Loading...

จากพฤษภาทมิฬจนถึงวันนี้: ความรุนแรงกับอำนาจที่พึงมีของประชาชน


ภาพจาก Getty Images

        เหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีก็ยังคงถูกพูดถึง คงไม่พ้นเหตุการณ์นองเลือดอย่าง “พฤษภาทมิฬ” ที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งสละชีวิตเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2535 โดยเป็นการชุมนุมเพื่อต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ผู้ชุมนุมรวมตัวกันบริเวณท้องสนามหลวง เรียกร้องให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ การประท้วงเริ่มตั้งแต่การอดอาหาร การเดินขบวน และการชุมนุมในสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร สื่อต่างประเทศรายงานว่ามีผู้ชุมนุมกว่า 150,000 คน เวลาผ่านไป สถานการณ์ยิ่งตึงเครียดขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้รัฐบาล พล.อ.สุจินดา ใช้คำสั่งสลายการชุมนุม เกิดการปะทะขึ้น มีประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก นับเป็นประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ยังคงเป็นบาดแผลอันเจ็บปวดของประชาชนผู้ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย


ภาพจาก Getty Images

        จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 จนถึงปัจจุบัน เวลาลุล่วงผ่านไปราว 31 ปี นอกจากการสร้างความสะเทือนใจ เหตุการณ์เหล่านี้จะมีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันและให้แง่คิดแก่ประชาชนคนไทยได้อย่างไรบ้าง LSEd Social Change จึงอยากชวนถอดบทเรียนและพูดคุยถึงมุมมองต่ออำนาจเบื้องหลัง รวมถึงมุมมองเกี่ยวกับประเด็นการอยู่ร่วมกันของสังคมที่ดีและการมีประชาธิปไตยอย่างเท่าเทียม ผ่านบทสัมภาษณ์ อ.อุฬาชา เหล่าชัย และ ผศ.ดร.ปวลักขิ์ สุรัสวดี อาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่กำลังทำงานทั้งด้านการสอน งานด้านวิชาการ และงานโครงการบริการสังคมอย่างเข้มข้นในประเด็นการหนุนเสริมพลังของพลเมือง และการสำรวจวาทกรรมเกี่ยวกับการจัดชั้นเรียนและการลงโทษ ซึ่งเป็นกระบวนการหล่อหลอมในเรื่องเดียวกันนั่นคือ “อำนาจ” รวมถึงการสื่อสารโดยสันติ (Nonviolent Communication)

        “สังคมที่ดีควรมี ประชาธิปไตย และความเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์ เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของผู้นำสังคมนั้น ๆ”

        อ.อุฬาชา เหล่าชัย (อ.แพร) ให้ความคิดเห็นว่าการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมที่ดี คือ สังคมที่มีการพูดคุยหารือกันเมื่อเผชิญปัญหาหรือเมื่อต้องตัดสินใจอะไรบางอย่างที่มีผลกระทบกับคนจำนวนมาก โดยที่การพูดคุยกันนั้นเป็นไปอย่างเคารพและให้เกียรติกัน ไม่ว่าผู้พูดจะมีสถานะใดในสังคม และไม่ว่าความเห็นนั้นจะแปลกไปจากคนส่วนมาก หรือต่างจากความเห็นของผู้มีอำนาจ ก็ควรต้องรับฟังทุกคนอย่างเท่าเทียม รวมถึงกระบวนการตัดสินใจในเรื่องสำคัญต่าง ๆ ควรให้สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องนั้น ๆ ด้วย

        “เมื่อพูดถึงคำว่า “ผู้มีอำนาจ” แปลว่าสังคมควรมีคนที่สถานะสูงต่ำต่างกันหรือไม่?” อ.แพร ขยายความว่า เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อมีสังคม ก็ย่อมมีการจัดการ ดังนั้นจึงเป็นธรรมดาที่จะมีผู้มีอำนาจเข้ามาจัดการทุกอย่างให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาคนนั้นจะต้องอยู่ในสถานะที่สำคัญหรือสูงส่งกว่าคนอื่น เมื่อผู้มีอำนาจพ้นจากตำแหน่ง ระบบก็ต้องเปิดให้คนอื่นที่มีความสามารถในการบริหารจัดการเข้ามาสู่ตำแหน่งอย่างชอบธรรม

