“คน-เมือง-การเรียนรู้: จากรังสิตสู่สงขลา”
เมื่อเราได้เรียนรู้จากการเดินทาง
ร้อยเรื่องราว โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไอยเรศ บุญฤทธิ์
------------------------------------------------
เมื่อวันที่ 11-13 ธันวาคม 2567 นักศึกษาหลักสูตรปริญญาโทหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการเรียนรู้ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วยคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรวิทย์ อัสพันธุ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโทผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปวีณา แช่มช้อย กรรมการหลักสูตรปริญญาโท ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไอยเรศ บุญฤทธิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คุณปชาบดี ปุ่มสีดา นักวิชาการศึกษา ร่วมเดินทางทัศนศึกษาภายใต้หัวข้อ “คน-เมือง-การเรียนรู้: จากรังสิตสู่สงขลา” เพื่อเรียนรู้ผู้คนที่มีส่วนสร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในเมืองสงขลา ซึ่งถือว่าเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้เมืองหนึ่งของภาคใต้ กิจกรรมการเดินทางทัศนศึกษาครั้งนี้ เต็มแน่นไปด้วยการวางแผนเส้นทางให้นักศึกษาได้สัมผัส “ผู้คน” นักปฏิบัติตัวจริง-เสียงจริงของเมือง นอกจากนี้ นักศึกษายังได้ชม “เมืองสงขลา” ทั้งในมุมของเมืองเก่า-เมืองใหม่-ย่านธุรกิจ เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมารวมถึงพลวัตของเมืองสงขลาทั้งอดีตและปัจจุบัน
ทั้งนี้ หลักสูตรปริญญาโทอยากเชิญชวนทุกท่านได้ร่วมเรียนรู้ไปกับเส้นทาง “คน-เมือง-การเรียนรู้: จากรังสิตสู่สงขลา” ไปด้วยกันตามเส้นทางดังนี้
11 ธันวาคม 2567
การเดินทางในวันแรก เราเดินทางไปพบกับ “คนสร้างการศึกษา” ในประเด็นนี้ พวกเราได้เข้าเยี่ยมชม “โรงเรียนศรีนครินทร์วิทยานุเคราะห์” ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เปิดสอนในระดับอนุบาล-ประถมศึกษา ด้วยหลักสูตร “มอนเตสเซอรี่ (montesorri)” ภายใต้แนวคิดของโรงเรียนที่กล่าวถึง “เราสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อพัฒนาชีวิต” ทั้งนี้ พวกเราได้รับการต้อนรับจาก คุณธนินทร์ ปูรณัน ผู้จัดการโรงเรียนฯ คุณศันสนีย์ ปูรณัน ผู้อำนวยการโรงเรียน คุณนุชวรา ปูรณัน คณะครู และนักเรียนตัวน้อย ๆ ที่ร่วมกันนำเสนอกระบวนการเรียนการสอน ในการนี้ทางโรงเรียนได้จัดเตรียมกระบวนการที่ให้พี่ ๆ นักศึกษาปริญญาโทได้ผันตัวเองเป็นนักเรียน และน้อง ๆ นักเรียนได้ทดลองให้ตนเองเป็นผู้สอน กิจกรรมดังกล่าวถือเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งได้เห็นถึงศักยภาพของผู้เรียนของโรงเรียนที่ได้รับการบ่มเพาะการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตกเย็น นักศึกษาได้ร่วมเดินศึกษาย่านเมืองเก่า “ถนนนครใน นครนอก” โดยมีคุณดนัย โต๊ะเจ (แบแม) นักธุรกิจ ชาวนราธิวาส ผู้หลงใหลในเสน่ห์เมืองสงขลาจนได้มาลงหลักปักฐานอยู่เมืองเก่าแห่งนี้ แบแมเป็นเจ้าของโรงแรมบ้านในนคร แบแมเป็นผู้นำเดินชมและให้ข้อมูลของย่านเมืองเก่า ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ของเมือง เรื่องเล่า เกร็ดอันน่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับพลวัตของเมืองเก่าแห่งนี้ ขณะที่เดินชมย่านเมืองเก่า คณะนักศึกษาได้แวะพัก ณ บ้านเลขที่ 168 ซึ่งเป็นบ้านที่นักธุรกิจและชาวสงขลาร่วมใจมอบให้แก่ โนราธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ หรือ “ศิลปินผู้ที่ใช้ศิลปะสร้างการเรียนรู้” เนื่องในโอกาสที่ได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (โนรา) ประจำปี 2564
