Loading...

การศึกษาไทยในอุ้งมือของรัฐ เมื่ออำนาจนิยมไม่ยอมให้คนตั้งคำถาม

“ตั้งแต่โดนคดีมา ขึ้นศาลไปไม่รู้แล้วกี่รอบแล้ว มีช่วงหนึ่งผมทำงานพาร์ทไทม์ก็ต้องลางานก็เสียงานเสียการ เสียสุขภาพจิตด้วย”

        คือปากคำของ “เท็น” - ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ นักศึกษาสาขา Media Arts and Design คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้มีคดีความติดตัว เพราะทำกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งถือเป็นสถานการณ์รุนแรงที่เกิดกับคนที่ยังไม่จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ในประเทศที่มีค่านิยมว่านักเรียน/นักศึกษาควรมีหน้าที่เรียนอย่างเดียว อย่ายุ่งกับการเมือง 

        แน่นอนว่าเยาวชนทุกคนไม่ได้เป็นแบบเท็น และนี่คือตัวอย่างที่สุดโต่งของรัฐที่ใช้อำนาจกำกับมานานหลายปี 

        “สุดท้ายเราเรียนมหาวิทยาลัยเพื่ออะไร การศึกษาไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาสังคมจริงๆ แม้กระทั่งการวิพากษ์วิจารณ์สังคมที่เราอาศัยอยู่ซึ่งเป็นระบบอำนาจนิยม ปฏิเสธไม่ได้ว่าการศึกษาเป็นเรื่องการเมืองเสมอ ตั้งแต่วินาทีแรกที่เริ่มจะสร้างโรงเรียน เริ่มคิดว่าฉันสามารถเปลี่ยนคนได้ผ่านระบบการศึกษาที่รัฐเป็นผู้จัดการ ปัญหาคือผู้อยู่ในระบบการศึกษาจำนวนมากไม่กล้าพูดว่าจริงๆ การศึกษาคือเรื่องการเมืองนั่นแหละ” ภาคิน นิมมานรวงศ์ นักวิจัยและอาจารย์สอนวิชาสังคมศึกษา โรงเรียนกำเนิดวิทย์เปิดมุมมองที่น่าขบคิด

        “การศึกษาคือสิทธิของมนุษย์ในการเติบโตและมีชีวิตที่ดี มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น อย่างน้อยที่สุดคือทำให้ชีวิตตัวเองดีขึ้นมาอีกหน่อย สังคมดีขึ้นก็ทำให้ประเทศดีขึ้น” มิรา เวฬุภาค หรือ “แม่บี” ผู้ก่อตั้งเพจการเรียนรู้ Mappa กล่าวถึงการศึกษากับรัฐ

        การเมือง อำนาจนิยม ส่งผลอย่างไรต่อการศึกษา และเรายังมีความหวังกับการศึกษาได้มากน้อยแค่ไหน

        เรามาลองสำรวจกันผ่านความคิดเห็นของทั้งสามคน

อำนาจนิยม และการต่อต้านของคนรุ่นใหม่

ก่อนที่เท็นจะมีคดีทางการเมืองติดตัว สมัยเป็นเด็กมัธยมฯ ในจังหวัดสุโขทัย เขาคิดว่าโรงเรียนเป็นสถานที่ที่สนุกดี เขาตั้งใจเรียนพอประมาณ ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยเหมือนเด็กทั่วไป แต่ก็พอมองเห็นอำนาจที่ไล่เรียงมาตั้งแต่ครูอาจารย์และกฎระเบียบ

        “อำนาจ top-down เข้มข้นมากในรั้วโรงเรียน คนมีอำนาจมากที่สุดในชั้นเรียนก็เป็นครู ครูก็ถูกหลอมมากับสถาบันครูให้ต้องการนักเรียนสุภาพเรียบร้อย เชื่อฟัง ทำงานตามมอบหมาย ครูไทยอยู่เหนือกว่านักเรียน เป็นผู้ให้ความรู้ ผู้ประทาน นักเรียนเลือกไม่ได้ ถูกวางมาแล้วว่าต้องเรียนแบบนี้ ทำให้ขาดอิสระในการเรียนรู้ คนที่ทำสิ่งที่ต้องการก็จะถูกมองว่าแปลกแยกหรือเป็นตัวประหลาด ทั้งๆ ที่ก็เป็นเยาวชนคนหนึ่ง เป็นแรงสำคัญของประเทศในอนาคต” เท็นเล่า

