Loading...

ช่องว่างระหว่างเรา: รู้จักกับ “วยาคติ” อคติระหว่างช่วงวัยของคนสองรุ่น

        วันผู้สูงอายุแห่งชาติ ตรงกับวันสงกรานต์หรือวันขึ้นปีใหม่ไทยของทุกปี เป็นช่วงวันที่คนจำนวนมากอาจเดินทางกลับบ้านเพื่อเยี่ยมเยียนญาติผู้ใหญ่หรือผู้อาวุโสที่ตนเคารพนับถือ แสดงความรักความเคารพผ่านประเพณีรดน้ำดำหัว ด้วยความเชื่อที่ว่า เป็นการขอขมาลาโทษ พร้อมทั้งรับคำอวยพรเพื่อสิริมงคลในการดำเนินชีวิต แต่ด้วยกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบัน เยาวชนและคนรุ่นใหม่จำนวนมากอาจมีทางเลือกอื่นที่ไม่เข้าร่วมกิจกรรมกับครอบครัวและผู้สูงวัย  ในทางกลับกัน ช่วงสงกรานต์อาจเป็นเวลาของการปลีกตัวจากครอบครัว และเป็นพื้นที่ของการสังสรรค์กับเพื่อนฝูงเสียมากกว่า บทบาทของผู้สูงอายุจึงอาจไม่ได้เป็นเพียง “ผู้ให้พร” เหมือนเช่นในอดีต อย่างไรก็ตาม กระแสการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็อาจส่งผลกระทบต่อหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความสูงอายุ และยังรอการขับเคลื่อนในสังคม

        ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย (Aged Society) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากไทยมีสัดส่วนประชากรกลุ่มผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 12 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 6 ของประชากรทั้งหมด เมื่อสังคมประกอบไปด้วยคนหลากหลายอายุ มีช่วงวัยที่แตกต่างกัน ปัญหาที่อาจตามมา คือ ปัญหาช่องว่างระหว่างวัย ไม่ว่าจะเรื่องทัศนคติ หลักคิด ค่านิยม หรือความเชื่อที่ต่างกัน ซึ่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างคนสองยุค หลายครั้งนำมาซึ่งการทะเลาะ การไม่เข้าใจกัน จนส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ทั้งในระดับองค์กร โรงเรียน และครอบครัว

        เนื่องในโอกาสวันผู้สูงอายุ LSEd Social Change จึงอยากชวนมาทำความรู้จักกับ “วยาคติ” หรือ อคติที่เกิดขึ้นเจาะจงต่อกลุ่มคนในช่วงวัย ผ่านบทสัมภาษณ์ รศ.ดร.ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล อาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีผลงานทางวิชาการในประเด็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างวัย และกำลังทำงานโครงการเพื่อส่งเสริมเรื่องความแตกต่างระหว่างวัยร่วมกับทีมอาจารย์ในคณะฯ

        “สังคมสูงวัย ที่เกิดจากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป มีสัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เรื่องของวัยใดวัยหนึ่งในสังคม มันครอบคลุมและกระทบคนทุกวัย”

        รศ.ดร.ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล (อ.แต้ว) กล่าวว่า เวลาสังคมให้คำอธิบายเรื่อง ช่องว่างระหว่างวัย (Generation Gap) ส่วนใหญ่จะอธิบายโดยการจัดกลุ่มคนเป็นแต่ละ Gen และอธิบายเกี่ยวกับการเติบโตมาในบริบทสังคม ซึ่งเหตุการณ์สำคัญในสังคมที่แตกต่างกัน อาจส่งผลให้คนมีแนวโน้วที่จะมีคุณลักษณะบางอย่างต่างกัน เช่น คนที่เกิดและเติบโตในยุคสงครามหรือสภาพบ้านเมืองเพิ่งพ้นจากสงคราม จนเกิดความเสียหาย พังทลาย รวมถึงเศรษฐกิจที่ตกต่ำลง ผู้คนอดอยาก ต้องดิ้นรนเอาตัวรอด กับคนที่เกิดและเติบโตในยุคที่เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง อาจมีค่านิยมหรือความเชื่อเรื่องการใช้จ่ายและการดำเนินชีวิตต่างกัน