        ผศ.ดร.ปวลักขิ์ สุรัสวดี (อ.เปา) เล่าว่าได้อ่านและศึกษาประเด็นทางการเมืองการปกครองจากอาจารย์ทางรัฐศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญอย่าง รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล และ ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ และจากได้ทำงานร่วมกับกลุ่มลานยิ้มการละคร จึงตกผลึกความหมายของคำว่า “รัฐที่ดี” และ “การอยู่ร่วมกันของคนในสังคมที่ดี” ว่าคือรัฐที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่มีความยืดหยุ่น มีระบบและองค์กรที่คอยถ่วงดุลและตรวจสอบการทำงาน ประชาชนสามารถวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลที่พวกเขาเลือกมาอย่างเสรีบนฐานของการใช้ข้อเท็จจริงและเหตุผล ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ต้องหาเครื่องมือ กลไล และเชื่อว่าการรับฟังเสียงที่แตกต่างเป็นเรื่องที่สำคัญ เพื่อนำไปสู่การออกนโยบาย กฎหมายต่าง ๆ รวมถึงแบบเรียน รูปแบบการเรียนรู้ จนถึงสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยเอื้อให้ประชาชนทุกคนกล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็น กล้าที่จะออกมาบอกเล่าตัวตนและปัญหาของตนเอง โดยที่ไม่ถูกบุคคลใดหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจ มากำหนดทิศทางของทุก ๆ อย่างไว้


ภาพจาก Getty Images

การเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนมีความสำคัญอย่างไร?

        อ.แพร อธิบายว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนเป็นสัญญาณบอกว่าประชาชนกำลังจับตาดูการทำงานของรัฐบาลอยู่ และในหลายครั้งเป็นการแสดงออกว่าไม่พอใจกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือเรียกร้องให้รัฐบาลทำบางสิ่งบางอย่าง มีคนเคยกล่าวไว้ว่า “...การที่ประชาชนลงถนน แปลว่ากลไกรัฐสภาที่เป็นตัวแทนของประชาชนทำหน้าที่ไม่ดีพอ” หรือไม่ก็ “...ควรรอให้กลไกรัฐสภาทำงานก่อน” อ.แพร ให้ความคิดเห็นต่อคำกล่าวขานข้างต้นว่า การคิดแบบนี้ทำให้เราต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่าง การวางใจกลไกรัฐสภา กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกรัฐสภา ทั้งที่จริงเราสามารถทำทั้งสองอย่างได้ เนื่องจากเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะติดตามการทำงานของผู้ปกครอง และเป็นสิทธิ์ของประชาชนที่จะแสดงออกเมื่อเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย

        ในสังคมประชาธิปไตย การเคลื่อนไหวของประชาชนเป็นเรื่องที่ปกติและสร้างสรรค์ อ.เปา มองว่า การเคลื่อนไหวของประชาชนเป็นกลไกที่สำคัญของสังคมประชาธิปไตยที่เชื่อว่าเสียงและความต้องการของประชาชนนั้นสำคัญ เหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่ 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภาทมิฬ กลุ่มคนเสื้อเหลืองเสื้อแดงหรือคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน จะเห็นว่ากลุ่มคนหรือนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือที่รัฐบาลมองว่าเป็นการ “ประท้วง” เป็นเพราะเขาต้องเจอกับความอยุติธรรมบางอย่างซึ่งเกิดจากการปกครองของรัฐที่ผิดพลาด เช่นการยึดและผูกขาดอำนาจโดยทหาร การได้รับตำแหน่งทางการเมืองอย่างไม่โปร่งใส การบริหารจัดการของรัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพจนทำให้เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจและวิกฤตจากภัยพิบัติโรคระบาด เป็นต้น ประชาชนที่เดือดร้อนจากปัญหาข้างต้นจึงต้องออกมาเคลื่อนไหว เพื่อให้รัฐบาลและระบบราชการหากลไกที่ดีกว่าในการจัดการกับปัญหานั้น ๆ หรือใช้กลไกทางกฎหมายตามหลักนิติธรรมและรัฐธรรมนูญ ในการตัดสินปัญหาต่าง ๆ รวมถึงแสดงความรับผิดชอบต่อความผิดพลาด ชี้แจง ยอมรับผลจากความล้มเหลวที่รัฐบาลได้ก่อขึ้น แทนการใช้อำนาจและความรุนแรงเพื่อปิดปากประชาชน

        “การแก้ไขปัญหาตามหลักกฏหมายจะทำให้เกิดเป็นวิถีปฏิบัติต่อ ๆ ไปของผู้ปกครองประเทศ เพราะในระบอบประชาธิปไตย กฏหมายของคนส่วนใหญ่ศักดิ์สิทธิ์มากกว่าอำนาจของคนเพียงคนเดียวหรือกลุ่มเดียว”


ภาพจาก Getty Images

เหตุการณ์ทางการเมืองที่ก่อให้เกิดการสูญเสียเลือดเนื้อของประชาชนมีความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมอย่างไร? และเราจะหยุดวงจรนั้นได้อย่างไร?

