Loading...

รู้จัก “วิทยาการเรียนรู้” มธ. หลักสูตรที่สร้างคนรุ่นใหม่ ใช้ “การเรียนรู้เปลี่ยนแปลงสังคม”

“มีความเข้าใจในทฤษฎีการเรียนรู้บนฐานสหวิทยาการอย่างถ่องแท้ มีทักษะการคิดวิเคราะห์ วิพากษ์ และสร้างสรรค์ มีทักษะในการออกแบบ จัดกระบวนการ และประเมินการเรียนรู้ในบริบทต่างๆ สามารถบูรณาการองค์ความรู้ ทักษะ และการปฏิบัติไปประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนการเรียนรู้ในสังคมไทย”

        ช่วงนี้น้องๆ ม.6 หลายคนกำลังมองหาคณะหรือหลักสูตรที่สนใจเพื่อเรียนต่อในมหาวิทยาลัย คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์จึงขอแนะนำหลักสูตรศิลปศาสตรบัณทิต สาขาวิชาวิทยาการเรียนรู้ เผื่อมีน้อง ๆ ที่สนใจอยากรู้ว่าหลักสูตรนี้เรียนอะไร เรียนอย่างไร และเรียนแล้วได้อะไร

        หลักสูตรศิลปศาสตรบัณทิต สาขาวิชาวิทยาการเรียนรู้ ของเรา พัฒนาบนพื้นฐานการบูรณาการองค์ความรู้สาขาวิชาต่าง ๆ อย่างเป็นสหวิทยาการ (Interdisciplinary) เรามุ่งบ่มเพาะนวัตกรการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม (Learning Innovator for Social Change) โดยมีคณาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญครอบคลุมศาสตร์ด้านการเรียนรู้ของมนุษย์ในหลากหลายบริบท เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ของตนบนฐานการปฏิบัติจริง การจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรนี้มีลักษณะเป็นหน่วยการเรียนรู้ (Module) ที่มุ่งให้ผู้เรียนได้ศึกษาในลักษณะบูรณาการ การใช้ทักษะต่าง ๆ ร่วมกัน โดยผู้เรียนจะได้เรียนรู้ทั้งทฤษฏีและปฏิบัติเชิงวิชาชีพ ผ่านการเรียนการสอนที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมเป็นสำคัญ (Active Learning) ทั้งในระดับห้องปฏิบัติการ และกับผู้เชี่ยวชาญหรือหน่วยงานด้านการเรียนรู้

 1. แตกต่าง & ตอบโจทย์ จุดกำเนิดหลักสูตรสาขาวิทยาการเรียนรู้

        ผศ.ดร. ลินดา เยห์ (อ.หลิน) ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาเอก และผู้ร่วมก่อร่างหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการเรียนรู้ เล่าจุดเริ่มต้นของหลักสูตรฯ ว่า “ตั้งแต่เริ่มคิดหลักสูตรในช่วงปี 2558 ซึ่งเป็นช่วงที่สังคมกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาหลากหลายรูปแบบ และการศึกษาก็เป็นส่วนหนึ่งที่ยังเป็นปัญหาอยู่ โจทย์หลักของเราคืออยากทำหลักสูตรปริญญาตรีที่ผลิตคนทำงานด้านการเรียนรู้ที่เท่ ๆ ไม่ใช่หลักสูตรเหมือนมหาวิทยาลัยอื่น ๆ เราอยากทำอะไรที่แตกต่าง สร้างจุดยืนใหม่ให้คนที่สนใจทำงานด้านการศึกษามีพื้นที่ในเชิงขับเคลื่อนการเรียนรู้ของสังคมที่ไม่ได้อยู่ในบริบทอาชีพครู

