สุขภาพจิตและสุขภาวะของเด็กและเยาวชนหลากหลายทางเพศในประเทศไทย: เข้าใจเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง
การมีความเข้าใจและยอมรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นหนึ่งในมาตรวัดที่สะท้อนให้เห็นถึงการเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกันของคนในสังคมแต่ละยุคสมัย แท้จริงแล้วการเข้าใจและยอมรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของการให้ความสำคัญต่อเพศสภาพหรือเพศวิถีเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการยอมรับในความเป็นมนุษย์ และเคารพต่อสิทธิและความเป็นอยู่ของทุกคนในสังคม การสร้างสังคมที่เคารพต่อความหลากหลายทางเพศจึงไม่ได้เป็นเพียงความรับผิดชอบของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เป็นความรับผิดชอบของทุกคนในสังคม
ในขณะที่ความหลากหลายทางเพศนั้นอาจเป็นสิ่งที่กำลังได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายมากขึ้นในสังคม แต่เรากลับยังพบว่ากลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศยังคงต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตในหลากหลายรูปแบบ LSEd Social Change ชวนสำรวจสถานการณ์ปัญหาทางสุขภาวะที่เด็กและเยาวชนต้องพบเจอ ผ่านข้อค้นพบของงานวิจัย “สุขภาพจิตและสุขภาวะของเด็กและเยาวชนหลากหลายทางเพศในประเทศไทย” ที่มี Dr. Timo Tapani Ojanen อาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย
อ.Timo เล่าถึงงานวิจัย สุขภาพจิตและสุขภาวะของเด็กและเยาวชนหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ว่าเป็นการศึกษาภาพรวมของสุขภาพจิตในเด็กและเยาวชนหลากหลายทางเพศ (LGBTIQNA+) ที่มีอายุ 15-24 ปีในประเทศไทย รวมทั้งศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพจิตและการเข้าถึงบริการที่เกี่ยวข้อง โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ และคณะศิลปศาสตร์ มธ. สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มศว. กับมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก ประเทศไทย (Save the Children Thailand) ที่เป็นฝ่ายริเริ่มและสนับสนุนโครงการ ซึ่งทีมวิจัยประสบความสำเร็จในการเก็บข้อมูลจำนวนมาก คือมี 3,094 คนที่ตอบแบบสำรวจออนไลน์ และอีก 38 คนให้สัมภาษณ์ออนไลน์เกี่ยวกับประสบการณ์ชีวิตของเขา และในส่วนของการสัมภาษณ์ ทีมวิจัยเน้นการฟังเสียงของเด็กและเยาวชนที่หลากหลายที่สุดในแง่ของทั้งภูมิภาค อัตลักษณ์ และลักษณะอื่น ๆ ด้วย เช่น คนพิการหรือไร้สัญชาติ
สถานการณ์ปัญหาหรือข้อสังเกตเกี่ยวกับสุขภาพจิตและสุขภาวะของเด็กและเยาวชนหลากหลายทางเพศในประเทศไทย
จากข้อค้นพบของทีมวิจัยได้กล่าวว่า สถานการณ์สุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนหลากหลายทางเพศในไทยค่อนข้างน่าเป็นห่วง จากผลการสำรวจพบว่า 71% มีอาการซึมเศร้า 78% มีอาการวิตกกังวล ในปัจจุบัน และยังพบว่า 58% มีความคิดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย 25% ทำร้ายร่างกายตนเอง และ 15% พยายามฆ่าตัวตายในปีที่ผ่านมา
“ตัวเลขเหล่านี้น่าตกใจทีเดียว แต่มันก็สะท้อนความแพร่หลายของปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน”
อ.Timo เล่าว่าหลังจากเรียบเรียงรายงานวิจัยเสร็จ ได้บังเอิญเจองานวิจัยของอีกทีมวิจัยที่ศึกษาอาการซึมเศร้าในวัยรุ่นไทยโดยทั่วไปที่อยู่ในกลุ่มอายุ 11-16 ปี จะเห็นว่าเป็นเด็กที่อายุน้อยกว่าที่ทีม อ.Timo ศึกษาไว้ แต่กลับได้ข้อค้นพบคล้ายกันว่าในกลุ่มที่เขาศึกษา 72% มีอาการของโรคซึมเศร้าเหมือนกัน ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขที่เราเจอ ซึ่งตัวเลขตรงนี้แสดงให้เห็นว่าปัญหาสุขภาพจิตไม่ได้แพร่หลายเพียงในเด็กและเยาวชนหลากหลายทางเพศ แต่ก็แพร่หลายในเด็กและเยาวชนโดยทั่วไปด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบระดับความรุนแรงของอาการซึมเศร้าในงานวิจัยสองชิ้นนี้ ในงานที่ทีม อ.Timo ทำพบว่า 18% มีอาการซึมเศร้าในระดับรุนแรง ขณะที่ของอีกทีมพบว่าเพียง 2.5% มีอาการในระดับรุนแรง (หรือ 10% ถ้านับรวมระดับ “ค่อนข้างรุนแรง” ในงานวิจัยของเขาด้วย) คือเทียบกันแล้วก็เห็นว่าสัดส่วนที่มีอาการซึมเศร้าในระดับรุนแรงจะสูงกว่าในกลุ่มเด็กและเยาวชนหลากหลายทางเพศ
สาเหตุของสถานการณ์หรือปัญหาเหล่านั้นเกิดจากอะไร?
