Loading...

จากประสบการณ์การเรียนที่อังกฤษ สู่การมองภาพอนาคตการศึกษาไทย

“ถ้าเราเคยได้เรียนรู้ในระบบที่ต่างออกไป…เราจะมองระบบการศึกษาไทยเหมือนเดิมอีกไหม?”

        คำถามนี้อาจเคยแวบเข้ามาในใจของใครหลายคน โดยเฉพาะเมื่อได้สัมผัสกับแนวทางการเรียนรู้ในต่างประเทศ ซึ่งอาจแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากสิ่งที่เราคุ้นเคยในห้องเรียนไทย

        ในขณะที่ระบบการศึกษาไทยยังคงมีคำถามเกี่ยวกับความเท่าเทียม เสรีภาพทางความคิด และบทบาทของผู้เรียนภายใต้โครงสร้างอำนาจที่ฝังรากลึก ระบบการศึกษาของอังกฤษกลับเน้นการมีส่วนร่วม การคิดวิเคราะห์ และการสนับสนุนความหลากหลายของผู้เรียนในทุกมิติ ด้วยบริบททางสังคม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน ทำให้การเปรียบเทียบทั้งสองระบบไม่ใช่เพียงการชี้วัดว่าใครดีกว่าใคร หากแต่เปิดโอกาสให้เราได้ตั้งคำถามใหม่ต่อสิ่งที่เราคุ้นชิน และอาจนำไปสู่จินตนาการใหม่ของ “ห้องเรียนไทย” ที่เป็นไปได้มากกว่าที่คิด

        ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ของเราได้รับอาจารย์ใหม่ 3 ท่าน ซึ่งต่างมีประสบการณ์การเรียนรู้ในสหราชอาณาจักรมาเป็นเวลาหลายปี LSEd Let’s Talk จึงขอชวน ผศ.ดร.วงอร พัวพันสวัสดิ์ (อ.เหนือ) ดร.ชนาภัณฑ์ ธรรมรัฐ (อ.โอ๋) และ ดร.ธรณชนก เอื้อไพโรจน์กิจ (อ.จ๊อย) มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองต่อบทบาทของการศึกษาและการเรียนรู้ในประเทศไทย ผ่านสายตาของผู้ที่เคยอยู่ในระบบการศึกษาของอังกฤษ ว่ามีประเด็นใดที่เราอาจเรียนรู้ ปรับใช้ หรืออย่างน้อยก็ทำให้เรากลับมาตั้งคำถามกับสิ่งที่เรียกว่า “การเรียนรู้แบบไทย ๆ” ได้อีกครั้ง

จากระบบ “จำและตอบ” สู่ “คิด วิเคราะห์ และสื่อสาร”

        อ.จ๊อย เล่าว่าช่วงสองปีแรกที่ได้ไปเรียนต่อที่อังกฤษ ถือเป็น Learning curve ที่ใหญ่ที่สุดในชีวิต เนื่องจากต้องเปลี่ยนจากระบบการเรียนรู้แบบไทย ที่มักเน้นการจำและการเลือกคำตอบที่ถูกต้อง ไปสู่ระบบที่ให้นักศึกษาเขียนอธิบายมุมมองและความเข้าใจของตนเองลงในกระดาษเปล่าภายในเวลาที่จำกัด ทำให้ต้องฝึกการกลั่นกรองความคิด การสื่อสารอย่างมีเหตุผล และการสร้างหลักฐานสนับสนุนทัศนะของตนเองให้ชัดเจน

        การเรียนรู้ในลักษณะนี้ได้เปลี่ยนความเข้าใจของอาจารย์เกี่ยวกับ “บทบาทของการศึกษา” จากเดิมที่คิดว่าเรียนเพื่อรู้ถูกหรือผิด มาเป็นการเรียนเพื่อให้คิดเป็น วิพากษ์เป็น และสื่อสารได้ และกลายเป็นรากฐานวัฒนธรรมการทำงานที่เน้นการอภิปราย การตั้งคำถาม และการมีส่วนร่วมในการต่อยอดองค์ความรู้ในเวลาต่อมา