        อ.แพร ให้ความคิดเห็นว่าไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง อ.แพรกล่าวอีกว่า เรามีเหตุการณ์ที่สูญเสียเลือดเนื้อหลายครั้ง และไม่มีครั้งไหนที่ชัยชนะเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง แม้กระทั่งเหตุการณ์ 14 ตุลา สุดท้ายแล้วชัยชนะของนักศึกษาในครั้งนั้นก็นำไปสู่ความรุนแรงที่มีการสูญเสียอีกครั้ง ซึ่งไม่ใช่ความผิดของคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็น แต่เป็นความผิดของคนที่ทำร้ายประชาชน ไม่ว่าจะเป็นคนลั่นไกหรือคนสั่ง เขาไม่ได้มองคนอื่นเป็นคนเท่ากับตนเอง การจะสั่งทำร้ายคนหรือลงมือทำร้ายเองจนอาจถึงแก่ชีวิตได้ จะต้องมีการให้เหตุผลบางอย่างเพื่อให้เกิดความชอบธรรม เพราะลำพังการลงมือทำร้ายคนอื่นจนถึงแก่ชีวิตนั้น ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์จะทำได้โดยง่าย ดังนั้น การให้เหตุผลจึงต้องหนักแน่นมากพอที่ทำให้คนจับอาวุธมาทำร้ายกัน

        “การจะหยุดวงจรที่ผู้มีอำนาจทำร้ายประชาชนจนสูญเสียเลือดเนื้อ ต้องทำงานกับกระบวนการให้ความชอบธรรมแก่การทำร้ายประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ การสร้าง Hate Speech (การสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง) หรือความเมินเฉยเมื่อเกิดความรุนแรงต่อประชาชน การศึกษาจะต้องสร้างวิจารณญาณให้แก่เยาวชน และสร้างความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น (Empathy) เพื่อหยุดวงจรความรุนแรง” อ.แพร กล่าว

        อ.เปา ให้ความคิดเห็นว่าการสูญเสียเลือดเนื้อของประชาชนเป็นวงจรที่น่าเศร้าและหดหู่ของประเทศไทย เพราะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากกลุ่มคนเดิมที่ยังคงยึดติดกับวิธีคิด ความเชื่อแบบเดิม ผู้คนสูญเสียญาติพี่น้องจากการสลายการชุมนุมของผู้มีอำนาจที่ใช้ความรุนแรง ภาพจำของการใช้ปืนยิงใส่ประชาชนถูกทิ้งอยู่ในความทรงจำ ความเจ็บปวดที่ไม่มีใครรับรู้ ถูกทำให้ลืมเพื่อให้ประเทศยังคงถูกปกครองและอยู่ภายใต้แนวคิดอำนาจนิยม

        “วิธีที่จะหยุดวงจรดังกล่าวได้ คือการลดอำนาจของทหาร ทหารต้องไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ขณะเดียวกัน นักการเมืองต้องทำงานเพื่อประชาชนอย่างจริงจัง ประสานทุกภาคส่วนผลักดันให้เกิดนโยบายการขับเคลื่อนต่าง ๆ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง จัดหาสวัสดิการ แนวทางที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตของประชาชนทุกคน รวมถึงไม่หลงลืมคนรากหญ้าและคนเล็กคนน้อยในสังคมไทย” อ.เปากล่าว

การจัดการเรียนการสอน วิจัย หรือโครงการ ภายใต้คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเหล่านี้

        อ.แพร เล่าว่า ได้ทำวิจัยร่วมกับ อ.กานน คุมพ์ประพันธ์ ซึ่งเป็นอาจารย์ในคณะฯ โดยสำรวจวาทกรรมเกี่ยวกับการจัดการชั้นเรียนและการลงโทษ เป็นการศึกษาทั้งคุณครูที่ตีเด็ก คุณครูที่ไม่ตี และคุณครูที่เคยตีแต่ตอนนี้เลิกตีแล้ว พบว่าประเด็นที่กล่าวมาเป็นเรื่องเดียวกับ “การใช้อำนาจ” หรือการที่ผู้มีอำนาจสามารถทำอะไรกับประชาชนที่มีอำนาจน้อยกว่าก็ได้ เจตนาอาจแตกต่างกัน แต่กระบวนการหล่อหลอมเป็นเรื่องเดียวกัน คือการถูกทำให้ไม่ต้องใช้ความคิด ยอมรับอำนาจที่ไม่ชอบธรรม เพิกเฉยกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับคนรอบตัว และผู้ที่ใช้ความรุนแรงไม่เคยได้รับผิด ในประเด็นข้างต้นอาจมีคนโต้แย้งว่า “มันไม่เหมือนกัน เพราะเจตนาต่างกัน” แต่เจตนาต่างนำไปสู่ผลลัพธ์เดียวกันคือ มีคนเจ็บตัว มีคนเมินเฉย และมีคนลุแก่อำนาจ (การใช้อำนาจแบบหลงระเริงในอำนาจ) หรือเข้าใจว่าถ้าเป็นผู้มีอำนาจก็จะสามารถทำอะไรกับใครก็ได้ เช่นนี้แล้ว เรายังอยากให้การใช้ความรุนแรงในโรงเรียนดำเนินไปอยู่ไหม

