Loading...

“โรงเรียนของเราไม่น่าอยู่” ระบบการศึกษาที่สร้างทุกข์ให้ทั้งผู้เรียนและผู้สอน

“โรงเรียนของเราน่าอยู่ คุณครูใจดีทุกคน เด็กๆ ก็ไม่ซุกซน พวกเราทุกคนชอบมาโรงเรียน~” 

        ข้อความที่อ่านแล้วหลายคนคงฮัมเป็นทำนองเพลงได้ ในฐานะเพลงเด็กที่โรงเรียนมักเปิดให้นักเรียนฟังอยู่บ่อยครั้ง 

        เพลง “โรงเรียนของเราน่าอยู่” กลับมาเป็นที่พูดถึงในวงกว้างอีกครั้งช่วงประมาณ 2 ปีก่อน เมื่อนิสิตจุฬาฯ ทำวิทยานิพนธ์โดยหยิบยกปัญหาในโรงเรียนมาบอกเล่าผ่านเพลงดัดแปลงใหม่ในชื่อ “โรงเรียนเขาว่าน่าอยู่” มีเนื้อเพลงบางส่วนว่า 

        “โรงเรียนเขาว่าน่าอยู่ แต่พวกหนูไม่ค่อยชอบไป มีคนทำร้ายจิตใจ แต่ทำอะไรไม่ได้สักที โรงเรียนนั้นควรน่าอยู่ ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย กลับบ้านเป็นแผลที่ใจ จะไปทำไมช่วยตอบหนูที” 

        เพลงโรงเรียนเขาว่าน่าอยู่ก่อให้เกิดการพูดคุย แลกเปลี่ยน ถกเถียงเรื่องปัญหาในรั้วโรงเรียนได้ไม่น้อย และยังคงเป็นปัญหาที่ยังคงอยู่  จึงน่าลองมาย้อนดูระบบการศึกษาแบบไทยๆ อีกครั้ง ว่าคุณครูใจดีที่เด็กต้องการนั้นเป็นแบบไหน ถ้าเด็กสักกลุ่มจะยินยอมพร้อมใจถูกมองว่าเป็นเด็กขบถซุกซน เขาทำไปเพื่ออะไร 

        แล้วโรงเรียนที่ไม่ใช่แค่เด็กอยากไปเรียน แต่เป็นที่ครูอยากไปสอนด้วยนั้นควรมีหน้าตาอย่างไร

โรงเรียนที่ครูแค่สอน

“เด็กบางคนเขามีปัญหาอยู่แล้ว อาจเป็นปัญหาชีวิตส่วนตัว หรือปัญหาจากครอบครัวที่บ้าน หนูคิดว่าคุณครูทุกคนควรเป็นบ้านอีกหลังหนึ่งที่ช่วยให้เด็กมีที่พึ่ง หรือสามารถขอคำปรึกษาได้ แต่ก็ไม่ใช่แบบนั้น”

        “เบล” (นามสมมติ) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนประจำอำเภอแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น เล่าให้เราฟังถึงเหตุการณ์การทะเลาะกับคุณครูซึ่งกระทบจิตใจเธอมาเป็นเวลาหลายปี ว่าสมัยเธอยังเรียนอยู่ชั้น ม.1 ครอบครัวของเธอเผชิญกับปัญหาด้านการเงินอย่างรุนแรง ส่งผลให้เบลต้องเริ่มทำงานพิเศษหลังเลิกเรียนเพื่อแบ่งเบาภาระทางเศรษฐกิจจากทางบ้าน

        “หนูทำงานเยอะจนไม่ได้พัก ตอนนั้นหนูเองก็ยังเด็กมาก ยังไม่สามารถแบ่งเวลาหรือจัดการชีวิตตัวเองได้ดีพอ การทำงานพิเศษของหนูเลยเริ่มกระทบกับการเรียน มาโรงเรียนสายบ้าง ไม่ได้ทำการบ้านบ้าง งานไม่ส่งบ้าง”

