Loading...

“สังคมไทยต้องท้าทายระบบผลิตและพัฒนาครู และขยายพื้นที่การเรียนรู้ให้มากกว่าห้องเรียน” ข้อคิดเห็นจากงานครบรอบ 10 ปีแห่งการสถาปนาคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

        จากสถานการณ์ด้านการศึกษาและการเรียนรู้ของประเทศไทย พบว่า สังคมไทยขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับผู้เรียน โรงเรียนยังมองเห็นความแตกต่างหลากหลายของผู้เรียน และยังมีการลงทุนในการศึกษาในระบบที่ไม่สอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเยาวชนในยุคถัดไป จึงเสนอให้หน่วยงานต่าง ๆ ด้านการศึกษาเร่งดำเนินการศึกษาลักษณะและความต้องการของผู้เรียนในยุคถัดไป กลไกการเรียนรู้ ทรัพยากร และบุคลากรที่เหมาะสมต่อผู้เรียนในยุคถัดไป และพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยและมีเสรีภาพที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้โดยธรรมชาติ

        สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2567 คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานวันคล้ายวันสถาปนาคณะฯ ครบรอบปีที่ 10 ภาย ใต้ชื่องาน “หนึ่งทศวรรษวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์” ภายในงานประกอบด้วยการเสวนาหัวข้อ “มองภาพอนาคตการศึกษาไทย” การจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) หัวข้อ “อคติทางวัฒนธรรมกับการพัฒนาการศึกษาไทย” โดย โครงการห้องเรียนวัฒนธรรม ความร่วมมือระหว่าง ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. ณ อาคารสิริวิทยลักษณ์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. (ศูนย์รังสิต)

        ภายในการเสวนา “มองภาพอนาคตการศึกษาไทย”ร่วมเสวนาโดย รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี ประธานคณะกรรมการอำนวยการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และอดีตคณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ รศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอิสระและที่ปรึกษาด้านการพัฒนาองค์กรและการเรียนรู้ ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ผู้ร่วมเสวนาได้ให้ข้อคิดเห็นและผลสำรวจเกี่ยวกับแนวทางพัฒนาการศึกษา รวมถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในด้านการศึกษาและการเรียนรู้ของประเทศไทยในอนาคต ซึ่งครอบคลุมมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์ของการศึกษาไทยในปัจจุบัน แนวโน้มสำคัญของโลกและสังคมไทย (Mega Trends) ตลอดจนการคาดการณ์ถึงฉากทัศน์ของการศึกษาไทยในอนาคต

        รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี ประธานคณะกรรมการอำนวยการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และอดีตคณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ กล่าวถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยว่า “ตอนนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์ผู้เรียนลดลง หลายโรงเรียนขนาดเล็กอยู่ในเกณฑ์ต้องปิดโรงเรียน แต่พบว่าโรงเรียนนานาชาติคนแข่งขันกันเปิด ทั้งขยายห้องเรียน และพ่อแม่ก็อยากไปซื้อบริการการศึกษาที่เป็นนานาชาติมากขึ้น บางโรงเรียนขนาดกลางเปิดสาขาย่อยจำนวนมากเพื่อเตรียมนักเรียนเข้าสู่มหาวิทยาลัย มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดขึ้นมาก นอกจากนี้ยังมีนักเรียนที่ไม่ต้องการหรือไม่มีโอกาสเข้าสู่ระบบโรงเรียนทั่วไป อยากชวนคิด 2-3 ประเด็น ประเด็นที่หนึ่ง สังคมถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่เข้ามาทะลุทะลวงระบบการเรียนรู้ของมนุษย์อย่างรุนแรงและรวดเร็วในทุกวิชา ประเด็นที่สอง ภาพความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่กำลังสูงขึ้นเรื่อย ๆ ถ่างขึ้นเรื่อย ๆ ประเด็นที่สาม ผู้เรียนในแต่ละยุคมีวิธีคิดที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก การใช้ระบบการเรียนรู้แบบเดิมจะไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป เราจะเห็นความตึงเครียดระหว่างสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่งที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้เรียนจำนวนหนึ่งต้องการจะหลุดออกไปจากระบบเดิม และมีความรู้ที่ได้จากสื่อที่หลากหลาย จึงต้องการความรู้อีกรูปแบบหนึ่ง งานวิจัยจึงต้องต่อสู้เพื่อช่วงชิงพื้นที่ในด้านวิธีคิดในสังคม ขยายพรมแดนในเชิงปฏิบัติ ทำความเข้าใจว่าระบบวิธีคิดที่ดีต่อคนยุคถัดไปคืออะไร และคนที่เป็นครูต้องหน้าตาเป็นอย่างไรจึงจะสอดคล้องกับผู้เรียนในยุคถัดไป”

