ก่อการครู รุ่น 3 ปักหมุดหมาย เติมไฟให้ “ครู” ปล่อยแสง สำแดงพลัง
โลกในปัจจุบัน ธรรมชาติการเรียนรู้ของผู้เรียนเปลี่ยนแปลงและไม่หยุดอยู่แค่ในห้องเรียน เมื่อการเรียนรู้ของผู้เรียนวิ่งออกไปไกลจากห้องเรียนมากขึ้นเรื่อย ๆ คุณคิดว่าบทบาทและทักษะของ “ครู” ที่จะตอบโจทย์ธรรมชาติผู้เรียนที่เปลี่ยนไปตามการหมุนเวียนของโลกต้องมีหน้าตาเป็นอย่างไร ?
ภายใต้โจทย์ที่ท้าทายนี้ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินโครงการโครงการผู้นำแห่งอนาคต ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการก่อการครู : ครูบันดาลใจ จุดไฟการเรียนรู้ โดยดำเนินการมาแล้ว 3 รุ่น รุ่นละ 4 โมดูล เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับครูในการสร้างการตระหนักรู้และความเข้าใจตนเอง สร้างทักษะพื้นฐานและความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ การสร้างความรู้ด้วยตนเองและสร้างความเข้าใจกลุ่ม รวมถึงฝึกฝนทักษะพื้นฐานด้านการออกแบบการเรียนรู้
ที่ผ่านมาแต่ละรุ่นจะแบ่งการเรียนรู้ ดังนี้ โมดูล 1 ครูคือมนุษย์ : สำรวจภูมิทัศน์ภายในความเป็นครู โมดูล 2 : พัฒนาการเรียนรู้ (ตลาดวิชา) และโมดูล 3 ครูคือกระบวนกร
และเมื่อวันที่ 25-26 มิถุนายน พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา ได้จัด โมดูลที่ 4 โดยมาในหัวข้อ “ครูในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลง : ครูปล่อยแสง สำแดงพลัง โดยก่อการครู รุ่น 3” ซึ่งเป็นเวทีถอดบทเรียน นำเสนอผลงานและประสบการณ์ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายครูแกนนำรุ่นที่ 3 จากทั่วประเทศและเพื่อสื่อสารประเด็นด้านการศึกษาออกสู่สังคม ในงานได้ออกแบบให้มีห้องการเรียนรู้ 9 ห้อง เพื่อให้ครูในโครงการได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ”ปล่อยแสง” ซึ่งออกแบบโดยครูแกนนำก่อการครู รุ่น 3 เอง ดังนี้
1. Feed ยังไงให้ Fit
2. พัฒนาหัวใจด้วยสายใย EF
3. Alternative Career Path ออกแบบทางเลือกชีวิต ลิขิตด้วยตัวเอง
4. ก่อการครูฐานชุมชน
5. Interactive Technology Classroom
6. ห้องเรียนสุดปังด้วย “บอร์ดเกม” ทำมือ
7. ห้องเรียนแห่งความสุข
8. ห้องเรียนเลิกออนไลน์ความวุ่นวายมาเจอกัน
9. ฟังด้วยใจพื้นที่ปลอดภัยสำหรับครู
เสวนา “จุดไฟ เคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง : เรื่องเล่าจากก่อการครู”
โดยอาจารย์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์
ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ กล่าวว่า “โครงการก่อการครูไม่ใช่แค่การอบรมแล้วจบ สิ่งที่เรามองเห็นคืออยากสร้างเครือข่ายครู อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่แค่ในชั้นเรียน แต่จะไปถึงระดับสังคมและประเทศ หมุดหมายสำคัญคือครูในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงต้องปล่อยแสงสำแดงพลัง ช่วยกันถอดบทเรียน สกัดความรู้จากโครงการ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน นำกระบวนการเรียนรู้ไปใช้ในห้องเรียนในทุกๆ วันกับนักเรียนทุกๆ คน รวมถึงชุมชน เพื่อขับเคลื่อนสังคมต่อไป
“การนำร่วม” เป็นแนวคิดของโครงการก่อการครู เราเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงในสังคมจะรอฮีโร่ไม่ได้ แต่เราต้องจุดไฟของแต่ละคนให้เห็นความสำคัญของการเรียนรู้และการศึกษา ซึ่งจุดเริ่มต้นคือการสร้างความรู้สึกร่วม จุดไฟความเป็นผู้นำของครู ร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลง ซึ่งจากการวิจัยของโครงการพบมิติที่ซ่อนอยู่คือ “L-E-A-P” มีที่มาจาก 1.Luminosity การส่องสว่างจากภายใน เกิดจากตัวเราก่อนที่ค่อยๆ ฉายออกสร้างแสงสว่างในห้องเรียน 2.Empathy ความเข้าอกเข้าใจ การรับฟังกันและกัน 3.Adaptivity การปรับเปลี่ยนตัวเราเข้ากับสถานการณ์ เจอหน้างานแล้วไม่ถอย ยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้อย่างดี และ 4.Progressivity สร้างความเปลี่ยนแปลงขึ้นระดับสังคม มองไปข้างหน้า ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบไปมากกว่าในระดับปัจเจก ทั้งนี้ ความเชื่อเหล่านี้จะทำให้ครูมีไฟ มีพลัง “LEAP” แปลว่าการก้าวกระโดด โครงการนี้จะทำให้ครูออกจากพื้นที่คุ้นชิน ออกจากระบบที่ติดขัด เราจะช่วยเหลือกันและจับมือกันก้าวกระโดด จากสิ่งที่เราคิดว่าตันแล้ว”
รศ.ดร.สิทธิชัย วิชัยดิษฐ หนึ่งในคณะผู้วิจัย กล่าวว่า “โครงการก่อการครู เป็นขบวนการการเคลื่อนไหวทางสังคม “ครู” คือหัวใจสำคัญที่ทำให้การศึกษาเปลี่ยนแปลงได้ สิ่งสำคัญคือเราต้องสื่อสารกับคนรอบข้างอย่างถี่ถ้วนในขณะทำงานสร้างการเปลี่ยนแปลง และการทำงานข้างในให้เคลียร์ก่อนที่จะเดินหน้าไปได้ และหากเจอจุดปะทะในระหว่างทำงานอยากให้เป็นการใช้อำนาจร่วมแล้วมองเป้าหมายเดียวกัน”
ผศ.ดร.ปวีณา แช่มช้อย กล่าวว่า “ชุมชนการเรียนรู้ที่โครงการก่อการครูสร้างขึ้น เป็นกลไกที่สร้างครูแกนนำและเครือข่าย สำหรับประสบการณ์ครู ณ จุดปะทะ ครูหลายท่านจะใช้คำว่า “ตาสว่าง” คือเขาเห็นภาพตัวเองในอดีตที่ผ่านมา โครงการก่อการครูเป็นแหล่งพื้นที่รับแรงสนับสนุน มีเพื่อนครูที่เติมใจซึ่งกันและกัน ในเวลาที่ท้อ หรือเจอปัญหาขัดแย้ง ครูต้องมีความแน่วแน่ ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนตัวเองทีละนิด เริ่มจากการปรับเปลี่ยนภายในชั้นเรียนของตัวเอง แล้วค่อยๆ ขยาย ค่อยๆ เติมให้เพื่อนร่วมงานเห็นสิ่งที่เราทำ ค่อยๆ ขยับแล้วสร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจเจอกับความขัดแย้งซึ่งนี่เป็นกระบวนการ ต้องอาศัยความแน่วแน่ของครู โครงการทำหน้าที่เหมือนวัคซีนในการสร้างภูมิคุ้มกันให้มีความแข็งแรง เมื่อเรามาเจอเพื่อนหรือเครือข่ายก็เปรียบเสมือนบูสเตอร์โดส เติมพลังความแน่วแน่ว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่มีประโยชน์และมีความหมาย ทำด้วยหัวใจที่มองเห็นคนอื่นและมองเห็นตัวเองไปด้วย”
