Loading...

“7 วันกับการเรียนรู้ชุมชน” เพื่อบ่มเพาะนักขับเคลื่อนการเรียนรู้ (วิชา LSE 201 Community and learning)

        หมุดหมายของนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ในหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการเรียนรู้ เราวางโครงประสบการณ์การเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้พบเจอของจริง ฝึกประสบการณ์ในชุมชนจริง ทำโครงการจากปัญหาในชุมชนจริง ตั้งแต่ชั้นปีที่ 2

        โดยเป็นกระบวนการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์บนฐานชุมชน (Community-based Experiential Learning) ที่ผู้เรียนจะได้ฝึกปฏิบัติภาคสนามในชุมชน และพัฒนาโครงงานนวัตกรรมการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับบริบทของพื้นที่จริง โดยในปีนี้จะเน้นการปูพื้นฐานเชิงจริยธรรมในการทำงานกับคนที่หลากหลาย เครื่องมือในการเก็บข้อมูล เครื่องมือการทำงานอำนวยการเรียนรู้ และเครื่องมือการสื่อสาร โดยให้ถอดองค์ความรู้จากประสบการณ์จริงด้วยตนเองแล้วจึงเชื่อมโยงสู่แนวคิดเชิงทฤษฎีเมื่อกลับมาเรียนในชั้นปีที่ 3 ที่เป็นทฤษฎีการเรียนรู้และการศึกษา – ความมุ่งเน้น (Theoretical Foundation – Concentration) และ ฝึกงานในองค์กรตามความสนใจและพัฒนาโครงงานสร้างสรรค์ ในชั้นปีที่ปี 4 (Practicum – Creative Project)

การออกแบบการเรียนรู้ เพื่อสร้าง “นักวิทยาการเรียนรู้”

แม้ว่าช่วงปีที่ผ่านมาต้องเผชิญกับสถานการณ์ COVID-19 ทำให้การเรียนรู้จากประสบการณ์ลงพื้นที่ต้องปรับเปลี่ยนไป แต่ในปีนี้เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นการลงพื้นที่ฝึกประสบการณ์จึงกลับมา แต่ตั้งอยู่บนการผสมผสานเรื่องมาตรการสาธารณสุขและกระบวนการทำงานเชิงพื้นที่ที่ปรับตัวตามบริบท ภายใต้โครงการ การเรียนรู้ชุมชนเพื่อบ่มเพาะนักขับเคลื่อนการเรียนรู้ (วรศ. 201 ชุมชนและการเรียนรู้ LSE 201 Community and Learning) ประสบการณ์ในการทำงานเชิงพื้นที่ จะทำให้นักศึกษาได้รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคม และกระทุ้งความรู้สึกรู้ร้อนรู้หนาวกับความจริงหลายด้านในสังคม ผู้ที่ทำงานขับเคลื่อนการเรียนรู้ในสังคมจำเป็นต้องมีสายตาที่มองทะลุปรุโปร่ง เห็นความซับซ้อนของปรากฏการณ์ ซึ่งจะได้โอกาสฝึกฝนจากการทดลองทำงานกับปัญหาจริง ในฐานะ “นักวิทยาการเรียนรู้”

การจัดการเรียนรู้ 

การจัดการเรียนรู้เน้นให้นักศึกษามีความรู้และทักษะแบบสหวิทยาการที่จำเป็นในการขับเคลื่อนการเรียนรู้ผ่านศาสตร์หลายแขนง ได้แก่ การทำงานร่วมกับชุมชน การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง การอำนวยการเรียนรู้เบื้องต้น การคิดและออกแบบเชิงนวัตกรรม และการศึกษาและความเสมอภาค เพื่อเปิดมุมมองใหม่ต่อความเข้าใจในเรื่องการศึกษาและการเรียนรู้ที่ไม่จำกัดเฉพาะการศึกษาในระบบ แต่เป็นส่วนหนึ่งของทุกกิจกรรมในสังคม นอกจากนั้น นักศึกษาจะได้สร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคมผ่านแนวคิดการออกแบบโดยยึดบุคคลเป็นศูนย์กลาง (Human-centered Design) โดยใช้หลักการคิดเชิงออกแบบเป็นแกน (Design Thinking) ซึ่งนักศึกษาจะได้เรียนรู้เข้ากับประเด็นปัญหาในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม ขยายกรอบความคิดไปสู่การมองภาพรวม การคิดเชิงระบบ และได้ทำงานร่วมกับชุมชนอย่างเป็นระบบ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดแนวทางการจัดการหรือการพัฒนานวัตกรรมทางสังคมที่สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน

การฝึกปฏิบัติภาคสนาม 7 วัน 6 คืน 

มุ่งให้ผู้เรียนตระหนักถึงประเด็นปัญหาในชุมชนและความสำคัญของการศึกษาชุมชน เข้าใจกระบวนการในการศึกษา วิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูลของชุมชน ตลอดจนสามารถประยุกต์ใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในการศึกษา เก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากชุมชน โดยก่อนลงฝึกปฏิบัติภาคสนาม จะมีการเตรียมความพร้อมผู้เรียน เช่น ให้แนวคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับแนวคิดทางสังคมและมานุษยวิทยา จริยธรรมในการทำงานกับเพื่อนมนุษย์ ทักษะการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลทั้งข้อมูลปฐมภูมิและทุติยภูมิ ทั้งข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ และเครื่องมือ 7 + 1 ชิ้น เรียนรู้ชุมชน เป็นต้น

ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวัง 

การจัดการเรียนรู้ในรายวิชานี้มุ่งหวังให้ผู้เรียนสามารถที่จะเปลี่ยนกรอบการอ้างอิงเดิมให้ขยายกว้างขึ้นและลุ่มลึกมากขึ้น เปิดโอกาสให้ได้พัฒนาและเสริมสร้างสมรรถนะต่าง ๆ ที่จำเป็นในการเติบโตทั้งระดับบุคคลและระดับวิชาชีพ โดยสมรรถนะที่หลักสูตรคาดว่าผู้เรียนจะได้รับภายหลังจบชั้นปีที่ 2 ประกอบด้วยการเปลี่ยนแปลง 2 ระดับ คือ 1.การเปลี่ยนแปลงระดับบุคคล (Personal transformation) จะมีความเข้าใจตนเองมากขึ้น ค้นพบแรงบันดาลใจของตนเอง ตระหนักถึงกระบวนการเรียนรู้ของตนเองผ่านการทำงานเชิงพื้นที่ร่วมกับชุมชน 2.การเปลี่ยนแปลงระดับวิชาชีพ (Professional transformation) มีทักษะและเจตคติที่ดีในการทำงานร่วมกันผู้อื่นที่มีความหลากหลาย พัฒนาโครงการนวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อชุมชน และมองเห็นเส้นทางอาชีพในอนาคตในฐานะนักขับเคลื่อนการเรียนรู้

        ผศ.ดร.ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล (อ.แต้ว) รองคณบดีฝ่ายวิชาการ เล่าว่า กระบวนการเรียนรู้ในชั้นปีที่ 2 ดำเนินเรื่องโดยอาศัยพื้นที่จริงเป็นฐานการเรียนรู้ร่วมกับการเติมความรู้และเครื่องมือจากรายวิชาในชั้นเรียน และการเติมความรู้จากผู้เชี่ยวชาญภายนอก โดยในภาคเรียนแรกนักศึกษาจะได้ฝึกประสบการณ์ภาคสนามในพื้นที่ชุมชนเป็นระยะเวลา 7 วัน 6 คืน เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการเรียนรู้ชุมชนในพื้นที่จริง และเมื่อเข้าสู่ภาคเรียนที่ 2 นักศึกษาจะได้ดำเนินโครงงานนวัตกรรมทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และการศึกษา ซึ่งกำหนดให้เป็นโครงงานที่ศึกษาประเด็นใดประเด็นหนึ่งในพื้นที่จริง ทางคณะฯ ให้ความสำคัญกับการฝึกประสบการณ์ภาคสนาม เรียนรู้ชุมชนช่วง 7 วัน อย่างมาก เราลงทุนทรัพยากรค่อนข้างสูง ทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายและบุคลากร โดยไม่มีการเก็บค่าใช้จ่ายการลงพื้นที่เพิ่มเติม หลักสูตรออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทั้งค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร ประกันอุบัติเหตุ อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ ตลอดจนมีอาจารย์จำนวนหนึ่งที่เข้าไปช่วยดูแลนักศึกษาในพื้นที่

