“โรงเรียน” พื้นที่การเรียนรู้ พื้นที่ไว้วางใจ และพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ๆ
“โรงเรียน” สถานที่ที่เรามักจะนึกถึง คุณครู นักเรียน หนังสือ การเรียนรู้ หรือพื้นที่ที่มีผู้คนมากหน้าหลายตาอยู่ร่วมกันจำนวนมาก หากเปรียบเป็นพื้นที่ทางสังคม โรงเรียนคงนับว่าเป็นสังคมแรก ๆ ถัดมาจากครอบครัว ที่เด็ก ๆ ได้มีการพูดคุย สื่อสาร มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับคนที่มีความหลากหลายทางความคิดและการแสดงออก อย่างไรก็ตาม สังคมทุกสังคมย่อมมีการไม่เข้าใจกัน มีความคิดไม่ตรงกัน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติของการอยู่ร่วมกันในสังคมขนาดใหญ่ ที่เราอาจจะเจอคนที่ไม่ชอบใจ หรือคนที่มีความคิดไม่ตรงกับเราบ้าง ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว การสร้างเสริมทักษะที่จะช่วยให้เราสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข คงจะเป็นสิ่งที่จำเป็นไม่น้อย จะเห็นว่าโรงเรียนก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญในการบ่มเพาะทักษะการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น การมีความเห็นอกเห็นใจต่อตนเองและผู้อื่น รวมถึงการรับฟังผู้อื่น ดังนั้น บริบทโรงเรียนแบบเดิมอาจไม่เพียงพออีกต่อไป โรงเรียนควรจะต้องไม่เป็นเพียงสถานที่ถ่ายทอดองค์ความรู้หรือความเป็นเลิศทางวิชาการเท่านั้น แต่โรงเรียนต้องเป็นทั้งพื้นที่การเรียนรู้ พื้นที่ไว้วางใจ และพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ๆ อีกด้วย
การสร้างระบบนิเวศภายในโรงเรียนให้เอื้อต่อการบ่มเพาะทักษะการเห็นอกเห็นใจต่อตนเองและผู้อื่น รวมถึงการเปิดพื้นที่ไว้วางใจระหว่างครูกับนักเรียน เป็นประเด็นที่น่าสนใจและก่อให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง LSEd Let’s Talk จึงอยากชวนมาพูดคุยกับ อ.อมรรัตน์ สีหะปัญญา หรือ ครูส้ม ครูกระบวนการ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่กำลังทำงานขับเคลื่อนในประเด็นประสบการณ์สุขภาพและสุขภาวะ รวมถึงจัดกิจกรรมที่ช่วยบ่มเพาะทักษะการเห็นอกเห็นใจให้กับนักเรียนอยู่ในขณะนี้ด้วย
“เรามองว่า โรงเรียนเป็นเหมือนสังคมแรก ถัดจากบ้าน ที่เด็ก ๆ ได้มาเรียนรู้คนที่คิดแตกต่างจากเขา เติบโตมาแตกต่างกับเขา มีค่านิยมวิธีปฏิบัติที่ไม่คุ้นเคยหรือคุ้นชินกับเขา”