        “ช่วงร่างหลักสูตรฯ จริง ๆ เราอยากให้เป็นหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต อยากผลิตครูที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ที่แตกต่าง โดยเฉพาะเรื่องการออกแบบการเรียนรู้ที่เป็นองค์รวม เป็นการบูรณาการศาสตร์ แต่ข้อกำหนดของคุรุสภาระบุว่าหลักสูตรครูต้องแยกเป็น “เอก” หรือเป็นวิชาเฉพาะ ซึ่งไม่ตรงกับแนวคิดและแนวทางของคณะ เราจึงเดินหน้าออกแบบหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต ที่โฟกัสเรื่องการเรียนรู้โดยเฉพาะ เราตั้งเป้าหมายว่าบัณฑิตจะต้องสามารถทำงานได้ในองค์กรที่หลากหลาย ยิ่งในปัจจุบันที่พื้นที่การเรียนรู้เปิดกว้างมากขึ้นยิ่งทำให้นักศึกษามีโอกาสขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้ในวงกว้าง”

        อ.หลิน กล่าวถึงการออกแบบหลักสูตรว่า “ช่วงก่อตั้งคณะฯ เราสร้างเครือข่ายกับองค์กรต่าง ๆ ได้รับฟังมุมมองของคนที่ทำงานด้านการเรียนรู้ที่ไม่ได้อยู่ในโรงเรียนหรือสถานศึกษาว่ามีความต้องการอะไร อยากได้คนที่มีความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะแบบไหนไปร่วมองค์กร เราสรุปได้ว่า “นักวิทยาการเรียนรู้” ต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับการเรียนรู้ของมนุษย์ การออกแบบการเรียนรู้ การผลิตและใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ รวมไปถึงมีความเข้าใจประเด็นสังคมเชิงลึกด้วยถึงจะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาของประเทศได้”

        การจะนำพานักศึกษาให้รู้รอบและรู้ลึกเกี่ยวกับการเรียนรู้ต้องใช้ความเข้าใจจากศาสตร์ที่หลากหลาย “เรามีอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ต่าง ๆ มารวมตัวที่คณะ ทั้งศึกษาศาสตร์ ศิลปศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมาสอนในรายวิชาต่าง ๆ ร่วมกัน ดังนั้น ใครมาเรียนที่คณะนี้จะต้องคุ้นเคยกับการมีอาจารย์หลาย ๆ คนมายืนสอนพร้อมกัน” แนวคิดเบื้องหลังของการจัดการเรียนรู้แบบสหวิทยาการ คือ การให้นักศึกษาเห็นว่าในการทำงานกับประเด็นหนึ่ง ๆ สามารถวิเคราะห์ได้จากหลายมุมมอง แต่ละมุมมองเติมเต็มซึ่งกันและกัน ซึ่งการเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงของมุมมองจะสร้างความเข้าใจที่รอบด้านมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับคนทุกคนในทุกก้าวย่างของชีวิต

        หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการเรียนรู้ ถือกำเนิดขึ้นและเริ่มใช้ในปี 2559 โดยมุ่งหวังว่าจะผลิตนักวิทยาการเรียนรู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่าง “มนุษย์-การเรียนรู้-สังคม” ผ่านแนวคิดสหวิทยาการ และเป็นพื้นที่บ่มเพาะคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจด้านการเรียนรู้ให้เติบโตและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับการศึกษาไทยในบริบทที่หลากหลาย

