Loading...

การเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย เป็น Active Learning มากแค่ไหน?

        ภาพจำของการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์แบบที่หลายคนคุ้นเคยอาจจะมีแต่การท่องสูตรเคมี การจำชื่อสารหรือชื่อพันธุ์ทางชีววิทยาที่อ่านยาก หรืออะไรก็ตามที่ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องที่เห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ภาพจำเหล่านี้ถูกฉายซ้ำตลอดระยะเวลาการเรียนอยู่ในโรงเรียนนับสิบปี เด็กหลายคนตั้งคำถามว่า “เราจะเรียนวิทยาศาสตร์ไปเพื่ออะไร?” ในเมื่อทุกอย่างมันดูไกลตัวเราเหลือเกิน และเรื่องเหล่านี้ก็อาจจะไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ในอนาคตถ้าไม่ได้อยากเรียนต่อหรือทำงานในสายวิทยาศาสตร์ นำไปสู่การที่เด็กไม่เห็นคุณค่าของรายวิชา ทั้งที่แท้จริงแล้ววิชาวิทยาศาสตร์ไม่ได้สอนให้เด็กรู้และจำศัพท์ทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่เป็นวิชาที่มีปรัชญาการเรียนรู้ที่ไม่ว่าใครก็ควรต้องฝึกเพื่อนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิต เพื่อให้เป็นคนที่มีความคิดเป็นเหตุเป็นผล

        LSEd Let’s Talk ชวนพูดคุยกับ อ.ดร.ณัฐวัฒน์ วัชรจิตตานนท์ (อ.เบญ) อาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงมุมมองที่มีต่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย ในฐานะที่ อ.เบญ เองก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญและทำงานในสายงานด้านการศึกษามาหลายปี รวมถึงแนวทางที่อาจเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ในไทย

“คิดว่าการเรียนวิทยาศาสตร์ในไทย เป็นการเรียนที่ไม่ได้เรียนเพื่อเกิดการคิดสร้างสรรค์”

        อ.เบญ อธิบายว่า ปัญหาอย่างหนึ่งของการเรียนวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันคือ เป็นการเรียนที่ไม่ได้เกิดกระบวนการเพื่อฝึกทักษะของการเป็นวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง โรงเรียนส่วนใหญ่จะเน้นการให้เด็กทำข้อสอบวิทยาศาสตร์ ให้เด็กเรียนรู้ จำ และนำไปสอบ ปรากฏว่ากระบวนการเหล่านี้ไม่นำไปสู่การคิด หรือเรียกได้ว่าเด็กแทบจะไม่ได้สัมผัสกับหลักการทางวิทยาศาสตร์ ที่จะต้องเริ่มจากการสังเกตก่อน เด็กจะต้องมีความ “เอ๊ะ” กับอะไรบางอย่าง ซึ่งทักษะการช่างสังเกต การตั้งคำถาม ถือเป็นทักษะที่สำคัญของการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเป็นพื้นฐานของทุกศาสตร์ที่ใช้วิทยาศาสตร์เป็นฐาน

        “...การเรียนรู้แบบนี้ในเมืองไทยมีน้อย” ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ไปจนถึงระดับมัธยมศึกษา อ.เบญ เล่าอีกว่า ที่เห็นหนักสุดคือระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่เด็กจะต้องเรียนเนื้อหาที่อัดแน่นภายในเวลาไม่กี่เดือน ฝึกทำข้อสอบหลายฉบับ เพื่อนำไปสอบเข้ามหาวิทยาลัย ด้วยความที่หลาย ๆ อย่างถูกผูกมัดด้วยเวลาที่มีอย่างจำกัด ครูเองที่เป็นผู้จัดการเรียนการสอนก็ต้องอัดเนื้อหาให้ครบตามเกณฑ์หลักสูตรการศึกษาภายในระยะเวลาที่กำหนด เมื่อครูให้ความสำคัญกับปริมาณเนื้อหาที่มากเกินไปและไม่ได้ทำการประเมินผู้เรียนอย่างสม่ำเสมอ ก็จะเกิดคำถามที่ว่า “เด็กเกิดการเรียนรู้จริงไหม” เพราะการประเมินหรือการวัดผลการเรียนรู้จะเกิดขึ้นเพียงครั้งสุดท้าย หรือที่เราเรียกกันว่าสอบกลางภาค สอบปลายภาค ดังนั้น กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้ถูกหล่อหลอมให้เกิดขึ้นภายในเนื้อในตัวผู้เรียน สุดท้ายเมื่อเขาเรียนจบไป เขาก็จะลืม

เราจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยทำให้การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างไรบ้าง

        อ.เบญ เล่าประสบการณ์ช่วงที่ยังไม่ได้เข้ามาเป็นอาจารย์ที่ LSEd ว่า ตอนนั้นไม่ได้มองว่ากระบวนการ Reflection หรือการสะท้อนคิด เป็นเรื่องที่สำคัญต่อการเรียนรู้ ไม่ใช่แค่ในวิชาวิทยาศาสตร์ เพราะการเรียนรู้ทุกอย่างจำเป็นต้องมีการนำกระบวนการนี้มาใช้ ให้ผู้เรียนได้หยุดนิ่งตกตะกอนทางความคิด ได้สะท้อนคิดว่าเขาได้เรียนรู้อะไรบ้าง ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นประตูเริ่มต้นของการสร้างการเรียนรู้ อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนารายวิชาอีกด้วย เนื่องจากถ้าเราเห็นแล้วว่าการสะท้อนของผู้เรียนยังไม่ตรงตามเป้าประสงค์ เรียนรู้ไม่สุด ไม่ครบ จะทำให้รู้ว่าควรอุดรอยรั่วตรงไหน รวมถึง ครู ในฐานะผู้จัดการเรียนการสอน ควรจะเพิ่มเติมอะไรเข้าไปในการเรียนครั้งต่อไป

