Loading...

หลากหลายแต่ไม่แตกต่าง: ความภาคภูมิใจของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+ Pride)

        ภาพคุ้นตาของใครหลายคนในช่วงเดือนมิถุนายน อาจเป็นภาพสถานที่ที่ถูกตกแต่งไปด้วยธงสีรุ้ง ภาพกราฟิกสีรุ้ง หรือแม้แต่การเปลี่ยนรูปภาพโปรไฟล์เป็นสีรุ้งในสื่อโซเชียลมีเดีย รวมถึงภาพการรณรงค์ที่เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ อย่างกิจกรรมแคมเปญ The Road to Bangkok Pride 2023 ที่สกายวอล์ก หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา เป็นกิจกรรมที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาคประชาสังคมและภาคเอกชนในประเทศไทย ที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมสำหรับการเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับความหลากหลายที่สุดในเอเชีย และโชว์ความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพ WorldPride 2028

        กิจกรรมที่ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามและนับว่าเป็นไฮท์ไลท์ประจำเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจ (Pride Month) จะเป็นงานไหนไปไม่ได้นอกจากงาน Bangkok Pride 2023 ที่ถูกจัดขึ้นบริเวณหน้าลานเซนทรัลเวิลด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา กิจกรรมการเดินพาเหรดจากแยกปทุมวันถึงแยกราชประสงค์ที่เป็นมิตรกับคนทุกเพศทุกวัย มาพร้อมกับธงสีรุ้งยาวที่สุดในประเทศไทย ความยาว 144.8 เมตร ที่โบกสะบัดเพื่อแสดงพลังในการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย ซึ่งดำเนินงานโดย ‘นฤมิตรไพรด์’ Social Enterprise ที่มีจุดมุ่งหมายในการสร้างการยอมรับความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยและพื้นที่สร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมสำหรับชุมชน LGBTQIAN+ ร่วมกับกรุงเทพฯ ภายในงานมีทั้งการแสดงดนตรีจากศิลปินทั้งในและต่างชาติ กิจกรรมบนเวทีฉลองความหลากหลายทางเพศ (Pride Stage) และการเดินขบวนพาเหรดสุดสร้างสรรค์ 6 ขบวน จากแนวคิด “สุขภาวะของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+ well-being)” อีกทั้ง คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เข้าร่วมในขบวนลำดับที่ 2 ชื่อว่า “My Body My Choice ร่างกายเรา สิทธิเรา” ภายใต้ธีม PURPOSE (เจตจำนงค์) และสื่อสารประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและการเรียนรู้ ได้แก่ สิทธิบนร่างกายในสถานศึกษา (My Body My Choice) เพศศึกษา (Sex Education) การให้ความยินยอมทางเพศ (Sexual Consent) และ เซ็กส์ทอย (Sex Toy)

"Pride Month" เดือนแห่งความภาคภูมิใจ

        Pride Month หรือ เดือนเเห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) คือ การขับเคลื่อนเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงความภาคภูมิใจและความชอบในตัวตนที่แท้จริง รวมถึงแสดงออกถึงความต้องการสิทธิความเท่าเทียมกันในสังคมของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) ซึ่งมีการนำ “ธงสีรุ้ง” มาเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ภายใต้การออกแบบของ "กิลเบิร์ต เบเกอร์" (Gilbert Baker) ศิลปินชาวอเมริกันและนักขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนของเกย์ในปี 1978

        เนื่องในโอกาสที่เดือนมิถุนายนของทุกปี เป็น Pride Month หรือ เดือนเเห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) LSEd Social Change จึงอยากชวนพูดคุยถึงงานที่เป็นกิมมิคประจำเดือนอย่าง งาน Pride ที่นับว่าเป็นสีสันในเดือนแห่งความภาคภูมิใจ อีกทั้งเป็นงานที่รวมพลังคนทุกเพศทุกวัยในการแสดงออกถึงความภาคภูมิใจในตนเอง รวมถึงการทำงานขับเคลื่อนสังคมในประเด็นเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ผ่านบทสัมภาษณ์ ผศ.ดร.นรุตม์ ศุภวรรธนะกุล อ.ดร.ติโหมะ ตะปะหนิ โอะหยะเน็น และ อ.สกล โสภิตอาชาศักดิ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ที่มีความสนใจและเชี่ยวชาญในประเด็นเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ และกำลังทำงานทั้งด้านการสอน งานด้านวิชาการ และงานโครงการบริการสังคมอย่างเข้มข้นในประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพจิต และสุขภาวะของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQN+)

