ความหลากหลายทางชีวภาพ: การอยู่ร่วมกันระหว่างสิ่งแวดล้อมกับมนุษย์อย่างยั่งยืน
วันที่ 22 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ (International Day for Biological Diversity) เพื่อรำลึกถึงวันที่อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เริ่มมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 และเพื่อรณรงค์ให้ประชาคมโลกเกิดความตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ และส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน
หากกล่าวถึงประเด็นความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหา “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” หรือ Climate Change อาจเป็นเรื่องที่หลายคนนึกถึงเป็นอันดับต้น ๆ อย่างไรก็ตาม หากเป้าหมายในการอนุรักษ์สิ่งแวดลอม คือการรักษาระบบนิเวศให้เหมาะสม ปัญหา “การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ” หรือ Loss of Biodiversity จากการดำรงชีวิตของมนุษย์ ก็ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในวงกว้างไม่แตกต่างกัน การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพจะทำให้ผลผลิตของระบบนิเวศลดลง ทำให้ระบบนิเวศไม่มั่นคงและมีความสามารถในการรองรับภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง ๆ ลดลง ไม่ว่าจะเป็นภัยจากพายุ น้ำท่วม ภาวะแห้งแล้ง รวมทั้งภัยคุกคามที่เป็นผลจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น มลพิษต่าง ๆ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เนื่องในวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ (International Day for Biological Diversity) LSEd Social Change จึงอยากชวนมาทำความรู้จักกับความหมายของความหลากหลายทางชีวภาพ พฤติกรรมของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ ปัญหาเกี่ยวกับการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย รวมถึงแนวคิดในการช่วยสนับสนุนให้เยาวชนเกิดความตระหนักรู้รักษาสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ผ่านบทสัมภาษณ์ อ.ศิริวรรณ บุญอนันต์ และ อ.มลฤดี ทวีมา ครูกระบวนการ ประจำโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เป็นคุณครูผู้ดูแลรายวิชาความหลากหลายทางชีวภาพระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
อ.ศิริวรรณ บุญอนันต์ (ครูศิ) อธิบายว่าความหลากหลายทางชีวภาพ หมายความครอบคลุมถึงความแตกต่างหลากหลายของสิ่งมีชีวิตบนโลก ทั้งในแง่ชนิด และพันธุ์ รวมถึงความแปรผันที่เกิดขึ้นในสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ที่อยู่ในทุกหนทุกแห่งบนโลก อีกทั้งความหลากหลายทางชีวภาพมีความสำคัญในแง่ของการเกื้อกูลให้สิ่งที่มีชีวิตบนโลกใบนี้ที่มีความแตกต่างกัน ได้รับการเติมเต็มและอยู่บนโลกได้อย่างสมดุล
อ.มลฤดี ทวีมา (ครูจุ๊บแจง) ให้ความหมาย “ความหลากหลายทางชีวภาพ” ว่ามีความเกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิต ในหลายระดับ ตั้งแต่ระดับพันธุกรรม ถึงแม้จะเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกัน แต่เราจะพบว่ามีหน้าตาแตกต่างกัน และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่เพิ่มมากขึ้น จึงนำไปสู่ความหลากหลายของชนิดพันธุ์ ทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใหม่ขึ้น
เมื่อกล่าวถึงความสำคัญของความหลากหลายจะพบว่า ในแต่ละระดับของความหลากหลายทางชีวภาพล้วนมีส่วนสำคัญในการช่วยให้สิ่งมีชีวิตยังดำรงอยู่ได้ ครูจุ๊บแจง อธิบายว่า การมีรหัสพันธุกรรมที่แตกต่างกัน เป็นการเพิ่มโอกาสให้สิ่งมีชีวิตสปีชีส์นั้น ๆ มีโอกาสรอดในสถานการณ์วิกฤตได้ เช่น โรคระบาด การมีภูมิคุ้มกันพิเศษบางอย่างอาจช่วยให้มีโอกาสในการรอดมากขึ้น การมีสีสันที่แตกต่างกันก็อาจมีส่วนช่วยเพิ่มอัตราการรอดของสิ่งมีชีวิตจากผู้ล่าได้ เป็นต้น นอกจากนี้การมีชนิดพันธุ์ที่หลากหลายก็มีบทบาทสำคัญมากเช่นกัน เนื่องจากเป็นการรักษาสมดุลระบบนิเวศ จะพบว่าระบบนิเวศที่มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ที่มาก จะช่วยลดความเสี่ยงในการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตได้มากกว่า หรือหากมองในมุมที่มนุษย์ใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ จะพบว่ารอบ ๆ ตัวของเราในปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นยารักษาโรค อาหาร สถานที่พักอาศัย รวมถึงของใช้ต่าง ๆ ที่มีวัตถุดิบจากธรรมชาติ
ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของโลกและของไทยในปัจจุบัน มีอะไรน่าเป็นห่วงบ้าง?