2. หลักสูตรฉบับปรับปรุงล่าสุด และเส้นทางการเรียนตลอด 4 ปี

        รศ.ดร.ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล (อ.แต้ว) รองคณบดีฝ่ายวิชาการ ผู้ร่วมดูแลหลักสูตรช่วงการนำหลักสูตรที่ออกแบบไว้มาใช้งานจริง และมีนักศึกษารุ่นแรกเข้ามาร่วมเดินทางตามภาพฝันที่วาดไว้ไปด้วยกัน บอกว่า เส้นทางการเรียนรู้ตลอด 4 ปี เพื่อพานักศึกษาก้าวสู่การเป็นนวัตกรการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม (Learning Innovator for Social Change) คณะฯ มีแนวคิดในการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่อาจต่างจากที่อื่น ๆ เราพยายามให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านโลกและพื้นที่จริง ตั้งแต่ปีสอง เรายังไม่อยากให้เขามีกรอบหรือเลนส์เชิงทฤษฎีมากเกินไปในการมองปรากฏการณ์ทางสังคม เพราะมันอาจจะไปจำกัดวิธีคิดบางอย่างของเขา เราเลยให้เขาเจอประเด็นสังคมจากพื้นที่จริงผ่านการลงชุมชน และการทำโครงการนวัตกรรมฯ โดยเติมทักษะพื้นฐานที่จำเป็นในการทำงานให้ จากนั้นในชั้นปีที่ 3 จึงค่อยกลับมาถอดองค์ความรู้จากประสบการณ์ทำงานภาคสนามในปีสอง และเชื่อมโยงสู่ทฤษฎีทั้งที่มีอยู่เดิมและสร้างขึ้นใหม่ เมื่อเขามีประสบการณ์จริงแล้ว การทำความเข้าใจทฤษฎีจะง่ายขึ้น จากนั้นก็เข้าสู่การฝึกปฏิบัติงานในบริบทที่หลากหลายตามความสนใจของผู้เรียน เพื่อเหลาทักษะและความรู้กับการทำงานจริง สู่การมาประมวลองค์ความรู้ทั้งหมดในการทำโครงงานส่วนตัว หมุดหมายหลักของแต่ละชั้นปีมีดังนี้   

        ปีที่ 1 General Education เป็นช่วงเวลาที่เน้นการวางพื้นฐานการเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ และมองภาพกว้างด้านการเรียนรู้ผ่านวิชาพื้นฐานของคณะฯ ทั้ง 3 วิชา ได้แก่ บ่มเพาะทักษะการเรียนรู้ การเรียนรู้ของมนุษย์ และการเรียนรู้กับสังคม

        ปีที่ 2 Community-based Experiential Learning นักศึกษาจะได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงผ่านการทำโครงการนวัตกรรมการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคม

        ปีที่ 3 Theoretical Foundation - Concentration นักศึกษาจะได้เรียนรู้ทฤษฎีด้านการเรียนรู้และการศึกษาอย่างเข้มข้นจากอาจารย์หลากหลายสาขาของคณะเพื่อเชื่อมโยงกับประสบการณ์ที่นักศึกษาทำโครงการในชั้นปีที่ 2 และเลือกหมวดความมุ่งเน้น ได้แก่ หมวดการอำนวยการเรียนรู้ หมวดนวัตกรรมการเรียนรู้ และหมวดการเรียนรู้และการสอน เตรียมพร้อมออกไปฝึกประสบการณ์ในองค์กรต่างๆ   

        ปีที่ 4 Practicum - Creative Project เป็นช่วงเวลาที่นักศึกษาจะได้ประยุกต์องค์ความรู้ที่เรียนมาตลอดทั้ง 3 ปี มาใช้ในการพัฒนาโครงงานสร้างสรรค์ที่เป็นตัวของตัวเอง และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมในฐานะนวัตกรการเรียนรู้อย่างแท้จริง

อ่านรายละเอียดหลักสูตรเพิ่มเติมได้ที่ : https://lsed.tu.ac.th/uploads/lsed/pdf/UnderGraduateProgram/UndergraduateProgramTQF-2021.pdf

        “การออกแบบหลักสูตรของคณะ อยู่บนฐานคิดว่า องค์ความรู้ด้านการเรียนรู้และการศึกษาไม่ใช่เรื่องที่อยู่แบบเอกเทศในสังคม มันมีความเชื่อมโยงและส่งผลกระทบต่อกันและกันกับมิติอื่น ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง อื่น ๆ ดังนั้น เราจะออกแบบหลักสูตร รายวิชา ตลอดจนวิธีการจัดการเรียนการสอนที่เอื้อให้นักศึกษาเห็นความเชื่อมโยงของปัจจัยต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ ต้องมีสายตาที่แหลมคม สามารถเห็นความไม่ปกติในความปกติของสังคมนี้ได้ รู้ร้อนรู้หนาวต่อสังคม และที่สำคัญคือพวกเขาต้องเชื่อมโยงกลับสู่ตัวเองได้ด้วย ในคณะจึงสอดแทรกวัฒนธรรมการสะท้อนการเรียนรู้ (Reflection) อยู่ในทุก ๆ จุดของการจัดการเรียนการสอน

