Loading...

สลายขั้วความขัดแย้ง ด้วยการรับฟังและปฏิบัติต่อกันอย่างเข้าใจจริง ๆ

        ในสังคมที่มีผู้คนจำนวนมาก และภายใต้ความซับซ้อนของมนุษย์ซึ่งมีมุมมองและความเป็นตัวตนที่แตกต่างกัน เราย่อมพบความขัดแย้งและความคิดเห็นที่แตกต่างได้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ความขัดแย้งอาจมีรากฐานมาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะมาจากความแตกต่างในด้านภาษา การให้คุณค่า ทัศนคติ หรือแม้แต่รูปลักษณ์ภายนอกของบุคคล แต่ในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นในสังคมนั้น เราจะสามารถขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้าพร้อมกับอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้อย่างไร ในขณะที่ความสัมพันธ์ การเคารพความแตกต่างหลากหลาย และการเข้าใจซึ่งกันและกัน อาจเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมที่น่าอยู่

        ด้วยความเข้าใจที่ว่า ความแตกต่างเป็นธรรมชาติของมนุษย์ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติจึงเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างชุมชนและสังคมให้เข้มแข็ง เมื่อเรามีความเข้าใจและเชื่อมั่นในสันติภาพ คนในสังคมอาจใช้ชีวิตโดยคำนึงถึงความสมานฉันท์มากขึ้น โดยเมื่อเกิดความขัดแย้งก็จะพยายามหาแนวทางแก้ปัญหานั้นโดยคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นในหลายระดับของสังคม รวมไปถึงเหตุการณ์ทางการเมืองที่มีความตึงเครียดมากขึ้นเรื่อย ๆ

        ด้วยปณิธานของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ซึ่งมุ่งพัฒนาสังคมผ่านการมีส่วนร่วมของคนทุกฝ่าย บทความนี้จึงนำเสนอแนวทางหนึ่งที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยสร้างเสริมสันติภาพในสังคม และเป็นวิธีการง่าย ๆ ที่สามารถเริ่มได้จากตนเอง ผ่านบทสัมภาษณ์ ผศ.ดร.ชลิดา จูงพันธ์ หรือ อ.แท็ป อาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

        อ.แท็ป กล่าวถึงสิ่งสำคัญในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ คือ การทำความเข้าใจกัน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีฝ่ายขั้วตรงข้าม ซึ่งการมี Empathy หรือการพยายามทำความเข้าใจผู้ที่อยู่อีกฝ่ายหนึ่ง เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ส่งเสริมให้สังคมเกิดสันติภาพขึ้น โดยทักษะสำคัญที่จะนำไปสู่การมี Empathy คือ การฟัง เพราะเป็นทักษะที่สำคัญที่จะนำไปสู่การเข้าใจกันและกันได้

        การเปิดพื้นที่ให้คนที่อยู่ขั้วตรงข้ามกันได้พูดคุยกัน ให้ฝ่ายหนึ่งได้เล่าจุดยืนของเขาว่าอะไรคือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิด เขาคิดแบบนั้นเพราะอะไร ทำไมเขาถึงตัดสินใจทำแบบนั้น และให้อีกฝ่ายเป็นผู้รับฟังโดยไม่นำความคิดของตนเองมาตัดสิน เมื่อพวกเขาได้รับฟังซึ่งกันและกัน ได้เข้าใจความคิดของฝ่ายตรงข้าม เห็นการตัดสินใจของฝ่ายตรงข้าม ก็จะช่วยเพิ่มการเข้าอกเข้าใจ จนนำไปสู่การพูดคุยที่มากขึ้น

เราจะเป็น “ผู้ฟังที่ดี” ได้อย่างไรบ้าง?

