Loading...

นวัตกรรมทางสังคมและการออกแบบ จากจินตนาการใหม่ของเยาวชนไทย

        ปัญหาต่าง ๆ ทางสังคม ล้วนมีผลกระทบกับทุกคน ทุกกลุ่มวัย ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ฝุ่น PM 2.5 ปัญหาอาชญากรรม ความรุนแรง ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการศึกษา ฯลฯ แม้ว่าในสังคมจะเริ่มเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้แสดงความคิดเห็น สื่อสาร ปลดปล่อยจินตนาการถึงสังคมที่พวกเขาอยากเห็นมากขึ้น แต่เสียงของเด็กและเยาวชนจะสามารถนำไปสู่การปฏิบัติจริงได้อย่างไร รวมถึงว่าเด็กและเยาวชนจะมีส่วนร่วมในการลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์ได้อย่างไร

        LSEd Social Change ชวนพูดคุยถึงกิจกรรมภายใต้โครงการ “จินตนาการใหม่ของเยาวชนไทยสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคม” ที่ชวนให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้มาปลดปล่อยจินตนาการ ในกิจกรรม “การอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ครั้งที่ 2: นวัตกรรมทางสังคมและการออกแบบ (Social Innovation and Design)” ผ่านบทสัมภาษณ์ รศ.ดร.ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล หรือ อ.แต้ว อาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกทั้งยังเป็นผู้รับผิดชอบโครงการนี้ด้วย ซึ่งโครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ร่วมกับ ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง 101 PUB และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ความสำคัญของ ‘นวัตกรรมสังคม’ ต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

        อ.แต้ว อธิบายความหมายของ ‘นวัตกรรมทางสังคม’ คือ การเกิดขึ้นของสิ่งใหม่ หรือสิ่งเดิมที่มีอยู่แล้วแต่นำมาใช้กับบริบทใหม่ ครอบคลุมแนวคิด กระบวนการ หรือสิ่งประดิษฐ์ ที่นำมาใช้แก้ปัญหาสังคมทั้งที่เป็นปัญหาเดิมที่มีอยู่แล้วและปัญหาใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น ซึ่งมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมเป็นอย่างมาก เพราะสะท้อนให้เห็นว่าวิธีการหรือแนวคิดเดิมที่มีอยู่นั้น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาสังคมนั้นได้ เช่น ช่วง Covid-19 ได้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างมากมาย ทั้งเครื่องสแกนลดการสัมผัส กิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นการเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนสำหรับการเรียนออนไลน์ ฯลฯ ดังนั้น หากไม่มีนวัตกรรม พวกเราก็อาจขาดวิธีการหรือแนวทางในการแก้ไขปัญหา และปัญหาเหล่านี้ก็จะคงอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ

“การจะริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคมขึ้นมา องค์ประกอบสำคัญคือการที่ผู้คนรู้ร้อนรู้หนาวต่อปัญหารอบตัวของพวกเขา และกล้าคิดในสิ่งที่แตกต่างออกไป เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ใหม่ ๆ”

        จากที่พบว่ามีช่องว่างที่ผลักเยาวชนออกจากการมีส่วนร่วมในการลงมือแก้ปัญหาสังคม การขาดพื้นที่ในการปล่อยของ ความสร้างสรรค์ต่าง ๆ ที่พวกเขามี ผนวกกับ กระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคม ทำให้คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ เล็งเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหา จึงพยายามสร้างพื้นที่ที่เอื้อต่อการบ่มเพาะเยาวชนให้มีความเป็นพลเมือง ผ่านโครงการจินตนาการใหม่ของเยาวชนไทยสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคม ที่ชวนให้เยาวชนมาปลดปล่อยจินตนาการที่พวกเขามีต่อสังคมที่พวกเขาอยากเห็น ด้วยเครื่องมือ Civic Imagination และ Creative Communication และต่อยอดจินตนาการของพวกเขาให้เกิดขึ้นด้วยการติดตั้งเครื่องมือในการพัฒนานวัตกรรมทางสังคมตามแนวคิด Design Thinking เพื่อให้พวกเขาได้สร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคมด้วยตนเอง โดยมีผู้ใหญ่เป็นเพียงพี่เลี้ยงที่ช่วยเสริมแรง และสนับสนุนทรัพยากรให้พวกเขา

กิจกรรม Workshop ครั้งที่ 2: นวัตกรรมทางสังคมและการออกแบบ (Social Innovation and Design)

        กิจกรรม Workshop ครั้งที่ 2 นี้ เป็นการชวนให้เยาวชนได้ทำงานต่อยอดจากประเด็นสังคมที่พวกเขาสนใจและได้กำหนดเค้าโครงไว้แล้วในช่วงการเข้าร่วม Workshop ครั้งที่ 1 เรื่อง Civic Imagination and Creative Communication (อ่านบทความกิจกรรมที่เกิดขึ้นใน Workshop ครั้งที่ 1)  กิจกรรมในครั้งที่ 2 เป็นการค้นคว้าหาข้อมูลและใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในการวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจปัญหาและกลุ่มเป้าหมายอย่างลุ่มลึกขึ้น ซึ่งตัวอย่างกระบวนการและเครื่องมือที่เยาวชนจะได้ทดลองในกิจกรรมครั้งนี้ จะช่วยให้เยาวชนในโครงการเข้าใจหลักการสร้างนวัตกรรมทางสังคมผ่านการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ เช่น POV statement/ How Might We/ Theory of Change/ Now How Wow/ ดูกรณีศึกษาตัวอย่างนวัตกรรมสังคมที่หลากหลาย หรือการลงมือสร้าง Prototype

เครื่องมือ POV statement และ How Might We?

