Loading...

“ห้องเรียนวัฒนธรรม” กับการเท่าทันอคติต่อกลุ่มเปราะบางในสังคมไทย

        คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ร่วมกับ ศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร (องค์การมหาชน) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “ห้องเรียนวัฒนธรรมกับการเท่าทันอคติต่อกลุ่มเปราะบาง” เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ทีมกระบวนกรนำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไอยเรศ บุญฤทธิ์ (อ.ช้าง) ผู้อำนวยการโครงการฯ และคณะเครือข่ายห้องเรียนวัฒนธรรมซึ่งประกอบด้วยอาจารย์ นักวิชาการ นักขับเคลื่อนสังคมจากทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายคือการสร้างหลักสูตร และโมดูลการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่จะนำไปใช้ในสำหรับการเรียนการสอนในระดับต่าง ๆ

        กิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมที่มีความแตกต่างหลากหลายทั้งในเชิงอายุ วัยวุฒิ คุณวุติ การศึกษา อาชีพ สมรรถนะของร่างกาย ฯลฯ ทั้งนี้ ความแตกต่างหลากหลายดังกล่าว ส่งผลให้กระบวนการต่าง ๆ ที่ได้รับการออกแบบมานั้น เกิดประสิทธิภาพในเชิงของการสร้างองค์ความรู้ มุมมอง ความคิด ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมิติของกลุ่มเปราะบางที่ขยายขอบเขตของคำนิยามโดยทั่วไป

        วันนี้ LSEd Let’s Talk จึงอยากชวนทุกคนล้วงเบื้องลึกแนวคิดที่อยู่ภายใต้การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้แต่ละโมดูล กระบวนการที่เกิดขึ้นจริง รวมทั้งเสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วม ผ่านการพูดคุยกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไอยเรศ บุญฤทธิ์ (อ.ช้าง) ผู้อำนวยการโครงการฯ

        อ.ช้าง กล่าวว่า กระบวนการที่นำมาออกแบบและปรับใช้ในกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “ห้องเรียนวัฒนธรรมกับการเท่าทันอคติต่อกลุ่มเปราะบาง” ครั้งนี้จัดเป็น “หลักสูตรระยะสั้น” คือการนำโมดูลต่าง ๆ มาร้อยเรียงกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อพูดคุยเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้จึงเป็นการยกประเด็นเรื่องของ กลุ่มเปราะบางในสังคมไทย มาพูดคุยกัน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างการตระหนักรู้ และการเท่าทันอคติต่อกลุ่มเปราะบางในสังคมไทย

        “ประชาชนกลุ่มเปราะบาง” หมายถึงประชากรที่มีความอ่อนแอหรืออ่อนด้อยในการรับมือกับปัญหาที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม เปรียบเสมือนสิ่งของที่เปราะบางเสียหายง่าย ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะเปราะบางของประชากรประกอบด้วยลักษณะทางธรรมชาติและสุขภาพ การเป็นชนกลุ่มน้อย การถูกจองจำหรือจำกัดอิสรภาพ ความยากจน และความไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้าง ซึ่งประชากรเหล่านี้มักไม่ได้รับการปฏิบัติตามหลักการสิทธิมนุษยชน (อ้างอิงจาก: สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน)

        นอกจากการให้ความหมายคำว่า “กลุ่มเปราะบาง” ซึ่งโดยทั่วไปมักหมายถึง ผู้สูงอายุ คนไร้สัญชาติ หรือคนไร้บ้าน เป็นต้น แต่กิจกรรมห้องเรียนวัฒนธรรมยังชักชวนให้ผู้เข้าร่วมได้ลองมองความหมายของคำว่า “กลุ่มเปราะบาง” อย่างลุ่มลึกและกว้างกว่าคำนิยามหรือการจำกัดประเภทที่เป็นสากล อ.ช้าง อธิบายเพิ่มเติมว่า นิยามของกลุ่มเปราะบางแบ่งออกเป็น 5 มุมมอง ซึ่งมุมมองเหล่านี้อาจทำให้เรามองว่าเราเองก็เป็นกลุ่มเปราะบางได้เหมือนกัน เพราะเราก็เป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากคนในสังคมหรือนโยบายรัฐ ในขณะเดียวกัน เราเองก็อาจเป็นผู้ที่ทำให้คนอื่นตกเป็นกลุ่มเปราะบางได้เหมือนกัน ซึ่งบางครั้งอาจทำโดยไม่รู้ตัว หรือเกิดจากการผลิตซ้ำเรื่องบางอย่าง หรือแม้แต่การมองว่าระบบที่มีอยู่แล้วเป็นสิ่งที่ดี แต่แท้จริงแล้วระบบนี้อาจทำให้บางคนไม่ได้รับสิทธิ์บางอย่าง ดังนั้น โมดูลที่แฝงอยู่ในการออกแบบของแต่ละกิจกรรมจึงไม่เพียงแต่บอกว่า “กลุ่มเปราะบาง  คืออะไร” แต่เป็นโมดูลที่ชวนให้ผู้เข้าร่วมได้ดึงประสบการณ์เดิมร่วมกับเรื่องของกลุ่มเปราะบางตามนิยามที่เราต้องการมาพูดคุยถกเถียงกัน จนประกอบสร้างเป็นความรู้ใหม่ร่วมกัน