ในการนี้ พวกเราได้รับเกียรติจากโนราธรรมนิตย์และคณะศิษย์ บรรเลงดนตรีโนราให้รับฟังและรับชมการแสดงพร้อมการเต้นพรานที่ได้รับการสร้างสรรค์ให้กลายเป็นการเชิดหุ่นหลากหลายขนาด ทั้งนี้เพื่อสร้างความสนใจและให้ผู้คนได้เสพสัมผัสศิลปะโนราง่ายขึ้น จากการแสดงดังกล่าวสู่แนวคิดของการเรียนรู้ศิลปะ โนราธรรมนิตย์กล่าวว่า “โดยส่วนใหญ่ ผู้คนมักมองว่า โนราเป็นศิลปะที่เข้าถึงยาก เป็นของสูงเพราะผูกติดกับพิธีกรรมความเชื่อ ดังนั้น เราจึงคิดสร้างสรรค์การแสดงให้เข้าถึงง่าย สัมผัสได้ และเมื่อผู้คนมองเห็นว่า ศิลปะการแสดงชิ้นนี้ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว ไม่ใช่สิ่งที่สูงส่งจนเอื้อมไม่ถึง ดังนั้น พวกเขาก็จะเปิดใจเข้ามาเรียนรู้ และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของมรดกวัฒนธรรมด้วยตัวของเขาเอง”
ก่อนลาจากบ้านเลขที่ 168 โนราธรรมนิตย์ได้ชวนให้นักศึกษาร่วมทดลองบรรเลงดนตรีโนราและขับบทโนราเป็นกลอนสดส่งท้ายอวยพรให้โชคดีมีชัย เดินทางเรียนรู้ครั้งนี้อย่างปลอดภัยและสำเร็จสมความตั้งใจ หลังจากนั้น แบแม ชวนพวกเราก้าวเดินต่อไปยังมัสยิดบ้านบน ซึ่งเป็นมัสยิดสำคัญของเมืองสงขลาอีกแห่งหนึ่ง อีกทั้งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวมุสลิมในย่านเมืองสงขลา
ท้ายที่สุดของการเรียนรู้ในวันนี้ แบแมชี้ให้เห็นสถาปัตยกรรมที่เป็นการผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมไทยพุทธกับวัฒนธรรมมุสลิมที่ปรากฏออกมาเป็น “มัสยิด” โดยมีอาคารเป็นรูปทรงอย่างไทย หน้าจั่วปรากฏรูปแบบสัญลักษณ์ศาสนาอิสลามที่สะท้อนให้เห็นถึง “การเรียนรู้อยู่ร่วม” กันของผู้คนในสังคม กระทั่งทำให้พวกเราได้ฉุกคิดถึงแนวทางการผสานกันของความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เป็นไปในสังคมนั้นควรเป็นอย่างไร ซึ่งถือว่าเป็นโจทย์ที่น่าสนใจสำหรับเส้นทางการเรียนรู้ในวันแรก
12 ธันวาคม 2567
การเดินทางในวันที่ 2 คณะทัศนศึกษาได้เดินทางเข้าเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ การเข้าเยี่ยมชมครั้งนี้ ได้รับความกรุณาจากคุณธีระ จันทิปะ หัวหน้าสำนักงานสถาบันทักษิณคดีศึกษาเป็นวิทยากรบรรยายประวัติความเป็นมาและผู้นำชมพิพิธภัณฑ์ โดยเป้าหมายการเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ครั้งนี้ คือ การได้เรียนรู้กระบวนการทำงานทางวัฒนธรรมที่ส่งเสริมให้ผู้คนได้เรียนรู้รากเหง้าตนเองโดยใช้ฐานองค์ความรู้เป็นสำคัญ ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยาฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2529 ด้วยคณะนักวิชาการท้องถิ่น นำโดย ศ.สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ และคณะ ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงวัตถุสิ่งของในวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวใต้ซึ่งมีความสัมพันธ์กับบริบทพื้นที่กว่า 50,000 ชิ้น
นอกจากการนำชมวัตถุจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แล้ว คุณธีระ จันทิปะ ยังชวนนักศึกษาคิด-วิเคราะห์และชวนวิพากษ์การทำงานวัฒนธรรมกับการเรียนรู้ของมนุษย์ในสังคม สิ่งที่เกิดขึ้นจากการพูดคุย-แลกเปลี่ยนกัน นักศึกษาและวิทยากรมองเห็นข้อจำกัดร่วมกันทั้งที่เป็นปัญหาจากปัจเจกกระทั่งข้อจำกัดในเชิงระบบหรือโครงสร้างของรัฐ ที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาการเรียนรู้ในมิติทางวิถี-วัฒนธรรมซึ่งถือเป็นอีกโจทย์สำคัญของ “นักวิทยาการเรียนรู้” ที่จะนำไปคิดและพิจารณาต่อไป
ช่วงบ่าย คณะทัศนศึกษาเดินทางไปพบ คุณพรรณนิภา โสตถิพันธุ์ (ป้าหนู) หรือ “คนขับเคลื่อนภาคประชาชน” โดยได้รับการอนุเคราะห์สถานที่จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ป้าหนูเป็นศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ที่เคยมีห้วงชีวิตร่วมอยู่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยช่วง 14 ตุลา กระทั่งประสบการณ์สำคัญครั้งนั้นได้แปรเปลี่ยนกลายมาเป็นพลังในการขับเคลื่อนสังคมและต้องการพัฒนาผู้คนในสังคมให้กลายเป็น “พลเมือง” ที่มีคุณภาพ
