Loading...

การเรียนรู้จบในโรงเรียน หรือแท้จริงอยู่ในทุกที่และตลอดชีวิต?

กระแสธารของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ข้อมูลเคลื่อนไหลผ่านตาทุกวินาที ทั้งซับซ้อนและคาดเดาไม่ได้ 

        ห้องเรียนที่ถูกแช่แข็งด้วยการสอนแบบเดิมๆ จึงหยุดนิ่งและกลายเป็นถอยหลัง สวนทางกับโลกอนาคตที่หมุนไปข้างหน้าอย่างเห็นได้ชัด 

        ทั้งตำราที่อัดแน่นด้วยเนื้อหาตามบรรทัดของหลักสูตร นโยบายที่ยึดเวลาและการออกแบบการสอนไปจากครู การสอบที่เน้นท่องจำเพื่อเอาเกรดมากกว่าการนำไปใช้ในชีวิตจริง 

        ทำให้เราต้องตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วหน้าที่ของระบบการศึกษาคืออะไร และยังทำให้มนุษย์คนหนึ่งเกิดการเรียนรู้ได้จริงหรือไม่? 

        เมื่อชีวิตจริงไม่ได้อยู่ในตำรา ห้องเรียน หรือจากปากครู แต่กระจายข้ามขอบรั้วโรงเรียนไปอยู่ในที่ต่างๆ รอบตัวเรา ทั้งใกล้และไกล 

        แท้จริงแล้วการเรียนรู้คืออะไร และทำไมเราต้อง “เรียนรู้ตลอดชีวิต”

เกรดที่ได้ = การเรียนรู้ที่เกิดขึ้น? 

ลองค้นหาความหมายจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 พบว่า 

        เรียนรู้ (ก.) หมายถึง “เข้าใจความหมายของสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยประสบการณ์” 

        คล้ายคลึงกับความหมายของ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ที่กล่าวว่า 

        “การเรียนรู้คือกระบวนการที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ ที่ทำให้เพิ่มสมรรถนะและเพิ่มความสามารถของการเรียนรู้ในอนาคต” 

        การเรียนรู้ที่ดูเป็นคำง่ายๆ ที่ใครก็พูดถึงกัน แต่ในทางปฏิบัติเรากลับโฟกัสแค่ภาพครูหน้าห้องเรียน จนลืมว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกที่ และทุกเวลา ตั้งแต่วินาทีแรกที่ลืมตา ต่อเนื่องไปจนวินาทีสุดท้ายที่หลับตาลง

        “เราถูกตีกรอบว่า การเรียนรู้ต้องรับรองด้วยสถานศึกษาเท่านั้น ต้องสังกัดโรงเรียน มหาวิทยาลัย ถึงจะมีความน่าเชื่อถือ แต่การเรียนรู้ภูมิปัญญา ประสบการณ์ของปู่ย่าตายาย ทำสุราพื้นบ้าน ทอผ้า ก็เป็นแหล่งเรียนรู้ได้ จริงๆ แล้วการศึกษาไม่จำเป็นต้องเฉพาะมาจากสถาบันหรือเปล่า ประกายดาว คันธะวงศ์ ชวนตั้งคำถาม

        “ดาว” - ประกายดาว และ “ไอซ์” - ฤทธิชัย โฉมอัมฤทธิ์ เป็นผู้ริเริ่มทำโครงการเชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้ ที่หยิบจับองค์ความรู้ในชุมชนขึ้นมาเสิร์ฟเด็กในชุมชนและลูกค้าที่สนใจ ณ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ 

        ไอซ์เสริมว่าการติดภาพจำของวิธีการศึกษาแบบโรงเรียน ทำให้คนไม่รู้จักหรือเข้าใจการเรียนรู้แบบอื่น