การเผชิญความไม่คุ้นเคย: จุดเปลี่ยนของการเติบโต

        อ.โอ๋ เล่าว่าในช่วงแรกของการเรียนที่อังกฤษ ตนเองรู้สึกถึง Culture shock อย่างชัดเจน เนื่องจากเพื่อนร่วมชั้นหลายคนกล้าแสดงออก พูด และอภิปรายอย่างคล่องแคล่ว ขณะที่ตนกลับนิ่งเงียบ เพราะไม่มั่นใจในสิ่งที่จะพูดออกไป สิ่งนี้ทำให้ตั้งคำถามกับตัวเองว่าเหตุใดจึงรู้สึก “ว่างเปล่า” ทั้งที่ผ่านการเรียนมาไม่น้อย

        เหตุการณ์นี้ชี้ให้เห็นว่า ระบบการศึกษาไทยอาจยังไม่ส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์และการประยุกต์ใช้ความรู้เท่าที่ควร ขณะที่ระบบของอังกฤษเน้นให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ถกเถียงอย่างมีเหตุผล และเปิดโอกาสให้นักศึกษาสร้างการมีส่วนร่วม (Contribution) ของตนเองในทุกครั้งที่เรียน ซึ่งทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องและลึกซึ้ง

ความแตกต่างทางภาษาและวัฒนธรรม หนึ่งในอุปสรรคที่ไม่ควรมองข้าม

        อ.เหนือ สะท้อนให้เห็นถึงอีกมุมหนึ่งของประสบการณ์การเรียนที่ต่างประเทศ โดยเน้นถึงอุปสรรคเรื่องภาษาและการสื่อสาร โดยเล่าว่าครั้งแรกที่เรียนในคลาสกับอาจารย์ชาวอินเดีย ตนเข้าใจบทเรียนได้เพียง 20% เท่านั้น ซึ่งนำไปสู่ความท้าทายในการเรียนรู้ เพราะถึงแม้เราจะมีความคิดต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างตรงตามใจคิด เนื่องด้วยข้อจำกัดทางด้านภาษา

        อ.เหนือ จึงตั้งข้อสังเกตว่า อุปสรรคนี้ไม่ได้เกี่ยวกับระบบการศึกษาของอังกฤษโดยตรง แต่เป็นเรื่องของการปรับตัวต่อบริบทภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่าง อย่างไรก็ตาม เมื่อสามารถก้าวผ่านอุปสรรคนี้ได้ ก็จะเห็นคุณค่าของระบบที่ส่งเสริมให้เรียนรู้ด้วยตัวเอง คิดเป็น และกล้าแสดงความคิดเห็นเช่นเดียวกับที่ อ.จ๊อย และ อ.โอ๋ กล่าวไว้

“การตั้งคำถาม” หัวใจของการเรียนรู้ในระบบอังกฤษ

        อ.โอ๋ และ อ.จ๊อย ต่างเน้นถึง “วัฒนธรรมการตั้งคำถาม” ที่ฝังแน่นอยู่ในระบบการศึกษาของอังกฤษ โดยเล่าว่าแม้เราจะเห็นด้วยกับประเด็นที่กำลังอภิปราย แต่อาจารย์ผู้สอนก็มักจะถามว่า “จริงหรือ?” หรือชวนตั้งคำถามใหม่อยู่เสมอ ซึ่งสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้แบบไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ และส่งเสริมให้เกิดการวิเคราะห์ วิพากษ์ และการคิดต่อยอดอย่างต่อเนื่อง

       สิ่งนี้เป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับ อ.จ๊อย ที่เคยชินกับการเรียนรู้แบบท่องจำโดยไม่ตั้งคำถามมาก่อน และทำให้เกิดการพัฒนาทักษะการอ่าน การคิด และการอภิปรายอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อพบว่าตนสามารถ “ตั้งคำถาม” กับงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์แล้วได้ด้วย