        สำหรับความปลอดภัยในการลงพื้นที่เป็นเรื่องที่สำคัญลำดับต้น ๆ เราจึงเลือกพื้นที่ที่คณะ/อาจารย์ มีเครือข่าย ชุมชนมีความพร้อมในการรับรองคนจำนวนมาก เส้นทางการเดินทางต้องไม่ลำบากจนเกินไป และมีประกันอุบัติเหตุให้นักศึกษาทุกคน รวมถึงการสร้างข้อตกลงในการอยู่ร่วมกันในพื้นที่ เพื่อเพิ่มความปลอดภัย การประสานงานกับสถานีตำรวจในพื้นที่ การประสานงานกับสาธารณสุข ฯลฯ

        การลงพื้นที่เรียนรู้ชุมชนนอกจากนักศึกษาจะได้รับประโยชน์จากชุมชน หัวใจสำคัญ คือ ชุมชนเองก็จะต้องได้ประโยชน์ ได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ไปกับพวกเราด้วยเช่นกัน การเก็บข้อมูลทุกครั้ง จะมีการคืนข้อมูลกลับสู่ชุมชนในรูปแบบต่าง ๆ ตามที่ได้คุยกับชุมชนไว้ ที่เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชน เช่น เก็บข้อมูลตามแผนงานของชุมชนคู่ขนานไปกับการเรียนรู้ของนักศึกษา การทำ GIS เล่มรายงานสรุปข้อมูลชุมชน กิจกรรมเผยแพร่ข้อมูลในชุมชน ฯลฯ

        “การออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ชุมชนตลอด 7 วัน เน้นการสร้างสมดุลของปัญญา 3 ฐาน คือ ปัญญาฐานหัว (Head) ปัญญาฐานกาย (Hand) และปัญญาฐานใจ (Heart) ช่วงเช้า-บ่าย เป็นช่วงการทำงานเก็บข้อมูล พบปะชาวบ้านแลกเปลี่ยนพูดคุย ประชุมกับเพื่อนในกลุ่มเพื่อวางแผนนำเสนอในช่วงค่ำ ช่วงค่ำจะมีกิจกรรมสันทนาการ การเทข้อมูล การเติมความรู้และโจทย์งานวันรุ่งขึ้น และกระบวนการฐานใจ การสะท้อนอารมณ์ในบางช่วงของการทำงาน การดูภาพยนตร์ ฟังดนตรีร่วมกัน”

        ผศ.ดร.กิตติ คงตุก รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและกิจกรรมพิเศษ กล่าวว่า หากต้องการท้าทายคนรุ่นใหม่ให้มองเห็นความเป็นไปได้ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วยการพัฒนามนุษย์ด้วยวิธีการที่แตกต่างไปจากเดิม คณะฯ จำเป็นต้องช่วยให้เขามีทักษะที่จำเป็นต่อการสร้างพื้นที่และรูปแบบการเรียนรู้ใหม่ที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์โลกที่มีความเคลื่อนไหลตลอดเวลา  ดังนั้นการเข้าใจสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยอย่างลงลึกถึงแก่นย่อมเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง

        หัวใจสำคัญของการสอนรายวิชาชุมชนและการเรียนรู้คือการพานักศึกษาไปสัมผัสวิถีชุมชนด้วยตนเองอย่างจริงจัง  ความจริงจังที่ว่าคือการได้รับประสบการณ์ตรงที่ทรงพลังมากพอให้เขามองเห็นความเป็นจริงของมนุษย์ที่ล้วนแตกต่างหลากหลายทั้งในแง่ความต้องการ สถานะทางสังคม ศักยภาพและขีดจำกัดของการเรียนรู้  วิธีการเรียนการสอนรายวิชานี้จึงเน้นที่การรู้จักเครื่องมือสำหรับศึกษาผู้คนและองค์ประกอบของชุมชนจนสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ จุดอ่อน จุดแข็ง ตลอดจนความเป็นไปได้ในการทดลองพาตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม

        การเรียนรู้ยังคงเน้นรูปแบบ Active learning เช่นเดียวกับรายวิชาอื่น ๆ ของคณะฯ โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ประการสำคัญ คือ 

        ประการแรก ชุมชนคืออะไร เป็นช่วงเวลาของการทำความเข้าใจนิยามและองค์ประกอบพื้นฐานของชุมชน  

        ประการที่สอง แนวคิดทฤษฎีในการศึกษาชุมชน ซึ่งนำทฤษฎีโครงสร้างมาประยุกต์ใช้เป็นเลนส์ทำความเข้าใจโครงสร้างอันซับซ้อนของปรากฏการณ์ทางสังคมทั้งในระดับรูปธรรมไปจนถึงฐานราก 