ตัวเลขที่เปรียบเทียบข้างต้นนั้นชี้ให้เห็นว่าเด็กและเยาวชนไทยทั้งโดยทั่วไป และเด็กและเยาวชนหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะก็มีอาการซึมเศร้าอย่างแพร่หลาย แต่สัดส่วนของเด็กและเยาวชนที่มีอาการซึมเศร้าในระดับรุนแรงนั้นสูงกว่าในกลุ่มหลากหลายทางเพศ ซึ่งข้อค้นพบนี้ค่อนข้างเป็นไปตามทฤษฎีความเครียดของชนกลุ่มน้อย (Minority Stress Theory) ของ Ilan Meyer ที่ทีมของ อ.Timo ใช้เป็นกรอบในงานวิจัย โดยทฤษฎีนี้เสนอว่าปัญหาสุขภาพจิตหลายอย่างเกิดจากความเครียด ถ้าเป็นกลุ่มหลากหลายทางเพศก็จะเจอความเครียดทั่ว ๆ ไปเหมือนที่คนทั่ว ๆ ไปก็เจอ แต่กลุ่มหลากหลายทางเพศยังมีสิ่งที่ทำให้เครียดเพิ่มเติมด้วย เช่น การถูกกระทำความรุนแรง การถูกปฏิเสธจากคนรอบตัว หรือการถูกเลือกปฏิบัติเพราะเป็นกลุ่มหลากหลายทางเพศ หรือถ้าใครพยายามปิดบังอัตลักษณ์ของตนเองเพื่อไม่ถูกปฏิเสธในสังคม การต้องระวังคำพูด การแสดงออกของตัวเองโดยตลอด ก็ทำให้เครียดได้เช่นกัน
ทฤษฎีความเครียดของชนกลุ่มน้อย (Minority Stress Theory) มีหลักฐานสนับสนุนมากมายทั่วโลก และงานวิจัยนี้ก็มีข้อค้นพบที่เป็นไปตามทฤษฎีนี้เช่นกัน เมื่อมองที่ปัจจัยเสี่ยงของอาการซึมเศร้า มีทั้งแหล่งความเครียดทั่วไป (การมีรายได้ไม่เพียงพอ) และแหล่งความเครียดเฉพาะกลุ่ม คือพบว่าการถูกระทำความรุนแรง การถูกเลือกปฏิบัติ หรือการถูกบังคับให้ทำอะไรบางอย่างเพื่อพยายามเปลี่ยนรสนิยมทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองนั้น ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการมีอาการซึมเศร้าในเด็กและเยาวชนหลากหลายทางเพศในไทย
เราสามารถทำอะไรเพื่อช่วยให้สถานการณ์ปัญหาเหล่านี้ดีขึ้นได้บ้าง?
