Loading...

จินตนาการใหม่ของเยาวชนไทยสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคม

        “เยาวชนคือผู้กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนสังคมในอนาคต” คำกล่าวที่เรามักได้ยินเกี่ยวกับคนรุ่นใหม่มักเป็นคำที่แสดงถึงความคาดหวังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงและการสร้างสรรค์สังคมที่ดี สะท้อนความเชื่อของคนส่วนใหญ่ที่ว่า เยาวชนเป็นกลุ่มคนที่จะมีบทบาทสำคัญและมีอิทธิพลในสังคมมากขึ้นในอนาคต พวกเขาไม่เพียงเป็นผู้รับผิดชอบต่ออนาคตของตัวเองเท่านั้น แต่ยังมีบททบาทในการสร้างการพัฒนาในสังคมอีกด้วย แต่ด้วยโครงสร้างประชากรในปัจจุบันซึ่งกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ จึงอาจทำให้พื้นที่ที่ให้เยาวชนหรือคนรุ่นใหม่ได้แสดงพลัง สร้างสรรค์นวัตกรรม หรือสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ อาจยังไม่เพียงพอ ด้วยเหตุนี้ เราจะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่ได้มีพื้นที่ในแสดงออกอย่างอิสระ ได้ใช้จินตนาการ และได้ปล่อยของดีที่มีอยู่ในตัว

        LSEd Let’s Talk ชวนพูดคุยกับ รศ.ดร.ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล หรือ อ.แต้ว อาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ “จินตนาการใหม่ของเยาวชนไทยสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคม” ที่ทำงานกับเยาวชนโดยตรง ร่วมกับ ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง 101 PUB และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

        อ.แต้ว เล่าถึงกระแสสภาวะที่เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมาสังคมทั่วโลกได้เกิดวิกฤติหลากหลายทั้งด้านปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง สงคราม ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงเรื่อย ๆ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติจากธรรมชาติ นำไปสู่การตั้งคำถามต่อความหวังที่มีต่อสังคมและโลกที่ตนเองอยู่ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่พวกเขาต้องใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ไปอีกนาน

        คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. มีความมุ่งมั่นในการสร้างสังคมแห่งการเคารพและเรียนรู้ร่วมกัน และมีภารกิจหลักในการบ่มเพาะนวัตกรการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม เล็งเห็นความสำคัญในการต่อยอดการประยุกต์ใช้เครื่องมือจินตนาการใหม่ของเยาวชนไทยกับกลุ่มเยาวชน ผนวกกับการเติมเต็มกระบวนการพัฒนาการออกแบบนวัตกรรมสังคม เพื่อให้เยาวชนได้นำจินตนาการของตนเองสู่การปฏิบัติจริง นำไปสู่การขับเคลื่อนสังคมต่อไป เราจึงริเริ่มโครงการจินตนาการใหม่ของเยาวชนไทยสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจประเด็นสาธารณะที่เยาวชนให้ความสำคัญและจินตนาการใหม่ต่อประเด็นที่พวกเขาสนใจ ออกแบบและพัฒนากระบวนการนำจินตนาการใหม่ของเยาวชนสู่การพัฒนานวัตกรรมทางสังคม ตลอดจนถอดการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเยาวชนที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการนี้