        อ.เบญ ยังเล่าอีกว่า Active Learning เป็นทฤษฎีการศึกษาที่มีหลายมิติ การจัดกิจกรรม Active Learning ให้ผู้เรียนโดยไม่มีการประเมิน สุดท้ายไม่ต่างอะไรกับกระบวนการ Passive Learning ดังนั้น การประเมินจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างกระบวนการเรียนรู้ การที่เด็กได้สะท้อนคิดสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ถือเป็นการประเมินรูปแบบหนึ่งที่สำคัญในกระบวนการจัดการการเรียนรู้แบบ Active Learning เนื่องจากเด็กมีโอกาสได้กลับมาทบทวนความคิด ความรู้ และประสบการณ์ที่ตนเองได้ประสบระหว่างกระบวนการเรียนรู้

        สำหรับการจัดการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ อ.เบญ ให้ความคิดเห็นว่าควรจะเป็นการเรียนรู้ที่มีทั้ง Active Learning และ Passive Learning ควบคู่กันไป  เพราะวิชาวิทยาศาสตร์มีองค์ความรู้ที่มีความเฉพาะทางและเป็นสากล ยกตัวอย่างเช่น ความรู้เรื่องกฏเเรงโน้มถ่วงของโลก หรือองค์ประกอบทางเคมีของน้ำ ผู้เรียนจึงมีความจำเป็นต้องท่องจำองค์ความรู้พื้นฐานเหล่านี้ ก่อนจะนำความรู้นี้ไปสร้างสรรค์ ต่อยอด และประยุกต์ใช้ กระบวนการเรียนรู้แบบ Passive Learning จึงมีประโยชน์ในกรณีเหล่านี้ โดยช่วยให้ผู้เรียนเกิดองค์ความรู้พื้นฐานที่จำเป็นได้ในเวลาอันสั้น เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีโอกาสใช้ความรู้พื้นฐานเหล่านี้ไปสังเคราะห์ต่อได้อย่างรวดเร็ว

        “จริง ๆ แล้ว วิทยาศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเรียนเพื่อที่จะจบไปเป็นนักวิทยาศาสตร์ หรือทำงานสายวิทยาศาสตร์อย่างเดียว ประโยชน์และทักษะที่ผู้เรียนจะได้ติดตัวไปคือ ทักษะการสังเกต การตั้งคำถาม การพิสูจน์ข้อเท็จจริง ซึ่งทักษะเหล่านี้จะทำให้ผู้เรียนเป็นคนที่มีความคิดตั้งอยู่บนตรรกะและเหตุผล”

        อ.เบญ อธิบายเพิ่มว่า การเรียนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มีลักษณะเฉพาะตัว การเรียนวิชาคณิตศาสตร์ไม่ใช่การท่องจำสูตร แต่เป็นการเรียนรู้การแก้ปัญหาอย่างมีลำดับขั้นตอนที่ชัดเจนภายใต้กฏและข้อตกลงที่เป็นสากล ยกตัวอย่างเช่น การหาปริมาตรของปิรามิด จำเป็นต้องใช้กฏการคำนวณปริมาตร ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ฐาน และความสูงของปิรามิด ส่วนการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ไม่ใช่การท่องจำกฏ ทฤษฎี หรือเนื้อหาใด ๆ แต่เป็นการทำความเข้าใจธรรมชาติและปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ได้แก่ การสังเกต การตั้งคำถาม การตั้งสมมติฐาน และการหาคำตอบ ยกตัวอย่างเช่น การสังเกตปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลง โดยตั้งคำถามว่าอะไรที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ นำไปสู่การตั้งสมมติฐานว่าน้ำขึ้นน้ำลงได้รับอิทธิพลจากแรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์หรือไม่ สุดท้ายนำไปสู่การค้นหาคำตอบ และเกิดเป็นองค์ความรู้ในปัจจุบัน

        “ครูเป็นนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง พอได้มาสอนในคณะทำให้ครูเกิดมุมมองที่กว้างขึ้น ศาสตร์ทุกศาสตร์ล้วนเกิดมาจากกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์เช่นเดียวกัน ”

        การจัดเรียนการสอนของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับ “วิทยาศาสตร์”

        ถึงแม้ชื่อคณะเราจะดูเป็นคณะสายสังคม แต่ภายใต้รายวิชาและการจัดการเรียนการสอนของเรายังมีความเชื่อมโยงกับพื้นฐานและหลักการการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ คือการฝึกให้ผู้เรียนเป็นคนช่างสังเกต ตั้งคำถาม ตั้งสมมติฐาน และหาคำตอบหรือแนวทางแก้ไข เมื่อเกิดปรากฎการณ์ใดๆทางสังคม อ.เบญ ยกตัวอย่างวิชา Innovative Thinking and Design ในชั้นปีที่ 2 ที่ให้ผู้เรียนได้ลองผลิตนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม หรือปัญหาที่อยู่ในชุมชน โดยให้ผู้เรียนได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจปัญหาที่เกิดขึ้น ตั้งคำถามและตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับสาเหตุและปัจจัยที่อาจมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาในชุมชนนั้น และนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมเชิงสังคมที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่และสามารถแก้ปัญหาของชุมชนได้อย่างแม่นยำและมีความยั่งยืน

เรียบเรียงโดย นวนันต์ เกิดนาค