        ผลที่ตามมาคือเบลถูกครูประจำวิชาเรียกไปพูดคุยระหว่างคาบเรียน ซึ่งเธอก็หวังว่าคำอธิบายของเธอ ครูจะรับฟัง เป็นที่พึ่ง ให้คำปรึกษา และช่วยให้เธอผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ไปได้ แต่สิ่งที่ครูตอบคือคำพูดสั่งสอน ย้ำซ้ำๆ ว่าวัยของเบลนั้นไม่จำเป็นต้องทำมาหากิน เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ และหน้าที่ของเธอคือการตั้งใจเรียนต่างหาก โดยที่ครูไม่ได้มองความจริงว่าตอนนี้เบลต้องกัดฟันทำงานทุกวันหลังเลิกเรียนเพื่อจะได้มีเงินมาโรงเรียนในวันต่อไป

        สำหรับครู การต้องให้คำแนะนำปัญหาที่อยู่นอกรั้วโรงเรียนบนหลักการและอุดมคติที่หล่อหลอมมายาวนานนั้นอาจไม่ง่ายนัก แต่สำหรับเบลที่ต้องรับมือกับปัญหาครอบครัวในวัยแค่ 13 ปี ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน  

        บทสนทนาวันนั้นยืดเยื้อยาวนานจนหมดคาบเรียนและไม่นำไปสู่ทางออกใด เบลไม่มีโอกาสรู้ว่าครูได้สัมผัสรับรู้ถึงปัญหาของเธอไว้ในใจบ้างไหม แต่ในใจเบลคือความทุกข์ ความผิดหวัง และความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจในตัวครูคนนั้นอีก

        “ครูคิดแค่ว่าเขาต้องเป็นครู ต้องสอนนักเรียน ไม่ได้มีหน้าที่ต้องมารับรู้ว่าที่บ้านนักเรียนเจออะไร ไม่ต้องมารู้ว่าเด็กมีชีวิตอยู่แบบไหน มีเรื่องแย่ๆ ไหม หรือว่าวันนี้เจออะไรมาบ้าง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ครูรู้แค่ว่าเขาต้องสอน”

        ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ เบลยังเป็นหนึ่งในเด็กที่ถูกครูหมายหัวในฐานะเด็กมีปัญหาประจำห้อง ไม่เชื่อฟังคำสั่งสอนของครู แม้ว่าปัจจุบันเธอจะจัดการชีวิตของตัวเองได้ดีขึ้น แบ่งเวลาทำงานพิเศษให้ไม่กระทบกับการเรียนได้แล้วก็ตาม

        เบลไม่ใช่เด็กคนเดียวในประเทศที่ต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากในวัยเรียน และสิ่งที่นักเรียนแบบเบลต้องการที่สุดคือคุณครูที่ไม่ได้แค่สอน แต่เป็นคนที่พร้อมจะรับฟังสิ่งที่เธอกำลังเผชิญอยู่  

        “สำหรับหนูโรงเรียนไม่ได้น่าอยู่ แต่โรงเรียนยังเป็นบ้านหลังที่สอง คุณครูยังเป็นคนที่ดูแลเรามากที่สุดแล้วรองจากพ่อแม่ มันควรจะเป็นพื้นที่ที่อยู่แล้วเราสามารถพูดความรู้สึก บอกความคิดเห็นออกมาได้ ทำให้เด็กอยู่แล้วรู้สึกสบายใจกว่านี้” เบลกล่าว

 

ชุดนักเรียนที่เลือกไม่ได้

“หนูไม่ชอบพวกระเบียบต่างๆ เช่น ทรงผม เครื่องแบบ แล้วก็การเข้าแถวตอนเช้าค่ะ” “เอิน” (นามสมมติ) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนเดียวกันตอบ เมื่อเราถามถึงสิ่งที่เธอไม่ชอบในโรงเรียน