จากภาพรวมของข้อค้นพบในงานวิจัย “สุขภาพจิตและสุขภาวะของเด็กและเยาวชนหลากหลายทางเพศในประเทศไทย” อ.Timo ให้ข้อคิดเห็นว่ามี 3 เรื่องที่สำคัญมาก คือ 1) การลดปัจจัยเสี่ยง 2) การส่งเสริมพลังสุขภาพจิต และ 3) การเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพจิต
“จากที่เล่ามาเมื่อสักครู่ว่าการถูกกระทำความรุนแรง การถูกเลือกปฏิบัติ และการถูกบังคับให้พยายามเปลี่ยนรสนิยมทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศของตนเองล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงของอาการซึมเศร้า (และยังเป็นปัจจัยเสี่ยงของอาการวิตกกังวลด้วย) ก็จะเห็นว่าวิธีการที่ตรงประเด็นที่สุดก็จะเป็นการลดปัญหาสังคมเหล่านี้”
อ.Timo อธิบายเพิ่มเติมว่า ตรงนี้มีหลาย ๆ ส่วนของสังคมที่เกี่ยวข้อง เช่น ครอบครัว สถานศึกษา สถานพยาบาล นายจ้าง สื่อสังคมออนไลน์ (เพราะความรุนแรงบางส่วนเกิดขึ้นออนไลน์) เป็นต้น คือผู้ปกครองไม่ควรใช้ความรุนแรงต่อลูกหรือบังคับให้ลูกเปลี่ยนการแสดงออกของตนเอง สถานศึกษาควรมีแนวทางในการป้องกันการรังแกและความรุนแรงในรูปแบบอื่น ๆ รวมทั้งเปิดกว้างในการแสดงออกของเด็กและเยาวชนหลากหลายทางเพศ และไม่เลือกปฏิบัติต่อพวกเขา สถานพยาบาลควรมีการอบรมบุคลากรเพื่อให้มีความละเอียดอ่อนต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศและปัญหาที่เขาเผชิญ นายจ้างไม่ควรเลือกปฏิบัติในการจ้างงานหรือการเลื่อนตำแหน่ง สื่อสังคมออนไลน์ควรมีการดูแลความปลอดภัยของสื่อ เป็นต้น รัฐเองก็ควรผ่านกฎหมายที่สำคัญอย่างสมรสเท่าเทียมหรือการรับรองเพศสภาพและดูแลสวัสดิการของกลุ่มหลากหลายทางเพศ ซึ่งกฎหมายสองตัวนี้อาจจะไม่ได้ส่งผลต่อเด็กโดยตรงทันที แต่การมีกฎหมายและสวัสดิการเหล่านี้ก็จะให้ความหวังว่าพอเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้วจะไม่ต้องถูกเลือกปฏิบัติเหมือนรุ่นก่อน ๆ คือ ประเด็นแรกในการลดปัจจัยเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนหลากหลายทางเพศก็เป็นเรื่องใหญ่ที่อาจจะไม่สามารถแก้ไขได้ทันที แต่ใครที่เกี่ยวข้องส่วนไหนก็ควรพยายามมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้
ประเด็นที่สอง พลังสุขภาพจิต หรือ Resilience เป็นปัจจัยที่ไม่มีในทฤษฎีความเครียดของชนกลุ่มน้อยแต่เดิม แต่เป็นปัจจัยที่จิตแพทย์และนักจิตวิทยาเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้นในภายหลัง ทั้งสำหรับคนทั่วไป และสำหรับกลุ่มหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะด้วย ถ้าใช้คำนิยามจากหน้าปกหนังสือของกรมสุขภาพจิต พลังสุขภาพจิตคือ “ศักยภาพทางอารมณ์และจิตใจที่จะช่วยพาคุณก้าวผ่านภาวะวิกฤตและความไม่แน่นอนของชีวิตได้ยอ่างสง่างาม” เมื่อเราทราบกันว่าปัญหาสังคมที่เป็นต้นกำเนิดของปัญหาสุขภาพจิตส่วนหนึ่งในกลุ่มหลากหลายทางเพศไม่สามารถแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว เราก็ต้องให้ความสำคัญกับพลังสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนหลากหลายทางเพศที่จะเอาตัวรอดในสังคมปัจจุบันด้วย ทางทีมวิจัยจึงลองวัดพลังสุขภาพจิตของผู้ตอบแบบสำรวจโดยใช้แบบวัดของกรมสุขภาพจิต และผลออกมาว่าพลังสุขภาพจิตเป็นปัจจัยปกป้องที่สำคัญที่สุดต่อทั้งอาการซึมเศร้าและวิตกกังวล