        ผศ.ดร.นรุตม์ ศุภวรรธนะกุล (อ.นอตติ) กล่าวถึงบริบททางสังคมในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้สังคมเกิดการยอมรับความหลากหลายและการลื่นไหลทางเพศมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะก่อนหน้านี้มีการต่อสู้และเรียกร้องสิทธิมาพอสมควร จึงคิดว่า “การแสดงออกถึงความภาคภูมิใจ” ควรเป็นความรู้สึกขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนควรมี โดยไม่จำกัดว่าเขาคนนั้นมีอัตลักษณ์ทางเพศแบบใด และไม่ควรมีใครถูกทำให้รู้สึกผิดบาปหรือรู้สึกแย่ในตัวตนทางเพศหรือรสนิยมทางเพศของตนเอง

        อ.นอตติ เล่าอีกว่า ส่วนตัวอยากให้สังคมเห็นมุมมองที่ไกลกว่าแค่ว่า “Pride คือการแต่งตัวสีฉูดฉาด หรือ นุ่งน้อยห่มน้อยในที่สาธารณะ” ในเชิงสัญลักษณ์ การแสดงออกที่หลุดกรอบอาจเป็นรูปแบบของการสื่อสารว่า คน ๆ นั้นไม่รู้สึกผิดบาปต่อตัวตนของเขาเอง และพร้อมที่จะแสดงให้คนอื่นเห็นโดยไม่สนใจว่าคนอื่นจะตัดสินอย่างไร แต่ Pride มีรายละเอียดมากกว่านั้น ซึ่งหากพิจารณาจากบริบททางสังคม แรงกดดันที่แต่ละสังคมมี อาจต่างกัน อย่างไทยเอง Pride ที่สนใจเพียงการจัดการเดินขบวนเพื่อแสดงออกอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะคนไทยคุ้นเคยกับการที่กลุ่มคนที่ถูกสังคมจัดว่าเป็น “เพศที่สาม” มักแสดงออกในรูปแบบของการแต่งตัวหลุดกรอบ เฮฮา และร่าเริง สิ่งเหล่านี้กลายเป็นจุดสำคัญในการจัดเทศกาลต่าง ๆ Pride ในประเทศไทยอาจต้องมองไปถึงการต่อสู้กับวาทกรรมอย่าง “เป็นเพศไหนก็ได้ขอให้เป็นคนดี” ที่เป็นเรื่องของการท้าทายแนวคิดที่ว่ากลุ่มความหลากหลายทางเพศต้องใช้ “ความดีงาม” “ความกตัญญู” “ความอ่อนน้อม” เพื่อต่อรองให้ได้มาซึ่งพื้นที่จากสังคม จนนำไปสู่ความรู้สึกภูมิใจในตนเองได้ ซึ่งประเด็นแรงกดดันนี้ ในสังคมประเทศตะวันตกอาจจินตนาการไม่ถึง แต่เป็นเรื่องที่กลุ่มความหลากหลายทางเพศในไทยจำเป็นต้องตั้งคำถามและมองถึงการต่อสู้เพื่อให้ได้ความภาคภูมิใจในมิตินี้ด้วย

        อ.ดร.ติโหมะ ตะปะหนิ โอะหยะเน็น (อ.ติโม) กล่าวว่า ถ้ากิจกรรม Pride จัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของสิทธิมนุษยชนด้านความหลากหลายทางเพศ ถือว่าได้ผลลัพธ์ที่ดี เพราะในปัจจุบันผู้คนเกิดการตระหนักรู้ เข้าใจ และสนับสนุนสิทธิเหล่านี้มากขึ้น แต่การจะทำให้ประเด็นเหล่านี้ถูกพัฒนาเพิ่มขึ้นยังต้องอาศัยอะไรที่มากกว่าการจัดงาน Pride ปีละครั้ง อย่างงานที่ อ.ติโม ทำในวงการวิชาการก็มีส่วนสำคัญในการสร้างความเข้าใจให้กับคนในสังคม ดังนั้น งานแนวหน้าอย่างงาน Pride กับงานเบื้องหลังอย่างงานวิชาการ เป็นสิ่งที่คอยหนุนเสริมกันและกัน และช่วยผลักดันให้ประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนด้านความหลากหลายทางเพศเป็นที่เข้าใจและยอมรับในสังคมวงกว้างมากยิ่งขึ้น