        ขณะเดียวกันเรายังให้ความสำคัญกับทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น มีการติดตั้งเครื่องมือที่ช่วยให้การทำงานเป็นทีมมันไปต่อได้ โดยเฉพาะกับนักศึกษาชั้นปีที่สอง ที่เป็นปีที่ต้องทำงานเชิงพื้นที่ ลงชุมชน พัฒนาโครงการ ที่นอกจากจะใช้เครื่องมือเพื่อเรียนรู้ชุมชนและเครื่องมือในการพัฒนาโครงการแล้ว อีกเครื่องมือพื้นฐานสำคัญ คือ การทำความเข้าใจตนเอง การสะท้อนการเรียนรู้แบบกลุ่ม การฟังอย่างลึกซึ้ง การฟังเพื่อความเข้าอกเข้าใจ”

        “โลกเปลี่ยนคอนข้างเร็ว หลักสูตรเองก็ต้องปรับตัวตามสังคมที่เปลี่ยนไป ตั้งแต่การปรับระดับรายวิชาที่เมื่ออาจารย์จัดการเรียนการสอนไปแล้ว ก็จะมีการสะท้อนกันว่ามีอะไรที่น่าจะปรับให้ดีขึ้นได้บ้าง โดยฟังเสียงของผู้เรียนร่วมด้วย ตลอดจนการปรับระดับหลักสูตร เรามีผลผลิตบัณฑิตรุ่นที่ 1 และ รุ่นที่ 2 ออกไปทำงานในภาคส่วนต่างๆ ทำให้เกิดการสะท้อนในการปรับปรุงหลักสูตร ปี 2559 เป็นหลักสูตร ปี 2562 โดยฟังเสียงจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น นักศึกษาปัจจุบัน บัณฑิตที่จบแล้ว ผู้ใช้บัณฑิต อาจารย์ในคณะ เพื่อร่วมกันมองภาพรวมของนักศึกษาว่าขาดเครื่องมือการเรียนรู้อะไรบ้าง หรือเครื่องมือไหนไม่จำเป็นต้องใช้แล้ว บางวิชาอาจต้องสลาย ยุบรวม มีการจัดการเรียนการสอนที่เข้มข้นขึ้น เพิ่มเรื่องภาษาอังกฤษพร้อมกับเติมทักษะต่างๆ เราให้นักศึกษาเทียบโอนหน่วยกิตจากการทำงานภายใต้โครงการของคณะได้ ให้ทันกับกระแสสังคมที่มีการตั้งคำถามกับระบบการเรียนในมหาวิทยาลัย ทำอย่างไรให้นักศึกษาเรียนให้หน่วยกิตน้อยที่สุดเพื่อมีเวลาไปเติมองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านอื่น ๆ เรียกได้ว่าหลักสูตรปี 2562 เราระดมสมองอาจารย์จากหลากหลายสาขาในการปรับหลักสูตรเพื่อตอบโจทย์ให้ทันกับบริบทและตอบสนองสิ่งที่สังคมกำลังเรียกร้องในอนาคต

        อ.แต้วกล่าวเพิ่มเติมว่า “การนำเอาภาพฝันที่ช่วยกันวาดไว้ สู่การปฏิบัติจริง ย่อมเต็มไปด้วยความท้าทาย ช่วงแรก ๆ คณะฯ ถูกตั้งคำถามค่อนข้างมาก ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ บัณฑิตจบไปจะไปทำอาชีพอะไร ด้วยความที่เราพยายามจัดการศึกษาที่แตกต่างออกไป เลยไม่มีตัวอย่างของผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นให้สังคมได้เห็นในตอนแรก จนกว่านักศึกษาเรารุ่นแรกจะเรียนจบ”

        “เราจะระบุไว้กว้าง ๆ ในเล่มหลักสูตร ว่าจบไปจะประกอบอาชีพลักษณะใดได้บ้าง แต่หลักสูตรไม่สร้างกระบวนทัศน์ว่าจบแล้วจะประกอบอาชีพอะไร เพราะไม่ใช่หลักสูตรเชิงวิชาชีพ เรามุ่งบ่มเพาะและติดตั้งสมรรถนะ องค์ความรู้ และทักษะให้กับผู้เรียน เพื่อให้บัณฑิตสร้างเส้นทางของตัวเองในการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมในแบบที่ตัวเขาและสังคมต้องการ”