ครูส้ม อธิบายว่าความไม่คุ้นเคยจะช่วยทำให้โรงเรียนกลายเป็นพื้นที่ในการเรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคม ดังนั้น โรงเรียนจึงควรเป็นเหมือนสังคมที่ทำให้เด็กสามารถเรียนรู้เรื่องนี้ได้ พอเด็กได้เจอความแตกต่าง ความไม่เหมือน ในโรงเรียน ก็จะเกิดเป็นพื้นที่การเรียนรู้ แต่พื้นที่การเรียนรู้อาจไม่ได้สวยงามเสมอไป อาจจะยังมีคนที่คิดไม่เหมือนกับเราบางทีมีมุมที่ต้องปะทะกัน ต้องพูดคุยกัน พื้นที่ตรงนี้เราเลยเรียกว่าเป็นพื้นที่ที่จะทำให้เด็กได้ฝึกฝนและเรียนรู้ว่า เราจะสามารถอยู่ร่วมกันกับคนที่มีความคิดแตกต่างกันได้อย่างไร? ซึ่งเมื่อเด็กมีการรับรู้ว่ามีความแตกต่าง ความไม่เหมือนกันแล้ว เราก็ต้องมาคิดต่อว่า เราจะทำอย่างไรถึงจะสามารถทำให้เด็ก ๆ รับรู้ได้ว่า เขาก็เป็นส่วนหนึ่งในสังคมได้ เพราะถ้ามองในมุมของสังคมที่บ้าน ก็ยังมีความเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเขาอยู่ มีพ่อ แม่ เป็นพี่น้องกัน หรือเป็นญาติกัน ดังนั้น สังคมจริง ๆ ที่เด็กจะได้รับรู้คือ โรงเรียน
อย่าง โรงเรียนสาธิตธรรมศาสตร์เอง เรามีพื้นที่การเรียนรู้ทั้งพื้นที่ในห้องเรียน พื้นที่นอกห้องเรียน และพื้นที่ที่เด็กสร้างเอง ครูส้มมองว่าหน้าที่ของโรงเรียน คือสร้างพื้นที่ให้ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วม โดยเฉพาะเด็ก ครูส้มเล่าอีกว่า หัวใจในการสร้างโรงเรียนก็คือ นักเรียน ดังนั้น การสร้างนิเวศที่ตอบโจทย์เด็ก ต้องมาจากการกำหนดพื้นที่ การสร้างพื้นที่ให้เขา ซึ่งเราอาจเคยชินกับการที่ครูเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดในห้องเรียน เป็นผู้กำหนดเนื้อหาบทเรียน ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ หรือแม้แต่การประเมินผลการเรียนรู้ แต่จริง ๆ แล้วเราควรมองว่า ห้องเรียนเป็นพื้นที่ของเด็ก คุณครูเองก็เป็นผู้เข้าไปเรียนรู้ ไปหาคำตอบร่วมกันพร้อมกับเด็ก ๆ และให้เด็กมีส่วนในการประเมินการเรียนรู้ของตนเองได้ด้วย ดังนั้น พื้นที่ในห้องเรียนต้องเป็นของนักเรียน ต้องเป็นพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันอย่างแท้จริง ไม่มีการใช้อำนาจในฐานะครูมากเกินไป รวมถึง พื้นที่กิจกรรม ต้องเป็นพื้นที่ที่โรงเรียนออกแบบให้เด็ก ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแล ซึ่งพื้นที่ตรงนี้จะทำให้เด็กได้เริ่มคิดนอกห้องเรียนมากยิ่งขึ้น ได้เชื่อมโยงปฏิสัมพันธ์กับพี่ ๆ น้อง ๆ ต่างระดับมากขึ้น สุดท้ายคือพื้นที่ที่เด็ก ๆ สร้างขึ้นมาเอง เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเวลาเด็ก ๆ ไว้วางใจกันมากขึ้น มีปฏิสัมพันธ์กันคนอื่นมากขึ้น ก็จะเริ่มคิดสิ่งที่อยากจะทำร่วมกัน อาจเป็นกิจกรรมที่สนใจที่ไม่เกี่ยวกับการเรียน หรือไม่ได้เกี่ยวกับกิจกรรมที่โรงเรียนจัดขึ้น แต่เขาอยากจัดขึ้นเอง ซึ่งทางโรงเรียนหรือครูเองก็ต้องสนับสนุนให้พื้นที่นั้นเกิดขึ้นจริง
พื้นที่แห่งการไว้ใจ ก้าวแรกของการสร้างสิ่งใหม่
“ถ้าห้องเรียนเป็นห้องเรียนที่มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ก็จะนำไปสู่การเห็นคุณค่าในตัวเองของเด็กแต่ละคน ซึ่งเด็ก ๆ ก็จะเห็นตัวเองเวลาอยู่ร่วมกับคนอื่น และเห็นคนอื่นด้วย”