        ซึ่งในช่วง ปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา โครงการจิตนาการใหม่ของเยาวชนไทย ที่ดำเนินการโดยศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง (101 PUB) ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการโดยประยุกค์ใช้เครื่องมือดังกล่าวกับกลุ่มเยาวชนไทย แบ่งเป็น 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1) เรื่องเล่าแห่งอนาคต 2) เมืองแห่งอนาคต 3) ความหวังที่ไม่มีอะไรกั้น: จินตนาการสู่ประเทศไทย พ.ศ. 2615 และ 4) ทาบจินตนาการสู่ความเป็นจริง โดยผลการศึกษาพบว่า การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการจินตนาการพลเมืองดังกล่าวได้เป็นเสมือนพื้นที่ปลอดภัยให้เยาวชนได้ปลดปล่อยจินตนาการและความคิดได้เต็มที่โดยไม่ถูกสังคมหรือคนรอบข้างตัดสิน ผู้เข้าร่วมหลายส่วนได้สะท้อนความต้องการให้มีกิจกรรมที่เปิดให้พวกเขาใช้จินตนาการได้อย่างเสรีแบบนี้ในโรงเรียน สถานศึกษา หรือพื้นที่บริบทอื่น ๆ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มเต้นสำคัญของการก้าวสู่การต่อยอดเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคมต่อไป (วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง, ภาคิน นิมมานนรวงศ์ และ สรัช สินธุประมา, 2565)

        “การดำเนินกิจกรรมที่ผ่านมาโดย 101 PUB ได้ช่วยเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้มาปลดปล่อยจินตนาการที่พวกเขามี และความหวังที่อยากเห็นสังคมดีขึ้น ผ่านเครื่องมือ Civic imagination แล้ว อย่างไรก็ตาม ความท้าทายหนึ่งที่เป็นโจทย์สำคัญให้คณะวิทยาการเรียนรู้ ฯ คิดต่อ คือ จะทำอย่างไรให้จินตนาการและความหวังที่จุดติดจากเครื่องมือนี้ ต่อยอดสู่การสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ หรือ นวัตกรรมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมได้จริง” อ.แต้วกล่าวถึงที่มาของโครงการจินตนาการใหม่ของเยาวชนไทยสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคม โดยคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์

“เครื่องมือจินตนาการพลเมือง”

        เครื่องมือ “จินตนาการพลเมือง” (Civic Imagination) เกิดจากการพัฒนาแนวคิดของกลุ่ม Civic Path แห่งมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย ในปี พ.ศ.2559 ด้วยความเชื่อว่า เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้หากไร้ซึ่งจินตนาการว่าโลกที่ดีกว่านั้นหน้าตาเป็นเช่นไร และให้นิยามจินตนาการพลเมืองว่าหมายถึง ความสามารถในการจินตนาการถึงทางเลือกอื่น ๆ โดยไม่ติดกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน (Jenkins 2020, 5)

        อ.แต้ว กล่าวถึงกรอบแนวคิดที่กลุ่ม Civic Paths พัฒนาขึ้นมาเพื่ออธิบายหน้าที่ของจินตนาการพลเมืองใน 6 มิติ ที่เชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์ตั้งแต่การเสริมพลังในระดับบุคลไปยังระดับรวมหมู่ ดังนี้

        1) จินตนาการถึงตนเองในฐานะพลเมืองผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง (Imagine Purselves as Civic Agents.) เชื่อมโยงจินตนาการเข้ากับอัตลักษณ์ส่วนบุคคลและอัตลักษณ์ทางสังคม ซึ่งช่วยให้ปัจเจกชนตระหนักถึงพลังของตนในฐานะพลเมืองผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง

        2) จินตนาการถึงโลกที่ดีกว่า (Imagine a Better World.) ตระหนักถึงคุณค่าของการจินตนาการถึงอนาคตแบบไร้ข้อจำกัด รวมถึงการสร้างเรื่องเล่ายูโทเปียและดิสโทเปียเพื่อจุดประกายให้เกิดการครุ่นคิดถึงสาเหตุและเป้าหมายของการต่อสู้

         3) จินตนาการว่าตนเองเชื่อมสัมพันธ์กับชุมชนที่มีขนาดใหญ่กว่า (Imagine Our Social Connections with a Larger Community.) ใช้จินตนาการในการประกอบสร้างอัตลักษณ์รวมหมู่ชุมชนในจินตกรรม และประวัติศาสตร์ร่วม

