Loading...

ออทิสติก เด็กพิเศษ พวกเราทุกคน : ความเหมือนหรือความแตกต่างในพื้นที่การเรียนรู้

        วันที่ 2 เมษายน ของทุกปีเป็นวันที่องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ประกาศให้เป็น “วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก” หรือ “World Autism Awareness Day” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้สังคมเกิดความเข้าใจ และสร้างการยอมรับบุคคลที่มีภาวะออทิสติก ส่งเสริมให้ผู้มีภาวะออทิสติกมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข นอกเหนือจากภาวะออทิสติกยังมีเด็กและเยาวชนที่มีความต้องการเฉพาะอีกจำนวนมาก ซึ่งถูกเรียกว่าเป็น “เด็กพิเศษ”

        ปัจจุบันสังคมไทยได้แสดงออกถึงการเข้าใจ และยอมรับความหลากหลายที่เกิดขึ้น ผ่านการรณรงค์ต่างๆไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องเพศสภาพ เพศวิถี เชื้อชาติ สีผิว หรือการอยู่ร่วมกันของคนต่างรุ่นต่างวัยกัน จนทำให้ประเด็นเหล่านี้ถูกนำมาพูดถึงในวงกว้าง ส่งผลให้ทัศนคติของคนในสังคมที่มีต่อประเด็นเหล่านี้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทุกคนเข้าใจกันมากขึ้น ยอมรับกันมากขึ้น เคารพความแตกต่างหลากหลาย (Diversity) มากขึ้น

        ประเด็นเกี่ยวกับ “เด็กพิเศษ” นับได้ว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มเปราะบางที่มักไม่ได้ถูกพูดถึงมากนัก รวมถึงระบบการศึกษาที่มีอยู่ก็ยังไม่ได้อำนวยให้กลุ่มเปราะบางนี้ได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมกับวิธีการรับองค์ความรู้ 

        LSEd Social Change จึงอยากชวนคุยถึงมุมมองที่สังคมมี สถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงแนวโน้มสถานการณ์เกี่ยวกับ “เด็กพิเศษ” ในอนาคต ผ่านบทสัมภาษณ์อาจารย์ 2 ท่าน ได้แก่ ผศ.ดร.ธิดา ทับพันธุ์ และ ผศ.ดร.ลินดา เยห์ ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกำลังทำงานทั้งด้านการสอนและงานโครงการบริการวิชาการอย่างเข้มข้นในประเด็นดังกล่าว

“เด็กพิเศษ” หรือ “ความต้องการพิเศษ” หมายถึงอะไรบ้าง?

        เด็กพิเศษ แปลและย่อมาจากคำว่า Children with Special Educational Needs (เด็กที่มีความต้องการทางการศึกษาพิเศษ)

        ผศ.ดร.ธิดา ทับพันธุ์ (อ.ขวัญ) เล่าถึงมุมมองที่มีต่อเด็กพิเศษว่า คือเด็กที่มีความต้องการทางการศึกษาที่ไม่เหมือนคนอื่น ซึ่งสำหรับอ.ขวัญแล้ว มองว่าความต้องการนี้ไม่จำเป็นตองเกิดจากความบกพร่อง ไม่จำเป็นต้องมาจากการวินิจฉัยของแพทย์ ขอเพียงเด็กคนนั้นมีความต้องการพิเศษในการเรียนรู้อันเกิดจากความแตกต่างใด ๆ ก็ตาม เด็กคนนั้นก็สามารถที่จะได้รับความสนใจในฐานะเด็กพิเศษได้แล้ว อ.ขวัญจึงเสนออีกคำที่ใช้คือ “เด็กที่มีความแตกต่างหลากหลาย” และความแตกต่างนี้ครอบคลุมไม่ว่าจะเป็นเรื่องสติปัญญา พฤติกรรม สไตล์การเรียนรู้ หรือความสนใจ ดังนั้น เด็กพิเศษคือเด็กที่กำลังเผชิญกับความท้าทายบางอย่างในการเรียนรู้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาเรียนรู้ไม่ได้ มันจึงเป็นหน้าที่ของครูที่จะหาวิธีการส่งผ่านความรู้ให้กับผู้ที่มีความแตกต่างหลากหลายทางการเรียนรู้ได้อย่างไร

        การจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ เป็นการจัดการศึกษาแบบเฉพาะบุคคล (Individualized Education) เป็นการสอนที่มุ่งเน้นความสนใจไปที่ความสามารถ และความต้องการพิเศษของผู้เรียน อ.ขวัญ เล่าว่า ในวงการการศึกษาเด็กพิเศษ (Special Education) มีวลีที่มักจะพูดกัน ว่า “There's nothing special about Special Education, it’s just Best Practice.” การจัดการเรียนสอนสำหรับเด็กที่มีความต้องการทางการศึกษาพิเศษนั้นไม่ได้มีอะไรพิเศษ มันเป็นเพียงการจัดการเรียนการสอนที่ดีที่สุดสำหรับผู้เรียนเท่านั้นเอง เพราะองค์ความรู้ที่นำมาใช้จัดการศึกษาให้กับเด็กพิเศษนั้นผ่านการศึกษาวิจัยว่าเหมาะสมในการจัดการศึกษาให้กับเด็กทั้งกับเด็กพิเศษ และเด็กทั่วไป ถ้าเราสามารถนำ Best Practice มาใช้ในการจัดการศึกษา ไม่ว่าผู้เรียนจะแตกต่างหลากหลายอย่างไร เราก็จะสามารถสร้างการเรียนรู้ที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุดให้กับเขาได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องระบุว่าคือความพิการหรือความบกพร่องก็ได้

        “There's nothing special about Special Education, it’s just Best Practice.” การจัดการเรียนสอนสำหรับเด็กที่มีความต้องการทางการศึกษาพิเศษนั้นไม่ได้มีอะไรพิเศษ มันเป็นเพียงการจัดการเรียนการสอนที่ดีที่สุดสำหรับผู้เรียนเท่านั้นเอง

        ผศ.ดร.ลินดา เยห์ (อ.หลิน) เล่าว่า ถ้าพูดถึง “เด็กพิเศษ” เมื่อก่อนจะนึกถึงเด็กที่เราต้องเข้าไปช่วยเหลือหรือมองว่าสิ่งที่เค้าต้องการคือการช่วยเหลือจากเรา ไม่ว่า “เรา” ในที่นี้จะหมายถึงการที่เราเป็นผู้ใหญ่หรือการที่เราเป็นคนที่ทำงานด้านการศึกษาพิเศษ คือจะมองว่าเด็กต้องการให้เราช่วย เค้ามีความต้องการที่มากกว่าเด็กปกติ เราเลยไปโฟกัสที่ความพิเศษในแง่ข้อจำกัดหรือสิ่งที่เค้าพร่อง

        ตอนนี้มุมมองเปลี่ยนไปเยอะมาก เราเริ่มมองว่า “ความพิเศษ” คือความ Unique ของแต่ละคน ที่เป็นความพิเศษในแบบของเขา เรา Celebrate สิ่งที่เป็นจุดเด่นที่เรารับรู้และสัมผัสได้ โดยไม่ต้องไปมองเรื่องความบกพร่องหรือการช่วยเหลือเป็นอย่างแรก แต่เรารับรู้ความเป็นตัวตนของเขาโดยยกเอากำแพงเรื่องความ “พิเศษ” ไปวางไว้ข้าง ๆ ก่อน แล้วเรื่องการช่วยเหลือค่อยมาทีหลัง

        “ความพิเศษ” คือความ Unique ของแต่ละคน ที่เป็นความพิเศษในแบบของเขา โดยไม่ต้องไปมองเรื่องความบกพร่องหรือการช่วยเหลือเป็นอย่างแรก แต่เรารับรู้ความเป็นตัวตนของเขาโดยยกเอากำแพงเรื่องความ “พิเศษ” ไปวางไว้ข้าง ๆ ก่อน แล้วเรื่องการช่วยเหลือค่อยมาทีหลัง