        เขาคิดว่าการทำให้ทุกคนคิดเหมือนกันเป็นจุดเด่นของระบบการศึกษาไทย เพราะอำนาจรัฐมีความรุนแรงลดหลั่นกันไปในการใช้อำนาจกับประชาชน

        “ผมคิดว่าประเทศไทยมีเครือข่ายอำนาจที่ลดหลั่นลงมาในทุกๆ อณูของสังคม อย่างระบบทหาร ระบบยุติธรรม หรือโรงเรียน ระบบการศึกษาก็ใช้อำนาจคนละเฉดกัน แต่เป็นอำนาจที่ตอบสนองรัฐทั้งสิ้น”

        การศึกษาในความหมายปัจจุบันประกอบด้วยโรงเรียน มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการผลิตทรัพยากรมนุษย์ รัฐพยายามใช้อำนาจผ่านสถาบันการศึกษาผ่านการออกแบบตำราเรียน หลักสูตร หรือวิธีการสอนของครูมาตลอด

        “ในสมัยแรกที่มีโรงเรียนและระบบการศึกษา คนก็ต่อต้านแนวคิดว่าจะต้องเอาลูกเข้าโรงเรียน เพราะว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นประโยชน์ของการเรียนการสอน ต่อมารัฐก็บอกว่าคนที่เข้าระบบการศึกษาจะได้รับประโยชน์เพราะเป็นเครื่องมือเลื่อนชนชั้นฐานะ แต่ถามว่ามีคนต่อต้านสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียนไหม ผมคิดว่ามีทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่โดดเรียน เขียนข้อความด่าครู ทำหนังสือวารสารชุมนุมวิพากษ์วิจารณ์สังคม สิ่งที่เห็นเป็นปรากฏการณ์ในปัจจุบัน ไม่ใช่แค่การต่อต้านกฎระเบียบของโรงเรียน แต่ฉันต่อสู้กับโรงเรียนในฐานะตัวอย่างของชุดความเชื่อที่ฉันไม่เชื่ออีกต่อไปแล้ว” ครูภาคินอธิบายถึงปัญหาการต่อต้านของนักเรียนบางกลุ่มในสถานการณ์ปัจจุบัน

        การต่อสู้กับอำนาจรัฐของนักศึกษามีมาตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จนมีเยาวชนที่ต้องเสียชีวิต หากเทียบกับเหตุการณ์ที่เท็นกำลังเจอ หรือเยาวชนที่ไปร่วมแสดงความเห็นทางการเมืองในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ก็อาจสะท้อนมุมมองต่อระบบการศึกษากับอำนาจรัฐที่มีบางส่วนคล้ายคลึงกันอยู่

        “ในยุคตุลาฯ คนเห็นว่าหนึ่งในปัญหาที่ทำให้การเมืองแบบรัฐเผด็จการอยู่ได้หลายปี ก็เพราะการศึกษาไม่ได้ผลิตคนไปสู่การพัฒนาสังคม เห็นได้ชัดมากกับการตั้งคำถามของนักศึกษาว่า สุดท้ายเราเข้ามาเรียนมหา’ลัยเพื่ออะไร” 

        ตามข้อมูลวิจัย การเมืองในแบบเรียน (Politics in Thai Textbooks) โดย นฤมล นิ่มนวล ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ และ ดร. อรรถสิทธิ์ พานแกว ยกตัวอย่างหนังสือเรียนวิชาภาษาไทยและสังคมศึกษาระดับมัธยมศึกษา หมวดวิชาหน้าที่พลเมืองและประวัติศาสตร์ ประเด็นบทบาทของกองทัพและทหารที่มีต่อประชาชนที่จัดทำโดยกระทรวงศึกษาธิการและสำนักพิมพ์เอกชน ว่าเนื้อหาแบบเรียนยุคเผด็จการปี พ.ศ. 2503-14 ตุลาคม 2516 บอกว่า “ทหารช่วยรักษาความมั่นคงทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมทั้งในและนอกประเทศ” ส่วนเนื้อหาแบบเรียนหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ถึงหลักสูตร 2551 บอกว่า “ทหารเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองได้เพราะมีศักยภาพด้านกาลังคนและอาวุธยุทโธปกรณ์” หรือ “การเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองของทหารทำให้การพัฒนาประชาธิปไตยขาดความต่อเนื่อง”

