Loading...

จัดการเรียนรู้อย่างไรให้มีความหมายกับผู้เรียน : คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ.

        การเรียนรู้ที่มีความหมาย หรือ Meaningful learning คือหนึ่งในความเชื่อของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่านี่คือวิถีสู่แก่นแท้ของการเรียนรู้ การออกแบบและจัดการเรียนรู้ให้นักศึกษาจึงเป็นไปเพื่อให้การเรียนรู้นี้มีความหมายกับผู้เรียน

        เพื่อสร้างสรรค์การเรียนรู้ที่มีความหมายกับผู้เรียน คณะได้สร้างสรรค์และพัฒนาหลักสูตรโดยมีฐานคิดหลักสามด้าน คือ

        1) การพัฒนามนุษย์แบบองค์รวม (Holistic development)

         2) การเรียนรู้ที่มีความหมาย (Meaningful learning) และ 

        3) การเรียนรู้ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ (Humanistic value)

        ทั้งสามแนวคิดนี้ถือเป็นหัวใจหลักของการออกแบบหลักสูตรและวิธีการเรียนรู้ที่มีความหมายให้กับผู้เรียนในคณะฯ และโรงเรียนสาธิตฯ เป็นการเรียนรู้ที่คำนึงถึงมิติด้านอื่นๆ ของผู้เรียน ไม่ใช่แค่ในด้านความคิดหรือสติปัญญาเพียงอย่างเดียว แต่ให้ความสำคัญกับมิติความเป็นมนุษย์และการพัฒนาตัวตนของผู้เรียนควบคู่ไปด้วย

        ฐานคิดหลักสามด้านนี้เห็นได้จากการจัดการเรียนการสอนของคณะที่เน้นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ (Experiential learning) เป็นหลัก ให้ผู้เรียนได้มีโอกาสลงมือทำจริงเพื่อพัฒนาทั้งทักษะการเรียนรู้ และทักษะด้านจิตใจอย่างสมดุล มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้และใช้ประสบการณ์การเรียนรู้ในเนื้อตัวของผู้เรียนมากที่สุด ผู้สอนจึงเป็นมากกว่า "ผู้ถ่ายทอดความรู้ หรือผู้สอน" แต่มีบทบาทเป็น"ผู้ออกแบบประสบการณ์" ให้กับผู้เรียน เริ่มจากการจัดสภาพบรรยากาศเรียนรู้ที่เอื้อให้ผู้เรียนทุกคนมีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์กันทั้งระหว่างผู้เรียนด้วยกันเอง และระหว่างผู้เรียนและผู้สอน

        นอกจากการมีประสบการณ์จริงและการมีส่วนร่วมแล้ว วิธีการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ช่วยให้ผู้เรียนได้ “ทบทวนสะท้อนคิด” เพื่อเชื่อมโยงประสบการณ์ในชั้นเรียนกับประสบการณ์นอกชั้นเรียนยังช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับชีวิตและสังคม และมีความปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมของตนเองจากความรู้สึกสัมผัสจริง

        การเรียนรู้ที่มีความหมาย ที่คำนึงถึงการพัฒนามนุษย์แบบองค์รวม และมิติความเป็นมนุษย์ของผู้เรียน มีแนวคิดความเชื่อที่สำคัญ 6 ประการ คือ

        1) กายจิต สมองของผู้เรียนมีความเชื่อมโยงต่อกัน ดังนั้น การเรียนการสอนจึงให้ผู้เรียนได้ใช้ทั้งสามส่วนนี้ในการเรียน โดยใช้กิจกรรมฐานกายเป็นตัวรับประสบการณ์ เพื่อเกิดการเชื่อมโยงกับอารมณ์และจิตใจ เปิดให้ใช้จินตนาการสร้างสรรค์กับประสบการณ์ที่ตนได้รับ โดยมีทั้งสะท้อนความรู้สึกผ่านการสนทนาอย่างใคร่ครวญ และการเขียนสะท้อนคิด (Reflection writing) และเกิดการคิดสังเคราะห์ออกมาเป็นความรู้ ผ่านการตั้งคำถาม วิเคราะห์ อภิปราย และปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียน โดยเน้นทั้งปัญญา อารมณ์ และทักษะทางสังคม ไม่แยกความรู้ทางวิชาการออกจากความรู้ในมิติอื่นๆ ซึ่งนอกจากวิธีการสอนแล้ว ยังออกแบบสภาพแวดล้อมทางกายภาพในชั้นเรียนที่ส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เคลื่อนไหว และเรียนได้ด้วยอิริยาบถที่แต่ละคนถนัด

        2) ทุกองคาพยพของผู้เรียนมีผลต่อการเรียนรู้ การเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึ้นจากครูและเกิดขึ้นในชั้นเรียนเท่านั้น ดังนั้น จึงส่งเสริมให้ผู้เรียนมีการเชื่อมโยงกับโลกภายนอก ให้ผู้เรียนได้เจอผู้คนในพื้นที่การทำงานจริง เช่น การจัดการเรียนการสอนในชั้นปีที่ 2 ของคณะที่ให้นักศึกษาได้ศึกษาชุมชนในพื้นที่จริง หรือการที่คณะมีการประสานกับเครือข่ายต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ไปเรียนรู้จากผู้ที่ทำงานจริงและส่งเสริมให้เกิดความตระหนักรู้เกี่ยวกับสังคม และเกิดความเข้าใจว่าการเรียนรู้ไม่ได้มีพื้นที่เพียงแต่การศึกษาในระบบ แต่อยู่ในทุกๆ พื้นที่ในชีวิตและในสังคมของผู้เรียน เป็นต้น

