Loading...

ถกประเด็นข้อสังเกต: การแสดงออกของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และเส้นทางสู่สมรสเท่าเทียม

        ในปัจจุบันจะเห็นว่า ความหลากหลายทางเพศ ได้รับการยอมรับจากสังคมและถูกเปิดกว้างมากขึ้น แต่จะเห็นว่าหลายประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นธรรม หรือยังคงเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันในช่วงปีที่ผ่านมา อย่าง สมรสเท่าเทียม อย่างไรก็ตาม การที่สังคมไทยมีการเปิดรับความหลากหลายทางเพศที่มากขึ้นนับว่าเป็นเรื่องดี ที่อย่างน้อยผู้คนในสังคมมีการตระหนักถึง แต่การจะทำให้ทุกคนในสังคมเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ที่ควรจะได้รับอย่างเท่าเทียม โดยไม่คำนึงว่าเขาคนนั้นจะมีอัตลักษณ์ทางเพศอย่างไร หรือมีรสนิยมทางเพศอย่างไร นั้นยังคงต้องทำงานและขับเคลื่อนกันต่อไป

        เนื่องในโอกาสที่เดือนมิถุนายนของทุกปี เป็น Pride Month หรือ เดือนเเห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) LSEd Social Change จึงอยากชวนถกประเด็นเกี่ยวกับ “การแสดงออกความภาคภูมิใจในตนเอง (Pride) ของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ” “การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ” รวมถึงประเด็นที่ถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง อย่าง “สมรสเท่าเทียม” ผ่านบทสัมภาษณ์ ผศ.ดร.นรุตม์ ศุภวรรธนะกุล อ.ดร.ติโหมะ ตะปะหนิ โอะหยะเน็น และ อ.สกล โสภิตอาชาศักดิ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ที่มีความสนใจและเชี่ยวชาญในประเด็นเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ และกำลังทำงานทั้งด้านการสอน งานด้านวิชาการ และงานโครงการบริการสังคมอย่างเข้มข้นในประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพจิต และสุขภาวะของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQN+)

ข้อสังเกตเกี่ยวกับ “การแสดงออกเกี่ยวกับตนเองของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ” ในปัจจุบัน

        ผศ.ดร.นรุตม์ ศุภวรรธนะกุล (อ.นอตติ) กล่าวว่า ในบริบทไทยพื้นที่ในสังคมค่อนข้างเปิดกว้างมากขึ้น เราจะเห็นตัวแทนของกลุ่มความหลากหลายทางเพศบนพื้นที่สื่อจนเป็นปกติมากขึ้น หรือเห็นประชากรกลุ่มนี้เข้ามามีบทบทหน้าที่สำคัญในหลากหลายอาชีพ แต่บางพื้นที่อาจยังไม่ได้เปิดใจยอมรับความหลากหลายในมิติทางเพศเท่าไหร่นัก เช่น พื้นที่การศึกษา ศาสนา การแพทย์ ที่ยังคงมีอคติมองว่าความหลากหลายเป็นตัวแทนของต้นแบบที่บิดเบี้ยวไม่เหมาะสม แต่ในอนาคตความพยายามที่จะทำให้พื้นที่เหล่านี้เปิดกว้างขึ้นน่าจะพอเป็นไปได้

        “...แต่ปัญหาสำคัญที่เริ่มเห็นมากขึ้น น่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในกลุ่มความหลากหลายทางเพศเอง” อ.นอตติ เล่าว่า ส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าที่เห็นว่า กลุ่มความหลากหลายทางเพศเองเป็นแหล่งกำเนิดของความรู้สึกพร่อง ความเกลียดชัง และการลดคุณค่าสมาชิกในกลุ่มเดียวกันเอง ในขณะที่พื้นที่ในสังคมพยายามปลูกฝังให้ประชากรที่ถูกจัดว่าเป็น “ชายจริงหญิงแท้” เรียนรู้ที่จะเปิดใจยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แต่กลุ่มความหลากหลายทางเพศกลับเหยียดกันเองในมิติของความงาม การแสดงออกถึงตัวตน รสนิยม การแต่งตัว ไปจนถึงสถานะทางสังคม ซึ่งพฤติกรรมนี้ค่อนข้างขัดแย้งกับสิ่งที่พวกเขาเองก็เรียกร้อง พวกเขาไม่ชอบเวลาสังคมตัดสินพวกเขา แต่บ่อยครั้งกลายเป็นพวกเขาเองที่ตัดสินและทำให้คนอื่นรู้สึกไม่ภูมิใจในตนเอง