ความคิดและการพยายามฆ่าตัวตาย และการทำร้ายร่างกายตนเอง และที่น่าสนใจเป็นพิเศษ เมื่อเราดูปัจจัยที่สามารถทำนายการมีพลังสุขภาพจิตได้ ก็จะเห็นว่าการมีการสนับสนุนทางสังคมหรือ Social Support และความสามารถในการเป็นตัวของตัวเองในสังคม ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมพลังสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนอีกที กล่าวคือ เมื่อเด็กและเยาวชนหลากหลายทางเพศมีคนที่เข้าใจเขาและให้เขาเป็นตัวของตัวเอง เขาก็จะมีพลังสุขภาพจิตมากขึ้น ซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของเขาได้ ในส่วนนี้คงต้องให้แต่ละคนถามตัวเองว่าตัวเราเองเป็นคน ๆ นั้นที่เข้าใจและสนับสนุนเด็กและเยาวชนหลากหลายทางเพศที่ใกล้ชิดกับเราหรือยัง
ประเด็นที่สาม คือการเข้าถึงบริการสุขภาพจิต ในโครงการวิจัยนี้แบบสำรวจถามผู้ตอบว่าในปีที่ผ่านมา เขารู้สึกว่าเขาควรใช้บริการสุขภาพจิตหรือไม่ พบว่า 57% มองว่าเขามีความจำเป็นในการใช้บริการสุขภาพจิตในปีที่ผ่านมา แต่เมื่อถามต่อจากกลุ่มที่ตอบว่า “ควร” ในคำถามนี้ว่าเขาได้เข้าไปใช้บริการสุขภาพจิตจริงหรือไม่ กลับมีเพียง 21% ที่ตอบว่าได้ใช้บริการสุขภาพจิต ซึ่งกลุ่มที่ได้ใช้บริการยังถูกถามต่อว่าใช้บริการแล้วรู้สึกดีขึ้นไหม 68% ก็ตอบว่ารู้สึกดีขึ้น และที่น่ายินดีเป็นพิเศษคือ 95% ที่ได้รับบริการสุขภาพจิตในปีที่ผ่านมา รู้สึกว่าผู้ให้บริการมีความเข้าใจและเคารพในตัวตนของเขา จากตัวเลขเหล่านี้จะเห็นว่าบริการสุขภาพจิตสามารถช่วยบรรเทาปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนหลากหลายทางเพศได้จริง แต่จากคนที่มีความจำเป็นในการใช้บริการก็มีแค่ 1 ใน 5 ที่ได้ใช้บริการจริง ซึ่งจากการสัมภาษณ์เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้เราเห็นว่าอุปสรรคต่อการใช้บริการจะค่อนข้างเหมือนกับในประชาชนทั่วไปคือ ไม่รู้ว่าต้องไปที่ไหนอย่างไร อาจจะต้องเดินทางไกล คิวยาวหรือค่าบริการแพง บางคนบอกว่าพ่อแม่ไม่อนุญาตให้ไปรับบริการ บางคนโทรหาสายด่วนแล้วสายไม่ว่างสักที เป็นต้น ซึ่งทำให้เห็นได้ชัดว่าประเทศไทยควรเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตให้มากขึ้น
แนวโน้มสถานการณ์ทางสังคมเกี่ยวกับสุขภาพจิตและสุขภาวะของเด็กและเยาวชนหลากหลายทางเพศในประเทศไทย
อ.Timo ให้ความคิดเห็นว่าเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยาก ข้อมูลจากหลาย ๆ ประเทศแสดงให้เห็นว่าการระบาดของโควิด-19 ทำให้สุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนแย่ลงโดยทั่วไปอยู่แล้ว ขณะที่เด็กและเยาวชนหลากหลายทางเพศยังเจอปัญหาเฉพาะรูปแบบเพิ่มเติม เช่น ไม่สามารถออกไปพบเพื่อนที่มีความเข้าใจต่อตัวเขาได้ ต้องอยู่แต่ในบ้านกับสมาชิกครอบครัวที่ไม่เข้าใจเขาหรือไม่ยอมรับในตัวตนของเขา อีกทั้ง พื้นที่ที่เขาสามารถเป็นตัวของตัวเองลดลง หรือบางส่วนที่ทำงานแล้วก็ตกงาน ไม่มีรายได้เพราะงานที่ทำก็ไม่ได้มั่นคงตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เมื่องานที่เคยทำนั้นไม่เป็นทางการ สวัสดิการฉุกเฉินต่าง ๆ ก็อาจจะเข้าไม่ถึงตัวเขา บางคนที่ใช้ยาฮอร์โมนก็อาจจะไม่มีเงินที่จะซื้อยา เป็นต้น ซึ่งจากงานวิจัยนั้นก็ทำให้เห็นประเด็นเหล่านี้บ้างเหมือนกัน รวมถึง การระบาดของโควิด-19 ก็เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้คาดหมายว่าจะเกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นไปแล้วมันก็มีผลต่อสุขภาพจิตอย่างมากมาย เหตุการณ์นี้ทำให้เห็นว่าการคาดการณ์เรื่องพวกนี้ยากจริง ๆ และเราไม่มีทางรู้ว่าวิกฤตการณ์อะไรที่จะเกิดขึ้นต่อไป
