Loading...

“ครูพลังงานสะอาดเพื่อการเปลี่ยนแปลง”

คณะวิทยาการเรียนรู้ มธ. เสริมพลังครูสร้างสื่อนวัตกรรมการเรียนรู้  กระตุ้นจิตสำนึกด้านพลังงานในเยาวชน

        การใช้สื่อการเรียนรู้รูปแบบใหม่ เป็นส่วนสำคัญในการสร้างปฏิสัมพันธ์ในการจัดการเรียนรู้กับผู้เรียนได้อย่างมีคุณภาพ (Learning Engagement) โดยเฉพาะในกลุ่มครูหรือบุคลากรทางการศึกษา หากมีการใช้สื่อการเรียนรู้ที่ดีและมีความหลากหลาย  ก็จะช่วยให้ครูมีแนวทางในการจัดการเรียนการสอนที่สร้างสรรค์ และตอบโจทย์รูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลายของผู้เรียนด้วยเช่นกัน

        คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มีแนวคิดการจัดการเรียนรู้ที่ไม่แยกขาดจากสังคมจึงให้ความสำคัญกับการสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมควบคู่กับการพัฒนานักศึกษา ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ทั้งยังจัดทำโครงการเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมการขับเคลื่อนทางการศึกษาและการเรียนรู้สู่สังคมหลายโครงการ

        ปัจจุบันคณะฯ ได้ดำเนินโครงการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์เพื่อพลังงานสะอาด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบ่มเพาะการเรียนรู้เรื่องพลังงานและส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนไทยมีความตระหนักรู้ด้านพลังงาน (Energy Literacy) เริ่มต้นจากการสร้างการเรียนรู้และความเข้าใจในมิติของพลังงานสะอาด โดยมี “ครูพลังงานสะอาด” เป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณ จากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงานกกพ.) และการให้ความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ

        ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ญาดา อรรถอนันต์ ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการฯ เล่าถึงที่มาและความสำคัญของโครงการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์เพื่อพลังงานสะอาด ว่า ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมการเรียนรู้และความเข้าใจพลังงานไฟฟ้าในมิติของพลังงานสะอาด โดยอาศัยรูปแบบของ “การออกแบบกระบวนการเรียนรู้” (Learning Process Design) เพื่อสร้างทักษะการรู้เท่าทันพลังงาน (Energy Literacy) ให้กับนักเรียนและเยาวชน

        โดยมีกลไกการทำงานผ่านการพัฒนา ครูระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากทุกกลุ่มสาระและอาชีวศึกษา  ให้มีความสามารถในการออกแบบและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ด้านพลังงานแบบสร้างสรรค์” ที่จะนำไปใช้สร้างการเรียนรู้ให้ นักเรียนมีความตระหนักรู้ในการใช้พลังงานในโรงเรียนและชุมชน เสริมพลังให้ครูไทยมีเครื่องมือในการจัดการเรียนการสอนเรื่องทักษะการรู้เท่าทันพลังงาน (Energy Literacy) อย่างสร้างสรรค์แก่เด็กและเยาวชน

        สำหรับโครงการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์เพื่อพลังงานสะอาด คณะฯ เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 ถึงปัจจุบัน มีครูสมัครเข้าร่วมโครงการจากทั่วประเทศ  112 ทีม และมีครูจำนวน 50 ทีมที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมการอบรมพัฒนาศักยภาพเรื่องการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ด้านพลังงานแบบสร้างสรรค์ ประกอบด้วยหลักสูตรการจัดอบรม 3 หัวข้อ ได้แก่ 1) ทักษะการรู้เท่าทันพลังงาน (Energy Literacy) 2) สะเต็มศึกษา (STEM Education) กับพลังงานไฟฟ้า 2) พลังงานสะอาด (ไฟฟ้า) ในวิถีชุมชน และ 3) การออกแบบกระบวนการเรียนรู้และการออกแบบสื่อ โดยมีนักศึกษาของคณะฯ เป็นผู้ร่วมอำนวยการเรียนรู้ (School Partner)

        เมื่อครูและนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการได้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการบนฐานของการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ในแต่ละหัวข้อการอบรมแล้ว จะก่อให้เกิด การเชื่อมโยงความรู้ด้านพลังงาน มาสู่การออกแบบและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้บนฐานการวิจัยในชั้นเรียน โดยมีรูปแบบสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย  ซึ่งสื่อการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นในโครงการฯ มีทั้งหมด 50 สื่อต้นแบบ ครอบคลุม รูปแบบของสื่อดิจิทัลและสื่อปฏิสัมพันธ์ทั้ง 7 รูปแบบ ได้แก่ บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) Board Game Explainer Video แอปพลิเคชัน (Application) Web Application Augment Reality (AR) และ Animated Video