       3) การเรียนรู้ควรเกิดจากความเชื่อมั่นในศักยภาพมนุษย์ กล่าวคือ เชื่อว่าผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ผู้เรียนมีปัญญาภายใน ตลอดจนมีศักยภาพในตนเอง ผู้สอนมีหน้าที่ช่วยเอื้อให้ความรู้นั้น "ผุดบังเกิดและงอกงาม" ซึ่งเห็นได้จากการวางบทบาทระหว่างผู้สอนและผู้เรียนที่มองว่าผู้สอนเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ (Facilitator) ที่เป็นเพื่อนของผู้เรียนในเส้นทางการเรียนรู้ มากกว่าเป็นผู้สอนที่มาบอกความรู้ให้ผู้เรียน ซึ่งเห็นได้จากทั้งการวางบทบาท ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนและผู้สอนที่มีความใกล้ชิดและสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ การจัดการเรียนรู้ของคณะจึงเป็นการกระจายอำนาจสู่ผู้เรียนที่ให้ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้

        4) การจัดการเรียนรู้ควรให้ความสำคัญกับโลกภายในของผู้เรียน โดยมีแนวคิดว่า การเรียนรู้เกี่ยวกับโลกภายนอก เช่น ความรู้ทางวิชาการและการปฏิบัติ การเรียนรู้และทำความเข้าใจผู้อื่นและสังคม เป็นต้น มีความสำคัญพอกันกับการเรียนรู้และทำความเข้าใจตนเอง การเรียนการสอนจึงส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ตระหนักถึงมิติด้านอารมณ์และจิตใจของตนเองไปด้วย ผ่านกิจกรรมต่างๆ ในชั้นเรียน ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้สะท้อนตนเอง และรับฟังผู้อื่นสะท้อนตนเองด้วยเช่นเดียวกัน การที่ให้ความสำคัญกับมิติด้านในของมนุษย์ช่วยให้ผู้เรียนเกิดความตระหนักรู้และเข้าใจที่มาที่ไปของความคิดและการกระทำของตนเองและผู้อื่น ก่อให้เกิดความเข้าใจผู้อื่น (Empathy) ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนได้มองโลกรอบด้านและใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้

        การจัดการเรียนการสอนในลักษณะนี้ บางส่วนได้นำแนวคิดมาจากศาสตร์ต่างๆ ที่เป็นพื้นฐานด้านการพัฒนามนุษย์ มาใช้เป็นแนวคิดในการออกแบบและสร้างการเรียนรู้ เช่น การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transfomative learning) ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เกิดการตรวจสอบใคร่ครวญอย่างมีวิจารณญาน ทั้งกับกรอบความคิดของผู้อื่นและตนเอง จิตตปัญญาศึกษา (Contemplative learning) ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้สะท้อนคิด สังเกต สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกด้านในของตนเอง ภาวะการนำร่วม (Collective leadership) ที่ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม ที่สามารถเชื่อมโยงและสร้างการเปลี่ยนแปลงไปด้วยกันได้ เป็นต้น

        5 ) การเรียนรู้ควรมีความหมายกับผู้เรียน การจัดการเรียนการสอนควรทำให้ผู้เรียนเข้าใจว่า ทำไมต้องเรียนเรื่องนี้ เรื่องที่เรียนมีความเชื่อมโยงต่อตนเองอย่างไรบ้าง อะไรคือความต้องการและความสนใจใคร่รู้ต่อสิ่งที่เรียน โดยเอื้อให้ผู้เรียนได้เชื่อมโยงมิติต้านอารมณ์ความรู้สึกของตนเข้ากับสิ่งที่เรียน และวิธีการที่ตนเองเรียน ซึ่งการจัดการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ ตลอดจนเทคนิคในการจัดการเรียนการสอนตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้นจะทำให้ผู้เรียนเห็นภาพว่าสิ่งที่เรียนเกี่ยวข้องกับตนเองอย่างไร

        6) การเรียนรู้ควรเอื้อให้ผู้เรียนมีความเข้าใจและเคารพความแตกต่างหลากหลาย ด้วยการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันมากกว่ารับความรู้จากผู้สอน กิจกรรมการสอนที่เอื้อให้ผู้เรียนได้ทำความเข้าใจตนเองและผู้อื่น โดยเฉพาะมิติด้านอารมณ์ความรู้สึก รวมไปถึงกระบวนการเรียนรู้ที่เปิดพื้นที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม เช่น กระบวนการเช็คอิน ที่ให้ผู้เรียนได้บอกเล่าอารมณ์และความรู้สึกของตนก่อนเริ่มเรียน กระบวนการกลุ่มที่ให้ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความรู้สึกกับทุกคนในชั้นเรียนมีส่วนอย่างมากในการทำให้ผู้เรียนมีทัศนคติที่เข้าใจความแตกต่างหลากหลายของปัจเจกบุคคลและกลุ่มบุคคล

 อ่านบทความต่อไป การเรียนรู้ต้องไม่แยกขาดจากสังคม และเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสังคม : คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. .ได้ที่..https://lsed.tu.ac.th/published-message-content-04