        อาจกล่าวได้ว่า “ช่องว่างระหว่างวัย” คือประเด็นร่วมในระดับสากลที่นับว่าเป็นสถานการณ์ปัญหาเกี่ยวกับคนต่างช่วงวัย แต่อีกหนึ่งประเด็นย่อยที่อาจเป็นตัวเพิ่มความรุนแรงของปัญหานี้ คือ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี หรือ Digital Divide ของคนต่างวัย โดยผู้สูงอายุอาจเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้คุ้นเคยกับเทคโนโลยีเท่าคนรุ่นใหม่ ที่เติบโตในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกช่วงจังหวะของชีวิต จนส่งผลให้เกิดช่องว่างระหว่าง “ผู้มีข่าวสาร” และ “ผู้ไร้ข่าวสาร” (Information haves and have nots) และนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างวัยด้วยเช่นกัน

        อย่างเหตุการณ์ที่ครูใหญ่ (ผู้สูงอายุ) ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในรัฐฟลอริดา ถูก Scammer หรือผู้ที่หลอกลวงฉ้อฉลบนโลกออนไลน์ ปลอมเป็นหุ้นส่วนของ Elon Musk หลอกให้เขียนเช็คมูลค่า 100,000 ดอลลาร์จากกองทุนของโรงเรียน ก็ถูกสังคมรุมโจมตีว่าไม่ฉลาด จนต้องลาออก ทั้งที่ การที่ผู้สูงอายุ มีแนวโน้มโดน Scammer หลอกมากกว่าคนรุ่นใหม่ อาจไม่ได้มาจากสาเหตุว่ามีทักษะการคิด การให้เหตุผล ความฉลาดที่น้อยกว่าคนรุ่นใหม่ แต่เนื่องด้วยคนรุ่นใหม่คุ้นชินกับอินเทอร์เน็ต และใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเป็นประจำ จึงเห็นข่าวสารเกี่ยวกับ Scammer ที่มากกว่าบ่อยกว่า รู้วิธีการรับมือกับ Scammer มากกว่า หรือในไทยเอง กรณีรูปภาพ สวัสดีวันจันทร์ วันอังคาร ฯลฯในกลุ่มไลน์ ที่มาจากความปรารถนาดี ความห่วงใยผ่านช่องทางสื่อสารด้วยเทคโนโลยีของคนยุคหนึ่ง แต่กลับถูกล้อเลียนจากคนอีกยุคหนึ่ง

ประเด็นช่องว่างระหว่างวัยที่ยังคงฝังรากลึก ภายใต้คำสอน หรือ สุภาษิตไทย

        “สำหรับไทยเอง เรื่องช่องว่างระหว่างวัย อาจมีความแตกต่างจากประเทศตะวันตก เพราะมันมีค่านิยมร่วมของสังคมตะวันออก” อ.แต้ว เล่าว่า เรื่องการเคารพคนที่อายุมากกว่า ที่สะท้อนผ่านตัวอย่างสุภาษิตไทยหรือชุดคำบางกลุ่ม คอยหล่อเลี้ยงให้ประเด็นช่องว่างระหว่างวัยยังคงอยู่ในสังคมไทยอย่างแยบยล เช่น เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน เป็นต้น ซึ่งสุภาษิต กลุ่มคำเหล่านี้มีการตัดสินคุณค่าของคนที่มีอายุมากกว่า หรือสะท้อนค่านิยมที่ให้คุณค่ากับการเคารพผู้อาวุโส ในมุมหนึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้สังคมเราอยู่กันแบบดูแลกันไม่ทอดทิ้งกัน เด็กเชื่อฟังผู้ใหญ่ในบ้าน ในชุมชน รวมถึงวัฒนธรรมที่เมื่อพ่อแม่แก่ตัวไป ลูกต้องคอยดูแล  ซึ่งมันก็เข้ามาทดแทนระบบสวัสดิการของรัฐในการดูแลประชาชนในประเทศที่ระบบสวัสดิการแย่ได้