        4) นำจิตนาการไปสู่พื้นที่และบริบทในโลกจริง (Bring an Imagnative Dimension to Our Real World Spaces and Places.) กระตุ้นให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างจินตนาการพลเมืองพื้นที่เชิงวัฒนธรรม และพื้นที่/สถานที่จริง

        5) กระชับความสัมพันธ์กับผู้อื่นที่มีประสบการณ์แตกต่างจากตน (Forge Solidarity with Others with Experiences Different form Our Own.) ค้นหาจินตนาการที่จำเป็นต่อการสร้างเครือข่ายสัมพันธ์กับกลุ่มที่แตกต่างหลากหลายในห้วงเวลาแห่งการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมทางสังคมและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

        6) จินตนาการถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลง (Imagine the Process of Change.) จินตนาการถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่เป้าหมายและยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหว

        กลุ่ม Civic Paths เน้นย้ำว่าจินตนาการในที่นี้ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งเพ้อฝันหรือหนทางในการหลบหนีจากโลกความจริง เหมือนการถูกวิจารณ์หรือเข้าใจผิด แต่มันคือโลกแห่งจินตนาการที่สร้างปริมณฑลสาธารณะที่ผู้คนสามารถมาถกเถียงถึงประเด็นทางสังคมและอนาคตที่ตนปรารถนา เพื่อทำความเข้าใจมุมมองความคิดของผู้อื่น และช่วยสร้างสำนึกความเป็นพลเมืองซึ่งจะนำไปสู่พลังทางการเมืองและสังคมเพื่อการเปลี่ยนแปลงในโลกจริง เหมือนดั่งหน้าที่ทั้ง 6 มิติ ของจินตนาการพลเมืองแสดงให้เห็นว่า เราสามารถกระตุ้นจินตนาการแห่งความหวัง ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่การสร้างชุมชน การสร้างสำนึกพลเมือง การวางแผนปฏิบัติการ และการลงมือเปลี่ยนแปลงได้

กิจกรรมการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในโครงการ “จินตนาการใหม่ของเยาวชนไทยสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคม”

        อ.แต้ว เล่าถึงกิจกรรม Workshop ครั้งที่ 1: Civic Imagination and Creative Communication ว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้โครงการจินตนาการใหม่ของเยาวชนไทยสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคม ที่นำเครื่องมือ Civic Imagination มาทดลองใช้และต่อยอดกับความเชี่ยวชาญของคณะเพื่อนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งโจทย์ของ Workshop นี้ คือ น้อง ๆ ที่เข้าร่วมจะได้รู้จักและเข้าใจแนวคิดและเครื่องมือสร้างจินตนาการพลเมือง เช่น เมืองแห่งอนาคต ร่วมสร้างเมืองใหม่ ฯลฯ ได้เห็นประเด็นทางสังคมทั้งเชิงกว้างและเชิงลึกมากขึ้นผ่านเครื่องมือการวิเคราะห์ประเด็นต่าง ๆ เช่น Stakeholder analysis Problem tree Persona ฯลฯ ได้มีเครื่องมือการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์ที่สามารถสื่อสารประเด็นสังคมได้หลากหลายขึ้น เช่น ละคร มีเดีย คลิปสั้น ภาพวาด ฉ่อย TedTalk PechaKucha ฯลฯ (หลาย ๆ เครื่องมือ ก็ผุดมาจากในวง) ส่วนประเด็นสังคมที่ผุดหลังจาก Workshop นี้ ก็ล้วนมาจากเรื่องที่ใกล้ตัวเขา แต่มี Impact กับคนเยอะมาก เช่น Office Syndrome โลกร้อน ความรุนแรงในโรงเรียน ช่องว่างระหว่างวัย เด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว ภาระงานของครูไทย ฯลฯ ความน่าสนใจคือ น้องสามารถเอาประเด็นเหล่านี้มาสื่อสารผ่านสื่อได้สร้างสรรค์มากภายในระยะเวลาสั้น ๆ  เช่น ภาพวาด ฉ่อย คลิปสั้น Pechakucha ฯลฯ