        อ.โอ๋ กล่าวต่อว่า หนึ่งในจุดเด่นของระบบการเรียนรู้แบบอังกฤษ คือการเปิดพื้นที่ให้ผู้เรียนสามารถตั้งคำถามกับบทเรียนหรือสิ่งที่อาจารย์นำเสนอได้อย่างอิสระ ไม่ใช่เพียงเพื่อหาคำตอบ แต่เป็นการฝึกให้ผู้เรียนกล้าคิด วิเคราะห์ และมองเห็นทางเลือกที่หลากหลายยิ่งขึ้น การตั้งคำถามจึงไม่ได้สะท้อนแค่ความสงสัย หากยังเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ ซึ่งช่วยให้ผู้เรียนมีบทบาทเชิงรุกในห้องเรียน และค่อย ๆ สร้างพลังในการเรียนรู้ของตนเองขึ้นมาอย่างมั่นคง

พื้นที่แห่งความหลากหลาย: การเรียนรู้จากความแตกต่าง

        อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ อ.โอ๋ เน้นคือ ความเปิดกว้างต่อความหลากหลายของระบบการศึกษาที่อังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ความเชื่อ หรือภูมิหลังทางสังคม โดยมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มักสร้างพื้นที่ให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ ซึ่งช่วยขยายกรอบคิด เพิ่มมุมมอง และทำให้กระบวนการเรียนรู้มีคุณค่ามากกว่าการเรียนจากหนังสือเพียงอย่างเดียว

        กระบวนการนี้สะท้อนให้เห็นว่า “ความแตกต่าง” ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่ต้องยอมรับ แต่สามารถกลายเป็น “ทรัพยากร” สำคัญของการเรียนรู้ร่วมกันได้อย่างมีพลัง

        ซึ่งอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ระบบการศึกษาของอังกฤษไม่ได้มุ่งเน้นเพียง “เนื้อหา” หากแต่ให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้ที่กระตุ้นให้ผู้เรียนคิด วิเคราะห์ สงสัย แลกเปลี่ยน และเติบโตผ่านการลงมือเรียนรู้ด้วยตัวเอง

       จากระบบการเรียนรู้ที่เน้นการ “เชื่อและจำ” สู่ระบบที่ผลักดันให้ “คิดและสื่อสาร” การศึกษาในมุมมองของอาจารย์ทั้งสามจึงมิใช่เพียงเครื่องมือในการผลิตความรู้เท่านั้น แต่เป็นกระบวนการที่สร้างตัวตน ความเข้าใจ และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างลึกซึ้ง

ความเสมอภาคในห้องเรียน เริ่มที่ความเชื่อมั่นในศักยภาพของผู้เรียน

        อ.เหนือ กล่าวว่า หนึ่งในสิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้จากระบบอังกฤษ คือ “ความเชื่อมั่นในศักยภาพของผู้เรียน” ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ที่แท้จริง ที่อังกฤษ ผู้เรียนไม่ใช่เพียงผู้รับสาร แต่เป็นผู้มีเสียง มีพลัง และมีสิทธิในการแสดงความคิดความเห็น ระบบการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายของผู้เรียนนี้ ทำให้เกิดการออกแบบห้องเรียนที่ส่งเสริมศักยภาพในตัวผู้เรียน ทั้งในด้านวิชาการ ความคิดสร้างสรรค์ และการวิเคราะห์ตนเอง

        ในขณะที่ประเทศไทยยังมีช่องว่างที่ทำให้ผู้เรียนอยู่ในสถานะ “ผู้ตาม” หรือ “ผู้เงียบ” อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในห้องเรียนที่ความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนยังผูกติดกับลำดับอำนาจและวัฒนธรรมการเคารพผู้ใหญ่เป็นหลัก ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดในการสร้างสภาพแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน

ความท้าทายในการประยุกต์ใช้

        อ.เหนือ เสนอว่าการนำแนวทางจากอังกฤษมาใช้ในไทยไม่ใช่เพียงการยก “สูตรสำเร็จ” มาใช้ แต่ต้องเข้าใจบริบททางวัฒนธรรมและโครงสร้างของไทยก่อน เช่น ระบบอาวุโส ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน หรือพิธีกรรมเชิงสัญลักษณ์อย่างการไหว้ครูที่ยังมีนัยของการยอมรับอำนาจอยู่

