LSEd ยืนหยัดส่งเสริมการศึกษาที่เท่าเทียม: นโยบายการเคารพในความแตกต่างหลากหลาย การไม่ล่วงละเมิด และการไม่เลือกปฏิบัติ
สิทธิมนุษยชน (Human Rights) เป็นแนวคิดพื้นฐานที่ยอมรับกันในระดับสากล ว่าเป็นสิทธิและเสรีภาพซึ่งมนุษย์ทุกคนมีโดยกำเนิด ไม่ว่าจะเป็นเพศ เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม หรือสถานะทางสังคม ทั้งนี้ แนวคิดนี้มีรากฐานมาจากหลักการของความเท่าเทียมและความเป็นธรรม ที่ส่งเสริมให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีและความปลอดภัย
ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights: UDHR) ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่ได้รับการรับรองโดยองค์การสหประชาชาติเมื่อปี ค.ศ. 1948 ได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนควรได้รับการปกป้อง เช่น สิทธิในชีวิต เสรีภาพจากการถูกกดขี่ และสิทธิในความเสมอภาค
ในประเทศไทย บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2563 ต่างก็สะท้อนถึงความสำคัญของการเคารพในสิทธิมนุษยชน โดยเน้นให้บุคคลสามารถกระทำการต่าง ๆ ภายใต้กรอบของกฎหมายและหลักศีลธรรม โดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น
คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำหนดจุดยืนและแนวทางการสนับสนุนสังคมที่เคารพในความแตกต่างหลากหลาย การไม่ล่วงละเมิด และการไม่เลือกปฏิบัติ โดยได้จัดทำ “ประกาศคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง นโยบายการเคารพในความแตกต่างหลากหลาย การไม่ล่วงละเมิด และการไม่เลือกปฏิบัติ” เพื่อส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ที่เคารพสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเป็นบรรทัดฐานในด้านความเท่าเทียมในการดูแลประชาคมของคณะและผู้มาใช้บริการ
LSEd Social Change ขอชวนทุกท่านติดตามบทสัมภาษณ์จากอาจารย์ทั้ง 3 ท่าน ได้แก่ รศ.ดร.ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล (อ.แต้ว) รองคณบดีฝ่ายวิชาการ ผศ.ดร.กิตติ คงตุก (อ.เต้ย) รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและกิจกรรมพิเศษ และ ผศ.ดร.อัครา เมธาสุข (อ.นอร์ท) ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและพัฒนาบุคลากร ในประเด็นมุมมองต่อความสำคัญของการส่งเสริมความแตกต่างหลากหลาย การสร้างสังคมที่เคารพสิทธิและความเท่าเทียม ตลอดจนแนวทางการนำประกาศนี้มาปรับใช้ในบริบทของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์
พื้นที่ปลอดภัย: ความสำคัญของนโยบายการเคารพในความแตกต่างหลากหลาย การไม่ล่วงละเมิด และการไม่เลือกปฏิบัติในสถานศึกษา
อ.แต้ว อธิบายถึงความสำคัญของ “พื้นที่ปลอดภัย” โดยกล่าวว่าเป็นพื้นที่ที่ผู้คนรู้สึกปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ สามารถแสดงตัวตนได้อย่างอิสระ ปราศจากการตัดสิน ลดทอนคุณค่า หรือการเลือกปฏิบัติ พื้นที่ปลอดภัยช่วยให้นักศึกษารู้สึกสบายใจและเอื้อต่อการเรียนรู้ เติบโต และพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสำคัญของสถานศึกษา อย่างไรก็ตาม พื้นที่เหล่านี้มักไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศการเรียนรู้ เช่น เพื่อนนักศึกษา อาจารย์ เจ้าหน้าที่ ผู้บริหาร รวมถึงกรอบนโยบายหรือข้อปฏิบัติต่าง ๆ ที่สนับสนุนความหลากหลายและการไม่เลือกปฏิบัติ
