Loading...

ก่อการครู: หนุนพลังครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงขับเคลื่อนการศึกษาอย่างอ่อนโยน

        การศึกษาถือเป็นรากฐานที่สำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม การศึกษาจะเป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาผู้คนให้มีความรู้ ความสามารถ และมีคุณธรรม อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและสังคมโดยรวม ในช่วงปีที่ผ่านมาระบบการศึกษาไทยได้เผชิญกับความท้าทายและข้อจำกัดหลายประการ ทั้งในด้านนโยบายการศึกษา เทคโนโลยีการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไปตามโลก และการต่อสู้กับวาทกรรมและความเชื่อเดิม บทบาทของครูในปัจจุบันจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ครูไม่เพียงแต่เป็นผู้สอนที่ถ่ายทอดความรู้เพียงอย่างเดียวแต่ยังเป็นผู้นำทางที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาสมรรถภาพของผู้เรียน

        LSEd Let’s talk ชวนมาทำความรู้จักกับโครงการ “ก่อการครู” โครงการขับเคลื่อนพัฒนาการศึกษาไทยผ่านการทำงานร่วมกับเครือข่ายครูทั่วประเทศ ผ่านบทสัมภาษณ์ รศ.ดร.สิทธิชัย วิชัยดิษฐ (อ.เปี๊ยก) อาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ และเป็นผู้ที่ทำงานร่วมกับโครงการก่อการครูมาตั้งแต่ยุคบุกเบิก

        โครงการก่อการครู โดยคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมผ่านการทำงานร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคีที่ทำงานด้านการศึกษาและการพัฒนามนุษย์ โดยเล็งเห็นว่าแท้จริงแล้วกุญแจสำคัญในระบบการศึกษา คือ ครู หรือ “ ผู้นำการเปลี่ยนแปลง ” (Change Agents) ผู้หล่อหลอมกรอบความคิด (Mindset) ในการสร้างการเรียนรู้ บ่มเพาะคุณลักษณะภาวะผู้นำและพัฒนาศักยภาพให้แก่เด็กและเยาวชน ซึ่งจะเติบโตขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคมไทย

ความสำคัญของ “ครู” ต่อการเปลี่ยนแปลงการศึกษา

        อ.เปี๊ยก กล่าวว่า ครูมีความสำคัญที่สุดในการเปลี่ยนแปลงการศึกษา แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนหลักสูตร เปลี่ยนนโยบาย หรือเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรอย่างไรก็ตาม ถ้าไม่มีครู การเปลี่ยนแปลงที่ตัวเด็กย่อมไม่เกิดขึ้น ซึ่งการกล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า เป็นเพราะครูคือผู้ปฏิบัติ ที่ต้องนำนโยบายสู่ห้องเรียน หรือเป็นผู้ที่ทำตามหลักสูตรเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะ ครูคือผู้ที่มีโอกาสมากที่สุดที่จะเข้าถึงและเข้าใจเด็ก เป็นผู้ที่มีโอกาสที่จะสร้างประสบการณ์ที่ทรงคุณค่าและมีความหมายต่อการเรียนรู้ของเด็กตรงหน้าที่มีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งในระดับบุคคลหรือระดับบริบทพื้นที่ แต่น่าเสียดายที่บ่อยครั้ง ครูก็สูญเสียโอกาสเหล่านั้นไปกับเรื่องอื่น ๆ ที่อยู่ในภาระหน้าที่ที่ต้องทำเช่นกัน เช่น งานเอกสาร งานธุรการ หรือแม้กระทั่งบางครั้งมองเห็นสิ่งที่ควรลงมือทำเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียน แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะอาจจะขัดกับแนวทางหรือวิธีการเดิม ๆ ที่สืบทอดมา

จุดเริ่มต้นหรือเป้าหมายของการก่อตั้งโครงการก่อการครู

        คำว่า “ก่อการ” หมายถึง ริเริ่ม สร้างสรรค์ ดังนั้น ครูผู้ก่อการ คือ ครูที่ริเริ่มสร้างสรรค์การเรียนรู้ที่ดีที่สุดให้นักเรียน แม้สิ่งเหล่านั้นอาจเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนก็ตาม แต่นั่น อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

        โครงการก่อการครู จึงมีเป้าหมายเพื่อเป็นพื้นที่การเรียนรู้ ให้กับคุณครูเหล่านั้น ได้เสริมพลัง ความรู้ ฝึกฝนทักษะ และที่สำคัญที่สุดคือการเชื่อมสัมพันธ์ เป็นเครือข่ายของครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงขับเคลื่อนการศึกษาทั้งประเทศ โดยปัจจุบันได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

คณะฯ และเครือข่าย เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนโครงการนี้อย่างไรบ้าง

        คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ เปรียบเสมือนสถานีชุมทาง ให้คนทำงานและผู้เชี่ยวชาญมีประสบการณ์ด้านการศึกษาและการเรียนรู้ได้มาร่วมกันทำงานร่วมกับคุณครู ทั้งในบทบาทการเป็นวิทยากร การจัดกระบวนการเรียนรู้ และสนับสนุนการขับเคลื่อนในพื้นที่ ซึ่งมีทีมคณาจารย์ที่ใช้ศักยภาพและความสามารถของตนเองเข้ามาร่วมสร้างการเรียนรู้กับโครงการ รวมถึงคณะเองก็เป็นพื้นที่เชิงกายภาพในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ของคุณครูเช่นเดียวกัน

กิจกรรมที่จัดขึ้นในแต่ละครั้งสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับคุณครู รวมถึงห้องเรียนของพวกเขา และระบบการศึกษาอย่างไร

        อ.เปี๊ยก เล่าว่าได้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ทางการศึกษาและการเรียนรู้เกิดขึ้นมากมายตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา ทั้งในระดับการเปลี่ยนแปลงในชั้นเรียน จนถึงการเปลี่ยนแปลงในบริบทพื้นที่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เห็นเด่นชัดที่สุดคงเป็นช่วงโควิด-19 ที่นักเรียนไม่สามารถมาโรงเรียน ได้มีเครือข่ายคุณครูผู้ก่อการ ทำโครงการ “รถพุ่มพวงชวนเรียนรู้” นำพากิจกรรมและสื่อ ไปสร้างการเรียนรู้ให้กับนักเรียนในชุมชน เป็นการเรียนรู้ที่ยึดโยงกับชีวิตและบริบทพื้นที่ จนได้รับการยกย่องให้เป็นนวัตกรรมการศึกษาที่ได้รับการยอมรับ หรือกลุ่มคุณครูที่พยายามสร้างชุมชนการเรียนรู้ที่ไม่ได้เป็นเพียงการประชุมนับชั่วโมง แต่เป็นไปเพื่อยกระดับการศึกษาในโรงเรียนอย่างแท้จริง และในปัจจุบันที่มีการทำงานในลักษณะ “โหนดก่อการครู” (Teach Agency Node) เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาทั้งในเชิงพื้นที่จังหวัดในแต่ละภาคทั่วประเทศ และในเชิงประเด็น เช่น ความปลอดภัยและสิทธิเด็กในโรงเรียน การดูแลสุขภาวะทางจิตของนักเรียน การพัฒนานักศึกษาครู การศึกษาฐานสมรรถนะเชื่อมชุมชน หรือ การพัฒนาครูพระอาจารย์ และในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มคุณครูผู้ก่อการได้รวมตัวกันจัดกิจกรรมก่อการครูออนทัวร์ใน 3 ภูมิภาค เหนือ กลาง ใต้ เพื่อขับเคลื่อนสิ่งที่พวกเขากำลังทำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย โดยเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการจัดการศึกษาในพื้นที่ และผู้กำหนดนโยบายมาร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับปัญหาทางการศึกษาและแนวทางแก้ไขที่กลุ่มคุณครูได้ริเริ่มลงมือทำ ถือเป็นการขับเคลื่อนการศึกษาจากฐานรากอย่างแท้จริง

#บันทึกผู้ก่อการ ก่อการครูออนทัวร์ ภาคเหนือ

#บันทึกผู้ก่อการ ก่อการครูออนทัวร์ ภาคใต้

#บันทึกผู้ก่อการ ก่อการครูออนทังร์ ภาคกลาง

แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของการศึกษาไทยที่อยากให้เกิดขึ้นในอนาคต

        จากการได้มีโอกาสร่วมทำงานในโครงการจัดการความรู้และขับเคลื่อนระบบการศึกษาและการเรียนรู้ Strategic Agenda Team (SAT) ทำให้ อ.เปี๊ยก เห็นแนวโน้มว่า ระบบการศึกษาที่มีอยู่มีความจำเป็นต้องเคลื่อนตัวเข้าหากัน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถลื่นไหลไปมาได้ ทั้งระหว่างการศึกษาในและนอกระบบ การศึกษาของศูนย์กลางและชายขอบ การบูรณาการระหว่างสาขาวิชา และการทำงานร่วมกันของเครือข่ายการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้การเรียนรู้ของผู้เรียน “ไร้รอยต่อ” และเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้ ดังนั้น ทุกคนต้องเชื่อก่อนว่าตัวเราเองมีศักยภาพในการช่วยส่งเสริมยกระดับการศึกษาให้กับประเทศ ในการเชื่อมต่อผู้คนทางการศึกษาและครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง

        โครงการก่อการครู จึงนับว่าเป็นอีกหนึ่งความหวังในการพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้เป็นการศึกษาเพื่อผู้เรียนอย่างแท้จริง เป็นการเรียนรู้ที่มีความหมายและช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงแก่สังคมโดยรวมได้

เรียบเรียงโดย นวนันต์ เกิดนาค