Loading...

โลก สิ่งแวดล้อม และพื้นที่การเรียนรู้

        ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่เราต้องเผชิญอยู่ทุกวัน เวลาผ่านไปปัญหาเหล่านี้มิได้เบาลง แต่กลับหนักขึ้น ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะปัญหามลพิษทางอากาศ จากการแพร่กระจายของฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่เกิดขึ้นจากการจราจร การเผาในพื้นที่โล่งพื้นที่ชานเมือง และสภาพอากาศปิด หรือปัญหาขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อม เนื่องจากวิธีการกำจัดขยะที่ไม่ถูกต้องจนกลายเป็นแหล่งรวมเชื้อโรคและส่งผลต่อชีวิตผู้คนอีกจำนวนมาก หรือแม้กระทั่งปัญหาที่เชื่อมโยงไปถึงการจัดการพื้นที่การเรียนรู้ในสังคมเมืองที่มากไปด้วยตึกสูงใหญ่แต่กลับไม่มีพื้นที่ให้ผู้คนได้สร้างการเรียนรู้อย่างอิสระด้วยตัวของเขาเอง ซึ่งการจัดสรรพื้นที่การเรียนรู้นี้อาจก่อให้เกิดประโยชน์อีกมากมาย ทั้งการสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกับระหว่างคนในสังคม ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการขับเคลื่อนสังคมร่วมกัน

        เนื่องในวันคุ้มครองโลก LSEd Social Change จึงอยากชวนคุยประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและพื้นที่การเรียนรู้ ผ่านบทสัมภาษณ์ ผศ.ดร.ศรัณวิชญ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร อาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการวางผังพื้นที่สาธารณะเพื่อส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ของคน และเสริมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ รวมถึงการที่คณะฯของเราได้รับรางวัลสำนักงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Office) ระดับดีเยี่ยม (เหรียญทอง) จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่คณาจารย์ นักศึกษา และเจ้าหน้าที่ทุกคน ให้ความร่วมมือร่วมใจกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและมีส่วนร่วมในการสร้างสภาพแวดล้อมบริเวณภายในคณะฯให้น่าอยู่ อย่างยั่งยืน

“คำว่า “พื้นที่การเรียนรู้” ไม่ได้ถูกจำกัดความว่าหมายถึง “สถานที่” ใดสถานที่หนึ่ง แต่มันคือ “กิจกรรมการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นบนพื้นที่นั้น ๆ” ที่เกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ โดยขึ้นอยู่กับว่าเราจะเห็นศักยภาพของสังคมเมืองและพื้นที่เมืองว่าสามารถตอบสนองการเรียนรู้ของเราได้อย่างไร ซึ่งเป็นแนวคิดรากฐานของคำว่า เมืองแห่งการเรียนรู้ (Leaning City)

        ผศ.ดร.ศรัณวิชญ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร (อ.บอย) เล่าว่าในยุคสมัยก่อนคำว่า “พื้นที่การเรียนรู้ (Learning Space)” ถูกเรียกแทนคำว่าห้องเรียน เนื่องจากความเข้าใจที่ว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นบนพื้นที่ที่มีการจัดการเรียนการสอนเท่านั้น หากแต่มุมมองเรื่อง “พื้นที่การเรียนรู้” ได้ถูกนำไปใช้ในบริบทที่แตกต่างมากขึ้น ไม่เพียงแต่พื้นที่การศึกษาในระบบ (Formal Education) อย่างโรงเรียนหรือในสถานศึกษาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพื้นที่นอกระบบการศึกษา (Non-formal Education) เช่น สถานที่จัดอบรมต่าง ๆ และการศึกษาตามอัธยาศัย เช่น พิพิธภัณฑสถาน ศูนย์แสดงงานศิลปะ เป็นต้น

        น้อยคนนักที่จะนึกถึงพื้นที่การเรียนรู้ในรูปแบบที่สอดแทรกอยู่ในกิจวัตรประจำวันของเรา เช่น การใช้สวนสาธารณะในการนั่งอ่านหนังสือ การทำงานในร้านกาแฟ การรู้จักผลไม้และผักชนิดใหม่ ๆ ผ่านการเดินตลาด การเปิดประสบการณ์ใหม่ผ่านการท่องเที่ยว หรือแม้แต่การเรียนทำอาหารจากสื่อโซเชียลมีเดีย (Social Media) สิ่งเหล่านี้ได้ขยายคุณค่าและความหมายของคำว่า “พื้นที่การเรียนรู้” ที่อยู่รอบตัวเรามากขึ้น ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอาจเป็นพื้นที่เชิงกายภาพ (Physical Spaces) หรือพื้นที่สมมติเสมือนจริง (Virtual Spaces)