3 โมดูล 6 รายวิชา

🔸โมดูลที่ 1: พื้นฐานความเข้าใจเรื่องอคติทางวัฒนธรรม (2 โมดูลย่อย) ประกอบด้วย

1.1 โมดูลพื้นฐานการทำความเข้าใจอคติทางวัฒนธรรม 

(ชื่อโมดูล: เพียงกระซิบบอก / โมดูลการทำความเข้าใจและเท่าทันอคติขั้นพื้นฐาน)

ร่วมพัฒนาโมดูลโดย: ผศ.ดร.ไอยเรศ บุญฤทธิ์, ผศ.ดร.กิตติ คงตุก , ผศ.ดร.อัครา เมธาสุข และ คุณฉัตรบดินทร์ อาจหาญ

1.2 โมดูลเครื่องมือสำหรับการทำความเข้าอคติทางวัฒนธรรม

(ชื่อโมดูล: Multiple Intelligence เพราะแตกต่างจึงหลากหลาย เครื่องมือทำความเข้าใจอคติ

ร่วมพัฒนาโมดูลโดย: รศ.ดร.ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล, ผศ.ดร.ชลิดา จูงพันธ์, อ.กานน คุมพ์ประพันธ์ และ ผศ.ดร.ธิดา ทับพันธุ์

        อ.ช้าง เล่ากระบวนการที่เกิดขึ้นภายในโมดูลที่ 1.1 ว่าเป็นการทำความเข้าใจ “อคติ” โดยที่ยังไม่กล่าวถึงกลุ่มเปราะบาง เพราะก่อนจะทำความเข้าใจกลุ่มเปราะบาง เราต้องเข้าใจความหมายและการอยู่ร่วมกับอคติก่อน ซึ่งเมื่อเข้าใจนิยามความหมายของอคติแล้ว โมดูลถัดไปจึงเป็นการติดเครื่องมือในการทำความเข้าใจอคติ (โมดูลที่ 1.2)

        กลุ่มเปราะบาง เป็นกลุ่มคนที่มีความแตกต่างหลากหลายเป็นอย่างมาก เราจึงเลือกใช้ “พหุปัญญา (Multiple Intelligences)” เป็นเครื่องมือทำความเข้าใจอคติ กล่าวคือ เมื่อผู้คนมีความหลากหลายก็ย่อมมีมุมมองที่แตกต่างกันออกไป คนจึงถูกตัดสินผ่านความสามารถของแต่ละคน เช่น เรามักจะบอกว่าเด็กที่มีความฉลาดทางคณิตศาสตร์เป็นคนเก่ง รวมทั้งสังคมก็ให้คุณค่ากับคนที่เรียนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เขาก็จะมองว่าคนที่เก่งศิลปะไม่ได้มีคุณค่าเท่าคนที่เก่งคณิตวิทย์ ซึ่งถือเป็นอคติ เป็นต้น จากตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในระบบการศึกษาไทย

🔸โมดูลที่ 2: การเท่าทันอคติในกลุ่มเปราะบาง (1 โมดูล)

(ชื่อโมดูล : Who dies first ใครตายคนแรก)

ร่วมพัฒนาโมดูลโดย: ผศ.ดร.พิสิฐ นาสี, ดร.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว,อาจารย์เสสินา นิ่มสุวรรณ, ผศ.ดร.กิตติ คงตุก,คุณกัญณัฐ คงรอด และคุณฉัตรบดินทร์ อาจหาญ