        จะเห็นว่าชายรักชายหลายคนประสบปัญหาการถูกด้อยค่า เพราะแสดงออกถึงความสาวหรือหุ่นไม่สมบูรณ์แบบตามอุดมคติ สาวประเภทสองหรือกลุ่มกะเทยเองก็ยังกดกันผ่านเกณฑ์ความงาม หรือการดูถูกว่าใครแต่งตัวแพงกว่าใคร และประเด็นปัญหานี้ก็เกิดขึ้นกับกลุ่มเพศอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ชายข้ามเพศ ทอม หรือ หญิงรักหญิง ได้เช่นกัน อ.นอตติ ให้ความคิดเห็นว่า ความรู้สึกภาคภูมิใจ เป็นสิ่งที่เราจะคาดหวังให้คนในสังคมหยิบยื่นให้กลุ่มความหลากหลายทางเพศเท่านั้นไม่ได้ ถ้ากลุ่มความหลากหลายทางเพศมองว่าพวกเขาเองเป็นพลเมืองที่เท่าเทียมกับกลุ่มอื่น ๆ นอกจากที่พวกเขามีสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะภูมิใจในตัวตนของตนเองแล้ว พวกเขาเองก็มีหน้าที่ที่จะสนับสนุนให้คนอื่น ๆ ในสังคมมีความภูมิใจในตนเองเช่นเดียวกัน

        อ.ดร.ติโหมะ ตะปะหนิ โอะหยะเน็น (อ.ติโม) กล่าวว่า ปัจจุบันมีความหลากหลายมากขึ้นเรื่อย ๆ คนที่มีอัตลักษณ์ต่าง ๆ ที่เคยต้องปิดบังตัวตนก็กล้าแสดงการมีตัวตนในสังคมมากขึ้น ไม่ได้มีเพียง Lesbian, Gay, Bisexual กับ Transgender อย่างเดียว แต่จะเห็นอัตลักษณ์อื่น ๆ เพิ่มขึ้น เช่น Non-binary, Asexual, Aromantic หรือ Queer เป็นต้น และในลักษณะเดียวกัน คนที่มีสถานภาพหรืออัตลักษณ์ทับซ้อนบางอย่าง เช่น คนหลากหลายทางเพศที่เป็นคนพิการด้วย หรือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย ปรากฏให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีเพราะแต่ละกลุ่มจะมีลักษณะ ปัญหา และความต้องการที่แตกต่างหลากหลาย ดังนั้น การที่เราได้พูดถึงตัวตนและสภาพปัญหาของตนเอง ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการเข้าถึงความเข้าใจและสิทธิของตนเอง ในขณะเดียวกัน อ.ติโม ก็คิดว่าการพยายามเข้าใจมุมมองของกันและกันก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าเราจะแยกกันทำ แยกกันเรียกร้องตลอด ไม่คุยกันเลย เสียงของเราก็อาจจะไม่ได้ถูกยินในสังคมมากนัก

        อ.สกล โสภิตอาชาศักดิ์ (อ.ฮิม) กล่าวว่า สังคมไทยโดยส่วนใหญ่ให้การยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้นเรื่อย ๆ ในหลายปีที่ผ่านมา เริ่มเห็นคู่รักชายรักชาย หรือหญิงรักหญิง เดินจูงมือในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกพื้นที่ให้การยอมรับ บางคนอาจอยู่ในครอบครัวที่ยังไม่ให้การยอมรับ หรืออยู่ในชุมชนที่ปิดกั้นเรื่องความหลากหลายทางเพศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นประเด็นที่เราต้องร่วมกันสร้างสังคมที่ดีขึ้นให้ทุกคนกันต่อไป นอกจากนี้ยังมีเรื่องความหลากหลายทางเพศที่มากไปกว่า LGBT เช่น Asexual, Aromantic, Queer, Non-binary ฯลฯ คำนิยามเพศที่หลากหลายในปัจจุบันมีมากมายกว่าเมื่อก่อน ความเข้าใจของคนในสังคมต่อคำเหล่านี้อาจยังไม่มากเท่าคำว่า Gay หรือ Lesbian ซึ่งความไม่เข้าใจนี้อาจกลายเป็นความไม่เชื่อและอคติ เช่น ไม่เชื่อว่า Asexual มีอยู่จริง และพยายามเปลี่ยนแปลงหรือโน้มน้าวให้คน Asexual มีความสนใจหรืออยากมีเพศสัมพันธ์ ฯลฯ ซึ่งความไม่เข้าใจนี้ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่เพศชายหญิงเท่านั้น แม้แต่ LGBT หลายคนเองก็ยังไม่เข้าใจ