        ดังนั้น คำว่าพื้นที่การเรียนรู้จึงไม่ได้ถูกจำกัดความว่าหมายถึง “สถานที่” ใดสถานที่หนึ่ง แต่มันคือ “กิจกรรมการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นบนพื้นที่นั้น ๆ” ที่เกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ โดยขึ้นอยู่กับว่าเราจะเห็นศักยภาพของสังคมเมืองและพื้นที่เมืองว่าสามารถตอบสนองการเรียนรู้ของเราได้อย่างไร ซึ่งเป็นแนวคิดรากฐานของคำว่า “เมืองแห่งการเรียนรู้ (Leaning City)”

มุมมองและทัศนคติที่สังคมมีต่อพื้นที่การเรียนรู้ในปัจจุบัน

        “การเรียนรู้จะไม่สมบูรณ์หากเรามองไม่เห็นโอกาสและคุณค่าในการเรียนรู้”

        อ.บอย เล่าว่าสิ่งหนึ่งที่น่าเป็นกังวล คือ วัฒนธรรมและทัศนคติที่มีต่อการเรียนรู้ในสังคมไทย เนื่องจากมุมมองเรื่องการเรียนรู้ยังถูกผูกติดกับการสอบ การได้มาซึ่งเกรด หรือประกาศนียบัตร ทำให้คนในสังคมมีมุมมองทัศนคติที่จำกัดว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นแต่ในชั้นเรียน หรือสถาบันอบรมที่มีหลักสูตรตายตัว โดยละเลยที่จะมองเห็นคุณค่าการเรียนรู้ว่าคือการพัฒนามนุษย์ในมิติอื่นๆ

        การเรียนรู้ที่แท้จริงนั้นอยู่ใกล้กับเรามากกว่าที่เราคิด มนุษย์ไม่ได้เรียนรู้จากการถูกสอนสั่งเพียงอย่างเดียว แต่เราเรียนรู้จากการสังเกตและการทำความเข้าใจสิ่งที่เราสังเกตด้วยเช่นกัน ทั้งการสังเกตพฤติกรรมของคนอื่น การสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัว หรือแม้แต่การสังเกตและตั้งคำถามกับตนเองเพื่อทำความเข้าใจความเชื่อ วิธีคิด และความรู้สึกที่เราสั่งสมมาจากประสบการณ์ในการใช้ชีวิต หากเราตระหนักเช่นนี้ได้ เราจะเห็นคุณค่าของประสบการณ์ในการใช้พื้นที่ (Spatial Experience) ที่มากขึ้น ซึ่งการทำความเข้าใจประสบการณ์ในการใช้งานพื้นที่จะทำให้เรามีมุมมองที่ลึกซึ้งต่อคำว่า “พื้นที่การเรียนรู้” เพราะจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้รับรู้ถึงฟังก์ชั่นต่าง ๆ ของพื้นที่ (Space Affordance) และสามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานพื้นที่ให้ตรงกับความต้องการที่จะเรียนรู้ได้มากขึ้น (Personalized Space for Learning) ดังเช่น เราจะเห็นคนสามารถสร้างสรรค์งานได้ด้วยการไปนั่งที่ร้านกาแฟ  หรือแม้แต่การท่องเที่ยวที่ทำให้เรามีประสบการณ์ในการเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่และมีมุมมองต่อโลกมากขึ้น

แนวโน้มสถานการณ์ทางสังคมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและพื้นที่การเรียนรู้

        อ.บอย กล่าวว่า เยาวชนไทยและกลุ่มคนรุ่นใหม่มีมุมมองต่อพื้นที่การเรียนรู้ที่กว้างขวางและครอบคลุมบริบทต่าง ๆ มากขึ้น ทำให้เกิดการใช้งานพื้นที่ต่าง ๆ ในเมืองเพื่อส่งเสริมให้คนออกมาใช้ชีวิต เปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ และเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 (Bangkok Design Week 2023) ที่จัดกิจกรรมแสดงศิลปะและวัฒนธรรม ในหลายพื้นที่ในกรุงเทพ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “ถนนสายไม้ บางโพ” ที่มีกิจกรรมถ่ายทอดเรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์ของถนนสายนี้ ซึ่งเป็นตำนานที่ยังคงมีชีวิต คล้ายกับแนวคิดการจัดพิพิธภัณฑ์มีชีวิต (Living Museum) ที่นำเรื่องราวประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญางานช่างไม้ และวิถีชีวิตของคนในพื้นที่มาถ่ายทอดผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดถนนสายนี้ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะเกิดไม่ได้หากขาดการคิดริเริ่ม และเครือข่ายความร่วมมือในการแสวงหาทุนทรัพย์ การประชาสัมพันธ์ โดยมีรากฐานมาจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการรังสรรค์เมืองที่พวกเขาอยู่ให้กลายเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง

ข้อค้นพบจากการเป็นอาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. เกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อมและพื้นที่การเรียนรู้

        งานวิจัยเรื่อง Spaces that matter ที่อ.บอยศึกษาอยู่ ได้สะท้อนให้เห็นว่านักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีประสบการณ์ในการใช้พื้นที่ในรั้วมหาวิทยาลัยเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และการทำวิทยานิพนธ์ของตนเองที่แตกต่างกัน หลายคนบังคับตนเองให้ไปนั่งทำงานที่ห้องสมุดเพื่อให้ตนเองสวมบทบาทการเป็นนักศึกษา (Studentness Embodiment) โดยมองว่าเพื่อนคนอื่น ๆ ก็นั่งทำงานเช่นกัน สิ่งนี้คล้ายคลึงปรากฏการณ์ “มาเรียนด้วยกันกับฉัน (Study with me!)” ที่เป็นที่นิยมในเหล่านักเรียน นักศึกษา โดยแต่ละคนจะเปิดวิดิโอที่บันทึกการอ่านหนังสือด้วยตนเอง (Self-Study) ของคนที่พวกเขาอาจไม่เคยรู้จักมาก่อน ประกอบกับการนั่งทำงานหรืออ่านหนังสือของตัวเขาเอง

        อ.บอย ยังเล่าอีกว่า นักศึกษาเล่าให้ฟังว่างานวิจัยของเขาได้รับแรงบันดาลใจจากการสังเกตคนอื่น เขาใช้เวลาในการไปนั่งในห้องสมุดเพื่อสังเกตพฤติกรรมของคนอื่นพร้อมไปกับการทบทวนความคิดในการออกแบบงานวิจัยวิทยานิพนธ์ของตัวเขาเอง ในขณะที่นักศึกษาจำนวนหนึ่งใช้พื้นที่เปิดสีเขียวระหว่างอาคารหรือพื้นที่สันทนาการ (Recreation Spaces) ในการสะท้อนคิดและใคร่ครวญประสบการณ์ชีวิต (Self-Reflection) ถึงสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้ แผนการทำงานหรือการเรียนในอนาคต และสิ่งที่พวกเขาต้องปรับปรุง ซึ่งการศึกษาประสบการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ต้องกลับมาคิดว่า “เราจะออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ในรั้วมหาวิทยาลัยให้รองรับการเรียนรู้ที่หลากหลายนี้ได้อย่างไร”

        การสร้างพื้นที่การเรียนรู้ไม่ได้เป็นหน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง และพื้นที่ก็ไม่ได้ถูกสร้างโดยรัฐเพียงอย่างเดียว อ.บอย กล่าวว่า ประชาชนและภาคประชาสังคมต่าง ๆ ไม่ได้เป็นเพียง “ผู้ใช้งาน” แต่ยังเป็น “ผู้สร้าง” ที่มีส่วนในการถ่ายทอดความคิดในการสร้างพื้นที่ และปรับเปลี่ยนพื้นที่เชิงกายภาพให้เหมาะกับการใช้งานของคนในสังคมได้เช่นกัน ดังแนวคิดของ Lefebvre 2009 เรื่องการประกอบสร้างของพื้นที่ (The Production of Space) ที่ให้ความสำคัญว่า พื้นที่เชิงกายภาพ (ของเมือง) สร้างขึ้นจากบริบทเชิงสังคม ในขณะเดียวกันพื้นที่ทางสังคมก็ถูกหล่อหล่อมด้วยพื้นที่เชิงกายภาพเช่นกัน

        สุดท้ายนี้ ปัจจุบันผู้คนในสังคมให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ การนำกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ มาจัดในพื้นที่เปิดสีเขียว หรือการนำกิจวัตรประจำวันมาทำในพื้นที่สาธารณะ ทำให้เกิดทัศนคติที่ว่า “การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา” ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจและตั้งคำถามกันต่อว่า “เมื่อเรามีพื้นที่แห่งการเรียนรู้แล้ว เราจะสามารถสร้าง Community ที่ใหญ่ขึ้นกิจกรรมทางการเรียนรู้ที่ใหญ่ชึ้น ได้อย่างไร”

 

เรียบเรียงโดย นวนันต์ เกิดนาค

___________________________________________________________________________________________________________