        ความแตกต่างของเนื้อหาในเชิงความสัมพันธ์อำนาจที่รัฐมีต่อประชาชน สะท้อนบรรยากาศทางการเมืองที่มีต่อเนื้อหาในตำราแบบเรียนอย่างไม่อาจปฏิเสธ

        “ผมคิดว่าการทำให้คนรักชาติเป็นหน้าที่หลักของรัฐ แต่ความจริงชาตินิยมอาจมีหลายรูปแบบก็ได้ ชาตินิยมจากประชาชน ชาตินิยมจากรัฐ ชาตินิยมจากเผด็จการ ซึ่งในไทยมักเป็นรัฐเผด็จการที่พยายามเขียนประวัติศาสตร์เข้าข้างตัวเอง” เท็นให้ความเห็น

        สำหรับ “แม่บี” เคยทำงานด้านนโยบายการศึกษาและการกระจายอำนาจ แก้ไขหลักสูตรมาเกือบ 20 ปีจนยอมแพ้ ถอนตัวมาทำแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษาเรียนรู้ Mappa สร้างนักออกแบบการเรียนรู้และข้อมูลที่รายล้อมเรื่องการศึกษาด้วยตัวเอง เธอเห็นปัญหาหลักคือการรวมศูนย์อำนาจของระบบรัฐราชการ 

        “ก่อนจะพูดถึงอำนาจในโรงเรียน ต้องพูดถึงระบบรัฐราชการก่อน มันเป็นอำนาจนิยม 100% แรกเริ่มโรงเรียนรัฐก็เอาระบบราชการเข้ามาใช้ในโรงเรียน โรงเรียนเอกชนบางแห่งก็ก็อปปี้ระบบหรือหลักสูตรนี้ไปอีกที ดังนั้นมันคือการส่งต่อระบบอำนาจของรัฐราชการเท่านั้นเอง แต่โรงเรียนเอกชนยังมีความหลากหลายสูง มีทั้งเอกชนที่มาทางรัฐมากๆ และเอกชนที่มีวิธีการของตัวเอง แต่โรงเรียนในสังกัดรัฐจะเปลี่ยนอะไร ต้องฝ่าด่านเอกสาร อยากทำอะไรต้องขออนุมัติ เรื่องเล็กๆ บางเรื่องใช้เวลา 1-2 ปี พอได้อนุมัติ ผู้อำนวยการโรงเรียนเปลี่ยนพอดี ไม่ใช่เปลี่ยนไม่ได้ แต่ทำได้ยากมากๆ” 

        แม้แม่บีจะตัดสินใจทำโฮมสกูล หลีกเลี่ยงหลักสูตรแบบ one solution fits all ของรัฐ แต่ก็ยังต้องสอนลูกตามตัวชี้วัดใน พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติอยู่ดี

        “นโยบายการศึกษาเป็นหนึ่งในความรับผิดชอบของรัฐที่ควรจะให้บริการประชาชน โดยควรจะกระจายอำนาจได้เสียที มีการพูดเรื่องนี้มา 20 ปีแล้ว งานวิจัยต่างๆ พูดประเด็นนี้ซ้ำกันหมด นั่นคือเรื่องกระจายอำนาจ เรื่องระบบรัฐราชการ อัตราเร่งของการเปลี่ยนแปลงของการศึกษาเท่ากับอัตราเร่งของการเปลี่ยนแปลงระบบรัฐราชการ ถ้ารัฐราชการไม่เปลี่ยนแปลง การศึกษาก็ไม่เปลี่ยน 20 ปีแก่ตายพอดี มันไม่ทันแล้ว” แม่บีเล่า

        เมื่อต้นปี 2566 เกิดกรณีเสียงวิพากษ์วิจารณ์แบบเรียนภาษาพาทีของชั้นประถมศึกษา กลายเป็นอีกตัวอย่างที่สะท้อนการตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคมไทย ด้วยเนื้อหาที่สร้างภาพทัศนคติสวยงามเกินจริง ซ้ำร้ายยังมองข้ามปัญหาเชิงโครงสร้างของความยากจน เช่น “พวกเราอยู่กันได้ด้วยเงินบริจาคที่ผู้มีจิตเมตตาบริจาคให้แต่ละเดือน บางเดือนก็พอ บางเดือนก็ขาดแคลน แต่พวกเราก็อยู่กันอย่างมีความสุข” หรือ “บ้านของข้าวปุ้นอยู่กันอย่างพอเพียง ขาดเครื่องอำนวยความสะดวกหลายอย่าง แต่ทำไมทุกคนมีความสุข ความสุขอยู่ที่ใจนี่เอง” จนเป็นแบบเรียนที่ไม่ได้รับความเชื่อถือจากผู้เรียน หรือแม้กระทั่งครูในระบบ