        อ.ติโม เล่าอีกว่าได้ร่วมเดินขบวน Pride ครั้งแรกที่เมืองเฮลซิงกิ (บ้านเกิดอ.ติโม) ผ่านไป 20 ปีที่แล้ว อีก 3 ปีต่อมาได้มีส่วนร่วมในงาน Pride ที่จัดที่กรุงเทพฯ เมื่อปี ค.ศ. 2006 สมัยนั้นทั้งสองเมืองมีประชาชนร่วมเดินจำนวนหลักร้อย หลักพันคน แต่ปัจจุบันทั้งสองเมืองมีคนเดินเป็นหลักหมื่น หลักแสนคน และคนที่ไม่ใช่กลุ่มหลากหลายทางเพศจำนวนมากก็เข้าร่วมสนับสนุนด้วย

        อ.สกล โสภิตอาชาศักดิ์ (อ.ฮิม) ให้มุมมองว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่เห็นพลังของการสนับสนุนความเท่าเทียมเสมอภาคมากขึ้น จะเห็นว่าปีหลัง ๆ มีบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือหน่วยงานบริษัทต่าง ๆ แสดงออกถึงการสนับสนุนความเท่าเทียมของเพศที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ดี ที่ได้เห็นทั้งกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเอง และผู้ที่ไม่ใช่กลุ่มหลากหลายทางเพศ ออกมาแสดงพลังร่วมกันในงาน Pride

        อ.ฮิม อธิบายว่างาน Pride เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนได้สร้างพันธมิตรเพื่อมาเป็นแนวร่วมในการขับเคลื่อนเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศที่หลากหลายไปด้วยกัน บางคนอาจเริ่มมางาน Pride เพียงเพราะรู้สึกสนุก ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่เมื่อพวกเขาได้มาร่วมงานก็อาจได้ฟังสิ่งที่นักกิจกรรมพยายามสื่อสารเกี่ยวกับเรื่องความหลากหลายทางเพศ สุดท้ายแล้ว เขาจะค่อย ๆ ซึมซับความคิดและความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายต้องเผชิญในระดับที่ลึกซึ้งได้ แต่มีบางประเด็นที่อาจทำให้หลายคนรู้สึกเคลือบแคลงในการแสดงออกขององค์กรหรือคนดังในงาน Pride ว่า พวกเขามาหาประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์ตนเอง ซี่งส่วนตัวไม่มีปัญหาอะไรกับการที่องค์กรหรือบุคคลจะใช้โอกาสนี้ในการประชาสัมพันธ์ตนเอง ตราบเท่าที่พวกเขาไม่ได้มีการกระทำที่ขัดแย้งกับการส่งเสริมความเท่าเทียม การที่เขาใช้โอกาสนี้สร้างภาพลักษณ์ของตนเองบ้างอาจไม่ก่อให้เกิดปัญหาใด คิดว่าเราห้ามกระแสของทุนที่จะเข้ามาหาประโยชน์จากพื้นที่นี้ไม่ได้ และน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าที่ทำให้ทุนหรือธุรกิจเหล่านี้กลายเป็นพันธมิตรของเรา ถึงแม้จะไม่รู้ว่าพันธมิตรนี้จะเหนียวแน่นแค่ไหน หรือจะร่วมขับเคลื่อนกันไกลแค่ไหน แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้งาน Pride มีพลังที่เข้มแข็งและออกสู่สายตาของสังคมได้มากขึ้น ทั้งนี้ การวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มธุรกิจในประเด็นเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ทำไม่ได้ เพราะเราสามารถใช้การวิพากษ์วิจารณ์เป็นแรงกดดันให้พวกเขาต้องดำเนินการอะไรบางอย่างได้เช่นกัน

การจัดการเรียนการสอน วิจัย หรือโครงการ ภายใต้คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเหล่านี้