        ประการที่สาม วิธีเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลชุมชน โดยการหยิบเอาแนวทางศึกษาวิถีชุมชนด้วยเครื่องมือ 7+1 ได้แก่ เครื่องมือ 7 ชิ้น โดย ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และเครื่องมือที่ทางคณะฯได้ออกแบบขึ้นคือ “แผนผังการเรียนรู้ชุมชน” 

        ประการที่สุดท้าย การฝึกปฏิบัติและประสบการณ์การเรียนรู้ชุมชนเป็นการฝึกให้นักศึกษานำองค์ความรู้ที่เรียนในชั้นเรียนไปใช้ทำงานในพื้นที่ซึ่งมีอัตลักษณ์แตกต่างกันออกไป โดยแนวคิดขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจะถูกนำมาประยุกต์ใช้ศึกษาวิเคราะห์การดำรงอยู่ของชุมชนแต่ละแห่งด้วย

        “รายวิชาชุมชนและการเรียนรู้ช่วยพัฒนาสมรรถนะหลักตามเป้าหมายของหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการเรียนรู้ หลายอย่าง อาทิ Intrapersonal Skill, Interpersonal Skill, Systems Thinking เฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง Social Conscience ที่เกิดจากการสั่งสมบ่มเพาะประสบการณ์จริงอย่างเข้มข้นซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาละเมียดละไมกับความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์ พร้อมที่จะเติบโตเป็นนักสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เข้าใจโลกต่อไป”

        ผศ.ภญ.ดร.ฝน นิลเขต ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโท เล่ามุมมองการลงชุมชนของนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ว่า การไปเรียนรู้ในชุมชนทำให้นักศึกษาสามารถเชื่อมโยงแนวคิด ทฤษฎีกับการใช้งานจริงในสังคม (Real World Practice) เจอปัญหาในสังคมจริง ใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ที่มาของปัญหา และความเชื่อมโยงกับประเด็นสังคมอื่นๆ ฝึกการใช้เครื่องมือในการเก็บข้อมูลจากพื้นที่จริง และที่สำคัญทำให้นักศึกษามองเห็นบทบาทการทำงานของตนเองต่อสังคม

        แนวคิดการสอนใช้การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง (Experiential-based Learning) เพื่อให้เจอปัญหาจริง (Real World Problem) ดังนั้น วิธีการสอนช่วงต้นจะเป็นการเรียนแนวคิดทฤษฎี มุมมองทางมานุษยวิทยา สังคมวิทยา และเครื่องมือในการศึกษาปัญหา (Problem Analysis Tools) เรียนจากกรณีศึกษาจริง และเน้นให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการอภิปรายในชั้นเรียน ช่วงหลังจากนั้นจะเป็นการลงพื้นที่จริง ซึ่งกินเวลาประมาณ 7 วัน เพื่อไปประยุกต์ใช้เครื่องมือที่เรียนในชั้นเรียน จุดเด่นคือ เราไปอยู่ร่วมกันกับคนในชุมชนตลอดช่วงที่ลงพื้น ให้นักศึกษาได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคน มองเห็นวิธีคิด มุมมองที่หลากหลายของคนในสังคมด้วย โดยใช้การเรียนรู้ร่วมกับคนในชุมชน (Participatory Action Research)

        สิ่งที่นักศึกษาจะได้รับประโยชน์ร้อยเปอร์เซ็นคือ ทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการแก้ไขปัญหา การทำงานเป็นทีม และที่สำคัญคือทักษะมนุษย์ (Interpersonal skills) รวมทั้งได้เห็นการเติบโตและศักยภาพตัวเอง ซึ่งทั้งหมดสำคัญในการทำในอนาคตทั้งสิ้น