        “ไม่ใช่แค่ภาษาพาที แต่มีแบบเรียนที่แย่กว่านี้อีก ถ้าจะเคลื่อนไหวให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ต้องแก้ระบบตำรา แก้ระบบคลังสมองของการออกแบบการเรียนรู้ (learning designing) ทั้งหมดของประเทศ  เราไม่ได้จัดงบประมาณสำหรับการพัฒนาตำรามานาน ไม่มีการพัฒนาคนในสายงานนี้ ตำราหลายเล่มเขียนมาเกิน 20 ปีแล้ว คนเขียนเนื้อหาคงรู้สึกสมเหตุสมผลในความคิดของคนรุ่นเขา แต่ไม่สอดคล้องสำหรับระบบคิดในรุ่นนี้ เพราะโลกเปลี่ยนไปแล้ว ตำราที่เขียนเพื่อพัฒนาคนต้องถูกปรับใหม่” แม่บีสะท้อน

        ครูภาคินมองว่าการที่รัฐใช้ระบบการศึกษาเป็นเครื่องมือสร้างสังคมที่รัฐคาดหวัง ไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อ

        “มันจะเริ่มเป็นปัญหาเมื่อสิ่งที่รัฐอยากให้เป็น คือสิ่งดีที่สุดสำหรับทุกคนจริงหรือเปล่า มันจะเริ่มเป็นปัญหาเมื่อรัฐยึดอำนาจการออกแบบการศึกษาไว้ในความหมายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการแต่เพียงผู้เดียว ไม่ได้คำนึงถึงความหลากหลายของคน หรือโจทย์อื่น ๆ ที่นอกเหนือความรับรู้ของตัวผู้กำหนดนโยบายเอง” 

        หากมองการเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองของ “คนรุ่นใหม่” แกนนำส่วนหนึ่งก็ล้วนเป็นผู้ผ่านระบบการศึกษามาแล้ว และหากมองกว้างออกไปในบริบทของโลก กลุ่มคนในประเทศต่างๆ ที่ออกมาขับเคลื่อนต่อสู้ในประเด็นเชิงคุณค่าก็มีลักษณะแบบเดียวกัน คือเป็นกลุ่มคนที่เข้ามาอยู่ในระบบการศึกษาแล้วตั้งคำถามกับมัน

        “คนกลุ่มนี้มีความรู้มากขึ้นและมีเวลาพอที่จะไม่ต้องคิดเรื่องการทำมาหากินของตัวเอง มีเวลาครุ่นคิดเรื่องราวทางสังคมแล้วก็มีโอกาสรวมกลุ่มทำกิจกรรมที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง นี่คือราคาที่ต้องแลกมาสำหรับการที่รัฐอยากสร้างพลเมืองให้เป็นแบบที่เขาอยากให้เป็น” ครูภาคินอธิบายถึงการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่

ครูผู้ไร้ทางออก กับอำนาจในห้องเรียน

“เวลาพูดว่ารัฐเข้าไปควบคุมการศึกษา เราจะไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรม จนกระทั่งได้เข้าไปอยู่ในห้องเรียน” 

        ครูภาคินคือครูสอนวิชาสังคมศึกษา ซึ่งชัดเจนว่าเป็นความรู้ที่ถูกกำหนดมาแล้ว ถึงแม้ตัวชี้วัดจากกระทรวงศึกษาธิการจะเปิดโอกาสให้ครูสอนตามวิถีของตัวเองได้ แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ครูทุกคนจะทำได้ เพราะบริบทของโรงเรียน นักเรียน หรือแม้แต่ตัวครูเองก็ต่างกัน