        เมื่อมีการวางพื้นฐานเกี่ยวกับความหมายและเครื่องมือแล้ว เราจึงเริ่มนำมิติ “อคติทางวัฒนธรรม” มาทำความเข้าใจกลุ่มเปราะบาง ซึ่งโมดูลที่ 2 นี้จะเน้นที่การตั้งคำถามว่า “อคติ คืออะไร?” กิจกรรมที่เกิดขึ้นจึงเป็นกิจกรรมที่มีชื่อว่า “Who dies first” โดยสร้างสถานการณ์ขึ้นมาว่าตอนนี้เกิดภาวะฝุ่น PM2.5 ทำให้คนในพื้นที่เป็นโรคปอดอักเสบ และทุกคนอยู่ในอาการโคม่าจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่เครื่องช่วยหายใจมีเพียง 1 เครื่อง เราจึงตั้งโจทย์ว่า ถ้าเราเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจมอบเครื่องช่วยหายใจให้กับผู้ประสบอาการโคม่าทั้ง 6 คนนี้ คุณจะมีใช้วิธีคิดอย่างไรในการมอบเครื่องนี้ให้เขา ซึ่งทั้ง 6 คนนี้มีความแตกต่างกันทั้งวิถีชีวิต ชาติกำเนิด และเงื่อนไขต่าง ๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นมุมมองของกลุ่มเปราะบางที่เราแฝงเข้าไปในกระบวนการ ซึ่งจากการที่ผู้เข้าร่วมได้พูดคุยถกเถียงกัน สุดท้ายแล้วกระบวนกรจะชวนสะท้อนคิดว่า การที่เราให้เหตุผลหรือแก้ต่างให้คนใดคนหนึ่งนั้น เรากำลังตกอยู่ภายใต้อคติเรื่องอะไร และอคติไม่ใช่เพียงเรื่องที่สื่อถึงความหมายเชิงลบเพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้น Who dies first จึงเป็นกิจกรรมที่ทำให้เห็นอคติที่แฝงอยู่ภายใต้ความคิดของเรา สุดท้ายแล้ว เราจะเห็นว่ามีการประกอบสร้างความหมายของคำว่า อคติ ภายใต้สังคม

🔸โมดูลที่ 3: ประเภทกลุ่มเปราะบาง การปฏิบัติตัว และการเรียนรู้อยู่ร่วม (3 โมดูลย่อย) ประกอบด้วย

3.1 กลุ่มผู้สูงวัย 

(ชื่อโมดูล: “มนุษย์ป้า” “เด็กสมัยนี้”: ทําความรู้จักวยาคติ)

ร่วมพัฒนาโมดูลโดย: รศ.ดร.ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล,ผศ.ดร.ชลิดา จูงพันธ์, ผศ.กานน คุมประพันธ์

3.2 กลุ่มผู้พิการหรือบุคคลผู้มีความพิเศษ 

(ชื่อโมดูล: แว็บ! แปล๊บ! ปิ๊ง! / กระบวนการเท่าทันอคติที่มีต่อผู้พิการในสังคมเพื่อการเรียนรู้อยู่ร่วม)

ร่วมพัฒนาโมดูลโดย: ผศ.ดร.ไอยเรศ บุญฤทธิ์ และ อาจารย์วรพล ศิริชื่นวิจิตร

3.3 กลุ่ม LGBTQ+ 

(ชื่อโมดูล: อคติแบบ "แอ๊บ ๆ" )

ร่วมพัฒนาโมดูลโดย: อาจารย์กานน คุมประพันธ์ และ ดร.ชัยณรงค์ จารุพงศ์พัฒนะ

        เมื่อมีความเข้าใจพื้นฐาน รู้จักเครื่องมือ และเข้าใจนิยามความหมายของคำว่ากลุ่มเปราะบางภายใต้เรื่องอคติแล้ว เราจึงออกแบบโมดูลที่ 3 (โมดูลใหญ่) เป็นการมุ่งไปที่กลุ่มเปราะบาง โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มผู้สูงอายุ 2) กลุ่มผู้พิการหรือบุคคลผู้มีความพิเศษ และ 3) กลุ่ม LGBTQ+ ซึ่งเหตุผลที่จำลองกลุ่มตัวอย่างเป็นคน 3 กลุ่มนี้มาจากเรื่องของกระแสสังคมในปัจจุบันที่มีจำนวนผู้สูงอายุที่มากจนกลายเป็นสังคมผู้สูงวัย และปรากฎการณ์ทางสังคมจากข่าวที่ผู้คนให้ความสนใจจำนวนมาก จึงทำให้เราเลือกกลุ่มเปราะบางทั้ง 3 กลุ่มนี้มาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ

        โมดูล 3.1 เป็นการทำความเข้าใจกลุ่มผู้สูงอายุ ชื่อโมดูล “มนุษย์ป้า” “เด็กสมัยนี้” จึงเป็นกระบวนการที่ชวนมองการปะทะกันระหว่างความคิด ว่าในปัจจุบันมีการนิยามความหมายเป็นภาพแทนของคนแต่ละ Generation ซึ่งคำว่า “มนุษย์ป้า” มองผิวเผินอาจเป็นคนปกติทั่วไป แต่ถ้าในด้านความหมายคือ การดูถูก หรือคำว่า “เด็กสมัยนี้” ก็เป็นการยกย่องว่าเด็กสมัยก่อนดีกว่าเด็กสมัยนี้ สิ่งเหล่านี้เป็นอคติที่ผูกติดกับความเป็นช่วงวัย อายุและประสบการณ์ชีวิต เพราะฉะนั้น อคติที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุจึงเป็นโมดูลที่เราชวนให้ผู้เข้าร่วมได้พูดคุย ทำความเข้าใจถึงที่มา และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับอคตินั้น

        โมดูล 3.2 เป็นกิจกรรมที่ชวนคิดว่าเมื่อเราเห็นผู้พิการแล้ว เราจะปรับเปลี่ยนความคิดของเราอย่างไรได้บ้าง เพื่อการเรียนรู้อยู่ร่วมกัน โมดูลนี้จึงต้องการเน้นว่า “อคติไม่ใช่เรื่องผิดปกติ” เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติและไม่ผิดที่จะมีอคติอย่างนั้น แต่เมื่อเราเกิดการตระหนักรู้แล้วว่ามีอคติเกิดขึ้น เราจะเปลี่ยนความคิดและวิธีปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์อย่างไร โมดูลนี้จึงถูกตั้งชื่อว่า “แว็บ! แปล๊บ! ปิ๊ง!” หากแตกแขนงความหมายของแต่ละคำแล้ว “แว๊บ!” คือความคิดแรกที่เกิดขึ้นเมื่อเราเห็นเขา เรามีความคิดอะไรกับเขา “แปล๊บ!” คือแสงแฟลชของกล้องขณะถ่ายภาพ ซึ่งเป็นการกดชัตเตอร์และได้ภาพนิ่ง เปรียบเป็นการหยุดความคิดเพื่อพิจารณาฉาก/เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้น เมื่อเกิดการคิดและเห็นภาพแล้ว ผู้เข้าร่วมจะสามารถถอดความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมได้ เราจึงใช้กิจกรรมนี้เพื่อดึงเอาสิ่งที่เรียกว่า ความคิด อารมณ์ ที่ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่ปฏิบัติต่อผู้อื่น เพื่อชวนให้ผู้เข้าร่วมสังเกตว่าเกิดความคิดและอารมณ์อย่างไร และ “ปิ๊ง!” เราให้ความหมายของกิจกรรมนี้ว่าเป็นการเสนอไอเดีย สร้างสรรค์ว่าการที่เราคิดแบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่เราจะเรียรู้และอยู่ร่วมกับผู้พิการอย่างไรได้บ้าง

        โมดูล 3.3 กลุ่ม LGBTQ+ ชื่อโมดูล แอ๊บ เป็นกิจกรรมที่ชวนมองพลวัตของการมองกลุ่ม LGBTQ+  เป็นการมองว่าระบบของสังคมทำให้มนุษย์มีการจัดกลุ่มประเภทของคน ซึ่งในสังคมปัจจุบันก็ยังคงยึดเรื่องความเป็นชาย - หญิง แต่เมื่อพูดถึง LGBTQ+ ที่มีความสัมพันธ์กับมิติด้านอคติ เมื่อสังคมไม่ได้มีการจำกัดเพศว่ามีเพียง 2 เพศ แต่คุณค่า วัฒนธรรม หรือความคิดเดิมยังคงอยู่ จึงเกิดการปะทะกันในเชิงโครงสร้าง ซึ่งสุดท้ายปลายทางของกระบวนการนี้อาจได้ข้อสรุปว่า จริง ๆ แล้วเราไม่ควรมีการแบ่งแยกประเภทของเพศ เพราะมนุษย์มีความแตกต่างหลากหลาย และในมิติทางมนุษยศาสตร์ ว่าด้วยเรื่องความเป็นมนุษย์ ว่าเราตัดสินเขาแล้วส่งผลต่อพฤติกรรมที่ปฏิบัติซึ่งกันและกันอย่างไรบ้าง

เสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมเรียนรู้ใน “ห้องเรียนวัฒนธรรมกับการเท่าทันอคติต่อกลุ่มเปราะบาง”

        อ.ช้าง เล่าว่าผู้เข้าร่วมสะท้อนเป็นเสียงเดียวกันว่า กิจกรรมทำให้ได้เท่าทันอคติของตนเอง รู้ที่มาของอคติ รวมทั้งการเปิดโอกาสได้ยอมรับอคติที่เกิดขึ้น มีบางส่วนสะท้อนอีกว่าได้เห็นมุมมองของ “อคติ” ว่ามีหลายด้าน ซึ่งประกอบด้วยทั้งด้านลบ และด้านบวก ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้านใด ก็ส่งผลต่อการปฏิบัติตนต่อผู้อื่นได้ และเห็นว่า “อคติที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องปกติ” หากแต่ความสำคัญคือ การเท่าทันอคติจะนำไปสู่การปรับวิธีคิดเพื่อเรียนรู้อยู่ร่วมกันได้อย่างไร

        ผู้เข้าร่วมบางส่วนได้สะท้อนในประเด็นด้านกลุ่มเปราะบางเพิ่มเติมว่า ทุกคนล้วนสามารถเป็นกลุ่มเปราะบางได้ เนื่องจากถูกอธิบายด้วยกรอบแนวคิดที่ให้ความหมายของคำว่า กลุ่มเปราะบางคือ กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง หมายถึง กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกกระทบจากสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น การไร้ตัวตนหรือไม่ถูกมองเห็นจากภาครัฐและสังคม การเข้าไม่ถึงสิทธิและสวัสดิการพื้นฐาน และการถูกกีดกันในการรับประโยชน์อย่างไม่ตรงจุด เป็นต้น แต่ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงว่าทุกคนสามารถเป็นกลุ่มเปราะบางได้ ในขณะเดียวกัน ทุกคนก็ยังสามารถทำให้คนอื่นกลายเป็นกลุ่มเปราะบางได้ด้วยกระบวนการต่าง ๆ ของสังคม เช่น การผลิตซ้ำทางวัฒนธรรม การสื่อสารที่ส่งผลให้เกิดอคติหรือความเข้าใจผิด เป็นต้น ซึ่งการเรียนรู้อยู่ร่วมภายใต้อคติกับกลุ่มเปราะบางยังขาดการรับฟังเสียงของกลุ่มนั้นจริง ๆ หรือแม้แต่การแก้ไขปัญหานั้น ๆ ยังขาดการศึกษาเพื่อสร้างองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ

        จะเห็นว่าเส้นทางการเรียนรู้ที่เหล่าผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบโมดูลกิจกรรมได้รังสรรค์ออกมานั้นเริ่มตั้งแต่การ “ทบทวน” กระบวนการทำงานของอคติผ่านการประกอบสร้างทางสังคม สร้างความตระหนักรู้เพื่อ ‘เท่าทัน’ การเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มเปราะบาง และ ‘ท้าทาย’ ทางเลือกใหม่ที่ทำให้สังคมดีขึ้นกว่าเดิม

        คณะผู้จัดฯ ขอขอบคุณผู้เข้าร่วมกระบวนการทุกท่านที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน อีกทั้งขอขอบคุณแหล่งทุนต่าง ๆ ที่สนับสนุนให้เกิดโครงการดีดีเช่นนี้ให้เกิดขึ้นมาได้และดำเนินการแล้วเสร็จจนเกิดเป็นประเด็นที่จะนำไปสู่การสร้างการเรียนรู้อยู่ร่วมภายในสังคมให้ดีขึ้น

        ทั้งนี้ หากท่านใดสนใจอยากร่วมเรียนรู้และสัมผัสประสบการณ์กิจกรรมเวิร์กช็อปที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมและการร่วมกันพัฒนาสังคม สามารถติดตามได้ที่ Fanpage : Faculty of Learning Sciences and Education - Thammasat University เพื่ออัปเดตข่าวประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรมครั้งถัดไป

เรียบเรียงโดย นวนันต์ เกิดนาค

#ห้องเรียนวัฒนธรรม

#สร้างสังคมDEE

#ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

#สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)