        อ.แต้ว ทิ้งท้ายว่า “สิ่งหนึ่งที่อาจยืนยันได้ว่าเรากำลังมาถูกทาง คือ แม้เราจะไม่ใช่หลักสูตรผลิตครู แต่ตอนที่นักศึกษารุ่นแรกเรากำลังจะจบ มีโรงเรียนเอกชนมาขอรับนักศึกษาเราจำนวนหนึ่งเข้าทำงานเป็นครูในโรงเรียน เพราะเขาไม่ได้ตามหาคนที่วุฒิ แต่คัดเลือกคนที่ความสามารถ และเชื่อว่าบัณฑิตที่จบไปจากหลักสูตรนี้ จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนของเขาได้”

        สำหรับงานที่บัณฑิตที่จบไปทำอยู่ อันดับต้น ๆ จะเป็นกลุ่มงานด้านการพัฒนาทรัพยกรมนุษย์ (HRD/Training) นักออกแบบการเรียนรู้ (Learning Designer) กระบวนกร (Facilitator) นักออกแบบและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ ผู้ประสานงานโครงการ ครูในโรงเรียนทางเลือก โรงเรียนเอกชน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มงานอื่น ๆ ตามที่พวกเขาสนใจ

3. ความเชี่ยวชาญของบัณฑิตสาขาวิทยาการเรียนรู้

        ผศ.ดร.ชลิดา จูงพันธ์ (อ.แท็ป) ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาตรี พูดถึงรายละเอียดสมรรถนะ (Competency) ของนักศึกษาที่เรียนในหลักสูตรฯ ว่า  หลักสูตรฯ ผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการเรียนรู้ของมนุษย์และมีความเข้าใจในทฤษฎีการเรียนรู้บนฐานสหวิทยาการ มีทักษะการคิดวิเคราะห์ ทั้งในเชิงวิพากษ์และในเชิงสร้างสรรค์ มีทักษะในการวิเคราะห์  จัดกระบวนการ และประเมินการเรียนรู้ และสามารถบูรณาการองค์ความรู้ ทักษะ และการปฏิบัติไปประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนการเรียนรู้ในสังคมไทย บัณฑิตของหลักสูตรนี้จะเป็นบุคลากรด้านการเรียนรู้และการศึกษาที่สามารถทำงานได้ในทุกภาคส่วนของสังคม โดยมีสมรรถนะ (Competency) 6 ด้าน คือ

        1. Intrapersonal Skills มีความสามารถในการรู้จัก เท่าทัน สะท้อน กำกับตนเอง และพัฒนาตัวเอง โดยมีการจัดตั้งรายวิชาที่เน้นเรื่องนี้โดยเฉพาะตั้งแต่ปี1-ปี4 เช่น วิชา Learning Portfolio ที่เน้นการเข้าใจความต้องการและศักยภาพของตนเองและสอนต่อเนื่องจากปี 1 ถึงปี 4 นอกจากนี้ ทุกวิชาในคณะยังออกแบบอยู่บนแนวคิดการจัดการเรียนการสอนผ่านประสบการณ์ เชื่อว่าผู้เรียนสามารถสะท้อนการเรียนรู้ได้อย่างลึกซึ้ง ดังนั้นนักศึกษาจึงมีโอกาสทำงานภายในอยู่ในทุก ๆ วิชา   

        2. Interpersonal Skills ทักษะสำคัญสำหรับโลกปัจจุบันและอนาคต ปรากฏอยู่ในทุกวิชา เปิดโอกาสให้ทำงานร่วมกับผู้อื่น เข้าใจความแตกต่างหลากหลาย สามารถทำงานเป็นทีม มีทักษะการสื่อสาร และประสานความร่วมมือกับบุคคลอื่นได้ นอกจากนั้น ยังมีโครงการของคณะที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเพื่อให้ได้พัฒนาทักษะการทำงานกับบุคคลภายนอกด้วย

