Loading...

ช่องว่างที่ลดทอนความเป็นมนุษย์: อคติต่อแรงงานข้ามชาติ

        ในโลกที่เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และมีการขยายตัวของธุรกิจและการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม เราจะพบว่าความต้องการแรงงานจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการผลิตและการให้บริการในขนาดที่ใหญ่ขึ้น สิ่งนี้เป็นข้อบ่งชี้สำคัญที่ทำให้เห็นว่า แรงงานนับเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสังคมทั้งในระดับชาติและระดับโลก

        การเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติเป็นปรากฏการณ์ที่มีความสำคัญและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของทุกประเทศ แรงงานข้ามชาติเป็นกลุ่มคนที่เคลื่อนย้ายจากประเทศบ้านเกิดไปยังประเทศอื่นเพื่อการทำงานหรือการค้าขายบริการต่าง ๆ โดยมักมีหลายสาเหตุที่ทำให้การเคลื่อนย้ายนี้เกิดขึ้น เช่น ความต้องการในการหางานที่มีรายได้สูงขึ้น สภาพการจ้างงานที่ขาดแคลนในประเทศบ้านเกิด หรือการมองหาโอกาสในการศึกษาและพัฒนาทักษะใหม่ อีกทั้งยังมีปัจจัยทางเศรษฐกิจและนโยบายของรัฐบาลที่มีผลกับการเคลื่อนย้ายแรงงานด้วย

        แรงงานข้ามชาติมีหลากหลายลักษณะ ลักษณะหนึ่งอาจเป็นชาวต่างชาติที่มาทำงานในประเทศอื่น ๆ เพื่อรับจ้างในอุตสาหกรรมหรืองานบริการต่าง ๆ หรืออาจเป็นผู้หางานที่เลือกย้ายไปทำงานในประเทศอื่นเพื่อพัฒนาทักษะและมีโอกาสทางอาชีพที่ดีขึ้น อย่างในประเทศไทยเอง มีแรงงานข้ามชาติจากประเทศที่หลากหลาย ทั้งจากประเทศแถบยุโรป เอเชีย และประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อพูดถึงกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย คือ กลุ่มแรงงานเข้มข้น (Labour-intensive) ที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญความท้าทายมากที่สุด ทั้งในแง่การใช้ชีวิต การต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเอง และการทำงาน ซึ่งแตกต่างจากแรงงานข้ามชาติกลุ่มอื่นที่เข้ามาทำงานในบทบาทของนักธุรกิจ ผู้บริหาร หรือผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับสวัสดิการหรือการคุ้มครองตามเงื่อนไขของบริษัทที่ตนเองเข้ามาทำงาน

        LSEd Social Change ชวนทุกคนมาสำรวจและวิเคราะห์ปัญหาและความท้าทายที่เกิดขึ้นกับกลุ่ม “ประชากรข้ามชาติ” รวมถึงการสร้างแนวทางและวิธีการที่จะช่วยให้สถานการณ์ปัญหาเหล่านั้นคลี่คลายในสังคม ผ่านการพูดคุยกับ อาจารย์กานน คุมพ์ประพันธ์ (อ.กก) อาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่กำลังทำงานวิจัยในประเด็นอคติต่อแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยอย่างเข้มข้น ซึ่งเป็นงานวิชาการภายใต้โครงการสร้างสังคม DEE (Diversity, Equity and  Empathy): ศึกษาสถานการณ์อคติต่อกลุ่มเปราะบาง และสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักรู้ของสังคม โดยความร่วมมือระหว่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก 9 และ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยกลุ่มประชากรข้ามชาติที่งานวิจัยนี้ทำการศึกษา ได้แก่ กลุ่มประชากรข้ามชาติจากประเทศพม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ที่เข้ามาทำงานที่ต้องใช้แรงงาน (Manual Labour Job) ในประเทศไทย