ครูส้ม เล่าว่าการที่ห้องเรียนเป็นพื้นที่ไว้วางใจจะทำให้เด็ก ๆ กล้าคิด กล้าลงมือทำ เมื่อเขาเห็นตัวเอง เห็นคนอื่น เห็นคุณค่าในตัวเองแล้ว เขาก็จะกล้าคิดในสิ่งที่ไม่ได้เป็นแบบแผนหรือบรรทัดฐานทางสังคม (Norm) ซึ่งก็จะมีวิธีคิด วิธีมองใหม่ ๆ เกิดขึ้น หรืออาจมีข้อเสนอใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ดังนั้น พื้นที่แห่งการไว้ใจเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ จะเห็นว่าปัจจุบันโลกเราเปลี่ยนแปลงเร็วมาก และต้องการความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เสมอ ส่งผลให้ผู้คนมีวิถีชีวิตที่แตกต่างไปจากเดิม การเรียนรู้ก็แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งการฝึกวิธีคิด หรือสร้างพื้นที่แห่งความเป็นไปได้นี้ จะทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะกล้าหาความเป็นไปได้ใหม่อยู่เสมอ
เมื่อเราไม่ได้อยู่บนเดียวบนโลก ความเข้าอกเข้าใจ จึงเป็นสิ่งสำคัญ
“เรามองว่า มนุษย์ ไม่สามารถที่จะทำหรืออยู่คนเดียวบนโลกใบนี้ เราจำเป็นจะต้องอยู่ร่วมกันกับคนอื่น เรายังจำเป็นต้องทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะมิติไหน ดังนั้น การมีความเข้าอกเข้าใจคนอื่น หรือแม้แต่การมีความเข้าอกเข้าใจตนเองก็ตาม ก็จะทำให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข”
ครูส้ม เล่าประสบการณ์เวลาที่ได้เห็นเด็ก ๆ ต้องทำบางอย่าง หรือต้องเข้าใจอะไรบางอย่าง ก็จะต้องมีพื้นที่ของการเข้าอกเข้าใจคนอื่นด้วย เพราะถ้าไม่มีความเข้าอกเข้าใจก็จะยากต่อการทำหรือขับเคลื่อนอะไรบางอย่างได้ อย่างเช่น การทำงานกลุ่ม ฟังดูแล้ววิธีคิดที่คุ้นชินคือ “งานกลุ่มทำคนเดียว งานเดี่ยวทำหลายคน” แต่สิ่งที่สำคัญเวลาเห็นเด็ก ๆ ทำงานด้วยกัน จะเห็นว่ามีประเด็น มีความขัดแย้งเกิดขึ้น เช่น “ไม่เข้าใจเลยทำไมเพื่อนทำแบบนี้” หรือ “เอ๊ะ ทำไมคนอื่นไม่ทำแบบนี้” ซึ่งจะมีวิชาที่เด็กจะได้ทำงานร่วมกันในการเรียนรู้ชุมชน (ครูส้มเป็นผู้สอน) ครูส้ม เล่าว่า เห็นทั้งความพยายามปรับตัวของเด็ก หรือแม้แต่การเลือกเดินหนีออกไป เพราะเขารู้สึกว่าเขาได้ลองปรับตัวแล้ว โอเคที่จะอยู่ใครอยู่มันแบบนี้ สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าเด็กจะเลือกทางไหนก็ตาม ล้วนแล้วเป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ทั้งสิ้น เพราะพื้นที่นี้เขาได้ลองฝึกความเข้าอกเข้าใจแล้ว กระบวนการเรียนรู้เหล่านี้จึงเหมือนเป็นการบ่มเพาะให้ทักษะนี้อยู่ในเนื้อในตัวเด็ก ๆ เวลาเขาไปอยู่ที่อื่นหรือเติบโตขึ้น เขาจะได้เรียนรู้มิติของการอยู่ร่วมกันกับคนในสังคมมากขึ้น อย่างตอนเรียนมหาวิทยาลัย ตอนทำงาน หรือมีอาชีพเป็นของตนเอง ถ้าได้มีประสบการณ์หรือเครื่องมือในการสร้างความเข้าอกเข้าใจคนอื่น รู้วิธีการเปิดพื้นที่แห่งการไว้วางใจกัน สร้างพื้นที่ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในพื้นที่ตรงนี้อย่างไรบ้าง ก็อาจเป็นอีกความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่ช่วยให้เขาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข
การจัดการเรียนการสอน กิจกรรม หรือโครงการ ภายใต้โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเหล่านี้
ครูส้ม เล่าว่า ที่โรงเรียนสาธิตธรรมศาสตร์ มีกิจกรรม Club จัดขึ้นทุกวันศุกร์ ซึ่ง TSS Consult Club เป็นคลับที่จัดขึ้นตั้งแต่นักเรียนรุ่นแรก ตอนนั้นที่จัดตั้งขึ้นเพราะเห็นว่าเด็ก ๆ ที่เข้ามามีหลากหลายแนว หลากหลายสไตล์ แต่ทุกคนพร้อมที่จะเรียนรู้ เลยคิดว่าเราจะทำอย่างไรให้เด็ก ๆ มีพื้นที่ที่จะเรียนรู้คนอื่น แบบข้ามระดับชั้น ข้ามห้องเรียนได้บ้าง จึงเปิดพื้นที่ TSS Concult Club ขึ้น โดยจะนำด้วยกิจกรรมที่เป็นการให้คำปรึกษา คือจะมีกล่องสำหรับให้เพื่อน ๆ ในโรงเรียนเขียนคำถามที่อยากปรึกษาลงในกล่องใบนี้ และทีมงานหรือเด็ก ๆ ในคลับก็จะได้รับการฝึกฝนในด้านของชุดความรู้ หรือชุดทักษะในการให้คำปรึกษาคนอื่นเป็นอย่างดี ในทุก ๆ วันศุกร์จะมีการนำคำถามที่เพื่อน ๆ ถามมา (โดยไม่ระบุชื่อ) มาทำความเข้าใจร่วมกันว่ามีปัญหาแบบนี้ เราจะทำอย่างไรให้สามารถเข้าอกเข้าใจ ให้คำแนะนำ หรือนัดหมายพูดคุยกับเพื่อน เพื่อให้เขารู้สึกดีขึ้นได้บ้าง กระบวนการเหล่านี้เป็นรูปแบบการเรียนรู้อย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า มีทั้งคนที่เข้าอกเข้าใจมาก มีทั้งคนที่เคยเจอปัญหาแบบนี้ หรือคนที่ไม่เคยเจอปัญหาแบบนี้เลย
จากกิจกรรม TSS Consult Club ทำให้ครูส้มเห็นว่า เด็ก ๆ มีพัฒนาการในเรื่องการพยายามทำความเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น และเด็ก ๆ เองก็ได้เรียนรู้เรื่องราวของเพื่อน ๆ รวมถึงบางคนที่เคยประสบปัญหานั้นก็ได้นำเรื่องราวที่พบเจอมาเล่าให้เพื่อน ๆ ฟัง ซึ่งเป็นเหมือนการสะสมการเข้าอกเข้าใจคนอื่นมากขึ้นเรื่อย ๆ และได้พัฒนาภายในของตนเองอีกด้วย ครูส้ม เล่าว่าเห็น Movement แบบนี้ในเด็กที่เรียนในแต่ละเทอม เห็นเขาเติบโตขึ้น หรือแม้แต่เด็กที่ไม่อยู่ในคลับนี้เองก็เห็นว่ายังคงมี Movement ที่แสดงออกถึงความช่วยเหลือ เปิดพื้นที่รับฟังคนอื่นมากขึ้น เข้าอกเข้าใจคนอื่นมากขึ้น ครูส้ม เล่าว่า จริง ๆ ไอเดียกล่องให้คำปรึกษานี้ก็มาจากเด็ก ๆ ที่เขาคิดว่าจะทำอย่างไรให้เพื่อน ๆ กล้าที่จะเข้ามาปรึกษา เพราะพัฒนาการของเด็กในช่วงวัยนี้จะมีเรื่องความเป็นส่วนตัวค่อนข้างสูง จึงเกิดเป็นกล่องให้คำปรึกษาที่ตั้งไว้ในบริเวณที่ไม่จำเป็นต้องมีคนมานั่งเฝ้า ซึ่งแสดงออกถึงการเป็นพื้นที่ไว้วางใจอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน
“คิดว่า Movement ที่เกิดขึ้นเป็น Moment เป็นกิจกรรมเล็ก ๆ ที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็ก ๆ และสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ อีกด้วย”
อีกกิจกรรมนอกห้องเรียนที่ช่วยฝึกทักษะการเข้าอกเข้าใจผู้อื่น คือเราจะพาเด็ก ๆ ออกไปเรียนรู้และเข้าอกเข้าใจคนในโรงเรียน ซึ่งไม่ใช่ครู เด็กอาจคุ้นชินว่าโรงเรียนมีเพียงแค่ครู แต่กิจกรรมนี้จะพาเด็กไปเรียนรู้มุมอื่น ๆ คนอื่น ๆ บ้าง อย่างเช่น พาไปพูดคุยกับพี่แม่บ้าน พาไปเรียนรู้ว่าการทำงานของพี่แม่บ้านในแต่ละวันต้องทำอะไรบ้าง คือเด็ก ๆ เขาจะเห็นเพียงแค่ว่าห้องเรียนสะอาดเช้า-เย็น แต่ไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่าคนที่อยู่เบื้องหลังต้องทำงานหนักแค่ไหน ต้องพบเจออะไรบ้าง เมื่อผ่านกระบวนการพูดคุยหรือได้ทำความเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น เด็ก ๆ เขาก็สะท้อนว่า “จริง ๆ พฤติกรรมในการใช้ชีวิตของเขามีผลต่อคนอีกมากมายเลย” ครูส้มเล่าอีกว่า ในการทำกิจกรรมเราไม่ได้เตรียมตัวอะไรกับพี่แม่บ้านเลย แต่เราไปรับฟัง พูดคุย จนกระทั่งเด็ก ๆ เห็นว่า ในหนึ่งวันที่เขามาเรียนนั้น ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์หรือผลกระทบแค่กับเพื่อนหรือกับครูที่เขาเจอเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายคนที่อยู่เบื้องหลังเขา คอยผลักดันให้เขาได้มีชีวิตใน 1 วันอย่างมีความสุข ปลอดภัย ทั้ง ๆ ที่เขาไม่เคยเห็นหน้าคนเหล่านี้เลย ซึ่งจากการที่เด็กได้สัมผัสประสบการณ์การเรียนรู้แบบนี้แล้ว เมื่อเขาไปอยู่ในสังคมอื่น ไม่ว่าจะเป็น สังคมขนาดเล็ก สังคมขนาดใหญ่ หรือสังคมระดับประเทศ เขาจะมองเห็นว่า จุดที่เขายืนอยู่ไม่ได้มีเพียงแค่ตัวเขา คนที่เขารู้จัก หรือคนที่เขารัก แต่ยังมีอีกหลายคนที่เกี่ยวข้อง มีปฏิสัมพันธ์ เชื่อมโยง และมีผลกระทบซึ่งกันและกัน ดังนั้น กิจกรรมเล็ก ๆ นี้ก็จะนำไปสู่ความเข้าใจเหล่านั้นได้
การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไม่จำกัดสถานที่และเวลา รวมถึงพื้นที่ที่เอื้อต่อการสร้างการเรียนรู้ และระบบนิเวศที่ช่วยให้เด็กรู้สึกปลอดภัยนั้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็ก ดังจะเห็นได้จากแนวคิดและวิธีการออกแบบการเรียนการสอนของโรงเรียนสาธิตธรรมศาสตร์ นี่เป็นเพียงหนึ่งในการขับเคลื่อนที่โรงเรียนสาธิตธรรมศาสตร์ พยายามบ่มเพาะนักเรียนเพื่อนำไปสู่การต่อยอดการเรียนรู้สิ่งต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข ทุกคนสามารถติดตามกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของโรงเรียนฯ ต่อได้ที่ Facebook: โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เลย
เรียบเรียงโดย นวนันต์ เกิดนาค