        “ชุดนักเรียนใส่แล้วรู้สึกไม่มั่นใจเลยค่ะ ถ้าไม่รีดให้ดีก็จะดูไม่สวย เสื้อสีขาวก็บางมากแถมเปื้อนง่าย ส่วนชุดพละที่เวลาใส่ต้องเอาเสื้อเข้าข้างในกางเกง หนูเป็นคนไม่ค่อยมั่นใจในรูปร่างตัวเองก็เลยใส่แล้วรู้สึกอึดอัด บางวันใส่ชุดมาผิดก็ยิ่งรู้สึกไม่ดี รู้สึกกดดันว่าต้องเป๊ะๆๆๆ กฎระเบียบเยอะไปหมด”

        สิ่งที่เอินต้องการเปลี่ยนแปลงนั้นอาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อยในชีวิตประจำวันของนักเรียน แต่ความจริงเป็นประเด็นใหญ่ที่มีการพูดถึง ถกเถียง และพยายามจะปฏิรูปกันมานานมากกว่า 20 ปี จากทั้งฝ่ายนักเรียน ผู้ปกครอง และโรงเรียนเองก็ตาม

        ข้อมูลจากหนังสือ “เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง ไม้เรียว : ประวัติศาสตร์วินัยและการลงทัณฑ์ในโรงเรียนไทย” ของ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ซึ่งสำรวจและรวบรวมความรุนแรงในรั้วโรงเรียนไทยตั้งแต่ปี 2475 - 2563 ระบุว่าประเด็นเครื่องแบบมีการถกเถียงอย่างกว้างขวางหลังจากปี 2540 ซึ่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง และค่าใช้จ่ายเครื่องแบบของนักเรียนนั้นกระทบต่อปัญหาค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของคนจำนวนมาก

        จากการทำประชาพิจารณ์เรื่องเครื่องแบบที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในภาคเหนือ ผู้ปกครองให้ข้อมูลว่าเครื่องแบบของโรงเรียน รวมชุดพละและชุดลูกเสือคิดเป็นค่าใช้จ่ายปีละเกือบ 1000 บาท เป็นเหตุให้ผู้ปกครองกว่าครึ่งหนึ่งลงความเห็นว่าอยากให้มีการแต่งเครื่องแบบแค่สัปดาห์ละ 2 วัน ขณะที่คณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติสรุปการทำประชาพิจารณ์เรื่องเครื่องแบบนักเรียนชั้นประถมศึกษาจากผลสำรวจ 30 จังหวัดพบว่าร้อยละ 40 อยากให้ผ่อนผันใส่เครื่องแบบเพียงบางวัน 

        ตลอดระยะเวลา 20 ปีมีการถกเถียงพูดคุยเรื่องเครื่องแบบนักเรียนในสังคมอยู่เป็นระยะๆ เช่นการตั้งคำถามและข้อเสนอยกเลิกชุดเครื่องแบบของ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ในปี 2556 แต่ก็ไม่มีการปฏิบัติจริง จนเมื่อปี 2562 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนได้ทดลองให้นักเรียนใส่ชุดไปรเวทเข้าเรียนในวันอังคารเป็นเวลา 1 ภาคการศึกษา กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ฮือฮาและพูดถึงในสังคมอย่างกว้างขวาง และปัจจุบันก็ยังอนุญาตให้นักเรียนใส่ชุดไปรเวทในวันอังคารอยู่ 

        “มันไม่โอเคเพราะเป็นเครื่องแต่งกายที่เราเลือกเองไม่ได้ ถ้าเกิดให้นักเรียนเลือกได้ว่าอยากใส่สุดไหน ชุดอะไรมาดี ถ้าเราเลือกได้ก็จะเป็นความสุขในการเริ่มต้นวันใหม่ เป็นความสุขในการมาโรงเรียน ทำให้เราอยากมาโรงเรียนมากขึ้น หรือถ้าไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นเครื่องแบบของโรงเรียน นักเรียนที่ไม่มีเงินซื้อจะได้ใส่เสื้อตัวไหนก็ได้ที่ตัวเองมี” เอินหวังว่าในอนาคตโรงเรียนรัฐบาลจะยืดหยุ่นเรื่องเครื่องแบบนักเรียนมากขึ้น