ข้อสังเกตเกี่ยวกับมุมมองของสังคมที่มีต่อ “เด็กพิเศษ” ในปัจจุบัน

        อ.ขวัญ อธิบายว่าเรื่องของมุมมองที่สังคมทั่วไปมีต่อเด็กพิเศษ หรือกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ เป็นสถานการณ์ที่กำลังเป็นปัญหา เพราะ พอมีใครที่ไม่เหมือนกับคนอื่น มีความแตกต่าง ไม่ว่าจะทางสถานะ วัฒนธรรม ความเชื่อ ภาษา สติปัญญา หรือพฤติกรรมจากคนหมู่มาก ก็จะถูกกีดกันออกจากสังคม และการกีดกันนี้ ก่อให้เกิดการให้คุณค่ากับ “ความปกติ” หรือความเหมือน และลดทอนคุณค่าของกลุ่มคนที่ “ผิดปกติ” อ.ขวัญเลยมองว่ามุมมองของสังคมที่มีต่อเด็กพิเศษในมิตินี้ยังขาดความเข้าใจและการยอมรับ ว่าความแตกต่างนั้นมันคืออะไร มีที่มาที่ไปยังไง อาจจะทำให้สังคมมองความไม่เหมือน ให้กลายเป็นเพียงความแตกต่าง โดยไม่มองว่ามันเป็นความผิดปกติได้ไหม คิดว่าถ้าสังคมเริ่มมีความเข้าใจต่อประเด็นเหล่านี้ มุมมองนั้นก็จะเปลี่ยนไป

        อ.หลิน ได้สะท้อนว่า มุมมองที่เกิดขึ้นในสังคมมีหลายมุมมอง และบางทีมุมมองบางอย่างก็ขัดแย้งกันเอง เช่น มีน้องที่บกพร่องทางร่างกายมาขายของอยู่ริมทางเดิน บางคนอาจจะแสดงออกในเชิงสงสาร คิดว่า “พิการแล้วยังต้องลำบากมาทำมาหากินอีก” แต่บางคนอาจจะมองด้วยความชื่นชมว่า “ดีจังน้องแข็งแกร่งมากเลยที่มีอาชีพของตัวเอง” บางคนอาจจะมองปรากฎการณ์นี้ว่านโยบายรัฐกระจายสวัสดิการไม่ทั่วถึง ทำให้ต้องออกมาลำบากขายของ บางคนอาจจะคิดว่าไม่ว่าจะทำอย่างไร คนแต่ละคนก็มีโจทย์ในชีวิตของตนเอง (เวรกรรม) แต่ละคนก็ต้องดูแลตัวเองกันไป ซึ่งที่พูดมาทั้งหมดนี้จะบอกว่าเป็นเรื่องปกติที่คนจะมีมุมมองที่หลากหลาย แล้วแต่ความเชื่อที่มีต่อประสบการณ์ที่ผ่านมา สิ่งที่สำคัญคือมุมมองเหล่านั้นต้องไม่กดทับ ตีตรา แต่สร้างความตระหนักถึงความแตกต่างของคน

        ในบริบทโรงเรียน เราสังเกตว่าตอนนี้มีนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษเรียนร่วมกับเพื่อน ๆ ในโรงเรียนปกติมากขึ้น มีความพยายามในการรวม (Integrate) เด็กพิเศษมากขึ้น แต่งานเกี่ยวกับเด็กพิเศษก็ยังเป็นงานที่ท้าทายสำหรับครู โดยเฉพาะในห้องเรียนปกติที่มีนักเรียนจำนวนมาก ถ้ามีเด็กพิเศษด้วย ครูก็ต้องดูแลทั้ง 2 กลุ่ม มีงานวิจัยออกมาบอกว่าครูในห้องเรียนเรียนรวมมีความลำบากใจในการสอน เพราะว่าไม่มีวิธีในการแบ่งความสนใจให้กับเด็กทั้ง 2 กลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน ถ้าเราให้ความสนใจกับเด็กปกติ เด็กพิเศษก็ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง แต่ถ้าสนใจเด็กพิเศษก็รู้สึกผิดกับเด็กปกติที่เป็นเด็กส่วนใหญ่ในห้อง

สถานการณ์ปัญหาที่เจอเกี่ยวกับการจัดการศึกษาให้กับเด็กที่มีความต้องการพิเศษทางการศึกษา ในต่างประเทศและในประเทศไทยมีความแตกต่างกันไหม?