        3. Systems Thinking มีสามารถในการคิดเชิงระบบ เห็นความเชื่อมโยงของปรากฏการณ์เชิงระบบ และประเมินผลกระทบของการทำงานต่าง ๆ ได้ เข้าใจความซับซ้อนในสังคมว่าเชื่อมโยงกับอะไรบ้าง โดยมีอาจารย์ที่จบจากหลากหลายสาขาร่วมกันสอนเป็นทีม (Team Teacing)  เพื่อให้นักศึกษามองปรากฏการณ์ทางสังคมที่กว้างขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นในชั้นปีที่ 2 นักศึกษายังได้ทำโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ได้ลงพื้นที่ไปรับรู้ความซับซ้อนของปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

        4. Critical and Innovative Mind สามารถวิพากษ์ และตรวจสอบการวิพากษ์ของตนเอง สามารถมองเห็นปัญหา ตั้งคำถาม และเสนอทางเลือกในการแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์  

        5. Knowledge-based Expertise ทำงานด้วยความเป็นมืออาชีพบนฐานความรู้ มีทักษะในการจัดกระบวนการเรียนรู้ (Learning Process and Facilitation) และมีทักษะในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ (Learning Technology) โดยให้นักศึกษาตระหนักอยู่เสมอว่าทุกอย่างมีที่มาที่ไป มีทฤษฎีอ้างอิง   

        6. Social Conscience and Engagement มีจิตสำนึกทางสังคม รู้สึกรู้ร้อนรู้หนาว และมีส่วนร่วมในการทำงานทางสังคม จะทำให้เกิดการลงมือทำ (Action) ในการไปแก้ไขปัญหาต่างๆ

4. จุดเด่นของคณะและสิ่งที่หาไม่ได้จากที่อื่น (Uniqueness)

        “คณะผลิตบัณฑิตพร้อมใช้งาน เรียนรู้เร็ว ปรับตัวได้ดี เป็นนักเรียนรู้ อดทนพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ มุ่งมั่นในการทำงาน เสนอไอเดียใหม่ๆ นี่คือผู้ใช้งานบัณฑิตสะท้อนมา .... “

        1.การเรียนรู้จากการมีประสบการณ์ (Experiential Learning) มีการลงพื้นที่จริง และทำงานผ่านเครือข่ายของคณะ (Job Center)  ส่งผลทำให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงภายในตนเอง (Personal Transformation) ได้แก่ เข้าใจตนเองมากขึ้น ค้นพบแรงบันดาลใจของตนเอง ตระหนักถึงกระบวนการเรียนรู้ของตนเองจากการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรง เห็นคุณค่าในการทำงานเชิงพื้นที่ร่วมกับชุมชน ในขณะเดียวกันยังได้รับ Professional Transformation ได้แก่ ทักษะและเจตคติที่ดีในการทำงานร่วมกันผู้อื่น ทักษะพัฒนาโครงงานนวัตกรรมการเรียนรู้ (เข้าใจปัญหา พัฒนานวัตกรรม และประเมินผล) ทักษะการสื่อสารและการนำเสนอข้อมูลและแนวคิด เห็นเส้นทางอาชีพในอนาคตในฐานะนักขับเคลื่อนการเรียนรู้

        2. ผู้สอนร่วมกันสอนเป็นทีม (Team Teaching)  การสอนเป็นทีมโดยผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญที่หลากหลายทำให้เกิดการเติมเต็มองค์ความรู้ที่หลากหลายมากขึ้น โดยจะสอนเป็นทีมในทุก ๆ คาบ ผู้สอนทำงานร่วมกันทั้งในขั้นวางแผน ร่วมสอน และประเมินหลังการสอน (AAR) ทำให้การจัดการชั้นเรียนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้วิชาเรียนมีความน่าสนใจ นักศึกษามีความสุข  ขณะเดียวกัน อาจารย์และนักศึกษาก็มีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น ทำให้เห็นความสวยงามของความแตกต่าง ทำให้เกิดการต่อยอดหลากหลายแนวทาง

        3. เรียนแบบ Active Learning ทุกวิชาเน้นการมีบทบาทของผู้เรียนทั้งในและนอกห้องเรียน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://lsed.tu.ac.th/published-message-content-25

