Loading...

“การสร้างความเข้าใจ” วัฒนธรรมใหม่สู่การลดความรุนแรงในโรงเรียน

        โรงเรียนถือเป็นสถานที่สำคัญในการสร้างพื้นที่เพื่อพัฒนาทักษะของเด็กและเยาวชนในหลาย ๆ ด้าน เช่น ความรู้ การเรียนรู้ การเข้าใจตนเองและผู้อื่น ความเป็นผู้นำ และอื่น ๆ อาจกล่าวได้ว่า ในสายตาของคนทั่วไปอาจคิดว่าโรงเรียนเป็นพื้นที่ที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อเด็ก เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพวกเขา ทว่าเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม อาจเกิดขึ้นภายใต้พื้นที่แห่งนี้ได้ง่ายกว่าที่คิด

        ความรุนแรงในโรงเรียนสามารถเริ่มต้นจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ไปจนถึงพฤติกรรมที่รุนแรงและเข้าข่ายการผิดกฎหมาย เช่น การล้อเลียน การข่มขู่ การทำร้ายร่างกาย และการละเมิดสิทธิของผู้อื่น เป็นต้น ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียนอาจมีผลกระทบที่ลึกลงต่อนักเรียนที่เป็นเหยื่อ ไม่เพียงแต่ต่อร่างกายและจิตใจของพวกเขาเอง เเต่ยังส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการเรียนรู้ และสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นสุขสำหรับคนอื่น ๆ ในพื้นที่การเรียนรู้นั้นเอง

        การแก้ไขและป้องกันความรุนแรงในโรงเรียนเป็นหน้าที่ร่วมกันของทุกคนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง และสังคม การสร้างการเรียนรู้ที่เน้นความเข้าใจต่อตนเองและผู้อื่น การส่งเสริมทักษะด้านอารมณ์และการจัดการความขัดแย้ง อาจเป็นวิธีการสำคัญที่ช่วยลดปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนได้  LSEd Let’s Talk จึงชวนมาพูดคุยกับ อ.กานน คุมพ์ประพันธ์ (อ.กก) อาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงเบื้องลึกเบื้องหลังการธำรงอยู่ของการใช้ความรุนแรงเหล่านี้ และร่วมหาทางออกหรือวิธีการอื่นที่แก้ปัญหาได้โดยไม่ใช้ความขัดแย้ง

        “เราจะพบว่า “ความรุนแรง” นับเป็นความปกติของการศึกษาในโรงเรียนไทย โดยเฉพาะโรงเรียนในระบบส่วนใหญ่ของประเทศ”

        อ.กก กล่าวว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียนมีตั้งแต่ความรุนแรงทางตรง ไปจนถึงความรุนแรงทางอ้อม เช่น การทำร้ายร่างกายเพื่อการลงโทษ การทำร้ายจิตใจ การทำให้เกิดความอับอาย และการตะคอกว่ากล่าว ซึ่งหลายครั้งสิ่งเหล่านี้ถูกทำในนามของ “หน้าที่” หรือ “ความหวังดี” จากผู้มีอำนาจมากกว่ากระทำกับผู้มีอำนาจน้อยกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความรุนแรงทางตรงในอีกมุมหนึ่ง อย่างการที่นักเรียนกระทำกับนักเรียน ก็เป็นเหตุการณ์ที่ยังคงเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง จะเห็นว่ามีการล้อเลียนให้อับอาย การกลั่นแกล้งกัน การตั้งพรรคพวกเพื่อข่มคนอีกกลุ่มหนึ่ง รวมถึงการที่นักเรียนกระทำกับครู กลั้นแกล้งครู ก่อกวนเวลาครูสอน เป็นต้น

        ถ้ามองในเชิงสังคมศาสตร์ จะเห็นว่ามีข้อขัดแย้งบางอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า มีความรุนแรงแบบอื่นซ้อนอยู่ โดยที่บางทีเราอาจไม่รู้ตัวว่าสิ่งนั้นเป็นความรุนแรงชนิดหนึ่ง เช่น การควบคุมร่างกาย การควบคุมทรงผม นับว่าเป็นความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม คือเป็นความรุนแรงที่เป็นความคิดหรือความเชื่อบางอย่าง ที่ส่งผลให้คนในสังคมมองไม่เห็นว่าตนเองมีสิทธิ หรือมีความเป็นเจ้าของร่างกายของตนเอง ไม่เห็นสิทธิของตนเอง ไม่เห็นโอกาสในการเท่าเทียม รวมถึงการบังคับต่าง ๆ ที่อาจตีความเป็นความรุนแรงได้ อย่างการเรียนหลักสูตรที่ทำให้ไม่สามารถคิดนอกกรอบได้ บังคับให้คิดได้แบบเดียว ก็นับเป็นความรุนแรงเช่นกัน เพราะเป็นการจำกัดโอกาสหรือเสรีภาพทางความคิดของคน