แนวโน้มสถานการณ์ปัญหาเกี่ยวกับ “การแสดงออกเกี่ยวกับตนเองของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ”

        อ.นอตติ ให้ความคิดเห็นว่า เหตุผลที่ทำให้ไม่มีการเปิดกว้างในเรื่องความหลากหลายทางเพศเป็นเพราะระบบการศึกษาที่ตกยุคและสภาพสังคมของไทยที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ ทั้งยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ประชากรไม่ว่าจะเป็นเพศใด ขาดความตระหนักในเรื่องความหลากหลายทางเพศ รวมไปถึงการเข้าใจสิทธิเสรีภาพ ทำให้พวกเขาไม่สามารถเคารพสิทธิผู้อื่นได้และมองไม่เห็นสิทธิของตนเองในบริบทที่ว่า พวกเขาเองมีหน้าที่สำคัญในการร่วมสร้างสังคมที่ทุกคนเคารพสิทธิเสรีภาพกันได้ การกระจายความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศในไทยยังค่อนข้างจำกัดอยู่ในวงแคบ เช่น คนที่อ่านเนื้อหาที่เป็นภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษได้ คนที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องสิทธิ นักกิจกรรมหรือนักวิชาการ เป็นต้น

        อีกข้อจำกัดที่อาจต้องเรียนรู้ในการปรับเปลี่ยนมากขึ้นคือ บทสนทนาเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ บ่อยครั้งรูปแบบการสื่อสารยังมีความเป็นวิชาการสูง มีการใช้ภาษาหรือคำศัพท์ที่เข้าใจยากสำหรับคนทั่วไป รวมถึงในปัจจุบันการพูดถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศมีความละเอียดอ่อนมากขึ้น ง่ายต่อการที่จะทำให้คนบางส่วนรู้สึกไม่พอใจ ทำให้บางครั้งการสร้างข้อผิดพลาดเล็กน้อยอาจทำให้โดนตำหนิ ด่าทอ หรือถูกสังคมลงโทษได้ แต่มักเป็นการลงโทษโดยที่ไม่ได้ให้ข้อมูลเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่เข้าใจหรือผู้ที่เข้าใจผิดสามารถเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจได้มากขึ้น สุดท้ายกลุ่มคนที่ไม่ได้คุ้นเคยกับความหลากหลายทางเพศ อาจรู้สึกว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องไกลตัว ไม่เกี่ยวข้องกับเขา หรือ เขาเองก็ไม่รู้จะวางตัวอย่างไร เพราะกลัวว่าทำอะไรไปก็อาจจะทำให้คนอื่นไม่พอใจได้ง่าย ซึ่งการที่สังคมไทยขาดการให้ความรู้ที่ทั่วถึงและเท่าเทียม ทำให้ประชากรทุกกลุ่มเพศขาดข้อมูลและยังคงใช้อคติ หรือ ความเชื่อดั้งเดิมที่ผิด ในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวตนทางเพศของตนเองและผู้อื่น ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มประชากรความหลากหลายทางเพศกระจายตัวอยู่ทั่วทุกที่ อยู่กลุ่มศาสนาที่หลากหลาย อยู่ในกลุ่มเศรษฐสถานะที่แตกต่างกัน ส่งผลให้การที่ประชากรความหลากหลายทางเพศจะเข้าถึงข้อมูลที่ทำให้พวกเขาต่อสู้กับอคติในสังคมเพื่อให้เกิดความภูมิใจ มองเห็นสิทธิของตนเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่งและเรียนรู้ที่จะเข้าใจเสรีภาพของผู้อื่นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