        อ.แท็ป อธิบายว่า การฟังมีหลายรูปแบบ อย่างคณะเราจะให้ความสำคัญกับการ Deep Listening หรือการฟังอย่างลึกซึ้ง เป็นการฟังเพื่อพยายามสร้างความสัมพันธ์อันดี ซึ่งการฟังลักษณะนี้เป็นการฟังที่เราต้องตั้งใจฟังสิ่งที่อีกฝ่ายสื่อสาร ที่สำคัญคือ ต้องไม่ตัดสินสิ่งที่อีกฝ่ายพูดออกมา เป็นทักษะที่ต้องอาศัยการฝึกฝน เพราะการฟังอย่างลึกซึ้งเป็นการฟังลักษณะที่ไม่คุ้นชิน ปกติมนุษย์เราจะคุ้นเคยกับการพูดคุยแบบตอบโต้กันไปมา เช่น เขาพูดมาเราก็ตอบกลับ เมื่อเราสนทนากันในลักษณะที่ตอบโต้กันไปมาจนเป็นเรื่องปกติ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อเขาพูดอะไรบางอย่างมา เราก็จะรีบใส่ความคิดของตนเองกลับไป เพราะเรารีบที่จะตอบโต้ เพราะฉะนั้น แทนที่เราจะได้ฟังเสียงของคนฝั่งตรงข้าม กลับกลายเป็นเราจะได้ยินแต่เสียงของตนเองที่พูดออกไป จะเห็นว่าการที่เราฟังเสียงของฝั่งตรงข้ามโดยที่ไม่ได้นำความคิดของตนเองกระโจนลงไปในบทสนทนา จะทำให้เราได้รับฟังเขาอย่างแท้จริง

การจัดการเรียนการสอน หรือโครงการ ภายใต้คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. ที่ขับเคลื่อนประเด็นเกี่ยวกับสันติภาพ

        อ.แท็ป เล่าถึงโครงการที่คณะฯ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานอย่าง ค่ายเยาวชนยุติธรรมเชิงสมานฉันท์และการสัมมนาครูเพื่อส่งเสริมความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ รุ่นที่ 2 ว่า บทบาทคณะเราในค่ายนี้ คือการพยายามนำเสนออีกวิธีในการไกล่เกลี่ยเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณี ด้วยกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice: RJ) โดยกลุ่มคนที่เข้าไปทำงานด้วยคือ เยาวชน ซึ่งเขาอาจมองว่าโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย คงไม่เกิดเหตุการณ์ที่ใช้ความรุนแรง แต่กลับพบว่า โรงเรียนเป็นพื้นที่หนึ่งที่เกิดความรุนแรงในหลายรูปแบบได้ง่าย เช่น ในลักษณะเชิงโครงสร้าง โรงเรียนเป็นพื้นที่ที่อำนาจของแต่ละบุคคลไม่เท่ากัน นักเรียนเป็นผู้มีอำนาจต่ำสุดในโรงเรียน และสุดท้ายก็จะเกิดปัญหาเชิงอำนาจที่แตกต่างกันระหว่างครูกับนักเรียน ทีมกระบวนกร หรือ อาจารย์ในคณะเรา จึงพยายามทำให้เห็นว่าแต่ละฝ่ายมีอำนาจไม่เท่ากัน และในขณะเดียวกัน ครูก็ไม่ได้รู้สึกว่าตนเองกำลังใช้อำนาจอยู่ ซึ่งถ้าหากครูเองไม่เห็นการใช้อำนาจในส่วนนี้ ก็มักจะเกิดความรุนแรงเชิงโครงสร้างได้ง่าย ด้วยความที่ครูมีหน้าที่เป็นผู้สอนและประเมินการเรียนรู้ การประเมินก็ถือเป็นการใช้อำนาจโดยหน้าที่อีกรูปแบบหนึ่ง ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนอาจจะแย่ลงไปด้วย รวมถึง การบูลลี่ที่เกิดขึ้นในโรงเรียน อย่างเด็กที่มีลักษณะแตกต่างกัน หรือเด็กที่มีลักษณะแตกต่างจากบรรทัดฐานของสังคม ก็มักจะเป็นผู้ถูกรังแก ซึ่งปัญหาความรุนแรงที่กล่าวมาข้างต้นนั้น มองภายนอกอาจดูไม่มีอะไร ไม่ใช่เรื่องใหญ่ สุดท้ายแล้วทุกคนก็เมินเฉยกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น หรือในบางครั้ง วิธีการที่มักถูกนำมาจัดการกับปัญหาความรุนแรง คือ การลงโทษ ทั้งการหักคะแนนหรือการตี ซึ่งจริง ๆ แล้วยังมีวิธีการอีกหลายรูปแบบที่สามารถนำมาดำเนินการกับผู้กระทำผิดได้

        กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice: RJ) เป็นกระบวนการที่พยายามทำความเข้าใจว่า จริง ๆ แล้วสิ่งที่เหยื่อต้องการ ไม่ใช่เพียงการลงโทษ แต่มีเรื่องของการที่เหยื่ออยากให้ผู้กระทำผิดขอโทษอย่างจริงใจ เพราะการขอโทษด้วยวาจาหรือการขอโทษแบบทั่วไปเป็นเรื่องง่าย แต่กระบวนการขอโทษอย่างจริงใจนั้น ผู้กระทำผิดต้องรู้สึกจริง ๆ ว่าเขาทำผิด อ.แท็ป ให้ความคิดเห็นว่าถ้าโรงเรียนนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาปรับใช้ในโรงเรียน ก็มีโอกาสที่นักเรียน คุณครู รวมถึงบุคลากรในโรงเรียนจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติมากขึ้น

        อ.แท็ป อธิบายว่าสิ่งที่คณะเราเข้าไปทำ คือการพยายามทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมซึ่งเป็นนักเรียนมัธยมปลายที่ส่วนใหญ่เป็นสภานักเรียนที่มีส่วนในการออกนโยบาย เข้าไปรู้จักกระบวนการที่สร้างสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำผิดและผู้ถูกกระทำ โดยคาดหวังให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้กระบวนการเหล่านี้และนำมาปรับใช้ในการออกนโยบาย หรือจัดทำโครงการต่าง ๆ ที่นำไปสู่ความเข้าใจ

        “...ด้วยความที่คณะมีวิชาที่สอนเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้ง หรือการสื่อสารเพื่อการเข้าใจ (Non-Violent Communication) เราจึงพยายามให้ผู้เข้าร่วมได้ฝึกทักษะกระบวนการ NVC เหมือนวิชาของคณะ” อ.แท็ป อธิบายเพิ่มเติมว่า หลายคนอาจเข้าใจว่ากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นเพียงกระบวนการทางกฎหมาย แต่จริงๆแล้ว โดยวิธีการทำงานในทางปฏิบัติจำเป็นต้องอาศัยผู้คนที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก เช่น มีคนกลางช่วยไกล่เกลี่ย มีคนช่วยสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการสร้างความสัมพันธ์ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ไปจนถึงช่วยหาหนทางแก้ไขใหม่ ๆ ให้กับปัญหา ซึ่งทักษะเหล่านี้ก็ได้นำมาให้ความรู้ในค่ายนี้ด้วย อีกทั้ง คุณครูก็สามารถเป็นคนกลางได้ โดยใช้เครื่องมือที่มีลักษณะเป็นกระบวนการ NVC เช่น การฟังอย่างลึกซึ้ง การทำความเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของตนเองและอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อให้เห็นว่าวิธีปฏิบัตินี้ก็เป็นการช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งได้

        “เราอยากให้เขาเห็นว่า การที่มีใครสักคนนั่งฟังเราและพยายามทำความเข้าอกเข้าใจเรา มันทำให้สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง”

        อ.แท็ป เล่าว่าเสียงสะท้อนของน้อง ๆ ในค่ายบอกว่า การที่เขาได้เรียนรู้เรื่อง Deep Listening ที่ผู้ฟังแทบจะไม่ได้ตอบโต้อะไรผู้พูด ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้สนทนาอีกฝ่ายดีขึ้นมาก เหมือนเป็นการทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่ายังมีเพื่อนที่คอยรับฟัง มีคนเข้าอกเข้าใจเขาจริง ๆ ถึงแม้จะไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาทางตรง แต่ก็เป็นการพาเขาเข้าไปเรียนรู้ถึงอีกรูปแบบหนึ่งของการฟัง และพยายามพาเขาไปเข้าใจว่า การฟังมีหลายรูปแบบ ในแต่ละรูปแบบก็มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน อย่าง Deep Listening เป็นการฟังเพื่อสร้างความเข้าใจ และเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งน้อง ๆ ในค่ายก็สะท้อนมุมนี้ค่อนข้างเยอะ

        การฝึกทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง อาจเป็นเพียงก้าวเล็ก ๆ ในการสร้างสันติสุขให้กับสังคม อย่างน้อยเป็นสิ่งที่ช่วยให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับบุคคลรอบข้างดีขึ้น ถ้าทุกคนมีการรับฟังกันอย่างแท้จริง จนเกิดเป็นความเข้าใจกัน เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน อาจทำให้การอยู่ร่วมกันของคนในสังคมเป็นไปด้วยสันติสุขมากยิ่งขั้น จนนำไปสู่การพัฒนาขับเคลื่อนสังคมในด้านต่าง ๆ มากขึ้นเช่นกัน

เรียบเรียงโดย นวนันต์ เกิดนาค