        “คนมองเห็นการเรียนรู้คือต้องมีครู ต้องไปนั่งเรียน พ่อแม่ก็คิดว่าต้องซื้อชุดความรู้มาเปิดให้ลูกอ่าน ให้หัดเขียนตัวอักษร มากกว่าจะชวนลูกออกไปดูโลกภายนอก เพราะไม่รู้ว่าจะพาลูกไปเรียนรู้อะไร ทั้งที่ทุกคนสร้างประสบการณ์ถ่ายทอดให้เด็กเรียนรู้ได้ แต่เราไม่มีวิธีคิดแบบนี้ มองว่าการเรียนเป็นเรื่องยุ่งยาก

        “มนุษย์ใช้ชีวิตอยู่ด้วยเรื่องของประสบการณ์ ทุกวินาทีที่เดินไปข้างหน้าคือการได้รับประสบการณ์เพิ่ม การสร้างการเรียนรู้ คือการออกไปเจอประสบการณ์อื่น ที่ไม่ได้เจอในชีวิตประจำวันปกติ”

        ส่วนดาวเชื่อว่ามนุษย์เรียนรู้อยู่เสมอ ไม่ใช่จบการศึกษาแล้วจะหยุดการเรียนรู้

        “ชีวิตมีวงจรให้เราต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และมนุษย์ก็เป็นสัตว์ที่พัฒนาได้เรื่อยๆ ปัจจุบันโลกมีข้อมูลเยอะขึ้น จำเป็นมากที่เราจะใช้ชีวิตอย่างที่เลือกได้” 

        การจะเขย่าภาพจำนั้นให้เปลี่ยนแปลง ไม่อาจเกิดขึ้นเฉพาะในจิ๊กซอว์เล็กๆ ในตัวบุคคล แต่จิ๊กซอว์ใหญ่อย่างนโยบายของรัฐหรือระบบการศึกษาก็คงต้องตั้งคำถามว่าความหมายของการเรียนรู้คืออะไร นโยบายแบบไหนที่จะนำพาให้เกิดการเรียนรู้จริงๆ 

        องค์ความรู้สำเร็จรูปที่เป็นมาตรฐานเดียวทั้งประเทศ การจำกัดการเรียนรู้อยู่แต่ในห้องเรียน โดยไม่เอื้อต่อการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงนอกห้องเรียน รวมไปถึงการละเลยภูมิปัญญาดั้งเดิมของท้องถิ่น เป็นความหมายของการเรียนรู้แล้วจริงหรือ ?

        “การที่ปกติเราเดินไปทุ่งนาฝั่งซ้ายมาตลอดหลายปี แล้ววันนี้เราเปลี่ยนจะเดินไปทุ่งนาฝั่งขวาสักสองสามชั่วโมง แค่นี้เราก็ไปเจออะไรใหม่ในที่แห่งนั้นแล้ว การเรียนรู้อาจจะเป็นเรื่องง่ายๆ แค่นี้” ไอซ์ยกตัวอย่างที่เรียบง่ายแต่น่าคิด

หน่วยกิตที่สะสม = การเรียนรู้ที่ตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย ? 

ท่ามกลางแดดจ้าในตอนสายของวัน พี่สาวในชุมชนเดินนำทางผู้เรียนไปทำความรู้จักต้นโกโก้ ชวนสังเกต สัมผัส ดมกลิ่น ฝักและใบ ก่อนจะนำฝักสุกแล้วกลับมาที่โรงงานขนาดเล็กซึ่งตอนนี้ปรับเป็นห้องเรียน “ช็อกโกแลต พาเพลิน” 

        ครูและเด็กในชุมชนสวมบทนักแกะเมล็ดโกโก้ คัดแยกเมล็ดที่ดีมาเข้ากระบวนการคั่ว ฝัด กระทั่งบด จนได้เป็นช็อกโกแลตพร้อมกินคนละกล่อง จากนั้นสรุปบทเรียน แลกเปลี่ยนความรู้สึกและสิ่งที่ได้เรียนรู้ในวันนี้ก่อนแยกย้าย 