ผศ.ภญ.ดร.ฝน นิลเขต กล่าวว่า “ก่อการครูทำให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมใหม่ ได้แก่ 1.วัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ 2.วัฒนธรรมความร่วมมือ และ 3.การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้เรียน ซึ่งในอดีตครูมักใช้อำนาจแนวดิ่งกับผู้เรียน แต่พอเข้าร่วมก่อการครูครูจะค่อยๆ มองเห็นและปรับเปลี่ยนรเป็นแนวราบมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก่อการครูทำให้ครูมีพื้นที่ใคร่ครวญวิจารณญาณ พาครูตั้งคำถามถึงวิธีการคิดและความเชื่อต่างๆ ว่าจะส่งผลกระทบอะไร จะมีวิธีปฏิบัติแบบอื่นที่ส่งผลแบบอื่นอีกหรือไม่ นอกจากนี้ พบว่ามีผลกระทบที่เกิดจากโครงการก่อการครู 2 ระดับคือภายในโรงเรียนและภายนอกโรงเรียน สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียน เริ่มจากผู้เรียน เราจะเห็นแววตาผู้เรียนเปลี่ยนไปซึ่งมาจากการเปลี่ยนวิธีการจัดการชั้นเรียน ครูเปลี่ยนอำนาจเป็นแนวราบ ส่งผลทำให้บรรยากาศการทำกิจกรรมของครูกับผู้เรียนมีความสุขแบบพลิกฝ่ามือ และกำแพงที่กั้นระหว่างครูและผู้เรียนจะค่อยๆ ทลายไป”
อ.อุฬาชา เหล่าชัย กล่าวว่า “บทบาทครูในเชิงการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั้น สิ่งที่ครูกำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงอาจจะดูเหมือนอยู่แค่ภายในห้องเรียน แต่จริงๆ แล้วสามารถเคลื่อนไหวทางสังคมได้ ซึ่งถือว่าเป็นในรูปแบบหนึ่งโดยไม่จำเป็นต้องไปประท้วงหรือยื่นหนังต่อรองกับผู้มีอำนาจ โครงการก่อการครู เราจะพบว่าการเคลื่อนไหวไม่จำเป็นต้องปะทะกับผู้มีอำนาจหรือตัวปัญหา เราสามารถสร้างความสัมพันธ์กับคนที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้นั่นคือนักเรียนและผู้ร่วมงาน และสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงลึกซึ้งหรือเชิงพลังงาน เช่น ใช้ความรักความเข้าใจ ความเป็นมิตร ความตระหนักรู้ในตัวเอง และหาจุดร่วมกัน ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ชัดว่า มีการรวมตัวกันของครูที่เข้าร่วมโครงการและมีประเด็นที่สนใจร่วมกัน ทำให้เกิดการขยายเครือข่ายตั้งเป็น ก่อการครูในหลายสาขา เช่น ก่อการครูวิจิตรศิลป์ ก่อการครูสิทธิเด็ก หรือการรวมตัวเชิงพื้นที่ เช่น ก่อการครูขอนแก่น ก่อการครูสุพรรณบุรี ก่อการครูกรุงเทพและพันธมิตร เป็นต้น ขณะเดียวกันในระดับท้องถิ่นก็ได้รับผลกระทบจากการขยับตัวของก่อการครู สะท้อนไปยังระดับมหภาค”
รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี ประธานบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนึ่งในผู้ก่อตั้งโครงการก่อการครู กล่าวว่า “เราตระหนักดีว่าปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบการศึกษาไทยหนาแน่นมากเราจึงเบนเข็มออกมาทำงาน เป็นสมมติฐานพื้นฐานในการออกแบบการทำงาน “Educational movement” เปลี่ยนจากข้างในออกมา จากระบบเล็กๆ เหมือนเรากำลังสร้างมอดปลวก ถึงวันนึงมันจะกัดโครงสร้างเก่าพังทลายได้ โครงการก่อการครูจะไปถึงดวงดาวเปลี่ยนระบบการศึกษาไทยได้หรือไม่ ตอบไม่ได้ แต่ตอบได้ว่าสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคมมันเรียกร้องให้เราอยู่เฉยๆไม่ได้ เราต้องปรับตัวอย่างรุนแรง เทคโนโลยีมีบทบาทต่อการจัดกระบวนการการเรียนการสอน ความคาดหวังต่อสาขาอาชีพ หรือวิชาเปลี่ยนไป แพลตฟอร์มการศึกษาเปลี่ยนไป เด็กรุ่นใหม่มีวิธีการเรียนรู้ใหม่ๆ ซึ่งหากโลกเราเปลี่ยนแต่ระบบการศึกษาไม่เปลี่ยนเราก็จะไม่มีที่ยืน สิ่งที่สำคัญคืออย่าทำงานบนฐานที่ตกร่องเทคนิค ซึ่งในหนังสือ ” "ก่อการครู การเรียนรู้เปี่ยมพลัง : 12 นวัตกรรมการเรียนรู้ เพื่อครูหัวใจใหม่" (สั่งซื้อได้ที่แชทของเพจก่อการครู m.me/korkankru) เราได้ถอดบทเรียน รวบรวมชุดวิชาทักษะและเครื่องมือการเรียนรู้จากก่อการครู เป็นตลาดวิชาที่จะนำไปสู่กระบวนการการจัดการเรียนรู้แนวใหม่ได้
เสวนา “เรื่องเล่าการเปลี่ยนแปลง” โดยก่อการครูรุ่น 3
เ
ครูเอ็ม ภณเอก ภัชรวาณิชสกุล ,ครูใบเตย ใบเตย เจริญพิทยา,ครูแก้ว ภัสรัญ สระทองนวล, และครูคัตเตอร์ วิจินต์ รวมฉิมพลี ... “คนที่เยียวยาใจเราได้ดีที่สุดไม่ใช่ใครเลย แต่เป็นเด็กของเรานี่แหละ” ... การเข้าร่วมก่อการครู ทำให้เราเห็นถึงความหลากหลายของทุกคนชัดเจนขึ้น การมองเห็นคุณค่าที่แตกต่าง การได้รับการยอมรับความแตกต่างจะทำให้เด็กเติบโตและเติมเต็ม เด็กจะเติบโตได้ดีที่สุดในสถานที่ที่เขาคุ้นเคยเราต้องทำให้ห้องเรียนสามารถประสานเข้ากับชุมชนได้ ขณะที่การเปิดให้เด็กประเมินเราเลยว่าห้องเรียนเราเป็นยังไง อยากให้ปรับตรงไหน เด็กคือคนที่อยู่ใกล้เรา เห็นการสอนของเรามากที่สุด นี่แหละการให้คำแนะนำเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง”
เสวนา “บทบาทครูแห่งโลกอนาคต : จากห้องเรียน โรงเรียน สู่ชุมชนแห่งการเรียนรู้”
โดย ก่อการครู่ รุ่น 1