        4.การประเมินการเรียนรู้ที่หลากหลาย เรามีการวัดผลที่หลากหลาย การสอบมีหลายรูปแบบ เช่น เขียนบทความวิชาการ การโต้วาที การทำโครงงานตามความสนใจ การอภิปรายกลุ่ม การลงพื้นที่พัฒนาโครงงาน  การฝึกงานในองค์กรหน่วยงาน การพูดคุยกับอาจารย์  ฯลฯ เราให้สิทธินักศึกษาในการประเมินตัวเองและเพื่อนร่วมชั้นเรียน ภายใต้วัฒนธรรมการจัดการชั้นเรียนที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยของนักศึกษา

        5.การฟังคือวัฒนกรรมในการเรียนการสอน เว้นช่องว่างระหว่างอำนาจลง  อาจารย์กับนักศึกษามีการแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นกันอยู่เสมอๆ บนฐานคิดที่เชื่อว่าทุกคนมีความรู้ การไม่ตัดสิน อาจารย์ทุกคนมองว่านักศึกษาไม่ใช่ผ้าขาวแต่ทุกคนมีของ และพร้อมรับฟังคนอื่นที่เห็นแตกต่าง  วัฒนธรรมนี้คณะสร้างให้เกิดขึ้นตั้งแต่นักศึกษาเรียนปี 1 วิชา บ่มเพาะทักษะการเรียนรู้ (Fostering Leraning Skills) เซ็ตมูทแอนด์โทนของนักศึกษา เราจะบอกก่อนเลยว่าที่นี่คือพื้นที่ปลอดภัย สามารถแสดงความคิดเห็น คำตอบจะไม่ถูกตัดสินจากอาจารย์

        6.การรับเข้า กระบวนการการรับเข้า คณะไม่รับนักศึกษาจากการสอบ เพราะเราอยากเห็นตัวตนของเขา โดยไปใส่ในรอบ port ให้อิสระในการที่เราจะได้รู้จักเด็กและให้เด็กรู้จักคณะเราด้วย รวมถึงใช้กระบวนการกลุ่ม เพื่อดูปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สมัครด้วยกันเอง และดูทักษะการคิดวิเคราะห์ ถกประเด็น สิ่งที่เกิดขึ้นคือความยุติธรรมที้เกิดขึ้น ให้ผู้ที่เข้ามาสมัครเห็นก่อนว่าการเรียนที่นี่ต้องเจออะไร ถือว่าเป็นทดลองเรียน 1 วัน

        7. การสะท้อนการเรียนรู้ (Reflection) โดยการเขียน เล่า คิด  Learning log Learning journey การใคร่ครวญอยู่กับตัวเอง มีการพูดคุยสะท้อนการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนกับเพื่อนในกลุ่มย่อย และการเขียนสะท้อนการเรียนรู้ในทุกรายวิชา สะท้อนการเรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติงาน เพื่อเลือกความมุ่งเน้นได้ชัดขึ้น  เปิดโอกาสให้นักศึกษาทำงานกับอาจารย์ ได้เรียนรู้ผ่านการทำงานจริงๆ กับอาจารย์และเพื่อน

ถ้าอยากเข้ามาเรียนด้วยกันที่นี่ ชวนๆ น้าา

______________________________________________________________________________________

ประกาศรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาระดับปริญญาตรี (TCAS66)

รอบที่ 1.2 Portfolio

 

ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์ : วันที่ 25 มกราคม 2566

ดูรายละเอียดที่เว็บไซต์ www.tuadmissions.in.th

สอบสัมภาษณ์ : วันที่ 28 มกราคม 2566

รายงานตัว เวลา 08.00 น. สถานที่ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก : วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566

ดูรายละเอียดที่เว็บไซต์ www.tuadmissions.in.th และ student.mytcas.com

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

https://drive.google.com/.../1u87POpZDqkO6it4KyLCOmV.../view

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม :

โทร 0-2564-4442-70 ต่อ 6718

เว็บไซต์ : https://sedtuacth/ Email:tcas@lsed.tu.ac.th

Facebook : https://www.facebook.com/tu.lsed/