        “ใน 3 ชั่วโมงนี้ได้รู้จักโกโก้ที่เอามาทำช็อกโกแลต ได้ลองแกะเมล็ด คัดแยกเมล็ดที่อ้วนสมบูรณ์ ไม่ขึ้นรา มาคั่ว ฝัดแยกเปลือกออก ตอนทำกลิ่นหอมมาก บดด้วยโม่นานมากกว่าจะได้เป็นช็อกโกแลตแท้ๆ ที่ยังมีคุณค่าให้เราได้กินกัน” เสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมห้องเรียน “ช็อกโกแลต พาเพลิน”

        ห้องเรียนนี้เป็น 1 ใน 21 ห้องเรียนของเทศกาล “เชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้ ตอนเมษามาม่วน” จัดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2566 ออกแบบให้เชียงดาวเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ของคนทุกวัย เพื่อให้เด็กๆ ในชุมชน ได้เลือกเรียนรู้สิ่งที่ตนเองสนใจในช่วงปิดเทอม และให้คนทั่วไปที่สนใจได้เข้ามาร่วมเรียนรู้ด้วย โดยคนในชุมชนรับบทผู้ออกแบบการเรียนรู้ เรียกว่า Learning Creator นำสิ่งที่ตนเองเชี่ยวชาญมาออกแบบตามความสามารถ เพื่อสร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียนในพื้นที่ของตนเอง เรียกว่า Learning station

        นอกจากห้องเรียนช็อกโกแลต พาเพลิน ในเทศกาลนี้ยังมี

        ห้องเรียนการเดินทางของสีครามธรรมชาติ ห้องเรียนตัดตุงปีใหม่เมือง 

        ห้องเรียนแบ่งบานใจ เก็บดอกไม้มาทำขนม

        ห้องเรียนปั่นสาส ห้องเรียนคิดสนุก ห้องเรียนเบเกอรี่ง่ายๆ ไม่ง้อเตาอบ 

ห้องเรียนสำรวจแผนที่เดินดอยเฮียนฮู้ชาติพันธุ์ ห้องเรียนแฮโอะซา มาหาเรา ห้องเรียนเคลื่อนไหวลื่นไหลทางเพศ ฯลฯ

        หลายห้องเรียนเกิดขึ้นจากภูมิปัญญาของชุมชน ถ่ายทอดประสบการณ์ของปู่ย่าตายายที่สอนต่อคนอื่นได้ไม่ต่างจากในระบบการศึกษา 

        เป็นตัวอย่างการจัดการเรียนรู้นอกห้องเรียน ครูอาจารย์ผู้มีวุฒิการสอน และตำรามาตรฐาน

        ไม่ได้หมายความว่าการศึกษากระแสหลักไม่สำคัญ แต่เมื่อโลกกว้างและขยายไปไกลกว่าขอบเขตที่ตำราจะไล่ตามทัน จะดีกว่าไหมถ้าผู้เรียนมีโอกาสเข้าถึงได้ทั้งสองอย่าง 

        “ความลึกซึ้งในทฤษฎีของการศึกษากระแสหลัก และภูมิปัญญาปฏิบัติ เราให้คุณค่าของทั้งสองอย่าง ไม่มีอะไรยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ถ้าถูกผนวกเข้าด้วยกัน จะยิ่งมีความมหัศจรรย์อยู่ในนั้น การเรียนรู้ทั้งสองอย่างอาจตอบโจทย์ความหลากหลายของเด็ก ดีที่สุดคือการเรียนรู้ที่ไม่ผูกขาด ให้เขาเลือกได้ นี่อาจเป็นทางรอดของการศึกษาในยุคปัจจุบัน” ดาวชี้ถึงความสำคัญของการเรียนรู้ทั้งในระบบและนอกระบบ

        การเปิดพื้นที่เรียนรู้หลากหลายให้เด็กๆ ได้ทดลอง ได้รู้จัก บนความเชื่อว่ามนุษย์มีความแตกต่าง และทุกความแตกต่างควรค่าที่จะได้รับการมองเห็น แม้ปลายทางอาจยังค้นไม่พบว่าอยากเรียนรู้เรื่องอะไรต่อ แต่อย่างน้อยก็ได้ลองชิมประสบการณ์ที่นอกเหนืออาหารความรู้สำเร็จรูปในห้องเรียน 