        อ.ขวัญ เล่าว่ามีทั้งเหมือนและแตกต่าง อย่างน้อยตอนนี้ประเทศไทยก็มีกฎหมาย ข้อบังคับ การระบุสิทธิของผู้พิการกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษทางการศึกษา มันเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น อันนี้คือความเหมือนกับต่างประเทศ แต่ปัญหาของไทยคือกฎหมายข้อบังคับเหล่านั้นยังชัดเจนไม่พอ ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการนำนโยบายและหลักคิดของต่างชาติมาใช้ เมื่อนำมาปฏิบัติเลยเกิดการตีความไปหลายแง่มุม อย่างประเด็นปัญหาในระบบการศึกษาไทยในการจัดการศึกษาให้กับเด็กพิเศษ คือการขาดความรู้และความเข้าใจในการจัดการศึกษาให้กับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษทางการศึกษา นอกจากนี้ยังขาดความชัดเจนในแนวทางการปฏิบัติสำหรับครูและโรงเรียน

        พ.ร.บ. การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ปี 2551 กล่าวถึงการจัดการศึกษาแบบ   “เรียนร่วม” แต่มิได้ขยายความว่าหมายถึง Mainstream หรือ Inclusion ทั้งสองคำต่างหมายถึงการให้เด็กพิเศษได้เรียนในห้องเรียนทั่วไปร่วมกับนักเรียนคนอื่น ๆ ที่แตกต่างคือแนวทางปฏิบัติ นอกจากนี้ หากบังคับให้ทุกโรงเรียนมีการเรียนร่วม ภาคส่วนที่ทำหน้าที่ผลิตครูจะสามารถผลิตบุคคลากรเพียงพอเพื่อรองรับนโยบายนี้ได้หรือไม่ ในขณะที่ ภาครัฐบาลกับกระทรวงศึกษาธิการได้พยายามออกนโยบายที่ตอบสนอง International Policy ในเรื่องของ Inclusion มองว่าเรามีกฎหมายแล้วแต่คำว่าเรียนร่วมยังไม่ให้ความชัดเจนกับโรงเรียนว่าควรจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กกลุ่มนี้อย่างไร  จากการลงพื้นที่ตามโรงเรียนต่าง ๆ พบว่าแนวทางการจัดการดูเหมือนเป็น Mainstream มากกว่า Inclusion จากที่เล่าไปทั้งหมดมันเลยทำให้การจัดการศึกษาให้กับเด็กพิเศษยังมีความคลุมเครือในเรื่องของบริบทการจัดชั้นเรียน จนทำให้ไม่สามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

        อีกประเด็นปัญหา คือ ค่านิยมมุมมองที่สังคมไทยมีต่อความพิการ เรายังมองเรื่องความพิการว่ามันเป็นเวรกรรม มองด้วยความสงสาร ความอยากช่วยเหลือ อยากบริจาค ซึ่งมุมมองนี้มันไม่ได้ช่วยให้คนพิการสามารถอยู่ในสังคมได้ด้วยตัวของเขาเอง ฉะนั้นการที่โรงเรียนรับเด็กพิการมาเรียนร่วมกับคนอื่น ๆ เพราะความสงสาร เห็นว่าเด็กไม่มีที่จะไป รับเข้ามาแล้วให้เขาเรียนตามมีตามเกิด ให้เด็กต่อสู้ขวนขวายหาความรู้ด้วยตัวของเขาเอง อย่างนั้นก็อย่าให้เขามาเรียนเลย ให้ไปเข้าโรงเรียนเฉพาะทางที่มีบุคลากรที่พร้อมจะสอนเขาดีกว่า

แต่ปัญหาของไทยคือกฎหมายข้อบังคับเหล่านั้นยังชัดเจนไม่พอ ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการนำนโยบายและหลักคิดของต่างชาติมาใช้ เมื่อนำมาปฏิบัติเลยเกิดการตีความไปหลายแง่มุม จึงทำให้การจัดการศึกษาให้กับเด็กพิเศษยังมีความคลุมเครือในเรื่องของบริบทการจัดชั้นเรียน