ระเบียบทรงผมที่ละเมิดผู้เรียน

“ครูกล้อนผมนักเรียนนับร้อย ผอ. แจงเป็นนโยบายตัดผมฟรี”

“ผอ.โร่แจง ครูตัดผมนักเรียนหญิงถึงหนังหัว อ้างคนทำ เข้มงวดระเบียบวินัยสูง”

“ครูโรงเรียนดังจับเด็กตัดผม น.ร.วอนขอตัดเองที่ร้าน เจอขู่ให้ตัดหรือเซ็นใบลาออก”

        ข้อความข้างต้นคือพาดหัวข่าวการลงโทษนักเรียนด้วยการตัดผมที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา ขณะที่ประเด็นเรื่องเครื่องแบบนั้นถูกหยิบยกมาพูดถึงโดยฝ่ายผู้เรียน และยังอยู่ในขั้นทดลองภายในโรงเรียนเอกชนหรือโรงเรียนสาธิตเพียงไม่กี่แห่ง แต่ประเด็นเรื่องทรงผมนั้นต่างออกไป โดยฝ่ายนโยบายส่วนกลางต้องการผ่อนความเข้มงวดของระเบียบลง แต่เป็นครูและโรงเรียนแต่ละแห่งเองที่ยังคงความเข้มงวดเรื่องทรงผมไว้ 

        หนึ่งในภาพจำที่ชัดเจนที่สุด คือทรงผมนักเรียนชายที่มีระเบียบให้ตัดสั้นเกรียนชิดติดผิวหนัง จนเป็นชื่อเรียกทรงผมที่ช่างตัดผมทุกคนในประเทศรู้จักดี แต่ในตามระเบียบส่วนกลางซึ่งเขียนขึ้นในปี 2515 ได้ปรับปรุงแก้ไขให้นักเรียนชายไว้ผมยาวได้ตั้งแต่ปี 2518 แต่การลงโทษนักเรียนด้วยการตัดผมยังคงเป็นเรื่องปกติมานานข้ามหลายเจนเนอเรชัน

        เดือนมกราคม 2556 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการลงนามหนังสือเวียนถึงหัวหน้าส่วนราชการที่มีสถานศึกษาในสังกัด ว่าให้นักเรียนไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ แต่โรงเรียนจำนวนมากก็ไม่ได้ปฏิบัติตาม

        ในโรงเรียนยังมีการใช้กฎระเบียบอีกมากที่ขัดกับกฎของกระทรวงศึกษา เช่น การลงโทษเด็กด้วยการตีซึ่งถูกยกเลิกไปตั้งแต่ปี 2542 และกำหนดขอบเขตที่โรงเรียนลงโทษเด็กไว้ 4 รูปแบบ คือการว่ากล่าวตักเตือน ทำทัณฑ์บน ตัดคะแนนความประพฤติ และทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม  

        เอินไม่ใช่เด็กคนเดียวที่อยากให้มีการปฏิรูปกฎระเบียบในโรงเรียนใหม่อย่างจริงจัง แต่ยังมีเด็กอีกมากที่ไม่กล้าแสดงความเห็น  ขณะที่ระยะหลังสังคมไทยก็มีเด็กที่กล้าออกมาแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา เช่นกลุ่มนักเรียนเลวและเครือข่ายนักเรียนแนวร่วมกว่า 50 โรงเรียนที่มาชุมนุมที่กระทรวงศึกษาธิการเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2563 ประกาศข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ หยุดคุกคามนักเรียน ยกเลิกกฎระเบียบล้าหลัง และปฏิรูปการศึกษาใหม่

        ข้อเรียกร้องข้อแรกของกลุ่มนักเรียน ย้ำเตือนว่าเด็กนักเรียนก็มีสิทธิเช่นเดียวกัน ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Right of Child) ซึ่งครอบคลุมทั้งสิทธิในเนื้อตัวร่างกายและสิทธิที่จะมีส่วนร่วมแสดงออกความคิดเห็น 