ครูยอร์ช ณัฐพงศ์ อนุสนธิ์ “หลังจากที่เข้าร่วมโครงการก่อการครู สิ่งเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือตัวเองความเชื่อถูกเขย่า มองผู้เรียนเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ ยอมรับว่าสถานการ์โควิด-19 ทำให้การเรียนรู้ถูกบังคับว่าต้องเปลี่ยน การสอนแบบเดิมยากลำบาก แต่เราเชื่อว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ การเยี่ยมบ้านช่วงโควิดทำให้เห็นว่าวิถีชีวิตของเด็กเกิดการเรียนรู้มากกว่าหลักสูตร ดังนั้นบทบาทครูแห่งโลกอนาคต จะต้องนำเอาหลักสูตร การเรียนรู้ และสภาพแวดล้อมชุมชน มาปรับใช้ร่วมกัน และมองไปข้างหน้าว่าเราจะพัฒนาทักษะอะไรที่ตอบโจทย์กับวิถีชีวิตของผู้เรียน แต่การเรียนรู้ในลักษณะแบบนี้ ครูบางคนกังวลว่าจะมีผลต่อการประเมินผลตัวชี้วัดต่างๆ จึงอยากให้ผู้บริหารและครูพูดคุยและรับฟังเพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งมีเทคนิคทักษะบางอย่างที่สามารถปรับเปลี่ยนหลักสูตรโดยไม่ต้องกอดตัวชี้วัด ผ่อนปรนตัวชี้วัด หยิบเอาแก่นการเรียนรู้ที่สำคัญมาใช้ มองไปข้างหน้าเอาสถานการณ์มาเรียนรู้และวัดประเมินผลโดยใช้วิถีชีวิตพื้นฐานของเด็ก
ครูอ้อม ชุติธร หัตถพนม “บทบาทครูแห่งโลกอนาคต” ในฐานะผู้บริหารของโรงเรียน เราต้องคิดว่าเราจะใช้อำนาจแบบไหนในการบริหาร เจตนาของครูต้องทำห้องเรียนให้สนุกและครูในโรงเรียนมีความสุข ดังนั้นเราต้องมองว่าทุกคนคือเพื่อนร่วมเดินทาง สร้างบรรยากาศให้ครูมีความสุขและความสนุกกับการทำงาน ชวนให้เห็นมุมมองว่าโลกเปลี่ยนไป พูดคุยกันบ่อยๆ มีความเห็นอกเห็นใจ เติมเครื่องไม้เครื่องมือซึ่งกันและกัน และทำให้เป็นวิถีของเรา ซึ่งจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เห็นว่าโรงเรียนไม่ใช่ที่รวมตัวของเด็กอีกต่อไป แต่เราสามารถลงพื้นที่ไปสอนทักษะเด็กๆ ในชุมชนเพื่อให้เด็กเรียนรู้อยู่ตลอด เวลาและสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสถานการ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ ขณะที่เรื่องหลักสูตร เรานำกระบวนการที่ได้รับจากโครงการก่อการครู ไปปรับใช้และออกแบบกระบวนการเรียนรู้ได้
ครูตู้ สราวุฒิ พลตื้อ “เปลี่ยนบทบาทเราเข้าไปในพื้นที่ ทุกอย่างรอบๆ ตัว ชุมชน ในบ้านของเด็ก เป็นพื้นที่เรียนรู้ โรงเรียนต้องเปลี่ยนบทบาท เราต้องไปหาความร่วมมือไม่ใช่รอให้ผู้ปกครองเข้ามาหาเรา เราค้นพบว่าผู้ปกครองดีใจมากที่โรงเรียนเข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชน ยกให้เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ ดังนั้นก็จะมีการแบ่งเป็นและไหลเชื่อมกัน”
สามารถอ่านองค์ความรู้จากโครงการก่อการครูเพิ่มเติมได้จาก
หนังสือ "ก่อการครู การเรียนรู้เปี่ยมพลัง : 12 นวัตกรรมการเรียนรู้ เพื่อครูหัวใจใหม่"
ราคา 390 บาท พิเศษ ฟรีค่าจัดส่ง! โปรโมชั่นเฉพาะ วันที่ 24 มิ.ย. - 31 ก.ค. นี้ เท่านั้น
สั่งซื้อได้ที่แชทของเพจก่อการครู คลิกที่นี่ > m.me/korkankru
สามารถติดตามข่าวสารได้ที่
https://www.facebook.com/tu.lsed
https://www.facebook.com/korkankru
https://www.leadershipforfuture.com/