ป้าหนูเริ่มต้นการทำงานจากการเป็น นักจัดรายการวิทยุ ที่เพียรพยายามชวนผู้ฟังร่วมคิดเพื่อพัฒนาเมืองสงขลา กระทั่งได้รับทุนจากภาคเอกชนและภาครัฐมาดำเนินการโครงการต่าง ๆ และเกิดการสร้างเครือข่ายภาคประชาสังคมในจังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง ในขณะเดียวกัน ป้าหนูยังสร้างเยาวชนให้เป็นพลเมืองที่ร่วมกันขับเคลื่อนเมืองในหลากหลายประเด็นจนกลายเป็นกลุ่มสงขลาฟอรั่ม (Songkhla forum) ซึ่งเป็นองค์กรร่วมกันพัฒนาเมืองในปัจจุบัน
หลังจากพบกับป้าหนู คณะทัศนศึกษาเดินทางเข้าพักยังตัวเมืองหาดใหญ่เพื่อชมเมืองหาดใหญ่ในยามค่ำคืน เพื่อเรียนรู้ “เมืองแห่งการค้า”ตามคำขวัญของจังหวัดสงขลาที่ว่า “นกน้ำเพลินตา สมิหลาเพลินใจ เมืองใหญ่สองทะเล เสน่ห์สะพานติณฯ ถิ่นธุรกิจแดนใต้” นอกจากนี้ เป้าหมายของการเยี่ยมชมเมืองหาดใหญ่ครั้งนี้ คือการเรียนรู้และเปรียบเทียบความเป็นเมืองเก่าและเมืองใหม่ตามเส้นทางที่ได้วางไว้ในการเดินทางครั้งนี้อีกด้วย
13 ธันวาคม 2567
วันสุดท้ายสำหรับการเดินทางเรียนรู้ เราพาไปกันยังสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขต หาดใหญ่ พวกเราได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจาก อาจารย์ธรรมศาสตร์ โสตถิพันธุ์ (อ.ปอ) รองผู้อำนวยการสถาบันฯ ณ ที่นี่พวกเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานของสถาบันสันติศึกษาที่เน้นการสร้างการเรียนรู้ของผู้คนผ่านการทำความเข้าใจวิถี-วัฒนธรรมของผู้คนที่มีความหลากหลาย กระทั่ง อ.ปอได้ชวนพวกเราทำกิจกรรม “มองเขา-มองเรา” โดยให้วาดภาพจากความเข้าใจ- ความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับ “คนใต้ หรือ ภาคใต้” กิจกรรมดังกล่าวช่วยให้เราเข้าใจความหมายของคำว่า พหุวัฒนธรรม ในมิติที่สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายของรัฐไทย เพื่อ ดูแล ผู้คนอย่างเหมาะสม แต่ในอีกแง่หนึ่ง คำว่าพหุวัฒนธรรมก็อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อ ควบคุม หรือ จัดการ ผู้คนเช่นกัน
ก่อนลาจากกัน อ.ปอ ชวนให้พวกเราร่วมมองประเด็นพหุวัฒนธรรมในตลาดกิมหยง ตลาดชื่อดังของเมืองหาดใหญ่ซึ่งเป็นสถานที่ที่เราจะได้ไปเยี่ยมชมและช้อปปิ้งก่อนเดินทางกลับ ตลาดกิมหยงเป็นตลาดที่เต็มไปด้วยสินค้านานาชนิด เราสามารถเลือกสรรหา ทั้งของกิน ของฝาก เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอุปโภคบริโภคแทบทุกชนิดในตลาดแห่งนี้ หากกล่าวถึงเมืองหาดใหญ่ในฐานะเมืองธุรกิจ ตลาดแห่งนี้คงเป็นภาพแทนของความหลากหลาย แหล่งรวมผู้คน ชีวิต วัฒนธรรมที่ไหลรวมกันมาในรูปแบบของการค้าขายอย่างปฏิเสธไม่ได้
การเดินทางครั้งนี้มิใช่เพียงการทัศนศึกษาหรือการเดินทางเพื่อท่องเที่ยวเท่านั้น หากคือบทเรียนที่ทำให้เข้าใจว่า การเป็นนักวิทยาการเรียนรู้ คือการเดินทางเพื่อเชื่อมโยงและสร้างการเรียนรู้โดยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างวิถีชีวิตกับความเป็นปัจจุบันให้เกิดความสมดุล นำไปสู่ศักยภาพของผู้คนที่สะท้อนถึงสมรรถนะที่จะร่วมกันผลักดันการเปลี่ยนแปลงในสังคมให้เกิดความสุขอย่างแท้จริง
หากสนใจที่จะร่วมเรียนรู้ไปกับพวกเรา สามารถสมัครเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการเรียนรู้ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศึกษาข้อมูลหลักสูตรปริญญาโทได้ทาง : https://lsed.tu.ac.th/graduate-programs
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทรศัพท์ : 02-696-6719 , 02-696-6729 หรืออีเมล academic_med@lsed.tu.ac.th