        เหตุใดครูและโรงเรียนจึงตั้งใจควบคุม สอดส่องเรือนร่างและเครื่องแต่งกายของนักเรียนอย่างเข้มงวด แม้กฎระเบียบจากส่วนกลางจะเปิดทางเลือกให้กับนักเรียนแล้ว  ค่านิยม วัฒนธรรม อำนาจใดที่ยังคงยึดติดฝังรากลึกในโรงเรียนและระบบการศึกษา และเราจะหลุดพ้นไปได้อย่างไร เพื่อให้อย่างน้อยเด็กๆ ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน และมีความสุขกับการมาโรงเรียนขึ้นบ้าง นี่ยังไม่นับความทุกข์และความเครียดจากการเรียนให้ได้คะแนนดีๆ ตามความคาดหวังของผู้ปกครองและโรงเรียน

        “โรงเรียนเขาว่าน่าอยู่ แต่พวกหนูไม่ค่อยชอบไป มีคนทำร้ายจิตใจ แต่ทำอะไรไม่ได้สักที...”

โรงเรียนที่ครูอยากลาออก

ตัวอย่างเสียงสะท้อนของเบลที่ครูไม่รับฟังถึงปัญหา การลงโทษและบังคับใช้กฎระเบียบกติกาต่างๆ กับนักเรียน อาจชวนให้เข้าใจว่าครูคือต้นตอ หรือเป็นปัญหาเฉพาะของครูบางคนที่ไม่ดี  แต่ความจริงระบบการศึกษากำลังสร้างบาดแผลและผลกระทบกับครูอยู่ตลอดเวลา 

        โรงเรียนเองก็อาจไม่ใช่ที่ที่น่าอยู่สำหรับครูด้วยเช่นกัน

        “งานเอกสารของครูมากเกินไป ครูมีหน้าที่สอนในห้องแต่ว่าต้องทำงานการเงิน ดูแลครุภัณฑ์ แล้วยังมีกิจกรรมอื่นๆ เยอะมาก เช่น งานอบรม งานพิธีการ กลายเป็นว่าครูที่อยากสอนเด็กเต็มที่ แต่ทำไม่ได้เพราะต้องทำงานอื่นนอกห้องเรียน เราเป็นครูอนุบาลต้องเตรียมสื่อการสอนต่างๆ  ถ้าวันนี้เราจะทำงานศิลปะ เช้าก็ต้องมาเตรียมกาว เตรียมกระดาษให้เด็กแล้ว ไม่ใช่ทิ้งห้องเรียนไปทำงานอื่นแล้วเหลือแค่ครูพี่เลี้ยงดูเด็กให้” ครูแอมป์ - ปราณี ชำนาญกิจ คุณครูประจำชั้นอนุบาล 1 โรงเรียนสุจิปุลิ จังหวัดฉะเชิงเทรา บอกถึงปัญหาของครูที่เธอเคยประสบ

        เดือนพฤศจิกายน 2564 เกิดปรากฏการณ์ใหญ่ในสังคม เมื่อมีครูโพสต์เอกสารลาออกจากราชการลงในโซเชียลมีเดีย และกล่าวถึงปัญหาเรื้อรังของวิชาชีพที่ไม่ได้ประเมินครูจากการสอน แต่ภาระที่หนักเกินของการทำเอกสารและเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ซึ่งกระทบทั้งการเตรียมการสอนและชีวิตส่วนตัว รวมถึงการจัดเรียนการสอนออนไลน์ในช่วงโควิด ทำให้เธอไม่อาจปฏิบัติงานให้สำเร็จในฐานะครู เธอจึงตัดสินใจละทิ้งความฝัน ขอลาออกจากอาชีพนี้ เพื่อให้คนมีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมกว่าเข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทน

        หลังจากข้อความเผยแพร่บนโซเชียลมีเดีย ก็มีผู้คนเข้ามาร่วมพูดคุย ถกเถียง แลกเปลี่ยนกันผ่าน “#ทําไมครูไทยอยากลาออก” ว่าปัจจุบันครูไทยกำลังต้องเผชิญกับสิ่งใดบ้างกันเป็นจำนวนมาก เพียงทวิตเตอร์ช่องทางเดียวมีผู้คนร่วมแลกเปลี่ยนมากกว่า 1 แสนข้อความ  ส่วนในแอปพลิเคชัน Clubhouse จัดโดยกลุ่มขับเคลื่อนการศึกษา “ครูขอสอน” และ “อะไรอะไรก็ครู” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 4000 คน ได้ช่วยกันสรุปสาเหตุหลักที่น่าจะทำให้ครูไทยอยากลาออกว่ามี 3 ประการด้วยกัน 

        เรื่องแรกคือวัฒนธรรมในโรงเรียนแบบราชการที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสอนเป็นหลัก แต่มุ่งทำงานตอบโจทย์ความเป็นราชการมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นอำนาจการเมืองภายในโรงเรียนเอง ระบบบุญคุณและระบบอาวุโสที่ทำให้ครูรุ่นใหม่ถูกครูรุ่นเก่าใช้งานอย่างไม่เหมาะสม ระบบการประเมินผลงานและการขึ้นเงินเดือนที่ไม่ได้ตัดสินจากผลงาน ไม่โปร่งใส และมีเรื่องเส้นสายเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยมีนักศึกษาฝึกงานและครูอัตราจ้างเป็นผู้ที่โดนกดขี่เชิงอำนาจมากที่สุด

        สอง คือเรื่องคุณภาพชีวิต ครูถูกคาดหวังว่าจะต้องเป็นครูตลอดเวลา มีการเกณฑ์ไปปฏิบัติงานของโรงเรียนในวันหยุดเป็นปกติ ขณะที่ในวันธรรมดาก็มีปริมาณภาระหน้าที่ที่มากเกินกว่าจะทำได้เสร็จ ไม่ว่าจะเป็นการทำเอกสาร ประเมินงาน ธุรการ งานพัสดุ หรือแม้แต่การเฝ้าเวรยามตอนกลางคืน ถึงอย่างนั้นเงินเดือนครูกลับน้อยนิดไม่สอดรับกับหน้าที่ 

        สาม คือความไม่สมเหตุสมผลในการปฏิบัติหน้าที่ เช่นการต้องใช้เงินส่วนตัวซื้อของใช้ในโรงเรียน หรือการเตรียมการสอนไม่ถูกนับเป็นชิ้นงาน ขณะที่การทิ้งห้องเรียนไปเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ถูกนับเป็นผลงานได้มากกว่า

        “ภาระงานที่เกินหน้าที่ตัวเอง หรืองานบางอย่างที่ไม่สมควรมี แต่ครูก็ต้องไปทำ ไปรับมาเป็นภาระเพิ่มเติม ค่อนข้างเป็นปัญหาของครู อาชีพครูไม่น่าจะต้องทำเพื่ออุดมคติหรือทำเพื่อสังคมขนาดนั้น อยากให้ครูอยู่ได้ ได้รับเงินเดือนที่เหมาะสม ได้รับคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะครูก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน” ครูแบงค์ - ธนาคาร มะลิทอง จากโรงเรียนสุจิปุลิ จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้ความเห็นถึงสถานภาพของครูที่ควรจะเป็น

        ปรากฏการณ์ #ทำไมครูไทยอยากลาออก ทำให้เรามองภาพระบบโรงเรียนที่ไม่น่าอยู่นี้ได้ชัดขึ้นว่าครูเองก็ตกเป็นส่วนหนึ่งของผู้รับผลกระทบจากปัญหาของการบริหารจัดการระบบการศึกษาที่ใหญ่กว่า 