        “ระบบการศึกษาถูกออกแบบมาแบบนี้ ถ้าไม่ตั้งคำถามชีวิตจะง่าย ระบบการศึกษาก็เหมือนละครเรื่องหนึ่ง มีบทเขียนไว้หมดแล้ว ครูไม่มีสิทธิเล่นนอกบท คุณจะเริ่มถูกตั้งคำถาม ทำไปก็โดนด่า ผอ. เรียกไปพบ คุณต้องอธิบายเยอะมากว่าทำไมทำสิ่งนี้ เพราะฉะนั้นครูจะทำไหม ก็ไม่หรอก แล้วการแสดงคุณจะดีไม่ดี ผู้ชมได้ประโยชน์หรือไม่ ผู้ชมก็ไม่มีสิทธิพูด 

        “สุดท้ายมันเชื่อมโยงกับข้อเท็จจริงที่สำคัญ คือคนไม่เคยเท่ากัน คือคนกลุ่มที่มีอำนาจรัฐ ชีวิตเขาดีขึ้นอยู่แล้ว ไม่ใช่ผู้ที่ชีวิตจะดีขึ้นเมื่อทั้งสังคมดีขึ้น เขาไม่สนใจหรอกว่าคนในระบบการศึกษาเป็นอย่างไร ผู้ชมละครเวทีเรื่องนี้มีความสุขไหม” ครูภาคินวิเคราะห์

        ยิ่งเมื่อตัวชี้วัดไม่เคยถูกตั้งคำถาม เช่น ทำไมเด็กต้องตระหนักรู้เรื่องความเป็นชนชาติไทย ทำไมต้องหวงแหนชาติ ฯลฯ ครูเองก็ไม่ได้ผ่านประสบการณ์ของการตอบคำถามว่าทำไมต้องสอน ครูก็ตอบไม่ได้ว่าทำไมต้องเรียน การสอนแบบเลคเชอร์ด้วยข้อจำกัดทางเวลาและประสบการณ์ จึงเป็นคำตอบที่ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของเด็กลดลง 

        “ตัวชี้วัดเป็นคอขวดของทุกสิ่งในระบบการศึกษา คุมเราให้เปลี่ยนหลักสูตรไม่ได้ ต่อให้ครูเรียน Project based learning มาอย่างดีเพื่อมาสอนเด็ก แต่ถ้ากระทรวงยังใช้ตัวชี้วัดคุณธรรม 12 ประการแล้วจะทำอะไรได้ ถ้าจะปลดล็อกระบบการศึกษา เราต้องปลดล็อกวิธีการประเมินด้วย” แม่บีชี้จุดที่เป็นปมปัญหาสำคัญ

        เช่นเดียวกับเท็นที่มีความเห็นว่าห้องเรียนเป็นเบ้าหลอมผลิตซ้ำการส่งเสริมอำนาจของครู แต่ไม่ส่งเสริมอำนาจของผู้เรียนให้ได้เลือกเรียนหรือเรียนรู้อย่างเต็มที่ แถมยังคัดกรองคัดแยกใครที่ไม่ทำตาม มองเป็นตัวประหลาด แม้กระทั่งการวางชีวิตในอนาคตของเด็กจากสิ่งที่สังคมมองว่าเป็นความสำเร็จหรืออาชีพที่ได้เงินมากๆ

        “ความคิดตรงนี้ฉุดรั้งความเจริญก้าวหน้าของการเรียนรู้ การศึกษาควรเปิดกว้างในทุกมิติให้มากที่สุด” 

        ครูถือว่าเป็นตัวแปรสำคัญมาก แม้จะไม่มีอำนาจคัดง้างกับระบบ แต่วันนี้สังคมก็เห็นการรวมตัวของครูที่ก่อตั้งขึ้นมาอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อต่อต้านอำนาจรัฐเท่าที่จะทำไหว เช่น เพจก่อการครู, Inskru หรือครูตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่ได้อยู่ในหน้าสื่อ 

        ครูภาคินก็เป็นหนึ่งในนั้น

        “เราเปลี่ยนบทบาทจากผู้ถ่ายทอดความรู้ตรงๆ เป็นผู้เริ่มตั้งคำถามแล้วชวนนักเรียนคิดกับเรื่องราวที่ต้องเรียน สนใจน้อยหน่อยกับสิ่งที่ครูรู้ และสนใจมากหน่อยกับสิ่งที่อยากให้เด็กได้คิดตามหรือเรียนรู้ ช่วยให้เราพลิกตัวชี้วัดที่ดูแข็งทื่อดูสนุกสนานขึ้นได้