        ผศ.ดร.ไอยเรศ บุญฤทธิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ กล่าวว่า เป้าหมายของการเรียนรู้ คือ การร่วมพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนสู่สำนึกความเป็นพลเมืองในฐานะของการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ดังนั้น บทบาทหน้าหนึ่งที่สำคัญ คือ การพัฒนาตนเอง รวมถึงการพัฒนาสิ่งรอบข้างให้มีการพัฒนาไปในทางที่ดีงาม ในขณะที่การสร้างสำนึกนั้น จำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจ หรือเข้าถึงรายละเอียดต่าง ๆ ด้วยวิธีการปฏิบัติในพื้นที่จริง และมองเห็นว่าจุดเริ่มต้นของการทำความเข้าใจปรากฏการณ์หรือปัญหาต่าง ๆ คือ การทำความเข้าใจชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองความคิดที่ว่า "...ชุมชนคือต้นทาง ร่วมสร้างนวัตกรรม..." ซึ่งเป็นเนื้อร้องบางส่วนของเพลงประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ที่สะท้อนความเป็นอัตลักษณ์ที่เน้นการทำความเข้าใจรากฐานของสังคม จากแนวคิดดังกล่าวทางคณะฯ มองเห็นคุณค่าและจัดให้เป็น "กระบวนการเรียนรู้" ภายใต้รายวิชาชุมชนกับการเรียนรู้ (Community & Learning)

        นักศึกษาจะได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติผ่านการลง "พื้นที่จริง" ด้วยการนำ "เครื่องมือการศึกษาชุมชน" มาเรียนรู้และฝึกประสบการณ์ด้วยการสัมผัส รับรู้ และประสบพบกับ "ปัญหา" ทั้งในเรื่องของการทำงานและปัญหาจาก "ภายใน" ของผู้เรียนเอง ทั้งหมดนี้ล้วนเป็น "เส้นทางการเรียนรู้" ที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของนิเวศการเรียนรู้ซึ่งเป็นหัวใจที่เน้นฟูมฟักและบ่มเพาะการเรียนรู้ของคณะ

        การทำความเข้าใจชุมชน คือ การทำความเข้าใจความสัมพันธ์ของผู้คน ดังนั้น กระบวนการสอนที่สำคัญคือ การให้มุมมองต่าง ๆ ที่ให้นักศึกษาได้ตระหนัก ได้ทำความเข้าใจ และยอมรับความแตกต่างหลากหลายภายใต้ความแตกต่างของ "มนุษย์"  โดยชวนพวกเขามองโลกของผู้คนด้วยการทำความเข้าใจว่า ความแตกต่างหลากหลายเกิดจากการประกอบสร้างของสิ่งแวดล้อม วิถี วัฒนธรรม หรือเงื่อนไขอื่น ๆ ที่ต่างกัน ดังนั้น การมองชุมชนอย่างรอบด้าน (holistic) มีความสำคัญ  รายละเอียดที่แวดล้อมด้วยผู้คนล้วนส่งผลต่อวิธีคิด พฤติกรรม อุดมการณ์ ฯลฯ

        ดังนั้น การศึกษาชุมชนด้วยวิธีการแบบชาติพันธุ์วรรณา (ethnography) ที่มุ่งเน้นการเก็บข้อมูลในชุมชนอย่างรอบด้าน ลุ่มลึก เข้าถึง เข้าใจ จึงเป็นวิธีการที่เลือกนำมาใช้ในการเรียนการสอน ส่งผลต่อการออกแบบการเรียนรู้ในชุมชน นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ แนวคิดเรื่องของวัฒนธรรมสัมพัทธ์ (cultural relativism) โดยมองวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่ไม่มีสูงไม่มีต่ำ หากมีแต่ความแตกต่าง ขณะที่แนวทางที่สำคัญสำหรับการเรียนรู้ชุมชน นั่นคือการทำความเข้าใจมิติวัฒนธรรมที่มีความสัมพัทธ์กัน  การเปิดใจยอมรับและรับฟังความแตกต่างหลากหลาย

        สำหรับเป้าหมายของการลงชุมชน คือ การได้ประสบพบเจอกับประสบการณ์จริง ได้เห็นผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย ได้มองเห็นความแตกต่างที่นักศึกษาสามารถอธิบายถึงการเติบโตของผู้คนเหล่านั้นอย่างเข้าใจ มุ่งเน้นการลดอคติในมิติต่าง ๆ ส่วนสมรรถนะหรือทักษะด้านอื่น ๆ อาทิ การสัมภาษณ์ การสังเกต จะเป็นสิ่งที่นักศึกษาได้ฝึกฝนอย่างเข้มข้นจนกลายเป็นเรื่องราว เรื่องเล่า ที่น่าจดจำของนักศึกษาต่อไป ทั้งนี้ หากประมวลสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วนั้น นี่คือ สำนึกของความเป็นพลเมืองที่คณะเตรียมพร้อมให้แก่นักศึกษาที่จะออกไปสร้างสรรค์สังคมต่อไป