Loading...

คุณค่าของงานศิลปะที่ถูกมองข้ามในยุคสมัยที่สังคมเปลี่ยนแปลงไป (Art is all around)

 

“หอศิลป์” ไม่ใช่แค่พื้นที่ Check in”...  เปลี่ยนมุมมอง ขยายกรอบความคิด มอง “ศิลปะ” อย่างไรให้ได้แรงบันดาลใจ

        คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เยาวชนถูกหล่อหลอมด้วยค่านิยมที่คนรุ่นก่อนกำหนดไว้ว่า … “เรียนศิลปะจะไปทำมาหากินอะไร ต้องเรียนวิทย์-คณิตสิได้งานและเงินที่มั่นคง” .... รวมทั้งที่ผ่านมาการศึกษาตีกรอบงานศิลปะให้เป็นเพียงแค่ทฤษฎีท่องจำ หรือเป็นเรื่องนามธรรม เป็นเพียงวิชาหนึ่งที่แค่สอบให้ผ่านๆไป ทั้งยังไม่มีระบบการสอนให้เข้าใจคุณค่าความหมายต่อสังคมมากกว่าความบันเทิง ขาดกระบวนการคิด วิเคราะห์ การแสดงความคิดเห็น จนทำให้มุมมองด้านศิลปะถูกจำกัด

        เยาวชนส่วนใหญ่จึงมีส่วนร่วมกับงานศิลปะน้อยลง เพราะมองว่างานศิลปะนั้นยากที่จะเข้าใจ อีกทั้งยังคิดว่าตนไม่มีประสบการณ์หรือความรู้ความสามารถมากพอในการที่จะตีความงานศิลปะเท่าที่ควร ซึ่งเป็นผลมาจากการเรียนการสอนรายวิชาศิลปะของแต่ละโรงเรียนในสังคมไทยที่ผู้สอนมักเน้นสอนแต่ทฤษฎี และมักตีกรอบความคิดทางศิลปะของเยาวชนว่างานศิลปะมีถูกผิด มีการตัดสินและตั้งบรรทัดฐานโดยใช้ตัวเลขในการตีค่างานศิลปะแต่ละชิ้นงานของเยาวชนออกมาเป็นเกรดเฉลี่ย มากกว่าการสอนให้เรียนรู้งานศิลปะผ่าน กระบวนการคิด การทำความเข้าใจและการลงมือปฏิบัติอย่างเป็นอิสระ

        นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ได้ทำการสำรวจข้อมูลของเยาวชน ผู้ที่มีอายุระหว่าง 15 - 24 ปี จำนวน 64 คน ที่เข้าใช้บริการหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร พบว่าพฤติกรรมของเยาวชนที่เลือกปฏิบัติคือการชมงานศิลปะสูงถึงร้อยละ 98.4  ตามมาด้วยการถ่ายรูปคิดเป็นร้อยละ 76.6 และการเดินเล่นร้อยละ 68.8 ซึ่งมากกว่าการเข้าไปทำกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ที่มีเพียงร้อยละ 48.4 เท่านั้น

        ด้วยสาเหตุนี้แสดงให้เห็นว่าคุณค่าและความสำคัญของงานศิลปะในสังคมไทยถูกมองข้ามและกำลังถูกละเลยจากปัจจัยหลายด้าน จนอาจส่งผลกระทบต่อเยาวชนในด้านการเรียนรู้ การต่อยอดทางด้านความคิด การยกระดับจิตใจ และการพัฒนาทักษะของตนเอง

        นักศึกษาชั้นปีที่ 2 เล่าว่า “เราจัดกิจกรรมให้กับเยาวชน จำนวน 30 คน เรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการหรือเครื่องมือทำความเข้าใจคุณค่าของงานศิลปะ โดยนำภาพจากหอศิลป์ให้เยาวชนได้ฝึกทำความเข้าใจงานศิลปะ  พร้อมสร้างกิจกรรมให้เยาวชนได้ออกแบบหรือสร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้อย่างอิสระและปลอดภัย  และที่สำคัญเราได้เชิญวิทยากรได้แก่ นางสาว ศุภัชฌา โรจนวนิช นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ สาขาวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้มาให้ความรู้ด้านงานศิลปะ เพื่อให้เยาวชนมีมุมมองใหม่ ๆ  ได้คิดและสามารถถ่ายทอดงานศิลปะได้อย่างสร้างสรรค์”

        หลังจากเสร็จสิ้นจากกิจกรรม ผลตอบรับเป็นไปในทางบวก เยาวชนมีมุมมองที่อิสระเกี่ยวกับงานศิลปะและสามารถถ่ายทอดงานศิลปะได้อย่างสร้างสรรค์ รับรู้ถึงความสำคัญของวงการศิลปะ เกิดการเคารพต่อผลงานศิลปะ เกิดการเรียนรู้ในเรื่องการตีความงานศิลปะผ่านมิติต่าง ๆ เช่น การใช้ประสบการณ์ร่วมโดยไม่ยึดทฤษฎีหรือหลักเกณฑ์ตัดสิน ทำให้เยาวชนมีความมั่นใจในแนวคิดของตนเองและกล้าที่จะมีส่วนร่วมกับงานศิลปะ เกิดมุมมองหรือการ สร้างสรรค์ผลงานชิ้นใหม่ ๆ ในหลากหลายมิติ

        หากการเรียนรู้ในงานศิลปะมีความอิสระทางความคิด มีผู้ที่มีความเชี่ยวชาญวางรากฐานให้เยาวชนไทยได้เข้าใจศิลปะที่ลึกซึ้งมากกว่าการจดจำทฤษฎี ที่สำคัญหากศิลปะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างจริงจัง ส่งเสริมให้เป็นอุตสาหกรรมที่เทียบเท่ากับวิชาชีพอื่นๆ รวมถึงการสร้างพื้นที่การเรียนรู้งานศิลปะให้แก่ประชาชนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งสถานที่เพื่อศึกษาหาความรู้หรือสถานที่ที่คอยสร้างความจรรโลงใจหรือแรงบันดาลใจให้กับผู้คนในสังคม

        สิ่งเหล่านี้หากเกิดขึ้นจริงๆ จะทำให้เยาวชนและผู้คนเริ่มเข้าใจคุณค่าและมีส่วนร่วมกับงานศิลปะเพิ่มมากขึ้น วงการงานศิลปะจะขยายเป็นวงกว้างไปจนถึงระดับโลก เกิดผู้เสพและผู้สร้างสรรค์ผลงานรายใหม่ขึ้นอย่างหลากหลาย นั่นก็คือผลประโยชน์มหาศาลจากการวางรากฐาน “ศิลปะ” อย่างอิสระและเข้าใจ อนาคตวงการศิลปะจะเป็นที่ยอมรับเพราะความเข้าใจมากขึ้นและที่สำคัญอาจจะเปลี่ยนค่านิยมและทัศนคติในสังคมไทยก็เป็นได้

ที่มา : โครงการนวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลง (Innovative Project for Change)  ของนักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อ่านบทความต่อไป …..BE INSPIRED เติมแรงบันดาลใจให้เต็มถัง.....