        อ.ติโม กล่าวว่า ภายใต้ร่มใหญ่ของกลุ่มหลากหลายทางเพศทั้งหมด คิดว่าเราคงจะได้ยินเสียงและเห็นข้อเรียกร้องที่หลากหลายมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในขณะเดียวกัน ในหลายประเทศก็มีกลุ่มที่ต่อต้านสิทธิที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศรุนแรงมากขึ้น และในบางประเทศ กลุ่มหัวรุนแรงแบบนี้ก็ได้เป็นรัฐบาลและถอดถอนสิทธิที่พวกเราเคยได้รับแล้ว อย่างประเทศฮังการียกเลิกสิทธิของคนข้ามเพศที่จะได้เอกสารยืนยันตัวตนที่ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง หรือประเทศโปแลนด์ประกาศพื้นที่ “ปลอด LGBT” หรือที่รุนแรงที่สุด ประเทศยูกานดาประกาศกฎหมายใหม่ที่สามารถลงโทษประหารชีวิตคนที่ถูกจับได้ว่ามีเพศสัมพันธ์กับคนที่เป็นเพศเดียวกัน อ.ติโม คิดว่าเหตุการณ์เหล่านี้แสดงให้เห็นความสำคัญของการพยายามสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศในสังคมกระแสหลักด้วย ไม่เพียงแต่คุยกับคนที่เห็นด้วยอยู่แล้ว

        อ.ฮิม กล่าวว่า ถ้าเป็นเรื่องความเข้าใจต่อเพศที่หลากหลาย นับว่าเป็นประเด็นที่เราต้องร่วมกันสื่อสารกับสังคมต่อไป ให้เขารู้จักและเข้าใจเพศต่าง ๆ มากขึ้น รวมถึงเข้าใจว่า คำว่า เพศ นั้นไม่ใช่เรื่องของร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่เป็นสิ่งที่พัวพันเกี่ยวข้องกับการให้ความหมายของคนในสังคมอีกด้วย นอกจากนั้นพวกเรายังต้องช่วยกันลดอคติของคนในสังคม สร้างรูปแบบสังคมที่ไม่เอื้อให้คนเลือกปฏิบัติกันเพียงเพราะใครเป็นเพศใดหรือแสดงออกทางเพศอย่างไร ทั้งการผลักดันกฎหมายที่ส่งเสริมความเท่าเทียมและการทำงานในระดับความคิดของคนในสังคม

#สมรสเท่าเทียม

        อ.ติโม เล่าว่า เกือบ 20 ปีที่อยู่ในเมืองไทย ก็ได้มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนด้านความหลากหลายทางเพศ ที่ผ่านมาได้เรียนรู้จากผู้รู้หลายคน ซึ่งคนหนึ่งที่สำคัญคือ Prof. Douglas Sanders ที่เพิ่งเสียชีวิตเมื่อสิ้นปีที่แล้ว อาจารย์เขาเกษียณอายุจาก University of British Columbia และย้ายมาอยู่ในไทยรวมทั้งช่วยเหลือขบวนการการเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ เป็นระยะเวลาประมาณ 20 ปี ซึ่งอาจารย์ Douglas ก็ได้ทำที่แคนาดาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1960s จากอาจารย์ Douglas อ.ติโม ทราบว่าหลาย ๆ ประเทศมีปัญหาทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มหลากหลายทางเพศประมาณ 4 เรื่องใหญ่ เรื่องแรกคือกฎหมายที่ลงโทษการมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันหรือการแต่งตัวข้ามเพศในที่สาธารณะ ซึ่งประเทศไทยโชคดีที่ไม่มีตรงนี้ แต่อีกสามเรื่อง เรายังต้องทำงานกันต่อ คือ 1) กฎหมายสมรสเท่าเทียมที่เรารอกันมาหลายปี 2) กฎหมายที่รับรองเพศของคนข้ามเพศ (Gender Recognition) และ 3) กฎหมายที่ห้ามการเลือกปฏิบัติบนฐานความหลากหลายทางเพศ ในส่วนนี้ประเทศไทยมี พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ที่ใช้ในปัญหาเหล่านี้ได้บ้าง แต่ก็ยังขาดความชัดเจนและการขอความช่วยเหลือก็ยุ่งยากระดับหนึ่ง จะเห็นว่าทั้ง 4 ปัญหาด้านสิทธิก็เป็นเรื่องการเข้าถึงสิทธิมนุษยชนพื้นฐานที่คนอื่น ๆ อาจจะเข้าถึงโดยไม่ได้คิดว่ามีอะไรที่พิเศษ อย่างคู่รักหญิงชายทั่วไปก็อาจไม่ได้คิดว่าการเข้าถึงสิทธิการก่อตั้งครอบครัวและการสามารถจดทะเบียนสมรสมีอะไรที่พิเศษ เพราะมันเป็นสิทธิพื้นฐานที่มีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ชีวิตของคนหลากหลายทางเพศจะต้องพบครั้งแล้วครั้งเล่า คือการเข้าถึงสิทธิพื้นฐานแบบนี้อาจจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก หรือทำไม่ได้เลย ก็เสียเปรียบโดยที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม อ.ติโม เองก็เป็นคนหนึ่งที่เข้าถึงสิทธิหลายอย่างที่เกิดจากการจดทะเบียนสมรสไม่ได้ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม จึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาพวกนี้เสียที