ดังนั้น การผลักดันนโยบายการเคารพในความแตกต่างหลากหลาย การไม่ล่วงละเมิด และการไม่เลือกปฏิบัติ จึงเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยเชิงนโยบาย เพื่อให้ทุกคนในคณะมีแนวทางปฏิบัติที่เคารพความหลากหลาย อันเป็นหัวใจของการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในสถานศึกษา
ในมุมมองของ อ.เต้ย นโยบายเหล่านี้เปรียบเสมือน “ข้อตกลงร่วมกันในการอยู่ร่วมกัน” เพราะความแตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องพื้นฐานของมนุษย์ ทุกคนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น ภาษา ความเชื่อ หรือรูปลักษณ์ทางร่างกาย “การอยู่ร่วมกันโดยไม่กดทับซึ่งกันและกัน” จึงเป็นแนวทางที่สำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ทุกคนรู้สึกปลอดภัยและมีคุณค่า การสนับสนุนนโยบายที่ส่งเสริมความหลากหลายจะช่วยให้การอยู่ร่วมกันเป็นไปอย่างสงบสุขและเคารพซึ่งกันและกัน
อ.นอร์ท กล่าวว่า “การเคารพตัวตนที่แตกต่างของกันและกัน” เป็นจุดเริ่มต้นของความรู้สึกปลอดภัยในการใช้เวลาร่วมกัน โดยเฉพาะในสถานศึกษา ที่เป็นพื้นที่การเรียนรู้ของคนหลายกลุ่ม ไม่เพียงแค่นักศึกษา แต่รวมถึงครู อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ “เมื่อทุกคนในสถานศึกษารู้สึกปลอดภัย ก็จะเกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ทั้งในเชิงปัญญาและจิตใจ”
การกำหนดนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับความแตกต่างหลากหลาย ช่วยสร้างกรอบความคิดร่วมกันว่า ทุกคนควรมีพื้นที่ที่ได้รับการเคารพในสิทธิของตนเอง เมื่อผู้เรียนและผู้สอนรู้สึกปลอดภัย ย่อมส่งผลให้กระบวนการเรียนรู้ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น เต็มไปด้วยความเข้าใจและการเติบโตที่ดี
การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนผ่านการออกประกาศคณะ เรื่อง นโยบายการเคารพในความแตกต่างหลากหลาย การไม่ล่วงละเมิด และการไม่เลือกปฏิบัติ
อ.แต้ว กล่าวว่า เนื้อหาในประกาศฉบับนี้ตั้งอยู่บน “หลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights: UDHR)” และบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ดังนั้น แนวทางปฏิบัติในประกาศนี้ ช่วยส่งเสริมให้สมาชิกคณะมีแนวทางที่ลดโอกาสในการละเมิดสิทธิของผู้อื่น และลดโอกาสที่สมาชิกจะถูกละเมิดสิทธิด้วยเช่นกัน สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เกิด “พื้นที่ปลอดภัยสำหรับการเรียนรู้” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ
อ.เต้ย กล่าวว่าประกาศฉบับนี้ช่วยเสริมให้คณะยังคงยึดมั่นในแนวคิดหลักคือ “การเคารพและเรียนรู้ร่วมกัน” โดยนโยบายนี้เปรียบเสมือน “การประกาศจุดยืนของคณะ” ที่ช่วยให้ทั้งคนในคณะและผู้ที่สนใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคณะเข้าใจปรัชญาของคณะได้ง่ายขึ้น นโยบายนี้ยังสะท้อนวัฒนธรรมองค์กรที่ถูกบ่มเพาะมาโดยธรรมชาติ อ.เต้ย อธิบายว่า “นโยบายอาจเป็นเพียงข้อกำหนด แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้นโยบายส่งผลจริง คือการที่เราต้องปฏิบัติเองในระดับปัจเจกบุคคล” ซึ่งวัฒนธรรมและวิถีชีวิตเหล่านี้ค่อย ๆ บ่มเพาะขึ้นจากตัวตนและการปฏิบัติของพวกเราเอง จนกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน
อ.เต้ย กล่าวเสริมว่า “การนำนโยบายนี้มาใช้ทำให้ปณิธานแรกเริ่มของคณะถูกขมวดและแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรม” และยังช่วยให้คนภายนอกเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เพียงแนวคิด แต่เป็นวิถีปฏิบัติที่เรายึดถือมาตั้งแต่แรกเริ่ม “ถ้าเป้าหมายในภาพใหญ่คือการนำพาประเด็นการเคารพและเรียนรู้ร่วมกันเข้าสู่สังคมในวงกว้าง ตัวเราก็ต้องเป็นคนแบบนั้นให้ได้ก่อน” อ.เต้ย มองว่านโยบายนี้จึงไม่เพียงช่วยสร้างพื้นที่ปลอดภัยภายในคณะ แต่ยังเป็นแรงผลักดันสำคัญที่สามารถขยายไปสู่ระดับสังคมในวงกว้าง
อ.นอร์ท อธิบายว่า สิทธิมนุษยชนคือสิทธิพื้นฐานที่ทุกคนมีโดยกำเนิด ไม่ว่าจะมีเพศ สีผิว เชื้อชาติ หรือศาสนาใด สิทธิเหล่านี้ เช่น “สิทธิในการมีชีวิต การกิน การพักผ่อน” เป็นสิ่งที่ติดตัวเราทันทีที่เกิดเป็นมนุษย์ เมื่อคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ให้ความสำคัญกับการนำร่วม (Collective Leadership) ซึ่งอำนาจในการนำได้กระจายอยู่ในตัวคนทุกคน ดังนั้น สิทธิต่าง ๆ จึงต้องถูกจัดสรรให้มีความเหมาะสมสำหรับคนทุกคนด้วย เพื่อให้ทุกคนสามารถเปล่งเสียงและมีบทบาทในการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการเรียนรู้และสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม ประกาศฉบับนี้จึงครอบคลุมเกี่ยวกับการไม่ล่วงละเมิดและการไม่เลือกปฏิบัติตั้งแต่ในระดับการบริหารจัดการคณะโดยภาพรวม การบริหารบุคคล การจัดการเรียนการสอน การบริการวิชาการ ไปจนถึงการรับมือเมื่อเกิดเหตุการณ์ล่วงละเมิดหรือการเลือกปฏิบัติ
อ.นอร์ท เชื่อว่าถ้าทุกพื้นที่และทุกส่วนงานในคณะฯ ให้ความสำคัญกับการเคารพในความแตกต่างหลากหลายของแต่ละบุคคล ก็จะทำให้ทุกคนสามารถธำรงสิทธิมนุษยชนที่ตัวเองพึงมีได้อย่างครอบคลุมในทุกบริบท
ผลกระทบของนโยบายต่อการสร้างวัฒนธรรมองค์กรในระยะยาว
อ.แต้ว กล่าวว่า ด้วยความที่คณะดำเนินการภายใต้วัฒนธรรมองค์กรที่ เคารพความแตกต่างหลากหลายมาตั้งแต่ก่อตั้งคณะ ข้อความที่ติดอยู่ในตึก เช่น “สร้างสังคมแห่งการเคารพและเรียนรู้ร่วมกัน” เป็นสิ่งที่ย้ำเตือนถึงหลักคิดพื้นฐานของคณะ และสะท้อนถึงการปฏิบัติต่อบุคลากรและนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในงานวิจัยและบริการวิชาการที่เน้นการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลาย เช่น ด้านวัย เพศ เชื้อชาติ หรือความสามารถ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากการมีนโยบายที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เกิดจากวิถีปฏิบัติที่สืบเนื่องกันมา อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะเติบโตขึ้นและมีสมาชิกเพิ่มขึ้น การมีนโยบายหรือแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนจะช่วยสร้างความเข้าใจที่ตรงกันและส่งต่อวัฒนธรรมองค์กรนี้อย่างต่อเนื่อง นโยบายนี้ยังช่วยให้ทุกคนมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการเคารพความหลากหลาย และเข้าใจขอบเขตในวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้เกิดความเป็นเอกภาพในระยะยาว
อ.เต้ย กล่าวว่า การเรียนรู้ที่จะเคารพและอยู่ร่วมกันเริ่มต้นจากระดับปัจเจกบุคคล ที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เมื่อเข้ามาในคณะซึ่งมีวิถีองค์กรที่เน้นการเคารพและไม่ล่วงละเมิดกัน สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นกิจวัตรที่ทำให้เข้าใจความหลากหลายและเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับมัน หากบุคคลสามารถปรับตัว เรียนรู้ และเข้าใจสิ่งนี้ ในระยะยาวจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่แผ่ขยายไปในสังคม ตัวบุคคลที่ได้รับการบ่มเพาะจากคณะจะเป็นฟันเฟืองที่ส่งต่อแนวคิดนี้ให้กับผู้อื่น ทั้งในชีวิตการทำงาน การจัดการองค์กร หรือแม้แต่ในครอบครัว สิ่งเหล่านี้จะสะสมและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในสังคมใหญ่ “...ผมเชื่อว่า การที่เริ่มจากจุดเล็ก ๆ ในระยะยาวมันจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างได้” อ.เต้ย กล่าว
อ.นอร์ท กล่าวว่า การกำหนดนโยบายการเคารพความหลากหลายเป็นลายลักษณ์อักษรถือเป็นการยืนยันหลักการขององค์กร ว่าเราสนับสนุนตัวตนที่หลากหลายของคนทุกคน นโยบายนี้เป็นทั้งหลักฐานและหลักยึดในการพิจารณาเพื่อนำไปปฏิบัติในกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งหมดของคณะ วัฒนธรรมองค์กรจึงไม่ใช่สิ่งที่ใครคนใดคนหนึ่งสามารถปฏิบัติอยู่คนเดียว และไม่สามารถเป็นเพียงข้อความในเอกสาร แต่ต้องถูกนำไปใช้อย่างจริงจัง กว้างขวาง และต่อเนื่อง ที่ผ่านมาทุกคนในคณะฯ ต่างยึดถือหลักการเหล่านี้อยู่แล้ว หลังการก่อตั้งคณะฯ มาแล้ว 10 ปี การเกิดนโยบายนี้ขึ้นในช่วงเวลานี้จึงเป็นเหมือนการตกผลึกว่าการเคารพในความแตกต่างหลากหลาย การไม่ล่วงละเมิด และการไม่เลือกปฏิบัติ เป็นเรื่องที่สำคัญจริง ๆ ของคนในคณะ และสมควรที่จะยึดมั่นในหลักการนี้ต่อไปอีกในอนาคต
การไม่ล่วงละเมิด: พื้นฐานของสุขภาวะจิตใจและการเรียนรู้ร่วมกัน
อ.นอร์ท อธิบายว่า การจัดการไม่ให้มีการล่วงละเมิดเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการล่วงละเมิดมีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาวะจิตใจของบุคคลด้วย โดยมีงานวิจัยจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นว่า ผลกระทบเบื้องต้นของการถูกล่วงละเมิดมักเริ่มต้นจาก ความเครียดและความวิตกกังวล แต่หากเหตุการณ์ล่วงละเมิดมีความรุนแรงหรือเกิดขึ้นต่อเนื่อง อาการซึมเศร้าและปัญหาด้านสุขภาพจิตอื่น ๆ ก็อาจตามมา สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ผลกระทบที่ลึกซึ้งต่อการด้อยคุณค่าในตนเอง หรือการขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ซึ่งเมื่อมนุษย์เราขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตในมิติอื่น ๆ เช่น การหยุดปกป้องสิทธิของตัวเอง การยอมให้ตัวเองถูกกดขี่ และ การหยุดแสดงความรักความหวังดีต่อตัวเอง เมื่อมองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง เขาก็อาจจะเลิกขวนขวายสิ่งดี ๆ ให้ตัวเอง