        แต่เมื่อค่านิยมเหล่านี้ถูกใช้มากไป จนบางทีกลายเป็นข้ออ้างในการกระทำหรือไม่กระทำ และไม่สามารถอธิบายสาเหตุของการกระทำต่าง ๆ ได้ เช่น ผู้อาวุโสกล่าวว่า “เธอต้องเชื่อฉัน เพราะฉันอายุรุ่นราวคราวเดียวกับแม่เธอแล้วนะ” คนรุ่นใหม่จะเริ่มตั้งคำถามว่า ทำไมต้องเคารพคนที่อายุมากกว่า ทำไมต้องเชื่อฟังคนที่อายุมากกว่า บางครั้งเกิดเป็นความไม่พอใจอยู่ภายใน อึดอัด แต่ก็ทำ ๆ ตามไป และระเบิดออกมาเพราะทนไม่ไหว แล้วเกิดเป็นปัญหากันหรือหลีกเลี่ยงการพบกันไปเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ตอนนี้ประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัย แนวโน้มสัดส่วนประชากรสูงอายุจะมีจำนวนมากขึ้น จึงเป็นคำถามที่ว่า “เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรต่อไป” เพราะทุกคน ทุกวัย ล้วนเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของสังคม อ.แต้ว คิดว่า ประเด็นเหล่านี้น่าจะเป็นโจทย์ที่ต้องคุยกันต่อไปว่าเราจะสร้างพื้นที่แบบไหน เพื่อลดช่องว่างระหว่างวัยลง

อะไรคือ “วยาคติ” (Ageism) และ ทำไมคนในสังคมจำเป็นต้องเข้าใจเรื่อง “วยาคติ”?

…..ไดโนเสาร์ เต่าล้านปี มนุษย์ป้า มนุษย์ลุง ขี้บ่นเหมือนคนแก่ ปากไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม เรื่องของผู้ใหญ่ เด็กไม่เกี่ยว…..

        กลุ่มคำข้างต้นเป็นคำที่พบเห็นทั่วไปในสังคมจนดูเหมือนเป็นเรื่องปกติเมื่อต้องการเปรียบเทียบบุคคลที่มีลักษณะบางประการผูกติดกับภาพลบของคนกลุ่มวัยหนึ่ง เช่น มีความคิดไม่ทันสมัย ยึดติดกับความเชื่อเดิม ๆ เปรียบดังไดโนเสาร์หรือเต่าล้านปีที่มีอายุมาก หรือการตำหนิบุคคลที่มีลักษณะขาดวุฒิภาวะ เปรียบดังเด็กที่ยังต้องดื่มนมเป็นอาหารหลัก ดังคำกล่าว “ปากไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม”

        อ.แต้ว กล่าวว่า หลายๆ คน อาจเคยเป็นคนที่ตกอยู่ในความปกติเหล่านี้ มันอาจไม่ใช่เรื่องแปลกที่วลีเหล่านี้ผุดขึ้นมาในหัวของเราอย่างรวดเร็ว เนื่องด้วยคนที่เติบโตในยุคที่ต่างกัน ถูกหล่อหลอมด้วยบริบททางสังคมในช่วงเวลาที่ต่างกัน อาจมีแนวโน้มทำให้ความคิดเห็น บุคลิก ลักษณะ แตกต่างกัน จึงอาจมีความเห็นแตกต่างกันในบางมุมมอง และอาจมีการให้คุณค่าต่างกัน เพราะมีช่องว่างบางประการคั่นอยู่ หรือ Generation Gap ที่กล่าวไปแล้วช่วงต้น