        ในขณะเดียวกัน รศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสริมในประเด็นด้านความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับการศึกษาว่ามีผลสืบเนื่องกันว่า “การศึกษามีความเกี่ยวข้องกับการเมืองของไทยอย่างมาก การศึกษาเป็นทั้งที่มาของความขัดแย้ง เป็นประเด็นของความขัดแย้ง และเป็นทางออกของความขัดแย้ง คนรุ่นใหม่มองว่าการศึกษาคือการลงทุนจริง ๆ เขามีความคาดหวังต่อการศึกษาสูงมาก เขาตัดสินใจแล้วว่าถ้าการเรียนไม่ตอบโจทย์การทำมาหากินได้ เขาจะไปทำอย่างอื่น การชุมนุมทางการเมืองได้เปลี่ยนวิธีคิดของคนรุ่นใหม่ไปทั้งยุคสมัย เขาเชื่อและมั่นใจว่าคนทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ประเทศไทยยังไม่มีนักการเมืองที่สนใจด้านการศึกษาอย่างจริงจังแล้วได้เป็นรัฐบาล เพราะโดยปกตินโยบายต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศได้อย่างจริงจังจะต้องถูกนำไปใช้อย่างน้อย 2 สมัย ดังนั้นนักการเมืองจึงต้องจริงจังกับการศึกษา คณะนี้ที่นี่สร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยการยกระดับการศึกษาให้เป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง การศึกษาต้องเป็นอย่างนี้คือสร้างความหวังทางการเมือง ไม่ใช่แค่ผลิตครูและบุคลากรทางการศึกษา”

        ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้มุมมองด้านการลงทุนในการศึกษาว่า “การศึกษาคือเทคโนโลยีในมุมของนักเศรษฐศาสตร์ ประเทศไทยตอนนี้มีโรงเรียนที่คอยสอนทักษะต่าง ๆ เต็มไปหมด แต่ทักษะเหล่านี้ควรจะสามารถพัฒนาในพื้นที่สาธารณะได้ ปัญหาคือพื้นที่สาธารณะยังไม่ปลอดภัยและไม่มีเสรีภาพเพียงพอ เราจึงขาดการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หากเรามีพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยและมีเสรีภาพที่มากเพียงพอ เราจะสามารถลดต้นทุนที่ต้องใช้ในการศึกษาได้เยอะมาก ผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้ได้อย่างที่ตัวเขาเป็น การขยับออกไปให้พื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่การเรียนรู้ได้จริงจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วย ตอนนี้พื้นที่สาธารณะยังเป็นพื้นที่ของนายทุนอยู่ ซึ่งเป็นปัญหาที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำด้านการเรียนรู้ยังมากขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ ถ้าการศึกษาถูกกระจายมากพอ อาจต้องอาศัยแผนที่ดีที่นำเทคโนโลยีมาช่วยลดความเหลื่อมล้ำเหล่านี้”

        นอกจากนี้ คุณณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอิสระและที่ปรึกษาด้านการพัฒนาองค์กรและการเรียนรู้ ยังให้มุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับบทบาทของโรงเรียนในยุคถัดไปว่า “เรื่องที่น่าประหลาดใจคือโรงเรียนไทยไม่ได้รองรับความแตกต่างหลากหลาย เราทุกคนเกิดมาแตกต่างกัน แต่เมื่อเข้าโรงเรียนเราไม่ได้มองเห็นความหลากหลายเหล่านั้น เราสอนเหมือนกันหมดและให้ทุกคนมีทักษะเหมือนกันหมด เราจึงถามคำถามให้นักเรียนได้เห็นว่าแต่ละคนมี I Want (ความต้องการ) และ I Can (มีความสามารถ) ถ้าผู้อำนวยการโรงเรียนและคนทำงานด้านการศึกษามองเห็นว่าผู้เรียนต้องการอะไรและมีความสามารถอะไร จะสามารถตอบความต้องการของผู้เรียนแต่ละคนได้มากขึ้น ถ้าเขาไม่รู้ว่าผู้เรียนต้องการอะไร เขาจะเอามาแต่คำสำคัญที่เขาได้รับมอบมา จะติดอยู่ในคำและติดอยู่ในรูปแบบที่เชื่อเอาเองว่าจะปลอดภัย แล้วจะยิ่งทำให้เขาไม่อยากจะเปิดตาออกไปดูเด็กนักเรียน ปัญหาในการศึกษาของไทยมาจากปีศาจไร้หน้า ที่ไร้หน้าเพราะในแต่ละนโยบายเรามักจะหาไม่เจอว่าจะต้องให้ใครจัดการ ระบบตอนนี้มีความแตกเป็นเสี่ยง ๆ นักเรียนมีความแตกต่างกันเยอะมาก โรงเรียนจึงต้องเป็นสถานที่ที่ทำให้ผู้เรียนมีสุขภาวะที่ดี ต้องสอนสุขภาวะทางสังคมและอารมณ์ (social-emotional wellbeing) และเป็นผู้เชื่อมต่อการเรียนรู้จากแหล่งต่าง ๆ เราต้องการคนที่รู้ว่ามีโอกาสอยู่ตรงไหนบ้างในโลก รู้ว่าผู้เรียนแต่ละคนต้องการอะไร แล้วช่วยเขาเชื่อมโยง”

        นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “อคติทางวัฒนธรรมกับการพัฒนาการศึกษาไทย” ผศ.ดร.ไอยเรศ บุญฤทธิ์ ผู้อำนวยการโครงการวิจัยและพัฒนาหลักสูตร “ห้องเรียนวัฒนธรรม” เพื่อการเรียนรู้อยู่ร่วมสำหรับการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ความร่วมมือระหว่าง ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกิจกรรมที่เกิดขึ้นว่า กิจกรรมนี้เป็นการชวนให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้มองเห็น วิเคราะห์ และวิพากษ์แนวคิดเบื้องหลังเกี่ยวกับอคติที่ว่าด้วยเรื่องของการประกอบสร้างความคิด การประกอบสร้างความหมาย ที่ส่งผลต่อการปฏิบัติต่อกันและกันอย่างไม่เท่าเทียมในพื้นที่การศึกษา ในขณะเดียวกันยังเป็นการสำรวจอคติในมิติหลากหลาย ทั้งอคติเชิงบวก และอคติเชิงลบที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ กิจกรรมในครั้งนี้ดำเนินการโดย ผศ.ดร.อรรฏชณม์ สัจจะพัฒนกุล คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม อ.วรพล ศิริชื่นวิจิตร ครูโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.เสสินา นิ่มสุวรรณ์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ผศ.ดร.ไอยเรศ บุญฤทธิ์ ผู้อำนวยการโครงการ และทีมงานโครงการห้องเรียนวัฒนธรรม คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์

        ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า จากการก่อตั้งคณะวิทยาการเรียนรู้ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2557 คณะฯ ได้ดำเนินการอย่างเข้มข้นเพื่อพัฒนา “นิเวศการเรียนรู้” ที่สนับสนุนการเรียนรู้ของผู้คนในสังคม โดยนำภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างการเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวและชุมชน ซึ่งทำให้เกิดการเรียนรู้และโครงการต่าง ๆ ทั้งในและนอกห้องเรียน รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้เรียนแต่ละคนพัฒนาสมรรถนะที่เหมาะสมต่อการใช้ชีวิตในอนาคต มุ่งสู่วิสัยทัศน์ “สถาบันการศึกษาชั้นนำที่ขับเคลื่อนสังคมด้วยการเรียนรู้” การดำเนินงานดังกล่าวยังได้รับการดำเนินงานผ่านโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งตั้งมั่นอยู่บนแก่นของการศึกษาที่เชื่อมั่นในกระบวนการพัฒนามนุษย์อย่างเป็นองค์รวม โดยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือเติมเต็มศักยภาพของผู้เรียน และมีเป้าหมายเพื่อ “สร้างองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและการพัฒนากระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม”

        “เราเชื่อว่าสังคมจะไปรอด เราจะต้องให้ความสำคัญกับ Learning หรือการเรียนรู้ในสังคม สิ่งสำคัญที่คณะพยายามทำมาตลอดคือการสร้างสังคมแห่งการเคารพและเรียนรู้ร่วมกัน สร้างสังคมที่เป็นธรรม ในวาระครบรอบ 10 ปีแห่งการก่อตั้งคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ คณะยังคงมุ่งมั่นที่จะผลักดันการทำงานทั้งในด้านการบริการวิชาการ และการบริการสังคม เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมในด้านการเรียนรู้ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป” คณบดีกล่าว

        จากงาน “หนึ่งทศวรรษวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์” ครบรอบ 10 ปีแห่งการสถาปนาคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจสรุปได้ว่า การศึกษาของไทยจำเป็นที่จะต้องมีความเป็นรูปธรรม ทั้งในด้านนโยบาย ผู้รับผิดชอบ และเป้าหมายของการปฏิบัติ ในขณะเดียวกันการศึกษาจะต้องทลายกรอบของการเรียนรู้ให้เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเสรีในวิถีชีวิต มีการทำงานร่วมกันระหว่างคนทั้งในระบบการศึกษาและระบบอื่น ๆ  เพื่อให้การศึกษาสามารถขับเคลื่อนด้วยความรักที่ทุกคนมีต่อคนในรุ่นถัดไปอย่างแท้จริง

ดาวน์โหลดภาพกิจกรรมภายในงาน ได้ที่ https://drive.google.com/drive/folders/1mHDS_8DR8PAerHloDhcCnHFIV-1rACJZ?usp=sharing หรือ QR Code