ครูศิ กล่าวถึงสิ่งที่น่าเป็นห่วงในตอนนี้ คือ Climate Change หรือ “ภาวะโลกรวน” เป็นความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตแทบทุกชนิด ซึ่งเป็นภาวะที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก ในปัจจุบันพบว่าเพียงแค่ระยะ 3 ปี 5 ปี เราก็เห็นความปรวนแปรของสิ่งแวดล้อมมาตลอด ยกตัวอย่างเรื่องของอุณหภูมิฤดูร้อนของประเทศไทยในปีนี้ เป็นปีที่ร้อนมากกว่าปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด
ครูจุ๊บแจง เล่าว่า จากการติดตามข่าวสารปัจจุบันพบว่าเรื่องของมลพิษทางอากาศเป็นที่น่าจับตามอง หลายประเทศทั่วโลกยังคงเผชิญกับวิกฤติของฝุ่น ทำให้หลายคนต้องใส่หน้ากากอนามัยที่ไม่ใช่เพียงป้องกันไวรัสโคโรน่าเท่านั้น แต่ยังต้องช่วยกรอกฝุ่นที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจได้ด้วย ซึ่งส่งผลต่อปริมาณขยะที่ต้องกำจัดเพิ่มมากขึ้น
อีกประเด็นปัญหาที่น่าสนใจและมีความใกล้ตัวอีกกรณีหนึ่ง คือ ปัญหาของขยะ ครูจุ๊บแจง อธิบายว่า นอกเหนือจากขยะที่มาจากวิกฤติการณ์โควิดและมลพิษทางอากาศแล้วนั้น ความเคยชินที่มีต่อการใช้พลาสติกของมนุษย์ ที่มองผิวเผินแล้วดูไม่มีภัยน่ากลัวใด ๆ และเหมือนจะมีประโยชน์มากกว่าโทษ เพราะแม้ว่าจะทำให้เราสะดวกต่อการใช้ชีวิตมากขึ้น แต่ก็อาจสร้างปัญหามากกว่าที่หลายคนตระหนักถึง จริงอยู่ที่ในปัจจุบันมีการรณรงค์ให้ลดการใช้พลาสติก แต่ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละวันก็ยังคงมีปริมาณที่มาก หากลองนึกถึงภาพเมื่อเราเดินเข้าไปซื้ออาหารและเครื่องดื่มในร้านสะดวกซื้อ ก็จะพบว่ามีพลาสติกเป็นส่วนประกอบ ตั้งแต่กล่องบรรจุ ป้ายแปะหน้ากล่องอาหาร ขวดเครื่องดื่ม ช้อน ซองเครื่องปรุง เท่ากับว่าเราเข้าไปซื้อของครั้งเดียว แต่กลับสร้างขยะเพิ่มมากมายโดยไม่รู้ตัว และขยะเหล่านี้หากไม่ได้รับการคัดแยกที่ถูกต้อง ก็จะส่งผลต่อการนำไปกำจัดและการรีไซเคิลที่ยากขึ้น อีกทั้งบางครั้งขยะต่าง ๆ เหล่านี้ เมื่ออยู่ไม่ถูกที่ เช่น ไปอยู่ในพื้นที่ป่า หรือตกอยู่ในแหล่งน้ำ อาจส่งผลต่อเหล่าสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อีกด้วย ดังที่เห็นในข่าว ที่สัตว์บางชนิดคิดว่าพลาสติกเป็นอาหาร จึงกินเข้าไปจนส่งผลถึงแก่ชีวิต ทั้ง ๆ ที่ตัวพวกมันไม่ได้เป็นคนสร้างขยะเหล่านั้น แต่กลับได้รับผลกระทบโดยตรง
พฤติกรรมของมนุษย์หรือชีวิตของมนุษย์ เกี่ยวข้องอย่างไรกับความหลากหลายทางชีวภาพ?
