ความเสี่ยงที่ผู้สูงอายุหลากหลายทางเพศต้องเผชิญ
ในยุคปัจจุบันของสังคมไทยที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงและความหลากหลาย ปัญหาและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศกลับกลายเป็นเรื่องที่ถูกละเลยและน้อยที่จะได้รับความสนใจอย่างเท่าทันกับปัญหาที่เกิดขึ้นในกลุ่มคนอื่น ๆ ในสังคม เมื่อเราพูดถึงปัญหาและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย มันไม่เพียงแค่การชวนคุยถึงสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ยังเป็นการกลับไปมองความคิด อคติ และคุณค่าที่คนในสังคมมีต่อกลุ่มคนที่มีความทับซ้อน ดังเช่น กลุ่มผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้คนในสังคมได้มีความเข้าใจและเปิดกว้างในเรื่องเพศและอัตลักษณ์ทางเพศมากขึ้น แต่การยอมรับต่อเรื่องนี้ในวัฒนธรรมไทยยังคงมีข้อจำกัดในการสนับสนุนและสร้างความเท่าเทียมให้กับพวกเขาอยู่ การยอมรับความหลากหลายทางเพศในกลุ่มผู้สูงอายุจึงกลับกลายเป็นประเด็นที่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึง และในบางสถานการณ์ การเผชิญหน้ากับปัญหาและความเสี่ยงทางเพศอาจเป็นสิ่งที่ยากลำบากและยังขาดความเข้าใจจากสังคม
ในบทความนี้ เราจะชวนทุกคนร่วมสำรวจและวิเคราะห์ปัญหาและความเสี่ยงที่ผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศกำลังเผชิญหน้า โดยพิจารณาจากมุมมองทางสังคม สุขภาพ และสิทธิมนุษยชน เพื่อสร้างความเข้าใจและความตระหนักเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน และแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ให้กับผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศในไทย ให้เขาได้มีคุณภาพชีวิตที่เป็นสุขและเท่าเทียมกับเพื่อนมนุษย์คนอื่น ๆ ในสังคม
LSEd Let’s Talk ชวนพูดคุยกับ รศ.ดร.ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล (อ.แต้ว) อาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่กำลังทำงานโครงการเพื่อศึกษาสถานการณ์สุขภาวะทางเพศ สุขภาพจิต และความสัมพันธ์ ของกลุ่มประชากรสูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQN+) ในประเทศไทยอย่างเข้มข้น
ปัญหาและความเสี่ยงที่ผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศกำลังเผชิญ
“...หลักประกันทางรายได้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับการมีคุณภาพชีวิตและสุขภาวะที่ดีของคนในยามที่แก่ตัวลง”
อ.แต้ว เล่าว่า จากข้อมูลของประเทศไทยในอดีต แหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุไทยมักมาจากบุตรหลาน แต่เมื่อช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนแหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุจากบุตรหลานเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่กลับมีสัดส่วนของแหล่งรายได้จากการทำงาน และเบี้ยยังชีพเพิ่มสูงขึ้น
จะเห็นได้ว่า การทำงานเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างหลักประกันทางรายได้ของผู้สูงอายุในไทย อ.แต้ว เล่าอีกว่า จากข้อมูลการศึกษาเรื่องการเลือกปฏิบัติและการกีดกันผู้มีความหลากหลายทางเพศ พบว่า กลุ่มผู้สูงอายุผู้มีความหลากหลายทางเพศรายงานว่าตนเองมีประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติและกีดกันจากการทำงานสูงที่สุด และมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตมากที่สุด เมื่อเทียบกับการเลือกปฏิบัติในด้านอื่น ๆ ทั้งในอดีตที่ผ่านมา ในปัจจุบัน และมีแนวโน้มจะสืบเนื่องสู่อนาคตต่อไป
การถูกกีดกันจากการทำงานเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศขาดโอกาสในการเข้าถึงรายได้ และการสร้างหลักประกันทางรายได้ให้ตนเอง ซึ่งส่งผลกระทบต่อมิติอื่น ๆ ตามมาด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะด้านสุขภาพจิต