        ไอซ์ชวนย้อนกลับไปคิดถึงตอนเด็กที่มีคนมาถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร คำตอบที่เราบอกออกไปนั้นมาจากไหน จากไฟฝันในใจที่อยากทำจริงๆ จากที่ผู้ใหญ่บอกว่าดี หรือตอบให้ผ่านๆ ไป

        ถามเด็กว่าชอบอะไร ตอบยากนะ ถ้าเป็นเด็กที่ใช้ชีวิตอยู่กับการเรียนการสอนในระบบสามัญทั่วไป เพราะพื้นที่ในโรงเรียนไม่ได้เอื้ออำนวยให้ไปเจอประสบการณ์อื่น เด็กจะนึกไม่ออก ไม่รู้ว่าฉันชอบอะไรได้บ้าง ไม่เคยทำ ไม่เคยลอง

        “ลองนึกถึงถ้าคนหนึ่งมีโอกาสเรียนทำกาแฟ 3 ชั่วโมง ควบคู่กับการเรียนจนจบปริญญา สุดท้ายเขาเลือกไปเปิดร้านกาแฟ ถ้าการเรียนทั้งหมดนั้นไม่ถูกนำมาใช้ กับ 3 ชั่วโมงที่ทำให้เขาได้เปิดร้านกาแฟ ความรู้ไหนมีประโยชน์มากกว่ากัน หรือถ้าไม่ได้เปิดร้านกาแฟ แต่อย่างน้อยเขาก็ได้ทดลองว่าสนุกไหม มีความสุขหรือเปล่า อยากทำต่อหรือเปล่า”

        ดาวและไอซ์จึงพยายามผลักดันเมืองแห่งการเรียนรู้ให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่ชุมชนร่วมสร้างสรรค์ขึ้นมา เพื่อถ่ายทอดปัญญาปฏิบัติแก่กัน และเกิดเป็นปัญญาร่วมของกลุ่ม เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้มองเห็นทางเลือกที่ยืดหยุ่น ได้ลองมีประสบการณ์ตรง เกิดการปะทะสังสรรค์และสร้างการเรียนรู้ในรูปแบบของตนเอง

        “เราพยายามสร้างนิเวศของเมืองแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น ทำให้เห็นว่าใครมีบทบาทอะไรได้บ้าง ทำอะไรร่วมกันได้บ้าง”

        ความท้าทายของการเรียนรู้นอกห้องเรียน คือการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่อาจดูไม่มีมาตรฐานน่าเชื่อถือเหมือนโรงเรียนหรือสถาบันในระบบการศึกษา ไอซ์แย้งว่ามาตรวัดมีอยู่ นั่นคือการประเมินตนเอง แต่ทุกคนมักคิดว่าตัวเองทำไม่ได้

        “ผู้เรียนประเมินตนเองได้ เช่น ถ้าฉันทดลองทำเรื่องนี้มาแล้ว 1 เดือน คาดว่าจะทำอะไรได้บ้าง แล้วตอนนี้ฉันทำอะไรได้บ้าง ฉันทำได้อย่างที่คาดหวังไว้ไหม ถ้าให้คะแนนตัวเองจะคิดว่าเป็นเท่าไหร่ มีอะไรที่ฉันทำได้อีกเพื่อทำสิ่งนี้ให้ดีขึ้น มีอะไรที่ฉันทำพลาดไป หรือเปล่าประโยชน์ไหม” 

        หากการเรียนรู้นอกห้องเรียนทำร่วมกับการเรียนในระบบ ก็อาจจัดให้ครูในโรงเรียนร่วมกับ Learning creator หรือครูชุมชน ออกแบบตัวชี้วัดและวางเกณฑ์ประเมินว่าเด็กต้องได้เรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง หรือชวนเด็กๆ มาวางออกแบบเป้าหมายด้วยกันว่าอยากเรียนรู้เรื่องอะไร และสุดท้ายได้เรียนรู้จริงไหม 