อ.นอร์ท ชี้ให้เห็นว่า เมื่อบุคคลไม่เห็นคุณค่าในตนเอง กลไกการเรียนรู้ก็จะพังทลายลง เพราะเขาไม่เชื่อว่าตัวเองควรค่าแก่การได้รับการเรียนรู้ที่ดี ทำให้ไม่แสวงหาการเรียนรู้ที่สร้างคุณค่าและการเติบโตแก่ตนเอง นอกจากนี้ เมื่อไม่สามารถรักตัวเองได้ ความรักและความใส่ใจที่ควรส่งต่อให้คนรอบข้างก็ลดลง บางครั้งเขาเองอาจเผลอทำร้ายความรู้สึกของคนอื่นหรือแม้กระทั่งล่วงละเมิดผู้อื่นต่อไปโดยไม่ได้ตั้งใจ
“การหยุดยั้งวงจรนี้ต้องเริ่มต้นจากการปกป้องบุคคลไม่ให้ถูกล่วงละเมิด” อ.นอร์ท กล่าว “เราต้องแสดงให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเอง ว่าเขาเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกับคนอื่น” เรื่องนี้คือพื้นฐานของการเติมเต็มคุณค่าในจิตใจของคนเรา เมื่อคนคนหนึ่งได้รับความรักและการเคารพอย่างเหมาะสม เขาจะสามารถส่งต่อความรักและความเห็นอกเห็นใจให้กับคนรอบข้างได้ ซึ่งในระยะยาว จะนำไปสู่การสร้างสังคมที่ทุกคนสามารถเรียนรู้และอยู่ร่วมกันได้จริง ตามปรัชญาของคณะที่มุ่งเน้นการเคารพและการเรียนรู้ร่วมกัน
บทบาทของกิจกรรมนักศึกษา: สร้างวัฒนธรรมแห่งความเสมอภาคและการไม่เลือกปฏิบัติ
อ.เต้ย เล่าว่า หนึ่งในจุดยืนสำคัญของคณะ ตั้งแต่ก่อตั้งมาคือ การสนับสนุนให้นักศึกษามีโอกาสพัฒนาตนเองและค้นหาศักยภาพอย่างเท่าเทียม โดยมีเป้าหมายหลัก 4 ข้อที่กิจกรรมนอกหลักสูตรต้องตอบโจทย์ ได้แก่ 1) ให้นักศึกษามีพื้นที่และทรัพยากรในการค้นหาศักยภาพของตนเอง 2) สนับสนุนให้นักศึกษาได้ลองใช้ความสามารถ 3) ช่วยให้นักศึกษาพัฒนาจุดยืนที่มั่นคงในชีวิต และ 4) กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีในสังคม เพราะฉะนั้น กิจกรรมนักศึกษาจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่กิจกรรม แต่เป็นส่วนหนึ่งของ การออกแบบวัฒนธรรมองค์กร เพื่อให้นักศึกษาเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสอย่างเสมอภาค ไม่ว่าพวกเขาจะมีพื้นฐานทางการเงินหรือสังคมที่แตกต่างกันก็ตาม ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ คณะไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมใด ๆ ตลอดหลักสูตร เพื่อให้นักศึกษาทุกคนสามารถเข้าถึงกิจกรรมและทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียม
กิจกรรมที่ออกแบบมานั้นยังเชื่อมโยงกับ ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและความทุกข์ยากของสังคมภายนอก นักศึกษาได้เรียนรู้ผ่านการมีส่วนร่วมกับประเด็นเหล่านี้ ทำให้เกิดความตระหนักรู้และพัฒนาความเข้าใจต่ออคติของตนเอง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเปลี่ยนแปลงตนเองและสังคม