        อ.ดร.ติโหมะ ตะปะหนิ โอะหยะเน็น (อ.ติโม) กล่าวว่า ในส่วนงานวิจัย เมื่อปี 2565 ทีมวิจัยของ อ.ติโม ซึ่งมีทั้งอาจารย์คณะฯ อาจารย์ต่างคณะ และต่างสถาบันร่วมด้วย ได้ทำโครงการวิจัยใหญ่ด้วยการสนับสนุนจากมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก ประเทศไทย (Save the Children Thailand) เกี่ยวกับสุขภาพจิตของเยาวชนหลากหลายทางเพศ อายุ 15 - 24 ปีในไทย โดยได้ข้อค้นพบที่ค่อนข้างน่าตกใจ เพราะจาก 3,094 คนจากการสำรวจออนไลน์ พบว่าเกินร้อยละ 70 ได้คะแนนประเมินที่แสดงว่าเขาน่าจะกำลังเผชิญปัญหากับภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล เกินร้อยละ 50 มีความคิดที่จะฆ่าตัวตายในปีที่ผ่านมา และร้อยละ 16 พยายามฆ่าตัวตายในปีที่ผ่านมา ซึ่งจากการวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดปัญหาเหล่านี้พบว่าการถูกกระทำความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ มีผลมากที่สุด แต่การถูกเลือกปฏิบัติ หรือการถูกบังคับให้พยายามไม่เป็นคนหลากหลายทางเพศอีกต่อไป ก็มีผลเสียต่อสุขภาพจิตเช่นเดียวกัน ส่วนในด้านปัจจัยเชิงบวกพบว่า “พลังสุขภาพจิต” (Resilience) ช่วยป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้มากที่สุด และสิ่งที่ช่วยให้มีพลังสุขภาพจิตอีกทีก็คือ การสนับสนุนทางสังคม (Social Support) คือการมีคนเข้าใจเรา ยอมรับเรา คนที่เราพึ่งพาได้ ก็ทำให้สามารถรับมือกับปัญหาชีวิตต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ทั้งพลังสุขภาพจิต และ การสนับสนุนทางสังคม ทำให้เห็นความสำคัญของการเข้าใจ ยอมรับ ไม่ละเมิด และสนับสนุนเพื่อนมนุษย์ในกลุ่มหลากหลายทางเพศ ซึ่งเร็ว ๆ นี้รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ของโครงการวิจัยนี้จะได้รับการเผยแพร่

        รวมถึงในส่วนการสอน อ.ติโม พยายามแทรกประเด็นความหลากหลายทางเพศในวิชาต่าง ๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น วิชา วรศ.333 การจัดการศึกษาพิเศษและการเรียนรวม เราไม่ได้สอนเพียงประเด็นที่เกิดกับเด็กที่มีความพิการต่าง ๆ แต่ก็จะทำความเข้าใจประเด็นที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศในการศึกษาด้วย

        อ.สกล โสภิตอาชาศักดิ์ (อ.ฮิม) กล่าวว่า ตอนนี้มีโครงการที่รับผิดชอบอยู่ คือ “โครงการสร้างสังคม DEE (​Diversity, Equity and  Empathy)” ซึ่งในโครงการนี้มีอาจารย์คณะฯ ร่วมกันทำงานอยู่หลายท่าน เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอคติของคนในสังคมไทยที่มีต่อกลุ่มประชากรเฉพาะ 5 กลุ่ม คือ ผู้สูงอายุ คนพิการ ประชากรข้ามชาติ คนไร้บ้าน และ LGBTQI+ โดยขณะนี้โครงการอยู่ในระยะเริ่มต้น อาจมีผลงานออกมาให้ได้รับชมในเร็ว ๆ นี้

        และอีกโครงการที่ อ.ฮิม เป็นผู้วิจัยร่วม คือ “โครงการการศึกษาสถานการณ์สุขภาวะทางเพศ สุขภาพจิต และความสัมพันธ์ของกลุ่มประชากรสูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQN+) ในประเทศไทย” ผู้รับผิดชอบโครงการคือ รศ.ดร.ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล โดยที่มาของโครงการนี้ คือเรื่องช่องว่างของความรู้เกี่ยวกับความเป็นอยู่และปัญหาสุขภาพของกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะหลายคนไม่มีลูกหลาน หรือไม่ได้อยู่กับครอบครัว นอกจากนี้เรายังสนใจว่าพวกเขามีปัญหาสุขภาพที่แตกต่างไปจากผู้สูงอายุทั่วไปหรือไม่ ซึ่งโครงการนี้ก็ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นเช่นกัน

        สุดท้ายนี้ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความยินดีและมีความภาคภูมิใจ ที่จะสนับสนุนการส่งเสริมสังคมให้เป็นพื้นที่ของการยอมรับความหลากหลายทางเพศ สิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมของคนทุกกลุ่มเพศในสังคม โดยให้ความสำคัญกับการเคารพคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะทางด้านการศึกษาการเรียนรู้ “สถาบันการศึกษา”จะต้องเป็นที่ปลอดภัยของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นพื้นที่เปิดโอกาสในการสำรวจ ทดลอง และแสดงออกอัตลักษณ์ของตนเอง

เรียบเรียงโดย นวนันต์ เกิดนาค