Loading...

ห่างไกล ไม่ห่างกัน: ปฏิสัมพันธ์ในองค์กรหลังยุค Social Distance

        “Social Distance” คำที่เรามักได้ยินอยู่บ่อยครั้งในช่วง 3 - 4 ปีที่ผ่านมา เหตุเกิดจากวิกฤตโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19; โควิด-19) ที่เป็นการรณรงค์ให้ทุกคนเว้นระยะห่างระหว่างกัน เพื่อช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ส่งผลต่อรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตและการทำงานมากขึ้น เด็กนักเรียนนักศึกษาทั่วโลกเปลี่ยนรูปแบบการเรียนจากที่เรียนในห้องเรียนมาเป็นการเรียนผ่านระบบออนไลน์ ผ่านหน้าจอคอม/โทรศัพท์จากบ้านของตนเอง การประชุมจากที่ต้องนัดหมายพูดคุยกันแบบเห็นหน้ากันก็เปลี่ยนเป็นการนัดหมายประชุมออนไลน์ ผู้คนใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา อาหารการกินก็ดูเหมือนจะรัดกุมในเรื่องของความสะอาดปลอดภัยมากยิ่งขึ้น จะเห็นว่าช่วงปีที่ผ่านมาเราได้เผชิญกับวิกฤตโควิด 19 นี้ ผู้คนในสังคมได้ปรับตัวปรับการใช้ชีวิตของตนเองค่อนข้างมาก แต่อีกสิ่งที่น่าเป็นกังวลอย่างยิ่งสำหรับยุคที่อะไร ๆ ก็เปลี่ยนเป็นระบบออนไลน์ คือ การมีปฏิสัมพันธ์ของคนในสังคม ที่ถึงแม้ประชากรโลกในปัจจุบันจะเพิ่มสูงขึ้น แต่กลับมีปฏิสัมพันธ์ลดน้อยลงอย่างไม่เชื่อ

        ปัจจุบันโลกเรามีประชากรทั้งหมดประมาณ 8 พันล้านคน และมีแนวโน้มมากถึง 9 พันล้านคนในปี 2040 สิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตคือ ประชากรโลกมีจำนวนค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้น แต่ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมแบบพบหน้ากันกลับน้อยลง เราใช้เวลาจดจ่อกับมือถือและคอมพิวเตอร์มากขึ้น สื่อสารกันน้อยลง การเข้าอกเข้าใจ เห็นใจกัน ก็มีแนวโน้มว่าจะน้อยลงไปด้วย LSEd Let’s Talk จึงอยากชวนมาพูดคุยกับ อ.ปรางมาส คุ้มภัย หรือ ครูลูกปลา ครูกระบวนการ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

        “แม้ว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกจะลดน้อยลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ อันเนื่องมาจาก Fertility Rate (จำนวนการให้กำเนิดลูกต่อช่วงชีวิตหนึ่งของผู้หญิง) ที่น้อยลง โดยค่าเฉลี่ยของผู้หญิงทั่วโลกในปี 1970 อยู่ที่ 4.5 แต่ในปี 2022 ลดลงเหลือ 2.4 และมีแนวโน้มว่าจะลดลงเรื่อย ๆ (ข้อมูลจาก United Nations) แต่ข้อมูลด้าน Lifespan ก็กลับมากขึ้นจาก 64 ปี (ในปี 1990) เป็น 73 ปี พูดอีกนัยหนึ่งคือ อัตราการเกิดของเด็กลดน้อยลง แต่จำนวนผู้สูงอายุก็เพิ่มมากขึ้น เลยส่งผลให้ประชากรโลกภาพรวมก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น”