ทุกพฤติกรรมของมนุษย์นั้นล้วนมีความเกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพแทบทั้งสิ้น ตั้งแต่การนำคุณสมบัติต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตมาใช้ประโยชน์ ครูศิ อธิบายเพิ่มเติมว่า เรื่องปากท้อง เป็นเรื่องใกล้ตัวที่นำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ อย่างเช่น การนำวัตถุดิบธรรมชาติมาประกอบอาหาร อาหารที่ทานเข้าไปแปรเปลี่ยนเป็นสารอาหารเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นแหล่งโปรตีนจากพืชหรือเนื้อสัตว์ แหล่งคาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามินต่าง ๆ ที่มีความหลากหลาย รวมถึงเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มต่าง ๆ ที่อยู่อาศัย ฯลฯ ดังนั้น เราทุกคนล้วนดึงคุณประโยชน์ของสิ่งมีชีวิตมาใช้ในชีวิตของมนุษย์อยู่อย่างมากมาย
ครูจุ๊บแจง กล่าวว่า มนุษย์เข้ามามีบทบาทในความหลากหลายทางชีวภาพได้ในหลายมุม ซึ่งมนุษย์นับว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีกระดูกสันหลังประเภทหนึ่ง จึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในสายใยอาหารเช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อีกทั้งมนุษย์เองได้มีการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร ที่มนุษย์ได้นำทั้งพืชและสัตว์ต่าง ๆ มาประกอบอาหารคาวหวาน และนอกเหนือจากอาหารแล้ว มนุษย์ยังมีการนำพืชและสัตว์มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ รวมถึงของใช้ต่าง ๆ เช่น เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และด้วยความที่มนุษย์มีความช่างสังเกต จึงมักคิดหาวิธีเพื่อพัฒนานวัตกรรมที่สร้างความสะดวกสบายมากขึ้น มนุษย์จึงมีการสร้างสิ่งที่เลียบแบบจากธรรมชาติ เช่น รถไฟฟ้าความเร็วสูงที่ได้รับแรงบันดาลใจมากจากนกกระเต็น ชุดว่ายน้ำที่ทำให้ว่ายน้ำได้เร็วขึ้นโดยเลียนแบบจากหนังฉลาม หรือแม้กระทั่งแถบตีนตุ๊กแกที่เราคุ้นเคยตั้งแต่สมัยวัยเยาว์ ก็ล้วนมีแนวคิดมาจากสิ่งที่อยู่ในธรรมชาติ
นอกจากการที่มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งและเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว มนุษย์ยังมีฐานะเป็นผู้ที่เข้าไปเปลี่ยนแปลงอีกด้วย ซึ่งมีทั้งในทิศทางที่ดีขึ้นและแย่ลง เนื่องจากการใช้ทรัพยากรโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของมนุษย์เป็นที่ตั้ง จนหลายครั้งส่งผลเสียต่อเพื่อนร่วมโลกต่างสปีชีส์อื่น ๆ ทำให้สิ่งมีชีวิตบางชนิดเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ แต่แน่นอนว่าไม่ใช่มนุษย์ทุกคนที่จะไม่ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น หลายคนก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาสาสมัคร หน่วยงานรัฐและเอกชน รวมถึงบุคคลทั่วไปที่ปฏิบัติตามคำแนะนำและให้ความร่วมมือในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพให้คงอยู่
การเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในไทยเป็นอย่างไรบ้าง?