        อ.หลิน เล่าว่ามันเริ่มต้นด้วยความดีงามที่เราอยากจะดูแลเขา เข้าใจเขา แต่วิธีการปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริงในสังคมมันซับซ้อน ด้วยความที่สังคมมีส่วนประกอบอื่น ๆ อีกเยอะแยะ อย่างของประเทศไทยเองก็มีบริบทเฉพาะที่แตกต่าง ทั้งระบบการศึกษา โครงสร้างทางสังคม หรือการผลิตครู แต่สิ่งที่เกิดขึ้นและคิดว่าเป็นบริบทเฉพาะของคนไทย คิดว่าเรายังไม่รู้ว่าควรจะมีมุมมองต่อคนกลุ่มนี้ในจุดไหน เพราะใจหนึ่งเราก็อยากจะช่วยเด็กพิเศษด้วยมุมมองที่ว่าเราเห็นเขาเข้มแข็ง ในบางมุมเราก็มองว่าเขาน่าสงสาร หรือในบางมุมที่ชื่นชมในการสู้ชีวิตของเขา อย่างนโยบายที่ประเทศไทยไปลงนามเรื่องการศึกษาสําหรับผู้ที่มีความต้องการจําเป็นพิเศษที่ ซาลามันกา ประเทศสเปน (The Salamanca statement and framework for action on special needs education. Salamanca, Spain, 1994) หรือ แถลงการณ์ Salamanca คือ ให้คำสัญญากับนานาชาติว่าเราจะจัดการเรียนการสอนสำหรับทุกคน (Education for all) ไม่ว่าจะเป็นเพศ เชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ ความพิเศษ ความสามารถ พอนำมาใช้มันก็เหมือนยังไม่ลงล็อค ไม่เข้าที่เข้าทาง อาจเพราะเรามีบุคลากรไม่เพียงพอต่อจำนวนเด็กพิเศษที่ต้องรองรับ ในหลายครั้ง หลาย ๆ โรงเรียนมักปฏิเสธรับเด็กพิเศษ เพราะไม่มีบุคลากรที่จะมาสอน ซึ่งตามกฎหมายไทยแล้วโรงเรียนปฏิเสธไม่ได้ แต่ในโลกของความเป็นจริงก็ไม่ได้มีบุคลากรที่จะสามารถดูแลเขาได้ มันคือความไม่ชัดเจนของบริบทไทย

การขับเคลื่อนประเด็นเกี่ยวกับ “เด็กพิเศษ” ของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์

        ในส่วนของการขับเคลื่อนเกี่ยวกับประเด็น “เด็กพิเศษ” อ.ขวัญ และ อ.หลิน เล่าว่า ขณะนี้คณะกำลังเริ่มทำโครงการวิจัยสร้างสังคม DEE (Diversity, Equity and Empathy) ที่ศึกษาอคติของสังคมที่มีต่อกลุ่มเปราะบางและสร้างความตระหนักรู้ของสังคมต่อบุคคลที่มีความแตกต่างหลากหลาย  ซึ่งหนึ่งในกลุ่มเปราะบางที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการวิจัยนี้ คือ ผู้มีความต้องการพิเศษหรือผู้พิการ นอกจากนี้ อาจารย์ทั้งสองท่ายยังสอนวิชา วรศ. 333 การศึกษาพิเศษและการเรียนรวม (LSE333 Special Education and Inclusion)  ในวิชานี้ มีความคาดหวังที่จะทำให้นักศึกษาเห็นการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการเรียนแยกในโรงเรียนแบบเฉพาะทาง และการเรียนร่วม (หรือ เรียนรวม) ในโรงเรียนทั่วไป การศึกษาพิเศษไม่ใช่ one size, fit all เราจำเป็นต้องมีทางเลือก Inclusion เอง ก็ไม่ได้หมายถึงการศึกษาพิเศษเท่านั้น แต่หมายถึงการอยู่ร่วมกันของกลุ่มคนที่มีความแตกต่างหลากหลาย สังคมต้องให้พื้นที่แต่ละคนได้เติบโตตามทางของเขา และเคารพในความแตกต่างนั้น ๆ