        ทว่า หากคนในสังคมไม่ตระหนักถึงความปกติทางทัศนคติที่มีต่อคนบางกลุ่มวัยข้างต้น อาจนำไปสู่การปฏิบัติที่กีดกันคนบางกลุ่มวัย หรือเรียกว่าวยาคติ (Ageism) “จุดนี้ต่างหากคือปัญหาที่แท้จริง คำว่า “Ageism” เป็นศัพท์ที่ใช้ทางด้าน พฤฒาวิทยา (Gerontology) มานานแล้ว และได้แพร่หลายเพิ่มขึ้นในช่วงที่ทั่วโลกเข้าสู่สังคมสูงวัย ที่ผู้สูงอายุมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น สำหรับในไทยใช้คำว่า “วยาคติ” ที่มาจากคำว่า อคติ + วัย = อคติที่มาจากเหตุแห่งวัย” อ.แต้วกล่าว

        อ.แต้ว อธิบายว่า วยาคติ หมายถึง อคติและการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลด้วยเหตุแห่งอายุหรือวัย อคติเช่นนี้อาจเกิดขึ้นจากความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม หรือบรรทัดฐานในทางลบที่มีต่อคนบางกลุ่มอายุ ซึ่งนำไปสู่ความลำเอียงและการเลือกปฏิบัติ เช่น การมองว่าผู้สูงอายุเป็นภาระของสังคมและครอบครัวต้องเป็นผู้ดูแล ผู้สูงอายุเป็นผู้ที่ต้องพึ่งพิงคนวัยทำงาน หรือผู้สูงอายุมีภาพลักษณ์ของความทรุดโทรมจากข้อจำกัดเชิงกายภาพ จนไม่ถูกยอมรับในฐานะผู้ผลิตอีกต่อไป การกำหนดอายุที่จะให้ออกจากงาน ตลอดจนการไม่ยอมรับพฤติกรรมบางอย่างของผู้สูงอายุ เพราะมีทัศนคติว่าผู้สูงอายุไม่ควรทำเช่นนั้น เช่น ผู้สูงอายุควรเกษียณอายุจากการทำงาน ไม่ควรทำงานต่อ ผู้สูงอายุไม่ควรไปไหนมาไหนคนเดียว ผู้สูงอายุไม่ควรออกกำลังกายหนัก ผู้สูงอายุควรรับประทานเฉพาะอาหารเพื่อสุขภาพ ผู้สูงอายุไม่ควรเที่ยวสถานบันเทิง เป็นต้น รวมถึง การไม่รับฟังความเห็นของวัยรุ่นเพราะเห็นว่าเด็กเกินไป การปฏิเสธสิทธิ์บางประการที่มักถูกจำกัดไว้ให้เฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้น เช่น สิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง สิทธิ์ในการเลือกตั้ง สิทธิ์ในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง สิทธิ์ในการยินยอมหรือปฏิเสธการรักษาพยาบาล สิทธิ์ในการลงนามในสัญญา เป็นต้น

“กระบวนการเหล่านี้เป็นเสมือนการผลักประชากรบางกลุ่มวัยให้ไปอยู่ชายขอบของกิจกรรมหลักในวิถีชีวิตของผู้คนในสังคม วยาคติดังกล่าว ยังนำไปสู่การมีมโนทัศน์ที่คลาดเคลื่อนต่อมุมมองเรื่องสวัสดิการ เช่น การให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ กลับถูกมองว่าเป็นภาระของสังคม ที่ต้องเบียดเบียนงบประมาณจากภาษีประชาชน”

ทางออกหรือแนวทางที่คนในสังคมควรช่วยกันในประเด็นเรื่อง “วยาคติ”

        อ.แต้ว กล่าวว่า จริง ๆ แล้ว วยาคติ อยู่ภายใต้ร่มของ “อคติ” ดังนั้น การทำงานเพื่อลดปัญหา จึงเป็นแนวทางที่ใกล้เคียงกับการทำงานเพื่อลดอคติ โดยทำได้ในหลายระดับเช่น

ระดับบุคคล

“เคารพผู้อื่นในฐานะเพื่อนมนุษย์”