ในต่างประเทศกับในประเทศไทยเจอปัญหาเกี่ยวกับ “สมรสเท่าเทียม” ต่างกันไหม ?

        อ.ติโม กล่าวว่า ข้อดีของไทยคือ แรงต้านจากกลุ่มศาสนาที่มีความอนุรักษ์นิยมไม่รุนแรงเท่าไหร่ คือมีอยู่บ้างแต่ไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญ แต่ข้อเสียคือ ความไม่เสถียรของระบบการเมือง คือการที่รัฐบาลแต่ละชุดมักจะอยู่ได้ไม่นาน และตั้งแต่ที่ อ.ติโม อยู่ประเทศไทยก็เกิดรัฐประหารขึ้นสองครั้งแล้ว สิ่งเหล่านี้ทำให้การทำงานผลักดันเพื่อสิทธิไม่ต่อเนื่อง และทำให้การเคลื่อนไหวมีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาใหญ่ในระดับโครงสร้างของสังคม จะเห็นว่าเยาวชนมีความพยายามในการแก้ไขในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ยอมรับว่าไม่ง่าย ในเชิงยุทธศาสตร์ยังคงต้องลองอะไรหลายอย่าง อย่างการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายสมรสปัจจุบันนั้นขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ได้ผลดีที่ประเทศไต้หวัน แต่นักเคลื่อนไหวในไทยก็ได้ลองวิธีเดียวกันแต่กลับไม่ได้ผล เพราะผู้พิพากษามีมุมมองที่ไม่ทันสมัยนัก ล่าสุด นักเคลื่อนไหวในไทยได้ขอให้พรรคการเมืองต่าง ๆ แสดงจุดยืนในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ พบว่ามีหลายพรรคสนับสนุนเรื่องสมรสเท่าเทียม แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ระบบการเมืองของไทยไม่เสถียรนัก จึงไม่มีอะไรแน่นอน ก็ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม ผลักดันกันต่อไป

อาจารย์ทั้ง 3 ท่าน คิดว่าคนในสังคมหรือระบบการเรียนรู้ของสังคม สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศได้อย่างไรบ้าง

“...จากที่พูดถึงปัญหาเกี่ยวกับการทำความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศและสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ในบริบทไทย น่าจะเป็นเรื่องของการกระจายข้อมูลอย่างทั่วถึงและการคำนึงถึงรูปแบบการสื่อสารให้เหมาะกับกลุ่มคนที่หลากหลาย”