        “Main Idea ของวิชาก็มาจากประสบการณ์” อ.ขวัญ เล่าว่าเราไม่ได้ต้องการให้นักศึกษาเรียนแล้วไปเป็นครูการศึกษาเด็กพิเศษ แต่สิ่งที่เราต้องการ คือ สร้าง Awareness กับตนเองและผู้อื่น ว่าตนเองมีอคติอะไรต่อกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ บ้าง และศึกษาว่าความเปราะบาง ความพิเศษของเขา ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเขาอย่างไร เขากลายเป็นส่วนหนึ่งของความต้องการทางการศึกษาพิเศษอย่างไร และกลายเป็นส่วนหนึ่งของ Inclusion อย่างไร นักศึกษาหลาย ๆ คนตอนเริ่มเรียน ไม่ได้มี Awareness เกี่ยวกับเด็กพิเศษมากนัก ไม่ได้มีประสบการณ์กับคนพิการมากนัก วิชานี้เลยกลายเป็นการเปิดหูเปิดตาให้เห็นว่าโลกนี้มันมีความแตกต่างที่หลากหลายรูปแบบ หลายมิติ แล้วเขาจะเริ่มตระหนักรู้ เมื่อตระหนักรู้แล้วก็จะเริ่มพยายามทำความเข้าใจกับคนกลุ่มนี้ เราคิดว่าพอมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับคนกลุ่มนี้ ก็จะเริ่มเกิดการยอมรับและเคารพความแตกต่างระหว่างเรากับเขาได้

คิดว่าแนวโน้มสถานการณ์เกี่ยวกับเด็กพิเศษในอนาคตจะเป็นอย่างไร?

        อ.ขวัญ หวังว่ามันจะดีขึ้น อาจารย์เห็นว่า Awareness มันมีมากขึ้น อย่างภาวะออทิซึม เมื่อเทียบกับ 10-20 ปีที่แล้ว ในตอนนี้ สังคมอย่างน้อยเคยได้ยินชื่อนี้ รู้ว่าสิ่งนี้คืออะไร แปลว่าความตระหนักรู้มันเริ่มมีมากขึ้น คิดว่าการตอบรับ การตอบสนอง การพยายามทำความเข้าใจคนกลุ่มนี้ก็มีมากขึ้นเช่นกัน เมื่อก่อนครอบครัวมักจะปิดบัง ซ่อนเล้นคนพิการไว้ในบ้าน ไม่ให้คนอื่นเห็น เดี๋ยวนี้ มีครอบครัวและคนพิการที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิ์ของผู้พิการ พวกเขาเริ่มมีพื้นที่ในสื่อ ในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น สังคมเริ่มสนใจพวกเขามากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่อ.ขวัญยังค่อนข้างเป็นห่วงคือ ความสนใจของสังคมที่เกิดขึ้นนั้น เขาสนใจอะไร สนใจที่ความพิการ หรือตัวตนของผู้พิการ บางครั้งที่คนสนใจก็เพราะความสงสาร  หรือเห็นใจ สังคมมักจะเห็นความพิการ และน้อยครั้งที่คนในสังคมมองเห็นเข้าไปถึงตัวตนของผู้พิการ ปัญหาการตีตราและภาพเหมารวมยังคงมีอยู่ในสังคม

        อ.หลิน มองว่าเทรนด์ของสังคมรุ่นใหม่ คือการยอมรับคนที่แตกต่างหลากหลายมากขึ้น จะเห็นว่าปัจจุบันมีการรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องเพศหลากหลาย  หรือเรื่องทัศนคติกับคนที่ต่างรุ่น ต่าง Generation  คิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่จะมีการนำเรื่องของความพิการหรือความพิเศษมาพูดถึงมากขึ้นในวงกว้าง และคิดว่าอาจจะมีการใช้แพลตฟอร์มที่เป็น Social Media ที่ช่วยทำให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วความพิการหรือความบกพร่องต่าง ๆ ไม่ได้ทำให้เขาเป็นคนที่ด้อยกว่าคนอื่น ต้องอยู่แต่ในบ้าน เพราะคนที่มีของก็แสดงความสามารถของเขาได้อย่างเต็มที่

อยากฝากอะไรถึงคนในสังคมในประเด็นเรื่อง “เด็กพิเศษ” หรือความหลากหลายที่เกิดขึ้นอย่างมากมายในปัจจุบันบ้างไหม?