        อ.กก กล่าวว่า กลุ่มแรงงานข้ามชาติในไทยเป็นกลุ่มคนที่เผชิญความท้าทายทั้งในแง่การดำรงชีวิต การต่อสู้เพื่อสิทธิของตน และการทำงาน ด้วยสถานะทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ความต้องการแรงงานในประเทศไทย และปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศ เป็นเหตุผลให้แรงงานข้ามชาติเลือกที่จะเข้ามาทำงานหาเงินในประเทศไทยจำนวนมาก ซึ่งในอดีตแรงงานกลุ่มนี้อยู่ในประเทศไทยโดยไม่มีสถานะทางกฎหมาย และไม่ได้เดินทางเข้ามาอาศัยในประเทศไทยผ่านช่องทางการตรวจคนเข้าเมือง เป็นเหตุให้คนกลุ่มนี้ไม่มีอำนาจต่อรอง และมีความเสี่ยงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบ เมื่อมีประชากรจากประเทศเพื่อบ้านเข้ามาทำงานในไทยจำนวนมากอย่างไม่มีสถานะทางกฎหมาย รัฐบาลจึงมีวิธีการจัดการพิเศษสำหรับคนกลุ่มนี้ขึ้นมาโดยการสร้างระบบลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่างเช่น ความยุ่งยาก ค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้สำหรับการดำเนินการต่าง ๆ หรือการไม่เข้าใจกระบวนการทางกฎหมาย ท้ายที่สุดแล้วก็ยังคงมีประชากรข้ามชาติจำนวนมากที่ไม่ได้เข้ามาทำงานในประเทศไทยตามกระบวนการที่ได้รับการรับรองจากกฎหมายของรัฐ หรืออาจจะเข้ามาทำงานตามกระบวนการของรัฐแต่ไม่ได้ดำเนินการตามระบบที่รัฐจัดสรรทั้งหมด เช่น อาจมีการทำบัตรผิดประเภท หรือการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เป็นต้น  ด้วยเหตุนี้ สถานะของกลุ่มแรงงานข้ามชาติในไทยจึงยังเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางทั้งในแง่กฎหมาย เศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ รวมถึงการต้องเผชิญกับอคติที่มีต่อประชากรชาติในสังคมไทยในรูปแบบต่างๆ

        อ.กก อธิบายถึงความทับซ้อนระหว่างอคติประเภทต่างๆที่แรงงานข้ามชาติต้องเผชิญ ที่มีความทับซ้อนระหว่างประเด็นเชิงโครงสร้างและประเด็นเชิงวัฒนธรรม ในประเด็นเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้น อย่างเช่น การที่แรงงานไม่มีสถานะทางกฎหมาย การเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย หรือความยากจนที่ทำให้พวกเขาต้องอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างแออัดจนทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพตามมา และประเด็นเชิงวัฒนธรรมที่ทับซ้อนกัน เช่น วิธีคิดหรือการมองว่าคนกลุ่มนี้เป็นคนนอก หรือคนที่เข้ามาแย่งทรัพยากรภายในประเทศ เป็นต้น

        อคติที่เกิดขึ้นกับแรงงานข้ามชาติยังคงถูกฉายภาพซ้ำอยู่บ่อยครั้ง ผ่านการรายงานข่าวของสื่อ โดยการใช้ข้อความที่มีความหมายเชิงลบ หรือการใช้คำที่สร้างภาพจำให้คนกลุ่มนี้กลายเป็น “ปัญหาสังคม” หรือ “ภาระสังคม” จากการพาดหัวข่าว หรือเนื้อหาข่าวที่คละคลุ้งไปด้วยความรู้สึกไม่ปลอดภัย ความไม่น่าไว้วางใจ หรือการมองว่าคนเหล่านี้มีความสามารถที่ทำให้เป็นอันตราย (Potential to be threat) เช่น การพาดหัวข่าวว่า “พม่า เหี้ยมฆ่านายจ้าง” ภาพจำเหล่านี้ยังคงถูกผลิตซ้ำในสังคมไทย ซึ่งอคติเหล่านี้อาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ความรู้สึกชาตินิยม หรือความเกลียดกลัวไม่ไว้ใจคนนอก