        อ.นอตติ อธิบายเพิ่มเติมว่าในระดับบุคคลคิดว่า หากทุกคนสามารถตระหนักได้ว่า ความรู้ความเข้าใจมีการเปลี่ยนแปลงได้ และคำนึงเสมอว่า สิ่งที่ครั้งหนึ่งเราเข้าใจก็สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาได้ สิ่งนี้น่าจะทำให้เราสามารถที่จะค่อย ๆ เปิดใจยอมรับความหลากหลายทางเพศที่มากขึ้น จะเห็นว่าบ่อยครั้งฝ่ายที่เป็นอนุรักษ์นิยมมักอ้างเรื่องของวิทยาศาสตร์หรือธรรมชาติเพื่อสนับสนุนอคติของตนเอง โดยลืมมองไปว่าแม้แต่องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เองบ่อยครั้งก็เปลี่ยนแปลงได้ หรือผู้กล่าวอ้างเองอาจไม่ได้มีความเข้าใจในวิทยาศาสตร์หรือธรรมชาติเท่าที่ควร อ.นอตติ จึงคิดว่าถ้าเราคำนึงว่าความรู้ของมนุษย์เป็นสิ่งที่เติบโตได้ การอยู่ร่วมกันในสังคมและการดำรงชีวิตในฐานะมนุษย์ ก็ย่อมอาศัยการเรียนรู้ที่จะพัฒนาความเข้าใจของตนเองมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งการเรียนรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ไม่ได้จำกัดเพียงกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง แม้แต่กลุ่มความหลากหลายทางเพศเองก็มีความจำเป็นเหมือนกัน เพราะก่อนหน้านี้อาจเห็นประเด็นที่กะเทยตีตรา Lesbian ข้ามเพศว่า “จิตวิปริตซ้ำซ้อน” หรือการที่กลุ่มหลากหลายทางเพศเองเชื่อว่าตนเองต้องทำบุญเพื่อหวังให้ตนเองประสบความสำเร็จเรื่องความสัมพันธ์ เพราะการเกิดมามีอัตลักษณ์นี้เป็นกรรมเก่า แต่อาจมองข้ามไปว่าอุปสรรคการใช้ชีวิตมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาสังคมที่ยังคงไม่ได้เอื้อให้กลุ่มหลากหลายทางเพศมีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่ากับประชากรกลุ่มอื่น ตัวอย่างเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าองค์ความรู้ใหม่ ๆ ยังไม่กระจายทั่วถึงในสังคมมากพอ ทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศก็ไม่ได้พร้อมที่จะยอมรับความหลากหลาย ยังคงใช้ภาษาที่ทำร้ายให้สมาชิกในกลุ่มรู้สึกด้อยลง หรือแม้แต่การที่ยังรักษาความเชื่อที่กดทับหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของตนเองอยู่ ซึ่งย่อมส่งต่อความภาคภูมิใจในตนเอง และคนที่ไม่ได้เคารพในตนเองก็ย่อมยากที่จะเคารพในตัวตนของผู้อื่น

“ในระดับกลุ่มคน คิดว่ารูปแบบของการสื่อสารที่เอื้อให้คนสามารถเข้าถึงได้ง่ายน่าจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะต้องให้ความสำคัญ ในฐานะผู้ให้ความรู้เกี่ยวกับประเด็นความหลากหลายทางเพศ ก็เห็นข้อจำกัดเหมือนกันว่า เรื่องเพศเป็นเรื่องที่ซับซ้อน รูปแบบคำอธิบายและภาษาที่ใช้ ยังค่อนข้างเข้าใจยาก จึงทำให้การเรียนรู้เรื่องเพศในมิติที่หลากหลายยังคงจำกัดในวงที่แคบ ซึ่งในอนาคตหากเรามีผู้ที่มีความชำนาญที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิ กระบวนกร นวัตกร และผู้ที่ชำนาญสาขาต่าง ๆ ทำงานร่วมกันเพื่อให้เรื่องความหลากหลายทางเพศเป็นประเด็นปกติที่ใคร ๆ ก็สามารถเรียนรู้ได้ มากกว่าแค่ประเด็นที่ใหม่สด ทันสมัยและขายได้ น่าจะทำให้การกระจายความเข้าใจเรื่องนี้ทั่วถึงมากขึ้น”