จากช่วงเวลาในอดีตที่ผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศต้องเผชิญในการใช้ชีวิตในสังคมที่ยังไม่มีการเปิดกว้าง หรือยอมรับความหลากหลายทางเพศ ส่งผลให้ผู้สูงอายุกลุ่มนี้มีทางเลือกในการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองอยู่น้อย มีหลายส่วนเลือกที่จะกดตนเองไว้ พยายามไม่ให้คนรอบข้างรับรู้ เพื่อให้ตนเองได้รับการยอมรับจากสังคม หรือ บางกลุ่มกล้าที่จะยืนยันและเป็นในสิ่งที่ตนเองเป็น แต่ต้องแลกมาด้วยการถูกกีดกัน เลือกปฏิบัติ หรือรุนแรงถึงขั้นถูกทำร้ายร่างกาย หรือข่มเหงจิตใจด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเลือกทางใด ก็มักจะมีผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้สูงอายุค่อนข้างมาก ซึ่ง อ.แต้ว เล่าว่าจากการผลการศึกษาเบื้องต้น พบว่าผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศมีความรู้สึกกังวลอยู่ค่อนข้างสูง
ในส่วนปัญหาเรื่องสุขภาพทางกายต่าง ๆ ก็เป็นประเด็นร่วมที่ผู้สูงอายุทั่วไปต้องเผชิญเช่นกัน แต่อาจมีความเฉพาะ เช่น ในกลุ่มผู้ที่ต้องใช้ฮอร์โมน ก็อาจยังไม่ได้รับสวัสดิการในการดูแลที่เพียงพอ
บริบทของปัญหาที่แตกต่างกันระหว่างไทยกับต่างประเทศ
อ.แต้ว กล่าวว่า ในแง่ความรุนแรงของการเลือกปฏิบัติ หรือปัญหาของผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างไทยกับต่างประเทศ บางเรื่องต่างประเทศอาจมีความรุนแรงของการเลือกปฏิบัติมากกว่า เพราะในหลายประเทศกฎหมายค่อนข้างอิงกับศาสนา จึงอาจมีการกีดกันที่มากกว่า
ในขณะที่ไทยจะพบเจอในรูปแบบความคาดหวังของครอบครัวมากกว่าว่าอยากให้เป็นแบบใด เช่น เกิดเป็นเพศกำเนิดชาย ต้องแสดงบทบาทเข้มแข็ง หาเลี้ยงคนในครอบครัวได้ หรือ เกิดเป็นเพศกำเนิดหญิง ต้องกริยาสำรวมรับบทบาทหน้าที่ดูแลพ่อแม่ เป็นต้น
การทำงานขับเคลื่อนสังคมในประเด็นผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ ของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์
โครงการวิจัยศึกษาสถานการณ์สุขภาวะทางเพศ สุขภาพจิต และความสัมพันธ์ ของกลุ่มประชากรสูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQN+) ในประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งโครงการที่คณะฯ กำลังดำเนินการอยู่อย่างเข้มข้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก 9 อ.แต้ว อธิบายว่าโครงการนี้ตั้งใจศึกษาเก็บข้อมูลทั้งข้อมูลเชิงปริมาณผ่านแบบสำรวจ และเชิงคุณภาพผ่านการสัมภาษณ์เชิงลึก สื่อสารผ่านเรื่องเล่าทรงพลังในรูปแบบหนังสือ สื่อวิดีโอต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างการยอมรับกันในสังคมมากขึ้น และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างสุขภาวะของประชากรกลุ่มนี้
อีกทั้งในปีนี้คณะฯ ยังเป็นเจ้าภาพร่วมกับ บางกอกไพรด์ (BKK Pride) จัดงาน Pride Month 2024 ซึ่งภายในงานจะมีทั้งเวทีเสวนานำเสนอผลการศึกษา ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย นิทรรศการ และการจัด Workshop เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจต่อสังคมเกี่ยวกับประชากรกลุ่มนี้อีกด้วย
สุดท้ายนี้ อ.แต้ว กล่าวว่าตนมีความคาดหวังว่าอยากเห็นสังคมไทยเป็นสังคมที่ประชากรทุกคนที่มีความหลากหลาย สามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยมีโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน และ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำนโยบายเกี่ยวกับประชากรสูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ มีความเข้าใจความหลากหลายและความเฉพาะเจาะจงในการดูแลประชากรแต่ละกลุ่มด้วยเช่นกัน เพื่อเวลามีนโยบายใด ๆ ขึ้นมานั้นจะได้ไม่เผลอทำใครตกหล่นจากนโยบายนั้น
อาจกล่าวได้ว่า ในอนาคตปัญหาและความเสี่ยงเหล่านี้ อาจมีการคลี่คลายลง ทั้งจากความเข้าใจและการยอมรับที่เพิ่มมากขึ้นในสังคม การพัฒนานโยบายที่สนับสนุนและป้องการความเหลื่อมล้ำให้กับผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ และการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและรองรับความหลากหลายทางเพศอย่างเท่าเทียมในสังคมไทย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราสามารถเริ่มต้นที่ตัวเราเองโดยการเปิดใจและพยายามทำความเข้าใจถึงปัญหาและความเสี่ยงที่กลุ่มผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศกำลังเผชิญหน้าอยู่ได้
เรียบเรียงโดย นวนันต์ เกิดนาค