เปิดตัววารสารวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์
ในวาระ วันสถาปนาคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ครบรอบ 8 ปี LSEd endless learning ได้มีการเปิดตัววารสารวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ (Journal of Learning Sciences and Education) ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 เป็นฉบับปฐมฤกษ์ เพื่อเป็นพื้นที่ทางวิชาการที่จะพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาการเรียนรู้และการศึกษาศาสตร์
โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไอยเรศ บุญฤทธิ์ บรรณาธิการวารสารวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ระบุว่า วารสารวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ปีที่ 1 ฉบับนี้ เป็นวาระปฐมฤกษ์ ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เปิดเป็นพื้นที่ทางวิซาการนำมาสู่แหล่งรวมของสรรพศาสตร์หลากหลายแขนง ตามปณิธานมุ่งมั่นที่จะพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ พื้นที่แห่งนี้จึงถือเป็นแหล่งรวมของผู้ใช้ศาสตร์และศิลป์ในการบูรณาการองค์ความรู้สู่การพัฒนามนุษย์เพื่อสร้างสังคมสันติสุขและยั่งยืน
วารสารวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่งานวิชาการของบุคลากรทั้งภายในและภายนอก สนับสนุนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้การถกเถียงทางวิซาการและวิชาชีพ อีกทั้งมุ่งส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพทางการวิจัยด้านวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์และศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ของการสร้างเครือข่ายการเผยแพร่ผลงานวิชาการและผลงานวิจัยระหว่างหน่วยงานภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยอีกด้วย
อนึ่งยังมีความปรารถนาอันแรงกล้ามาเป็นโจทย์ที่ท้าทายการจัดทำวารสารวิซาการ นั่นคือการตั้งเป้าหมายเพื่อให้วารสารฉบับนี้ได้เป็นพื้นที่สำหรับการพัฒนาผลงานของนักปฏิบัติผู้ขับเคลื่อนชุมชนหรือสังคมด้วยการเรียนรู้ในทุกระดับให้เกิดเป็นงานวิจัย-วิชาการที่มีคุณภาพ สามารถเผยแพร่ให้เป็นที่รับรู้ยอมรับในแวดวงวิชาการและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไปได้ด้วยเหตุดังกล่าว
วารสารฉบับปฐมฤกษ์ฉบับนี้ จึงหมายมั่นที่จะนำเสนอมิติด้าน "พื้นที่การเรียนรู้ (Learning Space)" เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการจัดทำวารสาร อีกทั้งต้องการชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเรียนรู้ที่สามารถเกิดได้ทุกพื้นที่ ทุกหน ทุกแห่ง ดังนั้น บทความในวารสารฉบับนี้ จึงประกอบด้วยเรื่องราวที่สะท้อนถึงพื้นที่การเรียนรู้ในหลากหลายมิติ หลากหลายมุมมอง อาทิ พื้นที่การเรียนรู้ในเชิงแนวคิด(concept) ที่ได้รับการอธิบายเชื่อมโยงอย่างมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ทางกายภาพกับบริบท ในขณะเดียวกัน พื้นที่ภายใต้มโนสำนึกของตัวเรา ก็ถือเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่สามารถขัดเกลาเพื่อธำรงตนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้เช่นกัน
บทความวิชาการเรื่อง "THE THIRD WORLD WAR": VISION OF A CONTEMPORARY THAI POET" ของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร..จตนา นาควัชระ กล่าวถึง "สุนทรียศาสตร์แห่งความขี้เล่น" อันเป็นกลยุทธ์ในการนำเสนอระบบคิดของกวีที่สะท้อนถึงปัญหาของสังคมร่วมสมัยซึ่งล้วนมีบ่อเกิดจากโลกภายในที่มีนัยถึง "กิเลส" ของมนุษย์ ทั้งนี้ กวีชวนให้ผู้อ่านได้ร่วมผลักดันตัวเองสู่สังคมอุดมคติด้วยการทำ "สงครามภายในจิตใจ" ความยิ่งใหญ่ของการต่อสู้ได้รับการอุปมาผ่านพื้นที่จินตนาการที่เรียกว่า "สงครามโลกครั้งที่ 3" ตลอดถึงการก้าวข้ามผ่านภาวะความปั่นป่วนนี้ต้องอาศัยคลังความรู้และภูมิปัญญาจากแผ่นดินแม่ รวมถึงโลกตะวันออก และตะวันตกอย่างบูรณาการ
บทความวิชาการเรื่อง "พิพิธภัณฑ์สิรินธร พื้นที่เพื่อนักเรียนรู้ด้านซากดีกดำบรรพ์" ของ ดร.วราวุธ สุธีธร และ สุธาทิพย์ กาวิเนตร ชี้ให้เห็นพัฒนาการของพื้นที่การเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับซากดีกดำบรรพ์ ผู้เขียนสะท้อนให้เห็นถึงการก่อเกิดของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ด้วยวิธีคิดเชิงระบบ กระบวนการคิด รวมถึงการวิเคราะห์อย่างเป็นองค์รวมนอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้ประมวลและตกผลึกความคิดโดยซี้ให้เห็นความสำคัญของพื้นที่การเรียนรู้แห่งนี้ต่อการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ด้านบรรพชีวินวิทยาในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ
บทความวิชาการเรื่อง "เมืองแห่งการเรียนรู้ : concept, methods, andfactors of implementation ของ พลรพี ทุมมาพันธ์ สรียา โชติธรรม และ กัญญัฐิตา ศรีภา คณะผู้เขียนนำเสนอกรอบการดำเนินงานการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) เพื่อเป็นแนวทางของการพัฒนามนุษย์ให้เกิดศักยภาพในมิติต่าง ๆ ภายใต้การร่วมสร้างความเป็นพลเมือง การร่วมใช้ทรัพยากรในทุกภาคส่วนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการร่วมทำให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน
บทความวิจัยเรื่อง "การศึกษารูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ และปัจจัยที่ส่งผลการจัดการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล" ของ ชสิดา จูงพันธ์ ผู้เขียนรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการจัดสร้างพื้นที่การเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในเขตกรุงเทพฯ โดยผู้เขียนตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับรูปแบบการจัดการเรียนรู้ กระทั่งถึงวิเคราะห์ให้เห็นความสำคัญของผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างการเรียนรู้ให้แก่ผู้เข้าชม
และบทความเรื่อง "Ethics Development through Intergenerational Learning: A Case Study of Lanna Wisdom School, Thailand" ของ ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล และ ลินดา เยห์ ผู้เขียนสนใจพื้นที่การเรียนรู้ที่เอื้อให้เกิดมิติความสัมพันธ์ระหว่างวัยที่ส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนบนฐานของชุมชน บทความนี้ยังชวนให้ผู้อ่านเห็นถึงกระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของนิเวศการเรียนรู้ได้อย่างน่าสนใจอีกด้วย
กองบรรณาธิการขอขอบพระคุณผู้เขียนทุกท่านที่ส่งบทความเข้ามาเผยแพร่ในวารสารวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ปีที่ 1 ฉบับปฐมฤกษ์นี้ (กรกฎาคม – ธันวาคม 2565) กองบรรณาธิการหวังเป็นอย่างยิ่งว่าด้วยความร่วมมือของทุกท่านจะช่วยให้วารสารวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการบนฐานของการสร้างสังคมแห่งการเคารพและเรียนรู้ร่วมกัน อันจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์องค์ความรู้สู่สังคมไทยต่อไป
อ่านวารสารฉบับเต็มได้ที่นี่ 👇👇👇
https://so07.tci-thaijo.org/index.php/JLSEd