        อ.นอตติ กล่าวว่าสุดท้ายแล้ว ‘การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาให้ก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไป’ ‘การปรับเปลี่ยนกฎหมายที่มองมนุษย์เป็นมนุษย์มากกว่าแค่ “เพศชายหญิง” ที่ต้องทำหน้าที่ผลิตทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้รัฐมาใช้งาน โดยที่รัฐไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของพลเมืองเหล่านั้น’ ‘วัฒนธรรมที่เข้าอกเข้าใจมนุษย์มากขึ้น และพร้อมที่จะเปิดรับว่าความเชื่อ ความเข้าใจ หรือแม้แต่ความจริง’ เป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าหากมีเพียงคนจำนวนหนึ่งที่พยายามต่อสู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงนี้ เนื่องในโอกาสของเดือนที่ผู้คนอยากจะเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจในความหลากหลายทางเพศ เลยอยากร่วมรณรงค์ว่าในการเฉลิมฉลองนี้ ไม่อยากให้คนในสังคมสนใจเพียงแต่ความเฮฮา รอยยิ้ม การหัวเราะ เต้นรำ สีสันฉูดฉาดของธงสายรุ้ง เพราะจริงๆ แล้วก่อนที่เราจะเฉลิมฉลองในชัยชนะได้ เราย่อมต้องผ่านการต่อสู้ ความล้มเหลวมากมายกว่าสังคมจะเติบโตและให้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่รัฐพรากจากกลุ่มความหลากหลายทางเพศไป ทั้ง ๆ ที่พวกเขาควรได้รับในฐานะพลเมืองกลุ่มหนึ่ง อยากให้เดือนนี้เป็นการให้กำลังใจว่าสังคมเราเปลี่ยนแปลงมาไกลมากขึ้นแล้วในปีนี้ อยากให้เดือนนี้ย้ำเตือนว่าประเด็นความหลากหลายทางเพศก็ยังมีปัญหาในสังคมอีกมากที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข อยากให้เดือนนี้ทำให้เราระลึกว่า การเฉลิมฉลองจะไม่เกิดขึ้น ถ้าที่ผ่านมาเราไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เรามีสังคมที่ดีขึ้นกว่าอดีตได้

        อ.ติโม มีความคิดเห็นว่าเป็นไปได้อยู่แล้วที่ผู้คนหรือการเรียนรู้ในสังคมจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ตั้งแต่การพูดคุยแลกเปลี่ยนความเข้าใจที่ตนเองมีกับผู้คนในชีวิตประจำวัน จนถึงอะไรที่เป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น อย่างการให้การศึกษาทั้งในและนอกสถานศึกษา หรือการสร้างความเข้าใจผ่านสื่อต่าง ๆ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาก็ได้เห็นกันมากขึ้น ชัดเจนขึ้น

        อ.ฮิม ให้ความคิดเห็นว่าเราสามารถทำให้คนเรียนรู้ที่จะตั้งคำถามกับสิ่งที่เราคิดว่ามันเป็นเรื่อง “ปกติ” ได้ ดังนั้น คนน่าจะเปิดใจกับความหลากหลายทางเพศและความหลากหลายอื่น ๆ ได้มากขึ้น ซึ่งปัญหาใหญ่ที่ผ่านมาคือการเชื่อใน “ความปกติ” ที่ถูกจำกัดไว้แบบแคบ ๆ เขื่อเพราะถูกสอนกันมาว่า “แบบนี้เท่านั้นนะที่เป็นความปกติ” และผลักสิ่งที่นอกเหนือจากนั้นออกสู่ “ความผิดปกติ” บางคนแทนที่คำว่า “ปกติ” ด้วยคำว่า “ธรรมชาติ” และบอกว่า LGBTQI+ ไม่ธรรมชาติ ทั้ง ๆ ที่เขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่เกิดขึ้นมาตามธรรมชาติ หรือแม้แต่ในโลกของสัตว์ป่าเองเรายังพบ คู่เพศผู้-เพศผู้ คู่เพศเมีย-เพศเมีย ดังนั้นจะบอกว่า LGBTQI+ ไม่ธรรมชาติไม่ได้แล้ว

“หากเราสามารถชวนให้คนตั้งคำถามกับ “สิ่งปกติ” ที่ถูกสังคมประกอบขึ้นมาได้ เขาก็จะสามารถเข้าใจได้ว่าสิ่งที่เขาเชื่อว่าผิดปกติมาตลอดนั้น มิใช่สิ่งที่ผิดปกติด้วยตัวของมันเอง แต่เกิดจากสังคมเองที่ทำให้มันผิดปกติ และนั่นหมายความว่าสังคมก็ยังสามารถทำให้ความหลากหลายหลายกลับมาเป็นเรื่องปกติได้เช่นกัน”

เรียบเรียงโดย นวนันต์ เกิดนาค