ครูศิ ให้ความคิดเห็นว่า การเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในไทยมีความจริงเชิงประจักษ์อย่างหลากหลายให้ได้เรียนรู้ แต่การขยับหรือขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างชัดเจนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ในหลายครั้งสิ่งเหล่านี้นำไปสู่ความท้อใจของผู้ที่มีความตระหนักและอยากดูแลสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม เราควรชี้มุมมองที่สามารถ Empower (เสริมพลัง) ให้ผู้เรียนได้เห็นว่าต่อให้มีอุปสรรคใด ๆ ถ้าเราตั้งมั่นและพยายามก็สามารถทำให้สิ่งแวดล้อมสามารถขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ โดยอาจเป็นการนำเสนอกลุ่มผู้ดูแลของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศที่มีความพร้อมในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ให้ผู้เรียนได้เห็นความเป็นไปได้และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวของเขาเอง
ครูจุ๊บแจง กล่าวว่า การเรียนรู้จากสถานการณ์จริงถือว่าเป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ หากมีโอกาสในการพัฒนาผู้เรียนให้ได้ลงสนามจริง เพื่อได้เห็นสถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจริง จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้ผู้เรียนได้มีโอกาสใช้ความรู้ในชั้นเรียนในการเข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้เกิดขึ้นแก่สังคม นอกจากจะได้ใช้ความรู้และลงมือทำจริงแล้ว ยังก่อให้เกิดความภูมิใจในตนเองของผู้เรียน รวมถึงได้สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน อีกทั้งการกระจายความรู้ให้เข้าถึงคนไทยทุกคนนอกเหนือจากผู้เรียนในรั้วสถานศึกษาก็มีความสำคัญเช่นกัน โดยเริ่มจากการรับรู้ว่าบริเวณชุมชนที่อยู่อาศัยมีสิ่งมีชีวิตอะไรบ้าง หรือมีสภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร พบปัญหาสิ่งแวดล้อมในบริเวณดังกล่าวอย่างไรและมีสาเหตุจากอะไร รวมถึงวิธีที่จะช่วยฟื้นฟูหรือป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในอนาคตอย่างไรบ้าง ซึ่งสิ่งสำคัญในการร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมคือ การสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม
การขับเคลื่อนประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ครูศิ เล่าว่า ปัจจุบันดูแลรายวิชาความหลากหลายทางชีวภาพระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ล่าสุดได้ออกแบบการเรียนรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพในแม่น้ำเจ้าพระยา ร่วมกับ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ในโครงการ “รู้...รักษ์ความสมบูรณ์ของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา” หัวข้อ “แม่น้ำเจ้าพระยากับปลากระเบนที่หายไป ! ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนเข้าใจความหลากหลายทางชีวภาพและตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งมีชีวิตในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงให้ผู้เรียนตระหนักถึงผลกระทบของสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปทั้งจากธรรมชาติและมนุษย์ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของความหลากหลายในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งยังส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความตระหนักในการดูแลสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนเอง ภายในกิจกรรมเน้นการนำเสนอให้เห็นความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำเจ้าพระยา การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ที่ส่งผลต่อระบบนิเวศในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยวิเคราะห์จากกรณีศึกษาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างผู้สอนและนักเรียน รวมถึงชวนผู้เรียนกลับมาสำรวจความเกี่ยวข้องของตนเองกับแม่เจ้าพระยาว่ามีความสัมพันธ์อย่างไร และในฐานะที่ผู้เรียนเป็นสมาชิกของโลก ผู้เรียนจะมีส่วนช่วยในการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง
ครูจุ๊บแจง เล่าว่า การเรียนการสอนที่โรงเรียนในวิชาวิทยาศาสตร์ทั้งในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายจะมีการสอดแทรกข่าวหรือปัญหาสิ่งแวดล้อมตามเทรนที่เกิดขึ้น เพื่อให้เนื้อหามีความทันสมัยและผู้เรียนสามารถเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงสร้างความตระหนักว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นนั้นอยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิดและพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของเรามีผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร ซึ่งรูปแบบการเรียนรู้ของชั้นเรียน ทางทีมคุณครูได้พยายามออกแบบให้ผู้เรียนได้มีโอกาสในการแสดงความคิดเห็นของตนเองผ่านการอภิปราย โดยมีคำถามช่วยนำทางผู้เรียนในการคิดวิเคราะห์ รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้มีความหลากหลายของข้อมูลที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในชั้นเรียนมากขึ้น ซึ่งในภาพรวมแล้ว เมื่อจบคลาสผู้เรียนจะสามารถนำการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นไปประยุกต์ใช้จริงในชีวิตประจำวัน โดยอาจเป็นการปรับพฤติกรรมจากจุดเล็ก ๆ เช่น การลดการใช้พลาสติก แยกขยะให้ถูกประเภท ปฏิบัติตัวได้อย่างเหมาะสมเมื่อท่องเที่ยวในแหล่งธรรมชาติ และเอาใจใส่ในทุกการกระทำของตนเองว่าส่งผลอย่างไรต่อสิ่งแวดล้อมบ้าง แม้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงจากตัวผู้เรียนเพียงเล็กน้อย แต่ก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้เมื่อหลายคนร่วมมือช่วยกัน
“ทางทีมคุณครูได้คาดหวังว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกที่ยั่งยืน เมื่อพวกเขาเหล่านี้เรียนจบก็สามารถส่งต่อความรู้และความรักในการรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้แก่ผู้อื่นต่อไป”
อยากเห็นอนาคตของการเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร?
ครูศิ กล่าวว่า อยากให้ผู้เรียนและท้องถิ่นร่วมออกแบบตั้งแต่การเลือกประเด็นในการดูแลสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่เขาเห็น ไม่ว่าจะเป็นทั้งในด้านการต่อยอด ดูแล หรือร่วมแก้ไขปัญหา ที่สำคัญอยากให้ผู้เรียนตระหนักได้ว่าตัวเขาเองนั้นสามารถส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมได้ ทั้งการช่วยดูแลหรือแม้แต่อาจเผลอทำร้ายก็ได้เช่นกัน เนื่องจากครูศิเชื่อว่าหากทุกคนรู้ว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่สามารถสร้างผลกระทบใด ๆ ต่อสิ่งแวดล้อมได้ เขาก็จะตระหนักได้ว่าควรอยู่ร่วมกันกับสิ่งมีชีวิตอื่นบนโลกนี้อย่างไร
ครูจุ๊บแจง กล่าวว่า การเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญเป็นอย่างมาก การที่ประชาชนมีความรู้และตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม จนสามารถนำความรู้เหล่านั้นมาใช้ได้จริง จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกเป็นอย่างมาก ครูจุ๊บแจงอธิบายเพิ่มเติมว่า การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องเป็นนักเรียนหรือนักศึกษาในสถาบันการศึกษาเท่านั้น ประชาชนทั่วไปก็ควรได้รับความรู้และสร้างความตระหนักรู้ให้เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน ไม่ใช่เพียงการบอกกล่าวว่าต้องทำอะไร แต่เป็นการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจและเห็นใจทั้งกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่อาศัยอยู่บนโลกเดียวกัน ว่าทุกการกระทำของทุกคนที่แม้มองดูเหมือนเล็กน้อย ไม่น่าส่งผลเสียต่อใครหรือสิ่งมีชีวิตใด ๆ หากแต่เมื่อเวลาผ่านไปผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจสายเกินเยียวยา
การดูแล รักษา อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สามารถเริ่มต้นได้ง่าย ๆ ด้วยตัวของเราเอง หากเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง หมั่นปฏิบัติให้เกิดเป็นความเคยชิน ก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้สิ่งแวดล้อมหรือความหลากหลายทางชีวภาพสามารถดำรงอยู่ต่อไป รวมถึงการร่วมมือร่วมใจของคนในสังคมก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยดูแลระบบนิเวศให้เกิดความสมดุลต่อไปได้
เรียบเรียงโดย นวนันต์ เกิดนาค