        ปัจจุบันสื่อที่ครูร่วมสร้างสรรค์ขึ้นได้ขยายผลไปยังหน่วยงาน/สถานศึกษาต่าง ๆ กว่า 574 โรงเรียน 71 จังหวัด และมีจำนวนผู้เรียนกว่า 164,365 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 2 พฤษภาคม 2565) นอกจากนี้ทางโครงการฯ ยังได้พัฒนาคลังความรู้ที่สามารถเข้าถึงได้ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ https://learn.lsed.tu.ac.th/ เพื่อให้บุคลากรทางการศึกษาและผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงสื่อการเรียนรู้เรื่อง ทักษะการรู้เท่าทันพลังงาน (Energy Literacy) ที่มีคุณภาพ และนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนด้านการรู้เท่าทันพลังงาน”  ทั้งนี้สามารถเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมได้ที่  https://www.facebook.com/TU.CleanEnergy

        เสียงสะท้อนจากครูที่เข้าร่วมโครงการฯ เล่าว่า  “โครงการฯ นี้ ทำให้เราได้เรียนรู้นวัตกรรมสื่อ สามารถเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียน ขณะเดียวกันวิทยากรของโครงการฯ ให้ความรู้และคำปรึกษาที่ดีมากๆ ครูบางคนไม่มีความรู้และเริ่มต้นจาก 0 เกี่ยวกับเทคโนโลยี เช่น การทำแอปพลิเคชั่น การสร้างเว็บไซต์ ฯลฯ วิทยากรตั้งใจสอนทุกขั้นตอนอย่างละเอียด ดึงศักยภาพเราออกมาก ให้หลุดจาก Safe zone ที่ถูกตีกรอบไว้ เมื่อก้าวข้ามมาได้ ทำให้รู้ว่าเรามีศักยภาพมากพอที่จะผลิตสื่อนวัตกรรมออกมาให้กับนักเรียนและนำไปใช้ในห้องเรียนได้จริง”

        “ถ้าไม่มีความอยากรู้ การศึกษาแทบจะไม่มีความหมาย”... การเรียนรู้จากโครงการฯ นี้ทำให้ครูมีความตระหนักในการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งเมื่อมีตรงนี้แล้วในฐานะครูก็อยากส่งต่อความตระหนักนี้ให้กับนักเรียนของเราโดยสอดแทรกเข้าไปอยู่ในบทเรียน ผ่านสื่อนวัตกรรมการเรียนรู้ 

        โจทย์ที่ท้าทายสำหรับการผลิตสื่อนวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อพลังงานสะอาด คือต้องวิเคราะห์ในหลายๆส่วน เช่น กลุ่มเป้าหมาย บริบทของท้องถิ่น ประเภทของสื่อ ฯลฯ จากนั้นใช้ ทฤษฎี Connecting the Dots หรือ จุดต่อจุด เพื่อเชื่อมโยงเข้ากับความรู้ใหม่ๆ แล้วนำไปใส่ในสื่อนวัตกรรมการสอนที่คิดค้นขึ้น ซึ่งจากการประเมินผลในภาพรวมแล้ว พบว่าเกิดความเป็นไปได้ใหม่ในห้องเรียน เช่น ในห้องเรียนมีเสียง นักเรียนที่เริ่มอินกับการเรียน นักเรียนและครูมีปฏิสัมพันธ์เพิ่มขึ้น และนักเรียนมีทักษะที่หลากหลาย เกิดเจตคติ (Attitude) ที่จะนำองค์ความรู้ด้านพลังงานจากสื่อไปใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริง

        “บางคนถูกสร้างมาเพื่อประกอบอาชีพครู แววตาของความเป็นครูจะมีความสุขก็ต่อเมื่อนักเรียนรู้เรื่อง ทุกครั้งที่เข้าห้องแล้วเราเปลี่ยนแปลงห้องเรียน สร้างความรู้สร้างความหมายให้เกิดขึ้น เชื่อว่าสื่อนวัตกรรมทั้ง 50 สื่อต้นแบบได้ผลิตมาจากใจและความต้องการที่จะให้เด็กได้เรียนรู้ แน่นอนว่าหากครูไม่หยุดที่จะเรียนรู้ ไฟในการเรียนรู้ของนักเรียนก็จะจุดติดอย่างแน่นอน โครงการนี้ทำให้เรารู้ว่าเราไม่ได้เดินเพียงลำพังในวงการศึกษา แต่ยังมีบุคลากร ครู ที่พร้อมจะสนับสนุนทั้งความรู้และงบประมาณ เพื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของวงการศึกษาไทย”