        การที่จะทำความเข้าใจในประเด็นเรื่องเด็กพิเศษ ต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งแท้จริง ไม่ใช่เข้าใจอย่างบิด ๆ เบี้ยว ๆ เพราะในบางครั้งที่สังคมบอกว่า “เราจะเคารพความแตกต่าง” แต่แค่ฟังมันผ่าน ๆ ไป มันก็เป็นเพียงแค่การยอมรับฟัง หากถ้าเราจะเคารพความแตกต่างจริง ๆ เราต้องมีการปรับจูนทั้งสองฝ่ายให้สามารถเข้าใจซึ่งกันและกันได้ ไม่ใช่แค่รับรู้ว่ามันมีอยู่ รวมถึงเวลาพูดถึงการเรียนรวม (Inclusion) เรากำลังพูดถึงการปรับตัวของสิ่งแวดล้อม ของสังคม ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้าหากลุ่มเปราะบาง ไม่ใช่ให้กลุ่มเปราะบางปรับตัวเข้าหาสังคมเพียงฝ่ายเดียว คนที่ต้องเปลี่ยนทัศนคติคือสังคมไม่ใช่กลุ่มเปราะบาง อย่างในปัจจุบัน การที่เด็กพิเศษได้เรียนในระบบการศึกษา เด็กเขาต้องเป็นคนขวนขวายเอง ครูไม่ได้ปรับทัศนคติที่มีต่อเขา หรือปรับการจัดการเรียนการสอนที่อำนวยให้เขา ถ้าเขาอยากเรียนอยู่ในห้องนี้ เขาต้องอำนวยการเรียนรู้ด้วยตัวของเขาเอง

การเรียนรวม (Inclusion) เรากำลังพูดถึงการปรับตัวของสิ่งแวดล้อม ของสังคม ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้าหากลุ่มเปราะบาง ไม่ใช่ให้กลุ่มเปราะบางปรับตัวเข้าหาสังคมเพียงฝ่ายเดียว

        เราอยากให้มอง “การอยู่ร่วมกัน” ว่าจะต้องมาพร้อมกับเรื่อง “การยอมรับความหลากหลาย” คือ การอยู่ร่วมกันจะต้องเคารพความแตกต่างหลากหลายด้วย แบบนี้จะต่างกับการโฆษณาชวนเชื่อจากรัฐ ที่บอกว่า “สังคมจะ Inclusive ได้ทุกคนต้องใส่เสื้อสีเดียวกัน เชื่อสิ่งเดียวกัน ทำอะไรเหมือนกัน” แต่ Inclusive ต้องพาไปถึงประเด็นที่ว่าจะทำอย่างไรให้ความแตกต่างหรือเอกลักษณ์ของแต่ละคนเป็นสิ่งที่มีคุณค่ากับสังคม ถ้าเรายังคงสั่งสอนว่า “ห้องเรียนของเราจะ Inclusive ได้ถ้านักเรียนทำตัวเหมือน ๆ กัน” ถ้าคิดแบบนี้ก็จะเป็นปัญหาและไม่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันที่แท้จริง

        “การอยู่ร่วมกัน” ต้องมาพร้อมกับเรื่อง “การยอมรับความหลากหลาย” Inclusive ต้องพาไปถึงประเด็นที่ว่าจะทำอย่างไรให้ความแตกต่างหรือเอกลักษณ์ของแต่ละคนเป็นสิ่งที่มีคุณค่ากับสังคม

        อย่างที่อ.ขวัญ และ อ.หลิน ได้กล่าวถึงการเข้าใจและยอมรับในประเด็นเด็กพิเศษ ว่าจะต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง รวมถึงการอยู่ร่วมกันก็ต้องอาศัยการยอมรับความหลากหลาย ซึ่งปัจจุบันบนโลกใบนี้อาจยังมีหลายสิ่งที่ถูกมองว่าแตกต่าง นับว่าไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เราอยากชวนทุกคนเริ่มจากการพยายามทำความเข้าใจถึงความเป็นไปต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อาจเริ่มจากการพยายามสร้างการตระหนักรู้ต่อตนเอง พยายามทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในประเด็นใกล้ตัวอย่างเด็กพิเศษ เพราะเมื่อมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับคนกลุ่มนี้ ก็อาจจะเริ่มเกิดการยอมรับและเคารพความแตกต่างในประเด็นอื่น ๆ ได้อีก

เรียบเรียงโดย นวนันต์ เกิดนาค