Loading...

บอร์ดเกมสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม : นวัตกรรมการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่

        หากกล่าวถึง นวัตกรรมการเรียนรู้ หลายคนอาจนึกถึงเพียงแค่เทคโนโลยี หรือ สื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย แต่แท้จริงแล้วนวัตกรรมการเรียนรู้เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวและมีบทบาทสำคัญต่อการเรียนรู้ในปัจจุบันเป็นอย่างมาก จะเห็นว่าในปัจจุบันมีการนำเครื่องมือนวัตกรรมการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบมาเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็น บอร์ดเกม การจัดกระบวนการ หรือการละครเพื่อการเรียนรู้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเหมือนวิธีการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ที่สอดแทรกทั้งองค์ความรู้พร้อมทั้งความสนุกสนาน จึงทำให้ผู้เรียนมีความรู้สึกอยากเรียนรู้ ไม่เบื่อหน่าย อีกทั้งยังมีประสิทธิภาพในด้านการนำองค์ความรู้เหล่านี้มาต่อยอด หรือนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตต่อได้ รวมถึงยังช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนนักเรียนด้วยกันเองและครูผู้สอนอีกด้วย และในอีกมิติหนึ่ง การที่ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจ ในประเด็นต่าง ๆ แล้ว ผู้เรียนเองก็ยังสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับมาต่อยอดพัฒนาเป็นนวัตกรรมขับเคลื่อนสังคมที่ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมได้อีกด้วย

        LSEd Let’s Talk ชวนพูดคุยกับ ผศ.ดร.ญาดา อรรถอนันต์ หรือ อ.อ๋อม ถึงบทบาทความสำคัญของนวัตกรรมการเรียนรู้ รวมถึงพูดคุยเกี่ยวกับผลงานจากรายวิชา LSE 281 Innovative Project for Change ที่ถูกสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม หนึ่งในนั้นคือ ผลงาน “บอร์ดเกมส่งเสริมการรับรู้และแยกแยะความรู้สึกทางอารมณ์สำหรับนักเรียนผู้พิการทางการได้ยิน อายุ 15-18 ปี” ซึ่งเป็นผลงานจากนักศึกษาคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 และได้รับรางวัลเหรียญเงินจากการประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2566

        อ.อ๋อม อธิบายว่า  นวัตกรรมการเรียนรู้ สามารถเปรียบได้กับการที่เราออกแบบและพัฒนาบางสิ่งบางอย่างที่จะเข้ามาช่วยสร้างการเรียนรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมาย หรือถ้าในบริบทของการศึกษานั้น กลุ่มเป้าหมายก็คือผู้เรียน  โดยรูปแบบของนวัตกรรมการเรียนรู้ อาจเป็นได้ทั้งกระบวนการ ความคิด หรือแม้กระทั่งการใช้สื่อเทคโนโลยีหรือเครื่องมือบางอย่างที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ซึ่งในการออกแบบนวัตกรรมการเรียนรู้นั้นจะถูกคิดอย่างเป็นระบบบนพื้นฐานของแนวคิด หลักการ เพื่อสร้างคุณค่าด้านการเรียนรู้ในมนุษย์ตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ ดังนั้นนวัตกรรมการเรียนรู้นั้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านการศึกษาในสังคม

        “นวัตกรรมการเรียนรู้จึงถูกออกแบบขึ้นสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างหลากหลายในสังคมเพื่อสร้างการเรียนรู้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ในสังคม เรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนมิติต่างๆทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี”

เยาวชน เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมอย่างไร?

        อ.อ๋อม กล่าวว่า เยาวชนถือเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าอย่างมากในสังคม เนื่องจากเยาวชนจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการเปลี่ยนแปลงของสังคม ทั้งในเรื่องของการสร้างแนวคิดที่สร้างสรรค์ การเรียนรู้และการลงมือออกแบบและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในมิติต่าง ๆ ซึ่งหากเราให้คุณค่าและความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนโดยสนับสนุนและสร้างการเรียนรู้ที่ดีให้กับเยาวชน รวมทั้งพัฒนาศักยภาพและดึงความสามารถของเยาวชนไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ชุมชน และสังคมมากมากขึ้น ทำให้เกิดการขับเคลื่อนที่สร้างคุณค่าและเป็นพลังสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

        จะเห็นได้ว่าพลังของเยาวชนจะเป็นสิ่งที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศในมิติที่หลากหลายทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม จึงถือว่าเป็นพลังทางสังคมที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศชาติอย่างยั่งยืน

        ผลงานนวัตกรรมการเรียนรู้สร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ.

        อ.อ๋อม เล่าว่า รายวิชา LSE 281 Innovative Project for Change ของชั้นปีที่ 2 เป็นวิชาที่ผู้เรียนได้ออกแบบและสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมตามความสนใจของกลุ่มนั้น ๆ ซึ่งนักศึกษาได้มีแนวคิดในการออกแบบและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบบอร์ดเกมในชื่อ “บอร์ดเกมส่งเสริมการรับรู้และแยกแยะความรู้สึกทางอารมณ์สำหรับนักเรียนผู้พิการทางการได้ยิน อายุ 15-18 ปี” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า บอร์ดเกม “How do you feel” ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับรางวัลเหรียญเงินจากการประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2566 โดยสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.)

        แนวคิดในการออกแบบและพัฒนา บอร์ดเกมเพื่อใช้ส่งเสริมการรับรู้และแยกแยะความรู้สึกทางอารมณ์สำหรับนักเรียนผู้พิการทางการได้ยินอายุระหว่าง 15-18 ปี มีแนวคิดในการพัฒนามาจากปัญหาการเรียนรู้ที่แท้จริงของกลุ่มเป้าหมาย โดยผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ตั้งแต่เริ่มวิเคราะห์ทำความเข้าใจกับกลุ่มเป้าหมาย นำมาสู่การหาปัญหาการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นผ่านการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ที่เกี่ยวข้อง พบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นสำหรับกลุ่มเป้าหมายนี้คือ มีการแสดงออกของพฤติกรรมที่มีความรุนแรงออกมา เนื่องจากไม่เข้าใจการแสดงออกทางพฤติกรรมและการเข้าใจอารมณ์ของตนเอง และด้วยจุดแข็งของรูปแบบสื่อบอร์ดเกมจะเป็นเครื่องมือที่สร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกันได้เป็นอย่างดี จึงนำมาสู่แนวคิดในการพัฒนาบอร์ดเกมชิ้นนี้

        ดังนั้น การอออกแบบและพัฒนานวัตกรรมบอร์ดเกมนี้ มีเป้าหมายเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ในเรื่องการแยกแยะความรู้สึกของความหลากหลายทางอารมณ์ ซึ่งจะสามารถช่วยให้ผู้บกพร่องทางการได้ยินเข้าใจถึงความรู้สึกที่หลากหลายในมิติด้านอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้และเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเรียนรู้ให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างการเรียนรู้ที่ดีนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรม และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของกลุ่มเป้าหมายอีกด้วย

        สุดท้ายนี้ พลังของเยาวชนในการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้จะเป็นสิ่งที่มีความหมายต่อสังคม รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนรุ่นหลัง ๆ ให้เห็นถึงความสำคัญของการร่วมกันพัฒนาประเทศ ดังนั้น เยาวชนจึงเป็นกำลังหลักในการสร้างสังคมที่ดีมีคุณภาพ พวกเขาคือผู้นำในการสร้างการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมของเราให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นในอนาคตข้างหน้า

        เรียบเรียงโดย นวนันต์ เกิดนาค