        จากข้อมูลเชิงสถิติข้างต้น ครูลูกปลาให้ข้อสังเกตว่า ในขณะที่จำนวนประชากรเพิ่มสูงขึ้น แต่คนส่วนใหญ่มักจะกระจุกตัวอยู่ในสถานที่ที่เจริญหรือเมืองที่เจริญแล้ว เมื่อในพื้นที่นั้นมีคนอาศัยอยู่ร่วมกันจำนวนมาก แทนที่จะเกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมากขึ้น แต่กลับลดน้อยลง ผู้คนหันมาใช้โซเชียลหรือเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น กลายเป็นว่าทุกคนจดจ่ออยู่กับหน้าจอโทรศัพท์ ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง แทนที่จะหันไปคุยกับคนที่อยู่ข้าง ๆ ได้ใช้เวลาร่วมกัน รวมถึงการทำงาน ด้วยช่วง โควิด-19 ที่ผ่านมา การทำงานได้เปลี่ยนจากการเข้า Office เป็นการ Work From Home จนชิน หรือทำงานบน Platform Online จนชิน บางทีเราไม่ได้พูดคุยกันตัวต่อตัว หรือไม่ได้เจอหน้ากัน ก็ส่งผลให้คนเรามีปฏิสัมพันธ์ต่อกันน้อยลง นี่อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันลดน้อยลงตามไปด้วย การสื่อสารอาจทำได้ยากกว่าเดิม หรือเกิดความไม่เข้าใจกันมากขึ้น อย่างเวลาพิมพ์ข้อความหากัน เราไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่าอีกฝ่ายเขารู้สึกอย่างไร เขาจะเข้าใจสิ่งที่เราต้องการจะสื่อจริง ๆ หรือเปล่า เมื่อเกิดการไม่เข้าใจกัน หรือการที่เราไม่ได้สื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมาเหมือนที่ผ่านมา ก็ทำให้คุยกันยากขึ้น แลกเปลี่ยนไอเดียการทำงานลำบากขึ้น

การทำงานเป็นทีม ต้องอาศัยการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

        “มีงานวิจัยหลายชิ้นกล่าวว่าความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนร่วมงาน จะนำมาสู่งานที่ Effective โดยเฉพาะงานที่ทำร่วมกันเป็นทีม เมื่อเพื่อนร่วมงานมีความความสัมพันธ์ที่ดี จะนำไปสู่การช่วยเหลือกัน กล้าแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนไอเดีย เกิดความคิดสร้างสรรค์ และนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มากขึ้น ส่งผลดีต่อองค์กร รวมถึงต่อสังคมในวงกว้าง”

        ปฏิสัมพันธ์ที่ดีมีความสำคัญมากในการอยู่ร่วมกันในสังคม ครูลูกปลา อธิบายว่าถ้าเรามีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เราจะรู้สึกว่าพื้นที่ที่เราอยู่ร่วมกันนี้เป็นพื้นที่ปลอดภัย ส่งผลให้กล้าที่จะพูดคุยกัน แลกเปลี่ยนมุมมอง หรือกล้าที่จะให้คำแนะนำซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำงานในองค์กร ที่ต้องอาศัยความสัมพันธ์ที่ดี พื้นที่ที่ให้ความรู้สึกปลอดภัย อย่างที่โรงเรียนสาธิตธรรมศาสตร์เอง เราเชื่อว่าการเปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็น การออกไอเดีย หรือการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน จะช่วยให้งานขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ถ้าหากคนในองค์กรไม่มีปฏิสัมพันธ์กัน หรือมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีต่อกัน ก็จะนำไปสู่ผลลัพธ์ของงานที่ไม่คืบหน้าไปไหน ในปัจจุบันจะเห็นว่าการมีความคิดสร้างสรรค์ การถอดบทเรียน (Reflection) กันอย่างตรงไปตรงมา เป็นสิ่งที่ทำให้งานเคลื่อนไปข้างหน้าและได้ผลลัพธ์งานที่ตรงตามหมุดหมายขององค์กร หากแต่คนในทีมไม่มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน งานก็อาจดำเนินไปอย่างไม่ราบรื่น รวมถึงเกิดปัญหาด้านการสื่อสารและผลลัพธ์ของงานอาจออกมาไม่เป็นที่พอใจด้วย

“กิจกรรมสันทนาการ” จิ๊กซอว์นำไปสู่การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดี

        ครูลูกปลา พูดถึงแนวทางที่ช่วยสร้างเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในองค์กรในแง่ของการทำงานว่า “การสร้างพื้นที่ให้คนในองค์กรได้เจอกัน พูดคุยกัน เป็นสิ่งสำคัญ” ครูลูกปลาเล่าถึงการทำงานที่โรงเรียนสาธิตธรรมศาสตร์ว่า เรามักจะตั้งวงคุยกัน หรือถอดบทเรียน (Reflection) กันหลังจากเลิกงานหรือหลังจากการทำกิจกรรมร่วมกัน ส่วนหนึ่งคิดว่าสิ่งนี้อาจเป็นสิ่งที่ช่วยให้คนเรามีการสื่อสารกันมากขึ้น ถ้ามองในมุมกว้าง คือการมีพื้นที่ให้เขาได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการทำงานซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ให้เขาได้ทำกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมกัน เช่น งานปีใหม่ งานประเพณีต่าง ๆ กิจกรรมเหล่านี้ก็จะช่วยให้ความสัมพันธ์ของคนในองค์กรดีขึ้นได้เหมือนกัน

        อย่างกิจกรรมล่าสุดที่ผ่านมามีงานสัมมนาประจำปี หรือกิจกรรม Retreat ของโรงเรียนสาธิตธรรมศาสตร์ เราเดินทางไปต่างจังหวัด 3 วัน มีทั้งคุณครูและเจ้าหน้าที่ และมีกิจกรรมที่เรียกว่า “Team Building” ที่ให้ทุกคนได้เล่นเกมร่วมกัน อย่าง กีฬาสี โดยคละทั้งครูและเจ้าหน้าที่ปนกัน เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ครูลูกปลาเห็นว่าคนในองค์กรมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากขึ้น ซึ่งบางคนอาจจะไม่เคยสอนด้วยกัน หรือไม่เคยทำงานด้วยกันมาก่อน แต่ด้วยความที่อยู่ภายใต้องค์กรเดียวกันและผู้จัดกิจกรรม Team Building ก็เป็นผู้จัดงานจากหน่วยงานด้านนอก Mood and Tone ที่เกิดขึ้นจึงเป็นเหมือนการสุ่มคนที่ไม่เคยทำงานร่วมกันให้เขาได้ใช้เวลาร่วมกัน เล่นเกม คิดวางแผนและมีเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งก็สะท้อนกับการทำงานในองค์กรที่บางครั้งหลายส่วนงานก็ต้องทำงานร่วมกันเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายขององค์กรร่วมกัน อีกกิจกรรมที่ครูลูกปลาพูดถึงคือ กิจกรรมซองเปิดใจ คือเป็นกิจกรรมที่ให้เพื่อนร่วมงานทุกแผนก ทั้งครู อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และพี่ช่าง ได้เขียนสิ่งที่อยากบอกเพื่อน นำกระดาษที่เขียนไปหย่อนใส่ซอง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการเขียนให้กำลังใจกัน ซึ่งจะเห็นว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น รวมถึงการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การช่วยเหลือกันมีเพิ่มมากขึ้น พอเขาได้แลกเปลี่ยน ได้คุยกันมากขึ้นนั้น ทำให้เขาต่อยอดในเรื่องที่ที่สนใจคล้าย ๆ กันได้อีก และไม่ได้จบแค่ในวงกิจกรรมที่เราออกแบบขึ้นมา หรือไม่ได้จบแค่ในงานสัมมนาที่จัดขึ้น อย่างถ้าเขาชอบเล่นบอร์ดเกมเหมือนกัน เมื่อถึงเวลาเลิกงานเขาก็รวมกลุ่มนัดกันไปเล่นบอร์ดเกมต่อ ได้ใช้เวลาร่วมกัน รู้จักกันมากขึ้น เขาก็จะแผ่ขยายความสัมพันธ์ขึ้นไม่ใช่แค่เรื่องงาน

        ครูลูกปลากล่าวทิ้งท้ายว่า ดังนั้นเราควรที่จะมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ฝึกการสื่อสารเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจสิ่งที่ตนต้องการจะสื่อ ในขณะเดียวกันก็ฝึกการเปิดใจยอมรับความคิดเห็น ยอมรับความเห็นต่าง ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ควรพัฒนาควบคู่ไปด้วยในโลกปัจจุบัน

เรียบเรียงโดย นวนันต์ เกิดนาค