อย่างไรก็ดี จากข้อค้นพบของงานวิจัยคือ เมื่อเปรียบเทียบกลุ่มอายุ 15-18 ปี กับกลุ่มอายุ 20-24 ปี พบว่ากลุ่มอายุ 20-24 ปีมีปัญหาสุขภาพจิตทุกรูปน้อยกว่าที่กลุ่มอายุ 15-18 ปี ก็คือกลุ่มอายุ 20-24 ปีก็ยังคงมีปัญหาไม่น้อยแต่ก็มีน้อยกว่ากลุ่มที่เด็กกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จากตรงนี้จะเห็นได้ว่าพอเราโตขึ้นหน่อย มีตัวเลือกในการใช้ชีวิตมากขึ้น สามารถเลือกว่าจะคบใครไม่คบใครบ้างได้มากขึ้น ได้หาวิธีการของตนเองในการเอาตัวรอดในสังคม ชีวิตก็มักจะดีขึ้นบ้าง ดังนั้น ถ้าจะใช้คำขวัญของโครงการที่รณรงค์สร้างความเข้าใจในคนรอบข้างและให้ความหวังกับเยาวชนหลากหลายทางเพศในทั่วโลกว่า “It gets better” ก็บอกได้ว่าถ้อยคำนี้มีหลักฐานสนับสนุนในบริบทของเด็กและเยาวชนหลากหลายทางเพศในไทยด้วย
ถ้ามองในภาพรวมในที่ผ่านมา สังคมไทยมีพัฒนาการดี ๆ หลายอย่าง เช่น สถานศึกษาเริ่มมีการสอนเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศในแง่บวกมากขึ้น เรื่องระเบียบเครื่องแบบหรือทรงผมเริ่มมีความยืดหยุ่นมากขึ้น สังคมมีความตระหนักถึงประเด็นความหลากหลายทางเพศมากขึ้น มีหน่วยบริการสุขภาพเฉพาะกลุ่มเปิดให้บริการมากขึ้น ภายในเดือนที่แล้ว (กันยายน 2566) มีทั้งการเสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมและกฎหมายรับรองเพศสภาพต่อรัฐสภา รวมทั้งมีการก่อตั้งสมาคมเพื่อการพัฒนาสุขภาพบุคคลข้ามเพศและเพศหลากหลาย (ประเทศไทย) โดยผู้ให้บริการสุขภาพกับนักเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้อง เรื่องเหล่านี้ก็อาจเป็นความหวังว่า เมื่อเราได้แก้ไข Pain Point ของเด็กและเยาวชนหลากหลายทางเพศไปทีละข้อ เพิ่มความเข้าใจในผู้คนรอบข้างเขา และส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตของเขาได้ เราก็จะสามารถลดปัญหาสุขภาพจิตและเพิ่มความสุขในกลุ่มเหล่านี้ให้มีมากขึ้นได้
หากสนใจอ่านงานวิจัยฉบับเต็ม สามารถอ่านได้ที่
สุดท้ายนี้ หากต้องการเข้ารับบริการด้านสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มหลากหลายทางเพศหรือทั่วไป สามารถติดต่อไปยังหน่วยงานตามข้อมูลที่แนบไว้ด้านล่างนี้ได้เลย
สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์:
ศูนย์ชีวิตชีวา Viva City มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
https://www.facebook.com/vivacity.tu
โทร. 02 696 6604
สำหรับเด็กและเยาวชน
มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก ประเทศไทย
https://www.facebook.com/SaveTheChildrenThailand
โทร. 092-418-9187
สำหรับประชาชนทั่วไป
สายด่วนสุขภาพจิต
https://www.facebook.com/helpline1323
โทร. 1323
สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย
https://www.facebook.com/Samaritans.Thailand/about
โทร. 02 113 6789
เรียบเรียง นวนันต์ เกิดนาค