        น่าคิดว่ารายงานผลการเรียนที่บอกเกรดและจำนวนหน่วยกิตวิชาตามมาตรฐาน บอกอะไรได้บ้างนอกจากว่าเราเรียนกันไปกี่วิชา หรือตอบข้อสอบได้ดีแค่ไหน หากสามารถเปลี่ยนหน่วยกิตนั้นเป็นการบอกว่าเราได้เพิ่มพูนประสบการณ์อะไรบ้าง รู้สึกอย่างไร ได้เรียนรู้อะไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร 

        คงจะเป็นรายงานผลการเรียนที่ทำให้เราหวนนึกถึงห้องเรียนที่มีชีวิต มากกว่าแค่ใช้ยื่นเข้าสมัครในรั้วมหาวิทยาลัย

ประกาศนียบัตร = สิ้นสุดการเรียนรู้ หรือการเรียนรู้เพิ่งเริ่มต้น? 

“เกือบได้ไปเรียนฟ้อนแล้ว ที่โรงเรียนบ่มีครูนาฏศิลป์” 

        ครูในโรงเรียนบอกกับดาว เมื่อโรงเรียนขาดครูนาฏศิลป์ ทำให้ครูวิชาอื่นต้องไปเรียนเพื่อมาสอนเด็ก โชคดีที่ในชุมชนมี Learning creator ที่มาช่วยสอนแทนครูได้ ทำให้ครูได้เรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียนด้วย

        “ครูอาจลืมว่าตัวเองก็เป็นผู้เรียนรู้ ไม่ใช่ครูอย่างเดียว ถ้าสิ่งไหนทำไม่ได้ ครูเรียนรู้เพิ่มได้ ครูก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่เรียนรู้ไปพร้อมกับเด็กได้” 

        ไอซ์เปิดมุมมองที่ทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่แค่เด็ก แม้แต่คนในชุมชนที่จะมาทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ ก็มีเรื่องต้องเรียนรู้ไปด้วยเช่นกัน

        “เมืองแห่งการเรียนรู้ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง ทุกคนช่วยทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด ไม่ต้องทำสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัด ไม่ต้องบีบบังคับตัวเอง win-win กันทุกฝ่าย การเรียนรู้และความสัมพันธ์ที่ดีจะเกิดขึ้น ถ้ายอมรับว่าโรงเรียนบ่มเพาะได้แค่บางส่วน เราก็ให้โลกข้างนอกมาช่วยเติมองค์ความรู้ส่วนอื่นๆ ให้ได้” ดาวกล่าวอย่างมีความหวัง

        โครงการเชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของประตูสู่การเรียนรู้นอกระบบ เราควรจะมีอีกกี่ประตูที่เปิดให้กับการเรียนรู้นอกรั้วโรงเรียน ทำไมในหลายประเทศถึงใช้ทรัพยากรสนับสนุนแหล่งเรียนรู้ต่างๆ มากมาย

        “ทำไมประเทศนั้นใช้ทรัพยากรของเมืองตัวเองเพื่อการศึกษา มีพื้นที่สาธารณะ ส่งเสริมการเล่นของเยาวชน การศึกษาของคนเฒ่าคนแก่ พอมองกลับมาในบ้านเราแทบไม่ค่อยเห็น เพราะการเมืองหรือเปล่า หรืองบประมาณที่ไม่ทุ่มให้กับการศึกษาหรือการพัฒนาคุณภาพชีวิต” เป็นคำถามปลายเปิดที่ดาวไม่ได้ให้คำตอบ

        ผลสำรวจที่น่าสนใจจากเวบไซต์ “คิด for คิดส์” เรื่องแหล่งเรียนรู้ของเยาวชนไทยอายุ 15 ถึง 25 ปี จำนวน 19,694 คน พบว่าเยาวชนไทยจำนวนมากไม่เคยไปศูนย์ฝึกอาชีพและพื้นที่ทำงานร่วมกัน (co-working space) ส่วนสถานที่ที่เคยไปแต่ไม่บ่อย เช่น ห้องสมุด สนามกีฬา โรงหนัง/คอนเสิร์ต สวนสัตว์ และสวนพฤกษศาสตร์ 