        “ปกติเวลาพูดถึงการแก้ปัญหาเรื่องความรุนแรง เรามักใช้การออกกฎหมาย เช่น ถ้าไม่อยากให้ครูตีก็ออกกฎหมายว่าไม่ให้ครูตี แต่กลับพบว่า ครูก็ตีเหมือนเดิม”

        อ.กก อธิบายต่อว่า บางทีเรามักแก้ปัญหาความรุนแรงด้วยการคิดว่าแค่แก้กฎหมายก็สามารถเปลี่ยนได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะสิ่งเหล่านี้ถูกฝังอยู่ในวัฒนธรรม ความเชื่อ เป็นสิ่งที่ถูกนำมาปฏิบัติจนกลายเป็น ความปกติ ที่คนมองไม่เห็นว่ามันผิดปกติ แต่กลับมองว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำ เป็นหน้าที่ หรือการเชื่อว่าเป็นการให้คุณค่า อย่างชุดความเชื่อเกี่ยวกับ “ครูที่ดี” ว่าจะต้องทำแบบนี้ สอนแบบนี้ ถ่ายทอดองค์ความรู้แบบนี้เท่านั้น กับ “การศึกษาที่ดี” ว่านักเรียนต้องเรียนรู้จากครูให้ได้มากที่สุด ซึมซับสิ่งที่ครูสอนให้ได้มากที่สุด ดังนั้น การใช้ความรุนแรงก็จะถูกมองว่าเป็นความชอบธรรม เพราะการที่ครูใช้ความรุนแรงจะทำให้นักเรียนเงียบและฟังครูได้มากขึ้น และเป็นสิ่งที่เห็นผลทันที

        และในอีกแง่มุมหนึ่ง ความรุนแรงได้กลายเป็นวิถีปฏิบัติที่เป็นปกติของสังคมไปแล้ว เราล้อเลียนคนอื่นจนเป็นเรื่องปกติ เราปฏิบัติกับคนที่แตกต่างไม่เหมือนกับคนทั่วไป บ่อยครั้งจะเห็นว่าคนที่เป็น LGBT+ อาจถูกกลั่นแกล้งด้วยความที่เขาไม่เหมือนคนอื่น หรือแม้แต่คนที่มีความคิด หน้าตา รูปร่างแตกต่างจากเรา เราทำจนเป็นเรื่องสนุก เรื่องตลก สุดท้ายแล้ว สิ่งเหล่านี้มันเป็นการธำรงความรุนแรงไว้

        มีกระบวนการอย่างไรที่ช่วยทำให้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียนลดน้อยลง หรือไม่เกิดขึ้นอีกเลย?

        อ.กก เล่าว่า สิ่งหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ และเรามักจะลืมมองคือ การสร้างวัฒนธรรมในโรงเรียน องค์กร หรือสถานศึกษา ให้พยายามลดใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะรูปแบบใด ไม่ว่าจะจากใครต่อใคร ไม่ใช่เพียงแค่ครูกับนักเรียน เพราะในหลายครั้งนักเรียนก็ใช้ความรุนแรงกับครู ซึ่งไม่แปลก เพราะนักเรียนก็เติบโตมาในวัฒนธรรมที่ใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ ครอบครัวเขาอาจใช้ความรุนแรง ครูก็อาจใช้ความรุนแรง จนเขาเรียนรู้ว่าสิ่งนี้คือวิธีการแก้ปัญหา เขาจะมองไม่เห็นวิธีการแก้ปัญหาแบบอื่น ๆ

         ในหลายครั้ง คนที่ใช้ความรุนแรงอาจมีความต้องการลึก ๆ ซ่อนอยู่ บางทีเขาไม่รู้ตัว บางทีเพียงแค่ต้องการการยอมรับ ต้องการการรับฟัง เมื่อไม่รู้ว่าความต้องการจริง ๆ ของตนเองคืออะไร เลยเลือกใช้วิธีการที่ง่ายที่สุดหรือเรียนรู้มาตลอดชีวิต อย่าง “การใช้ความรุนแรง” นักเรียนบางคนอยากได้รับการรับฟัง อยากให้คนฟังเสียงเขา เวลาไม่มีคนรับฟังเขาเลยเลือกใช้วิธีการโพสต์ถ้อยคำรุนแรงลงในโลกออนไลน์ ด้วยความที่วัฒนธรรมเป็นเช่นนี้ เลยทำให้การใช้ความรุนแรงถูกมองเป็นเรื่องปกติ เด็กรุ่นใหม่เองก็อาจผลิตซ้ำการใช้ความรุนแรงได้ เพียงแต่ถูกมองให้เป็นความชอบธรรมเพราะเขาเป็นคนมีอำนาจน้อย แต่ความจริงมันก็เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้น