        ทั้งนี้ ด้วยปัญหาเชิงโครงสร้าง และปัญหาเชิงวัฒนธรรมที่กล่าวมาข้างต้น คนกลุ่มนี้จึงถูกละเมิดสิทธิอยู่บ่อยครั้ง บางครั้งก็เป็นปัญหาจากการไม่มีความรู้ ไม่มีทางเลือก และไม่มีอำนาจต่อรอง เช่น การโดนนายจ้างโกงค่าแรง การถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง ไปจนถึงการโดนเอาเปรียบจากเจ้าหน้าที่และกลไกของรัฐเอง ที่ใช้ประโยชน์จากสถานะความเป็นคนนอกระบบหรือการไม่มีอำนาจต่อรองของแรงงานข้ามชาติ มีการรีดไถหรือเก็บส่วยจากคนกลุ่มนี้ กลุ่มแรงงานข้ามชาติจึงถูกจัดให้เป็น “คนชายขอบที่สุดกลุ่มหนึ่งในสังคมไทย”

งานวิจัย หรือโครงการ ภายใต้คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นอคติต่อแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย

        โครงการสร้างสังคม DEE (Diversity, Equity and  Empathy): ศึกษาสถานการณ์อคติต่อกลุ่มเปราะบาง และสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักรู้ของสังคม เป็นโครงการที่ทำงานในเรื่องอคติเกี่ยวกับกลุ่มเปราะบางในสังคมไทยทั้งหมด 5 กลุ่ม ได้แก่ ผู้สูงอายุ คนพิการ LGBTQI+ คนไร้บ้าน และประชากรข้ามชาติ ซึ่ง อ.กก ก็เป็นหนึ่งในคณะทำงานกลุ่มประชากรข้ามชาติ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ตนเองสนใจ และเคยทำงานขับเคลื่อนเกี่ยวกับกลุ่มคนเหล่านี้แล้วรู้สึกว่าเขาเป็นกลุ่มคนที่ถูกผลักไปอยู่ลำดับต่ำที่สุดในสังคมไทย เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มที่เปราะบางมากในสังคมไทย อย่างเช่นเมื่อก่อนในอุตสาหกรรมการประมงมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชากรข้ามชาติสูงมาก มีการจับแรงงานขึ้นมาบังคับใช้แรงงานบนเรือโดยที่ไม่มีทางหนีได้ เพราะรอบตัวมีแต่ทะเล หากถูกใช้งานหนักจนเสียชีวิตก็แค่โยนศพลงทะเล สิ่งนี้ทำให้เกิดคำถามว่า มนุษย์เราสามารถทำความรุนแรงกับเพื่อนมนุษย์ได้ขนาดนี้เลยหรือ? จากการที่ อ.กก ได้ทำงานคลุกคลีอยู่กับประเด็นเหล่านี้ทำให้เห็นว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญ และเราต้องพยายามทำให้สังคมไทยเปลี่ยนมุมมองต่อคนกลุ่มนี้ให้ได้

        อ.กก อธิบายต่อว่า หากเรามองเห็นว่าแรงงานข้ามชาติเป็นมนุษย์เท่ากับเราเมื่อใด… อคติและการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมจะค่อย ๆ ลดลง เมื่อเรามองเห็นว่าเราควรออกมาช่วยเรียกร้องสิทธิให้เขา หรือเห็นว่าเราไม่มีสิทธิเอาเปรียบเขา นั่นเป็นสัญญาณที่ดีว่าสังคมเริ่มไม่เพิกเฉยต่อปัญหานี้ จะเห็นว่า ปัญหาเกี่ยวกับสิทธิประชากรข้ามชาติในประเทศไทยยังคงมีอยู่จำนวนมาก และมุมหนึ่งที่น่านำมาทำงานขับเคลื่อนต่อ คือ ความเพิกเฉยต่อความทุกข์ยากของกลุ่มแรงงานข้ามชาติในสังคมไทย ทั้งที่เป็นกลุ่มคนที่โดนเอาเปรียบและกระทำหลายรูปแบบ แม้ว่าอาจจะไม่มีการแสดงออกถึงอคติเชิงลบต่อแรงงานข้ามชาติโดยตรง แต่น่าตั้งคำถามว่าความเพิกเฉยต่อความทุกข์ยากหรือเอารัดเอาเปรียบเหล่านี้คือการทำงานของอคติหรือไม่ ทั้งที่คนไทยจำนวนหนึ่งอินกับประเด็นปัญหาทางชาติพันธ์ในโลกตะวันตก เช่น อินกับ Black Live Matter Movement แต่กลับมีเสียงที่พูดถึงความทุกข์ยากของแรงงานข้ามชาติไทยยังไม่มาก เป็นประเด็นที่ต้องทำงานต่อกับสังคมไทย