        อ.เปา เล่าว่า การเรียนการสอนที่รับผิดชอบเป็นเรื่องของการจัดกระบวนการเรียนรู้ขั้นต้นจนถึงขั้นเพื่อจัดการความขัดแย้ง โดยใช้การสื่อสารโดยสันติ (Nonviolent Communication) ที่ให้ผู้ฟังฝึกรับฟังในระดับต่าง ๆ ส่วนผู้ส่งสารสามารถระบุความรู้สึกที่แท้จริงข้างใต้อารมณ์ต่าง ๆ ตลอดจนการช่วยหาวิธี แนวทางการตอบสนองความต้องการนั้น ๆ ร่วมกัน ซึ่งเป็นกระบวนการที่ช่วยลดความขัดแย้งในสังคมได้ เพราะมนุษย์มีความต้องการพื้นฐานที่ไม่แตกต่างกันมากเท่าไร แต่มักไม่ได้รับการตอบสนอง หรือได้รับการตอบสนองที่ไม่ตรงจุด อย่างน้อยผู้ที่ได้ฝึกการรับฟังอย่างมีคุณภาพ เข้าใจว่าสิ่งที่มนุษย์สื่อสารกันนั้นล้วนเชื่อมโยงกับความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ก็จะเกิดการตระหนักรู้ทั้งตนเองและผู้อื่น จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในมิติด้านการสื่อสารกับผู้อื่น และสามารถสื่อสารกับผู้ปกครองประเทศที่ดูแลนโยบายนั้น ๆ ต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ


ภาพจาก Getty Images

ในอนาคตอยากเห็นการเคลื่อนไหวภาคประชาชนเป็นไปในทิศทางใด?

        อ.แพร กล่าวว่า อยากเห็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สันติ และผู้มีอำนาจต้องรับฟังประชาชนมากพอจนผู้ที่เคลื่อนไหวไม่ใช้ความรุนแรง เพื่อให้ข้อเรียกร้องกลายเป็นจุดสนใจ

        อ.เปา กล่าวว่า อยากเห็นการทำงานของภาคประชาชนร่วมกับนักการเมืองหรือกลุ่มทุนที่มีอำนาจร่วมกัน เพื่อผลักดันนโยบายและแนวทางที่เอื้อประโยชน์ต่อคนรากหญ้าที่ลำบากหรือถูกกดทับด้วยอำนาจและผลประโยชน์ เนื่องจากประสบการณ์ส่วนตัวของ อ.เปา ที่รู้จักทั้งนักวิชาการ นักขับเคลื่อนสังคม องค์การนอกภาครัฐ (NGO) ที่พยายามทำงานแก้ไขปัญหาในประเด็นต่าง ๆ เช่น คนไร้สัญชาติ ความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนใต้ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม การขับเคลื่อนการศึกษาที่เสมอภาค จนการสร้างคุณลักษณะการเป็นพลเมืองให้แก่เยาวชนในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ เพื่อแสดงอัตลักษณ์ที่หลากหลายของแต่ละพื้นที่ในจังหวัด ซึ่งโครงการข้างต้นมักขาดเงินทุนสนับสนุนจากในประเทศ ตลอดจนการนำข้อมูลที่ค้นพบไปสร้างเป็นนโยบายขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวที่ต่อเนื่องและจริงจังจากภาครัฐและผู้มีอำนาจ

        จะเห็นว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้นล้วนมีทั้งเหตุและผลที่ทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาเรียกร้อง ต่อสู้ ขอความเป็นธรรมกับผู้ปกครองประเทศ ซึ่งการเคลื่อนไหวไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่ต้องดำเนินการไปอย่างสงบ ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรงทั้งจากฝั่งผู้ชุมนุมเองหรือฝั่งรัฐบาล ประชาชนทุกคนล้วนมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และการชุมนุมจัดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎบัตรระหว่างประเทศ ภูมิภาค ในประเทศ และแม้กระทั่งกฎหมายในท้องถิ่นอีกด้วย

เรียบเรียงโดย นวนันต์ เกิดนาค