        การยอมรับความแตกต่างหลากหลาย การเคารพผู้อื่นในฐานะเพื่อนมนุษย์ เป็นพื้นฐานสำคัญกับการทำงานเรื่อง “อคติ” แทบจะทุกมิติ เพราะสาเหตุการเกิดอคติมาจากการเหมาะรวม (Stereotype) ที่เราจัดกลุ่ม แบ่งพวกว่ากลุ่มไหนพวกเรา พวกเขา นำมาสู่อคติที่มีต่อความเป็นเขาและเรา ดังนั้น หากเรามองคนทุกวัยว่าพวกเขาคือมนุษย์แบบเราด้วยความเป็นมนุษย์ด้วยกัน จะลดการแบ่งเขาแบ่งเราลง

"Put yourself in someone's shoes."

        ทั้งผู้สูงอายุ คนวัยแรงงาน เด็กและเยาวชน ล้วนมีเงื่อนไข และข้อจำกัดในชีวิตที่แตกต่างกันไป การลองจินตนาการว่าเราเป็นเขากำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าทายบางอย่าง  หรือ การเข้าอกเข้าใจ (Empathy) เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้เราเข้าใจถึงสาเหตุของการกระทำและความคิดของคนต่างวัยจากเรามากขึ้น

“เราคงไม่สามารถบอกใครว่าห้ามมีอคติ แล้ววันรุ่งขึ้นอคติเขาจะหายไปได้ เพราะอคติเป็นกลไกที่ถูกหล่อหลอมมายาวนาน และเวลาเกิดมันไวและเป็นอัตโนมัติ แต่เราสามารถรู้ทันอคติที่เกิดขึ้นในตัวเราได้ โดยการค่อย ๆ ฝึกปฏิบัติ หมั่นสังเกตตนเองว่าเรากำลังมีอคติเกิดขึ้นหรือเปล่า และลองสังเกตการเกิดขึ้นของอคติของเราเอง จะเป็นการช่วยลดวงจรการนำอคติที่ตนเองมีไปเลือกปฏิบัติต่อบุคคลอื่น (Discrimination)”

ระดับสังคม

“การเรียนรู้ร่วมกันระหว่างวัย”

        มีแนวทางหนึ่งในการลดวยาคติ ที่อิงตามแนวคิดการลดอคติแบบการให้บุคคลมามีปฏิสัมพันธ์กันอย่างมีคุณภาพ (Quality Contact) ซึ่งจะช่วยลดกำแพงที่เกิดขึ้นจากการแบ่งแยกกลุ่ม ได้แก่ การเรียนรู้ร่วมกันระหว่างวัย (Intergenerational Learning) ที่เป็นทั้งหลักคิดและวิธีการที่ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ เป็นหลักสูตรที่ให้ผู้สูงอายุและเด็กมาเรียนรู้ร่วมกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน มีการกำหนด เป้าหมายภารกิจร่วมกัน และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการรับฟังกันให้เกิดขึ้น

        นอกจากนี้ สังคมเองต้องทำงานควบคู่กันไปด้วยในการร่วมเปลี่ยนวาทกรรมของสังคม ที่เป็นผลจากการมีอคติต่อคนบางช่วงวัย เช่น การมองประชากรสูงอายุว่าเป็นวัยพึ่งพิงของระบบเศรษฐกิจ มองว่าเป็นภาระเพราะไม่สามารถสร้างผลผลิตที่เอาไปนับเป็น GDP ได้ สังคมเองก็ต้องเริ่มตั้งคำถามต่อการประเมินคุณค่า และ มูลค่า ของคนด้วย ว่าเพียงแค่ตัวชี้วัดเดียวสามารถประเมินคุณค่ามนุษย์ได้หรือไม่ 

การจัดการเรียนการสอน วิจัย หรือโครงการ ภายใต้คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. ที่ขับเคลื่อนประเด็นเกี่ยวกับช่วงวัย