ข้อสังเกตเกี่ยวกับประเด็นอคติต่อแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย

        แม้จะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากในอดีต เช่น การที่ประชากรข้ามชาติในปัจจุบันสามารถเข้าถึงระบบการประกันสุขภาพ และการศึกษา แต่ปัญหาความทับซ้อนระหว่างประเด็นเชิงโครงสร้างและประเด็นเชิงวัฒนธรรมที่กล่าวข้างต้น รวมถึงความเพิกเฉยต่อความทุกข์ยากของประชากรกลุ่มนี้ ทำให้การที่คนกลุ่มนี้ถูกกระทำไม่ดีกลายเป็นเรื่องปกติ ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปแบบของการโดนต่อว่าด้วยคำหยาบ โดนละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการถูกเลือกปฏิบัติจากนายจ้าง หรือกรณีที่ร้ายแรงกว่านั้นคือ การกักขังหน่วงเหนี่ยว การค้ามนุษย์ อ.กก กล่าวว่า ถ้าคนในสังคมเล็งเห็นว่า ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นใครมาจากไหน มนุษย์เราควรปฏิบัติต่อกันโดยมีมนุษยธรรมขั้นพื้นฐาน แม้ว่าเขาไม่ใช่คนไทย แต่เขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ควรได้รับการปฏิบัติที่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน รวมถึงการเคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน และการคุ้มครองทางกฎหมาย ทั้งในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง และกลุ่มคนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่ควรจะได้รับการดูแลคุ้มครองจากรัฐ

ในฐานะที่เราเป็นพลเมืองคนหนึ่งในสังคม เราจะมีส่วนช่วยให้สถานการณ์ปัญหาเหล่านี้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง?

        อ.กก กล่าวว่า เราต้องสำรวจตนเองก่อนว่าเรามีอคติกับแรงงานข้ามชาติหรือไม่ เรามองว่าเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งหรือไม่ และเราเชื่อในหลักการที่ว่ามนุษย์ควรได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมหรือไม่ หรือเราเชื่อว่าถ้าเขาไม่ใช่พวกเดียวกับเรา เราจะปฏิบัติกับเขาอย่างไรก็ได้ เมื่อเราได้สำรวจมุมมองความคิดของตนเองแล้ว เราอาจออกมาเรียกร้อง หรือ เป็นกระบอกเสียงแทนพวกเขา เพราะบางเรื่องไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของแรงงานข้ามชาติเท่านั้น แต่มันเป็นเรื่องของเราทุกคน เช่น การมีโรงงานที่โกงค่าแรงคนงาน ระบบราชการที่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างทุจริต ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติก็เป็นข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนว่าเขาสามารถโดนเอาเปรียบได้อย่างง่ายดาย แต่เมื่อมองลงไปที่ต้นตอของปัญหาเหล่านั้น มันคือสังคมไทยที่ยังมีการเอารัดเอาเปรียบ มีความทุจริต ไม่โปร่งใส ไม่สนใจสิทธิมนุษยชน สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้ภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งถ้าเราอยากแก้ไขปัญหาจริง ๆ เราต้องแก้ที่ระบบและโครงสร้างที่มีอยู่ ให้รัฐบาลไทยเป็นรัฐที่โปร่งใส นึกถึงมนุษย์ และทำเพื่อประชาชนจริง ๆ เพราะปัญหาแรงงานข้ามชาติมันไม่ใช่ปัญหาของแรงงานข้ามชาติ แต่มันคือปัญหาของสังคมไทย

เรียบเรียงโดย นวนันต์ เกิดนาค