        “ง่ายที่สุดคือตั้งคำถามกับความรู้ของเราเองว่า เราจำเป็นต้องรู้เรื่องนี้ไปทำไม แล้วพยายามตอบตัวเองให้ได้ เช่น ทำไมเราต้องเข้าใจเรื่องอภิสิทธิ์ในสังคม เราอาจพานักเรียนไปเจอผู้คนหรือหาข้อมูลมากมายในโลกออนไลน์ ทำให้เขาเห็นว่าเราตัดสินคนด้วยการศึกษาไม่ได้หรอก เพราะถ้าคุณอยู่ในครอบครัวที่ยากจนระดับ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ที่จนสุดของประเทศไทย คุณจะมีโอกาสแค่สัก ๔-๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่จะได้ไปต่อในระบบอุดมศึกษา ตรงนี้คือความรู้เรื่องโครงสร้างทางสังคม ซึ่งก็อยู่ในหลักสูตรและทำให้เห็นตัวชี้วัดชัดขึ้น” ครูภาคินเล่า

        ในฐานะครูสังคมและประวัติศาสตร์ ครูภาคินพยายามทำให้นักเรียนเห็นว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะคิดถึงตัวเราโดยปราศจากสังคมและประวัติศาสตร์

        “ชีวิตเป็นของเราจริงหรือเปล่า หรือมีคนบางกลุ่มหล่อหลอมให้เราเป็นอย่างนั้น ถ้าคนเป็นล้านคนในรุ่นคุณตกงาน มันไม่ใช่เรื่องว่าคุณเป็นคนห่วยหรือไม่ขยันพอแน่นอน เป้าหมายสำคัญของวิชาสังคม ประวัติศาสตร์ คือทำให้เขาเห็นว่าคุณไม่สามารถไม่เชื่ออะไรเลยก็ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องปฏิเสธทุกอย่าง”

        ครูภาคินย้ำว่าต้นตอของปัญหาคือเราคิดถึงคนอื่นไม่เป็น เพราะถูกสอนจากสังคมว่าฉันเป็นปัจเจก เลยไม่เข้าใจว่าสังคมมีผลต่อเราอย่างไร 

        “เป้าหมายของชีวิตคืออะไร ความฝันคืออะไร ทุกอย่างล้วนแต่ถูกเสนอมาโดยสังคมทั้งสิ้น สังคมอยู่ในตัวเรา หล่อหลอมผ่านความเชื่อและชุดความคิดทางสังคมและประวัติศาสตร์ แต่ถูกสอนให้ไม่สนใจ ผมคิดว่านี่คือตัวชี้วัดปลายทางที่สุดเลยว่าเด็กจะเป็นใครในระยะยาว”

การศึกษาที่ไม่โอบรับความเป็นมนุษย์ 

คำถามสำคัญที่ถามทั้งสามคนคือ แล้วทำไมรัฐถึงอยากควบคุมครู ควบคุมเด็กถึงขั้นใช้ความรุนแรงมาสร้างความชอบธรรมในหลายเหตุการณ์ 

        รัฐคิดว่าตัวเองจะล่มสลายถ้ามีคนตั้งคำถามขึ้นมาหรือ?

        “ผมคิดว่าเขาเชื่อจริงๆ ว่ามันจะล่มสลาย โดยเฉพาะคนที่ประกาศตัวเองชัดเจนว่าเป็นอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวา หรือผู้มีอาชีพข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ย้อนกลับไปตอนที่พวกเขาเป็นวัยรุ่น เขาอาจเติบโตมากับสถานการณ์ว่าถ้าคุณไม่เป็นคอมมิวนิสต์ คุณก็เป็นฝ่ายไล่ฆ่าคอมมิวนิสต์ หรือไม่คุณก็เป็นคนที่ยอมให้มันเกิดขึ้น เรื่องเล่านี้ชัดเจนว่าประเทศกำลังจะล่มสลายด้วยภัยคุกคามจากต่างชาติ และเรื่องเล่านี้ก็อยู่กับคนที่คุมอำนาจรัฐมาอย่างน้อย ๔๐-๕๐ ปี ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อคุณเชื่อแบบเดิมคุณก็ทำแบบเดิม” ครูภาคินให้มุมมอง