        อ.จ๊อย จึงชี้ว่า การ “ประยุกต์ใช้” ควรอยู่บนฐานของความเข้าใจว่า เราสามารถ “ถอดบทเรียน” และนำมาดัดแปลงหรือปรับใช้ให้เข้ากับสังคมของเราได้ โดยไม่หลงลืมบริบท ระบบ หรือรากเหง้าทางวัฒนธรรมเดิม การปฏิรูปการศึกษาในไทยที่ผ่านมามักติด “หล่ม” เพราะพยายามนำแนวคิดจากต่างประเทศมาใช้โดยไม่ปรับให้เหมาะกับองค์ประกอบเดิมที่มีอยู่

“พื้นที่แห่งการเรียนรู้” พื้นที่สร้างความกล้า คิด วิเคราะห์ และแสดงออก

        อาจารย์ทั้งสามเห็นตรงกันว่าจุดแข็งของระบบอังกฤษคือการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความคิดเป็นของตนเอง และกล้าแสดงออกผ่านการอภิปราย วิพากษ์ และการถกเถียงอย่างมีเหตุผล อ.จ๊อย ย้ำว่า สิ่งนี้เป็นแรงผลักดันให้เธอกลับมาทบทวนบทบาทของตนเองในฐานะผู้สอน และเริ่มปรับการจัดการเรียนรู้ให้เอื้อให้เกิดกระบวนการคิด วิเคราะห์ และสร้างสรรค์มากขึ้น

        อ.เหนือ กล่าวเสริมว่า ถึงแม้เราจะไม่สามารถเปลี่ยนโครงสร้างนโยบายทั้งหมดได้ในฐานะผู้สอน แต่เราสามารถปรับห้องเรียนของเราให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการแสดงความคิด และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนทุกคนรู้สึกว่าความคิดของเขามีคุณค่า

ระบบสนับสนุนผู้เรียน

        ระบบการสนับสนุนผู้เรียนในอังกฤษไม่ได้จำกัดอยู่แค่ด้านวิชาการ แต่ยังครอบคลุมถึงด้านอารมณ์ สังคม สุขภาพจิต และความต้องการเฉพาะบุคคล อ.โอ๋ อธิบายต่อว่า ประเด็นเรื่องระบบการสนับสนุนผู้เรียนมีความสำคัญมาก เราควรมีระบบที่ครูจะได้รับข้อมูลของนักเรียนล่วงหน้า เช่นมีภาวะสมาธิสั้น หรือปัญหาด้านการการอ่านการเขียน เพื่อให้ครูสามารถออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะกับผู้เรียนแต่ละคนได้ โดยมีทีมสนับสนุนจากหลากหลายสาขาวิชาชีพร่วมมือกัน

        อ.จ๊อย เพิ่มเติมว่าระบบเหล่านี้ไม่ใช่แค่แนวทาง แต่เป็นสิทธิที่รับรองโดยกฎหมาย เช่น การสอบโดยใช้เวลาพิเศษ หรือการเปลี่ยนรูปแบบการประเมินตามสภาพแวดล้อมของผู้เรียน ซึ่งถือเป็นมาตรการที่สะท้อนความเสมอภาคเชิงระบบได้อย่างชัดเจน

ระบบสนุบสนุนครูผู้สอน: จากระบบวัดผล สู่การดูแลสุขภาวะ

        อ.จ๊อย พูดถึงปรากฏการณ์ “ครูลาออก” ในอังกฤษที่เกิดจากการแบกรับภาระงานและการประเมินอย่างเข้มข้น ส่งผลให้มีอัตราการลาออกสูงถึง 30% ในช่วง 5 ปีแรกของการทำงาน นี่จึงเป็นบทเรียนที่ทำให้ระบบการศึกษาของอังกฤษเริ่มกลับมาทบทวนบทบาทของครู และระบบการสนับสนุนการทำงานของครู ว่าควรได้รับ “การดูแล” และ “การสนับสนุนทางวิชาชีพ” มากกว่าเพียง “การประเมิน”

        อ.โอ๋ เสริมว่า ปัจจุบันอังกฤษกำลังพัฒนาแนวทางการดูแลครูผ่านระบบ Teacher support หรือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยทางใจให้ครูมีแหล่งพึ่งพิง เช่น ที่ปรึกษา หรือแหล่ง self-care เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตครูในระยะยาว

        ในบริบทไทย แม้ยังไม่มีระบบเช่นนี้อย่างเป็นรูปธรรม แต่ อ.เหนือ เสนอว่า ควรเริ่มจากการสร้างความเข้าใจว่า “ครูเองก็ต้องการการพัฒนาและการดูแลเช่นเดียวกับผู้เรียน” และไม่ควรคาดหวังว่า “ครูที่ดี” จะเกิดขึ้นจากความเสียสละเพียงลำพัง

เสถียรภาพทางนโยบาย จุดตั้งต้นของการเปลี่ยนแปลง

        อ.จ๊อย ปิดท้ายว่า โจทย์สำคัญในระบบการศึกษาของไทยคือ เสถียรภาพเชิงนโยบาย ที่จะสร้างความมั่นคงให้แก่ระบบการเรียนรู้ในระยะยาว การทำงานแบบโครงการที่เปลี่ยนไปตามผู้บริหารหรือรัฐมนตรี อาจนำไปสู่การเปลี่ยนทิศทางบ่อยครั้งโดยไม่มีโอกาสได้ “สานต่อ” แนวคิดหรือโครงสร้างที่เคยมีมาก่อน

        ขณะที่ในอังกฤษ แม้จะมีการเปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อย แต่โครงสร้างเดิมยังถูกสืบทอดและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมีการศึกษาสถานการณ์เดิมและวางแนวทางการพัฒนาบนพื้นฐานของสิ่งที่มีอยู่ ไม่ได้เริ่มใหม่ทุกครั้งที่เปลี่ยนผู้บริหาร

       บทสนทนาระหว่าง อ.จ๊อย อ.โอ๋ และ อ.เหนือ ชี้ให้เห็นว่าการศึกษาที่ดี ไม่ใช่เพียงการถ่ายโอนความรู้จากผู้สอนไปยังผู้เรียนเท่านั้น แต่คือกระบวนการของ “การเชื่อมั่น” “การสนับสนุน” และ “การอยู่ร่วมกัน” อย่างเข้าใจทั้งตัวบุคคลและบริบทของสังคม

        ท้ายที่สุดแล้ว บทเรียนจากระบบการศึกษาของอังกฤษ อาจไม่ได้อยู่ที่การลอกแบบแนวปฏิบัติมาใช้ในไทยอย่างตรงตัว หากแต่อยู่ที่การมองเห็น หลักคิด และ เจตจำนง ที่อยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมั่นในศักยภาพของผู้เรียน การสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ร่วมกันอย่างเท่าเทียม หรือการดูแลผู้สอนในฐานะหัวใจของระบบ ด้วยความเข้าใจต่อบริบททางวัฒนธรรมและโครงสร้างของสังคมไทย การพัฒนาการศึกษาจึงไม่ใช่เพียงการ “เปลี่ยน” แต่คือการ “ปรับ” ให้เข้ากับรากฐานของเรา โดยไม่ละเลยคุณค่าของการเรียนรู้ที่มีชีวิต เติบโต และมีความหมายต่อทุกคนในระบบ

        แม้การนำแนวคิดจากต่างประเทศมาใช้ในไทยอาจเผชิญความท้าทาย แต่หากเราเริ่มต้นที่ความเข้าใจในผู้เรียน ครู และโครงสร้างระบบไปพร้อมกัน การปฏิรูปการศึกษาไทยก็อาจไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

เรียบเรียงโดย นวนันต์ เกิดนาค