        โครงการฯ นี้จะเป็นแม่ข่ายหลักในการเผยแพร่นวัตกรรมสื่อการเรียนการสอนอย่างสร้างสรรค์ เราเห็นความเป็นไปได้ของหลายๆไอเดีย สื่อการเรียนรู้ที่สามารถแชร์ต่อและนำไปใช้ได้จริงในสถานศึกษา ครูท่านใดที่อยากสร้างสรรค์สื่อนวัตกรรมการเรียนรู้ที่ทันสมัย อยากทำให้ห้องเรียนของตัวเองมีความสุข และความสนุก ลองสมัครเข้ามาร่วมโครงการฯ ที่จะมีในครั้งต่อไป เพราะเชื่อว่าโครงการฯนี้ ตอบโจทย์สำหรับระบบการศึกษาในยุคดิจิทัลอย่างแน่นอน

        ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า “โครงการนี้เราทำงานร่วมกับคุณครูในการผลิตสื่อและนวัตกรรมการสอนรูปแบบใหม่ ๆ สร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชน เพราะวิถีชีวิตของพวกเขาเกี่ยวข้องกับการใช้พลังงาน การมีจิตสำนึกการอยู่ร่วมกันในสังคม เราให้ความสำคัญกับการดำรงชีวิตที่ไม่เบียดเบียนและการตระหนักรู้การใช้พลังงานสะอาดและรู้เท่าทัน ซึ่งการพูดถึงพลังงานเหมือนการท่องจำ เรารู้ว่าพลังงานสะอาดคืออะไร และมีวิธีการใช้อย่างไร ไม่ให้เกิดความฟุ่มเฟือย แต่ประเด็นสำคัญต้องถามว่าเราเปลี่ยนจิตสำนึกด้านการรู้เท่าทันพลังงานของเยาวชนได้มากแค่ไหน”

        “เราภาคภูมิใจที่มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับคุณครู ซึ่งเป็นมิติใหม่ที่สำคัญ ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมสื่อการเรียนการสอน ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าโครงการนี้เข้าไปสู่การเปลี่ยนจิตสำนึก สร้างความตระหนักรู้อย่างแท้จริง เพราะเรารู้แล้วว่าการพูดอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เราจะต้องสร้างการเรียนรู้ใหม่ๆ ในสิ่งที่เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ”

        ปัจจุบัน สื่อการเรียนการสอนด้านพลังงานแบบสร้างสรรค์จากครูทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการฯ มีการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ที่ออกแบบบนฐานการวิจัยในชั้นเรียน มีการบูรณาการองค์ความรู้ด้านพลังงานข้ามศาสตร์และสาระการเรียนรู้เพื่อให้เยาวชนไทยได้เท่าทันองค์ความรู้ด้านพลังงาน เป็นแรงขับเคลื่อนอันทรงพลังและเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่สำคัญในการกระตุ้นให้สังคมเกิดความตระหนักด้านพลังงานและเกิดการพัฒนานวัตกรรมการใช้พลังงานอย่างชาญฉลาดในอนาคต

        อย่างไรก็ตามการดำเนินโครงการต้องอาศัยความร่วมมือของภาคีทุกฝ่ายให้เกิดการต่อยอดขยายผลในวงกว้าง และต้องพัฒนาต่อยอดโครงการในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการสร้างครูพลังงานสะอาดเพื่อการเปลี่ยนแปลง จึงมีส่วนสำคัญในการสร้างสื่อนวัตกรรมการเรียนรู้ที่มีความหลากหลาย นำไปสู่การพัฒนาเยาวชนครอบคลุมทั้งทักษะ และความรู้ด้านพลังงานที่จำเป็นสาหรับการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพต่อไป.

  อ่านบทความต่อไป ก่อการครู รุ่น 3 ปักหมุดหมาย เติมไฟให้ “ครู” ปล่อยแสง สำแดงพลัง ได้ที่..https://lsed.tu.ac.th/published-message-content-20