ผลงานทางวิชาการที่ อ.แต้ว ได้จัดทำสำเร็จลุล่วงแล้ว มีหลากหลาย เช่น

        1) งานวิจัยสถานการณ์และการประมาณการมูลค่าเชิงเศรษฐกิจของการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้สูงอายุไทย ที่ศึกษาเกี่ยวกับการนำกิจกรรมนอกตลาดที่ไม่เคยถูกนับว่ามีมูลค่า แต่มีคุณค่า มาประเมินเป็นมูลค่าใน GDP เช่น การช่วยเลี้ยงดูบุตรหลายให้วัยแรงงาน การช่วยดูแลงานบ้านให้วัยแรงงาน และการทำงานอาสาสมัคร โดยมีข้อค้นพบว่า ผู้สูงอายุที่มักถูกสังคมมองว่าไม่ได้มีผลิตภาพ (Productivity) ในระบบเศรษฐกิจ เพราะไม่ได้ทำงานแล้ว แต่จริง ๆ พวกเขาทำกิจกรรมที่ถ้าวัยแรงงานต้องจ้างคนอื่นมาทำแทน จะคิดเป็นมูลค่ากว่า 0.97 % ของ GDP

อ่านเพิ่มเติม: https://kukrdb.lib.ku.ac.th/journal/JSSH/search_detail/dowload_digital_file/334192/135142

        2) บทความทบทวนแนวคิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างวัย

                2.1 หนึ่งทศวรรษทฤษฎีที่ใช้ในหลักสูตรการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้สูงอายุและเด็ก

                อ่านเพิ่มเติม: https://so02.tci-thaijo.org/index.php/EDUCU/article/view/179720

                2.2 การเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้สูงอายุและเด็ก: รูปแบบและผลลัพธ์ของหลักสูตร

                อ่านเพิ่มเติม: https://so05.tci-thaijo.org/index.php/edjour_stou/article/download/131354/100830/356966

                2.3 Ethics Development through Intergenerational Learning : A Case Study of Lanna Wisdom School, Thailand

                อ่านเพิ่มเติม: https://so07.tci-thaijo.org/index.php/JLSEd/issue/view/jlsed2022-1/jlsed2022-1

        3) หนังสือกะเทาะเปลือกแนวคิดและแนวปฏิบัติการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างวัย: ผู้สูงอายุและเด็กหรือเยาวชน ที่รวบรวมการทำงานภาคสนาม และงานวิจัยที่ อ.แต้ว เคยทำเกี่ยวกับการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างวัยในพื้นที่การเรียนรู้ต่าง ๆ เช่น หลักสูตรในระบบ ภาคประชาสังคม และชุมชน โดยข้อค้นพบสำคัญคือ มีรูปแบบการจัดหลักสูตรการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างวัยหลายรูปแบบตามเป้าหมายหลากหลาย และหลักสูตรหรือกิจกรรมแบบนี้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตัวเด็กเยาวชน ผู้สูงอายุ และชุมชน

อ่านเพิ่มเติม: ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

        นอกจากนี้ อ.แต้วได้ทำงานร่วมกับทีมอาจารย์ในคณะฯ เกี่ยวกับโครงการเพื่อส่งเสริมพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อให้สังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างโอบรับความแตกต่างหลากหลาย รวมทั้งเรื่องความต่างระหว่างวัยด้วย ได้แก่

        1) โครงการ “ห้องเรียนวัฒนธรรม” ได้รับทุนสนับสนุนจาก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

        โครงการนี้มีเป้าหมายในการสร้างเครือข่ายอาจารย์มหาวิทยาลัย ร่วมกันพัฒนาหลักสูตร “ห้องเรียนวัฒนธรรม” ที่มุ่งพัฒนาให้สังคมไทยเป็นสังคมที่คนมีสมรรถนะทางวัฒนธรรม คือ เข้าใจความหลากหลาย ยอมรับความแตกต่าง พร้อมเรียนรู้และปรับตัวอยู่ในสถานการณ์ความแตกต่างอย่างเท่าทัน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางความคิดที่จะนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งรุนแรงในสังคมไทย โดยมีโมดูลเรื่องวยาคติด้วย