นอกจากนี้ คณะยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในระดับนโยบาย เช่น การเข้าประชุมในวงบริหารคณะ เพื่อให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่ส่งผลต่อโครงสร้างและเป้าหมายของคณะ การสร้างระบบสภานักศึกษา (คณะกรรมการนักศึกษาคณะฯ) และกลไกถ่วงดุลภายใน ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สะท้อนถึงความสำคัญของ ความเสมอภาคและการเคารพเสียงของทุกฝ่าย
“สิ่งเหล่านี้ช่วยให้นักศึกษาไม่เพียงแต่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร แต่ยังพัฒนาแนวคิดเรื่องความเท่าเทียม และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปสร้างสรรค์สังคมที่ดีขึ้นในอนาคต”
การบูรณาการความหลากหลายในกระบวนการเรียนการสอน: มุมมองจากผู้พัฒนาหลักสูตร
อ.แต้ว ได้อธิบายว่า การส่งเสริมการเคารพความหลากหลาย ในกระบวนการเรียนการสอนสามารถทำได้ใน 3 ระดับสำคัญ ดังนี้:
1. ระดับบุคลากร
การเคารพความหลากหลายเริ่มต้นจากตัวอาจารย์ผู้สอน โดยกระบวนการคัดเลือกบุคลากรที่ให้ความสำคัญกับการเคารพความหลากหลายถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของคณะ เมื่ออาจารย์ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับแนวทางนี้ วัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมความหลากหลาย จะถูกปลูกฝังในทีมบริหารและกลุ่มอาจารย์ ทั้งนี้ พฤติกรรมดังกล่าวยังสะท้อนออกมาในการปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมงานและนักศึกษา ทั้งในห้องเรียนและกิจกรรมภายนอก อย่างชัดเจน
2. ระดับปฏิบัติการในการจัดการเรียนการสอน
ในการจัดการเรียนการสอนคณะให้ความสำคัญต่อการเคารพความหลากหลาย ทั้งความหลากหลายเชิงอำนาจระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา ความหลากหลายทางเพศ เชื้อชาติ รูปร่าง ฯลฯ โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ในวันแรกของการเรียนการสอน นักศึกษาแต่ละรายวิชาจะได้สร้างข้อตกลงร่วมในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งเป็นเสียงจากผู้เรียนทุกคนในห้อง โดยไม่มีใครตกหล่นไป ดังนั้น ห้องเรียนจึงเป็นพื้นที่ที่เปิดให้นักศึกษาแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ ภายใต้สิทธิและหน้าที่ โดยเป็นพื้นที่ที่ปราศจากการตัดสินความคิดเห็นว่าใครถูก ใครผิด
3. ระดับการสอดแทรกในเนื้อหารายวิชา
เนื้อหารายวิชาต่าง ๆ ในหลักสูตรได้รับการออกแบบให้สะท้อนถึง ประเด็นทางสังคมและความหลากหลาย เช่น ความแตกต่างทางเชื้อชาติ เพศ และกลุ่มเปราะบาง นักศึกษาจะได้เรียนรู้และหาแนวทางอยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลายอย่างสร้างสรรค์
“การเคารพความหลากหลายไม่ได้เป็นเพียงนโยบาย แต่เป็นกระบวนการที่แทรกอยู่ในทุกมิติของการเรียนการสอน ตั้งแต่บุคลากร ผู้สอน ไปจนถึงการออกแบบพื้นที่การเรียนรู้และเนื้อหาวิชา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญของการสร้างสังคมที่เท่าเทียมในอนาคต”
📄อ่านประกาศฉบับเต็มได้ที่: https://drive.google.com/file/d/1qSZNFcAXwMERZlrcSiP3vzaVseQswWyh/view?usp=sharing
เรียบเรียงโดย นวนันต์ เกิดนาค