        จะมีครูอีกกี่คนที่มีความฝันตั้งใจเป็นครูที่ดี แต่ไม่สามารถทนได้กับระบบที่เป็นอยู่  และสำหรับครูที่ยังไม่ลาออก จะปฏิบัติหน้าที่ครูให้กับเด็กได้อย่างเต็มที่มากน้อยแค่ไหน 

คลี่คลายอำนาจในห้องเรียน

“ปัญหาที่ครูในระบบการศึกษาไทยกำลังเผชิญนั้นมีหลายระดับและสลับซับซ้อนมาก สิ่งที่เราค้นพบคือตอนนี้สภาพจิตใจของครูเริ่มล้า เริ่มหมดพลัง ในภาษาอังกฤษเรียกว่า burnout แล้วครูก็ไปไม่เป็น บางคนอาจจะรู้สึกถอดใจไปเลย อยากจะลาออกทั้ง ๆ ที่ตัวครูเองเคยเป็นผู้ที่มีอุดมการณ์ มีความมุ่งมั่นอยากมาเป็นครูที่ดี ด้วยสาเหตุของระบบและปัญหาต่างๆ ที่ทับถมกันขึ้นมาทำให้เกิดสภาวะนี้” 

        อาจารย์ “อ้อ” - รศ.ดร. อนุชาติ พวงสำลี’ ประธานบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าถึงสภาวะความทุกข์เรื้อรังที่ครูไทยกำลังเผชิญ

        “ระบบการศึกษาปัจจุบันสร้างความทุกข์ให้กับคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เป็นการศึกษาที่ทุกคนห่วงใย ครูมีความเสียสละ ผู้บริหารมีความปรารถนามุ่งมั่นอยากจะพัฒนา แต่ว่ายังไปไม่ถึงฝั่งฝัน

        “สองสิ่งแรกที่ต้องลงมือทำไปพร้อมๆ กันเพื่อแก้ปัญหา คือการเรียกขวัญคุณครูคืนมา ช่วยให้ครูนึกออกว่าความตั้งใจ ความภาคภูมิใจในการเป็นครูของตนเองนั้นคืออะไร เป็นเหมือนการพาจิตใจที่ฟุ้งกระเจิงของครูกลับบ้าน ควบคู่ไปกับการชวนครูมองเห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่พัวพันอยู่รอบวิชาชีพของตนเองใหม่”

        ปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียนไม่ได้มีสาเหตุมาจากตัวบุคคลเพียงอย่างเดียว แต่ใต้ภูเขาน้ำแข็งยังมีเรื่องระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันซ่อนอยู่

        “เมื่อครูเข้าใจความสัมพันธ์ทางอำนาจที่มากขึ้น มองเห็นว่าตนเองเป็นผู้ใช้อำนาจอย่างไร และเป็นผู้ถูกกดทับอย่างไรในระบบโรงเรียนและระบบการศึกษา ครูก็จะคลี่คลายได้มากขึ้น และเปลี่ยนความสัมพันธ์เดิมให้เป็นความสัมพันธ์ในแนวระนาบมากขึ้นกว่าเดิม”

        แม้การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาจะเป็นเรื่องใหญ่ระดับนโยบายของรัฐ แต่พลังจากกลุ่มคนเล็กๆ ที่มีความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงก็เป็นส่วนสำคัญในการขยับขับเคลื่อนห้องเรียนและโรงเรียนให้น่าอยู่ได้ทันที  เริ่มจากครูที่เปลี่ยนแปลงห้องเรียนของตนเอง ขยายไปสู่การเปลี่ยนแปลงโรงเรียน และระบบในภาพใหญ่  หากเราสามารถคืนครูให้กับห้องเรียน ลดภาระงานเอกสารต่างๆ ให้ครูกลับไปดูแลเด็กอย่างเต็มที่ พร้อมกับเพิ่มทางเลือกที่หลากหลายให้เด็กได้มีส่วนร่วม  ได้แสดงออก และสามารถเข้าใจตนเอง  

        ถึงเวลาที่ทุกคนต้องมาช่วยกันออกแบบระบบการศึกษาใหม่ มองนักเรียนและครูในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง