึ้น มันเลยบ่มเพาะให้เรามีทักษะการเข้าใจคนอื่นและเข้าใจความต้องการของตัวเอง มันเลยทำให้เวลาอยู่ในองค์กร เวลาทำงาน เรามีทักษะการสื่อสารที่ดี ไม่ใช่เพียงการสื่อสารแบบห้วนๆ แต่เป็นการสื่อสารที่ต้องเข้าใจเขาก่อน เพราะเราได้ผ่านการเรียนรู้แบบนี้ในคณะฯ มา อย่างในกรณีที่เคยเจอ คือลูกค้าเป็นคนที่สื่อสารแล้วไม่ค่อยเข้าใจ พอเราไม่เข้าใจเขา เขาก็จะ Feedback กลับมาแบบรุนแรง เราเลยต้องใช้ทักษะที่เราได้จากการเรียนเข้าไปช่วยให้ทีมสามารถทำงานกับลูกค้าคนนี้ต่อไปได้ เราเลยต้องฟังเขาให้เยอะและจับใจความสิ่งที่เขาต้องการออกมาให้ได้ รวมถึงพยายามทำความเข้าใจเขาและถามว่าเขาต้องการสิ่งนี้ใช่ไหม เพื่อเป็นการ Recheck ความต้องการของเขา จนสุดท้ายลูกค้าก็เบาลง พอเราแสดงออกถึงความเข้าใจผ่านการใช้ทักษะด้านการฟัง การจับใจความ มันก็ทำให้เราสามารถทำงานกับลูกค้าต่อได้
กับในทีมที่ทำงานร่วมกันก็มีทะเลาะกันข้ามทีมบ้าง เราเลยต้องเปิดด้วยการฟังก่อนว่าเขาโมโหเราเรื่องอะไร แล้วมาหา Solution ร่วมกัน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่คล้ายกับตอนทำโปรเจคกลุ่มหรือการลงชุมชนที่ต้องทำงานกับคนจำนวนมาก หลายครั้งที่เกิดความไม่เข้าใจกัน เราก็ต้องมานั่งคุยกัน หาทางออกร่วมกัน