        เครื่องมือ POV statement ย่อมาจากคำว่า Point of view คือ การทำ Define หลังจากการ Empathize หรือการทำความเข้าใจความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย โดย Define คือการนำประเด็นสำคัญที่ได้จากการสังเกต สอบถาม รู้สึกแทนมาทำการสรุปเพื่อหาข้อมูลเชิงลึก เป็นการกลับมามองสถานการณ์ปัญหาผ่านมุมมองของกลุ่มเป้าหมาย และวิเคราะห์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจนขึ้น ซึ่งจะทำให้เราเห็นความต้องการของเขาชัดขึ้นไปอีก รวมถึง เครื่องมือ How Might We หรือ “เราจะทำอย่างไรให้..” เป็นอีกเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เราสกัดข้อสังเกตสำคัญอย่าง Insight หรือ ข้อมูลที่ผิดจากที่คาดไว้ได้ จากการทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายและนำมาเป็นโอกาสในการช่วยกระตุ้นให้เราคิดค้นวิธีการใหม่ในการแก้ไขปัญหาโดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นศูนย์กลาง

เครื่องมือ Theory of Change

        เครื่องมือ Theory of Change หรือ ทฤษฎีเพื่อการเปลี่ยนแปลง คือเครื่องมือในการพัฒนาโครงการเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่เราตั้งไว้ ผ่านกระบวนการคิดย้อนกลับ โดยนำเสนอผ่านรูปแบบของแผนภาพเพื่อให้เข้าใจได้โดยง่าย ซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพรวมของโครงการและนำไปสู่การออกแบบวิธีการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด โดยภายในกิจกรรมพี่เลี้ยงได้ให้น้อง ๆ เขียนประเด็นต่าง ๆ ลงบนกระดาษ เช่น การระบุสถานการณ์ปัญหา กลุ่มเป้าหมาย พื้นที่ทำงาน โอกาสหรือช่องว่างในการแก้ไขปัญหา และภาพฝันหรือภาพความสำเร็จระยะยาวที่อยากเห็น ซึ่งการที่ Theory of Change ถูกมองว่าเป็นกระบวนการคิดแบบย้อนกลับ เพราะเป็นกระบวนการที่เรามองภาพความสำเร็จก่อนที่จะไปสู่วิธีการนั่นเอง

เครื่องมือ How Now Wow

        เครื่องมือ How Now Wow Metrix คือการให้น้อง ๆ ได้ลองวาดรูปลงบนกระดาษฟลิปชาร์ตและจัดดูว่าไอเดียของเราอยู่ในช่วงไหน ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 ช่อง ได้แก่ 1) Now คือ สิ่งที่มีอยู่แล้ว/ทำได้เลย 2) How คือ ทำอย่างไร และ 3) Wow คือ ไอเดียที่ดีและสามารถทำได้เลย หลักจากนั้นพี่เลี้ยงก็ให้น้อง ๆ ได้ระดมความคิดร่วมกัน

ขั้นตอน Prototype

         หลังจากที่ทุกกลุ่มได้ออกแบบหัวข้อที่ผ่านการวิเคราะห์แล้วว่าตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย ขั้นตอนต่อไปคือ Prototype ซึ่งการทำ Prototype ในค่ายนี้เป็นการทำกิจกรรมสนุก ๆ อย่างการจำลองออกแบบโครงการหรือกิจกรรม โดยที่น้อง ๆ สามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ ผ่านการให้แต่ละกลุ่มเลือกเพียงแค่ 1 กิจกรรมในการนำมาออกแบบสร้าง Prototype อย่างเช่น การจำลองจัดพื้นที่ Workshop, การทำ Product หรือ การสร้าง Exhibition เป็นต้น หลังจากนั้นจึงนำเสนอร่วมกัน

        จะเห็นว่ากิจกรรมที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นนี้ ถูกออกแบบมาเพื่อติดเครื่องมือและทักษะในการวิเคราะห์ปัญหา กลุ่มเป้าหมาย และการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ให้กับเยาวชนที่เข้าร่วมอย่างเต็มที่ เครื่องมือและขั้นตอนที่กล่าวไปข้างต้นเป็นเพียงกิจกรรมบางส่วนเท่านั้น ยังคงมีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมาย ซึ่งเป้าหมายหลักของการออกแบบกิจกรรมแต่ละกิจกรรมนั้นล้วนแล้วมุ่งให้เยาวชนที่มาเข้าร่วมค่ายนี้ได้ใช้จินตนาการของตนเองในการแก้ปัญหาสังคม และระดมสมองในการสังเคราะห์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้คนในสังคมอย่างแท้จริง

สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นจากพลังของคนรุ่นใหม่กับการสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคม

        การที่เยาวชนกลุ่มเป้าหมายได้ทำความเข้าใจในประเด็นสาธารณะที่พวกเขาให้ความสำคัญ รวมทั้งจินตนาการใหม่ที่พวกเขามีต่อประเด็นที่สนใจนั้น จะนำมาสู่การออกแบบและพัฒนานวัตกรรมทางสังคม อ.แต้ว กล่าวอีกว่า คนรุ่นใหม่มีความคิดสร้างสรรค์สูงมาก หากไอเดียต่าง ๆ ของพวกเขาถูกรับฟังมากขึ้น และมีผู้ใหญ่ช่วยเสริมแรงให้จินตนาการเหล่านั้นเกิดขึ้นจริง พวกเขาจะเป็นพลังสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม และสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมได้  ซึ่งการมีส่วนร่วมเหล่านี้ของพวกเขาเป็นการบ่มเพาะความเป็นพลเมืองในตัวของพวกเขาด้วย

เรียบเรียงโดย นวนันต์ เกิดนาค