        2) โครงการสร้างสังคม DEE (​Diversity, Equity and Empathy): ศึกษาสถานการณ์อคติต่อกลุ่มเปราะบาง และสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักรู้ของสังคม ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

        ทำงานเก็บข้อมูลสถานการณ์อคติที่ประชาชนในสังคมมีต่อประชากรกลุ่มเฉพาะครอบคลุมกลุ่มผู้สูงอายุด้วย เพื่อสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการทำงานเพื่อลดอคติในสังคม และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยเก็บข้อมูลหลากหลายวิธี เช่น การใช้ Social Listening ในการฟังเสียงโลกออนไลน์ที่กล่าวถึงประชากรสูงอายุ ใช้แบบสอบถามเพื่อสำรวจอคติของคนทั่วไป เป็นต้น

        3) โครงการการศึกษาสถานการณ์สุขภาวะทางเพศ สุขภาพจิต และความสัมพันธ์ของกลุ่มประชากรสูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQN+) ในประเทศไทย ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

        เพื่อศึกษาสถานการณ์สุขภาวะทางเพศ สุขภาพจิต และความสัมพันธ์ของกลุ่มประชากรสูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความซ้อนทับเชิงอัตลักษณ์ และหน่วยงานต่าง ๆ เข้าถึงข้อมูลยาก ทำให้นโยบายต่าง  ๆ อาจไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชากรกลุ่มนี้โดยตรง งานนี้จึงทำงานเก็บข้อมูลเชิงปริมาณกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ ร่วมกับการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพสัมภาษณ์เชิงลึก เรียบเรียงและนำเสนอเรื่องเล่าประสบการณ์ของประชากรกลุ่มนี้ เพื่อสื่อสารให้สังคมรับรู้ นำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการทำงานสนับสนุนประชากรสูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศต่อไป

“เนื่องในวันผู้สูงอายุแห่งชาติ นอกจากจะตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุและไม่เลือกปฏิบัติหรือกีดกันแล้ว อีกสิ่งที่สังคมน่าจะต้องทำงานไปพร้อม ๆ กัน คือ การดูแลคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ สนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีสุขภาวะที่ดี (Well Being)”

        ในมิติเศรษฐกิจและสังคม รัฐบาลต้องเห็นความสำคัญของสวัสดิการ บำนาญ แก่ประชาชนทั้งที่อยู่ในระบบและนอกระบบ ควรปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และเพียงพอสำหรับผู้สูงอายุไทยทุกคน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลพึงปฏิบัติ คือการเห็นคุณค่าประชาชน และตั้งใจที่จะดูแลประชาชน

        อ.แต้ว กล่าวทิ้งท้ายว่า การสนับสนุนทรัพยากรเพื่อให้ผู้สูงอายุยังคงได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งจำเป็น เช่น พื้นที่ในการพัฒนาตนเองตามความสนใจ หลักสูตรที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้สูงอายุเป็น Active Ageing อยู่เสมอ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของการมีสุขภาวะที่ดี

        จะเห็นว่า “ช่องว่างระหว่างวัย” ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบในเชิงกว้างทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจ โดยเหตุผลอาจเกิดจากอคติที่คนสองยุค สองวัย มีต่อกันและกัน แบ่งแยกความเป็นเขาเป็นเรา ดังที่อ.แต้วกล่าว เพราะฉะนั้น ประเด็นนี้ยังคงเป็นคำถามที่ทุกคนควรร่วมหาคำตอบร่วมกันว่า “เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร” ในขณะที่ โลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว เราจะทำอย่างไรให้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน เคารพซึ่งกันและกัน ลดอคติที่มีต่อกันและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและเท่าเทียมเสมอภาคกัน

เรียบเรียงโดย นวนันต์ เกิดนาค