        ดังนั้น การสร้างวัฒนธรรมธรรมใหม่ จึงอาจเป็นแนวทางที่ช่วยให้การใช้ความรุนแรงในโรงเรียนลดน้อยลง อ.กก อธิบายว่า ไม่ใช่เฉพาะครูที่ต้องเปลี่ยน แต่ต้องเปลี่ยนทั้งโรงเรียน หรือเรียกว่า Whole School Approach (การพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ) อาจเริ่มจากกระบวนการยุติธรรมในการแก้ข้อพิพาทความขัดแย้ง ซึ่งถ้าเป็นวิธีการปกติ ครูจะเป็นผู้ตัดสิน ทุกอย่างมีความถูก/ผิด  มีการนำอำนาจมาใช้ในการตัดสิน แต่ถ้าเราเปลี่ยนวิธีการมาเป็นกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ที่จะเน้นเรื่องการเยียวยา การมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหา ก็จะทำให้ผู้ทำผิดมีความรู้สึกสำนึกผิดจริง ๆ แต่ก่อนจะมาถึงจุดนี้ได้ ก็ต้องผ่านการ Reflection การพยายามทำความเข้าใจตนเองในระดับหนึ่งก่อน โดยเครื่องมือเหล่านี้จะช่วยทำให้ไม่เกิดการผลิตซ้ำวิธีการเดิม ๆ จากเมื่อก่อนเวลามีคนทะเลาะกัน ครูจะลงโทษตามการตัดสินว่าใครผิดน้อยผิดมาก เปลี่ยนเป็นการมานั่งคุยกัน ว่าสิ่งที่เขาทำสร้างผลกระทบอย่างไร ให้คนที่ถูกแกล้งเล่าให้ฟังว่าการที่เขาถูกแกล้งส่งผลให้เขารู้สึกอย่างไร ให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้รับฟังกันอย่างแท้จริง เพราะเป้าหมายของกระบวนการนี้ คือการแก้ไขปัญหาโดยไม่ใช้กฎหรืออำนาจ แต่ใช้ความเข้าใจที่มากขึ้น หรือไม่ต้องใช้เครื่องมือเหล่านี้ในการแก้ปัญหาก็ได้ แต่อยากให้ใช้ความเข้าใจแทนการใช้อำนาจหรือความรุนแรงในการแก้ปัญหา อย่างน้อยก็เป็นวิธีการใหม่ ๆ ที่จะช่วยหยุดการผลิตซ้ำความรุนแรงที่ไม่ใช่สิ่งปกติ

        ช่วยเล่าถึง “ค่ายเยาวชนยุติธรรมเชิงสมานฉันท์และการสัมมนาครูเพื่อส่งเสริมความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” ที่อาจารย์คณะฯได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในทีมกระบวนกร

        ค่ายนี้เป็นความร่วมมือระหว่างคณะฯ กับ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ THAILAND INSTITUTE OF JUSTICE (TIJ) และมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย ซึ่งทีมอาจารย์คณะเรารับหน้าที่ช่วยออกแบบกระบวนการเรียนรู้สำหรับเยาวชน โดยกิจกรรมในค่ายคือการให้ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice: RJ) ทำให้เขาเห็นทางเลือกของวิธีการที่ใช้ในการแก้ปัญหา อย่างแรกคือฝึกให้เด็กฟังให้เป็นก่อน ให้เขาได้ฝึกการเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นทักษะพื้นฐานในการแก้ปัญหา เมื่อได้ลองฝึกทักษะเหล่านี้แล้วก็ให้มาลองดูว่าเขาจะสามารถนำไปปรับใช้กับการทำงานหรือชีวิตประจำวันของเขาได้อย่างไรบ้าง

        อ.กก เล่าว่า ในตอนท้ายของค่าย เราให้เขานำทักษะและความรู้ที่ได้รับมาระดมสมองกันว่าจะสามารถออกแบบโครงการหรือทำอะไรที่ตนเองสนใจอะไรได้บ้าง ซึ่งนักเรียนในค่ายออกแบบโครงการที่หลากหลายและน่าสนใจมาก ตัวอย่างเช่น โครงการที่ช่วยรับฟัง ให้คำปรึกษา นักเรียนที่ถูกพ่อแม่ทอดทิ้ง หรือโครงการช่วยเหลือเพื่อนนักเรียนที่เป็นซึมเศร้า ซึ่งก็มีนักเรียนที่ทำโครงการลักษณะนี้หลายกลุ่ม รวมถึงนักเรียนหลายคนได้สะท้อนออกมาว่า การที่เขาได้มาค่ายนี้เหมือนได้มุมมองวิธีการใหม่ ๆ ที่ไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ซึ่งเขาไม่เพียงได้ทักษะหรือความรู้ แต่ในค่ายยังมีกิจกรรมที่ทำให้เห็นว่าการผลิตซ้ำความรุนแรง ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง อ.กก เล่าอีกว่า เราก็เปิดตัวอย่างของบ้านกาญจนาภิเษกให้เขาดู ให้เห็นว่ายังมีวิธีการที่ช่วยสร้างความเข้าใจและแก้ปัญหาร่วมกันจนสร้างสันติได้ ซึ่งจริง ๆ สิ่งนี้เป็นบทเรียนสำหรับองค์กรการศึกษา หรือภาวะการศึกษาไทยที่มีความขัดแย้งได้เช่นกัน

เรียบเรียงโดย นวนันต์ เกิดนาค