        ในโครงการเราทำงานร่วมกับทีมพี่เลี้ยงโครงการที่เป็นนักศึกษา LSEd และร่วมกันกำหนดเป้าหมายของงานทั้งหมดและแต่ละ Workshop ออกแบบกระบวนการร่วมกัน และเป็นทีมกระบวนกรหลักของ Workshop นี้ ที่น่าประทับใจมาก ๆ คือ ทีมพี่เลี้ยงใช้ศาสตร์และศิลป์ทั้งหมดที่เรียนมาบวกกับคุณสมบัติเฉพาะของตนเองได้อย่างงดงาม ทั้งหลักการออกแบบกระบวนการครอบคลุมทั้งฐานหัว กาย ใจ ได้อย่างสมดุล และสร้างสรรค์มาก อ่านพลังงานกลุ่มเก่งสามารถปรับเปลี่ยนแผนหน้างานได้ดี จับประเด็น ถอดบทเรียนได้ดี  ที่สำคัญคือทีมพี่เลี้ยงมีความรับผิดชอบสูงมาก และมี Passion กับการทำงานจริง ๆ จึงทำให้กิจกรรมที่ดำเนินมาตลอดทั้งวันสนุกและน่าสนใจมาก

        “พลังงานน้อง ๆ เยาวชนในโครงการยังเต็มร้อยเหมือนเดิม ทุกคนดูเต็มที่กับการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อเปลี่ยนสังคม”

        หลังจากที่จบ Workshop ครั้งที่ 1 ไป ที่ชวนน้อง ๆ เยาวชนมาปล่อยจินตนาการในการสร้างสังคมที่ดีขึ้น กับเติมเครื่องมือการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์ น้อง ๆ ไปทำการบ้านเพื่อเตรียมข้อมูลเชิงลึกมาเข้า Workshop ครั้งที่  2 ที่เป็นการเตรียมเอาจินตนาการ มาลงสู่การปฏิบัติจริง ผ่านเครื่องมือที่ได้ถูกนำมาใช้ในการส่งเสริมการออกแบบนวัตกรรมทางสังคมของเยาวชนได้ลงรายละเอียดและต่อยอดจากแนวคิดการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) เช่น Point of View (POV), Problem Statement, How Might We?, Theory of Change (TOC), Crazy Idea, และ Prototype

        หลังจบ Workshop ครั้งที่ 2 น้อง ๆ ได้ประเด็นสังคมที่แหลมคมขึ้น พร้อมไอเดียและต้นแบบในการพีฒนานวัตกรรม เช่น การพัฒนาการ์ดเกมเพื่อแก้ปัญหาช่องว่างระหว่างวัย ที่เป็นประเด็นสำคัญในยุคปัจุบันที่น้อง ๆ ได้หาข้อมูล ทำความเข้าใจปัญหามาอย่างดี ผนวกเข้ากับสื่อนวัตกรรมที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ง่าย หรือ บางกลุ่มที่ทำประเด็นเรื่องความรุนแรงในสถานศึกษา ก็เลือกแนวทางด้วยการทำแคมเปญร่วมกับหนังสั้น ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียที่พวกเขามีอยู่ในมือ

        “เราเชื่อเสมอว่าตอนนี้คนรุ่นเราและสูงกว่าเรา ต้องเริ่มขยับตัวเองมาทำหน้าที่เป็นคนที่คอยหาและเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นนี้เขาได้ปลดปล่อยจินตนาการ สนับสนุนให้พวกเขาได้สร้างสรรค์ผลงาน ให้พวกเขาได้มีสิทธิ์มีเสียงเพิ่มขึ้น ได้มีบทบาทในการสร้างการเปลี่ยนแปลงประเทศต่อไปแล้ว”

เรียบเรียงโดย นวนันต์ เกิดนาค