        พฤติกรรมการไปแหล่งเรียนรู้มีความแตกต่างกันตามกลุ่มรายได้และจังหวัดที่อาศัย กลุ่มครัวเรือนมีฐานะยากจนหรืออยู่ในจังหวัดขนาดเล็ก มีปัญหาการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้มากกว่ากลุ่มอื่น มีเพียงห้องสมุดที่เข้าใช้ไม่ต่างกัน อุปสรรคที่ทำให้เข้าไม่ถึงแหล่งเรียนรู้ คือระยะทางและการเดินทาง 

        ทั้งหมดสะท้อนว่าพื้นที่เรียนรู้ในประเทศไทยยังมีจำนวนน้อย และกระจุกตัวตามหัวเมืองอย่างเหลื่อมล้ำ

        ผลสำรวจบอกอีกว่าเยาวชนไทยทุกกลุ่มต้องการให้มีแหล่งเรียนรู้ประเภทพิพิธภัณฑ์ใกล้บ้าน จากฐานข้อมูลของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ประเทศไทยมีพิพิธภัณฑ์มากถึง 1,591 แห่ง อยู่กับวัดและสถานศึกษา 733 แห่ง ที่เหลือกระจุกตัวอยู่ตามหัวเมือง เข้าถึงได้เพียงเยาวชนที่มีความพร้อมและอยู่บนยอดพีระมิด ทั้งที่ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนได้รับอย่างเท่าเทียม และยังพบว่ามีถึง 19 จังหวัดที่ไม่มีพิพิธภัณฑ์เลยสักแห่งเดียว

        รัฐอาจมองว่าการเรียนรู้ของพลเมืองจบลงแล้วในสถาบันการศึกษา แต่หากเปลี่ยนมุมมองว่าการเรียนรู้คือกระบวนการที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ การพัฒนาตนเองเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและตลอดชีวิต การส่งเสริมให้มีพื้นที่เรียนรู้หรือแหล่งเรียนรู้ตอบสนองอย่างเพียงพอ คุณภาพและศักยภาพของคนไทย ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ไปจนถึงผู้สูงวัย จะพัฒนาไปอีกแค่ไหน

        “บางคนคิดว่าอายุ 60 ไม่มีเรี่ยวมีแรงจะทำอะไรหรอก แต่จริงๆ คนวัย 60 มีศักยภาพมากกว่านั้น ถ้าเรามีพื้นที่เรียนรู้ให้คนวัย 60 ได้ออกไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้เรียนรู้จากคนวัย 60 เหมือนกันที่มาเป็นครู ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนในวง หรือเรียนรู้จากเด็กน้อยในคลาสเดียวกัน” คือคุณค่าที่ดาวมองเห็นจากพื้นที่ที่เปิดกว้างให้แก่การเรียนรู้

        ดังที่ มิตเชล เรสนิกส์ (Mitchel Resnick) นักวิจัยการเรียนรู้ กล่าวไว้ว่า

        “เด็กทุกคนเกิดมาพร้อมพรสวรรค์ที่ยิ่งใหญ่ตามธรรมชาติ ส่วนที่ว่าพวกเขาจะพัฒนาไปได้อย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงดู และโอกาสที่คนรอบข้างจะหยิบยื่นให้

        “การศึกษาควรเป็นหนึ่งในโอกาสที่ดีที่สุด แต่บ่อยครั้งกลับไม่เป็นเช่นนั้น”

        การเรียนในระบบมีกำหนดปีจบการศึกษา แต่การเรียนรู้ในชีวิตไม่มีวันและปีที่สิ้นสุด เบ่งบานอยู่รอบตัว รอบสรรพสิ่ง เบ่งบานตั้งแต่ที่เราลืมตาครั้งแรก จวบจนหลับตาครั้งสุดท้าย