        ส่วนแม่บีเห็นว่า “รัฐไม่ฉลาดพอจะเห็นถึงการทำให้ประชาชนรัก เชื่อฟัง เข้าใจ หรือมีส่วนร่วมแบบ positive เขาเห็นวิธีเดียวคือทำให้ประชาชนรู้น้อย การจำกัดการรู้ข้อมูลเป็นอำนาจ นี่คือวิธีที่รัฐบริหารอยู่ตอนนี้ คนที่เชื่อฟังก็เชื่อไป คนที่ไม่เชื่อฟังก็จะตั้งคำถามไปหมด สังคมเลยเป็นปัญหา” 

        เท็นมีความเห็นคล้ายๆ กัน คือรัฐจะรักษาความเป็นสถาบันแห่งความมั่นคงได้ก็ต่อเมื่อต้องจัดการคน และการศึกษาก็เป็นเพียงภาพแทนของสิ่งที่รัฐต้องการ

        “ระบบต้องการควบคุมคนที่ไม่เชื่อโดยอ้างว่าไม่เชื่อมาตรฐานของรัฐ แต่รัฐไม่มีท่าทีจะปรับปรุงหรือปฏิรูปตัวเอง โลกนี้เปลี่ยนไปตลอดเวลา แต่การศึกษาไทยยังอยู่ที่เดิม ถ้ายิ่งกีดกันการวิพากษ์วิจารณ์และการตั้งคำถามไปเรื่อยๆ ก็รอวันเจ๊ง เจ๊งหนักทั้งรัฐ ทั้งผู้เรียน ทั้งประชาชน ผมคิดว่าต้องมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการวิพากษ์วิจารณ์ เป็นพื้นที่ที่รับฟังและพยายามจะเปลี่ยนไปด้วยกัน การถกเถียง การแลกเปลี่ยน ควรเป็นเรื่องปกติ”

        ตัวอย่างปัญหาที่เป็นกระแสสังคมอย่างชุดนักเรียน ทรงผม เข้าแถวกลางแดดหน้าเสาธง การชูป้ายประท้วง หรือแม้กระทั่งการยกมือตั้งคำถามกับครู คือประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ และคำถามว่าอะไรกันแน่ที่เป็นแก่นแท้และสิ่งสำคัญของการศึกษา

        “รัฐรู้สึกสูญเสียอำนาจ แต่ชุดนักเรียนไม่ได้ทำให้ระบบการศึกษาล่มสลาย ระบบรัฐราชการต่างหาก ถ้าเขาเห็นว่าเป็นวิธีเดียวที่จะใช้ควบคุมประชาชนหรือเด็ก เขาจะรู้สึกสูญเสียอำนาจ แต่โลกกำลังเปลี่ยนไปแล้ว เขายิ่งต้องกอดบางอย่างไว้ให้แน่นที่สุด คืออำนาจปลอมๆ ที่คิดว่าใช้ควบคุมคนได้  มนุษย์เป็นระบบ living system เมื่อถูกกด ก็พยายามหาที่ออก ถ้าผ่อนสักนิด เข้าใจความเป็นไปของโลกมากขึ้นอีกสักหน่อย บางทีอาจมีจุดที่อยู่ร่วมกันได้” แม่บีสะท้อน

        แม้จะไม่ได้เปล่งเสียง แต่นักเรียน ครู หรือแม้แต่ผู้อยู่ในระบบรัฐราชการก็อาจตั้งคำถามอยู่ในใจตลอดเวลา 

        “การสร้างการศึกษาที่ดีไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการและคนในแวดวงการศึกษาเท่านั้น แต่รัฐควรจะเห็นอกเห็นใจหรือใจกว้างมากขึ้นให้คนอื่นมาช่วยพัฒนาการศึกษาได้ 

        “สุดท้ายใครจะเป็นคนกระจายอำนาจ ถ้าไม่ใช่รัฐ แต่ถ้าคุณให้อำนาจรัฐกับคนบางกลุ่มซึ่งชีวิตเขาดีอยู่แล้ว ไม่ว่าชีวิตของคนส่วนใหญ่ในสังคมจะดีขึ้นหรือไม่ ก็คงคาดหวังให้ระบบการศึกษาและคุณภาพชีวิตของคนดีขึ้นได้ยาก เพราะฉะนั้นไม่ใช่แค่ว่าการศึกษาเป็นเรื่องการเมืองเฉยๆ แต่การเมืองนั้นควรเป็นการเมืองที่คนมีอำนาจตัดสินใจยึดโยงกับคนทั้งสังคมจริงๆ” ครูภาคินสรุปทิ้งท้าย